อังกฤษสมัยแองโกล-แซกซัน

ดินแดนทางประวัติศาสตร์ที่มีอาณาเขตอยู่ในประเทศอังกฤษปัจจุบัน

อังกฤษสมัยแองโกล-แซกซัน (อังกฤษ: History of Anglo-Saxon England) (ค.ศ. 410 - ค.ศ. 1066) อังกฤษสมัยแองโกล-แซกซันเป็นประวัติศาตร์ของต้นยุคกลางของอังกฤษที่เริ่มตั้งแต่ปลายสมัยโรมันบริเตนจนมาถึงการก่อตั้งราชอาณาจักรต่าง ๆ ของแองโกล-แซกซัน ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 และมาสิ้นสุดลงเมื่อชาวนอร์มันได้รับชัยชนะต่ออังกฤษ ในปี ค.ศ. 1066 ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง คริสต์ศตวรรษที่ 6 เป็นสมัยที่รู้จักกันทางโบราณคดีว่าบริเตนสมัยหลังโรมัน (Sub-Roman Britain) หรือที่รู้จักกันตามความนิยมว่า "ยุคมืด" (Dark Ages) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมาก็เริ่มมีการก่อตั้งอาณาจักรที่ใหญ่ขึ้นที่เรียกกันรวม ๆ กันว่า "เจ็ดอาณาจักร" ในช่วงนี้อังกฤษแบ่งเขตการปกครองระหว่างอาณาจักรต่าง ๆ ของแองโกล-แซกซันและบริเตน การรุกรานของไวกิงในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8 นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงหลายประการในบริเตน ผู้รุกรานชาวเดนมาร์กโจมตีที่ตั้งถิ่นฐานต่าง ๆ ไปทั่วบริเตน แต่การตั้งถิ่นฐานของชาวเดนมาร์กต่อมาจำกัดอยู่แต่เพียงในบริเวณทางด้านตะวันออกของเกาะอังกฤษ ขณะที่ผู้รุกรานจากนอร์เวย์ที่เข้ามาทางไอร์แลนด์โจมตีทางฝั่งตะวันตกของทั้งอังกฤษและเวลส์ แต่ในที่สุดแองโกล-แซกซันก็มีอำนาจในการปกครองไปทั่วทั้งเกาะอังกฤษสลับกับเดนมาร์กในบางช่วงในบางครั้ง ทางด้านความสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่ยุโรปก็ความสำคัญมาจนกระทั่งปลายสมัยแองโกล-แซกซัน

ที่มา แก้

ที่มาของแองโกล-แซกซันมีด้วยกันต่าง ๆ ทั้งหลักฐานทางเอกสารและทางตำนาน แต่หลักฐานทางเอกสารที่สำคัญมีด้วยกันสี่ฉบับ ๆ แรกมาจากบันทึก "การล่มสลายและการพิชิตบริเตน" (De Excidio et Conquestu Britanniae) โดยนักบุญกิลดาส์ ที่เขียนราวค.ศ. 540 เป็นบันทึกที่หนักไปในทางการวิจารณ์กษัตริย์บริติชมากกว่าที่จะบรรยายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เอกสารฉบับที่สอง "ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาของชนอังกฤษ" เขียนโดยนักบุญบีด ราว ค.ศ. 731 ใช้บันทึกของกิลดาส์เป็นพื้นฐานและก็อ้างอิงหลักฐานอื่นด้วย ฉบับที่สาม "ประวัติศาสตร์อังกฤษ" ที่กล่าวกันว่าเขียนโดยนักประพันธ์ชื่อเน็นเนียสที่อาจจะเขียนราว ค.ศ. 800 เน็นเนียสก็เช่นเดียวกับกิลดาส์บรรยายเหตุการณ์จากมุมมองของบริติช ฉบับสุดท้ายคือ "บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน" ที่บางส่วนมีพื้นฐานมาจากงานของบีดแต่ก็ผสมตำนานเกี่ยวกับการก่อตั้งราชอาณาจักรเวสเซ็กซ์ แต่ที่สำคัญที่สุดในบรรดาเอกสารสี่ฉบับก็คือ "ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาของชนอังกฤษ" ของบีด และ "บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน"

หลักฐานอื่น ๆ ก็ใช้ประกอบหลักฐานทางเอกสาร เช่นหลักฐานการตั้งถิ่นฐานทางโบราณคดีที่เห็นได้จากประเพณีการฝังศพและการใช้ที่ดิน จากการวิจัยซากศพที่พบไม่ไกลจากแอ็บบิงดันอ้างว่าชาวแซกซันตั้งถิ่นฐานอยู่ด้วยกันกับชาวบริเตน ซึ่งเป็นปัญหาในการถกเถียงกันทางด้านการศึกษาว่าการตั้งถิ่นฐานของชาวแซกซันเป็นการตั้งถิ่นฐานแบบแทนที่ หรือเป็นการเข้ามาผสมกับผู้คนชาวโรมัน-บริเตนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แต่เดิมในบริเวณทางใต้และตะวันออกของบริเตน ดาร์ก ("บริเตนและการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน" ค.ศ. 2002) และเลย์ค็อก ("รัฐบริทาเนียล่ม" ค.ศ. 2008) ต่างก็ถกกันในหัวข้อนี้และวิจัยจากหลักฐานสนับสนุนต่าง ๆ

หลักฐานอื่นก็มีกฎหมายแองโกล-แซกซันต่าง ๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ตั้นแต่รัชสมัยของเอเธสเบิร์ตแห่งเคนต์ (Æthelberht of Kent) และไอเนแห่งเวสเซ็กซ์ (Ine of Wessex) และเพิ่มจำนวนขึ้นมากมายหลังจากรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช กฎบัตรแองโกล-แซกซัน (Anglo-Saxon Charters) ที่ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการมอบที่ดินใช้เป็นหลักฐานได้ตลอดสมัย หลักฐานการเขียนอื่น ๆ ก็รวมทั้งวรรณกรรมนักบุญ, จดหมาย (มักจะเป็นการติดต่อระหว่างนักบวชและบางครั้งผู้นำทางการเมืองเช่นชาร์เลอมาญ และออฟฟาแห่งเมอร์เซีย) และกวีนิพนธ์แองโกล-แซกซัน

ในช่วงสิบปีที่แล้วก็ได้มีการศึกษาทางพันธกรรมของชาวอังกฤษในสมัยปัจจุบันที่นำไปใช้ในการสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับประชากรในสมัยแองโกล-แซกซันและจำนวนผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 สรุปกันว่าการมาตั้งถิ่นฐานเป็นการตั้งถิ่นฐานของชนกลุ่มใหญ่ แต่เมื่อไม่นานมานี้เชื่อกันว่าเป็นการมาตั้งถิ่นฐานของชนชั้นผู้นำจำนวนไม่มากนักที่สนับสนุนจากการศึกษาโดยการวิจัยดีเอ็นเอ

การโยกย้ายถิ่นฐานและการก่อตั้งราชอาณาจักร (ค.ศ. 400-600) แก้

การวางรากฐานของลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่โรมันออกจากบริเตนมาจนถึงการก่อตั้งราชอาณาจักรแองโกล-แซกซันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เหตุการณ์เกี่ยวกับการออกจากบริเตนของโรมันบันทึกใน "ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อังกฤษ" (Historia Regum Britanniae) เขียนโดยเจฟฟรีย์แห่งมอนมอธ (Geoffrey of Monmouth) ซึ่งเป็นบันทึกที่ไม่น่าเชื่อถือเท่าใดนักนอกจากจะใช้เป็นเอกสารสำหรับตำนานจากยุคกลาง และใช้ในการเป็นหลักฐานประกอบกับหลักฐานอื่น ๆ ราชอาณาจักรแองโกล-แซกซันแห่งเคนต์, เบอร์นิเซีย, ไดรา และลินซีย์ เชื่อกันว่ามีรากฐานมาจากข้อมูลของภาษาเคลต์ซึ่งทำให้เห็นว่ามีความต่อเนื่องทางการเมืองกับชนเคลต์ แต่อาณาจักรทางด้านตะวันตกเวสเซ็กซ์และเมอร์เซียเกือบจะไม่มีความสัมพันธ์กับเขตแดนที่มีอยู่ในขณะนั้น

 
ราชอาณาจักรและหมู่ชนในอังกฤษและเวลส์ราว ค.ศ. 600

หลักฐานทางโบราณคดีของคริสต์ทศวรรษหลัง ๆ ภายใต้การปกครองของโรมันแสดงให้เห็นสัญญาณของความเสื่อมโทรมในตัวเมืองและชีวิตในวิลลา นอกจากนั้นก็มีหลักฐานการโจมตีของแซกซันในบริเตนระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 4 และมีการก่อสร้างป้อมปราการตามชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษ แต่นักวิชาการบางคนมีความเห็นว่าที่ตั้งเหล่านี้เป็นที่ตั้งทางการค้าขายที่ชาวแซกซันก่อตั้งขึ้นแทนที่จะเป็นการใช้ทางการทหาร เหรียญกษาปณ์ที่ตีหลัง ค.ศ. 402 หาดูได้ยากซึ่งทำให้ทราบได้ว่าการจ่ายค่าจ้างให้แก่กองทหารโรมันยุติลงไปแล้ว ต่อมาคอนสแตนตินที่ 3 ผู้ได้รับการประกาศให้เป็นจักรพรรดิโดยกองทหารในปี ค.ศ. 407 ก็นำกองทัพบริติชข้ามช่องแคบอังกฤษแต่ทรงถูกสังหารในยุทธการในปี ค.ศ. 411 ในปี ค.ศ. 410 จักรพรรดิโฮโนเรียส (Honorius) ประกาศให้ชาวโรมัน-บริติชป้องกันตนเอง แต่ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 5 โรมัน-บริติชก็ยังมีความรู้สึกว่าสามารถยื่นคำร้องต่อกงสุลเฟลเวียส เอเทียส (Flavius Aëtius) ให้มาช่วยต่อต้านการรุกราน แม้ว่าการปกครองของโรมันจะยุติลงในบริเตนแต่วิถีการใช้ชีวิตอย่างชาวโรมันยังคงปฏิบัติกันอยู่ต่อมาอีกหลายชั่วคน

ดูเหมือนว่าโรมันบริเตนจะแบ่งแยกเป็นอาณาจักรย่อย ๆ หลายอาณาจักรแต่มีการควบคุมโดยทั่วไปโดยสภา กิลดาส์อ้างว่าสภานี้เป็นผู้ชวนทหารรับจ้างแซกซันเข้ามายังบริเตนเพื่อต่อต้านผู้ปล้นสดมภ์แต่ทหารแซกซันก็ปฏิวัติเมื่อไม่ได้รับค่าจ้าง บีดเชื่อว่าแซกซันเข้ามาในบริเตนราว ค.ศ. 446 แต่ปีที่ว่านี้ก็เป็นที่เคลือบแคลงกันในปัจจุบัน ช่วงระยะเวลาการต่อสู้ที่เกิดขึ้นก็นำชัยชนะมาให้ทั้งฝ่ายแซกซันและบริติช แม้ว่าลำดับเวลาจะเป็นสิ่งที่ยากที่จะเอาให้แน่นอนได้แต่ดูเหมือนว่าในปี ค.ศ. 495 ฝ่ายบริเตนก็ได้รับชัยชนะและสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่ฝ่ายแองโกล-แซกซันในยุทธการมอนส์บาโดนิคัส (Battle of Mons Badonicus) หลักฐานทางโบราณคดีและจากบันทึกของกิลดาส์ระบุว่าเป็นการทำให้การมาตั้งถิ่นฐานของแซกซันหยุดชะงักลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 แซกซันก็มาขึ้นฝั่งอีกครั้งที่บริเวณเซาท์แธมป์ตันและเดินทางขึ้นไปทางค็อตสวอลด์และชิลเทิร์นส์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 แซกซันก็ควบคุมอาณาบริเวณทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษยกเว้นคอร์นวอลล์ซึ่งไม่ได้เข้ามาอยู่ภายไต้การปกครองของแซกซันอย่างเต็มที่จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 10 แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วเราจะเรียกผู้ที่เข้ามาในช่วงนี้ว่า "แซกซัน" แต่อันที่จริงแล้วก็มีชนกลุ่มอื่นที่เข้ามาด้วยในขณะเดียวกันที่รวมทั้ง ชนแองเกิล, ชนฟริเชียน และชนจูต แซกซันอาจจะเป็นผู้ให้ชื่อ เอสเซ็กซ์, มิดเดิลเซ็กซ์, ซัสเซ็กซ์ และเวสต์เซ็กซ์ ส่วนชนแองเกิลตั้งถิ่นฐานในบริเวณอีสต์แองเกลีย, เมอร์เซีย, เบอร์นิเซีย และไดรา ขณะที่ชนจูตตั้งถิ่นฐานในบริเวณเคนต์และไอล์ออฟไวท์

จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าเครื่องใช้ของแซกซันของสมัยแรกที่พบพบทางตะวันออกของอังกฤษมิใช้ในบริเวณเคนต์ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าว นอกจากนั้นแล้วก็ยังพบในบริเวณลุ่มแม่น้ำเทมส์ทางตอนเหนือแต่สันนิษฐานกันว่าเป็นสิ่งของที่เป็นของทหารรับจ้างของกษัตริย์บริติช กิลดาส์กล่าวถึงสงครามกลางเมืองระหว่างชนบริติชด้วยกันเองที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีสงครามระหว่างกลุ่มแซกซันต่าง ๆ ก่อนที่จะรวมกันเป็นอาณาจักรต่าง ๆ

ส่วนทางฝ่ายชนบริติชเองก็เริ่มมีการย้ายถิ่นฐานออกจากเกาะอังกฤษข้ามช่องแคบอังกฤษมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 และไปตั้งถิ่นฐานทางแหลมด้านตะวันตก (อาร์มอริคา (Armorica)) ของกอล และก่อตั้งเป็นบริตตานี หลังจากนั้นก็มีหลักฐานที่เชื่อกันว่ามีการโยกย้ายถิ่นฐานต่อมาอีกครั้งจากบริเวณเดวอนและคอร์นวอลล์ บางกลุ่มก็ย้ายไปตั้งถิ่นฐานทางด้านเหนือของสเปนในบริเวณที่เรียกว่าบริโตเนีย (Britonia) ในบริเวณกาลิเซียปัจจุบัน แต่การโยกย้ายถิ่นฐานเหล่านี้ควรจะศึกษาร่วมกับการการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวยุโรปโดยทั่วไปในยุคเดียวกัน และจากหลักฐานทางพันธุกรรมและทางโบราณคดีทำให้เกิดความเคลือบแคลงกันถึงขนาดการโยกย้ายถิ่นฐานของชนแองโกล-แซกซันมายังบริเตน (Anglo-Saxon migration to Britain)

สมัยเจ็ดอาณาจักรและการเข้านับถือคริสต์ศาสนา (ค.ศ. 600-800) แก้

 
บริเตนราว ค.ศ. 802 แสดงให้เห็นราชอาณาจักรแองโกล-แซกซันสีแดง/ส้ม และราชอาณาจักรเคลต์สีเขียว

การเผยแพร่คริสต์ศาสนา (Anglo-Saxon Christianity) ไปในหมู่ชนแองโกล-แซกซันเริ่มราว ค.ศ. 600 โดยมีอิทธิพลจากคริสต์ศาสนาของเคลต์ (Celtic Christianity) จากทางตะวันตกเฉียงเหนือโดยสถาบันโรมันคาทอลิกจากทางตะวันออกเฉียงใต้ นักบุญออกันตินอัครบาทหลวงแห่งแคนเตอร์บรีองค์แรกรับหน้าที่เป็นอัครบาทหลวงในปี ค.ศ. 597 ในปี ค.ศ. 601 พระองค์ก็ได้ประทานศีลจุ่มให้แก่พระเจ้าแผ่นดินแองโกล-แซกซันองค์แรกที่เป็นคริสต์ศาสนิกชนเอเธลเบิร์ตแห่งเคนต์ เพ็นดาแห่งเมอร์เซีย (Penda of Mercia) พระเจ้าแผ่นดินนอกศาสนาองค์สุดท้ายของแองโกล-แซกซันเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 655 การเผยแพร่คริสต์ศาสนาของแองโกล-แซกซันไปยังแผ่นดินใหญ่ยุโรปเริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ที่เป็นผลทำให้จักรวรรดิแฟรงค์ (Frankish Empire) เกือบทั้งหมดกลายเป็นคริสเตียนภายในปี ค.ศ. 800.

ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 7 และคริสต์ศตวรรษที่ 8 อำนาจก็โยกย้ายไปมาระหว่างราชอาณาจักรใหญ่ต่าง ๆ บีดบันทึกว่าเอเธลเบิร์ตแห่งเคนต์เป็นประมุขผู้มีอำนาจมากกว่าผู้อื่นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 6 แต่อำนาจก็ย้ายขึ้นไปทางเหนือไปยังราชอาณาจักรนอร์ทัมเบรียที่เป็นราชอาณาจักรที่เกิดจากการรวมราชอาณาจักรเบอร์นิเซียและไดราเข้าด้วยกัน เอ็ดวินแห่งนอร์ทัมเบรียอาจจะเป็นผู้มีอำนาจมากกว่าผู้ใดในบริเตนในขณะนั้นแต่ก็อาจจะเป็นเพียงความเห็นของบีดผู้ออกจะลำเอียงไปทางการเชิดชูราชอาณาจักรนอร์ทัมเบรียกว่าราชอาณาจักรอื่น แต่นอร์ทัมเบรียก็ประสบปัญหาผู้มีสิทธิในการครองราชอาณาจักรอยู่เป็นประจำ ซึ่งทำให้เมอร์เซียกลายเป็นอาณาจักรที่มีอำนาจโดยเฉพาะภายไต้การปกครองของเพ็นดาแห่งเมอร์เซีย หลังจากการพ่ายแพ้ในยุทธการที่เทร้นท์ในปี ค.ศ. 679 ต่อเมอร์เซีย และในยุทธการที่เน็คเทนส์เมียร์ในปี ค.ศ. 685 ต่อชนพิกต์ (Pict) นอร์ทัมเบรียก็หมดอำนาจ

ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 เมอร์เซียก็กลายเป็นอาณาจักรที่มีอำนาจเหนืออาณาจักรอื่น ๆ แต่ก็ไม่ตลอดเวลา เอเธลบอลด์และออฟฟาแห่งเมอร์เซียเป็นกษัตริย์ผู้มีอำนาจสองพระองค์ โดยเฉพาะออฟฟาผู้ที่ชาร์เลอมาญทรงถือว่าเป็นโอเวอร์ลอร์ด (overlord) ของทางไต้ของบริเตน ที่เห็นได้จากความที่ทรงมีอำนาจพอที่จะระดมผู้คนให้มาสร้างเขื่อนออฟฟา (Offa's Dyke) ซึ่งเป็นเขื่อนดินที่ยาวเกือบตลอดพรมแดนเวลส์และอังกฤษปัจจุบัน แต่การขยายอำนาจของเวสต์เซ็กซ์และการต่อต้านของอาณาจักรย่อย ๆ ทำให้เป็นการเป็นอุปสรรคต่ออำนาจของเมอร์เซียโดยตลอด และเมื่อมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8 อำนาจของเมอร์เซียก็สิ้นสุดลง

ช่วงเวลานี้เรียกกันว่าสมัยเจ็ดอาณาจักรแต่ก็เป็นวลีที่เลิกใช้กันในบรรดาผู้ศึกษาในสถาบันกันแล้ว คำว่าเจ็ดอาณาจักรมาจากราชอาณาจักรที่ประกอบด้วย นอร์ทัมเบรีย, เมอร์เซีย, อีสต์แองเกลีย, เอสเซ็กซ์, เคนต์, ซัสเซ็กซ์ และเวสเซ็กซ์ ที่เป็นอาณาจักรสำคัญทางไต้ของอังกฤษในของยุคนั้น แต่นักการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ชี้ให้เห็นว่ายังมีอาณาจักรอื่นที่มีความสำคัญตลอดสมัยนั้นที่รวมทั้ง: Hwicce, มากอนเซท (Magonsaete), ลินซีย์ และมิดเดิลแองเกลีย

การรุกรานของไวกิงและการขยายอำนาจของเวสเซ็กซ์ (คริสต์ศตวรรษที่ 9) แก้

 
บริเตนราว ค.ศ. 886 แสดงให้เห็นราชอาณาจักรเดนส์สีม่วง, ราชอาณาจักรแองโกล-แซกซันสีส้ม และราชอาณาจักรเคลต์สีเขียว

บันทึกแรกที่กล่าวถึงการโจมตีของไวกิงเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 793 ที่สำนักสงฆ์ลินดิสฟาร์น (Lindisfarne) จากบันทึกในบันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน แต่ในขณะนั้นชนไวกิงก็ตั้งถิ่นฐานกันอย่างเป็นหลักแหล่งแล้วในออร์กนีย์และเชตแลนด์ (Shetland) นอกจากนั้นก็ยังคงมีการโจมตีที่เกิดขึ้นที่อื่นบ้างแล้วก่อนหน้านั้นที่ไม่ได้รับการบันทึก หลักฐานที่กล่าวถึงการโจมตีที่ไอโอนา (Iona) เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 794. การรุกรานของไวกิงโดยเฉพาะจากกองทัพของชนป่าเถื่อนอันยิ่งใหญ่ (Great Heathen Army) ของชาวเดนมาร์กทำความสั่นสะเทือนให้แก่ระบบการปกครองและการสังคมในบริเตนและไอร์แลนด์ ชัยชนะของสมเด็จพระเจ้าอัลเฟรดมหาราชที่เอ็ดดิงทันในปี ค.ศ. 878 เป็นชนวนให้เกิดการรุกรานของเดนมาร์ก แต่เมื่อถึงเวลานั้นนอร์ทัมเบรียก็หมดอำนาจลงแล้วและกลายเป็นอาณาจักรเบอร์นิเซียกับอาณาจักรไวกิง ส่วนเมอร์เซียก็แบ่งแยกเป็นสองอาณาจักร และอีสต์แองเกลียก็สลายตัวจากการเป็นอาณาจักรของแองโกล-แซกซัน การรุกรานของไวกิงมีผลคล้ายคลึงกันในอาณาบริเวณของชนไอริช, สกอต, พิกต์ และบางส่วนของเวลส์ โดยเฉพาะทางเหนือของอังกฤษที่เป็นสาเหตุของการก่อตั้งราชอาณาจักรอัลบา (Alba) ที่ต่อมากลายมาเป็นสกอตแลนด์

หลังจากการสมัยของการโจมตีและปล้นสดมภ์แล้วไวกิงก็เริ่มตั้งถิ่นฐานในอังกฤษ ศูนย์กลางที่สำคัญของไวกิงอยู่ที่ยอร์ก หรือที่เรียกว่ายอร์วิค (Jórvík) โดยไวกิง หลังจากนั้นไวกิงก็พยายามสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างราชอาณาจักรยอร์คกับดับลินแต่ต่อมาก็ล้มเหลว การตั้งถิ่นฐานของชาวเดนส์และชาวนอร์เวย์มีความสำคัญพอที่จะทิ้งร่องรอยทางภาษาศาสตร์ไว้ในภาษาอังกฤษ; คำหลายคำที่ใช้ในภาษาอังกฤษมีรากมาจากภาษานอร์สโบราณ หรือชื่อทางภูมิศาสตร์ในบริเวณการตั้งถิ่นฐานก็มีรากมาจากสแกนดิเนเวีย

การรวมตัวของอังกฤษ (คริสต์ศตวรรษที่ 10) แก้

หลังจากสมเด็จพระเจ้าอัลเฟรดมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อปี ค.ศ. 899 สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโสพระราชโอรสก็ขึ้นครองราชสืบต่อจากพระองค์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและพระอนุชาเขยเอเธลเรดแห่งเมอร์เซียก็ทรงต่อต้านการโจมตีของเดนมาร์กและเริ่มโครงการขยายดินแดน, ยึดอาณาบริเวณที่เป็นของเดนมาร์ก และก่อตั้งระบบป้อมปราการเพื่อป้องกันอาณาบริเวณที่เป็นเจ้าของ เมื่อเอเธลเรดสิ้นพระชนม์เอเธลเฟลดพระขนิษฐาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ปกครองในพระนาม "Lady of the Mercians" และดำเนินการขยายดินแดนต่อร่วมกับเชษฐา ในปี ค.ศ. 918 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงควบคุมอังกฤษในบริเวณตั้งแต่ใต้แม่น้ำฮัมเบอร์ลงมาได้ทั้งหมด ปีเดียวกันนั้นเอเธลเฟลดก็สิ้นพระชนม์ ราชอาณาจักรเมอร์เซียก็รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเวสเซ็กซ์

เอเธลสตันพระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกที่ปกครองอังกฤษทั้งหมดหลังจากที่ทรงได้รับชัยชนะในนอร์ทัมเบรียในปี ค.ศ. 927 พระราชอิสริยศที่ทรงได้รับตามกฎบัตรแองโกล-แซกซันและบนเหรียญกษาปณ์ดูเหมือนว่าจะทรงมีอิทธิพลมากกว่าที่กล่าว หลังจากนั้นก็ทรงได้รับชัยชนะเมื่อนอร์ทัมเบรียพยายามแข็งข้อขึ้นอีกครั้งโดยการไปเป็นพันธมิตรกับกองทัพสกอต-ไวกิงในยุทธการบรูนันเบอร์ (Battle of Brunanburh) แต่หลังจากที่พระเจ้าเอเธลสตันเสด็จสวรรคตการรวมตัวของอังกฤษก็ประสบอุปสรรคต่าง ๆ

พระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ 1 และพระเจ้าเอเดรด ผู้ครองราชย์ต่อมาต่างก็เสียอำนาจในการปกครองนอร์ทัมเบรียให้กับการโจมตีของชนนอร์สใหม่ก่อนที่จะได้คืนมาอีกครั้ง แต่เมื่อมาถึงสมัยของพระเจ้าเอ็ดการ์ผู้ปกครองอังกฤษในบริเวณเดียวกับเอเธลสตันอังกฤษก็รวมตัวกันอย่างถาวร

ดูเพิ่ม แก้