อำเภอกัลยาณิวัฒนา

อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย

กัลยาณิวัฒนา (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นเขตการปกครองระดับอำเภอลำดับที่ 25 ของจังหวัดเชียงใหม่ และอันดับที่ 878 ของประเทศไทย จัดตั้งเมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2552 และตั้งที่ว่าการอำเภอ ณ ตำบลแจ่มหลวง[1]

อำเภอกัลยาณิวัฒนา
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Galyani Vadhana
วัดจันทร์
วัดจันทร์
คำขวัญ: 
กัลยาณิวัฒนาสูงสง่า ป่าสนพันปี วัฒนธรรมประเพณีชนเผ่า พระธาตุเก่าล้ำค่า หกธาราแหล่งต้นน้ำ งามเลิศล้ำอำเภอในฝัน
แผนที่จังหวัดเชียงใหม่ เน้นอำเภอกัลยาณิวัฒนา
แผนที่จังหวัดเชียงใหม่ เน้นอำเภอกัลยาณิวัฒนา
พิกัด: 19°4′1″N 98°17′40″E / 19.06694°N 98.29444°E / 19.06694; 98.29444
ประเทศ ไทย
จังหวัดเชียงใหม่
พื้นที่
 • ทั้งหมด674.58 ตร.กม. (260.46 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2566)
 • ทั้งหมด12,994 คน
 • ความหนาแน่น19.26 คน/ตร.กม. (49.9 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 58130
รหัสภูมิศาสตร์5025
ที่ตั้งที่ว่าการศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนา บ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ 2 ตำบลแจ่มหลวง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ 58130
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

อำเภอกัลยาณิวัฒนาเป็นอำเภอที่กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้เป็น "โครงการอำเภอกัลยาณิวัฒนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๙ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554" ซึ่งดำเนินการโดยสำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย[2] โดยมีวัตถุประสงค์ให้อำเภอกัลยาณิวัฒนาเป็นอำเภอต้นแบบในการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประวัติ แก้

โครงการที่จะจัดตั้งอำเภอใหม่ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถสืบย้อนไปได้ถึง พ.ศ. 2536 โดยเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 สภาตำบลบ้านจันทร์ได้เสนอแยกกิ่งอำเภอออกจากสามตำบลในอำเภอแม่แจ่ม ได้มีการเตรียมการจัดตั้งกิ่งอำเภอใหม่เป็นเวลาหลายปี แต่ด้วยวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ได้ทำให้อำเภอใหม่ทั้งหมดที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาถูกรัฐบาลยกเลิกไปเพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม[3] ก่อนที่จะกลับเข้าสู่ระเบียบการพิจารณาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2548 โดยได้มีการจัดทำข้อเสนอและการศึกษาโดยจังหวัดเชียงใหม่และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีไทยเห็นว่าพื้นที่ตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแม่แดด และตำบลแจ่มหลวง แห่งอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่การท่องเที่ยว มีเนื้อที่ 674.58 ตารางกิโลเมตร และประชากร 10,561 คน มีการจัดตั้งโครงการพระราชดำริหลายโครงการ มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขาสูงชัน ทุรกันดาร การคมนาคมติดต่อเพื่อขอรับบริการต่างๆ จากหน่วยงานของรัฐ ณ ที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม เป็นไปด้วยความยากลำบาก การให้บริการของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาด้านความสงบเรียบร้อย เรื่องยาเสพติด และปัญหาด้านการลักลอบการตัดไม้ทำลายป่า จึงเห็นชอบให้แยกพื้นที่ดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นอำเภอใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยเฉพาะ

อย่างไรก็ดี วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่ออำเภอที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่นั้นตามที่กระทรวงมหาดไทยขอพระราชทาน ว่า "อำเภอกัลยาณิวัฒนา" แทนชื่อเดิมที่ใช้ว่า "วัดจันทร์"[4]

เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่ามีโครงการในพระราชดำริในพื้นที่ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้จึงไม่จำเป็นจะต้องจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอก่อนที่จะพัฒนาจนกลายเป็นอำเภอโดยสมบูรณ์ ที่ว่าการอำเภอกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในหมู่ 2 ตำบลแจ่มหลวง จนกระทั่งก่อสร้างเสร็จ สภาตำบลบ้านจันทร์จะถูกใช้เป็นที่ว่าการอำเภอชั่วคราว[5]

ดังนั้น เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่" ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ[6] พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 97 ก หน้า 7 ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552 และมีผลใช้บังคับในวันรุ่งขึ้น โดยปรากฏเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ว่า

"...โดยที่ตำบลแจ่มหลวง ตำบลบ้านจันทร์ และตำบลแม่แดด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีท้องที่กว้างขวาง มีชุมชนและชุมนุมการค้าหนาแน่น มีสภาพเจริญขึ้นกว่าเดิมมาก แต่เนื่องจากมีภูมิประเทศตั้งอยู่ห่างไกล ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการติดต่อราชการ สมควรแยกตำบลดังกล่าวออกจากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และรวมตั้งเป็น อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประโยชน์แก่การปกครอง การให้บริการของรัฐ ความสะดวกของประชาชน และเพื่อส่งเสริมให้ท้องที่มีความเจริญยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้"[1]

ลักษณะที่ตั้ง แก้

อำเภอกัลยาณิวัฒนา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าและภูเขาสูงชันล้อมรอบ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณ มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี เป็นพื้นที่ป่าไม้และภูเขา 378,245 ไร่ การเกษตร 30,391 ไร่ ที่อยู่อาศัย 3,327 ไร่ และพื้นที่โล่งสาธารณะ 4,635 ไร่ มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,225 มิลลิเมตรต่อปี ฝนตกเฉลี่ย 122 วันต่อปี

อาณาเขต แก้

อำเภอกัลยาณิวัฒนา มีอาณาเขตดังนี้

การแบ่งเขตการปกครอง แก้

การปกครองส่วนภูมิภาค แก้

อำเภอกัลยาณิวัฒนาประกอบด้วย 3 ตำบล 21 หมู่บ้าน ได้แก่

ลำดับที่ อักษรไทย อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน ประชากรทั้งหมด
(พ.ศ. 2566)[7]
ประชากรแยกตามส่วนท้องถิ่น
(พ.ศ. 2566)[7]
1. บ้านจันทร์ Ban Chan 7 4,532 4,532 (อบต. บ้านจันทร์)
2. แม่แดด Mae Daet 8 4,482 4,482 (อบต. แม่แดด)
3. แจ่มหลวง Chaem Luang 7 3,980 3,980 (อบต. แจ่มหลวง)
รวม 22 12,994 12,994 (อบต.)

การปกครองส่วนท้องถิ่น แก้

ท้องที่อำเภอกัลยาณิวัฒนาประกอบด้วยองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น (อปท.) 3 แห่ง ได้แก่

  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจันทร์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านจันทร์ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลแม่แดด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่แดดทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลแจ่มหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแจ่มหลวงทั้งตำบล

สภาพสังคม แก้

อำเภอกัลยาณิวัฒนาประกอบด้วยชุมชนชาวเขาหลายเผ่า เช่น กะเหรี่ยง ม้ง และลีซอ เป็นต้น[8] เฉพาะชาวกะเหรี่ยงในอำเภอกัลยาณิวัฒนามีมากถึงร้อยละ 95[9] ประชากรส่วนน้อยคือ ชาวม้งอาศัยในตำบลแม่แดด[10] และชาวลีซออาศัยที่บ้านเสาแดง ตำบลแจ่มหลวง[11] ประชากรสองกลุ่มหลังนี้เพิ่งอพยพเข้าสู่อำเภอกัลยาณิวัฒนาเมื่อราวห้าทศวรรษที่ผ่านมา[9] ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ทำสวน และการทอผ้าเป็นอาชีพเสริม[12] การสื่อสารใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นหลัก[13][14] ประชากรมีทั้งกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิม อาศัยปะปนกัน[8]

บริเวณนี้ประชากรกลุ่มปัจจุบันเพิ่งรับอิทธิพลจากศาสนาพุทธเมื่อราว 300 ปีก่อน[9] ทั้งยังพบร่องรอยของซากศาสนสถานของศาสนาพุทธที่คาดว่าเป็นของชาวลัวะ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง[15][11] ในกาลต่อมาได้มีพระธรรมจาริกเข้ามาเผยแผ่ศาสนาและสร้างวัดช่วง พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ปัจจุบันอำเภอกัลยาณิวัฒนามีวัดในศาสนาพุทธทั้งหมด 9 แห่ง[16] มีพุทธศาสนิกชนเป็นประชากรส่วนใหญ่ของตำบลแม่แดด[10] ขณะที่ศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามาเผยแผ่ในอำเภอกัลยาณิวัฒนาเมื่อ พ.ศ. 2477 โดยเริ่มเผยแผ่ที่บ้านหนองเจ็ดหน่วย บ้านใหม่พัฒนา บ้านแจ่มหลวง และบ้านเด่น มีมิชชันนารีก่อตั้งโรงเรียนสหมิตรวิทยาขึ้นในพื้นที่[9] เฉพาะตำบลแจ่มหลวง มีคริสต์ศาสนิกชนร้อยละ 95 และมีพุทธศาสนิกชนเพียงร้อยละ 4[13]

จากการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2552 พบว่าชาวกะเหรี่ยงนับถือศาสนาพุทธร้อยละ 54.1 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 39 และศาสนาพื้นเมืองร้อยละ 6.9 ส่วนชาวม้งและชาวลีซอส่วนใหญ่นับถือศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมร้อยละ 82.9 และร้อยละ 97.6 ตามลำดับ[9] อย่างไรก็ตามกลุ่มประชากรที่นับถือศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมส่วนใหญ่มีประเพณีและความเชื่อที่ผสมผสานเข้ากับศาสนาพุทธ[11] แม้จะนับถือศาสนาต่างกัน แต่พวกเขาก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและกลมกลืน[8]

สถานที่สำคัญ แก้

  • วัดจันทร์ มีเจดีย์เก่าแก่ตั้งอยู่ภายใน
  • อ่างเก็บน้ำห้วยอ้อ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทัศนียภาพสวยงาม เป็นแหล่งตกปลาตามธรรมชาติ
  • ศูนย์ศิลปาชีพบ้านวัดจันทร์ เป็นสถานที่ฝึกอบรมการทอผ้าและการส่งเสริมอาชีพราษฎรในพื้นที่
  • ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2552 เก็บถาวร 2011-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เล่มที่ 126, ตอนที่ 93 ก, วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552, หน้า 7
  2. โครงการอำเภอกัลยาณิวัฒนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554[ลิงก์เสีย]
  3. ""วัดจันทร์"ยกฐานะเป็นอำเภอ". Chiang Mai News. 2009-06-26.[ลิงก์เสีย]
  4. "อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอที่ 878". Department of Provincial Administration. 2009-08-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-19. สืบค้นเมื่อ 2010-12-25.
  5. "อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอที่ 878". Department of Provincial Administration. 2009-11-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-19. สืบค้นเมื่อ 2010-12-25.
  6. http://www.mof.go.th/News2009/146.pdf เก็บถาวร 2009-11-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข่าวกระทรวงการคลัง, คลังสนับสนุนการจัดตั้ง "อำเภอกัลยาณิวัฒนา", www.mof.go.th/News2009/146.pdf เข้าถึงเมื่อ 30 ต.ค. 2552
  7. 7.0 7.1 กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เดือนธันวาคม 2566." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1]. สืบค้น 13 มีนาคม 2567.
  8. 8.0 8.1 8.2 "ชวนทอดผ้าป่าสร้างอ่างเก็บน้ำช่วย รพ.ชุมชนวัดจันทร์". ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 "โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาติพันธุ์แบบมีส่วนร่วม: กรณีศึกษาอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่". ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. 10.0 10.1 แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2561-2565) (PDF). งานนโยบายและแผน องค์การบริหารส่วนตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่. มิถุนายน 2562. p. 7.
  11. 11.0 11.1 11.2 "อ.กัลยาณิวัฒนา...ดินแดนชนเผ่า (จบ)". เดลินิวส์. 24 สิงหาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-07. สืบค้นเมื่อ 2010-04-23.
  13. 13.0 13.1 "ประวัติโรงเรียน". โรงเรียนแจ่มหลวง. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  14. "ป้ายชื่ออำเภอกัลยาณิวัฒนากับมติครม.ที่ไม่เป็นจริง". นักข่าวพลเมือง. 8 กุมภาพันธ์ 2554. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. "วัดจันทร์". จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยแม่โจ้. 13 พฤษภาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. "วัดห้วยบง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่". ศูนย์ข้อมูลกลางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. 5 มีนาคม 2565. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้