หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

หอศิลปะร่วมสมัยของกรุงเทพมหานคร

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (อังกฤษ: Bangkok Art and Culture Centre) หรือ หอศิลป์กรุงเทพฯ เป็นหอศิลปะร่วมสมัย ตั้งอยู่ที่หัวมุมตะวันตกเฉียงเหนือของสี่แยกปทุมวัน ในย่านสยาม แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร หอศิลป์แห่งนี้ได้เริ่มขึ้นเมื่อ ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้นมีมติร่วมกับคณะกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2538 ให้กรุงเทพมหานครจัดสร้างหอศิลปะร่วมสมัยแห่งกรุงเทพมหานคร ณ สี่แยกปทุมวัน แต่โครงการกลับมาหยุดลงสมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ซึ่งต้องการให้เป็นอาคารพาณิชย์มากขึ้น จนเกิดกิจกรรมเคลื่อนไหวคัดค้านจากหมู่นักศึกษาและศิลปิน ต่อมาในสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จึงพิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการจัดสร้างตามเดิม[2]

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
BACC
ด้านหน้าของหอศิลป์ฯ มองจากแยกปทุมวัน
แผนที่
ก่อตั้ง29 กรกฎาคม พ.ศ. 2549
ที่ตั้งสี่แยกปทุมวัน แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ประเภทหอศิลป์, นิทรรศการหมุนเวียน
ผลงานศิลปะร่วมสมัย
จำนวนผู้เยี่ยมชม1,700,000 คน (พ.ศ. 2560)[1]
ผู้อำนวยการอดุลญา (คิม) ฮุนตระกูล
สถาปนิกบริษัท โรเบิร์ต จี บุย แอนด์ แอสโซซิเอทส์
ขนส่งมวลชน สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ
เว็บไซต์www.bacc.or.th
ทางเดินก้นหอยรอบตัวอาคาร

หอศิลป์แห่งนี้เปิดอาคารแรกตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2548 แต่ก่อสร้างแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2551 อาคารได้รับการออกแบบให้เป็นทรงกระบอก สูง 9 ชั้น มีพื้นที่ทั้งหมด 25,000 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็นห้องแสดงผลงาน โรงภาพยนตร์ ห้องสมุด ห้องเก็บรักษาผลงาน ห้องประชุม ร้านค้า และร้านอาหาร[3] ในชั้นที่ 6 เป็นต้นไป มีทางเดินลาดเอียงเลาะขึ้นไปตามชั้นต่างๆ ในรูปทรงกระบอกของอาคาร และมีการนำแสงธรรมชาติในการจัดแสดงงาน คล้ายคลึงกับพิพิธภัณฑ์โซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์[4] ซึ่งเป็นงานชนะการประกวดแบบ ของสำนักงานออกแบบ โรเบิร์ต จี บุย แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด

ประวัติ แก้

โครงการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 โดยกลุ่มศิลปินร่วมสมัยแห่งประเทศไทยนับพันคนได้จัดแสดงผลงานที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยหวังให้สังคมเห็นว่า มีศิลปินมากพอที่ควรจะมี หอศิลป์ มาเป็นพื้นที่รองรับในการแสดงออกผลงาน และเก็บรักษาผลงานในอดีตและประวัติศาสตร์ เป็นที่รวมกลุ่มศิลปิน เพื่อพบปะ แลกเปลี่ยนความคิด แนวการทำงาน ผลก็คือการผลักดันให้เกิดการพัฒนาของวงการศิลปะในบ้านเมืองนี้

สมัยของ ดร.พิจิตต รัตตกุลได้รับตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีการผลักดันจนกระทั่ง กรุงเทพมหานคร มีนโยบายที่จะสร้างหอศิลป์ขึ้น มีการกำหนดพื้นที่ตั้งหอศิลป์ที่บริเวณสี่แยกปทุมวัน และผู้ชนะจากการประกวดแบบหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้แก่ บริษัท Robert G. Boughey & Associates (RGB Architects) ความพร้อมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2539 แต่ในสมัยของนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนต่อมา โครงการหอศิลป์กรุงเทพมหานครถูกรื้อถอนโครงการความคืบหน้าเดิมทิ้งทั้งหมด โดยเปลี่ยนเป็นพื้นที่การค้าตามรูปแบบการใช้พื้นที่แถบนั้น และมีส่วนแสดงศิลปะไว้เล็กน้อย ซึ่งบรรดาศิลปินและคนทำงานศิลปะในหลายแขนงต่างไม่พอใจในการยุบโครงการนี้เป็นอย่างมาก และได้เคลื่อนไหวเรียกร้องมาตลอดสมัยของนายสมัคร สุนทรเวช

จากการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อสู้เพื่อให้มีหอศิลป์โดยเครือข่ายประชาชนและกลุ่มศิลปินที่ยาวนาน จนกระทั่งกรุงเทพมหานคร โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้เล็งเห็นความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม และได้วางนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นนโยบายหลัก โดยมุ่งเน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ของเด็ก เยาวชน และประชาชนในสังคม ให้ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม สภาแห่งกรุงเทพมหานครจึงได้อนุมัติงบประมาณดำเนินการก่อสร้างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 509 ล้านบาท[5] เพื่อผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม ซึ่งหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art and Culture Centre or bacc) ได้เริ่มก่อสร้างในที่ดินของกรุงเทพมหานคร บริเวณสี่แยกปทุมวัน และได้มีการเปิดโครงการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ เมื่อวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2548

ในกำหนดการเดิม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะสร้างเสร็จช่วงปลายปี พ.ศ. 2549 แต่การก่อสร้างได้ล่าช้าออกไปจากเดิม แล้วเสร็จเปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ. 2551 โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดหอศิลปฯ ประติมากรรมช้างเอราวัณ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ชุด "บารมีแห่งแผ่นดิน" และนิทรรศการโขนพรหมมาศ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 4 ปี นับตั้งแต่การเปิดโครงการหอศิลปฯ แห่งนี้อีกด้วย

พื้นที่ใช้สอยและตัวอาคาร แก้

ตัวอาคารสูง 9 ชั้น (บวกอีก 2 ชั้นใต้ดิน) โดยในตัวอาคารถูกออกแบบมาให้เป็นทรงกระบอก ซึ่งสามารถเชื่อมต่อระหว่างอาคารได้ด้วยทางเดินวน เป็นแนวเอียงขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้คนที่เข้ามาชมผลงาน สามารถชมได้ต่อเนื่องในแต่ละชั้น นอกจากนี้ตัวอาคารยังออกแบบมาให้สามารถรับแสงสว่างจากภายนอกได้ โดยที่แสงไม่แรงพอที่จะเข้ามาถึงขนาดทำลายผลงานศิลปะที่แสดงอยู่ข้างในได้ นอกจากห้องนิทรรศการที่มีอยู่หลายส่วนแล้ว ภายในยังมีส่วนที่เป็นห้องสมุดประชาชน, ห้องปฏิบัติการศิลปะ, ห้องอเนกประสงค์ 300 ที่นั่ง, ร้านค้า รวมไปถึงโรงภาพยนตร์-โรงละครขนาด 222 ที่นั่ง

สถานที่ตั้ง แก้

บริเวณสี่แยกปทุมวัน หัวมุมถนนพระรามที่ 1 และถนนพญาไท ตรงข้ามกับศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ และศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ในย่านสยาม แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติโดยตรง รวมถึงเชื่อมต่อกับศูนย์การค้าโดยรอบผ่านสกายวอล์กวันสยาม

เวลาทำการ แก้

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 20.00 น. ในวันอังคารถึงวันอาทิตย์ ไม่เก็บค่าเข้าชม

อ้างอิง แก้

  1. ทำไมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ จึงไม่ควรถูกจัดการโดยรัฐ,เว็บไซด์: https://www.bbc.com/ วันที่ 15 พฤษภาคม 2018
  2. ความเป็นมาของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, เว็บไซด์:http://www.bacc.or.th/ .สืบค้นเมื่อ 27/07/2561
  3. หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร[ลิงก์เสีย], เว็บไซด์:kanchanapisek.or.th/ .สืบค้นเมื่อ 27/07/2561
  4. หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร – ArtBangkok.com, เว็บไซด์: www.artbangkok.com/ .สืบค้นเมื่อ 27/05/2561
  5. "หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แหล่งรวมความรู้เรื่องศิลปะใกล้เป็นจริง". ไทยรัฐ.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°44′48″N 100°31′49″E / 13.74679°N 100.53021°E / 13.74679; 100.53021