สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา

สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา (อังกฤษ: Bermuda Triangle) หรืออาจรู้จักกันในชื่อ สามเหลี่ยมปีศาจ (อังกฤษ: Devil's Triangle) เป็นพื้นที่สมมุติทางตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ซึ่งมีการอ้างว่าอากาศยานและเรือผิวน้ำจำนวนหนึ่งหายสาบสูญไปโดยหาสาเหตุมิได้ในบริเวณดังกล่าว วัฒนธรรมสมัยนิยมได้ให้เหตุผลของการหายสาบสูญว่าเป็นเรื่องของปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติหรือฐานทัพของสิ่งมีชีวิตนอกโลก[1] หลักฐานซึ่งบันทึกไว้ได้ระบุว่า เหตุการณ์การหายสาบสูญของอากาศยานและเรือผิวน้ำส่วนใหญ่ได้รับรายงานอย่างไม่ถูกต้องหรือถูกเสริมแต่งโดยนักประพันธ์ในช่วงหลัง และหน่วยงานของรัฐหลายแห่งได้กล่าวว่า จำนวนและธรรมชาติของการหายสาบสูญไปในพื้นที่ดังกล่าวก็มีลักษณะเช่นเดียวกับการหายสาบสูญไปในมหาสมุทรส่วนอื่น ๆ ของโลก

พื้นที่สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา

พื้นที่ แก้

สามเหลี่ยมเบอร์มิวดามีเนื้อที่ประมาณ 1.14 ล้านตารางกิโลเมตร (4.4 แสนตารางไมล์) อยู่ระหว่างจุด 3 จุด ได้แก่ เปอร์โตริโก ปลายสุดของรัฐฟลอริดาในสหรัฐอเมริกา และเกาะเบอร์มิวดา ซึ่งเป็นเกาะตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแอตแลนติกและดินแดนในปกครองของสหราชอาณาจักร มีพื้นที่ครอบคลุมช่องแคบฟลอริดา หมู่เกาะบาฮามาส และหมู่เกาะแคริบเบียนทั้งหมด แต่แนวคิดที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายกว่า (เนื่องจากปรากฏในงานเขียนจำนวนมาก) ระบุว่า จุดปลายสุดของสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ได้แก่ ชายฝั่งแอตแลนติกของไมแอมี, ซานฮวน (บนเกาะเปอร์โตริโก) และเกาะเบอร์มิวดา ด้วยเหตุว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นตามแนวชายฝั่งด้านใต้โดยรอบหมู่เกาะบาฮามาสและช่องแคบฟลอริดา

พื้นที่ดังกล่าวเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ที่หนาแน่นที่สุดในโลก โดยมีเรือผ่านพื้นที่นี้เป็นประจำทุกวันมุ่งหน้าไปยังเมืองท่าในทวีปอเมริกา ทวีปยุโรป และหมู่เกาะแคริบเบียน เรือสำราญที่ผ่านพื้นที่นี้ก็มีมากเช่นกัน เรือเที่ยวเองก็มักจะมุ่งหน้าไปและกลับระหว่างฟลอริดากับแคริบเบียนอยู่เป็นปกติ นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีการสัญจรทางอากาศอย่างหนาแน่น ทั้งอากาศยานพาณิชย์และส่วนตัว ซึ่งมุ่งหน้าไปยังฟลอริดา แคริบเบียน และทวีปอเมริกาใต้

ที่มา แก้

การกล่าวอ้างถึงการหายสาบสูญอย่างผิดปกติในพื้นที่เบอร์มิวดาปรากฏในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1950 ในบทความของแอสโซซิเอด เพลส โดยเอ็ดเวิร์ด ฟาน วินเคิล โจนส์[2] อีกสองปีต่อมา นิตยสารเฟท ได้ตีพิมพ์ "ความลึกลับที่ประตูหลังของเรา"[3] บทความสั้นโดย จอร์จ แอกซ์. แซนด์ ซึ่งครอบคลุมเครื่องบินและเรือจำนวนมากที่หายสาบสูญไป รวมไปถึงการหายสาบสูญของฝูงบิน 19 ฝูงบินกองทัพเรือสหรัฐซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดทีบีเอ็ม อแวงเกอร์ห้าลำ ซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกบิน บทความของแซนด์ได้เป็นงานเขียนแรก ๆ ซึ่งทำให้เกิดเป็นแนวคิดอันเป็นที่รู้จักกันดีของพื้นที่สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา อันเป็นสถานที่ที่เกิดการหายสาบสูญอย่างหาสาเหตุไม่ได้ การหายสาบสูญของฝูงบิน 19 ได้ปรากฏในนิตยสารอเมริกันลีเจียน ฉบับประจำเดือนเมษายน ค.ศ. 1962[4] โดยกล่าวอ้างว่าผู้บังคับฝูงบินได้กล่าวว่า "เรากำลังเข้าสู่เขตน้ำขาว ไม่มีอะไรดูปกติเลย เราไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน น้ำทะเลเป็นสีเขียว ไม่ใช่สีขาว" นอกจากนี้ ยังได้มีการกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่คณะกรรมการสืบสวนของกองทัพเรือยังได้ระบุว่าเครื่องบินทั้งหมดได้ "บินสู่ดาวอังคาร" บทความของแซนด์เป็นงานเขียนชิ้นแรกซึ่งเสนอว่ามีปัจจัยเหนือธรรมชาติที่มีผลต่อเหตุการณ์หายสาบสูญของฝูงบิน 19 ในนิตยสารอาร์กอสซี ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1964 บทความของวินเซนต์ เอช. แกดดิส "สามเหลี่ยมเบอร์มิวดาร้ายกาจ" ซึ่งโต้แย้งว่าฝูงบิน 19 และการหายสาบสูญไปอื่น ๆ เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบของเหตุการณ์ประหลาด ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่[5] ในปีต่อมา แกดดิสได้ขยายบทความของเขาไปเป็นหนังสือ ชื่อว่า อินวิสซิเบิลฮอไรซอนส์ (Invisible Horizons) [6]

ถัดมาในปี ค.ศ. 1969 นายวอลเลซ สเปนเซอร์ ได้เขียนหนังสือว่าด้วยสามเหลี่ยมปริศนานี้โดยเฉพาะออกจำหน่ายในชื่อว่า ลิมโบออฟเดอะลอสต์ (Limbo of the Lost) ถัดจากนั้น ก็มีหนังสือออกจำหน่ายตามมาอีกมากมายเกี่ยวกับความลึกลับของสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ซึ่งก็มียอดจำหน่ายดีแทบทุกเล่ม ที่มีชื่อเสียงเป็นพิเศษคือบทความที่มีชื่อว่า เดอะเดวิลส์ไทรแองเกิล (The Devil's Triangle) ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1974 ซึ่งเป็นเนื้อหาสำหรับคนที่ชื่นชอบความลึกลับเกี่ยวกับสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาเป็นอันมาก หนังสือแทบทุกเล่มมุ่งประเด็นไปยังมุมมองที่ว่า เบื้องหลังของการสูญหายนี้เกิดจากเทคโนโลยีของสิ่งทรงภูมิปัญญามากกว่าประเด็นอื่น เช่นมนุษย์ต่างดาวหรือมนุษย์ที่อาศัยอยู่ใต้มหาสมุทรบริเวณนั้น ต่างก็หาหลักฐานและทฤษฎีมาถกเถียงกัน และบริเวณสามเหลี่ยมเบอร์มิวดามีอาณาบริเวณที่กว้างมาก ตั้งแต่ ฟลอริด้า-เปอร์โตริโก-เกาะเบอร์มิวดา กินพื้นที่ประมาณ 4.4 แสนตารางไมล์ เพราะฉะนั้นการค้นหาเพื่อพิสูจน์ในสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็มีองค์กรของรัฐและเอกชนต่างให้ความสนใจในการสำรวจ โดยหวังว่าจะเจอหลักฐานอะไรก็ตามที่นำมาใช้ไขปริศนาของดินแดนบริเวณนี้ได้

คำอธิบาย แก้

แก๊สมีเทน แก้

ในปี พ.ศ. 2553 โจเซฟ โมนาแกน ได้เสนอว่า สาเหตุที่เรือจมและเครื่องบินตก เกิดจากแก๊สมีเทนที่ก่อตัวขึ้น โดยแก๊สดังกล่าวอยู่ใต้ท้องทะเลในบริเวณสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา โดยเมื่อแก๊สเหล่านี้ขึ้นสู่พื้นผิว มันจะทะยานสู่อากาศ และขยายตัวเป็นวงกว้างและก่อตัวเป็นฟองแก๊สขนาดใหญ่ เมื่อเรือลำใดผ่านเข้าไปในบริเวณนั้น ก็จะเข้าไปสู่ฟองแก๊สมีเทนขนาดยักษ์ จนทำให้เรือเหล่านี้สูญเสียการควบคุม และจมลงในที่สุด[7]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Cochran-Smith, Marilyn (2003). "Bermuda Triangle: dichotomy, mythology, and amnesia". Journal of Teacher Education. 54: 275. doi:10.1177/0022487103256793.
  2. E.V.W. Jones (September 16, 1950). "unknown title, newspaper articles". Associated Press.
  3. George X. Sand (1952). "Sea Mystery At Our Back Door". Fate. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  4. Allen W. Eckert (1962). "The Lost Patrol". American Legion. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  5. Gaddis, Vincent (1964), "The Deadly Bermuda Triangle", Argosy
  6. Vincent Gaddis (1965). Invisible Horizons.
  7. ตะลึง นักวิทยาศาสตร์ไขปริศนา"สามเหลี่ยมผีสิง"เบอร์มิวด้า"ได้แล้ว จาก มติชน

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

25°N 71°W / 25°N 71°W / 25; -71