สือดิบผู้จ่อง(จีนกลาง: 古壮字 gǔ Zhuàngzì หรือ 方块壮字 fāngkuài Zhuàngzì; จ้วง: Sawndip ใสดิ๊บ)เป็นตัวอักษรพื้นเมืองของชาวจ้วงซึ่งเรียกตนเองว่าผู้จ่อง วิวัฒนาการมาจากอักษรจีนแบบเดียวกับอักษรจื๋อโนมที่ใช้เขียนภาษาเวียดนาม โดยสือดิบหนึ่งตัวจะประกอบด้วยอักษรจีนสองตัว ตัวหนึ่งแทนเสียง อีกตัวหนึ่งแทนความหมาย เช่นคำว่า "นา" จะใช้อักษรจีนที่อ่านว่า "หน่า" ผสมกับตัวที่อ่านว่า "หลาย"ซึ่งหมายถึงนาในภาษาจีน มาสร้างเป็นตัวสือดิบอ่านเป็นภาษาจ้วงว่า "นา" เป็นต้น

สืบดิบผู้จ่อง
กิน
อ่านตรงตัวว่า "ลึกฆกปิ๊ด" (ลูกนกเป็ด) แปลว่า ลูกเป็ด

ต้นกำเนิดของอักษรสือดิบนั้นไม่มีหลักฐานแน่นอน นักวิชาการบางส่วนกล่าวว่ามีกำเนิดสมัยราชวงศ์ถัง บางส่วนกล่าวว่าเริ่มใช้ในสมัยราชวงศ์ซ้อง อย่างไรก็ตาม สือดิบไม่ได้มีสถานะเป็นอักษรราชการ เพราะชาวจ้วงอยู่ภายใต้การปกครองของจีน จึงใช้ภาษาจีนและอักษรจีนเป็นภาษาและอักษรราชการ ส่วนมากชาวจ้วงใช้สือดิบบันทึกเพลงและวรรณกรรมพื้นบ้าน เขียนจดหมายหรือใช้ในทางไสยศาสตร์ในแวดวงของหมอผีโดยใช้ปนกับอักษรจีน สือดิบจัดว่าเป็นอักษรที่ไม่ได้พัฒนามากนัก ปัจจุบันมีสือดิบเพียง 2,000 ตัวซึ่งถือว่าไม่เพียงพอต่อการใช้งานในฐานะอักษรภาพ นอกจากนั้น ภาษาจ้วงยังมีแตกต่างไปหลายสำเนียง แต่ละท้องถิ่น กำหนดสือดิบของตนขึ้นใช้โดยไม่มีสือดิบมาตรฐานสำหรับคนที่อยู่ต่างท้องที่กัน

นอกจากนี้ การนำอักษรจีนมาใช้ปนกับสือดิบก็มีวิธีใช้ต่างกันไป บางครั้งนำมาใช้แทนเสียงโดยไม่คำนึงถึงความหมาย บางครั้งนำมาใช้โดยยึดความหมายแต่อ่านเป็นภาษาจ้วง ตัวอย่างเช่น อักษรจีนที่แปลว่า "ข้าพเจ้า" เมื่อนำมาใช้ในสือดิบจะใช้แต่ความหมาย โดยอ่านออกเสียงว่าเป็นภาษาจ้วงว่า "กู" เป็นต้น

อ้างอิง แก้

  • เจีย แยนจอง. จากสือดิบผู้จ่องถึงลายสือไทพ่อขุนรามฯ ข้อคิดจากสือจ่อง ใน คนไทไม่ใช่คนไทยแต่เป็นเครือญาติชาติภาษา. กทม. มติชน. 2549 หน้า 417 - 422.