อำพล ตั้งนพกุล หรือมักเรียกกันว่า อากง[1] (1 มกราคม พ.ศ. 2491[2] — 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555[3]) เป็นชายไทยซึ่งเป็นที่รู้จักเนื่องจากถูกฟ้องว่า ในกลางปี 2553 ได้ส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์เคลื่อนที่สี่ข้อความไปหาสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยมีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินี อันเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ต่อมา ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุกยี่สิบปี ได้ถึงแก่ความตายในเรือนจำ และผู้สนับสนุนตั้งพิธีศพที่หน้าศาลอาญากับรัฐสภา

อำพล ตั้งนพกุล
เกิด1 มกราคม พ.ศ. 2491
เสียชีวิต8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 (64 ปี)
เรือนจำกลางคลองเปรม กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
อาชีพผู้ขับรถรับส่งสินค้า
มีชื่อเสียงจากนักโทษฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยที่เสียชีวิตในเรือนจำ
ถูกกล่าวหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์
รับโทษจำคุก 20 ปี (4 กระทง)

ภูมิหลัง แก้

อำพลสมรสกับรสมาลิน ตั้งนพคุณ หรือชื่อเล่นว่า อุ๊ ทั้งคู่มีบุตรสาวสองคน คือ ปรวรรณ โชติพิชิต กับปิยะมาศ ตั้งนพกุล กับบุตรชายอีกจำนวนหนึ่ง[2][4] เขาเคยประกอบอาชีพขับรถขนส่งสินค้า ครั้นวัยและโรคมาก โดยเฉพาะเมื่อได้ผ่าตัดมะเร็งใต้ลิ้นในปี 2550 แล้ว ก็เลิกไปอาศัยอยู่กับภริยาในห้องเช่าไม่มีเลขที่ ซอยวัดด่านสำโรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ดำรงชีพด้วยเงินที่บุตรหลานเจียดให้ตามอัตภาพ โดยเลี้ยงหลานจำนวนสามถึงสี่คนให้เป็นการตอบแทน[5]

คดีอากง แก้

คดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด กับนายอำพล ตั้งนพกุล
สาระแห่งคดี
คำฟ้อง จำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่พิมพ์ส่งข้อความอันน่าจะทำให้พระมหากษัตริย์ พระราชินีนาถ และรัชทายาทถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
คำขอ ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) (3)
คู่ความ
โจทก์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด
จำเลย อำพล ตั้งนพกุล
ศาล
ศาล ศาลอาญา
ผู้พิพากษา ชนาธิป เหมือนพะวงศ์
ภัทรวรรณ ทรงกำพล
คำพิพากษา
คำพิพากษา คำพิพากษาศาลอาญา ในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 4726/2554
พิพากษา
" ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 20 ปี "
คดีหมายเลขดำที่ อ. 311/2554
คดีหมายเลขแดงที่ อ.4726/2554
ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554
กฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) (3)

การเริ่มคดี แก้

ในกลางปี 2553 สมเกียรติ ครองวัฒนสุข กล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ("ปอท.") สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า มีบุคคลส่งข้อความสี่ฉบับมาให้เขาทางโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยมีลักษณะน่าจะเป็นความผิดตามกฎหมาย ปอท. จึงตั้งพันตำรวจเอก ศิริพงษ์ ตินลา, พันตำรวจโท ธีรเดช ธรรมสุธีร์ และร้อยตำรวจเอก ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย สามคน เป็นพนักงานสอบสวน[5][6]

คณะพนักงานสอบสวนสืบทราบว่า เลขหมายโทรศัพท์ที่ส่งข้อความนั้นเป็นของอำพล จึงขอหมายจับจากศาลอาญา ได้หมายจับที่ 1659/2553 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2553[5] ครั้นแล้ว คณะเจ้าพนักงานตำรวจ ประกอบด้วย พลตำรวจโท ไถง ปราศจากศัตรู กับพวก ติดตามไปจับอำพลได้ที่ห้องเช่าในวันที่ 3 สิงหาคม 2553 พร้อมยึดทรัพย์สินของอำพล ประกอบด้วย โทรศัพท์เคลื่อนที่สามเครื่อง พร้อมซิมการ์ด และระบบอุปกรณ์สายเสียง เป็นของกลาง[6] ศาลอาญาสั่งขังอำพลไว้ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ญาติอำพลขอให้ปล่อยชั่วคราว ศาลอาญาไม่อนุญาต ญาติอุทธรณ์เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2553 ศาลอุทธรณ์อนุญาต อำพลถูกขังไว้เป็นเวลาหกสิบสามวันจึงได้รับการปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2553[5]

พลตำรวจโท ไถง แถลงข่าวว่า ในชั้นสอบสวน อำพลปฏิเสธข้อหา แต่รับว่า เป็นเจ้าของโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ทว่า เลิกใช้นานแล้ว กับทั้งอ้างว่า ส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เป็น และไม่ทราบเลขหมายโทรศัพท์ของบุคคลสำคัญ พลตำรวจโท ไถง ยังว่า เขาเชื่อว่าอำพลเป็นสมาชิกแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ("นปช.") และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้ขึ้นอำพลไว้ในบัญชีดำแล้ว[5]

การฟ้องคดี แก้

ต่อมา วันที่ 18 มกราคม 2554[7] พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 7 สำนักงานอัยการสูงสุด ฟ้องอำพลเป็นจำเลยต่อศาลอาญาหาว่า อำพลได้ใช้โทรศัพท์มือถือหมายเลข 08-1349-3615 ซึ่งมีอัตลักษณ์อุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่สากล (International Mobile Equipment Identity) หรือไอมี (IMEI) คือ 358906000230110 ส่งข้อความสั้นจำนวนสี่ข้อความเข้าสู่โทรศัพท์มือถือหมายเลข 08-1425-5599 ของสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ในเวลากลางวันของวันต่าง ๆ กัน

พนักงานอัยการขอให้ศาลลงโทษอำพลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินี) กับทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) และ (3) (นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศ)

ศาลอาญารับฟ้อง ตั้งชนาธิป เหมือนพะวงศ์ และภัทรวรรณ ทรงกำพล สองคน เป็นองค์คณะพิจารณาคดี[5][6] แล้วตรวจพยานในวันที่ 21 มีนาคม 2554[7] ระหว่างนั้น ได้สั่งขังอำพลอีกครั้งโดยเห็นว่า "การกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีและองค์รัชทายาท นับเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบความรู้สึกของปวงชนชาวไทย"[5] ญาติและทนายความฝ่ายจำเลยคัดค้านว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ปฏิบัติตามคำสั่งศาลมิเคยบิดพลิ้ว กับทั้งจำเลยอายุมากและมีโรคประจำตัว การขังย่อมเป็นผลเสียต่อสุขภาพของเขาและเป็นอุปสรรคในการสู้คดี ตลอดจนขัดต่อรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิได้รับการปล่อยชั่วคราวด้วย ศาลอาญายกคำร้องคัดค้าน ทนายความขอให้ปล่อยชั่วคราวอีกหลายครั้ง ศาลอาญายกคำขอทุกครั้ง[5]

การพิจารณาและพิพากษา แก้

ศาลอาญากำหนดสืบพยานทั้งสิ้นสี่นัด คือ ในวันที่ 23 กันยายน 2554, 27 กันยายน 2554, 28 กันยายน 2554 และ 30 กันยายน 2554 สามนัดแรกเป็นการสืบพยานโจทก์ นัดหลังสุดพยานจำเลย ตามลำดับ[5]

ในการสืบพยานโจทก์ โจทก์นำสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ผู้กล่าวโทษ, บรรดาพนักงานสอบสวนผู้ทำคดีนี้, บุตรสาวทั้งสองของอำพล, ธรรมนูญ อิ่มทั่ว เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบจัดเก็บของคอมพิวเตอร์ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กับนายจักรพันธ์ จุมพลภักดี เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลตัวผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัททรู มูฟ จำกัด มาเบิกความเป็นพยาน สรุปว่า สมเกียรติได้รับข้อความทั้งสี่จากเลขหมายไม่ทราบเจ้าของ จึงถ่ายภาพหน้าจอโทรศัพท์เก็บไว้ แล้วกล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ นำมาสู่การสืบสวนคดีและจับกุมอำพล โดยเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบไปยังบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว เชื่อว่า เลขหมายดังกล่าวเป็นของอำพล ไอมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบุได้เช่นนั้นและปลอมแปลงกันมิได้ ขณะที่ในการสืบพยานจำเลย จำเลยนำทนายความของตนและญาติพี่น้องเข้าสืบ โดยยืนยันเช่นเดียวกับครั้งปฏิเสธข้อหาในชั้นสอบสวน และยืนยันว่าตนมีความเคารพพระมหากษัตริย์และพระราชินี[5]

ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นว่า[6]

"แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้อง...ก็ตาม แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบเป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาซึ่งอยู่ภายใน ซึ่งจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดนั้น ก็สามารถนำสืบแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ทั้งหมดซึ่งบ่งชี้อย่างใกล้ชิดและสมเหตุสมผลโดยไม่มีข้อพิรุธใด ๆ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดประกอบกันจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความทั้งสี่ข้อความตามฟ้อง...ซึ่งข้อความดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท โดยประการที่จะน่าทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง...ข้อความดังกล่าวล้วนไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งประเทศว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์ ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา...จำเลยจึงมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง"

พิพากษาว่า อำพลมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) และ (3) การส่งข้อความสี่ฉบับไปในวันเวลาต่างกันเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายสี่กรรม ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นบทหนักที่สุดเพียงบทเดียว เรียงกระทงไปทุกกรรม โดยลงโทษจำคุกกระทงละห้าปี รวมเป็นจำคุกทั้งสิ้นยี่สิบปี[5][6]

คำพิพากษาดังกล่าวอ่านเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 จากศาลอาญาผ่านระบบประชุมทางวีดิทัศน์ (videoconferencing) ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เนื่องจากอุทกภัยใหญ่ในครั้งนั้นทำให้ไม่อาจเบิกตัวอำพลมาขึ้นศาลได้[5]

อุทธรณ์ แก้

อำพลอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอาญาต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอาญาให้ขังเขาไว้ระหว่างอุทธรณ์ อำพลขอให้ศาลอุทธรณ์ปล่อยชั่วคราว ศาลอุทธรณ์ยกคำขอ เขาฎีกา ศาลฎีกายืนเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 อำพลสิ้นหวัง จึงเห็นว่า จะไม่ได้รับการปล่อยตัวอีก และเลิกอุทธรณ์คำพิพากษา โดยหันไปขอให้พระมหากษัตริย์อภัยโทษแทน เมื่อเขาไม่อุทธรณ์อีก คดีจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอาญา และศาลอาญาออกหมายคดีสิ้นสุดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 เขาต้องรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดดังกล่าว[2]

ปฏิกิริยา แก้

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลแห่งเอเชียว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแสดงความเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกโดยอ้างความมุ่งหมายในการคุ้มครองความมั่นคงของรัฐ และเรียกร้องให้อนุญาตให้ปล่อยอำพลชั่วคราวระหว่างพิจารณาได้[8]

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนว่า กระบวนการขอให้ปล่อยชั่วคราวตลอดจนการพิจารณาเฉพาะในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะพบอุปสรรคมากมาย[8] ขณะที่คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยว่า ประเทศไทยควรใช้กฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม[8]

หนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน (The Guardian) รายงานว่า โทษจำคุกยี่สิบปีของอำพลนั้นหนักที่สุดเท่าที่เคยมีมาในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112[3]

ในรายการ ตอบโจทย์ ซึ่งใช้หัวเรื่องว่า "คดีอากงกับมาตรา 112" และออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2554 พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ในการพิจารณาคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้มีการรักษาความยุติธรรมไว้มากน้อยเพียงไร และประชาชนเชื่อมั่นได้สักเท่าไรว่าจะได้รับความยุติธรรม โดยเฉพาะเมื่อมักดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นการลับแล้วด้วย[9] ขณะที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า สะเทือนใจที่ศาลลงโทษจำคุกเป็นเวลายาวนานแก่อำพลซึ่งชราภาพและเป็นมะเร็ง และกล่าวว่า ต้องการเตือนว่า "ความยุติธรรมไม่ได้ลอยอยู่บนฟ้า แต่เป็นความเห็นของมนุษย์ในสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัยแต่ละแห่ง...การที่คนมันขยับเขยื้อนกันมากมายเหลือเกินในสังคมจากกรณีอากง มันชี้ให้เห็นว่า ทัศนะต่อความยุติธรรมของไทย มาตรฐานที่ครั้งหนึ่งเคยถือว่าเป็นความยุติธรรม สังคมไทยไม่ได้เห็นอย่างนั้นแล้ว จริง ๆ อากงนี่ถ้าอยู่สมัยอยุธยานี่เอามะพร้าวห้าวยัดปากนะ..."[9]

ในบทความ อากงปลงไม่ตก สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม ว่า "...ตามฟ้อง จำเลยอายุหกสิบเอ็ดปี มิได้แก่ชราจนต้องอยู่ในความอนุบาลดูแลของผู้ใด...มิได้แก่เฒ่าคราวปู่ทวด สำหรับบุคคลที่เจนโลกโชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคม สถาบันหลักของประเทศชาติ และองค์พระประมุขอันเป็นที่เคารพสักการะ...ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่องหรือแก่ผู้อื่นอีก..."[10] เขาแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่ศาลอาญามิได้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่อำพลว่า "…ถ้าคดีใดอัยการโจทก์สามารถนำสืบพิสูจน์จนให้ศาลเห็นและเชื่อได้ว่า จำเลยมีเจตนาชั่วร้าย...จำเลยในคดีนั้นก็สมควรที่จะได้รับโทษานุโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี..."[11] และเห็นว่า พฤติกรรมที่เชื่อว่าเป็นของอำพลตามคำฟ้องนั้นร้ายแรงเสมือนน้ำผึ้งหยดเดียวที่อาจนำไปสู่ความเสียหายใหญ่หลวงได้[10]

การเสียชีวิต แก้

เหตุแห่งการตาย แก้

เช้าวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 อำพลถึงแก่ความตายในเรือนจำกลางคลองเปรมระหว่างต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลอาญาข้างต้น[2] เบื้องต้น สาเหตุการตายไม่ปรากฏ พันตำรวจเอก สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่า เจ้าพนักงานเรือนจำแจ้งเขาว่า อำพลเจ็บท้องเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 จึงให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ในวันรุ่งขึ้น[1][3]

มรณกรรมของอำพลเป็นการตายผิดธรรมชาติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะเกิดแก่ผู้ตายขณะที่ผู้ตายอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน จำจะต้องมีการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนหาเหตุแห่งการตายต่อไป[2] ในการนี้ ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. ว่า ติดใจในความตายของอำพล จึงเข้าร่วมชันสูตรพลิกศพกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กับทั้งขอให้คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศเข้าตรวจสอบมาตรฐานการแพทย์ของโรงพยาบาลในเรือนจำด้วย[1] ต่อมาวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์แถลงว่า อำพลถึงแก่ความตายเพราะโรคมะเร็ง[12]

ส่วนการชันสูตรพลิกศพโดยฝ่ายเจ้าพนักงานตำรวจนั้น วันที่ 8 พฤษภาคมนั้นเอง สถาบันนิติเวชวิทยาได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีพลตำรวจตรี ณรงศักดิ์ เสาวคนธ์ รองนายแพทย์ใหญ่ กับพวก เป็นกรรมการ และเชิดชัย ตันติศิรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย กับพวก เป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์ วันถัดมา พันตำรวจเอก สุพล จงพาณิชย์กุลธร โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยผลการชันสูตรพลิกศพว่า อำพลสิ้นชีวิตเพราะโรคมะเร็งตับซึ่งแพร่กระจายไปทั่วร่างกายจนทำให้หัวใจล้มเหลว[2]

การปลงศพ แก้

วันที่ 9 พฤษภาคม 2555 บุตรภริยาของอำพล กับพวกซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นสมาชิก นปช. และอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับศพอำพลจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แล้วแห่แหนไปตามถนนจนถึงหน้าศาลอาญาที่ถนนรัชดาภิเษก ครั้นแล้ว ตั้งสวดและรดน้ำที่หน้าศาลอาญานั้นเป็นเวลาหนึ่งคืน โดยมีผู้สนับสนุนมาร่วมฟังสวดเป็นอันมาก ท่ามกลางกองกำลังเจ้าพนักงานตำรวจที่มาเฝ้าระวัง[2][4][13][14] ทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ว่า เป็นผู้ร้องขอกำลังเจ้าพนักงานตำรวจมาเอง โดยเจ้าพนักงานแจ้งว่า ไม่สามารถห้ามมิให้คนทั้งนั้นมั่วสุมประชุมกันหน้าศาลได้ แต่จะคอยระวังรักษาความสงบเรียบร้อยให้[15]

ครั้นวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 จึงแห่ศพไปสวดที่หน้ารัฐสภา[14][16] บ่ายลงวันนั้น ก็เคลื่อนไปบำเพ็ญกุศลที่วัดด่านสำโรง ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ไว้ศพเจ็ดคืน ก่อนฌาปนกิจ[2][17] ตลอดงานศพนั้น มีกำลังเจ้าพนักงานตำรวจเข้าเฝ้าระวังเป็นจำนวนมาก[17] อนึ่ง สมาชิก นปช. ณ ท้องที่อื่นได้พากันไว้อาลัยในขณะเดียวกันด้วย[18][19]

ปฏิกิริยา แก้

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 บงกช คงมาลัย นักแสดง ได้ลงข้อความบนเฟซบุ๊กของเธอ แสดงความชื่นชมยินดีต่อการเสียชีวิตของอำพล[20] เป็นเหตุให้ต่อมาในวันที่ 13 พฤษภาคม ขณะจะเดินทางเข้าเมืองพัทยา เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ เธอถูกคนเสื้อแดงจำนวนมาก ชุมนุมร้องขับไล่ตลอดทาง จนต้องยกเลิกการถ่ายทำและออกจากเมืองพัทยาโดยรีบด่วน[21][22]

วันที่ 10 พฤษภาคมนั้น สุนัย จุลพงศธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย และประธานกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร ยังได้เรียกร้องให้มีการอาศัยเหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นพูดคุยกันถึงการแสวงหาความยุติธรรมในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งแสดงความเป็นห่วงต่อผู้ต้องหาคนอื่นในคดีทำนองเดียวกัน[23][24] ขณะที่ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้เร่งดำเนินกิจกรรมเพื่อยุติความสูญเสียจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112[25]

วันที่ 11 พฤษภาคม 2555 องค์การนิรโทษกรรมสากลได้ประกาศให้อำพลเป็นนักโทษทางความคิด (prisoner of conscience) โดยกล่าวว่า อำพล "เป็นเครื่องสำแดงถึงความอยุติธรรมขนานใหญ่หลวงของกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้"[26]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "อากงเอสเอ็มเอส เสียชีวิตแล้วในคุก". โพสต์ทูเดย์. 9 พฤษภาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-26. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 "รดน้ำศพ-สวด "อากง" ริมถนนหน้าศาล!". ผู้จัดการออนไลน์. 9 พฤษภาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-12. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 "Thai man dies during 20-year jail term for insulting queen". The Guardian. 8 May 2012. สืบค้นเมื่อ 9 May 2012.
  4. 4.0 4.1 "เคลื่อนศพอากงรดน้ำศาลอาญา". โพสต์ทูเดย์. 9 พฤษภาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-28. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 5.11 "คำพิพากษาคดีอากง sms". iLaw. 17 ตุลาคม 2554. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-26. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 "คำพิพากษาคดีอากง (ฉบับเต็ม)". ศูนย์ประชาสัมพันธ์ศาลยุติธรรม. 23 ธันวาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. 7.0 7.1 "ศาลนัดแรก คดีอากง sms". iLaw. 18 กุมภาพันธ์ 2554. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 8.2 "รอบอาทิตย์แรก ธ.ค. 54 : อากงSMS effect". iLaw. 2 ธันวาคม 2554. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-11. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. 9.0 9.1 "ตอบโจทย์ คดีอากงกับ ม.112 ตอนที่1 12-12-54". ไทยพีบีเอส. 12 ธันวาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. 10.0 10.1 สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ (9 พฤษภาคม 2555). "อากงปลงไม่ตก" (PDF). ศาลยุติธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-01-21. สืบค้นเมื่อ 2012-05-09. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "ปลงไม่ตก" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  11. สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ (9 พฤษภาคม 2555). "อากงปลงไม่ตก (2)" (PDF). ศาลยุติธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-01-20. สืบค้นเมื่อ 2012-05-09. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "อากงปลง" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  12. "ธิดาส่งนปช.ร่วมชันสูตรศพอากง". โพสต์ทูเดย์. 9 พฤษภาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  13. "เสื้อแดงลากศพ"อากง"ตั้งหน้าศาลอาญา เตรียมรดน้ำ 4 โมง". ผู้จัดการออนไลน์. 9 พฤษภาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-18. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. 14.0 14.1 "ตั้งศพ 'อากง' สวดหน้าศาล 1 คืน ก่อนไปรัฐสภาพรุ่งนี้". ไทยรัฐ. 9 พฤษภาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. "เตือนม็อบชุมนุมสงบอย่านำศพอากงเข้าศาล". โพสต์ทูเดย์. 9 พฤษภาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-31. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. "แห่ศพ"อากง"ไปทำเนียบ-สภา10พ.ค." โพสต์ทูเดย์. 9 พฤษภาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  17. 17.0 17.1 "นปช.ร่วมงานศพ 'อากง' แนะเลี่ยงเส้นทางวัดด่านสำโรง". ไทยรัฐ. 10 พฤษภาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. "แดงเชียงใหม่ไม่ปล่อยโอกาส จุดเทียนดำ-แดงไว้อาลัย "อากง SMS" ปั่นกระแสต่อ". ผู้จัดการออนไลน์. 9 พฤษภาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-18. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  19. "ญาติ'อากง'รวมตัวหน้าศาล จุดเทียนไว้อาลัย". ไทยรัฐ. 9 พฤษภาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  20. ""ตั๊ก" รับโพสต์ไม่เห็นด้วยกับพวกเชียร์ "อากง" ถามทำเพื่อคนที่เคารพรักผิดหรือ?". ผู้จัดการออนไลน์. 10 พฤษภาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-13. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. "เสื้อแดงพัทยาไล่ด่ายับ ตั๊ก บงกช จนกองถ่ายล่มกลางคัน". สนุกออนไลน์. 13 พฤษภาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  22. "เสื้อแดงพัทยาคุกคาม "ตั๊ก บงกช" ทำให้กองถ่ายฯ ล่มกลางคัน". ผู้จัดการออนไลน์. 13 พฤษภาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-18. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  23. ""สุนัย" เติมเชื้อ "อากง" โยง ม.112 ต้นเหตุการเสียชีวิต". ผู้จัดการออนไลน์. 10 พฤษภาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-18. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  24. "ห่วง'สุรชัย-สมยศ'ตายคาคุกซ้ำรอย วอนศาลแจงให้ชัด". ไทยรัฐ. 10 พฤษภาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  25. "รดน้ำศพอากง หน้าศาลอาญา". ไทยรัฐ. 10 พฤษภาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. "Thai 'Prisoner of Conscience' Dies in Jail: Lawyer". Jakarta Globe. 11 May 2012. สืบค้นเมื่อ 13 May 2012.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้