อาณาจักรปตานี

รัฐสุลต่านทางตอนเหนือของคาบสมุทรมาลายู ค.ศ. 1457(?)–1902
(เปลี่ยนทางจาก อาณาจักรปัตตานี)

อาณาจักรปตานี หรือเอกสารไทยเรียก ราชอาณาจักรปัตตานี (มลายู: كسلطانن ڤطاني; Kerajaan Patani) หรือ รัฐสุลต่านปตานีดารุสซาลาม (كسلطانن ڤطاني دارالسلام; Kesultanan Patani Darussalam) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาบางส่วนในปัจจุบัน อาณาจักรปัตตานีถือกำเนิดขึ้นจากการเป็นเผ่าเล็ก ๆ รวมตัวกัน มีประชากรอาศัย 200-250 คน มีชื่อว่า ปีสัง โดยแต่ละปีจะมีตูวอลา (หัวหน้าเผ่าในสมัยนั้น) มาปกครอง และจะสลับทุก ๆ 1 ปี ต่อมามีชนกลุ่มใหญ่เข้ามามีบทบาทในแถบนี้มากขึ้น จนในที่สุด ก็ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรลังกาสุกะ และเปลี่ยนจากชื่อ ปีสัง มาเป็น บาลูกา ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 9 หลังจากนั้นราว 100 ปี ลูกชายกษัตริย์ลังกาสุกะได้เดินทางมาถึงที่นี้และรู้สึกประทับใจ เลยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ปตาอีนิง แล้วก่อตั้งเป็นรัฐใหม่ ชื่อ รัฐปตาอีนิง จนมีพ่อค้ามากมายเข้ามาติดต่อค้าขายทั้งจีน อาหรับ แต่ชาวอาหรับเรียกที่นี้ว่า ฟาตอนี เลยมีคนเรียกดินแดนแห่งนี้แตกต่างกันออกไป เดิมอาณาจักรปัตตานีนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน แต่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ได้เริ่มเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม โดยบางช่วงอาณาจักรแผ่ขยายครอบคลุมถึงรัฐกลันตันและรัฐตรังกานู ตอนกลางของประเทศมาเลเซีย แต่หลังการสิ้นสุดราชวงศ์ศรีวังสา อาณาจักรปัตตานีก็เริ่มเสื่อมลง จนตกอยู่ในอำนาจของสยามในปี พ.ศ. 2329 และกลายเป็นเมืองขึ้นเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2445 ก็ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม

ราชอาณาจักรปัตตานี
ปตานีดารุสซาลาม

كسلطانن ڤطاني
Kerajaan Patani
รัฐสุลต่านปตานีดารุสซาลาม[1]
พ.ศ. 2000–พ.ศ. 2445
ธงชาติ
ธงชาติ
แผนที่ของอาณาจักรปตานี
แผนที่ของอาณาจักรปตานี
แบบจำลองแผนผังเมืองหลวงปตานี
แบบจำลองแผนผังเมืองหลวงปตานี
สถานะรัฐสุลต่าน
เมืองหลวงปัตตานี
ภาษาทั่วไปภาษามลายูปัตตานี
การปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์
สุลต่าน/รายา 
• พ.ศ. ??-2073
รายาศรีวังสา (สุลต่านอิสมาอิล ชาห์)
• พ.ศ. 2073-2106
สุลต่านมูซัฟฟาร์ ชาห์
• พ.ศ. 2127-2159
รายาฮีเยา
• พ.ศ. 2159-2167
รายาบีรู
• พ.ศ. 2167-2178
รายาอูงู
• พ.ศ. 2178-2231
รายากูนิง
ประวัติศาสตร์ 
• สถาปนาอาณาจักร
พ.ศ. 2000
• เริ่มราชวงศ์กลันตัน
พ.ศ. 2231
• ภายใต้ปกครองของสยาม
พ.ศ. 2329
• รวมเข้ากับสยาม/ยกเลิกเจ้าเมืองปัตตานี
พ.ศ. 2445
ก่อนหน้า
ถัดไป
อาณาจักรลังกาสุกะ
อาณาจักรรัตนโกสินทร์
รัฐมลายูไร้สหพันธรัฐ
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และบางส่วนของประเทศมาเลเซีย

ประวัติศาสตร์

ราชวงศ์ศรีวังสา

 
ฮิกายัต ปัตตานี
 
ขบวนเสด็จของรายาฮีเยา

เมืองปัตตานีพัฒนาขึ้นมาจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ริมฝั่งทะเล เมื่อมีเรือสินค้ามาจอดแวะอยู่บ่อย ๆ เมืองก็ขยายตัวออกไป มีผู้คนมาอาศัยหนาแน่น รายาศรีวังสาจึงย้ายเมืองหลวงจาก "โกตามะห์ลิฆัย" เมืองหลวงเก่า[2]มายังปัตตานี สมัยนั้นการติดต่อกับต่างชาติ โดยเฉพาะอินเดียและคาบสมุทรอาหรับได้ส่งผลสำคัญคือการยอมรับนับถือศาสนาอิสลามโดยตามตำนานกล่าวว่าชาวปาไซทำการรักษาอาการป่วยของรายาอินทิราที่ไม่มีใครสามารถรักษาให้หายได้ พระองค์จึงยินยอมรับนับถือศาสนาอิสลาม[3] และการดัดแปลงอักษรอาหรับเป็นอักษรยาวี นอกจากนี้ยังติดต่อกับอาณาจักรอยุธยาอย่างใกล้ชิด ดังที่ปรากฏในปี พ.ศ. 2106 ว่ากองทัพปัตตานีได้เดินทางมาถึงอยุธยา และได้ก่อความวุ่นวายขึ้น[4] จากเหตุการณ์นี้ทำให้ความสัมพันธ์กับอยุธยาตกต่ำลง ขณะที่เหตุการณ์ภายในก็เต็มไปด้วยการแย่งชิงอำนาจในหมู่เครือญาติเรื่อยมา จนกระทั่งไม่มีผู้สืบทอดอำนาจหลงเหลือ บัลลังก์รายาจึงตกเป็นของสตรีในที่สุด

อาณาจักรปัตตานีในช่วงสมัยรายาฮีเยา (พ.ศ. 2127-2159) ถึงรายากูนิง (พ.ศ. 2178-2231) ซึ่งล้วนเป็นกษัตรีย์ ถือเป็นอาณาจักรของชาวมลายูที่มีความรุ่งเรืองมากที่สุด หลังจากมะละกาตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส ทำให้ปัตตานีกลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายและมีความรุ่งเรืองมาก ดังบันทึกของชาวต่างชาติว่า

“พลเมืองปัตตานีมีชายอายุ 16-60 ปี อยู่ถึง 150,000 คน เมืองปัตตานีมีผู้คนหนาแน่น เต็มไปด้วยบ้านเรือน บ้านเรือนราษฎรนับตั้งแต่ประตูราชวังถึงตัวเมืองปลูกสร้างเรียงรายไม่ขาดระยะ หากว่ามีแมวเดินบนหลังคาบ้านหลังแรกไปยังหลังสุดท้าย ก็เดินได้โดยไม่ต้องกระโดดลงบนพื้นดินเลย”

และ “ปัตตานีมีแคว้นต่างๆ อยู่ภายใต้การปกครองถึง 43 แคว้น รวมทั้งตรังกานู และกลันตันด้วย”[5]

ในสมัยรายาฮีเยา การติดต่อค้าขายกับต่างชาติเจริญรุ่งเรืองมาก มีเรือสินค้าเข้ามาเทียบท่าอย่างไม่ขาดสาย และเริ่มการค้ากับฮอลันดา สเปน และอังกฤษเป็นครั้งแรก[6] พระองค์ยังพระราชทานพระขนิษฐาอูงูแก่สุลต่านแคว้นปะหัง เพื่อคานอำนาจกับแคว้นยะโฮร์[7] ต่อมาในสมัยรายาบีรู ปัตตานีและกลันตันรวมตัวกันเป็นสมาพันธรัฐปัตตานี และทรงพระราชทานพระธิดากูนิง ธิดาของพระขนิษฐาอูงูกับสุลต่านแคว้นปะหัง แก่ออกญาเดชา หรือออกญาศรีราชเดชไชยท้ายน้ำอะไภยพิรียปรากรมภาหุท้ายน้ำ เป็นเจ้ากรมอาสาหกฝ่ายซ้ายและเป็นบุตรเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

แต่หลังจากรายาบีรูสวรรคตในปี 2167 รายาอูงูซึ่งเสด็จกลับมาจากปะหังก็ตัดสัมพันธ์กับอยุธยา ทรงยุติการส่งบรรณาการแด่อยุธยา จึงเกิดข้อพิพาทครั้งใหญ่ในภูมิภาคคาบสมุทรมลายู ด้วยการที่พระองค์ทรงนำกำลังภายใต้บังคับบัญชาของพระองค์เองยกทัพตีเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราช พระนางยังให้พระธิดากูนิง ที่ครั้งหนึ่งในรัชสมัยรายาบีรูเคยหมั้นหมายกับออกญาเดชาไว้ถูกถอดถอน โดยการให้รายากูนิงอภิเษกสมรสกับสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์แทน[8] และการปฏิบัติการทางทหารในครั้งนี้ของรายาอูงู ราชินีแห่งอาณาจักรปัตตานี สตรีผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในคาบสมุทรมลายู ได้แสดงแสนยานุภาพทางทหารของพระองค์ รวมกับกองกำลังผสมจากต่างชาติภายใต้บังคับบัญชาของ Christoph Carl Fernberger จึงทำให้การสงครามจบลงโดยการลงนามสนธิสัญญาสงบศึกเพื่อยุติข้อพิพาทระหว่างปัตตานีกับอยุธยา พิธีการให้คำสัตยาบันในการลงนามข้อตกลงครั้งนี้ได้จัดขึ้นที่หมู่บ้านเปียนในเขตหัวเมืองจะนะ หรือ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลาในปัจจุบัน. ซึ่งรายละเอียดข้อตกลงในการลงนามสนธิสัญญาครั้งนี้มีด้วยกันห้าประการ ตัวอย่างบางข้อเช่น "ข้อที่สอง - กษัตริย์แห่งสยามจะทรงไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ ต่อราชอาณาจักรปัตตานีอีกต่อไป" โดยในข้อนี้จะเป็นการบ่งบอกถึงความเป็นรัฐเอกราชที่มีอำนาจปกครองตนเองเป็นเอกเทศอย่างเป็นรูปธรรม และมีอำนาจอธิปไตยของราชอาณาจักรปัตตานีที่ถูกต้องชัดเจน[9] ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองพยายามทรงส่งกองทัพเข้าโจมตีเมืองปัตตานีในปี พ.ศ. 2177 แต่ไม่อาจเอาชนะได้[10] เมื่อถึงปี พ.ศ. 2178 รายาอูงูเสด็จสวรรคต.

 
แผนที่อ่าวสยาม สำรวจโดย Isaac de Graaff ที่แสดงถึงตำแหน่งของปาตานี (ด้านล่างสุด)

รัตนโกสินทร์

 
ปืนใหญ่พญาตานี (ชื่อเดิม: ศรีปัตตานี) ซึ่งกองทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้นำมาไว้ที่กรุงเทพฯ เมื่อครั้งสยามยกทัพไปตีเมืองปัตตานีสำเร็จใน พ.ศ. 2329
 
"บุหงามาศ" (bunga mas) หรือ ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง บรรณาการแด่สยาม

ในปี พ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงยกทัพตีเมืองปัตตานีไว้ได้ ปัตตานีจึงเป็นประเทศราชของสยามตั้งแต่นั้นมา กองทัพสยามยึดเอาทรัพย์สมบัติและปืนใหญ่ที่หล่อในสมัยรายาบีรูไป 3 กระบอก แต่เหลือมาถึงกรุงเทพเพียง 1 กระบอก คือปืนใหญ่พญาตานี ปัจจุบันอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม[11] ความไม่พอใจต่อการปกครองของชาวสยาม ก่อให้เกิดกบฏครั้งใหญ่ 4 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2334 และ พ.ศ. 2351 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงแยกอาณาจักรปัตตานีเป็น 7 หัวเมือง[12] และในปี พ.ศ. 2374 และ พ.ศ. 2381 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยให้ราชวงศ์กลันตันปกครองปัตตานีต่อมา[4] กระทั่งปีพ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเตรียมการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล การปกครองโดยราชวงศ์กลันตันจึงยุติลง และถือเป็นปีสิ้นสุดของอาณาจักรปัตตานี ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของสยามโดยสมบูรณ์ มณฑลปัตตานีก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2449 แต่ถึงปีพ.ศ. 2466 ชาวบ้านจำนวนมากก็ออกมาชุมนุมประท้วงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงออกพระบรมราโชบายสำหรับมณฑลปัตตานี เมื่อ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 ไว้ 6 ข้อเพื่อแก้ไขความไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่และข้าราชการ[13] และนำไปสู่การยุบมณฑลปัตตานีเป็น 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จนถึงทุกวันนี้

แต่ถึงกระนั้นยังคงมีการชุมนุมประท้วงการปกครองจากรัฐบาลอยู่เสมอ เช่น พ.ศ. 2482 จอมพลแปลก พิบูลสงครามได้จัดตั้งสภาวัฒนธรรม บังคับให้ประชาชนสวมหมวก แต่งกายแบบไทย ทำตามวัฒนธรรมไทย ห้ามพูดภาษามลายู ฯลฯ รวมกับการกดขี่จากเจ้าหน้าที่รัฐจนลุกลามไปเป็นกบฏดุซงญอในพ.ศ. 2491 มีผู้เสียชีวิตกว่า 400 คน ตามมาด้วยการชุมนุมยืดเยื้อกว่า 45 วันของชาวจังหวัดปัตตานีนับแสนคนที่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ในปีพ.ศ. 2518 หลังจากการวิสามัญฆาตกรรมชาวบ้าน 5 ศพ นำไปสู่เหตุวุ่นวายที่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 12 ราย[14] และการประท้วงของชาวบ้านกว่า 3 หมื่นคน ใน พ.ศ. 2528 เมื่อกระทรวงศึกษาธิการออกคำสั่งให้ประดิษฐานพระพุทธรูปในโรงเรียน และอีก 3 ปีต่อมาก็ออกคำสั่งห้ามคลุมศีรษะ (ฮิญาบ) เข้าสถานศึกษา หรือกรณีมัสยิดกรือเซะ ที่มีผู้เสียชีวิต 107 คน และเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอีกกว่า 84 คน ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีการยักยอกปืนของหลวงเพื่อใช้ก่อความไม่สงบ

ศาสนาอิสลามในปัตตานี

"ปตานีดารุสซาลาม" (فطانى د ارالسلام) มีความหมายว่า "ปตานี นครรัฐแห่งสันติภาพ" ได้เป็นนามเรียกขานภายหลังการเข้ารับอิสลามของสุลต่าน อิสมาอีล ชาห์ ซิลลุลลอฮฺ ฟิลอาลัม (ชื่อเดิมคือ พญาตูนักปาอินทิรามหาวังสา) ในราวปี ค.ศ.1457 [15]

ลำดับกษัตริย์และผู้ปกครองอาณาจักรปัตตานี

 
มัสยิดกรือเซะ สัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองในอดีตของอาณาจักรปัตตานี
 
มณฑลปัตตานี พ.ศ. 2449-2466
  1. ราชวงศ์ศรีวังสา[16][17][18]
ลำดับ รายพระนามผู้ปกครองปัตตานีแห่งราชวงศ์ศรีวังสา [19] ครองราชย์ ระยะเวลา
รัชกาลที่ 1 สุลต่านอิสมาอิล ชาห์ พ.ศ. 2043 - พ.ศ. 2073 30 ปี
รัชกาลที่ 2 สุลต่านมูซัฟฟาร์ ชาห์ พ.ศ. 2073 - พ.ศ. 2106 33 ปี
รัชกาลที่ 3 สุลต่านมันซูร์ ชาห์ พ.ศ. 2106 - พ.ศ. 2115 9 ปี
รัชกาลที่ 4 สุลต่านปาเตะสยาม พ.ศ. 2115 - พ.ศ. 2116 1 ปี
รัชกาลที่ 5 สุลต่านบะห์ดูร์ ชาห์ พ.ศ. 2116 - พ.ศ. 2127 11 ปี
รัชกาลที่ 6 รายาฮีเยา พ.ศ. 2127 - พ.ศ. 2159 32 ปี
รัชกาลที่ 7 รายาบีรู พ.ศ. 2159 - พ.ศ. 2167 8 ปี
รัชกาลที่ 8 รายาอูงู พ.ศ. 2167 - พ.ศ. 2178 11 ปี
รัชกาลที่ 9 รายากูนิง พ.ศ. 2178 - พ.ศ. 2231 53 ปี
  • การเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2184 ดินแดนมลายูขณะนั้นได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองทั้งภายในและภายนอก ที่เป็นรูปแบบการต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่หรือเป็นผู้นำสมาพันธรัฐในคาบสมุทรมลายู โดยเหตุการณ์นี้เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความวุ่นวายต่างๆและสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในบรรดารัฐการค้าแถบคาบสมุทรมลายูอย่างมหาศาล เนื่องจากความพยายามเข้าไปมีบทบาททางการเมืองของกลุ่มขั้วอำนาจเกิดใหม่ในการแข่งขันทางการค้าและด้านแสนยานุภาพทางการทหารครั้งนี้ อย่างเช่น. รัฐซิงโฆรา รัฐเคดาห์ เมืองพัทลุง เป็นต้น[20][21]
  • เมื่อปี พ.ศ.2187 เกิดความโกลาหลภายในราชสำนักปัตตานี -เนื่องจากการแทรกแซงของรัฐอาเจะห์ โดยอาศัยช่องทางผ่านการอภิเษกสมรสครั้งใหม่ระหว่าง รายากูนิง กับ" ยังดีเปอร์ตวนมูดา รายาบาเจา(Yang Dipertuan Muda Raja Bajau) "มกุฏราชกุมารแห่งรัฐยะโฮร์ ซึ่งในเวลาต่อมากลับไปตกหลุมรักนางบำเรอที่ชื่อ" ดังซีรัต(Dang Sirat)"[22] จนหัวปักหัวปำถึงขั้นกล้าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นการเหยียบย้ำจิตใจของชาวปัตตานีทั้งแผ่นดิน[23]
  • เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2188 ขุนนางปัตตานีที่จงรักภักดีต่อพระราชินี หมดความอดทนกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของมกุฎราชกุมารแห่งยะโฮร์และผู้ติดตามชาวอาเจะห์ จึงได้ลุกขึ้นต่อต้านพวกเขาจนกระทั่งเกิดโศกนาฏกรรมการสังหารหมู่ชาวยะโฮร์และชาวอาเจะห์ ที่หมู่บ้านปาซีร์(Pasir)[24]
  • เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2188 รายากูนิง ราชินีแห่งปัตตานีได้ส่งพระราชสาส์นถึงกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสิ่งที่บงชี้ว่า พระองค์ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยแบบเดิม โดยสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง[25]
  • ในปี พ.ศ.2203 เกิดข้อพิพาทระหว่าง อาณาจักรปัตตานี กับ รัฐซิงโฆรา สงครามนี้เกิดขึ้นเพื่อชิงความเป็นใหญ่ในน่านน้ำคาบสมุทรมลายู จนเกิดสงครามยุทธนาวีย่อยๆอยู่หลายครั้ง ซึ่งเป็นสงครามที่ยืดเยื้อมานานหลายสิบปี และการสู้รบครั้งใหญ่เกิดขึ้นสามครั้ง ได้แก่ ในปี พ.ศ.2212 , พ.ศ.2214 และ พ.ศ.2217[26]
  • ในส่วนความขัดแย้งทางการเมืองภายในปัตตานีขณะนั้น เกิดการก่อกบฏขึ้นภายในราชสำนักโดยกลุ่มคณะรัฐประหารภายใต้การนำของรายากาลี ที่ใช้กำลังทางทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของรายากูนิง แต่ความพยายามในการรัฐประหารครั้งนี้ประสบความล้มเหลว[27] นอกจากนี้ยังมีข้อมูลตามตำนานมุขปาฐะได้กล่าวกันว่า ในปี พ.ศ. 2192-พ.ศ. 2196 ความขัดแย้งในอาณาจักรปัตตานีเกิดจากการเข้ามามีอิทธิพลของรายาศักตีจากกลันตัน ที่ได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักอยุธยาในการโค่นล้มรายากูนิง โดยฉวยโอกาสก่อการกบฏในช่วงที่การเมืองภายในปัตตานีกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตจากการแทรกแซงของชาวอาเจะห์และอยุธยา[28]
  • สิ้นสุดเชื้อสายราชวงศ์ศรีวังสา. ในช่วงบั้นปลายชีวิตของรายากูนิง ขณะที่พระองค์ทรงครองราชย์หลังจากผ่านพ้นวิกฤติเหล่านั้นได้ไม่นาน รายากูนิงเริ่มมีพระอาการประชวรสาหัสจนเสด็จสวรรคต โดยไม่มีโอรสหรือธิดาที่จะสืบราชสันตติวงศ์ และมิได้มีการสถาปนาตำแหน่งมกุฏราชกุมารเพื่อขึ้นครองราชย์เป็นประมุขแห่งรัฐสืบต่อจากพระองค์. รายากูนิงจึงเป็นประมุของค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรปัตตานีที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ศรีวังสา และมีการเฉลิมพระนามถวายแด่พระองค์ภายหลังเสด็จสวรรคตว่า" มัรฮูมเบอซาร์ " เนื่องจากพระองค์เคยอภิเษกสมรสกับ ยังดีเปอร์ตวนเบอซาร์ รายาบูจัง(Yang Dipertuan Besar Raja Bujang) ประมุขแห่งรัฐยะโฮร์. หลังจากนั้นเหล่าบรรดาเสนาบดีทั้งปวงมารวมตัวกันประชุมเพื่อหารือเรื่องในการแต่งตั้งประมุของค์ใหม่ จึงได้มีการอันเชิญผู้ที่มีเชื้อสายเจ้าเมืองจากกลันตัน ให้ขึ้นมาเป็นประมุขแห่งอาณาจักรปัตตานีสืบไป[29]


  1. ราชวงศ์กลันตันที่หนึ่ง.[30](ประมุขหุ่นเชิด)[31] ประมุขทุกพระองค์ในราชวงศ์กลันตันจะต้องผ่านการรับรองหรือได้รับการแต่งตั้งโดยเหล่าบรรดาเสนาบดีผู้ทรงอิทธิพลในปัตตานี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์.
ลำดับ รายพระนามผู้ปกครองปัตตานีแห่งราชวงศ์กลันตัน [32] ครองราชย์ ระยะเวลา
รัชกาลที่ 1 รายาบากาล พ.ศ. 2231 - พ.ศ. 2233 2 ปี
รัชกาลที่ 2 รายามัสกลันตัน พ.ศ. 2233 - พ.ศ. 2247 14 ปี
รัชกาลที่ 3 รายามัสจายัม พ.ศ. 2247 - พ.ศ. 2250 3 ปี

(ครั้งแรก)

รัชกาลที่ 4 รายาเดวี พ.ศ. 2250 - พ.ศ. 2259 9 ปี
รัชกาลที่ 5 รายาบึนดังบาดัน พ.ศ. 2259 - พ.ศ. 2263 4 ปี
รัชกาลที่ 6 รายาลักษมณาดาจัง พ.ศ. 2263 - พ.ศ. 2264 1 ปี
รัชกาลที่ 7 รายามัสจายัม พ.ศ. 2264 - พ.ศ. 2271 7 ปี

(ครั้งที่สอง)

รัชกาลที่ 8 รายาอาหลงยูนุส[33] พ.ศ. 2271 - พ.ศ. 2272 1 ปี
รัชกาลที่ 9 สุลต่านมูฮัมหมัด ดูวา พ.ศ. 2319 - พ.ศ. 2329 10 ปี

ภายใต้การปกครองของสยาม

ลำดับ นาม ปีที่ปกครอง
1 พระยาตานี (รายาบังดังบันดัน หรือเติงกูลามีเด็น) พ.ศ. 2328-2334 ภายใต้การปกครองของสยาม
2 พระยาตานี (ดาโต๊ะปังกาลัน) พ.ศ. 2334-2352
3 พระยาตานี (ขวัญซ้าย) พ.ศ. 2352-2358
4 พระยาตานี (พ่าย) พ.ศ. 2358-2359
5 พระยาตานี (ตวนสุหลง) พ.ศ. 2359-2375
6 พระยาตานี (นิยูโซฟ) พ.ศ. 2375-2381
7 พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาณาเขตรประเทศราช (ตนกูปะสา) พ.ศ. 2381-2399
8 พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาณาเขตรประเทศราช (เต็งกูปูเตะ) พ.ศ. 2399-2425
9 พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาณาเขตรประเทศราช (เต็งกูตีมุง) พ.ศ. 2425-2433
10 พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาณาเขตรประเทศราช (เต็งกูสุไลมานซารีฟุดดีน) พ.ศ. 2433-2442
11 พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาเขตประเทศราช (เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน) พ.ศ. 2442-2445

อ้างอิง

  1. อารีฟีน บินจิและคณะ. ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู, 2550, หน้า 63
  2. "จากลังกาสุกะ มาเป็นเมืองปัตตานี (2)"[ลิงก์เสีย] อ้างอิงจาก หนังสือประวัติเมืองลังกาสุกะ - เมืองปัตตานี โดย อนันต์ วัฒนานิกร
  3. "ราชาอินทิรา" เก็บถาวร 2013-03-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนหนังสือเรื่อง บุคคลสำคัญของปัตตานี โดย รศ.มัลลิกา คณานุรักษ์ (๒๕๔๕)
  4. 4.0 4.1 อิบรอฮิม ชุกรี. ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี. เชียงใหม่:ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์, 2549
  5. "การต่อสู้ของรัฐปัตตานี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน " บันทึกของAlexander Hamilton เก็บถาวร 2009-09-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บทความประวัติเมืองปัตตานี-ปัตตานีนครแห่งสันติ
  6. "รายาฮิเยา" เก็บถาวร 2012-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ปัตตานี
  7. "ปัตตานีดารุสซาลาม | OK NATION". www.oknation.net (ภาษาอังกฤษ).
  8. "ปตานีดารุสซาลาม | OK NATION". www.oknation.net (ภาษาอังกฤษ).
  9. เปิดบันทึก “แฟร์นแบร์เกอร์” ชาวออสเตรียผู้นำทัพปตานี รบชนะอยุธยา silpa-mag.com [1]
  10. "ความสัมพันธ์ ระหว่างสยามกับปัตตานี (แบบย่อ)"[ลิงก์เสีย]จากโอเคเนชั่น โดย จอมมาร 26[ลิงก์เสีย]
  11. "ปัตตานีที่ถูกลืม"Sejarah Kerjaan Patani
  12. "ศึกษาขบวนการแบ่งแยกดินแดนและการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย”[ลิงก์เสีย] โดยอาจารย์ชิดชนก ราฮมมลา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  13. "พระบรมราโชบายเกี่ยวกับมณฑลปัตตานี 2466"[ลิงก์เสีย]พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ กับหัวเมืองปักษ์ใต้ โดยดร.ชัชพล ไชยพร
  14. "บันทึกความทรงจำของการต่อสู้ที่ถูกลืม : การประท้วงใหญ่ที่ปัตตานีปี 2518" บทความ ฟาตอนีออนไลน์
  15. "Muslim Separatism: The Moros of Southern Philippines and the Malays of Southern Thailand" Kadir Che Man (W.), Oxford University Press, 1990
  16. อิบรอฮิม ชุกรี. ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี. เชียงใหม่:ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์, 2549
  17. "มลายู ดินแดนแห่งอารยธรรม"รายพระนามกษัตริย์,ราชินีและเจ้าเมืองที่ปกครองปาตานี
  18. "ประวัติการสร้างเมืองปัตตานี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-22. สืบค้นเมื่อ 2010-02-01.
  19. Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.11 Internet Archive.
  20. Vol. 10, No. 3, International Trade and Politics in Southeast Asia 1500-1800 (Dec., 1969), pp. 429-452 JSTOR
  21. The Muslim Sultans of Singora in the 17th Century ,p.52
  22. Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.116 Internet Archive.
  23. Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.117 Internet Archive.
  24. Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.120 Internet Archive
  25. Vol. 10, No. 3, International Trade and Politics in Southeast Asia 1500-1800 (Dec., 1969), pp. 444 JSTOR
  26. Journal of the Siam Society, Vol. 109, Pt. 1, 2021 ,p.54
  27. Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.125 Internet Archive.
  28. The Hikayat Patani: The Kingdom of Patani i n the Malay and Thai Political World vol. 84, no. 2 (301), 2011, p.52 JSTOR
  29. Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.127 Internet Archive
  30. Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.128 Internet Archive.
  31. Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.21 Internet Archive.
  32. Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.22 Internet Archive
  33. Teeuw, Andries; Wyatt, David K. (1970). "Hikayat Patani the Story of Patani". SpringerLink (ภาษาอังกฤษ). doi:10.1007/978-94-015-2598-5.

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น