หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง

หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง หรือ หอคำ เดิมคือพระราชวังของเจ้ามหาชีวิตหลวงพระบาง จึงเรียกอีกชื่อว่า วังเจ้ามหาชีวิต สร้างเมื่อ พ.ศ. 2447 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ สืบทอดต่อมาถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของลาว ต่อมาปรับให้เป็นหอพิพิธภัณฑ์หลวง เมื่อ พ.ศ. 2519 โดยใช้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุและของมีค่า เช่น บัลลังก์ ธรรมาสน์ เครื่องสูงและราชูปโภคของเจ้าชีวิต พระพุทธรูป และวัตถุโบราณ รวมถึงของขวัญจากต่างประเทศ

หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง
หอคำ
หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง
แผนที่
ชื่อเดิมหอคำ
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทวังเจ้ามหาชีวิต, พิพิธภัณฑ์
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมวิจิตรศิลป์และลาว
ที่ตั้งหลวงพระบาง, ลาว
เริ่มสร้างพ.ศ. 2447
แล้วเสร็จพ.ศ. 2452
เจ้าของรัฐบาลลาว
ข้อมูลทางเทคนิค
จำนวนชั้น1

สถาปัตยกรรม แก้

สถาปัตยกรรมมีลักษณะสถาปัตยกรรมวิจิตรศิลป์ เป็นอาคารชั้นเดียว แต่ยกพื้นสูง หลังคาเป็นแบบล้านช้าง บริเวณหน้าประตูปูหินอ่อนจากอิตาลี ห้องต่าง ๆ ในอาคาร ได้แก่ ห้องฟังธรรมของเจ้ามหาชีวิต มีพระพุทธรูปจำนวนหนึ่ง รวมถึงธรรมาสน์ของพระสังฆราช ด้านหลังเป็นท้องพระโรง ห้องรับรองราชอาคันตุกะ มีภาพเขียนที่ฝาผนัง เป็นภาพวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของคนลาว รวมถึงรูปขบวนเจ้ามหาชีวิตเสด็จไปสรงน้ำพระที่วัดเชียงทองและวัดใหม่สุวรรณภูมารามเป็นภาพเขียนแนวลัทธิประทับใจ เขียนโดยจิตรกรชาวฝรั่งเศส ยังมีรูปปั้นครึ่งพระองค์ของเจ้ามหาชีวิตลาว 4 พระองค์ และภาพรามเกียรติ์ปิดทองเคลือบเงาจากศิลปินลาว

ท้องพระโรงมีบัลลังก์หรือราชอาสน์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ผนังและเพดานพื้นเป็นสีแดง ประดับด้วยกระเบื้องโมเสครูปต่าง ๆ ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กจำนวนมากที่นำมาจากวัดที่ถูกทำลาย ห้องบรรทมของเจ้ามหาชีวิต ห้องบรรทมของพระราชินี ห้องบรรทมของพระโอรสพระธิดา ได้กลายเป็นห้องเก็บเครื่องดนตรี เครื่องแต่งกายนางแก้วและเครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณ มีศิลาจารึกจำนวนหลายหลัก เก่าแก่สุดระบุคริสต์ศตวรรษที่ 7 จารึกเป็นภาษาลาวโบราณ และยังมีส่วนแสดงภูษาอาภรณ์ เครื่องประดับ เหรียญตราต่าง ๆ ฯลฯ

ห้องเสวย ห้องรับรองราชอาคันตุกะของพระนางคำผูย พระราชินีองค์สุดท้ายของลาว มีภาพเขียนขนาดใหญ่ของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา พระนางคำผูย และเจ้าฟ้าชายวงศ์สว่าง เขียนโดยอิลยา กลาซูนอฟ ศิลปินชาวรัสเซีย ห้องเก็บของที่ระลึกจากผู้นำต่างชาติหลายประเทศ รวมถึงไทย เช่นของที่ระลึกของสหรัฐ เป็นสะเก็ดหินจากดวงจันทร์[1]

ด้านหลังของหอพิพิธภัณฑ์มีอาคารเก็บราชพาหนะ[2] บริเวณที่ตั้งของหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง ยังเป็นที่ตั้งของหอพระบางซึ่งประดิษฐานพระบาง

อ้างอิง แก้

  1. "บันทึกการเดินทาง: หลวงพระบาง ผู้คน ชีวิต และพิพิธภัณฑ์". พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย.
  2. "พระราชวังหลวงพระบางและบาร์ฮังกาเรียน". ไทยโพสต์.