อวตังสกสูตร

หนึ่งในคัมภีร์พุทธศาสนานิกายมหายาน

อวตังสกสูตร (IAST, สันสกฤต: आवतंसक सूत्र) หรือ พุทธาวตังสกมหาไวปุลยสูตร (สันสกฤต: महावैपुल्य बुद्धावतंसक सूत्र) เป็นพระสูตรสำคัญของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และถือเป็นพระสูตรที่มีขนาดยาวที่สุดสูตรหนึ่ง นิกายหัวเหยียนถือพระสูตรนี้เป็นหลัก มีคณาจารย์อธิบายหลักการอันลึกซึ้งมากมาย ทุกวันนี้ นักวิชาการยกย่องเป็นเป็นหนึ่งในพระสูตรที่มีความลึกซึ้งที่สุดสูตรหนึ่งของพุทธศาสนา ในพระไตรปิฎกภาษาจีน จัดอยู่ในหมวดอวตังสกะ (華嚴部) ครอบคลุมหมวดเดียวทั้งหมด เนื่องจากมีขนาดใหญ่โตมโหฬารมาก

ปกรงควัตถุสีทองของอวตังสกสูตรฉบับภาษาเกาหลี ค.ศ. 1400.

ที่มา แก้

ในระยะกาลระหว่างพุทธปรินิพพานแล้ว 500 ปี พระสูตรอันลึกซึ้งนี้ยังไม่ถึงอันจะแพร่หลายได้ถูกประดิษฐานซ่อนเร้นอยู่ในนาคมณเฑียร ณ เมืองใต้บาดาล จนถึงสมัยท่านคุรุนาคารชุนท่านลงไปเมืองพญานาคท่องพระสูตรนั้นจนจำได้คล่องแคล้วแล้วขึ้นมาแพร่หลายแก่มนุษย์ เชื่อกันว่าพระสูตรนี้มีด้วยกัน 3 ฉบับที่แพร่หลายเป็นฉบับเล็ก ส่วนฉบับใหญ่นั้นมีโศลกนับด้วยอสงไขยโกฏิ [1]

ก่อนแสดงพระสูตรนี้ ณ สถานที่ต่าง ๆ พระพุทธองค์จะทรงเข้าฌานสมาบัติ เรียกว่า "สาครมุทราสมาธิ" (海印三昧) อุปมาดังวายวายุจักสงบนิ่ง หมู่คลื่นเงียบงัน วารีในมหาสาครนิ่งสนิทราวกับผืนกระจก แล้วบัดนั้นสรรพสิ่งทั่วสากลจักรวาลจักสะท้อนลงบนผืนน้ำนิ่งใส เสมือนดั่งพระพุทธองค์ทรงกอปรด้วยคุณอันประเสริฐคือความอันสงบรำงับ แลใสกระจ่างสะท้อนสรรพสิ่งทั้งมวลให้เป็นหนึ่งในพุทธภาวะ และยังทรงปราศจากคลื่นคือปรากฏการณ์แห่งจิตอันความแบ่งเขาแบ่งเรา แบ่งนั่นแบ่งนี่ ด้วยเหตุนี้จึงขนานนามฌานสมาบัตินี้ว่า สาครมุทราสมาธิ เป็นหัวใจแห่งอวตังสกสูตร กล่าวคือ เมื่อจิตสงบรำงับ ก็เหมือนมหาสาครไร้คลื่น จักทราบว่าปรากฏการณ์ทั้งมวลล้วนไม่ผิดอะไรกับคลื่นไหวระลอก แม้นคลื่นน้อยใหญ่จะผิดแผกกันไป แต่ล้วนมีธรรมชาติเดียวกัน คือน้ำทะเลในมหาสาคร [2]

อนึ่ง สัปตสถาน-นวสันนิบาต (七處九會) คือสถานที่ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้าฌานสมาบัติสาครมุทราสมาธิ แล้วทรงแสดงอวตังสกสูตรแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่โลกมนุษย์จนถึงสวรรค์ชั้นต่างๆ การแสดงพระธรรมครั้งต่างๆ นั้น ได้กลายมาเป็นอวตังสกสูตร พระสูตรที่ยาวที่สุดสูตรหนึ่งของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน [3]

เนื้อหา แก้

 
อักษรอวตังสกะ 42 ตัว

ต่อไปนี้เป็นเนื้หาโดยสังเขปของอวตังสกสูตร โดยอิงกับ 7สัปตสถาน-9นวสันนิบาต อันเป็นสถานที่แสดงพระสูตรนี้ ต่อไปนี้คือสถานที่และคณะสันนิบาต ซึ่งทรงแสดงพระธรรมเทศนา ซึ่งถือเป็นสังเขปสารบัญของพระสูตรๆ นี้ด้วย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ณ ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ ทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ว่าด้วยอลังการแห่งพระโลกนาถ ว่าด้วยการปรากฏของพระตถาคต ว่าด้วยสมันตภัทรสมาธิ ว่าการปรากฏของสรรพโลก ว่าด้วยพุทธเกษตรของพระไวโรจนะ ว่าด้วยพระไวโรจนะ [4]

2. ณ โพธิรังสีธรรมาคาร ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ว่าด้วยพระนามของพระตถาคต ว่าด้วยจตุราริยสัจจ์ ว่าด้วยรังสีแห่งการบรรลุธรรม ว่าด้วยพระโพธิสัตว์อาราธนาให้ทรงแสดงธรรมเพื่อความแจ่มแจ้ง ว่าด้วยวิสุทธิจริต ว่าด้วยประมุขธรรม [5]

3. ณ สรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ว่าด้วยการเสด็จสู่เขาพระสุเมรุ ว่าด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา ณ ยอดเขาพระสุเมรุ ว่าด้วยทศภูมิกแห่งโพธิสัตว์ ว่าด้วยพรหมจรรย์ ว่าด้วยคุณแห่งการปลูกโพธิจิตตามจริยาพระโพธิสัตว์ ว่าด้วยการรู้แจ้งพระธรรม [6]

4. ณ สรวงสวรรค์ชั้นยามา ว่าด้วยการเสด็จสู่สวรรค์ชั้นยามา ว่าด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา ณ วิมานแห่งแห่งท้าวสุยามะเทวราช ว่าด้วยกุศลจริยาโพธิสัตว์ 10 ประการ ว่าด้วยคุณอันไม่ผันแปรของพระโพธิสัตว์ 10 ประการ [7]

5. ณ สรวงสวรรค์ชั้นดุสิต ว่าด้วยการเสด็จสู่สวรรค์ชั้นดุสิต ว่าด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา ณ วิมานแห่งท้าวดุสิตเทวราช ว่าด้วยทศปริณามนา หรือกระบวนจริยา 10 ขั้นตอนแห่งวัชรเกตุโพธิสัตว์ [8]

6. ณ สรวงสวรรค์ชั้นปรนิมมิสวัตสวัตี ว่าด้วยทศภูมิ [9]

7. ณ โพธิรังสีธรรมาคารอีกครา ว่าด้วยสมาธิทั้ง 10 ว่าด้วยการรู้แจ้ง 10 ประการ ว่าด้วยขันติพระโพธิสัตว์ 10 ประการ ว่าด้วยอสงไขย ว่าด้วยช่วงชีวิต ว่าด้วยโพธิสัตว์ภูมิ ว่าด้วยพระธรรมอันโอฬาริกแห่งพระพุทธองค์ ว่าด้วยสาครแห่งพระกายทั้ง 10 แห่งพระตถาคต ว่าด้วยอนุพยัญชนะแห่งกุศลจริยาพระตถาคต ว่าด้วยสมันตภัทรจริยา ว่าด้วยพระรูปแห่งพระตถาคต [10]

8. ณ โพธิรังสีธรรมาคารอีกครา ว่าการพ้นโลก [11]

9. ณ เชตวัน เมืองสาวัตถี ว่าการเข้าสู่ธรรมธาตุ ส่วนนี้ลักษณะเป็นเอกเทศ เสมือนแยกเป็นพระสูตรต่างหาก เรียกว่า คัณฑวยูหสูตร [12] [13]

ต้นฉบับ แก้

1. คัมภีร์ต้นฉบับ ปกรณ์ที่ถือเป็นต้นฉบับ กล่าวกันว่ามีปริมาณมหาศาล มิอาจจะรวบรวมได้หมดสิ้นเป็นอจิณไตย [14]

2. คัมภีร์ใหญ่ กล่าวกันว่าหากนำเขาพระสุเมรุมาทำพู่กัน นำน้ำหมึกทั้ง 4 มหาสมุทรมาแทนน้ำหมึก ก็ยังเขียนอธิบายได้ไม่หมดสิ้น [15]

ในกาลต่อมาพระคุรุนาคารชุนโพธิสัตว์ หรือนาคารชุนะเดินทางจาริกพบกับภิกษุชราที่ภูเขาหิมาลัย (?) ภิกษุนั้นพาพระนาคารชุนไปยังนาคมณเฑียร เพื่อชมพระสูตรมหายานจำนวนมาก และพบอวตังสกสูตร 3 ฉบับ คือ[16]

1. ฉบับแรก มีจำนวนโศลกเท่ากับละอองธุลีในตรีสหัสมหาโลกธาตุ 10 แห่งรวมกัน จำนวนจุลวรรค เท่ากับละอองธุลีในจตุรทวีป หรือประมาณมิได้ [17]

2. ฉบับกลาง มี 498,800 โศลก แบ่งเป็น 1,200 จุลวรรค ฉบับแรกและฉบับนี้ ยังอยู่ในนาคทมณเฑียร เพราะลึกซึ้งพ้นวิสัยมนุษย์ที่จะเข้าใจ [18]

3. ฉบับหลัง มี 100,000 โศลก 38 จุลวรรค พระนาคารชุนนำมาสู่ชมพูทวีป พร้อมรจนาอจินไตยศาสตร์ ภิกษุจีนสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก ดั้นด้นไปชมพูทวีป อัญเชิญมาถึงแผ่นดินจีน[19]

4. ฉบับย่อ คืฉบับที่เผยแพร่ปัจจุบันนี้ มี 60 ปกรณ์ มี 100,000 โศลก สรุปความเป็นภาษาสันสกฤตได้ 36,000 โศลก จีนได้ 45,000 โศลก ฉบับแปลภาษาจีน มี 2 ฉบับ คือ ฉบับพระพุทธภัทรมหาเถระ แปลระหว่างปีพ.ศ. 961 - 963 กับฉบับของพระมหาสมณะศึกษานันทะ แปลระหว่างปีพ.ศ. 1238 - 1242 [20]

อ้างอิง แก้

  1. เสถียร โพธินันทะ. (2541). ปรัชญามหายาน, กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย
  2. ดู 華嚴遊心法界記 ใน Taishō Shinshu Daizōkyō (大正新修大藏經), Vol 45, No 1877 text, page 645B-C Dainippon Zokuzōkyō (大日本續藏經), vol 103, p. 115-135
  3. 七處八會 ใน A Dictionary of Chinese Buddhist Terms
  4. Introducing the Avatamsaka Sutra.
  5. Introducing the Avatamsaka Sutra.
  6. Introducing the Avatamsaka Sutra.
  7. Introducing the Avatamsaka Sutra.
  8. Introducing the Avatamsaka Sutra.
  9. Introducing the Avatamsaka Sutra.
  10. Introducing the Avatamsaka Sutra.
  11. Introducing the Avatamsaka Sutra.
  12. Introducing the Avatamsaka Sutra.
  13. Warder, A. K. Warder (2000). Indian Buddhism. Motilal Banarsidass Publ. p. 402. ISBN 978-81-208-1741-8.
  14. พระพุทธาวตังสกะมหาไวปุลยสูตร (7 วรรค) หน้า 32 - 35
  15. พระพุทธาวตังสกะมหาไวปุลยสูตร (7 วรรค) หน้า 32 - 35
  16. พระพุทธาวตังสกะมหาไวปุลยสูตร (7 วรรค) หน้า 32 - 35
  17. พระพุทธาวตังสกะมหาไวปุลยสูตร (7 วรรค) หน้า 32 - 35
  18. พระพุทธาวตังสกะมหาไวปุลยสูตร (7 วรรค) หน้า 32 - 35
  19. พระพุทธาวตังสกะมหาไวปุลยสูตร (7 วรรค) หน้า 32 - 35
  20. พระพุทธาวตังสกะมหาไวปุลยสูตร (7 วรรค) หน้า 32 - 35

บรรณานุกรม แก้

  • หลวงจีนวิศวภัทร มณีปัทมเกตุ (แปล). (2548). "พระพุทธาวตังสกะมหาไวปุลยสูตร (7 วรรค)". กรุงเทพฯ คณะศึกษา ปฏิบัติ เผยแผ่ธรรม หมื่นคุณธรรมสถาน.
  • Master Hsuan Hua. (2000). Introducing the Avatamsaka Sutra. ใน http://www.buddhistbooks.info/
  • 華嚴遊心法界記 ใน Taishō Shinshu Daizōkyō (大正新修大藏經), Vol 45, No 1877 text, page 645B-C Dainippon Zokuzōkyō (大日本續藏經), vol 103, p. 115-135
  • William Edward Soothill and Lewis Hodous. (1934). A Dictionary of Chinese Buddhist Terms. Oxford, England
  • Warder, A. K. Warder (2000). Indian Buddhism. Motilal Banarsidass Publ. p. 402. ISBN 978-81-208-1741-8.
  • เสถียร โพธินันทะ. (2541). ปรัชญามหายาน, กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย