อาหารฮังการี หรือ อาหารม็อจยอร์ (อังกฤษ: Hungarian cuisine หรือ Magyar cuisine, ฮังการี: Magyar konyhaművészet) เป็นลักษณะอาหารของประเทศฮังการีและกลุ่มชาติพันธุ์ฮังการี อาหารฮังกาเรียนดั้งเดิมมีพื้นฐานมาจากเนื้อสัตว์ ผักตามฤดูกาล ผลไม้ ขนมปังสด ผลิตภัณฑ์จากนม และ ชีส

ลักษณะทั่วไป แก้

 
ซุปเนื้อต้มพื้นบ้าน (ฮาซิ ฮูชเลแว็ช házi húsleves)

อาหารฮังการีมีความเป็นมาจากยุโรปกลาง มีองค์ประกอบวัตถุดิบอาหารบางส่วนแบบยุโรปตะวันออก  เช่น การใช้งาดำ และ การใช้ผลิตภัณฑ์จากนมวัวแบบเป็นก้อน (kefir และ quark) อาหารฮังการีปรุงอาหารโดยใช้พริกปาปริก้า เครื่องเทศ และ พริกไทย อาหารฮังกาเรียนทั่วไปมีนม ชีส และเนื้อสัตว์ คล้ายกับอาหารเช็กเกีย โปแลนด์ และ สโลวาเกียที่อยู่ใกล้เคียง โดยส่วนมากใช้เนื้อไก่ เนื้อหมู และเนื้อวัวในการปรุง แต่ก็ใช้เนื้อไก่งวง, เป็ด, เนื้อแกะ, ปลาและเนื้อสัตว์ป่าในโอกาสพิเศษ ประเทศฮังการีมีชื่อเสียงในด้านการแปรรูปซาลามี่และไส้กรอกที่คุณภาพสูงและราคาไม่แพง โดยผลิตจากเนื้อหมูเป็นหลัก แต่ก็มีเนื้อสัตว์ปีก เนื้อวัว และ อื่น ๆ เป็นส่วนน้อย ขนมปังอาจเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของอาหารฮังการี ชาวฮังการีทานขนมปังกับอาหารทุกมื้อ ก่อนการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ. 1990 ขนมปังขาวเป็นอาหารหลักของชาวฮังการี ในเวลาต่อมา มีขนมอบหลายประเภท เช่น ขนมปังก้อนขนมอบเค็ม และ ขนมอบหวาน ที่มีการสร้างสรรค์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สามารถพบได้ในร้านเบเกอรี่มากมาย ทั่วประเทศฮังการี

 
ชิร์แกะปอปริกาช Csirkepaprikás ไก่ราดพริกปาปริก้า ราดด้วยครีมปาปริก้าเข้มข้น ทานกับเกี๋ยวแป้งขนาดเล็ก เรียกว่า โนแคดลิ (nokedli)
 
สตูว์เนื้อเปอร์เกิลต์ (pörkölt) กับพาสต้าโนแคดลิ (nokedli)

อาหารฮังการีแยกอาหารจานหลักเป็น 2 ประเภท ได้แก่:

1. เมนูทานกับอาหารข้างเคียง หรือเรียกว่า เกอแร็ต (köret) ในภาษาฮังการี เช่น มันฝรั่ง สปาเก็ตตี้ และ ขนมปัง และอีกแบบ แบบที่

2.เมนูแบบทานเดี่ยว ๆ ไม่มีเครื่องเคียง อาหารบางเมนูจะเป็นการแปลกหากทานโดยไม่มีเครื่องเคียง (คล้ายกับแกงไทย ต้องทานกับข้าว) ในทางกลับกัน บางเมนูที่ทานเดี่ยว ๆ จะแปลกมาก ถ้าทานกับเครื่องเคียง (อาทิ การทานก๋วยเตี๋ยวกับข้าว) เครื่องเคียงส่วนมากมักจะเป็นมันฝรั่งที่ปรุงด้วยวิธีการหลายรูปแบบ แต่ข้าวหรือผักนึ่งก็เป็นที่นิยมเช่นกัน อาหารบางอย่างมีเครื่องเคียงตามธรรมเนียม เช่น ไก่ราดพริกปาปริก้า (ชิร์แกปอปริกาช csirkepaprikás) มักจะกินกับแป้งพาสต้าโนแค็ดลิ (ในเยอรมนีเรียกว่า ชเป็ทซ์เลอ) (nokedli) ในขณะที่บางเมนูสามารถกินกับอะไรก็ได้ อาทิเช่น ชีสทอด (รานโตต ช็อยต์ rántott sajt) สามารถทานกับเครื่องเคียงชนิดใดก็ได้ อาหารฮังการีแต่ละเมนูมักมีท้อปปิ้ง สำหรับทานกับอาหารหลัก เช่น ครีมเปรี้ยวและขนมปัง สำหรับทานกับกระหล่ำปลียัดไส้ (เติลเติตกาโปสตอ töltöttkáposzta)

ในหลายปีที่ผ่านมา มีการปรุงอาหารฮังการีในรูปแบบศิลปะสร้างสรรค์ เพิ่มส่วนผสมใหม่ และ รูปแบบการเตรียมอาหารที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต จึงทำให้อาหารฮังการีที่เตรียมไว้สำหรับนักท่องเที่ยว อาจดูแปลกมากสำหรับชาวฮังการีที่มักจะทานอาหารเหล่านั้นในแบบดั้งเดิม

กูยาช อาหารฮังการีที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ในความเป็นจริงแล้ว เป็นอาหารที่ไม่ได้ทานกันบ่อยนัก กูยาชเป็นอาหารแบบดั้งเดิมของชาวฮังการี เป็นสตูว์เนื้อสัตว์ สตูว์เนื้อฮังการีอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียง เป็นที่นิยมทาน ประกอบไปด้วย ปอปริกาช (paprikás) สตูว์ข้นกับเนื้อเคี่ยวในซอสเกรวี่ปาปริก้ารสเข้มข้น และ เปอร์เกิลต์ (pörkölt) สตูว์ของชาวฮังการีที่มีวัตถุดิบหลักเป็นเนื้อไม่มีกระดูก (โดยปกติจะเป็นเนื้อวัวหรือหมู บางครั้งอาจใช้เนื้อกวาง) ผสมกับหัวหอมและผงปาปริก้าหวาน ทานกับแป้งพาสต้าโนแค็ดลิ (nokedli) หรือ กอลุชกอ (galuska) ซึ่งเป็นเกี๊ยวขนาดเล็ก สตูว์เนื้อสัตว์ในการปรุงแบบโบราณ จะใช้ผลไม้ เช่น ลูกพลัม หรือแอปริคอต ปรุงพร้อมกับเนื้อสัตว์สัตว์ที่ล่ามาได้ ผสมกับซอสที่มีรสเผ็ดร้อน เมนูอาหารฮังการีมักมีกับข้าวเครื่องเคียงเป็นเกี๊ยว มันฝรั่ง หรือ ข้าว รวมไปถึง โกลบาส (kolbász)ไส้กรอกแห้งฮังการี และซาลามี่ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของอาหารฮังการี[1]

 
แพนเค้กปอลอชินตอ แบบตระกูลกุนแดล Gundel Palacsinta เครปสอดไส้ถั่วและซอสช็อกโกแล็ต

อาหารฮังการีอื่น ๆ มี ซุป, อาหารตุ๋น ขนมหวาน ขนมอบ และ แพนเค้กแบบยุโรปตะวันออกที่เรียกว่า ปอลอชินตอ (palacsinta) อาหารฮังการีมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากในแต่ละภูมิภาคในเมนูเดียวกัน อาทิเช่น ซุปชาวประมง (halászlé) ซุปปลาร้อนฮังการี มีการปรุงที่แตกต่างกันระหว่าง 2 ริมฝั่งแม่น้ำสายสำคัญของฮังการี ได้แก่ แม่น้ำดานูบและแม่น้ำทิสซอ

2 องค์ประกอบที่น่าทึ่งของอาหารฮังการี ที่คนฮังการีไม่ค่อยสังเกต แต่มักกระตุ้นความสนใจอย่างมากจากชาวต่างชาติ คือ 1.főzelék ซุปผักเหลว และ 2.ซุปผลไม้เย็น เช่น ซุปเชอร์รี่เปรี้ยวเย็น (hideg meggyleves)[2]

อาหารฮังกาเรียนใช้ชีสหลากหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ túró (เนยแข็งควาร์กชนิดหนึ่ง), ครีมชีส, ชีส picante ewe (juhturó) ชีสฮังการีที่พบมากที่สุดคือ ชีส Karaván, Pannonia, Pálpusztai, Emmentaler และ Edam

 
Hortobágyi palacsintaa แพนเค้กปอลอชินตอเมืองฮอร์โตบาจ เป็นเครปเปรี้ยวสอดไส้เนื้อลูกวัว

ชาวฮังการีบริโภคผลิตภัณฑ์หมูรมควันมากมายหลายแบบ เป็นส่วนสำคัญของอาหารฮังการี อาหารหลายเมนูมีรสชาติเอกลักษณ์ของกลิ่นควันของเนื้อหมูรมควัน ชาวฮังการีทานไส้กรอกฮังการีรมควัน, แฮมรมควัน และ มันหมูรมควัน โดยไม่จำเป็นต้องทำการปรุงอาหารเพิ่มเติม ทานกับขนมปังและผักสด เมนูแบบนี้เรียกว่า 'จานเย็น' มักทานเป็นอาหารเช้า หรือ อาหารเย็น แต่บางครั้งก็เป็นอาหารเรียกน้ำย่อยในร้านอาหาร

ผลิตภัณฑ์ผักดอง มักใช้ปรุงอาหารฮังการี อาทิเช่น ชอวอญูกาโปสตอ savanyúkáposzta (กะหล่ำปลีดอง) ทานกับพริกหยวกเปรี้ยว, แตงกวาดอง, ดอกกะหล่ำ, มะเขือเทศสีเขียว, แตงโมอ่อน, และผักอื่น ๆ เมนูแบบนี้มักทานในฤดูหนาว และเป็นแหล่งหลักของวิตามินซีตลอดฤดูหนาวที่หนาวเย็น อาหารตามฤดูกาลบางอย่างเช่น กระหล่ำปลียัดไส้ Töltöttkáposzta, เนื้อยัดไส้ Húsoskáposzta หรือ ซุปโกรแฮย์ Korhely leves โดยเมนูทั้งหมดเหล่านี้มี กระหล่ำปลีดอง savanyúkáposzta เป็นเมนูต้นตำหรับ ร้านอาหารฮังการีคลาสสิกมักเสิร์ฟผักดองเป็นเครื่องเคียงเพื่อเพิ่มความสดชื่นสำหรับอาหารจานหนัก[3]

เครื่องเทศ แก้

 
พริกปาปริก้า
 
ไส้กรอกเมืองชอบอ (ชอบ็อย โคลบาส Csabai kolbász)

อาหารฮังการีใช้เครื่องเทศที่คัดสรรมาอย่างดีเพื่อเพิ่มรสชาติ อาหารฮังการีส่วนใหญ่จะไม่มีพริกเผ็ดร้อนผสมอยู่ แม้ว่าพริกปาปริก้าจะเป็นจุดเด่นของประเทศฮังการีก็ตาม พริกเผ็ดร้อนในปัจจุบันนั้น มักใช้เพื่อปรุงแต่งในอาหารฮังการีแบบดั้งเดิมเท่านั้น หรืออาจให้พริกไว้ข้างจานในเมนูอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความเผ็ดสำหรับแต่ละคน ซึ่งแตกต่างกับประเทศเขตร้อนอื่น ๆ ที่ปรุงอาหารด้วยพริก เช่น เม็กซิโก และ ไทย ซึ่งใช้พริกเผ็ดร้อนบ่อยกว่าและมักใช้เป็นเครื่องปรุงหลักเพื่อเพิ่มรสชาติ ในประเทศฮังการีพริกปาปริก้าหวาน (พริกหยวก) เป็นอาหารที่พบได้ทั่วไปมากกว่าพริกเผ็ดร้อน ใช้สร้างสีสันในอาหารส่วนใหญ่ การใช้ซาวครีมข้นที่เรียกว่า แทยเฟิล (tejföl) เป็นที่นิยมอย่างมากในการปรุงอาหารฮังการี

นอกเหนือจากพริกหยวกและหัวหอม เครื่องปรุงสำหรับปรุงอาหารทั่วไปอื่น ๆ ได้แก่ ผักชีลาว ใบกระวาน พริกไทยดำ ยี่หร่า ผักชี อบเชย กระเทียม มะรุม มะนาว มาร์จอแรม มัสตาร์ด ทาร์รากอน ออริกาโน ผักชีฝรั่ง น้ำส้มสายชู เมล็ดงาดำ และ วานิลลา

เครื่องเทศที่ใช้น้อย ได้แก่ โป๊ยกั๊ก ใบโหระพา เชอร์วิล กุ้ยช่าย กานพลู จูนิเปอร์เบอร์รี่ โกฐเชียง จันทน์เทศ โรสแมรี่ ซาวอรี่ ไทม์ ไทม์ป่า และ พริกไทยขาว

ลำดับการเสิร์ฟอาหารฮังการีโดยทั่วไป แก้

ในการทำอาหารฮังการีแบบดั้งเดิม จะมีลักษณะการประกอบอาหารสำคัญดังนี้:[4]

  • การใช้น้ำมันหมูหรือน้ำมันพืช หัวหอม และผงพริกปาปริก้า
  • การใช้เนื้อหมูและน้ำมันหมูเป็นหลัก (ในปัจจุบันใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันหมูเป็นส่วนใหญ่)
  • การใช้นมในปริมาณมาก ชีสตูโร (túró) และครีมเปรี้ยว (tejföl)
  • วิธีการปรุงพิเศษ (การทำสตูว์ ปิ้ง ข้น) การทานอาหารร่วมกันของดองและเครื่องปรุงรสพิเศษ
  • การบริโภคเครื่องปรุงและผักที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง

อาหารเรียกน้ำย่อย (Előételek แอเลอเอแตแล็ค) แก้

 
ไส้กรอกยูลอ พร้อมอาหารเรียกน้ำย่อย อย่างแครกเกอร์ และชีสพันโนเนีย

อาหารเรียกน้ำย่อย เป็นอาหารจานเล็กๆ ที่น่าทาน โดยจะทานก่อนเริ่มเข้าอาหารจานหลัก อาหารเรียกน้ำย่อยไม่ใช่ส่วนหนึ่งของอาหารฮังการีแบบดั้งเดิม ทำให้ในการทานอาหารตามบ้านเรือนของชาวฮังการีอาจไม่มีอาหารเรียกน้ำย่อยและข้ามไปที่จานซุปเลย

อาหารเรียกน้ำย่อยมักจะเสิร์ฟในปริมาณที่น้อยกว่าอาหารจานหลัก เหมาะสำหรับการเพิ่มความหลากหลายของอาหารให้กับเมนู อาหารเรียกน้ำย่อยฮังการีที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในปัจจุบันคือ แพนเค้กโฮร์โตบาจย์ (hortobágyi palacsinta), ตับห่านย่าง (libamáj หรือที่ฝรั่งเศสเรียกว่า ฟัวกราส์), แครกเกอร์ห่าน หรือจะเป็นไส้กรอกฮังการี (kolbász) และซาลามี่

ซุป (Leves แลแวช) แก้

 
ซุปเนื้อวัว (Marhahúsleves)

ซุปมีบทบาทสำคัญในอาหารของชาวฮังการี ทำให้ในซุปฮังการีจะมีความพิถึพิถันทั้งในด้านส่วนผสมและวิธีการเตรียม อย่างแรกคือน้ำซุป ซึ่งสามารถทำจากเนื้อไก่ เนื้อหมู หรือ เนื้อวัว มีการใส่พาสต้าเส้นเล็ก ๆ เข้าไปในซุปเช่นกัน ในบรรดาซุปฮังการี ซุปปลาเป็นที่นิยมในเขตที่มีปลาจำนวนมาก เช่น แถบติดแม่น้ำทิสซอ และ แม่น้ำดานูบ

ในซุปฮังการีมักจะมีมันฝรั่ง ผักชนิดต่าง ๆ และ พริกเขียวและแดง นอกจากซุปปลา ก็ยังมีซุปเนื้อ (húsleves), ซุปถั่ว, ซุปถั่วโยคอย (Jókai-bableves) และซุปปอโลตซ์ (palócleves) หรือซุปเชอร์รี่เย็นๆ หรือ ซุบผลไม้เย็นชนิดอื่น ๆ

อาหารจานหลัก (Főételek เฟอเอแตแล็ค) แก้

เนื้อ (Hús ฮูช) แก้

 
ซาลามี่ฤดูหนาว (téli szalámi)

เนื้อสัตว์ในอาหารฮังการี ส่วนใหญ่จะเสิร์ฟเป็นเนื้อทอด กะหล่ำปลียัดไส้ หรือสตูว์ต่างๆ แต่เดิมแล้วชาวนาฮังการีส่วนใหญ่มักผัดและสตูว์เนื้อให้สุกสำหรับทาน ส่วนใหญ่ใช้เนื้อแม่ไก่ เป็ด และห่าน ส่วนเนื้อหมู แกะ และวัว จะทานในช่วงเทศกาลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต่างไปจากสมัยปัจจุบัน

อาหารหลักของผู้คนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ (แถบแม่น้ำดานูบ แม่น้ำทิสซอ และบริเวณทะเลสาบบอลอโตน) คือปลา ซึ่งสามารถปรุงได้หลากหลายวิธี ปลาพื้นเมืองของฮังการีได้แก่ ปลาไน ปลาดุก ปลาไพค์ยุโรป ปลาแซนเดอร์ ปลารัดด์[5] และปลาสเตอร์เจียน

เนื้อแกะมีบทบาทสำคัญในชีวิตของคนเลี้ยงแกะในที่ราบพันโนเนีย ในปัจจุบันมีการทานเนื้อแกะน้อยลงกว่าในอดีต ชาวฮังการีทานเนื้อวัวน้อยกว่า โดยวัดจากจำนวนการเลี้ยงวัวในประเทศฮังการี ณ ปัจจุบัน

อาหารฮังการีที่สำคัญที่สุดคือเนื้อหมู หมูสามารถนำไปแปรรูปเป็นไขมัน เบคอน แฮม ไส้กรอกตับ ชีสหมู (disznósajt เป็นการนำเอาเนื้อและเครื่องในหมูมาบ่มไว้ในกระเพาะหมู) และไส้กรอก สำหรับทานได้ตลอดทั้งปี รวมถึงนำไปปรุงอาหาร และนำไปรมควัน ทอด และตากแห้ง หนึ่งในไฮไลท์ของปีคือ การฆ่าหมู (disznóvágás ดิสโนวากาช แปลตรงตัวว่า "การผ่าหมู") ซึ่งเกิดขึ้นเกือบทุกภูมิภาคในฮังการีก่อนวันคริสต์มาส การใช้น้ำมันหมูเป็นลักษณะประจำของอาหารฮังการี

ผลิตภัณฑ์จากเนื้อที่มีชื่อเสียงของฮังการี คือ ไส้กรอกยูลอ (gyulai kolbász), ไส้กรอกชอบอ (csabai kolbász), ไส้กรอกแดแบร็ตแซ็น (debreceni kolbász), ซาลามี่ฤดูหนาว (téliszalámi), แฮมฮังการี (magyar sonka), เบคอนรมควัน (füstölt szalonna), ซาลามี่ (szalámi), และครีมตับห่านที่ใช้ทานกับขนมปัง (libamáj pástétmom)[6]

ของข้างเคียง (Köretek เกอแรแต็ก) แก้

ซุปผัก (Főzelék เฟอแซเลก) แก้

แป้ง (Tészták เตสตาก) แก้

ของหวาน (Desszertek แดแซร์แตก) แก้

ประวัติศาสตร์ แก้

 
กูยาช (gulyás) ในหม้อโบกราชแบบดั้งเดิม (bogrács).
 
กระหล่ำปลียัดไส้ (เติลเติตกาโปสตอ töltött káposzta) เสิร์ฟกับผักชีลาว ซาวครีม และ แฮม นอกจากนี้มักนิยมเสิร์ฟกับเซาเออร์เคราท์ และ ไส้กรอกโคลบาส (kolbász) ซอสมะเขือเทศ

อาหารฮังการีมีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ของชาวม็อดยอร์ และ ในทางกลับกัน การเลี้ยงปศุสัตว์และวิถีชีวิตเร่ร่อนของชาวม็อดยอร์บนทุ่งหญ้าสเตปป์ เห็นได้ชัดจากความโดดเด่นในการใช้เนื้อสัตว์ในเมนูอาหารฮังการี และสะท้อนให้เห็นในอาหารประเภทเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิมที่ปรุงด้วยไฟ เช่น กูยาช (gulyás แปลว่า อาหารของคนเลี้ยงวัว)[7] สตูว์เปอร์เกิลต์ (pörkölt) และ ซุปปลาฮอลาซเล (halászlé แปลว่า ซุปปลาร้อนเผ็ดของชาวประมง) ล้วนปรุงแบบดั้งเดิมบนเตาไฟแบบเปิดในหม้อโบกราช (bogrács) ในศตวรรษที่ 15 กษัตริย์แมทเธียส คอร์นิวุส (Matthias Corvinus) และเจ้าหญิงเบียทริซ (Beatrice) ภรรยาชาวเนเปิลของกษัตริย์[8][9]แมทเธียส คอร์นิวุส ผู้ซึ่งได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ได้นำส่วนผสมใหม่ ๆ เช่น เกาลัดหวานและเครื่องเทศตะวันออก เช่น กระเทียม ขิง หญ้าฝรั่น ลูกจันทน์เทศ [10]หัวหอมใหญ่ และ การใช้ผลไม้ในการปรุงสุกกับเนื้อสัตว์[11] เครื่องเทศเหล่านี้บางชนิด เช่น ขิงและหญ้าฝรั่น ไม่ได้ใช้ปรุงอาหารฮังการีสมัยใหม่อีกต่อไป[12] ต่อมาชาวแซ็กซัน (กลุ่มชาติพันธุ์เยอรมัน) จำนวนมาก รวมถึงชาวอาร์เมเนีย ชาวอิตาเลียน ชาวยิว ชาวโปแลนด์ ชาวเช็ก และ ชาวสโลวัก ได้ตั้งรกรากอยู่ในที่ราบฮังการีและในทรานซิลเวเนีย ซึ่งชนชาติผู้เข้ามาตั้งรกรากเหล่านี้ มีส่วนร่วมในการสร้างอาหารใหม่ ๆ อาหารฮังการีได้รับอิทธิพลจากอาหารออสเตรีย ภายใต้จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี อาหารและวิธีการประกอบอาหารมักถูกยืมมาจากอาหารออสเตรียและในทางกลับกันอาหารออสเตรียก็ได้รับอิทธิพลจากอาหารฮังการี เค้กและขนมหวานบางชนิดในฮังการีได้รับอิทธิพลของเยอรมันออสเตรีย จากทั้งหมดที่สรุปมา อาหารฮังการีสมัยใหม่เป็นการตกผลึกจากอาหารอูราลิกโบราณ ผสมกับสลาฟตะวันตก บอลข่าน ออสเตรีย และ เยอรมัน อาหารของฮังการีหล่อรวมการทำอาหารจากหลากหลายแห่งมาไว้ในที่เดียว โดยมีพื้นฐานการประกอบอาหารจากอาหารม็อดยอร์ดั้งเดิมของบรรพบุรุษ

โอกาสพิเศษ แก้

ในเทศกาลคริสต์มาส ชาวฮังกาเรียนมักจะทานซุปปลาที่เรียกว่า ฮอลาสเล (halászlé) และอาหารอื่น ๆ เช่น ห่านย่าง ไก่งวงย่าง หรือ เป็ดย่าง[13] กะหล่ำปลียัดไส้ (töltöttkáposzta) ขนมคริสมาสต์ตามปรกติ มักเสริฟขนมอบยัดไส้วอลนัทหรือเมล็ดงาดำเรียกว่า แบย์กลิ (bejgli) ขนมที่ใช้ตกแต่งต้นคริสต์มาสเช่น ซอโล็นตซุโกร์ (szaloncukor) จะรับประทานในช่วงคริสต์มาส โดยทุกคนจะหยิบและกินโดยตรงจากต้นคริสต์มาสที่นำขนมไปแขวนไว้ ในบางครัวเรือนมีการบริโภคซุปกล้วยหรือที่เรียกว่า บอนานเลแว็ช (banán léves) เพื่อโชคและสุขภาพที่ดี

ในวันส่งท้ายปีเก่า หรือ ที่ในฮังการีเรียกว่า ซิลแว็สแตร์ (Szilveszter) ชาวฮังกาเรียนมักจะเฉลิมฉลองด้วย วิร์ชลี (virsli ไส้กรอกเวียนนา) และซุปถั่วเลนทิล ในช่วงวันปีใหม่เป็นเรื่องปกติที่จะกินซุปถั่วเลนทิล หรือ โครแฮย์เลแว็ช (korhelyléves) ซึ่งเป็นซุปกะหล่ำปลีเปรี้ยวผสมเนื้อสัตว์ โดยเชื่อว่าช่วยแก้อาการเมาค้างหลังปาร์ตี้ปีใหม่ได้[14]

อาหารในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ หรือ เทศกาลฮูชเว็ต (Húsvét) มีอาหารจานพิเศษเล็กน้อย โดยชาวฮังการีบางคน (โดยเฉพาะในเทศมณฑลซอโบ็ลช์ Szabolcs) จะทำชีสสีเหลืองรสหวานพิเศษ เรียกว่า ชาร์กอตูโร (Sárgatúró) ทำจากเนยควาร์ก (túró) และไข่[15][16]

เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ แก้

เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ที่ฮังการีก็เป็นอีกสิ่งที่น่าลอง ในฮังการี คนฮังการีดื่มแอลกอฮอลล์แทบทุกชนิด ตั้งแต่เบียร์ ไวน์ ปาลิงกอ (เหล้าผลไม้) เหล้าบรั่นดี วอดก้า และอื่น ๆ โดยเหล้าปาลิงกอ (Pálinka) เป็นเหล้าผลไม้ที่กลั่นจากผลไม้ที่ปลูกในสวนผลไม้ที่ตั้งอยู่บนที่ราบฮังการีใหญ่ (ทางตะวันออกของฮังการี) เป็นสุราที่มีถิ่นกำเนิดในฮังการีและมีหลากหลายรสชาติเช่นแอปริคอท และเชอร์รี่ อย่างไรก็ตาม ปาลิงกอรสพลัม เป็นรสชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เบียร์เข้ากันได้ดีกับอาหารฮังการีแบบดั้งเดิมมากมาย เบียร์ฮังการีห้ายี่ห้อหลัก ได้แก่ Borsodi, Soproni, Arany Ászok, Kõbányaiและ Dreher โดยในฮังการี คนทั่วไปจะไม่ชนแก้วหรือแก้วเมื่อดื่มเบียร์ มีตำนานเมืองในวัฒนธรรมฮังการีกล่าวว่านายพลชาวออสเตรียเคาะแก้วเบียร์เพื่อเฉลิมฉลองการประหารชีวิต 13 ผู้กล้าแห่งเมืองอารัด (13 Martyrs of Arad) ในปี  ค.ศ.1849 (เหตุการณ์การปฏิวัติฮังการี ค.ศ.1848) คนมีอายุหลายคนยังคงปฏิบัติตามประเพณี แต่ว่าคนรุ่นใหม่มักจะไม่ทำตามประเพณีนี้แล้ว คนอายุน้อยมักจะปฏิเสธก็ตามโดยอ้างว่าคำปฏิญาณมีอายุครบ 150 ปีไปแล้ว

 
ไวน์โตคอยิ ยี่ห้อ"ออซู"

ไวน์ Tokaji (ไวน์โตคอยิ) ที่มีชื่อเสียง ถูกเรียกว่า "Vinum Regum, Rex Vinorum" ("ปีกของราชา ราชาแห่งไวน์") โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส

ไวน์: ดังที่ ฮิวจ์ จอห์นสัน (Hugh Johnson) กล่าวไว้ในหนังสือ "The History of Wine" ดินแดนของฮังการีเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการทำไวน์ และประเทศนี้สามารถแบ่งออกเป็นภูมิภาคไวน์ได้ 6 แห่ง ได้แก่ ทรานส์ดานูเบียเหนือ, ทะเลสาบบอลอโตน, ที่ราบพันโนเนียใต้, ที่ราบใหญ่ฮังการี, ฮังการีตอนบน และ เขตปลูกไวน์โตคอยในเขตตะวันออกเฉียงเหนือ (Tokaj-Hegyalja) ชาวโรมันนำเถาวัลย์มาสู่แอ่งคาร์พาด และเมื่อถึงศตวรรษที่ 5 ได้มีบันทึกเกี่ยวกับไร่องุ่นที่กว้างขวางในประเทศฮังการี ชาวฮังกาเรียนนำความรู้ด้านการทำไวน์มาจากตะวันออก ตามที่ อิบัน รัสตาห์ ได้เขียนไว้นั้น ชนเผ่าฮังการีคุ้นเคยกับการทำไวน์มานานก่อนที่ฮังการีจะพิชิตแอ่งคาร์พาด

 
เหล้า Unicum รสลูกพรุน เหล้าสมุนไพรประจำชาติของฮังการี

แหล่งผลิตไวน์ของฮังการีมีรูปแบบที่หลากหลาย: ผลิตภัณฑ์หลักของประเทศคือ ไวน์ขาวแห้งที่หรูหราและมีความเป็นกรดที่ดีแม้ว่าไวน์ขาวหวาน (Tokaj/โตคอย), ไวน์อลีเกนต์ (Eger/แอแกร์) และและไวน์แดงเข้ม (Villány/วิลลาญ และ Szekszárd/แซ็กซาร์ด). พันธุ์หลัก ได้แก่ : Olaszrizling, Hárslevelű, Furmint, Pinot gris หรือ Szürkebarát, Chardonnay (ขาว), Kékfrankos (หรือ Blaufrankisch ในภาษาเยอรมัน), Kadarka, Portugieser, Zweigelt, Cabernet sauvignon, Cabernet franc และ Merlot โดยไวน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดจากฮังการี ได้แก่ Tokaji Aszú และ Egri Bikavér คำว่า Tokaji/โตคอยิ หมายถึง "มาจากเมืองโตคอย" ในภาษาฮังการีใช้ในการติดฉลากไวน์จากภูมิภาคไวน์ "Tokaj-Hegyalja" ไวน์โตคอยิได้รับความนิยมดื่มจากนักเขียนและนักประพันธ์เพลงยอดเยี่ยมมากมายเช่น Beethoven, Liszt, Schubert และ Goethe; ไวน์โปรดของ Joseph Haydn คือ Tokaji พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 และเฟรดเดอริคมหาราชพยายามเอาชนะซึ่งกันและกันเมื่อพวกเขาให้ความบันเทิงแก่แขกด้วยไวน์โตคอยิ นโปเลียนที่ 3 จักรพรรดิองค์สุดท้ายของฝรั่งเศส สั่งซื้อโทคาจิ 30–40 บาร์เรลให้มาส่งที่ราชสำนักฝรั่งเศสทุกปี กุสตาฟที่ 3 กษัตริย์แห่งสวีเดนรักไวน์โตคอยิ ในจักรวรรดิรัสเซีย มีลูกค้ารวมถึงปีเตอร์มหาราชและจักรพรรดินีเอลิซาเบ็ธ ในขณะที่แคทเธอรีนมหาราชก่อตั้งกองทหารรัสเซียในเมืองโตคอยิโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่ามีการส่งไวน์ไปยังเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นประจำเป็นเวลากว่า 150 ปีที่มีการใช้สมุนไพรฮังการีสี่สิบชนิดเพื่อสร้างเหล้าอูนิคุม (Unicum) Unicum เป็นเหล้าที่มีรสขมและมีสีเข้มซึ่งสามารถดื่มหลังอาหารเพื่อช่วยย่อยอาหารได้

การแบ่งร้านอาหารแบบฮังการี แก้

ประเภทร้าน คำอธิบาย
เอตแตแร็ม หรือ ภัตตาคาร (Étterem) ภัตตาคารใช้สำหรับการจัดเลี้ยงที่เน้นความบันเทิง สามารถจุคนได้มาก เหมาะสำหรับการจัดงานต่างๆ (งานแต่งงาน งานประชุม) มีอาหารและเครื่องดื่มให้เลือกมากมาย
แวนเดกเลอ หรือ ร้านอาหาร (Vendéglő) ร้านอาหารในพื้นที่ที่มักดำเนินกิจการโดยครอบครัว ให้บริการอาหารร้อนและเครื่องดื่ม มีกลุ่มลูกค้าเป็นแขกในพื้นที่เป็นหลัก
ชาร์ดอ หรือ โรงเหล้า หรือ ทาเวิร์น (Csárda) ทาเวิร์น เป็นร้านที่ให้บริการอาหารฮังการีพื้นบ้าน มักมีอาหารให้เลือกค่อนข้างน้อย เน้นจำหน่ายเครื่องดื่ม มักตั้งอยู่ในในพื้นที่นอกเมืองหรือหมู่บ้านในจุดที่มีการจราจรพลุกพล่าน ร้านแบบทาเวิร์นนั้น เดิมเป็นสถานที่สำหรับเสริฟอาหารและให้บริการที่พักค้างคืนแก่ชาวนาและคนเลี้ยงแกะ เป็นผับและร้านอาหารในที่เดียว
เชอเรอเซอ หรือ โรงเบียร์ (Söröző) ธุรกิจที่มีต้นกำเนิดจากแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี เป็นร้านที่มีเบียร์สดและเบียร์บรรจุขวดให้เลือกดื่มมากมาย โดยให้บริการอาหารจานร้อน อาหารปิ้งย่าง (ไส้กรอกทอดและฮอทดอก) และ ขนมแกล้มเบียร์
กิเฟิสแด หรือ ร้านอาหารตามสั่ง (Étkezde, kifőzde) ร้านอาหารขนาดเล็กที่มีเมนูง่าย ๆ แบบหนึ่งและสองคอร์สสำหรับมื้อหลักประจำวัน มีบริการจัดส่งถึงบ้าน มักมีการจำหน่ายเบียร์
กาเฟฮาส หรือ ร้านกาแฟ (Kávéház) แปลตรงตัวคือ "บ้านกาแฟ" ร้านแบบนี้เป็นห้องจัดเลี้ยงบรรยากาศสบาย ๆ ที่มีกาแฟให้เลือกมากมาย ให้บริการเครื่องดื่มและน้ำผลไม้ที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์แบบเบา ๆ มีอาหารเช้าจานร้อน ขนม ขนมอบ แซนด์วิช ร้านกาแฟเป็นสถานที่พบปะพูดคุยยอดนิยมของชาวฮังการีมาเป็นเวลาช้านาน และบางครั้งยังเป็นสถานที่ให้จัดงานต่าง ๆ ได้อีกด้วย เช่น งานจบการศึกษา งานแต่งงาน เป็นต้น
จโยร์ชเอตแตเร็ม หรือ ร้านอาหารฟาสต์ฟูด (Gyorsétterem) ร้านอาหารฟาสต์ฟูดที่มีระบบการทำอาหารแบบอัตโนมัติ ที่นำเสนออาหารและเครื่องดื่มที่คัดสรรมาในระบบแฟรนไชส์
บาร์ (Bár) ร้านบาร์ในความหมายของชาวฮังการีนั้นมีนิยามต่างกับบาร์ของประเทศไทย ร้านบาร์เป็นร้านอาหารแบบเน้นบริการตัวเอง ที่เปิดไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน โดยเสริฟอาหารไม่กี่อย่างต่อวัน โดยเสริฟอาหารเพียงไม่กี่อย่าง ที่ร้านทำได้อร่อยที่สูด เช่น นมปั่น ลางโกช แพนเค้ก อาหารมังสวิรัส และ ซุปผัก (คล้ายกับร้านก๋วยเตี๋ยวของไทย ที่เปิดเฉพาะตอนกลางวัน และขายเฉพาะก๋วยเตี๋ยว)
ซุกราสดอ หรือ ร้านขายขนมหวาน (Cukrászda) โรงอบขนมปังขนาดเล็กที่อบและจำหน่ายเบเกอร์รี่แบบคาวและหวาน และไอศกรีม และให้บริการเครื่องดื่มหลากหลายประเภท
ฟ็อจย์ล็อลโตโซ หรือ ร้านไอติม (Fagylaltozó) ร้านเจลาโต้อิตาเลียนและไอศกรีม มักมีจำหน่ายมากในช่วงฤดูร้อน
โกชมอ หรือ ผับ (Kocsma) ผับเน้นจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ และอาหารกับแกล้มแบบฮังการี เช่น แซนวิช
โบโรโซ หรือ ร้านไวน์ (Borozó) ร้านบาร์ที่เน้นการจำหน่ายไวน์หลากหลายชนิด

อ้างอิง แก้

  1. Gundel's Hungarian Cookbook, Karoly Gundel.
  2. June Meyers Authentic Hungarian Heirloom Recipes Cookbook
  3. Gundel's Hungarian Cookbook, Karoly Gundel
  4. Tusor András. "Gasztronómia - A magyar konyha és gasztronómia kialakulása". Magyar Elektronikus Könyvtár. สืบค้นเมื่อ 2010-11-14.
  5. รัด | ปลา (delphipages.live)
  6. A Selection of Hungarian Liver Preparations — Taste Hungary
  7. Gundel's Hungarian Cookbook, Karoly Gundel.
  8. A magyar konyha története เก็บถาวร 2011-07-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  9. "Hotdog.magazin". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-21.
  10. "Gourmandnet". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-04.
  11. "Hungarian Cuisine, History, Gastronomy, Legend, Memoires, Recipes and Lore". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-15. สืบค้นเมื่อ 2020-08-17.
  12. "health-family". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-18. สืบค้นเมื่อ 2009-01-31.
  13. Hungarian cuisine, József Venesz ISBN 963-13-0219-9: Corvina Press 1977
  14. Korhelyleves เก็บถาวร 2013-12-29 ที่ archive.today, Chew.hu
  15. "Sárga túró (Yellow Cheese)". Magyar News. 2013-02-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-23.
  16. Ujváry Zoltán, Szathmáry V. Ibolya (1992). Néprajzi tanulmányok: Prof. Ujváry Zoltán tiszteletére. Hajdú-Bihar Megyei Múzeumok Igazgatósága. p. 152.