หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ (9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 – 27 สิงหาคม พ.ศ. 2524) เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ประสูติแต่หม่อมบุญ วรรวรรณ ณ อยุธยา เป็นสถาปนิกกรมรถไฟ ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นอาจารย์พิเศษและต่อมาป็นอาจารย์ประจำและคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาปนิกรุ่นบุกเบิกผู้นำเอาเอกลักษณ์ไทยมาประยุกต์กับการออกแบบอาคารสมัยใหม่ ได้ทรงพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่มีใช่ในท้องถิ่นให้เหมาะสม เช่นกระเบื้องปิดหัวจั่วกันผุ รวมทั้งการทดลองการใช้วัสดุพื้นถิ่นเช่นไม้ไผ่ ไม้ระแนงเสริมปูนฉาบซึ่งพบว่าใช้งานได้ดีในระดับเศรษฐกิจขณะนั้น

หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ
หม่อมเจ้า ชั้น 4
ประสูติ9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443
สิ้นชีพิตักษัย27 สิงหาคม พ.ศ. 2524 (80 ปี)
หม่อมหม่อมสรรพางค์ วรวรรณ ณ อยุธยา
หม่อมจิตรา วรวรรณ ณ อยุธยา
บุตรหม่อมราชวงศ์วิวัฒน์ วรวรรณ
หม่อมราชวงศ์ชาญวุฒิ วรวรรณ
ราชสกุลวรวรรณ
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
พระมารดาหม่อมบุญ วรรวรรณ ณ อยุธยา

พระประวัติ แก้

ชนม์ชีพเมื่อเยาว์วัยและการศึกษา แก้

เมื่อครั้งเยาว์วัยหม่อมเจ้าโวฒยากรได้รับการศึกษาในวังแพร่งนรา ต่อมาเมื่อชันษา 11 ปีจึงทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย) เริ่มจากชั้นมูล แต่ทรงเรียนดีและได้ข้ามชั้นหลายครั้งจนจบมัธยมปีที่ 8 เมื่อปี พ.ศ. 2460 หลังจบการศึกษาก็ทรงเข้ารับราชการในกรมราชเลขานุการในพระองค์ และทรงเขียนภาพการ์ตูนสะท้อนสังคมลงในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต บางกอกรีคอร์ดเดอร์ ในสมัยดุสิตธานีเป็นประจำ ภาพพระเจ้าไกเซอร์แวดล้อมด้วยผู้ประสบภัยพิบัติเป็นที่พอพระทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้าและได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นนักเรียนทุนส่วนพระองค์ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยได้เดินทางโดยเรือ "ไมตู" และมีนักเรียนไทยร่วมเดินทางไปในเที่ยวเดียวกันประมาณ 20 คน เช่น หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร เป็นต้น นับเป็นนักเรียนไทยรุ่นแรกหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทรงเข้าเรียนกวดวิชาพิเศษหลายแห่งเพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยและสามารถสอบเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ดังประสงค์เมื่อปี พ.ศ. 2464 ช่วงเวลาสี่ปี ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้ หม่อมเจ้าโวฒยากรได้รับความรู้และประสบการณ์เกี่ยวชีวิต ระบบการศึกษาประเพณีของทั้งนักศึกษา ครูบาอาจารย์ตลอดคนทั่วไป ทำให้ท่านได้รับความสนุกสนานและความเพลิดเพลินในชีวิตการศึกษามหาวิทยาลัยและยังได้ทรงบันทึกประสบการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ไว้โดยละเอียด เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2470 ทรงเข้าฝึกงานปฏิบัติวิชาชีพที่ "ไวท์ฮอลล์" เป็นเวลาแปดเดือนแล้วจึงเสด็จกลับประเทศไทย และหลังจากนั้นอีก 26 ปี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ทูลเชิญหม่อมเจ้าโวฒยากรเข้ารับปริญญาโทเมื่อปี พ.ศ. 2496

ชีวิตการทรงงานและผลงาน แก้

 
สถานีรถไฟเชียงใหม่
 
ศาลาพระเกี้ยว
 
สถานีรถไฟธนบุรี (เดิม)

เมื่อเสด็จกลับถึงประเทศไทย ทรงเข้ารับราชการในกรมรถไฟหลวง[1] เก็บถาวร 2007-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2471 ในตำแหน่งสถาปนิก ขณะนั้นประเทศไทยมีสถาปนิกเพียง 5 คน ทรงได้รับหมอบหมายหน้าที่งานด้านสถาปัตยกรรมทั้งหมดของกรมรถไฟ หม่อมเจ้าโวฒยากรนับเป็นสถาปนิกฝีมือดีผู้หนึ่งจึงมีผลงานจำนวนมากและหลายชิ้นยังปราฏอยู่ถึงปัจจุบัน งานชิ้นหลัก ๆ โดยสังเขปของรวมทั้งที่ทรงทำหลังโอนไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว มีดังนี้

ผลงานชิ้นสุดท้ายของหม่อมเจ้าโวฒยากรได้แก่อนุสาวรีย์ราชสกุลวรวรรณเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระบิดา ที่ชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี หม่อมเจ้าโวฒยากรทรงความสนทัยในการค้นคว้าวิจัยประเทศที่อาจเรียกในปัจจุบันว่า "ภูมิปัญญาชาวบ้าน" ทรงใช้ไม้ไผ่ขัดแตะผสมฟางกับดินฉาบเป็นผนัง การใช้โครงสร้างไม้กับผนังอิฐและอื่น ๆ ที่เหมาะกับภูมิอากาศและความประหยัด ซึ่งอาคารที่ได้ทรงทดลองสร้างหลายแห่งยังคงสภาพดีแม้เวลาจะผ่านมามากกว่า 60 ปี

การก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปภัมภ์ แก้

หม่อมเจ้าโวฒยากรทรงร่วมกับสถาปนิกอาวุโสไทยที่มีอยู่จำนวนน้อยในขณะนั้นก่อตั้ง "สมาคมอาชีพ" ซึ่งต่อมาคือสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ในปัจจุบัน โดยมีพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) เป็นนายกสมาคมคนแรก ส่วนหม่อมเจ้าโวฒยากรเป็นกรรมการผู้ก่อตั้งและกรรมการอำนวยการ สมาคมดำเนินการได้สามปีก็ต้องยุติชั่วคราวเนื่องจากภาวะสงคราม เมื่อสงครามสงบ หม่อมเจ้าโวฒยากรได้รับทูลเชิญให้เป็นองค์ประธานกลุ่มฟื้นฟูจนสมบูรณ์ตามกฎหมายแต่ไม่ทรงรับเป็นนายกสมาคมจนผ่านไปหลายสมัยและหาผู้รับเป็นไม่ได้จึงทรงยอมรับเป็นนายกสมาคม หลังหมดวาระยังทรงติดตามและให้ความช่วยเหลือสมาคมตลอดมา

การเริ่มเกี่ยวข้องการศึกษาสถาปัตยกรรม แก้

ในขณะที่ประจำอยู่กรมรถไฟ นารถ โพธิประสาท สถาปนิกไทยได้ทุนรัฐบาลที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษได้กลับมารับราชการที่โรงเรียนเพาะช่างได้เสนอรัฐบาลให้ยกระดับวิชาสถาปัตยกรรมที่เพาะช่างขึ้นเป็นระดับอุดมศึกษา ซึ่งรัฐบาลก็ได้เห็นชอบให้โอนไปเป็นแผนกวิชาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หม่อมเจ้าโวฒยากรซึ่งได้มีส่วนร่วมหารือเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นจึงได้ได้รับเชิญไปสอนเป็นอาจารย์พิเศษในแผนกวิชาสถาปัตยกรรมดังกล่าวเป็นประจำ

ชีวิตการสอน แก้

หลังเป็นแผนกวิชาอิสระมาแปดปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงสถาปนาแผนกนี้ขึ้นเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เปิดสอนระดับปริญญาตรีเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2481 ก่อนหน้านั้นเปิดสอนถึงเพียงระดับอนุปริญญา เมื่อการเรียนการสอนเริ่มเข้มข้นและมีจำนวนนิสิตมากขึ้น หม่อมเจ้าโวฒยากรได้รับการทาบทามให้โอนมาเป็นอาจารย์ประจำ แต่ไม่ทรงมาได้เนื่องจากยังมีงานสำคัญจำนวนมากอยู่ที่กรมรถไฟ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2492 จึงสามารถโอนมารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาสถาปัตยกรรมและรักษาการหัวหน้าแผนกศิลปกรรมอีกตำแหน่งหนึ่ง

ปี พ.ศ. 2497 มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งหม่อมเจ้าโวฒยากรให้ดำรงตำแหน่งคณบดี และได้ทรงดำรงตำแหน่งนี้จนเกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ. 2507 ในระหว่างการดำรงตำแหน่งได้ทรงปรับปรุงการเรียนการสอน ติดต่อขอความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยและองค์กรต่างประเทศจัดส่งเครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญมาร่วมจัดตั้งแผนกศิลปอุตสาหกรรมสำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีภารกิจที่ทรงทำให้แก่มหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่นๆ ระหว่างการรับราชการในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกมากสรุปสังเขปได้ดังนี้

  • กรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2498 - 2508)
  • กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2498 - 2508)
  • ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้แก่ World Craft Council (พ.ศ. 2507 - 2508)

นอกจากนี้ยังทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชบัณฑิต สาขาศิลปกรรมศาสตร์รุ่นแรกของราชบัณฑิตยสถาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 เป็นอุปนายกราชบัณฑิตยสถานระหว่างปี พ.ศ. 2518 - 2519 แต่ได้ขอลาออกในปีต่อมาเนื่องประชวรด้วยพระโรคต้อ

ชนม์ชีพในบั้นปลายและชีวิตครอบครัว แก้

หม่อมเจ้าโวฒยากรมีหม่อม คือ หม่อมสรรพางค์ (สกุลเดิม บูรณะปิณฑ์;ธิดาของขุนประสิทธิ์พยุหกรรม(สวน บูรณะปิณฑ์)) มีโอรสด้วยกันหนึ่งคน คือ หม่อมราชวงศ์วิวัฒน์ วรวรรณ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2480 หม่อมเจ้าโวฒยากรได้รับพระราชทานสมรสกับหม่อมจิตรา (สกุลเดิม ปันยารชุน; ธิดาของพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) กับคุณหญิงปฤกษ์ ปรีชานุสาสน์ และเป็นพี่สาวของอานันท์ ปันยารชุน) มีโอรสด้วยกันหนึ่งคน คือ รองศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์ชาญวุฒิ วรวรรณ (ปัจจุบันเกษียณอายุราชการจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; สมรสกับคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา (สกุลเดิม จาติกวนิช) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน มีบุตรคนเดียว คือ หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ)

แม้หม่อมเจ้าโวฒยากรมีงานที่ต้องทรงดูแลรับผิดชอบมาก แต่ก็ยังทรงปลีกเวลาให้แก่ญาติมิตรเสมอ รวมทั้งทรงดูแลเอาใจใส่ตรอบครัวเป็นอย่างดี ยามว่างหลังเกษียณแล้วก็โปรดเขียนบทความและภาพล้อเลียนสังคมอยู่เสมอและโปรดการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

หม่อมเจ้าโวฒยากรมีพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ไม่ใคร่เจ็บป่วย กระทั่งปี พ.ศ. 2524 เริ่มประชวร ทรงเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยครั้ง หลังการผ่าตัดต้อกระจก พระอาการประชวรหนักขึ้นและสิ้นชีพตักษัย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2524 สิริชันษา 80 ปี 10 เดือน 18 วัน พระราชทานเพลิงพระศพ เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2524 ณ เมรุวัดธาตุทอง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  • สิทธิธรรม โรหิตะสุข. “สถาปนิกเลือดน้ำเงินกับศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย: แนวคิดและบทบาทของสถาปนิกชั้นหม่อมเจ้าในช่วง พ.ศ. 2475-2505.” ใน ถนอม ชาภักดี และคนอื่นๆ (บก.), เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 11 เปิดโลกสุนทรีย์ในวิถีมนุษยศาสตร์. น. 22-37. กรุงเทพฯ: มีดี กราฟิก, 2560.

อ้างอิง แก้

  • พระประวัติของหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ จัดพิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2524
  1. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 41 เล่ม 76 ตอนที่ 115 16 ธันวาคม 2502