อรรถปริวรรตศาสตร์

อรรถปริวรรตศาสตร์ (อังกฤษ: Hermeneutics) สามารถมองได้ว่าเป็นทฤษฎีของการตีความและการทำความเข้าใจตัวบท ผ่านทางกระบวนการเชิงประจักษ์ (empirical) แนวทางนี้แตกต่างจากแนวปฏิบัติในการตีความที่เรียกว่านัยวิเคราะห์ ซึ่งพยายามแกะความหมายของตัวบท ขยายความ และเพิ่มเติมอรรถาธิบายของตัวบท ส่วนอรรถปริวรรตศาสตร์นั้น เน้นศึกษากระบวนการที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในผู้สร้างตัวบทนั้นและความสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างกับผู้อ่าน โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นในช่วงเวลาเดียวกัน หรือคนละช่วงเวลา การศึกษานี้ทำภายใต้เงื่อนไขของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดังนั้นศาสตร์สาขานี้จึงเป็นสาขาย่อยหนึ่งของปรัชญาที่สนใจความเข้าใจของมนุษย์และการตีความตัวบท ในปัจจุบัน ความหมายของคำว่าตัวบทนั้นถูกขยายออกไปจนเกินขอบเขตของเอกสาร งานเขียน โดยยังได้รวมไปถึง คำพูด การแสดง ผลงานศิลปะ หรือกระทั่งเหตุการณ์

คำว่า อรรถปริวรรตศาสตร์ หรือ Hermeneutics นอกวงการวิชาการมักถูกใช้ในความหมายของการตีความพระคัมภีร์