หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หอประชุมใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกโดยย่อว่า หอประชุมจุฬาฯ เป็นหอประชุมใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเป็นมาคู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นที่อาคารแห่งนี้หลายเหตุการณ์ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Chulalongkorn University Auditorium
หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทหอประชุม, หอจัดแสดงดนตรี
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมไทย
ที่ตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน
เมืองกรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ประเทศไทย
พิกัด13°44′18″N 100°31′57″E / 13.738310°N 100.532603°E / 13.738310; 100.532603พิกัดภูมิศาสตร์: 13°44′18″N 100°31′57″E / 13.738310°N 100.532603°E / 13.738310; 100.532603
เริ่มสร้าง18 กันยายน พ.ศ. 2481 - 31 มกราคม พ.ศ. 2482[1]
ปรับปรุงครั้งแรก พ.ศ. 2527
ครั้งที่สอง พ.ศ. 2557
ผู้สร้างสร้างขึ้นตามดำริของ
จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อผนังด้วยอิฐ
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์)
พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์)
ผู้ออกแบบผู้อื่นรองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์
รางวัลรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำ พ.ศ. 2545 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
การบูรณะและปรับปรุงในปี พ.ศ. 2557 เพื่อเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หอประชุมจุฬาฯ เป็นสิ่งปลูกสร้างที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของภูมิทัศน์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดการปรับภูมิทัศน์โดยรอบ เช่น การขุดสระน้ำด้านหน้าประตูใหญ่ ตัดถนนรอบสนามรักบี้และสร้างลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2545 สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ได้มอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นให้แก่หอประชุมจุฬาฯ[2][3]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีพระราชทานแก่นิสิตที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรกก่อนที่กิจกรรมนี้จะมีขึ้นในอีกหลายมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา เป็นที่มาของวันทรงดนตรี หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเป็นสถานที่ถือกำเนิดของ "วันทรงดนตรี"[4]

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นคู่มหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2482 นิสิตและบุคลากรของจุฬาฯ ล้วนผูกพันและมีโอกาส ได้เข้าร่วมพิธีกรรมและกิจกรรมอันหลากหลายที่อาคารหลังนี้ นับตั้งแต่กิจกรรมแรกของการเป็นนิสิต คือพิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่ พิธีปฐมนิเทศนิสิตหอพักของหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิธีไหว้ครู เปิดเทศกาลงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ จนกระทั่งเมื่อสำเร็จการศึกษา อาคารหลังนี้ก็เป็นสถานที่ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตร นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่จัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในวาระสำคัญต่าง ๆ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับชาติ[5]

ที่ตั้งและลักษณะเด่น แก้

 
หอประชุมจุฬาฯ มุมมองถนนพญาไท

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล) ด้านหน้าของหมู่อาคารเทวาลัย หรืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์และอาคารมหาชิราวุธ ใจกลางพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท ทำให้ที่ตั้งของอาคารหอประชุมอยู่ในแขวงปทุมวันไม่ใช่แขวงวังใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัย

พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) และพระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) สถาปนิกผู้ออกแบบหอประชุมหลังนี้เป็นศิษย์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทำให้ตัวอาคารมีลักษณะเป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คล้ายกับอุโบสถวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบ กล่าวคือมีการดัดแปลงศิลปะขอมผสมผสานกับศิลปะไทย ใช้หลังคากระเบื้องเคลือบสีเช่นเดียวกับที่พบในอุโบสถวัด สีเขียว สีส้มและสีแดงอิฐ ประยุกต์เข้ากับสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรทำให้หอประชุมหลังนี้มีลักษณะพิเศษที่หาได้ยากในอาคารอื่น ๆ ที่สร้างในยุคสมัยเดียวกัน

โครงสร้างและการตกแต่งภายนอกของอาคารได้รับอิทธิพลอย่างเข้มข้นจากอุดมการณ์ของคณะราษฏร ดังจะเห็นได้ว่ามีการลดการใช้วัสดุที่แสดงฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตยกรรมไทยในการตกแต่งอาคารลงอย่างมาก เพื่อสะท้อนแนวคิดความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เช่น ถ้วยชามกระเบื้องเคลือบ กระจกสี ลวดลายปูนปั้นที่สื่อหรือเล่าเรื่องราวถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และเน้นออกแบบโครงสร้างให้มีเส้นสายแนวตั้งและแนวนอนที่ดูแข็งและคม ดังจะเห็นได้จากเสาสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม ซุ้มเสาทั้งด้านหน้าอาคารและหลังอาคารที่ตัดตรง ไม่โค้งหรือไม่ประสานเป็นยอดแหลม เป็นลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของอาคารที่เกิดขึ้นในช่วง 15 ปีแรกของคณะราษฎร เรียกสถาปัตยกรรมกลุ่มนี้ว่า "สถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต"[6]

 
ด้านหน้าจุฬาฯ ใหม่ที่หันสู่ถนนพญาไท

ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า[7] เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีผนังก่ออิฐ ภายในอาคารเป็นโถงชั้นเดียว ด้านหน้ายกพื้นเป็นเวที มีอัฒจันทร์อยู่ด้านหลังและด้านข้างทั้งสองด้าน ส่วนด้านตะวันตกทำเป็นมุขซ้อน ชั้นล่างเป็นห้องรับรอง ชั้นบนเป็นห้องประชุม มีบันไดขึ้น-ลง ทั้งภายในและภายนอก 4 บันได ภายในหอประชุมมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดและพระผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นภาพเขียนด้วยสีน้ำมันประดิษฐานอยู่

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกในยุครัฐนิยมหรือยุคปลายคณะราษฎร (ก่อนรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500) การออกแบบและก่อสร้างหอประชุมหลังนี้เป็นสัญลักษณ์ของความพยายามในการสร้าง "ความเป็นไทย" แบบใหม่ขึ้น โดยออกแบบให้เป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยที่ลดทอนความอ่อนช้อยและวัสดุฟุ่มเฟือยลง ในขณะเดียวกันก็เน้นเส้นตรงที่คมชัดมากขึ้นเช่นเดียวกับที่พบในสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ทำให้หอประชุมหลังนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรตอนต้นที่เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในบรรดาสิ่งปลูกสร้างของรัฐนับตั้งแต่เหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475[8]

 
สิ่งปลูกสร้างต่างยุคสมัยวางตัวตามแกนของหอประชุม

การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมของหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเชิงกายภาพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารหอประชุมแห่งนี้เป็นอาคารหลังที่สองที่ถูกสร้างขึ้นบนเส้นแกนจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกของที่ดินมหาวิทยาลัย การที่ผู้ออกแบบได้จัดวางให้ด้านหน้าของตัวอาคารหันไปยังทิศตะวันตก ทำให้ถนนพญาไทกลายเป็น "ด้านหน้า" ของมหาวิทยาลัย[9] แทนที่ถนนอังรีดูนังต์ หรือ "ถนนสนามม้า" ที่เคยทำหน้าที่เป็นด้านหน้าเมื่อครั้งหมู่อาคารเทวาลัย หรืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์และอาคารมหาวชิราวุธยังเป็นเพียงกลุ่มอาคารหลักแห่งเดียวบนพื้นที่ของมหาวิทยาลัย และยังได้เปลี่ยนให้ถนนพญาไทกลายเป็นถนนประธานบนอาณาเขตที่ดินของมหาวิทยาลัย ดังจะเห็นได้จากที่กลุ่มอาคารในยุคหลัง เช่น กลุ่มอาคารสำนักงานมหาวิทยาลัยทั้งหมด[10] อาคารมหาธีรราชานุสรณ์ (หอสมุดกลาง) สามย่านมิตรทาวน์ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างก็ถูกจัดวางให้หันด้านหน้าไปทางทิศตะวันออก[11] ในขณะที่เสาธงชาติของมหาวิทยาลัย พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า สนามรักบี้ สระน้ำ รวมถึงประตูรั้วหลักถูกจัดวางให้หันด้านหน้าไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่ถนนพญาไท[2]

แนวการวางอาคารของหอประชุมจุฬาฯ ยังช่วยบังคับให้เกิดแกนแนวตะวันออก-ตะวันตกบนที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จริง[12] เพราะแม้ว่าจะไม่มีแผนพัฒนาภูมิทัศน์ระยะยาวตั้งแต่ พ.ศ. 2482 เป็นกฎเกณฑ์บังคับให้สิ่งปลูกสร้างยุคหลังต้องสร้างเรียงตัวตามแนวแกน แต่จนถึงปัจจุบันสิ่งก่อสร้างที่ทยอยสร้างขึ้นใหม่ในอาณาเขตของมหาวิทยาลัยก็ยังคงยึดแนวแกนและทิศทางที่อาคารหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวางไว้เป็นมาตรฐาน[13] ดังจะเห็นได้จากการที่หน้าบันกลางของระเบียงทางเชื่อมระหว่างอาคารมหาจุฬาลงกรณ์และอาคารมหาวชิราวุธตรงกันพอดีกับเส้นกึ่งกลางของหอประชุมจุฬาฯ เสาธงประจำมหาวิทยาลัย ช่องว่างตรงกลางระหว่างพระบรมรูปของทั้งสองรัชกาล กึ่งกลางของจุดประดิษฐานพระบรมฉาลักษณ์ของพระประมุขของประเทศ สระน้ำ ประตูใหญ่ อาคารจามจุรี 4 หอสมุดกลาง และอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดเส้นนำสายตาบนภูมิทัศน์สร้างจุดเด่นให้กับเขตปทุมวันได้อย่างดี[2]

ประวัติ แก้

 
ภายในหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างขึ้นในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งมีดำริให้สร้างหอประชุมขึ้นภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตร ทรงดนตรี และงานสำคัญของมหาวิทยาลัย เช่น การรับแขกบ้านแขกเมือง การประชุมสัมนาต่างๆ การแสดงละครของนิสิต ฯลฯ เริ่มสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2481 โดยมีพระสาโรชรัตนนิมมานก์เป็นสถาปนิกออกแบบก่อสร้างอาคาร และพระพรหมพิจิตรเป็นผู้ออกแบบลายกนก[14] อาคารหลังนี้แล้วเสร็จลงในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2482 และเปิดใช้ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2482 สองปีต่อมา (พ.ศ. 2484) มหาวิทยาลัยต้องทำการซ่อมแซมหอประชุม เนื่องจากหลังคาของอาคารรั่วและพื้นหอประชุมมีน้ำซึม สร้างความเสียหายถึงเพดานและดวงโคมภายในอาคาร จนกระทั่งใน พ.ศ. 2527 มหาวิทยาลัยจึงดำเนินการบูรณะและปรับปรุงหอประชุมครั้งใหญ่ โดยการปรับปรุงอาคารนี้อยู่ภายใต้ความดูแลของ รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ ด้านสถาปัตยกรรมไทย ร่วมกับคณะกรรมการอีกหลายท่าน เป็นการตกแต่งภายในใหม่ทั้งหมด พร้อมติดตั้งระบบปรับอากาศ ระบบแสง-เสียงให้มีคุณภาพดี ปรับขนาดเวทีให้ใหญ่ขึ้นและได้ประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์สีน้ำมันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บนผนังทั้งสองข้างของเวทีอีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2557 เป็นการบูรณะและปรับปรุงหอประชุมครั้งใหญ่ครั้งที่สอง โดยมหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้คณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดำเนินการสำรวจความเสียหายและออกแบบเพื่อปรับปรุงอาคารหอประชุม เช่น การเสริมเสาเข็มรองรับพื้นเพื่อแก้ปัญหาการทรุดตัว ปรับปรุงระบบแสง-เสียงและการสื่อสาร เปลี่ยนและติดตั้งระบบปรับอากาศภายในใหม่ เพิ่มเติมโถงระเบียงทั้งสองข้างโดยยกระดับพื้นและผนังกระจก เปลี่ยนเก้าอี้ทั้งหมด ติดตั้งลิฟต์และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบหอประชุม เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เหตุการณ์สำคัญ แก้

 
ภายในหอประชุมจุฬาฯ ขณะแสดงดนตรีคลาสสิก
  • วันทรงดนตรี [15]

วันทรงดนตรีเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานแก่คณาจารย์และนิสิตจุฬาฯ ที่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีที่ประสูติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นิสิตจุฬาฯ เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2500 ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้รับสั่งกับนายสันทัด ตัณฑนันทน์ หัวหน้าวงดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาฯ สมัยนั้นว่าจะนำวงลายครามมาบรรเลงที่จุฬาฯ งานวันทรงดนตรี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นอกจากจะทรงดนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรยังได้พระราชทานข้อคิดแก่นิสิตจุฬาฯ และพระราชทานความเป็นกันเอง สร้างบรรยากาศอันอบอุ่น สนุกสนานและประทับใจเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จฯ มาทรงดนตรีที่จุฬาฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2501 – พ.ศ. 2516 เนื่องจากทรงมีพระราชภารกิจเพิ่มขึ้นจึงไม่ได้เสด็จฯ มาทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยอีก

  • การทูลเกล้าฯ ถวายปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[16]

กำหนดการของพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในปีนั้นมีว่า ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเข้าสู่หอประชุม ทรงจุดเทียนชนวนที่แท่นบูชา พลโทมังกร พรหมโยธี นายกสภามหาวิทยาลัยถวายรายงานเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นจึงทูลเกล้าฯ ถวายปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ใบแรกที่ทูลเกล้าถวายในรัชสมัยของพระองค์

  • พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานพระเกี้ยวองค์จำลองแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[17]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างพระเกี้ยวองค์จำลองจากพระเกี้ยวองค์จริงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพิจิตรเลขา (สัญลักษณ์ประจำรัชกาล) ประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเจิมและทรงพระสุหร่ายพระเกี้ยวก่อนพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2531 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[18]

  • พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตร

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2489 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย[19] นับเป็นการพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งแรกและครั้งเดียวของรัชกาลนี้

  • สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ถวายการต้อนรับพระองค์ในพิธีเปิดที่ทำการบริติช เคานซิล (British Council) ประจำประเทศไทย ณ อาคารวิทยกิตติ์ สยามสแควร์ จากนั้นพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมายังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[20] พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี[21] เพื่อรับการถวายการต้อนรับจากประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ขณะนั้น ศาสตราจารย์กิตติคุณ เกษม สุวรรณกุลเป็นผู้แทนประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับเสด็จ ฐานตั้งธงโดยรอบเสาธงชาติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประดับธงยูเนียนแจ็ก ในการนี้นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกัน "บาก้า" เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์บริเวณระเบียงด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ จากนั้นวงดุริยางค์บรรเลงเพลงก็อดเซฟเดอะควีน (God Save the Queen) เป็นการส่งเสด็จ[22][23]

  • สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง หลังพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[24] ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

นายบิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐ พร้อมด้วยนางฮิลลารี คลินตัน ภริยา เดินทางมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เพื่อเข้าร่วมพิธีมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่นายบิล คลินตัน ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[25][26]

นายลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐ เดินทางมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมด้วยเลดี เบิร์ด จอห์นสัน ภริยา เดินทางมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2510 เพื่อเข้าร่วมพิธีมอบปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่นายลินดอน บี. จอห์นสัน ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[27]

  • สถานที่ประกาศผลและมอบรางวัลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยได้รับเลือกจากชมรมส่งเสริมโทรทัศน์ ให้เป็นสถานที่จัดงานประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำครั้งแรก และได้รับเลือกอีก 5 ครั้ง ในหลายปีถัดมา[28]

  •  
    หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
    สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงได้รับพระราชทานศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมายังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประจำปีการศึกษา 2551 ในการนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงเป็นหนึ่งในบัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้ด้วย พระองค์ทรงจบการศึกษาศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 (เหรียญทอง) ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.93 ในการนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมด้วย ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร[29]

  • "กิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ Bike for Dad"

วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังดำรงพระยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ทรงนำประชาชนไทยปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ใน "กิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ Bike for Dad" หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ประทับรับรองพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา[30][31]

  • การบรรยายพิเศษของมาฮาดีร์ บิน โมฮามัด ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561 มาฮาดีร์ บิน โมฮามัด นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย และแสดงบรรยายพิเศษ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย และตอบคำถามอื่น ๆ จากผู้เข้าร่วมงาน โดยอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่จัดกิจกรรมครั้งนี้และถือเป็นการทำหน้าที่รับรองผู้นำรัฐบาลต่างประเทศครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[32][33]

  • การแสดงปาฐกถาพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เนื่องในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ

วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส มุขนายกแห่งคริสตจักรกรุงโรม (Bishop of the Church of Rome) พระประมุขของนครรัฐวาติกัน และผู้นำคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลก เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ในวาระฉลอง 350 ปี มิสซังสยามและรำลึก 122 ปี แห่งการเสด็จเยือนนครรัฐวาติกันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพระมหากษัตริย์พุทธมามกะพระองค์แรกที่เสด็จเยือนนครรัฐวาติกัน[34]

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำหน้าเป็นสถานที่แสดงปาฐกถาพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปาฯ พร้อมทั้งเป็นพื้นที่ให้ผู้แทนศาสนาทุกศาสนาในประเทศไทยได้ร่วมเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแสดงถึงเอกลักษณ์ของสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความหลากหลายแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ทั้งนี้รัฐบาลไทยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษา นักวิชาการและประชาชนทั่วไปได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ในฐานะเวทีทางวิชาการที่เปิดกว้างด้วย[35][36]

การเดินทาง แก้

การเดินทางมายังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

รถยนต์ส่วนตัว แก้

ใช้ถนนพญาไทและถนนอังรีดูนังต์มายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยถนนพญาไทจะเข้าประตูใหญ่ด้านหน้าบริเวณสระน้ำได้สะดวกที่สุด หากใช้ถนนถนนอังรีดูนังต์สามารถเข้าประตูบริเวณคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ โดยจะสังเกตอาคารสถาปัตยกรรมไทย

รถไฟฟ้ามหานคร แก้

รถไฟฟ้าบีทีเอส แก้

รถประจำทาง แก้

เนื่องจากหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่จะเดินทางมาจึงสามารถใช้รถประจำทางสายที่ผ่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้

  • ถนนพระราม 1 สายรถประจำทางที่ผ่านมหาวิทยาลัย ได้แก่ สาย 11 15 25 40 54 73 204 และ 501[37]
  • ถนนพระราม 4 สายรถประจำทางที่ผ่านมหาวิทยาลัย ได้แก่ สาย 4 21 34 47 50 67 93 109 141 163 172 และ 177[38]
  • ถนนพญาไท สายรถประจำทางที่ผ่านมหาวิทยาลัย ได้แก่ สาย 11 25 29 34 36 36ก. 40 47 50 93 113 141 163 172 177 501 และ 529[39]
  • ถนนอังรีดูนังต์ สายรถประจำทางที่ผ่านมหาวิทยาลัย ได้แก่ สาย 16 21 และ 141[40][41]
 
รถโดยสารภายในจุฬาฯ

รถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แก้

รถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Pop Bus) หรือ "รถป็อพ" ทุกสาย คือ สาย 1 2 3 4 5 สามารถเข้าถึงพื้นที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ โดยมีจุดจอดดังนี้

ในพิธีสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น พิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่และถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิธีพระราชทานปริญญาบัตร พิธีทูลเกล้าฯ ถวายหรือมอบปริญญากิตติมศักดิ์แด่พระประมุขต่างประเทศ กิจกรรมรับน้องก้าวใหม่ และพิธีสำคัญที่มหาวิทยาลัยใช้หอประชุมจุฬาฯ เป็นสถานที่หลักในการจัดงาน รถโดยสายภายในจุฬาลงกรณ์กรณ์มหาวิทยาลัยจะประกาศเปลี่ยนเส้นทางเดินรถชั่วคราว โดยเลี้ยวเข้าพื้นที่มหาวิทยาลัยฝั่งตะวันออกของถนนพญาไททางประตูคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีแทน และไม่วิ่งผ่านบริเวณโดยรอบหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[42]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาฯ
  2. 2.0 2.1 2.2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2550). 9 ทศวรรษ พัฒนาการทางกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพ: คณะกรรมการจัดทำหนังสือ 9 ทศวรรษ พัฒนาการทางกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  3. ดิษฐปัญญา, ช. (2016). asaconsevationaward - หอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. [online] Asaconservationaward.com. Available at: http://asaconservationaward.com/index.php/2016-06-13-15-21-44/building-2545/79-governor-chulalongkorn-bkk-province [Accessed 19 Nov. 2017].
  4. Chula.ac.th. (2017). จุฬาฯ จัด “งานวันที่ระลึกวันทรงดนตรี”  ๒๐ กันยายนนี้ที่หอประชุมจุฬาฯ. [online] Available at: http://www.chula.ac.th/th/archive/65517 เก็บถาวร 2017-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [Accessed 19 Nov. 2017].
  5. แผ่นพับ "เตร็ดเตร่ ในจุฬาฯ ๑" ฉบับที่ระลึกพิธีปฐมนิเทศและถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นนิสิตใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2557 จัดทำโดยสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  6. ชาตรี ประกิตนนทการ. คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ:ประวัติศาสตร์การเมือง หลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม "อำนาจ". กรุงเทพ: มติชน, 2548.
  7. หนังสือ "พระเกี้ยว ๒๕๕๗" คู่มือสำหรับนิสิตใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มภารกิจสารนิเทศ ศูนย์สื่อสารองค์กรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  8. ชาตรี ประกิตนนทการ. “หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.” , โดย ชาตรี ประกิตนนทการ, 67. กรุงเทพ: มติชน, 2548.
  9. พีรศรี โพวาทอง. (2557). ปฐมศตวรรษ จุฬา สถาปัตยกรรม เล่ม 1 (เล่มที่ 1). กรุงเทพมหาคร, ประเทศไทย: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  10. สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (12 มิถุนายน 2563). จามจุรี 4. เข้าถึงได้จาก เว็บไซต์ prm.chula.ac.th: http://www.prm.chula.ac.th/cen047.html
  11. พีรศรี โพวาทอง. (2557). ปฐมศตวรรษ จุฬา สถาปัตยกรรม เล่ม 2 (เล่มที่ 2). กรุงเทพมหาคร, ประเทศไทย: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  12. ธันย์ชนก อุณหชาติ, และ ลลิตา รื่นบันเทิง. (2555). เว็บไซต์แสดงแผนที่ภายในจุฬาฯด้วยภาพพาโนรามา 360 องศา. กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย.
  13. พีรศรี โพวาทอง. (2557). ปฐมศตวรรษ จุฬา สถาปัตยกรรม เล่ม 3 (เล่มที่ 3). กรุงเทพมหาคร, ประเทศไทย: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  14. ข้อมูลหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาฯ
  15. “วันทรงดนตรี” ถึง “วันที่ระลึกวันทรงดนตรี” ความสุขความทรงจำที่ประทับใจ
  16. พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
  17. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างพระเกี้ยวองค์จำลอง
  18. ประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  19. คณะกรรมการบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2555 รัชกาลที่8 เสด็จฯ จุฬาฯ
  20. The Associated Press. (2015). THAILAND: BANGKOK: BRITAIN'S QUEEN ELIZABETH II VISIT UPDATE. [online] Available at: https://www.youtube.com/watch?v=TBeCeByUJCo [Accessed 23 April. 2020].
  21. Chulalongkorn, U. (2017). Promoting International Relations: Foreign Leaders’ Visits to Chulalongkorn University – CU100. [online] CU100. Available at: http://www.cu100.chula.ac.th/story-en/promoting-international-relations-foreign-leaders%E2%80%99-visits-chulalongkorn-university/ [Accessed 21 Feb. 2018].
  22. The Associated Press. (2015). Thailand - Queen's visit. [online] Available at: https://www.youtube.com/watch?v=T1W1izJ20ik [Accessed 21 Feb. 2018].
  23. Bangkok Post. (2018). In honour of relations. [online] https://www.bangkokpost.com. Available at: https://www.bangkokpost.com/lifestyle/art/495297/in-honour-of-relations [Accessed 15 Sep. 2018].
  24. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงศึกษาในคณะอักษรศาสตร์
  25. มติชน. (2012, November 14). ย้อนรอย 6 ครั้ง ประธานาธิบดีอเมริกาคนไหนเยือนไทยทางการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2509-ปัจจุบัน. Retrieved May 29, 2017, from http://www.prachachat.net/news_detail.php เก็บถาวร 2017-05-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน? newsid=1352891333
  26. The Associated Press. (2015). Thailand - Clintons visit. [online] Available at: https://www.youtube.com/watch?v=LaO_NgI90P8 [Accessed 23 April. 2020].
  27. MGR Online. (2016, November 3). คลิปประวัติศาสตร์ “ในหลวง-ราชินี” ต้อนรับ “ลินดอน บี. จอห์นสัน” ปธน.สหรัฐฯ คนแรกที่เยือนไทย นำเฮลิคอปเตอร์ลงจอดหน้าพระที่นั่งอนันตฯ. Retrieved May 29, 2017, from http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9590000110017[ลิงก์เสีย]
  28. "กล่าวรายงาน." YouTube. September 16, 2012. Accessed May 29, 2017. https://www.youtube.com/watch?v=rqz_BmOHSF8.
  29. Cca.chula.ac.th. (2009). พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ปีการศึกษา๒๕๕๑. [online] Available at: http://www.cca.chula.ac.th/protocol/graduation-ceremony/34-graduation2551.html [Accessed 29 Dec. 2017].
  30. Thai PBS. (2015). บก.จร.แจ้งการปิดถนน 15 เส้นทางในกทม.ซ้อมใหญ่ "ปั่นเพื่อพ่อ Bike For Dad" 29 พ.ย.-เตือนนักปั่น "งดเซลฟี่". [online] Available at: http://news.thaipbs.or.th/content/6088 [Accessed 13 Sep. 2018].
  31. YouTube. (2015). กิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 88 พรรษา (BIKE FOR DAD) 11 ธ.ค. 58. [online] Available at: https://youtu.be/E_WLqHui9ac?t=2h5m12s [Accessed 13 Sep. 2018].
  32. Thestar.com.my. (2018). Dr M has packed schedule in Thailand - Nation | The Star Online. [online] Available at: https://www.thestar.com.my/news/nation/2018/10/24/dr-m-has-packed-schedule-in-thailand-pms-visit-will-see-the-discussion-of-bilateral-and-regional-iss/ [Accessed 25 Oct. 2018].
  33. Bloomberg.com. (2018). Malaysia's Mahathir Says Asia Won't Follow West on LGBT Rights. [online] Available at: https://www.bloomberg.com/news/articles/2018-10-25/malaysia-s-mahathir-says-asia-won-t-follow-west-on-lgbt-rights?utm_campaign=socialflow-organic&utm_source=facebook&utm_content=business&cmpid=socialflow-facebook-business&utm_medium=social [Accessed 25 Oct. 2018].
  34. มติชนออนไลน์. 2562. โป๊ป ทรงพบ ‘5 ผู้นำศาสนา-ประชาคมจุฬาฯ’ รำลึก 122 ปี ร.5 เสด็จเยือนกรุงโรม (คลิป). 22 พฤศจิกายน. 27 เมษายน 2563 ที่เข้าถึง. https://www.matichon.co.th/education/news_1764384.
  35. ไทยรัฐออนไลน์. 2562. จุฬาฯปลื้มปีติ โป๊ปฟรานซิส เสด็จ-ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ สร้างสะพานแห่งสันติ. 22 พฤศจิกายน. 27 เมษายน 2563 ที่เข้าถึง. https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1710048.
  36. 2562. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เสด็จจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทรงพบกับผู้แทนศาสนาต่างๆ | 221162. กำกับโดย เดลินิวส์ Live. แสดงโดย สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส. 27 เมษายน 2563 ที่เข้าถึง. https://www.youtube.com/watch?v=dwVMMmosdrc.
  37. "สายรถโดยสารประจำทาง ขสมก. ที่ผ่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพระราม 1". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-10. สืบค้นเมื่อ 2015-05-27.
  38. "สายรถโดยสารประจำทาง ขสมก. ที่ผ่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพระราม 4". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-10. สืบค้นเมื่อ 2015-05-27.
  39. "สายรถโดยสารประจำทาง ขสมก. ที่ผ่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-10. สืบค้นเมื่อ 2015-05-27.
  40. "สายรถโดยสารประจำทาง ขสมก. ที่ผ่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนอังรีดูนังต์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-10. สืบค้นเมื่อ 2015-05-27.
  41. ขสมก
  42. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2018). การจัดการจราจรและข้อควรปฏิบัติ "พิธีพระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิตจุฬาฯ และวันถ่ายภาพหมู่". [online] Available at: https://www.chula.ac.th/news/11309/ [Accessed 1 Oct. 2018].

แหล่งข้อมูลอื่น แก้