สุวรรณสามชาดก (อ่านว่า: สุ-วัน-นะ-สาม-ชา-ดก) หรือในพระคาถาเรียกว่า สุวณฺณสามชาตกํ (อ่านว่า: สุ-วัน-นะ-สา-มะ-ชา-ตะ-กัง) เป็นชีวประวัติเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก กล่าวถึงพระชาติของพระโคตมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นสุวรรรณสามดาบส[1] ในการบำเพ็ญเมตตาบารมี[2] โดยสุวรรรณสามดาบสต้องรับภาระเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอด วันหนึ่งพระเจ้ากบิลยักขราชแผลงศรมาถูกได้รับบาดเจ็บแสนสาหัส แต่ก็ไม่ได้โกรธ กลับแสดงเมตตาจิตต่อ และเทศนาทศพิธราชธรรมให้กบิลยักษ์ฟัง ด้วยอำนาจแห่งเมตตาธรรมทำให้พระสุวรรณสามหายเจ็บปวดรอดชีวิตมาได้ และบิดามารดาก็กลับมีจักษุดี[3]

สุวรรณสามชาดก

สุวรรณสามชาดก ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกขุททนิกายชาดก มหานิบาต และอรรถกถา ซึ่งพระโคตมพุทธเจ้าตรัสเรื่องสุวรรณสามขณะประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร อารามที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีซื้ออุทยานพระกุมารพระนามว่าเชตสร้างถวาย พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระภิกษุรูปหนึ่ง ผู้บิณฑบาตเลี้ยงบิดามารดา เพื่อจะยกย่องพระภิกษุผู้เลี้ยงดูบิดามารดาด้วยสิ่งของที่ชาวบ้านถวายว่าเป็นพระภิกษุยอดกตัญญู ให้เป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุทั้งปวง พระพุทธองค์จึงตรัสเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์[4] แล้วตรัสว่า

... ภิกษุทั้งหลาย การเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นวงศ์ของบัณฑิตทั้งหลาย

— พระโคตมพุทธเจ้า

ตรัสดังนี้แล้วทรงประกาศอริยสัจ 4 เพื่อประชุมชาดก เมื่อแสดงเทศนาว่าด้วยอริยสัจ 4 จบ พระภิกษุนั้นได้บรรลุธรรมขั้นโสดาปัตติผล

จากชาดกนี้ "พระราชากบิลยักขราช" ในกาลนั้นกลับชาติมาเกิดเป็น พระอานนท์ "พสุนธรีเทพธิดา" เกิดเป็นภิกษุณีชื่อ อุบลวรรณา "ท้าวสักกเทวราช" เกิดเป็น พระอนุรุทธะ "ทุกูลบัณฑิต" ผู้บิดา เกิดเป็น พระมหากัสสปะ "นางปาริกาดาบสินี" ผู้มารดา เกิดเป็นภิกษุณีชื่อ ภัททกาปิลานี ส่วนสุวรรณสามดาบถ ทรงอุบัติเป็น พระโคตมพุทธเจ้า

เนื้อหา แก้

ตามพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒ เนื้อเรื่องสุวรรณสาม ระบุโดยความย่อว่า

"สุวรรรณสามดาบส เป็นบุตรของฤๅษีตาบอด สุวรรรณสามดาบสเลี้ยงท่านทั้งสองนั้นในป่าใหญ่ วันหนึ่ง สุวรรณสามดาบสตักน้ำที่แม่น้ำมิคสัมมตา เพื่อบิดา มารดา แต่แล้วพระเจ้ากบิลยักขราชแผลงศรมาถูก สุวรรรณสามดาบสถามว่า

ใครหนอยิงเราผู้มัวประมาทกำลังแบกหม้อน้ำ ด้วยลูกศร กษัตริย์พราหมณ์ แพศย์ คนไหนยิงเราแล้วแอบอยู่ เนื้อของเราก็กินไม่ได้ ประโยชน์ด้วยหนังก็ไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ คนที่ยิงนี้ เข้าใจว่าเราเป็นผู้ อันจะพึงยิง ด้วยเหตุอะไรหนอ ท่านเป็นใคร หรือเป็นบุตรใคร เราจะ รู้จักท่านได้อย่างไร ดูกรสหาย เราถามแล้วขอท่านจงบอกเถิด ท่านยิงเราแล้วแอบอยู่ทำไมเล่า

— สุวรรรณสามดาบส

พระเจ้ากบิลยักขราชจึงตอบ แล้วทรงถามว่าเป็นใคร สุวรรรณสามดาบสจึงตอบ พร้อมบอกให้ช่วยดูแลบิดา มารดาของตน แล้วสลบไป พระเจ้ากบิลยักขราชทรงคร่ำครวญ แล้วทรงระลึกได้ว่า ทางเดียวที่จะช่วยผ่อนบาปอันหนักของ พระองค์ได้ก็คือ ปฏิบัติตามวาจาที่สัญญาไว้กับสุวรรณสาม คือไป ปรนนิบัติดูแลพ่อแม่สุวรรณสาม พระราชากบิลยักขราชจึงนำหม้อน้ำที่สุวรรณสามตักไว้นั้น ออกเดินทางไปศาลาที่สุวรรณสามบอกไว้ ครั้นไปถึง พระเจ้ากบิลยักขราช เริ่มค่อยๆ บอกกล่าวเรื่องของสุวรรรณสามดาบส เมื่อบิดา มารดาของสุวรรรณสามดาบสรู้ จึงอ้อนวอนให้พระเจ้ากบิลยักขราชพาไปพบลูก แล้วพระเจ้ากบิลยักขราชจึงพาไป เมื่อทั้งสามมาถึง บิดา มารดาของสุวรรรณสามดาบสเห็นสุวรรรณสามดาบสนอนสลบอยู่ ทั้งสองจึงสะอึกสะอื้นด้วยโศกเศร้า คิดว่าลูกของตนสิ้นลมแล้ว ทั้งสองจึงนำสุวรรณสามดาบถขึ้นวางบนตัก ผู้เป็นบิดาก็ช้อนศีรษะสุวรรณสามดาบถประคองไว้บนตัก ต่างพากัน รำพันถึงสุวรรณสามดาบถ บังเอิญผู้เป็นมารดาลูบคลำบริเวณหน้าอกสุวรรณสามดาบถ รู้สึกว่ายังอบอุ่นอยู่ จึงคิดว่าลูกอาจจะเพียงแต่ สลบไป ไม่ถึงตาย นางจึงตั้ง สัตยาธิษฐานว่า

ลูกสามะนี้เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมมาแต่กาลก่อน ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามะจงหายไป ลูกสามะนี้เป็นผู้มีปกติประพฤติเพียงดังพรหมมาแต่กาลก่อน ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามะจงหายไป ลูกสามะนี้เป็นผู้มีปกติ กล่าวคำสัตย์มาแต่กาลก่อน ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามะจงหายไป ลูกสามะนี้เป็นผู้เลี้ยงมารดาบิดา ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามะจงหายไป ลูกสามะนี้มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อบุคคลผู้เจริญ

— นางปาริกาดาบสินี

นางเทพธิดาวสุนธรี ผู้ดูแลรักษาอยู่ ณ บริเวณเขาคันธมาทน์ ได้ยิน จึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า

เราเคยอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์มานาน ไม่มีใครอื่น จะเป็นที่รักของเรายิ่งกว่าสามกุมาร ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงหายไป ป่าทั้งหมดที่ภูเขาคันธมาทน์ล้วนแต่เป็นไม้หอม ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงหายไป

— นางเทพธิดาวสุนธรี

เมื่อนั้นสุวรรรณสามดาบสได้กลับแลเห็นเหมือนเดิม พระเจ้ากบิลยักขราชทรงพิศวงยิ่งนัก จึงตรัสถามว่าสุวรรณสามฟื้นขึ้นมา ได้อย่างไร สุวรรณสามตอบพระราชาว่า

บุคคลใด เลี้ยงมารดาและบิดาโดยธรรม แม้เทวดาและมนุษย์ย่อมสรรเสริญผู้เลี้ยงมารดาและบิดานั้น บุคคลใดเลี้ยงมารดาและบิดาโดยธรรม นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลผู้เลี้ยงมารดาและบิดานั้นในโลกนี้ บุคคลนั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์

— สุวรรรณสามดาบส

พระเจ้ากบิลยักขราชนั้นได้ยิน จึงตรัสปฏิญญาณว่าจะประพฤติตนอยู่ในความดีแล้วพระราชาก็ทรงขอขมาโทษสุวรรรณสามดาบส แล้วพระองค์ก็เสด็จ กลับพาราณสี ทรงปฏิบัติตามที่ได้ตรัสไว้ทุกประการจนตลอดพระชนม์ชีพ ฝ่ายสุวรรณสามก็เลี้ยงดูปรนนิบัติบิดา มารดา บำเพ็ญเพียรใน ทางธรรมเมื่อสิ้นชีพก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก ร่วมกับบิดา มารดา ด้วยกุศลกรรมที่กระทำมา"[2][3] .

การดัดแปลง แก้

สุวรรณสามชาดกได้มีการดัดแปลงเป็นนิทาน ที่ลงบันทึกในใบลาน โดยบันทึกเป็นอักษรมอญ และอักษรพม่า เก็บรักษาในหอสมุดวัดกลาง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์[5] นอกจากนี้ยังมีการนำมาดัดแปลงเป็นวรรณคดีอีสาน[6] หรือหนังสือบางเล่มนำสุวรรณสามดาบถมาให้ข้อคิดเรื่องความกตัญญู และความเมตตา เช่น หนังสือเรื่อ "สุวรรณสามยอดกตัญญู" ที่เขียนโดย พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตโต[7] เป็นต้น และเป็นการ์ตูนเพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าใจได้ง่าย แต่ส่วนมาก มักจะรวมกับหนังสือการ์ตูนที่ทำเรื่องเกี่ยวกับทศชาติชาดก

อ้างอิง แก้

  1. พระมหาบูรณะ ชาตเมโธ. เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร. 2542. หน้า 197 - 213
  2. 2.0 2.1 สุวรรณสามชาดก .พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
  3. 3.0 3.1 สุวรรณสามชาดก. ธรรมะไทย
  4. สุวรรณสาม เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. 27 มิถุนายน 2009. จริยธรรม.คอม
  5. สุวรรณสามชาดก[ลิงก์เสีย]. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
  6. เรื่องที่ 3 วรรณคดีท้องถิ่น. วรรณคดีท้องถิ่น[ลิงก์เสีย]. เล่มที่ 31. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  7. [https://web.archive.org/web/20120830141820/http://www.ebooks.in.th/ebook/3348/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B9_%5B%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%99%5D/ เก็บถาวร 2012-08-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สุวรรณสามยอดกตัญญู [พระมหาอุเทน]]. ebooks.in.th

แหล่งข้อมูลอื่น แก้