อำนาจ ลูกจันทร์

จ่าเอก อำนาจ ลูกจันทร์ หรือ เป้า คาราบาว (20 มีนาคม พ.ศ. 2492 - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560) เป็นอดีตมือกลองของวงคาราบาว โดยเป็นมือกลองคนแรกของวง และมีผลงานสำคัญร่วมกับวงคาราบาวหลายอัลบั้มเช่น ท.ทหารอดทน, เมดอินไทยแลนด์, อเมริโกย, ประชาธิปไตย, เวลคัมทูไทยแลนด์, ทับหลัง รวมถึงเคยเป็นหนึ่งในนักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่องเสียงเพลงแห่งเสรีภาพในปี พ.ศ. 2528

อำนาจ ลูกจันทร์
ชื่อเกิดจ่าเอก อำนาจ ลูกจันทร์
รู้จักในชื่อเป้า
เกิด20 มีนาคม พ.ศ. 2492
อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
เสียชีวิต14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 (68 ปี)
กรุงเทพมหานคร​ ประเทศไทย
แนวเพลงเพื่อชีวิต, ร็อก
อาชีพนักดนตรี
เครื่องดนตรีกลอง
ช่วงปีพ.ศ. 2526 - พ.ศ. 2541
อดีตสมาชิกคาราบาว
เว็บไซต์www.carabao.net
หน้าปกอัลบั้ม ขอเดี่ยวด้วยคนนะ

เป้า คาราบาว จัดเป็นมือกลองของคาราบาวที่อยู่ในช่วงที่ทางวงประสบความสำเร็จสูงสุด โดยหลังจากที่แยกออกจากวงคาราบาว เป้าได้ออกผลงานเพลงร่วมกับเทียรี่ เมฆวัฒนาและธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ในอัลบั้มขอเดี่ยวด้วยคนนะ ในปี พ.ศ. 2532 ซึ่งประสบความสำเร็จทางยอดขายอย่างมาก จากนั้นได้หันไปสอนดนตรีและทำธุรกิจส่วนตัว ก่อนจะกลับมาทัวร์คอนเสิร์ตและออกอัลบั้มร่วมกับคาราบาวอีกครั้งในปี พ.ศ. 2539 ในอัลบั้มหากหัวใจยังรักควาย รวมถึงเป็นแขกรับเชิญในคอนเสิร์ตใหญ่ของวงหลายครั้ง

โดยเป้า คาราบาว ถึงจะเป็นคนที่มีรูปร่างเล็ก มีส่วนสูงต่ำกว่า 160 เซนติเมตร แต่สามารถตีกลองได้อย่างหนักหน่วงในเพลงร็อก และสามารถตีกลองได้หลายรูปแบบทั้งแนวป๊อป, ฟิวชั่นแจ๊ส รวมถึงเพลงลูกทุ่ง นอกจากนี้ยังเคยบันทึกเสียงกลองให้กับศิลปินต่าง ๆ เป็นจำนวนมากนอกเหนือจากวงคาราบาว

ในช่วงบั้นปลายชีวิต เป้า คาราบาว ประสบปัญหาทางการเงินและมีปัญหาสุขภาพ โดยถูกธนาคารกรุงเทพฟ้องคดีแพ่ง ก่อนจะถูกยึดบ้านและที่ดินเพื่อนำมาชำระหนี้ ในปี พ.ศ. 2544 ต่อมาเป้า คาราบาว เริ่มมีอาการล้มป่วยเกี่ยวกับระบบหัวใจและต้องผ่าตัดหมอนรองกระดูก ทำให้ไม่สามารถเดินได้อย่างปกติและไม่สามารถตีกลองอย่างหนักได้ ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2552 เป้า คาราบาว ได้ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย เนื่องจากปัญหาหนี้สิน จากนั้นเป้า คาราบาว ได้ต่อสู้กับอาการของโรคหัวใจและหมอนรองกระดูกเรื่อยมา และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลกลางเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 จากอาการเส้นเลือดในสมองแตก

ประวัติ แก้

อำนาจ ลูกจันทร์ หรือ เป้า จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมจากโรงเรียนพระโขนง (ปัจจุบันคือโรงเรียนพระโขนงพิทยาลัย) จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ และเริ่มต้นชีวิตนักดนตรีครั้งแรกด้วยการรับราชการในกองดุริยางค์ทหารเรือ ได้รับยศ จ่าเอก (จ.อ.) มีหน้าที่สอนดนตรีประเภทเครื่องตี และใช้เวลาว่างจากรับราชการมาเล่นตามคลับและบาร์ต่าง ๆ ในเวลากลางคืน นอกจากนี้ในช่วงบ่ายยังเป็นนักดนตรีเล่นแบ็คอัพในห้องอัดเสียงต่าง ๆ โดยเริ่มเล่นในแนวป๊อปแจ๊ส และฟิวชั่นแจ๊ส ซึ่งนับว่าเป็นนักดนตรีคนหนึ่งในแนวฟิวชั่นแจ๊สรุ่นบุกเบิกของไทย

ในขณะที่เป็นนักดนตรีแบ็คอัพนั้น เป้าได้บันทึกเสียงกลองและเล่นแบ็คอัพให้กับศิลปินในยุคนั้นอย่างมากมาย เช่นวง PM5 ที่มี ดอน สอนระเบียบ นักร้องชื่อดังเป็นนักร้องนำ รวมถึงศิลปินเพลงลูกกรุงอย่างสวลี ผกาพันธุ์, สุเทพ วงศ์กำแหง, ศรีไศล สุชาติวุฒิ

คาราบาว แก้

อำนาจ ลูกจันทร์ ได้เข้าร่วมวงคาราบาวในฐานะมือกลองและเพอร์คัสชั่นในปี พ.ศ. 2526 ในชุด ท.ทหารอดทน อันเป็นอัลบั้มชุดที่ 4 ของคาราบาว พร้อมกับ เทียรี่ เมฆวัฒนา, อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และ ไพรัช เพิ่มฉลาด ซึ่งเป็นเพื่อนนักดนตรีร่วมห้องอัดเดียวกัน จากนั้นได้ออกจากราชการทหารเรืออย่างเต็มตัว นับได้ว่าเป้าประสบความสำเร็จ และมีชื่อเสียงให้กับวงคาราบาวอย่างมากในฐานะมือกลองจากความสำเร็จของอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ที่สามารถทำยอดขายได้ถึง 5,000,000 ตลับ ซึ่งเป็นยอดขายอัลบั้มที่สูงที่สุดในประเทศไทย และได้เล่นคอนเสิร์ตใหญ่ของวงหลายครั้งเช่น คอนเสิร์ตทำโดยคนไทย ที่สนามกีฬาเวโลโดรม หัวหมาก ในต้นปี พ.ศ. 2528 ที่มีผู้ชมมากกว่า 60,000 คน โดยเป้าได้โซโล่กลองเพลง ท.ทหารอดทน เพื่อเปิดคอนเสิร์ต, คอนเสิร์ตรับใช้ชาติ ที่สวนสยาม ซึ่งเป็นภาคต่อของคอนเสิร์ตทำโดยคนไทย และยังได้ออกทัวร์คอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกาอีกด้วย

บทบาทของเป้าในวง คือ การเป็นมือกลองและเพอร์คัสชั่นโดยไม่ได้ร้องเพลงหรือร้องประสานเสียง เรียกได้ว่าเป็นสมาชิกเพียงคนเดียวของวงที่ไม่เคยร้องเพลงหรือร้องประสานเสียงเลยแม้แต่เพลงเดียว

แยกวง แก้

ในปี พ.ศ. 2532 เป้า พร้อมเทียรี่ และอ.ธนิสร์ ได้แยกออกมาจากวงหลังออกอัลบั้มชุดที่ 9 ทับหลัง และต่อมาได้ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกในชีวิตของพวกตน ชื่อชุด ขอเดี่ยวด้วยคนนะ ซึ่งเป้าก็ทำหน้าที่ตีกลองและเพอร์คัสชั่นโดยไม่ได้ร้องเพลงหรือร้องประสานเสียงอีกเช่นเคย แต่ได้แต่งเพลงไว้หนึ่งเพลงในอัลบั้มคือเพลง ศึกบางระจัน

จากนั้น ทั้งเป้า เทียรี่ และ อ.ธนิสร์ ก็ได้แยกย้ายกันไปตามเส้นทางชีวิตของแต่ละคน ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ก็มีผลงานเดี่ยวของตัวเองครั้งแรก ชื่อชุด นักร้องจำเป็น ร่วมกับวงการบูร และต่อมา เป้ามีกิจการส่วนตัวคือ ผลิตเพอร์คัสชั่นจำหน่าย ในยี่ห้อ Pearl และเปิดโรงเรียนสอนดนตรีที่บ้านของตนเอง เน้นในเครื่องดนตรีประเภทตีและประกอบจังหวะ และยังมาร่วมงานกับคาราบาวเป็นประจำเมื่อมีคอนเสิร์ตครั้งสำคัญ ๆ

ในวันที่ 1 - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ในคอนเสิร์ต 25 ปี คาราบาว บาวเบญจเพส ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี เป้า คาราบาว ได้ขึ้นคอนเสิร์ตเป็นแขกรับเชิญของวง และได้ร้องเพลงในคอนเสิร์ตของคาราบาวเป็นครั้งแรกในเพลง ร้านเหล้าริมทาง โดยเป็นเพลงแรกและเพลงเดียวที่เป้าร้องให้กับวงคาราบาว

ปลายชีวิต แก้

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 เป้าป่วยเป็นอัมพฤกษ์ซึ่งเป็นผลจากการผ่าตัดหมอนรองกระดูกต้นคอและทำบอลลูนหัวใจ ทำให้แขนไม่มีแรงพอที่จะตีกลองได้หนัก ๆ เหมือนเก่า และมีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากแยกออกมาอยู่ลำพังเพียงคนเดียว ภรรยาที่แต่งงานอยู่กินกันมานานกว่า 40 ปี ก็แยกทางกันไป แต่ก็ยังได้รับเชิญไปเป็นนักดนตรีพิเศษเล่นในกรณีสำคัญต่าง ๆ และเป็นอาจารย์พิเศษทางสถาบันดนตรีบางแห่ง

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 เป้าได้เข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และทำบอลลูนหัวใจที่โรงพยาบาลตากสิน ทำให้ไม่สามารถเดินได้เหมือนปกติ โดยต้องนั่งบนรถเข็นและหากยืนนาน ๆ ต้องใช้ไม้เท้าช่วย ทำให้ไม่สามารถเล่นดนตรีได้

ต่อมาในวันที่ 22 ตุลาคม ปีเดียวกันนั้น ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้เป้าเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องจากมีหนี้สินจำนวนมากที่เกิดจากการกู้ยืมเงินมาจากธนาคารกรุงเทพ แต่ไม่สามารถชดใช้ได้เนื่องจากขาดทุนจากการทำธุรกิจส่วนตัว[1] ต่อมาอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น เขาก็ได้ล้มป่วยลง และเสียชีวิตในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ที่โรงพยาบาลกลาง จากอาการเส้นเลือดในสมองแตก [2]

ครอบครัว แก้

ได้พบคนรักและแต่งงานกันกับนางพึงพิศ ลูกจันทร์ [3] และมีลูกด้วยกัน 2 คน คือ อุปทัศน์ ลูกจันทร์ กับ พัชรวุทธ ลูกจันทร์ [4]

ผลงาน แก้

คาราบาว แก้

  1. ท.ทหารอดทน (พ.ศ. 2526)
  2. เมด อิน ไทยแลนด์ (พ.ศ. 2527)
  3. อเมริโกย (พ.ศ. 2528)
  4. ประชาธิปไตย (พ.ศ. 2529)
  5. เวลคัม ทู ไทยแลนด์ (พ.ศ. 2530)
  6. ทับหลัง (พ.ศ. 2531)
  7. หากหัวใจยังรักควาย (พ.ศ. 2538)

คนด่านเกวียน แก้

  1. เป้าเล่นกลองในอัลบั้ม เด็กปั้ม (พ.ศ. 2527)

พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ แก้

  1. เป้าเล่นกลอง, เพอร์คัสชั่น ในอัลบั้ม เดี่ยว (พ.ศ. 2528)
  2. เป้าเล่นกลอง ในอัลบั้ม รวมเพลงจากชุด 1, 2, 3, 4 (พ.ศ. 2530)

อิทธิ กลางกูร แก้

  1. เป้าเล่นกลองในอัลบั้ม อิทธิ 3 เวลา (พ.ศ. 2533)

อินโดจีน แก้

  1. เป้าเล่นโปรแกรมกลองในอัลบั้ม เขาพระวิหาร (พ.ศ. 2534)

โฮป แก้

  1. เป้าเล่นกลองในเพลง แอ่วสาวสารคาม, คืนสู่ฝัน ในอัลบั้ม ดอกไม้แห่งกาลเวลา (พ.ศ. 2534)

ป๋อง ณ ปะเหลียน แก้

  1. เป้าเล่นกลอง, เพอร์คัสชั่น ในอัลบั้ม คำตอบจากคนไกล (พ.ศ. 2543)

คอนเสิร์ต แก้

  1. คอนเสิร์ต เก็บตะวัน A Tribute To อิทธิ พลางกูร (30 ตุลาคม 2547)
  2. คอนเสิร์ต 60 ปี สัญญาหน้าฝน (5 พฤษภาคม 2556)

ภาพยนตร์ แก้

  • เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ (2528) รับบท เป้า
  • ยังบาว (2556) รับบท เป้า

อัลบั้มเดี่ยว แก้

รางวัล แก้

  • สีสันอะวอร์ดส์ ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2532 ศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม ร่วมกับ เทียรี่ เมฆวัฒนา, ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี จากอัลบั้ม "ขอเดี่ยวด้วยคนนะ"

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้