สาธร ยูนีค ทาวเวอร์

สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ (อังกฤษ: Sathorn Unique Tower) เป็นตึกระฟ้าร้างสูง 185 เมตร 49 ชั้น ตั้งอยู่ที่เขตสาธร กรุงเทพมหานคร ได้รับการออกแบบโดย บริษัท รังสรรค์แอนด์อะโซชีเอท จำกัด ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักงานออกแบบเป็นเจ้าของโครงการด้วย ด้วยทำเลที่ตั้งที่ถือได้ว่าเป็นทำเลทอง เพราะติดแม่น้ำเจ้าพระยาและถนนสาทร สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ได้มีการวางแผนจะสร้างให้เป็นคอมเพล็กซ์คอนโดมิเนียมระดับหรู โดยให้ทุกห้องของอาคารสามารถมองเห็นวิวแม่น้ำได้ทั้งหมด แต่การก่อสร้างก็ต้องหยุดชะงักลงในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แม้จะเสร็จสิ้นไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้วก็ตาม เหลือแต่เพียงการตกแต่งภายในทั้งหมดและภายนอกอีกเล็กน้อย ด้วยเหตุนี้เอง สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ จึงกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ในอีกประการหนึ่ง

สาธร ยูนีค ทาวเวอร์
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้งถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาธร กรุงเทพมหานคร
สถานะปิดถาวร
ก่อสร้างพ.ศ. 2533
การใช้งานคอนโดมีเนียม
ความสูง
ชั้นสูงสุด185 เมตร[1]
รายละเอียด
จำนวนชั้น49 (รวมชั้นใต้ดินสองชั้น)
มูลค่าราคาประเมินปัจจุบันราว 3,000 ล้านบาท[2]
บริษัท
สถาปนิกผศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ
ผู้พัฒนาบริษัท สาธร ยูนีค จำกัด
สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ในปี พ.ศ. 2564

รูปแบบอาคารสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ มีความคล้ายคลึงกับสเตท ทาวเวอร์ ซึ่งก่อสร้างในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อีกทั้งที่ตั้งก็ตั้งไม่ห่างไกลกันมาก อาคารใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมโพสต์โมเดิร์นแบบคลาสสิก ทั้งช่องหน้าต่างโค้ง ซุ้มประตูโค้ง และชั้นบนสุดเป็นทรงโดม ที่เป็นอาคารเพนท์เฮาส์ที่มีราคาสูงที่สุดในโครงการ

ปัจจุบันอาคาร สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ถือเป็นอาคารร้างที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในกรุงเทพมหานครและแห่งหนึ่งของโลก เป็นตึกร้างที่สูงที่สุดในประเทศไทย และจากการจัดอันดับอาคารร้างระฟ้าสูงที่สุดในโลก เมื่อปี พ.ศ. 2560 ปรากฏว่า สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ติดอยู่อันดับที่ 4 ของโลกอีกด้วย[3][4] ด้วยความเป็นที่เป็นอาคารสูงบนทำเลทองโดยรอบ จึงกลายเป็นหนึ่งในสถานที่อันซีนยอดฮิตของนักท่องเที่ยวในอดีต ที่มีคนแอบขึ้นไปถ่ายรูปด้านบนซึ่งสามารถดูบรรยากาศโดยรอบกรุงเทพมหานครได้รอบ 360 องศา แต่ในปัจจุบันทางเจ้าของโครงการได้ทำการปิดประตูอย่างเบ็ดเสร็จห้ามคนนอกขึ้นไปได้อีก

ประวัติ แก้

ได้มีการวางแผนให้สาธร ยูนีค เป็นคอนโดมิเนียมระดับหรูสูง 47 ชั้น รวม 600 ยูนิต ได้รับการออกแบบและพัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกชื่อดังและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้ออกแบบอาคารสเตท ทาวเวอร์ ที่ถือเป็นอาคารน้องของสาธร ยูนีค โครงการก่อสร้างนั้นเริ่มต้นขึ้นในปีพ.ศ. 2533 มีเจ้าของโครงการคือบริษัท สาธร ยูนีค จำกัด และได้รับการสนับสนุนเงินทุนส่วนมากจากบริษัทหลักทรัพย์ไทยแมกซ์ การก่อสร้างได้เริ่มต้นขึ้นปีเดียวกัน โดยมีบริษัทสี่พระยา จำกัด เป็นผู้รับเหมาการก่อสร้าง[5]

 
บริเวณด้านในตัวอาคารซึ่งถูกทิ้งไว้ให้ทรุดโทรม

ในปีพ.ศ. 2536 ผศ.รังสรรค์ ได้ถูกจับกุมในข้อหาร่วมกันวางแผนลอบฆาตกรรมนายประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกาในขณะนั้น แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากมือปืนถูกจับกุมได้ก่อน โดยในปีพ.ศ. 2551 ผศ.รังสรรค์ ได้ถูกพิพากษาว่ามีความผิด แต่สุดท้ายศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ได้ทำการยกฟ้องในปีพ.ศ. 2553 คดีความดังกล่าวนี้ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการรักษาเงินสนับสนุนโครงการของผศ.รังสรรค์เป็นอย่างมาก และการก่อสร้างอาคารสาธร ยูนีค ก็เผชิญกับปัญหาความล่าช้าหลายครั้งเนื่องจากขาดแคลนเงินทุน[6][7]

จนกระทั่งเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดการล้มละลาย เช่นเดียวกันกับบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการซึ่งก็ประสบปัญหาหนี้สิน โครงการก่อสร้างอาคารต่างๆในกรุงเทพมหานครต่างพากันหยุดชะงัก โดยมีอาคารหรูกว่า 300 แห่งที่ถูกทิ้งร้าง แต่อาคารส่วนมากได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ในภายหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัว (อาคารสเตท ทาวเวอร์ก็ถือเป็นหนึ่งในอาคารดังกล่าว) แต่อย่างไรก็ตาม อาคารสาธร ยูนีคกลับถูกทิ้งร้างไว้ในสภาพเดิมนับแต่นั้นจนเป็นที่รู้จักกันในหมู่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในชื่อของ "Ghost Tower" แม้ว่าจะมีความพยายามในเรื่องการตกลงในเรื่องการซื้อขายและการรีไฟแนนซ์อยู่หลายครั้งโดยนายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ บุตรชายของผศ.รังสรรค์ที่เข้ามารับช่วงต่อจากบิดา[5][7][8] แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากนายพรรษิษฐ์ต้องการที่จะขายอาคารในราคาที่จะสามารถชดเชยเงินต้นให้ผู้ร่วมลงทุนในโครงการ[9]

ตัวอาคาร แก้

 
ภาพมุมสูงจากด้านบนตึก

อาคารสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ตั้งอยู่ในเขตสาธร ตัวอาคารใกล้กันกับถนนเจริญกรุง ซึ่งอยู่ระหว่างซอย 51 กับ 53 เยื้องกับวัดยานนาวา โดยเป็นบริเวณที่ใกล้กับจุดสิ้นสุดถนนสาธร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สะพานตากสิน ตัวอาคารได้รับการออกแบบให้มีทั้งหมด 49 ชั้น (รวมชั้นใต้ดินสองชั้น) มีพื้นที่รวม 2 ไร่ เชื่อมติดกับอาคารที่จอดรถสูงสิบชั้น ในการออกแบบนั้น ผศ.รังสรรค์เป็นที่รู้จักจากรูปแบบการออกแบบอาคารที่มักจะใช้ โดยอาคารแห่งนี้ได้เลือกใช้องค์ประกอบของความเป็นศิลปะกรีก-โรมันสมัยใหม่เหมือนกับตึกสเตท ทาวเวอร์ โดยเฉพาะในส่วนของเสาและระเบียง ก่อนที่การก่อสร้างทั้งหมดจะหยุดชะงักลง การก่อสร้างได้เสร็จสิ้นไปกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ตัวโครงสร้างหลักของอาคารที่เสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยและได้รับการยืนยันในเรื่องความปลอดภัยแข็งแรงของโครงสร้างแล้ว อย่างไรก็ตาม งานออกแบบภายในและการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานนั้นเพิ่งจะเริ่มต้นไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และงานส่วนกำแพงและรายละเอียดต่างๆเองก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นบนของอาคาร[10]

 
กราฟฟิตี้ด้านบนตึก

อาคารแห่งนี้ได้กลายมาเป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความท้าทาย และยังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย แม้จะมีการปิดไม่ให้บุคคลใดเข้าถึงตัวอาคาร แต่ก็มีรายงานว่าผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปในตัวอาคารได้ด้วยการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใต้อาคาร และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 อาคารแห่งนี้กลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้งหลังจากที่มีการพบศพชายชาวสวีเดนในสภาพแขวนคอ เสียชีวิตบนชั้นที่ 43 โดยสาเหตุการเสียชีวิตนั้นได้มีการยืนยันว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ซึ่งทางสำนักข่าวหลายแห่งก็ได้มีการตั้งข้อสงสัยถึงความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของอาคารแห่งนี้

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 นายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ ซึ่งได้เข้ามาเป็นหนึ่งสมาชิกบอร์ดบริหารของบริษัทสาธร ยูนีค จำกัด ได้เปิดเผยว่าได้ทำการแจ้งความข้อหาบุกรุกอาคารสถานที่แก่บุคคลทั้งหมด 5 คน ที่ได้โพสต์รูปและคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการเข้ามาในอาคารลงบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งในจำนวนนี้ยังรวมไปถึงชาวต่างชาติสองคนที่ได้ทำวิดีโอที่พวกเขาแสดงการวิ่งฟรีรันนิ่งบนตึกแห่งนี้[11][12] นายพรรษิษฐ์ได้กล่าว่าเขาต้องการให้การแจ้งความครั้งนี้เป็นตัวอย่างและหยุดยั้งคนที่จะเข้ามาปีนป่ายบนตึกที่มีความอันตราย เขาได้ระบุเพิ่มว่าจำนวนผู้เข้ามาในตัวอาคารอย่างผิดกฎหมายนั้นเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีการเผยแพร่เรื่องอาคารแห่งนี้ในโลกออนไลน์กันมากขึ้น โดยในบางสัปดาห์นั้นมีผู้เข้าไปยังตัวอาคารมากกว่าหนึ่งร้อยคน ซึ่งตนก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้ยามรับสินบนจากผู้เข้าชมตึกได้เนื่องจากไม่สามารถเฝ้าตึกด้วยตัวเองตลอดทั้งวัน[13]

อย่างไรก็ตาม ในปีพ.ศ. 2560 นายพรรษิษฐ์ได้อนุญาตให้มิวเซียมสยามจัดการสัมนาที่ตัวอาคาร ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการระลึก 20 ปีของวิกฤติเศรษฐกิจ[14] นอกจากนี้ยังอนุมัติให้ จีดีเอช (GDH) ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นฉากสำคัญในภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง เพื่อน..ที่ระลึก อีกด้วย[15]

นักท่องเที่ยวต่างชาติมักจะรู้จักและเรียกชื่ออาคารแห่งนี้กันว่า "Ghost Tower" และเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความท้าทายและต้องการถ่ายภาพมุมสูง[16]

อ้างอิง แก้

  1. "Sathorn Unique Tower". Emporis. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
  2. ข่าวดังข้ามเวลา : Ghost Tower ระทึกตึกร้างในตำนาน [คลิปเต็มรายการ], สำนักข่าวไทย TNAMCOT .วันที่ 7 ม.ค. 2019
  3. The 8 Tallest Abandoned Skyscrapers in the World เก็บถาวร 2020-06-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Mark Hand, วันที่ 29 มีนาคม 2560
  4. The 8 Tallest Abandoned Skyscrapers in the World, Interesting Shit, วันที่ 5 เมษายน 2560
  5. 5.0 5.1 "ระบุสาธรยูนิคใกล้ได้ข้อสรุป เผยเจรจาหนี้เสร็จ-นักลงทุนสนซื้อเพียบ". Manager Online. 25 February 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-05. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
  6. Waites, Dan (2014). CultureShock! Bangkok. Marshall Cavendish International Asia Pte Ltd. ISBN 9789814516938.
  7. 7.0 7.1 "รังสรรค์ 70 ปี ไม่มีวันสาย พ่อผม ยังฝันจะทำโครงการที่สูงที่สุดในประเทศ". Prachachat Turakij Online. No. 22 September 2010. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
  8. Barta, Patrick (27 July 2007). "High-Rise Relics: Ghost Structures Haunt Bangkok". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
  9. "เปิดใจเจ้าของตึกร้างระฟ้า 'สาธรยูนีค' อนุสรณ์ 20 ปี วิกฤติต้มยำกุ้ง". Thairath Online. 1 March 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-17. สืบค้นเมื่อ 2 August 2017.
  10. "ตึกร้างพันล้าน สาธร ยูนีค EP.1 สร้างต่อ-รื้อทิ้ง!? ไขปมโอกาสพังถล่ม". Thairath Online. 10 December 2014. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
  11. Campbell-Dollaghan, Kelsey (13 February 2014). "Inside Bangkok's Abandoned, Half-Finished Ghost Tower". Gizmodo. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
  12. Kang, Dake (1 March 2017). "Ghost Tower haunts Bangkok 20 years after financial crisis". AP. สืบค้นเมื่อ 2 August 2017.
  13. "Man's death puts spotlight on access to 'ghost tower'". The Nation. 8 December 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-28. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
  14. "พลิกวิกฤตเป็นโอกาส! เสวนา "สูตรไม่สำเร็จ เศรษฐกิจ 2540"". Museum Siam. National Discovery Museum Institute. 16 February 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-03. สืบค้นเมื่อ 2 August 2017.
  15. ที่ระลึก ปี 40 (YouTube video). GDH 559. 1 August 2017. สืบค้นเมื่อ 2 August 2017.
  16. "ตึกร้างพันล้าน สาธร ยูนีค EP.3 ไขรหัสปรับฮวงจุ้ย เสริมบารมี ฟื้นที่ดินทำเลทอง". Thairath Online. 12 December 2014. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.