สากลที่สี่ (อังกฤษ: Fourth International, FI) เป็นองค์การระหว่างประเทศสังคมนิยมปฏิวัติอันประกอบด้วยสาวกของเลออน ทรอตสกี (หรือเรียก Trotskyist) ซึ่งมีเป้าหมายที่เปิดเผยได้แก่การล้มล้างทุนนิยมโลกและการสถาปนาสังคมนิยมโลกผ่านการปฏิวัติโลก สากลที่สี่ก่อตั้งขึ้นในประเทศฝรั่งเศสในปี 1938 เมื่อหลังถูกขับออกจากสหภาพโซเวียต ทรอตสกีและสาวกมองว่าสากลที่สามหรือโคมินเทิร์น (Comintern) เป็นหุ่นเชิดของลัทธิสตาลิน จึงไม่อาจนำชนชั้นกรรมกรทั่วโลกให้มีอำนาจทางการเมืองได้ นักลัทธิทรอตสกีจึงตั้งองค์การของพวกตนขึ้นเพื่อแข่งขัน[1]

สากลที่สี่
Fourth International
ก่อตั้ง1938
ก่อนหน้าสากลที่สาม (ไม่ใช่ทางกฎหมาย)
หนังสือพิมพ์สากลที่สี่
อุดมการณ์ลัทธิทรอตสกี
จุดยืนซ้ายจัด
สี  สีแดง

ในปัจจุบัน ไม่มีสากลที่สี่ที่เป็นองค์การหนึ่งเดียวที่เชื่อมแน่นรวมเข้าด้วยกัน ตลอดการมีอยู่และประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ขององค์การ สากลที่สี่ถูกตามล่าโดยเจ้าหน้าที่ของพลาธิการกิจการภายในประชาชน (NKVD) ถูกปราบปรามทางการเมืองในประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐ และถูกผู้สนับสนุนสหภาพโซเวียตปฏิเสธโดยมองว่าเป็น "ผู้เรียกร้องที่ไม่มีความชอบธรรม" สากลที่สี่ดิ้นรนเพื่อคงรักษาการติดต่อภายใต้ภาวะการถูกสลายและปราบปรามระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากข้อเท็จจริงว่าการก่อการกำเริบของชนกรรมาชีพหลังจากนั้นมักอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักลัทธิสตาลินและกลุ่มชาตินิยมสายก่อสงครามที่เข้ากับสหภาพโซเวียต นำไปสู่ความปราชัยสำหรับสากลที่สี่และนักลัทธิทรอตสกี ซึ่งหลังจากนั้นไม่มีอิทธิพลที่มีความหมายมากนักอีกต่อไป[2]

กระนั้นในหลายส่วนของโลกรวมทั้งลาตินอเมริกา ยุโรป และเอเชียยังมีการรวมกลุ่มนักลัทธิทรอตสกีขนาดใหญ่ซึ่งดีงดูดผู้มีจุดยืนต่อต้านลัทธิสตาลินและการคุ้มครองลัทธิสากลนิยมของชนกรรมาชีพ ในกลุ่มเหล่านี้จำนวนหลายกลุ่มยังคงใช้ชื่อว่า "สากลที่สี่" โดยรวมอยู่ในชื่อองค์กร หรือเอกสารจุดยืนทางการเมืองที่สำคัญ หรือทั้งสองอย่าง สากลที่สี่มักมองโคมินเทิร์นว่าเป็นรัฐกรรมกรเสื่อมสภาพตามแนวของทฤษฎีและความคิดลัทธิทรอตสกี อย่างไรก็ดี ถึงแม้องค์การฯ มักมองว่าความคิดของตนก้าวหน้ากว่าและสูงส่งกว่าของสากลที่สาม แต่ก็มิได้ผลักดันให้เกิดการทำลายโคมินเทิร์น การกลับมาในปัจจุบันของสากลที่สี่ไม่ได้ดำเนินการเป็นหน่วยเชื่อมแน่นอย่างองค์การก่อนหน้านี้

สากลที่สี่มีการแตกแยกรุนแรงในปี 1940 และมีสามัคคีเภทที่สำคัญยิ่งขึ้นในปี 1953 มีการกลับมารวมกันบางส่วนของกลุ่มแยกต่าง ๆ ในปี 1963 แต่องค์การไม่เคยฟื้นตัวอย่างเพียงพอ และไม่อาจถือกำเนิดขึ้นใหม่เป็นการรวมกลุ่มระหว่างประเทศหนึ่งเดียว การตอบสนองของนักลัทธิทรอตสกีปรากฏในรูปของการก่อตั้งองค์การสากลหลายองค์การทั่วโลก โดยบางองค์การเห็นไม่ตรงกันว่าองค์การใดองค์การหนึ่งเป็นตัวแทนของมรดกและความต่อเนื่องทางการเมืองของสากลที่สี่ดั้งเดิมที่แท้จริง

ลัทธิทรอตสกี แก้

นักลัทธิทรอตสกีมองว่าพวกตนกำลังดำเนินการเพื่อต่อสู้ทั้งลัทธิทุนนิยมและลัทธิสตาลิน ทรอตสกีสนับสนุนการปฏิวัติของชนกรรมาชีพดังที่ได้กล่าวในทฤษฎี "การปฏิวัติถาวร" ของเขา และเชื่อว่ารัฐกรรมกรจะไม่สามารถยื้อแรงกดดันจากโลกทุนนิยมที่เป็นปรปักษ์ได้ เว้นแต่การปฏิวัติสังคมนิยมจะกำเนิดขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศเหล่านั้นด้วย ทฤษฎีนี้ได้รับการเสนอเพื่อต่อต้านมุมมองที่นักลัทธิสตาลินถือกันว่า "สังคมนิยมในประเทศเดียว" สามารถตั้งขึ้นในสหภาพโซเวียตประเทศเดียว[3] ยิ่งไปกว่านั้น ทรอตสกีและสาวกยังวิจารณ์อย่างรุนแรงต่อสภาพรวบอำนาจเบ็ดเสร็จที่เพิ่มขึ้นทุกที ๆ ของระบอบโจเซฟ สตาลิน พวกเขาให้เหตุผลว่าสังคมนิยมที่ปราศจากประชาธิปไตยเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อเผชิญกับการขาดประชาธิปไตยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในสหภาพโซเวียต จึงสรุปได้ว่ามันไม่ใช่รัฐกรรมกรสังคมนิยมอีกต่อไป แต่เป็นรัฐกรรมกรเสื่อมสภาพ[1]

ทรอตสกีและสาวกจัดระเบียบตั้งแต่ปี 1923 เป็นฝ่ายค้านซ้าย พวกเขาต่อต้านการสร้างระบบข้าราชการประจำของสหภาพโซเวียต ซึ่งพวกเขาวิเคราะห์ว่าบางส่วนเกิดจากความยากจนและการแยกอยู่โดดเดี่ยวของเศรษฐกิจโซเวียต[4] ทฤษฎีสังคมนิยมในประเทศเดียวของสตาลินได้รับการพัฒนาขึ้นในปี 1924 เพื่อตอบโต้ทฤษฎีการปฏิวัติถาวรของทรอตสกี ซึ่งให้เหตุผลว่าทุนนิยมเป็นระบบโลกและต้องอาศัยการปฏิวัติโลกเพื่อแทนที่มันด้วยสังคมนิยม ก่อนหน้าปี 1924 ทัศนะระหว่างประเทศของพรรคบอลเชวิคได้รับการชี้นำจากจุดยืนของทรอตสกี ทรอตสกีให้เหตุผลว่าทฤษฎีของสตาลินเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มข้าราชการประจำซึ่งตรงกันข้ามกับชนชั้นกรรมกร

สุดท้ายทรอตสกีถูกเนรเทศในประเทศและผู้สนับสนุนเขาถูกจำคุก อย่างไรก็ดี ฝ่ายค้านซ้ายยังดำเนินการในทางลับในสหภาพโซเวียต[5] ทรอตสกีถูกเนรเทศไปยังประเทศตุรกีในปี 1928 จากนั้นเขาย้ายไปประเทศฝรั่งเศส นอร์เวย์ และเม็กซิโกตามลำดับ[6] เขาถูกลอบสังหารในประเทศเม็กซิโกในเดือนสิงหาคม 1940 ตามคำสั่งของสตาลิน[7]

องค์การสากลทางการเมือง แก้

องค์การสากลทางการเมืองเป็นองค์การของพรรคการเมืองหรือนักกิจกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อประสานกิจกรรมกันเพื่อเป้าหมายร่วมกัน มีประเพณีที่นักสังคมนิยมจัดระเบียบในระดับระหว่างประเทศมาช้านานแล้ว และคาร์ล มากซ์ เป็นผู้เริ่มสมาคมกรรมกรระหว่างประเทศ (International Workingmen's Association) ซึ่งต่อมาเรียก "สากลที่หนึ่ง"

หลังการยุบสมาคมฯ ในปี 1876 มีกความพยายามรื้อฟื้นองค์การอีกหลายครั้ง จนลงเอยด้วยการก่อตั้งสังคมนิยมสากล (สากลที่สอง) ในปี 1889 แต่ก็มายุบไปอีกในปี 1916 เนื่องจากความไม่ลงรอยกันในเรื่องสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้ว่าจะมีการปฏิรูปองค์การในปี 1923 เป็นกรรมกรสากลและสังคมนิยมสากล แต่ผู้สนับสนุนการปฏิวัติเดือนตุลาคมและพรรคบอลเชวิคได้ก่อตั้งคอมมิวนิสต์สากล (โคมินเทิร์น) ที่ถือกันว่าเป็นสากลที่สามแล้ว[8] องค์การดังกล่าวมีการจัดระเบียบแบบระบบศูนย์รวมอำนาจปกครองประชาธิปไตย (democratic centralism) โดยพรรคการเมืองที่เป็นสมาชิกถูกกำหนดให้ต่อสู้เพื่อนโยบายที่องค์การทั้งหมดรับรอง

โดยการประกาศตนเป็นสากลที่สี่ "พรรคการปฏิวัติสังคมนิยมโลก" นักลัทธิทรอตสกีประกาศตนต่อสาธารณะว่าตนสานต่อโคมินเทิร์นและองค์การก่อนหน้านี้ การตระหนักถึงความสำคัญขององค์การสากลก่อนหน้านี้เหล่านี้เกิดขึ้นร่วมกับความเชื่อว่าองค์การเหล่านั้นได้เสื่อมสภาพลง แม้ว่าสังคมนิยมสากลและโคมินเทิร์นยังคงมีอยู่ในเวลานั้น นักลัทธิทรอตสกียังไม่เชื่อว่าองค์การทั้งสองสามารถสนับสนุนสังคมนิยมปฏิวัติและสากลนิยมได้[4]

ฉะนั้นรากฐานของสากลที่สี่บางส่วนจึงถูกกระตุ้นขึ้นบางส่วนจากความปรารถนาตั้งกระแสการเมืองที่เข้มแข็งมากขึ้น มากกว่าถูกมองว่าเป็นการต่อต้านของนักลัทธิคอมมิวนิสต์ต่อโคมินเทิร์นและสหภาพโซเวียต ทรอตสกีเชื่อว่าการก่อตั้งองค์การมีความเร่งด่วนมากกว่าสำหรับบทบาทที่องค์การมีในสงครามโลกที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนั้น[1]

การตัดสินใจก่อตั้ง แก้

ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1930 ทรอตสกีและสาวกเชื่อว่าอิทธิพลของสตาลินเหนือสากลที่สามยังสามารถต่อสู้จากภายในประเทศและถูกย้อนกลับได้อย่างช้า ๆ พวกเขาจัดระเบียบเป็นฝ่ายค้านซ้ายสากลในปี 1930 ซึ่งตั้งใจให้เป็นกลุ่มผู้มีความเห็นต่อต้านลัทธิสตาลินในสากลที่สาม ผู้สนับสนุนสตาลินซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของสากลที่สามไม่ยอมรับการต่อต้าน นักลัทธิทรอตสกีและผู้ต้องสงสัยถูกเนรเทศทั้งหมด[9] ทรอตสกีอ้างว่านโยบายช่วงที่สามของโคมินเทิร์นมีส่วนช่วยให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เถลิงอำนาจในประเทศเยอรมนี และการเปลี่ยนไปสู่นโยบายแนวรบประชาชน (ซึ่งมุ่งสร้างเอกภาพกำลังต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ภายนอกทั้งหมด) ได้หว่านภาพลวงในปฏิรูปนิยมและสันตินิยมและ "กวาดถนนสำหรับการพลิกผันสู่ลัทธิฟาสซิสต์"

เมื่อถึงปี 1935 เขาอ้างว่าโคมินเทิร์นได้ตกสู่เงื้อมมือของระบบข้าราชการลัทธิสตาลินไปอย่างกู้คืนไม่ได้แล้ว[10] หลังเขาและผู้สนับสนุนถูกขับออกจากสากลที่สาม ได้เข้าร่วมการประชุมของกรมพรรคสังคมนิยมกรุงลอนดอนที่อยู่นอกสังคมนิยมสากลและโคมินเทิร์น มีพรรคการเมืองสามพรรคในจำนวนนี้เข้ากับฝ่ายค้านซ้ายในการลงนามเอกสารที่ทรอตสกีเขียนขึ้นเรียกร้องให้มีสากลที่สี่ ซึ่งจะได้ชื่อว่า "ปฏิญญาสี่" (Declaration of Four)[11] ต่อมา พรรคการเมืองสองพรรคได้พยายามถอยออกจากความตกลงนี้ แต่พรรคสังคมนิยมปฏิวัติดัตช์ได้ร่วมกับฝ่ายค้านซ้ายสากลประกาศสันนิบาตคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศ[12] จุดยืนนี้ถูกค้านโดยอันเดร็ว นิน (Andreu Nin) และสมาชิกสันนิบาตบางคนที่ไม่สนับสนุนข้อเรียกร้องให้มีองค์การสากลใหม่ กลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการจัดกลุ่มใหม่กับฝ่ายค้านคอมมิวนิสต์อื่น หลัก ๆ คือฝ่ายค้านคอมมิวนิสต์สากล (International Communist Opposition, ICO) ที่เชื่อมโยงกับฝ่ายค้านขวาในพรรคโซเวียต ซึ่งเป็นการจัดกลุ่มที่สุดท้ายนำไปสู่การก่อตั้งสำนักระหว่างประเทศเพื่อเอกภาพสังคมนิยมปฏิวัติ (International Bureau for Revolutionary Socialist Unity) ทรอตสกีถือว่าองค์การเหล่านั้นเป็นองค์การสายกลาง สุดท้ายส่วนสเปนได้รวมเข้ากับส่วนสเปนของ ICO ก่อตั้งเป็นพรรคกรรมกรการสร้างเอกภาพลัทธิมากซ์ (Workers' Party of Marxist Unification) ทรอตสกีอ้างว่าการรวมตัวดังกล่าวเป็นการยอมจำนนต่อการเมืองสายกลาง[13] พรรคกรรมกรสังคมนิยมเยอรมนีซึ่งเป็นฝ่ายซ้ายที่แยกตัวออกจากพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมเยอรมนีในปี 1931 ร่วมมือกับฝ่ายค้านซ้ายสากลช่วงหนึ่งในปี 1933 แต่ไม่นานก็ยกเลิกการเรียกร้ององค์การสากลใหม่

ในปี 1935 ทรอตสกีเขียน จดหมายเปิดผนึกถึงสากลที่สี่ ยืนยัน ปฏิญญาสี่ อีกครั้ง ขณะที่จดบันทึกทิศทางล่าสุดของโคมินเทิร์นและสังคมนิยมสากล เขาเรียกร้องในจดหมายให้มีการจัดตั้งสากลที่สี่อย่างเร่งด่วน[12] "การประชุมระหว่างประเทศสำหรับสากลที่สี่" จัดขึ้นในกรุงปารีสในเดือนมิถุนายน 1936 โดยรายงานลงว่าจัดที่เจนีวาด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย[14] การประชุมนี้ยุบเลิกสันนิบาตคอมมิวนิสต์สากล และก่อตั้งขบวนการเพื่อสากลที่สี่ตามทัศนะของทรอตสกีแทน

รากฐานของสากลที่สี่ถูกมองว่าเป็นมากกว่าการเปลี่ยนชื่อของแนวโน้มระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้ว มันให้เหตุผลว่าสากลที่สามได้เสื่อมสภาพไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ฉะนั้นจึงต้องถูกมองว่าเป็นองค์การต่อต้านการปฏิวัติซึ่งจะปกป้องทุนนิยมในยามวิกฤต ทรอตสกีเชื่อว่าสงครามโลกที่ใกล้เข้ามาในเวลานั้นจะก่อให้เกิดคลื่นปฏิวัติของชนชั้นและการต่อสู้ของชาติ มากกว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[1]

สตาลินตอบโต้กำลังที่เพิ่มขึ้นของผู้สนับสนุนทรอตสกีด้วยการสังหารหมู่ทางการเมืองครั้งใหญ่ในสหภาพโซเวียต และการลอบสังหารผู้สนับสนุนและครอบครัวของทรอตสกีในต่างประเทศ[15] เขาสั่งเจ้าหน้าที่สืบค้นเอกสารและภาพถ่ายประวัติศาสตร์เพื่อพยายามลบความทรงจำเกี่ยวกับทรอตสกีออกจากหนังสือประวัติศาสตร์[16] มารีโอ เค็สเลอร์ นักประวัติศาสตร์ ยังระบุว่า ผู้สนับสนุนของสตาลินใช้การต่อต้านยิวเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ต่อทรอตสกีด้วย (เนื่องจากทรอตสกีเป็นยิว)[17]

คำชี้แจงเหตุผลขององค์การคือการสร้างพรรคปฏิวัติหมู่ใหม่ซึ่งสามารถนำการปฏิวัติของกรรมกรที่ประสบความสำเร็จได้ องค์การได้เล็งเห็นโอกาสจากคลื่นปฏิวัติซึ่งจะพัฒนาขึ้นควบคู่และที่เป็นผลของสงครามโลกที่จะเกิดขึ้น ผู้แทนสามสิบคนเข้าร่วมการประชุมก่อตั้งซึ่งจัดขึ้นในเดือนกันยายน 1938 นอกกรุงปารีส มีการก่อตั้งสำนักเลขาธิการสากล ซึ่งมีนักลัทธิทรอตสกีและประเทศส่วนใหญ่ที่นักลัทธิทรอตสกีดำเนินการอยู่เป็นตัวแทน[18] หนึ่งในข้อมติซึ่งที่ประชุมรับรองได้แก่โครงการเปลี่ยนผ่าน (Transitional Programme)[19] ซึ่งเป็นถ้อยแถลงโครงการกลางของการประชุมใหญ่ โดยสรุปมโนทัศน์ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีสำหรับช่วงปฏิวัติซึ่งที่ประชุมมองว่ากำลังเกิดขึ้นเนื่องจากสงครามซึ่งทรอตสกีพยากรณ์มาช่วงหนึ่งแล้ว โดยบรรจุความย่อสำหรับความเข้าใจร่วมกันของขบวนการในเวลานั้นและชุดนโยบายเปลี่ยนผ่านที่ออกแบบมาเพื่อพัฒนาการต่อสู้เพื่ออำนาจของกรรมกร[20][21]

สงครามโลกครั้งที่สอง แก้

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุในปี 1939 สำนักเลขาธิการสากลย้ายไปยังนครนิวยอร์ก คณะกรรมการบริหารสากลในสหรัฐไม่สามารถจัดประชุมได้ ส่วนใหญ่เนื่องจากการต่อสู้ในพรรคกรรมกรสังคมนิยม (Socialist Workers Party, SWP) ระหว่างผู้สนับสนุนของทรอตสกีกับแนวทางของแม็กซ์ ชากต์มัน, มาร์ติน แอเบิร์น และเจมส์ เบอร์นัม สำนักเลขาธิการประกอบด้วยสมาชิกคณะกรรมการเหล่านี้ซึ่งปรากฏว่าอยู่ในนคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ร่วมคิดของชากต์มัน[22] ความไม่ลงรอยกันนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่ความไม่เห็นด้วยของชากต์มันต่อนโยบายภายในของพรรค[23] และต่อการแก้ต่างอย่างไม่มีเงื่อนไขของ FI ต่อสหภาพโซเวียต[24]

ทรอตสกีเปิดการโต้วาทีสาธารณะกับชากต์มันและเบอร์นัม และพัฒนาจุดยืนของเขาในบทโจมตีชุดที่เขียนขึ้นระหว่างปี 1939–1940 และต่อมารวบรวมในชื่อ ในการแก้ต่างลัทธิมากซ์ (In Defense of Marxism) ผู้โน้มเอียงไปในทางของชากต์มันและเบอร์นัมลาออกจากองค์การสากลในต้นปี 1940 ร่วมกับสมาชิก SWP ประมาณร้อยละ 40[25]

การประชุมฉุกเฉิน แก้

ในเดือนพฤษภาคม 1940 การประชุมฉุกเฉินขององค์การสากลจัดขึ้นในสถานที่ลับ "ที่ไหนสักที่ในซีกโลกตะวันตก" ที่ประชุมรับรองคำประกาศเจตนาที่ทรอตสกีร่างขึ้นไม่นานก่อนเขาถูกลอบสังหาร และมีนโยบายต่าง ๆ ที่อยู่ในงานขององค์การสากล รวมทั้งการเรียกร้องให้สร้างเอกภาพของกลุ่มสากลที่สี่ในบริเตนที่แตกแยกกันอยู่ในเวลานั้น[26] สมาชิกสำนักเลขาธิการที่สนับสนุนชากต์มันถูกที่ประชุมฉุกเฉินขับออก ด้วยการสนับสนุนของทรอตสกีเอง[27] ขณะที่หัวหน้า SWP เจมส์ พี. แคนนอน ต่อมากล่าวว่าเขาไม่เชื่อว่าการแตกแยกจะเป็นที่สุด แต่ทั้งสองกลุ่มก็มิได้กลับมารวมกัน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสากล ซึ่งมาอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคกรรมกรสังคมนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ[27]

สากลที่สี่ได้รับผลกระทบหนักระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทรอตสกีถูกลอบสังหาร เครือข่ายยุโรปของ FI จำนวนมากถูกนาซีทำลายและเครือข่ายเอเชียจำนวนมากถูกจักรวรรดิญี่ปุ่นทำลายเช่นกัน ผู้รอดชีวิตทั้งในยุโรป เอเชีย และที่อื่น ๆ ถูกตัดขาดออกจากกันและจากสำนักเลขาธิการองค์การสากล ฌ็อง วาน แอแยนอร์ต (Jean Van Heijenoort) เลขาธิการคนใหม่ ไม่สามารถทำอะไรได้มากนักนอกจากพิมพ์เผยแพร่บทความในวารสารทฤษฎีของ SWP ชื่อ สากลที่สี่[27] แต่ถึงแม้มีการพลัดถิ่น หลายกลุ่มยังต่อสู้เพื่อรักษาความเชื่อมโยงและสายสัมพันธ์ตลอดช่วงต้นของสงครามโดยกะลาสีที่สมัครอยู่ในกองทัพเรือสหรัฐ ซึ่งมีเหตุผลให้ไปเยือนมาร์แซย์[28] การติดต่อยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ไม่มีระยะเวลาแน่นอน ระหว่าง SWP กับนักลัทธิทรอตสกีบริติช ผลลัพธ์คือชาวอเมริกันใช้อิทธิพลที่มีอยู่กระตุ้นสันนิบาตสากลกรรมกรรวมเข้ากับองค์การสากลผ่านการรวมกับสันนิบาตสังคมนิยมปฏิวัติ ซึ่งเป็นสหภาพที่การประชุมฉุกเฉินขอมา[29]

ในปี 1942 มีการโต้วาทีในเรื่องปัญหาชาติในทวีปยุโรประหว่างสมาชิกส่วนใหญ่ของ SWP กับขบวนการที่มีวาน แอแยนอร์ต, แอลเบิร์ต โกลด์แมน และฟีลิกซ์ มอร์โรว์ เป็นผู้นำ[30] กลุ่มส่วนน้อยกลุ่มหลังนี้คาดว่าเผด็จการนาซีจะถูกแทนที่ด้วยทุนนิยมมิใช่การปฏิวัติสังคมนิยม นำไปสู่การฟื้นตัวของลัทธิสตาลินและประชาธิปไตยสังคมนิยม ในเดือนธันวาคม 1943 พวกเขาวิจารณ์ทัศนะของ SWP ว่าประเมินเกียรติภูมิที่กำลังเพิ่มขึ้นของลัทธิสตาลินและโอกาสสำหรับนักทุนนิยมที่จะมีการยอมผ่อนปรนตามแบบประชาธิปไตยต่ำเกินไป[31] คณะกรรมการกลางของ SWP ให้เหตุผลว่าทุนนิยมประชาธิปไตยไม่อาจฟื้นตัวได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเผด็จการทหารโดยนักทุนนิยมหรือการปฏิวัติของกรรมกร[32] และมองว่าจะยิ่งส่งเสริมความจำเป็นสำหรับการสร้างสากลที่สี่ และยึดมั่นอย่างเข้มงวดต่อการตีความงานของทรอตสกีตามแบบของคณะกรรมการฯ

การประชุมยุโรป แก้

การโต้วาทียามสงครามเกี่ยวกับทัศนะหลังสงครามถูกเร่งด้วยข้อมติของการประชุมยุโรปในเดือนกุมภาพันธ์ 1944 ของสากลที่สี่ ที่ประชุมแต่งตั้งเลขาธิการยุโรปคนใหม่และเลือกตั้งมีคาลิส รัปติส ชาวกรีกซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่ามีเชล ปาโบล เป็นเลขาธิการองค์การในยุโรป รัปติสและสมาชิกคนอื่นเริ่มการติดต่ออีกครั้งระหว่างพรรคการเมืองสายทรอตสกี การประชุมยุโรปขยายบทเรียนของการปฏิวัติที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศอิตาลี และสรุปว่าคลื่นปฏิวัติจะกวาดทั่วทวีปยุโรปเมื่อสงครามยุติ[33] SWP มีทัศนะคล้ายกัน[34] พรรคคอมมิวนิสต์ปฏิวัติบริติชไม่เห็นด้วย และมองว่าทุนนิยมจะไม่ตกลงสู่วิกฤตใหญ่ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกำลังเกิดขึ้นแล้ว[35] กลุ่มหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์สากลนิยมฝรั่งเศสให้เหตุผลคล้ายกันจนกระทั่งถูกขับออกจาก PCI ในปี 1948[36]

การประชุมระหว่างประเทศ แก้

ในเดือนเมษายน 1946 ผู้แทนจากภาคส่วนยุโรปที่สำคัญและกลุ่มอื่นมีจำนวนหนึ่งเข้าร่วม "การประชุมใหญ่สากลครั้งที่สอง" ซึ่งมีริเริ่มการตั้งสำนักเลขาธิการสากลของสากลที่สี่ใหม่โดยมี มีคาลิส รัปติส เป็นเลขาธิการ และแอร์เนสต์ มันเดล ชาวเบลเยียม มีบทบาทนำ

ปาโบลและมันเดลมุ่งตอบโต้ฝ่ายต่อต้านของฝ่ายข้างมากในพรรคคอมมิวนิสต์ปฏิวัติบริติชและพรรคคอมมิวนิสต์สากลนิยมฝรั่งเศส เดิมทีพวกเขากระตุ้นสมาชิกพรรคให้ออกเสียงขับหัวหน้าพรรคออก พวกเขาสนับสนุนฝ่ายต่อต้านของเจร์รี ฮีลี ใน RCP ส่วนในประเทศฝรั่งเศส พวกเขาสนับสนุนสมาชิกบางส่วน รวมทั้งปีแยร์ ฟร็องก์ และมาร์แซล ไบลพ์ทร็อย คัดค้านหัวหน้าพรรคคนใหม่ของ PCI แต่ด้วยเหตุผลต่างกัน[37]

การยึดครองยุโรปตะวันออกของสตาลินเป็นประเด็นความกังวลหลัก และได้ก่อให้เกิดปัญหาการตีความ ทีแรก องค์การสากลมองว่าแม้ว่าสหภาพโซเวียตเป็นรัฐกรรมกรเสื่อมสภาพ แต่รัฐยุโรปตะวันออกหลังสงครามโลกครั้งที่สองยังเป็นรัฐของกระฎุมพี เนื่องจากการปฏิวัติจากข้างบนเป็นไปไม่ได้ และทุนนิยมยังคงอยู่รอด[38]

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องจัดการคือความเป็นไปได้ของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งทีแรกมันเดลปฏิเสธ (แต่ถูกบีบให้ทบทวนความเห็นของตนอย่างรวดเร็ว และต่อมาอุทิศดุษฎีนิพนธ์ของเขาให้กับทุนนิยมขั้นปลาย โดยวิเคราะห์ "ยุคที่สาม" ที่ไม่ได้คาดคิดของการพัฒนาทุนนิยม) ทัศนะของมันเดลสะท้อนความไม่แน่นอนในเวลานั้นเกี่ยวกับการคงอยู่ได้และการคาดการณ์ในอนาคตของทุนนิยม ไม่เพียงแต่ในกลุ่มนักลัทธิทรอตสกีต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำด้วย[39]

การประชุมใหญ่โลกครั้งที่สอง แก้

การประชุมใหญ่โลกครั้งที่สองในเดือนเมษายน 1948 มีผู้แทนจาก 22 ภาคส่วนเข้าร่วม ในที่ประชุมได้ถกเถียงในข้อมติหลายเรื่องทั้งปัญหายิว ลัทธิสตาลิน ประเทศอาณานิคม และสถานการณ์จำเพาะที่เผชิญกับภาคส่วนต่าง ๆ ในบางประเทศ[40] เมื่อถึงจุดนี้ FI มีเอกภาพอยู่รอบทัศนะที่ว่า "รัฐกันชน" ในยุโรปตะวันออกยังเป็นประเทศทุนนิยมอยู่[41]

ที่ประชุมมีความโดดเด่นเป็นพิเศษในการนำองค์การสากลให้มาติดต่อใกล้ชิดมากขึ้นกับกลุ่มนักลัทธิทรอตสกีทั่วโลก ซึ่งรวมกลุ่มที่สำคัญอย่างพรรคกรรมกรปฏิวัติโบลิเวียและพรรคลังกาสมสมาชะซึ่งอยู่ในซีลอนเวลานั้น[42] แต่กลุ่มนักลัทธิทรอตสกีชาวเวียดนามขนาดใหญ่ก่อนหน้านี้ได้ถูกกำจัดหรือถูกกลืนเข้ากับผู้สนับสนุนโฮจิมินห์แล้ว[43]

หลังการประชุม สำนักเลขาธิการสากลพยายามเปิดการสื่อสารกับระบอบของยอซีป บรอซ ตีโต ในยูโกสลาเวีย[44] ในการวิเคราะห์ของพวกเขา ยูโกสลาเวียแตกต่างจากประเทศกลุ่มตะวันออกที่เหลือเพราะก่อตั้งโดยพลพรรคในสงครามโลกครั้งที่สองที่ต่อสู้การยึดครองของนาซี RCP ของบริเตนซึ่งมีจ็อก ฮาสตัน และเท็ด แกรนต์ สนับสนุน วิจารณ์ท่าทีนี้อย่างมาก[37]

การประชุมใหญ่โลกครั้งที่สาม แก้

การประชุมใหญ่โลกครั้งที่สามในปี 1951 มีข้อสรุปว่าเศรษฐกิจและรัฐบาลของรัฐยุโรปตะวันออกมีความคล้ายคลึงกับสหภาพโซเวียตมากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐเหล่านั้นจึงถูกอธิบายว่าเป็นรัฐกรรมกรวิรูปในแนวเดียวกันกับรัฐกรรมกรเสื่อมสภาพในรัสเซีย ทั้งนี้ ที่ใช้คำว่า วิรูป แทนคำว่า เสื่อมสภาพ เพราะไม่มีการปฏิวัติของกรรมกรที่นำไปสู่การก่อตั้งรัฐเหล่านั้น[45]

การประชุมใหญ่โลกครั้งที่สามเล็งเห็นว่ามีความเป็นไปได้ส่วนหนึ่งของ "สงครามกลางเมืองระหว่างประเทศ" ในอนาคตอันใกล้[46] และให้เหตุผลว่าพรรคคอมมิวนิสต์มวลชน "อาจไปไกลกว่าเป้าหมายที่ระบบข้าราชการประจำโซเวียตตั้งไว้ให้กับพรรคและวางโครงการการปรับแนวปฏิวัติ ภายใต้เงื่อนไขที่เอื้ออำนวยบางอย่าง" เมื่อคำนึงถึงโอกาสเกิดสงครามในไม่นาน FI คิดว่าพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมจะเป็นกำลังที่สำคัญเพียงอย่างเดียวที่สามารถคุ้มครองกรรมกรของโลกต่อค่ายจักรวรรดินิยมในประเทศซึ่งค่ายนั้นมีกำลังมหาศาลได้[47] โดยสอดคล้องกับทัศนะภูมิรัฐศาสตร์นี้ ปาโบลแย้งว่าทางเดียวที่นักลัทธิทรอตสกีสามารถหลีกเลี่ยงการแยกอยู่โดดเดี่ยวคือภาคส่วนต่าง ๆ ของสากลที่สี่ในระยะยาวจะต้องดำเนินการเข้าร่วม (entryism) ในพรรคการเมืองคอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตยสังคมนิยมมวลชน[48] ยุทธวิธีนี้เรียกว่า ลัทธิเข้าร่วมที่มีลักษณะเฉพาะตัว เพื่อแยกแยะวิธีนี้กับยุทธวิธีเข้าร่วมกับพรรคอื่นระยะสั้นที่ใช้ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ตัวอย่างเช่น หมายความว่าโครงการสร้างพรรคการเมืองนักลัทธิทรอตสกีอย่างเปิดเผยและเป็นอิสระถูกพับไปในประเทศฝรั่งเศส เพราะถูกมองว่าไม่มีความเป็นไปได้ทางการเมืองเมื่อมีพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสแล้ว

ทัศนะดังกล่าวได้รับการยอมรับภายในสากลที่สี่ แต่ก็ได้หว่านเมล็ดพันธุ์สำหรับการแตกแยกในปี 1953 ณ การประชุมใหญ่โลกครั้งที่สาม ภาคส่วนดังกล่าวตกลงกับทัศนะของสงครามกลางเมืองระหว่างประเทศ ภาคส่วนฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับยุทธวิธีลัทธิเข้าร่วมที่มีลักษณะเฉพาะตัว และถือว่าปาโบลกำลังประเมินบทบาทอิสระของพรรคชนชั้นกรรมกรในสากลที่สี่ต่ำเกินไป ปีแยร์ ล็องแบร์ และมาร์แซล ไบลพ์ทร็อย หัวหน้าองค์การนักลัทธิทรอตสกีส่วนใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส ไม่ยอมรับแนวทางขององค์การสากล หัวหน้าองค์การสากลจึงเปลี่ยนตัวด้วยเสียงข้างน้อย ทำให้เกิดการแตกแยกถาวรในภาคส่วนฝรั่งเศส[49]

ในการประชุมใหญ่โลก แนวทางของหัวหน้าองค์การสากลโดยทั่วไปได้รับการยอมรับจากกลุ่มต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้ง SWP ซึ่งเจมส์ พี. แคนนอน หัวหน้าพรรค แลกเปลี่ยนสารกับฝ่ายข้างมากฝรั่งเศสเพื่อสนับสนุนยุทธวิธีลัทธิเข้าร่วมที่มีลักษณะเฉพาะตัว ทว่าในขณะเดียวกัน แคนนอน, ฮีลี และมันเดลมีความกังวลอย่างมากต่อวิวัฒนาการทางการเมืองของปาโบล แคนนอนและฮีลีก็กังวลกับการแทรกแซงของปาโบลเข้าไปในภาคส่วนฝรั่งเศส และกับนัยที่ว่าปาโบลอาจใช้อำนาจขององค์การสากลในทำนองเดียวกันกับส่วนอื่นของสากลที่สี่ที่รู้สึกว่าลัทธิเข้าร่วมที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่ใช่ยุทธวิธีที่เหมาะสมในประเทศของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวโน้มฝ่ายข้างน้อย เช่น จอห์น ลอว์เรนซ์ ในบริเตน และเบิร์ต ค็อกรัน ในสหรัฐ ซึ่งสนับสนุนลัทธิเข้าร่วมที่มีลักษณะเฉพาะตัวได้บอกเป็นนัยว่าการที่ปาโบลสนับสนุนทัศนะของพวกเขาหมายความว่าองค์การสากลอาจร้องขอให้นักลัทธิทรอตสกีในประเทศเหล่านั้นให้รับยุทธวิธีนี้ไปใช้ด้วย[50]

การก่อตั้งคณะกรรมการสากลของสากลที่สี่ แก้

ในปี 1953 คณะกรรมการชาติของ SWP ออก จดหมายเปิดผนึกถึงนักลัทธิทรอตสกีทั่วโลก[51] และจัดระเบียบคณะกรรมการสากลของสากลที่สี่ (ICFI) ซึ่งเป็นกลุ่มแยกสาธารณะซึ่งทีแรกมี SWP, ส่วนเดอะคลับของเจร์รี ฮีลี ในบริเตน, พรรคคอมมิวนิสต์สากลนิยมในประเทศฝรั่งเศส (ซึ่งมีล็องแบร์ที่ขับไบลพ์ทร็อยและกลุ่มของเขาออกจากพรรคเป็นหัวหน้าในขณะนั้น), พรรคของนาอูเอล โมเรโน ในประเทศอาร์เจนตินา และส่วนออสเตรียและจีนใน FI หลายส่วนของ ICFI ถอนตัวออกจากสำนักเลขาธิการองค์การสากลซึ่งระงับสิทธิออกเสียงของพวกเขา ทั้งสองฝ่ายอ้างว่าพวกตนเป็นฝ่ายข้างมากขององค์การสากลก่อนหน้านี้[52]

พรรคลังกาสมสมาชะของศรีลังกาซึ่งเป็นพรรคกรรมกรแถวหน้าของประเทศในเวลานั้น วางตัวเป็นกลางในกรณีพิพาทนี้ พรรคยังคงร่วมดำเนินการกับ ISFI แต่ก็เรียกร้องให้ประชุมร่วมกัน เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพกับ ICFI[53]

บทคัดย่อจากจดหมายนั้นอธิบายการแตกแยกไว้ดังนี้

โดยสรุป: เส้นแบ่งระหว่างลัทธิแก้ของปาโบลกับลัทธิทรอตสกีดั้งเดิมอยู่ลึกเสียจนไม่มีทางประนีประนอมได้ไม่ว่าในทางการเมืองหรือองค์การ กลุ่มแยกปาโบลแสดงออกว่ากลุ่มจะไม่ยอมรับการบรรลุการตัดสินใจที่เป็นประชาธิปไตยที่สะท้อนความเห็นของฝ่ายข้างมากอย่างแท้จริง พวกเขาเรียกร้องให้ยอมจำนนอย่างเบ็ดเสร็จต่อนโยบายที่เป็นอาชญากรรมของพวกเขา พวกเขามุ่งมั่นขับนักลัทธิทรอดสกีดั้งเดิมทั้งหมดออกจากสากลที่สี่หรือปิดปากและใส่กุญแจมือพวกเขา แผนการของพวกเขาได้แก่การฉีดลัทธิการประนอม (conciliationism) แบบลัทธิสตาลินทีละน้อย และในทำนองเดียวกันแบบทีละน้อย กำจัดผู้ที่ทราบความและยกข้อคัดค้าน[51]

จากการประชุมใหญ่โลกครั้งที่สี่จนถึงการกลับมารวมกันใหม่ แก้

ในช่วงทศวรรษถัดมา IC เรียกองค์การสากลส่วนที่เหลือว่า "สำนักเลขาธิการสากลของสากลที่สี่" เป็นการเน้นย้ำถึงทัศนะของตนว่าสำนักเลขาธิการไม่ได้เป็นตัวแทนขององค์การสากลทั้งหมด[54] สำนักเลขาธิการยังคงมองตนเองว่าเป็นผู้นำขององค์การสากล และจัดการประชุมใหญ่โลกครั้งที่สี่ในปี 1954 เพื่อจัดกลุ่มใหม่และเพื่อรับรองส่วนที่จัดระเบียบใหม่ในบริเตน ประเทศฝรั่งเศส และสหรัฐ

ส่วนต่าง ๆ ของคณะกรรมการสากลมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการแตกแยกกับ "ลัทธิปาโบล" ว่าเป็นสิ่งถาวรหรือชั่วคราว[55] และบางทีอาจเป็นผลของลัทธิดังกล่าวที่ไม่ได้ประกาศตนเป็นสากลที่สี่ ส่วนต่าง ๆ เหล่านั้นซึ่งถือว่าการแตกแยกเป็นการถาวรได้อภิปรายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความหมายของการแตกแยก

ส่วนต่าง ๆ ขององค์การสากลที่รับรองความเป็นผู้นำของสำนักเลขาธิการสากลยังมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของอิทธิพลทางการเมืองขององค์การสากลที่เพิ่มขึ้น และขยายลัทธิเข้าร่วมเข้าสู่พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมที่กำลังดำเนินการอยู่ในบริเตน ออสเตรีย และที่อื่น ๆ การประชุมใหญ่ปี 1954 เน้นย้ำลัทธิเข้าร่วมเข้าสู่พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคชาตินิยมในอาณานิคม กดดันเพื่อการปฏิรูปประชาธิปไตย โดยเห็นได้ว่าเพื่อกระตุ้นฝ่ายซ้ายที่พวกเขาเชื่อว่ามีอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์ให้เข้าร่วมด้วยกับองค์การในการปฏิวัติ[56] ความตึงเครียดที่พัฒนาขึ้นระหว่างผู้ที่รับทัศนะกระแสหลักของปาโบลกับฝ่ายข้างน้อยที่โต้แย้งไม่สำเร็จต่อการทำงานอย่างเปิดเผย ผู้แทนเหล่านี้จำนวนหนึ่งเดินออกจากที่ประชุมใหญ่โลกและในที่สุดก็ออกจากองค์การสากล ได้แก่ผู้นำส่วนบริติช จอห์น ลอว์เรนซ์, จอร์จ คลาร์ก, มีแชล แม็สทร์ (ผู้นำส่วนฝรั่งเศส) และเมอร์รี เดาสัน (ผู้นำกลุ่มแคนาดา) เป็นต้น[57]

สำนักเลขาธิการจัดระเบียบการประชุมใหญ่โลกครั้งที่ห้าในเดือนตุลาคม 1957 มันเดลและปีแยร์ ฟร็องก์ ยกย่องการปฏิวัติแอลจีเรียและสรุปว่ามีความสำคัญในการปรับแนวทางในรัฐอาณานิคมและอาณานิคมใหม่ต่อการปฏิวัติที่มีกองโจรเป็นผู้นำที่กำลังเกิดขึ้น[58] ตามข้อมูลของรอเบิร์ต อเล็กซานเดอร์ นั้น แอร์เนสต์ มันเดล ได้เขียนเกี่ยวกับพรรคอาโจมา องค์การในประเทศอินโดนีเซียซึ่งสวามิภักดิ์ต่อ FI ตั้งแต่ปี 1959 จนถึงการปฏิวัติปี 1965[59]

การประชุมใหญ่โลกครั้งที่หกในปี 1961 มีการบรรเทาการแบ่งแยกทางการเมืองระหว่างผู้สนับสนุนฝ่ายข้างมากของสำนักเลขาธิการองค์การสากลกับผู้นำ SWP ในสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ประชุมใหญ่เน้นย้ำการสนับสนุนการปฏิวัติคิวบาและเน้นย้ำการสร้างพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นในประเทศจักรวรรดินิยม การประชุมใหญ่ครั้งที่หกยังวิจารณ์พรรคลังกาสมสมาชะ ส่วนของศรีลังกา เนื่องจากดูเหมือนสนับสนุนพรรคเสรีภาพศรีลังกาซึ่งพวกเขามองว่าเป็นพวกชาตินิยมกระฎุมพี[60]

ในปี 1962 IC และ IS ก่อตั้งคณะกรรมการความเสมอภาคเพื่อจัดระเบียบการประชุมใหญ่โลกร่วมกัน ผู้สนับสนุนมีแชล ปาโบล และฆวน โปซาดัส คัดค้านการรวมเข้าด้วยกัน ผู้สนับสนุนโปซาดัสออกจากองค์การสากลในปี 1962[60] ในที่ประชุมใหญ่รวมเข้ากันใหม่ในปี 1963 ส่วนของ IC และ IS รวมเข้าด้วยกันใหม่ (มีสองข้อยกเว้น คือ ส่วนบริติชและฝรั่งเศสของ IC)[61] ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการสนับสนุนร่วมกันต่อข้อมติ พลวัตของการปฏิวัติโลกวันนี้ ของแอร์เนสต์ มันเดล และโจเซฟ แฮนเซน และต่อการปฏิวัติคิวบา เอกสารนี้แยกแยะระหว่างภารกิจปฏิวัติต่าง ๆ ในประเทศจักรวรรดินิยม "รัฐกรรมกร" และประเทศอาณานิคมและกึ่งอาณานิคม[62] ในปี 1963 องค์การสากลที่สี่ที่รวมกันใหม่เลือกตั้งสำนักเลขาธิการเอกภาพของสากลที่สี่ (USFI) ซึ่งเป็นชื่อที่องค์การทั้งหมดมักนิยมให้เรียกอยู่

ตั้งแต่การสร้างเอกภาพใหม่ แก้

ตั้งแต่การสร้างเอกภาพใหม่ในปี 1963 ลัทธิทรอตสกีสากลมีหลายมุมมองและแนวทางต่อสากลที่สี่

  • สากลที่สี่ที่สร้างเอกภาพใหม่เป็นองค์การปัจจุบันเดียวที่มีความต่อเนื่องขององค์การโดยตรงกับสากลที่สี่ดั้งเดิมในระดับนานาชาติ คณะกรรมการและสำนักเลขาธิการสากลมีการสร้างเอกภาพใหม่ในการประชุมใหญ่ปี 1963 แต่ปราศจากสันนิบาตกรรมกรสังคมนิยมและองค์การคอมมิวนิสต์สากลนิยม[61] บางทีเรียกว่า สำนักเลขาธิการรวมของสากลที่สี่ (United Secretariat of the Fourth International หรือ USFI) ตามชื่อของคณะกรรมการนำ แม้ว่าคณะกรรมการนั้นถูกเปลี่ยนแล้วในปี 2003 นอกจากนี้ยังเป็นองค์การปัจจุบันองค์การเดียวที่นำเสนอตนเองอย่างต่อเนื่องว่าเป็นสากลที่สี่ เป็นองค์การสากลใหญ่สุดในปัจจุบันและเป็นผู้นำขององค์การสากลแบบลัทธิทรอตสกีอื่น ๆ บางส่วนเรียกองค์การนี้ว่า "สากลที่สี่"[63] เช่น เจร์รี ฮีลี (เลขาธิการ ICFI) หรือองค์การแนวโน้มสังคมนิยมสากล[64]
  • กลุ่มสมาชิกคณะกรรมการสากลของสากลที่สี่แต่เดิมเรียกตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของสากลที่สี่ และองค์การทั้งหมดอธิบายตนเองว่าเป็น "ผู้นำของสากลที่สี่"[65] อย่างไรก็ดี ICFI นำเสนอตนเองว่าเป็นผู้สานต่อทางการเมืองของสากลที่สี่และลัทธิทรอตสกี ไม่ใช่ FI โดยระบุวันสถาปนาเป็นปี 1953 อย่างชัดเจน ไม่ใช่ปี 1938[66]
  • บางแนวโน้มให้เหตุผลว่าสากลที่สี่ได้เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงระหว่างปีที่ทรอตสกีถูกลอบสังหารกับปีที่มีการก่อตั้ง ICFI (1953) พวกเขาจึงดำเนินการเพื่อ "บูรณะ" "จัดระเบียบใหม่" หรือ "สร้างใหม่" มุมมองนี้ถือกำเนิดขึ้นจากลูว์ตูวรีแยร์ (Lutte Ouvrière) และองค์การแนวโน้มสปาร์ตาซิสต์สากล และผู้ที่รับไปได้แก่ผู้ที่เห็นแตกต่างจาก ICFI ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการของกรรมกรสากล ซึ่งผู้ก่อตั้งถอนตัวจาก FI ที่สร้างเอกภาพใหม่ในปี 1965 เพื่อเรียกร้อง "สากลที่สี่ปฏิวัติ" ใหม่[67] โดยสากลที่สี่ (ICR) ประกาศตั้งสากลที่สี่ใหม่ในการประชุมใหญ่ที่ส่วนต่าง ๆ ของ ICR เข้าร่วมในเดือนมิถุนายน 1993[68]
  • กลุ่มลัทธิทรอตสกีอื่นให้เหตุผลว่าสากลที่สี่สิ้นไปแล้ว และเรียกร้องให้ก่อตั้งองค์การสากลกรรมกรใหม่ หรือสากลที่ห้า[69]

ผลกระทบ แก้

สากลที่สี่สร้างประเพณีซึ่งองค์การลัทธิทรอตสกีหลายองค์การอ้างมาโดยตลอดในการสร้างเอกภาพนักลัทธิทรอตสกีส่วนใหญ่ในองค์การเดียว

โครงการเปลี่ยนผ่านสะท้อนแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ของมากซ์ โดยปิดท้ายด้วยประโยค "กรรมกร —ชายและหญิง— ของทุกประเทศ จงอยู่ภายใต้ธงของสากลที่สี่ มันเป็นธงแห่งชัยที่ใกล้เข้ามาของท่าน!" มีประกาศข้อเรียกร้องต่อนักทุนนิยม การต่อต้านระบบข้าราชการประจำในสหภาพโซเวียต และการสนับสนุนการปฏิบัติของกรรมกรต่อลัทธิฟาสซิสต์[1] ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ต่อนักลัทธิทุนนิยมยังไม่บรรลุผล การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเกิดขึ้นแล้ว แต่ผ่านการปฏิวัติทางสังคมที่นำไปสู่การฟื้นฟูลัทธิทุนนิยม มิใช่การปฏิวัติทางการเมืองแบบที่นักลัทธิทรอตสกีเสนอ กลุ่มลัทธิทรอตสกีจำนวนมากยังดำเนินการอยู่ในการรณรงค์ต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ แต่สากลที่สี่ไม่เคยมีบทบาทหลักในการโค่นระบอบใด ๆ

กลุ่มเหล่านี้ยึดถือประเพณีซึ่งออกจากสากลที่สี่ในช่วงต้น ๆ ขององค์การให้เหตุผลว่า แม้มีจุดยืนที่ถูกต้องในทีแรก แต่มีผลกระทบเพียงเล็กน้อย ลูว์ตูวรีแยร์อ้างว่ามัน "ไม่รอดจากสงครามโลกครั้งที่สอง"[70] เสรีภาพกรรมกร ซึ่งยึดถือประเพณีค่ายที่สามที่ก่อตั้งโดยพรรคกรรมกร ถือว่า "ทรอตสกีและทุกอย่างที่เขาเป็นสัญลักษณ์นั้นถูกพิชิต และ —ตามที่เราต้องยอมรับย้อนหลัง— แพ้มาตลอดช่วงประวัติศาสตร์"[71]

กลุ่มอื่นชี้ไปยังผลกระทบด้านบวก ICFI อ้างว่า "สากลที่สี่ [ุยุคต้น] ประกอบด้วยกลุ่มแกนนำที่ยังคงยึดมั่นในเป้าหมายของตน"[72] และอธิบายกิจกรรมช่วงต้นของสากลที่สี่ว่า "ถูกต้องและมีหลักการ"[73] FI ที่สร้างเอกภาพใหม่อ้างว่า "สากลที่สี่ปฏิเสธจะประนีประนอมกับทุนนิยมไม่ว่าในรูปแบบฟาสซิสต์หรือประชาธิปไตย" ในทัศนะของมัน "คำพยากรณ์จำนวนมากของทรอตสกีเมื่อเขาก่อตั้งสากลที่สี่ถูกประวัติศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าผิด แต่สิ่งที่ปลอดมลทินอย่างเบ็ดเสร็จคือคำวินิจฉัยทางการเมืองที่สำคัญของเขา"[74]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 The Transitional Program. Retrieved November 5, 2008.
  2. Ernest Mandel, Trotskyists and the Resistance in World War Two
  3. Leon Trotsky, In Defence of October
  4. 4.0 4.1 "Manifesto of the Fourth International on the Dissolution of the Comintern", Fourth International, July 1943.
  5. Serge, Victor, From Lenin to Stalin, p70 ff, Pathfinder, (1973)
  6. Deutscher, Isaac, Stalin, p381, Pelican (1966)
  7. Robert Conquest, The Great Terror: A Reassessment, Oxford University Press, 1991, ISBN 0-19-507132-8, p. 418.
  8. Working-class Internationalism & Organisation
  9. Joseph Stalin, "Industrialisation of the country and the right deviation in the C.P.S.U.(B.)", Works, Vol.11, pp. 255-302.
  10. Leon Trotsky, "Open Letter For The Fourth International", New Militant, August 3, 1935.
  11. "Declaration of the Four" เก็บถาวร 2011-07-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , The Militant, September 23, 1933.
  12. 12.0 12.1 George Breitman, The Rocky Road to the Fourth International, 1933–38
  13. John G. Wright, "Trotsky's Struggle for the Fourth International", Fourth International, August 1946.
  14. CLR James Interview
  15. "Trotskyists at Vorkuta: An Eyewitness Report", International Socialist Review, Summer 1963.
  16. Propaganda in the Propaganda State, PBS
  17. Mario Kessler, "Leon Trotsky's Position on Anti-Semitism, Zionism and the Perspectives of the Jewish Question" เก็บถาวร 2004-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, New Interventions, Vol. 5 No. 2, 1994 (transcript of a talk at the AGM of Revolutionary History magazine in October 1993.
  18. M. S., "Foreword", Founding Conference of the Fourth International]
  19. Socialist Workers Party, The Founding Conference of the Fourth International
  20. Charlie van Gelderen, Sixty years of the Fourth International เก็บถาวร 2008-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  21. Richard Price The Transitional Programme in perspective
  22. "Declaration on the status of the resident International Executive Committee", in Documents of the Fourth International, Vol. 1, pp. 351–355
  23. Duncan Hallas, Fourth International in Decline เก็บถาวร 2008-02-20 ที่ archive.today
  24. Trotsky, In Defense of Marxism, New York 1942.
  25. James P. Cannon, "Factional Struggle And Party Leadership", Fourth International, November 1953; David Holmes, James P. Cannon: His Life and Work.
  26. "Emergency Conference of the Fourth International", International Bulletin, Nos. 1 & 2, 1940.
  27. 27.0 27.1 27.2 Michel Pablo, "Report on the Fourth International Since the Outbreak of War, 1939–48" Fourth International, December 1948 & January 1949.
  28. Rodolphe Prager, "The Fourth International during the Second World War" เก็บถาวร 2005-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , Revolutionary History, Vol. 1 No. 3, Autumn 1988.
  29. "Resolution On The Unification of the British Section", International Bulletin, Nos. 1 & 2, 1940.
  30. The Fourth International During World War II (immediately afterward).
  31. Felix Morrow, "The First Phase of the Coming European Revolution", Fourth International, December 1944.
  32. "Perspectives and Tasks of the Coming European Revolution", Fourth International, December 1943.
  33. "Theses on the Liquidation of World War II and the Revolutionary Upsurge", Fourth International, March & May 1945.
  34. "The European Revolution and the Tasks of the Revolutionary Party", Fourth International, December 1944.
  35. Martin Upham, The History of British Trotskyism to 1949 (PhD thesis publische online on the Revolutionary History Website).
  36. Peter Schwarz, "The politics of opportunism: the 'radical left' in France", World Socialist Web Site.
  37. 37.0 37.1 Sam Bornstein and Al Richardson, War and the International, London 1986.
  38. Alex Callinicos, Trotskyism, Maidenhead 1990.
  39. ดู: Paul Samuelson, "Full Employment after the war," in S. Harris (ed.), Post war Economic Problems, London & New York 1943. และ Joseph Schumpeter, "Capitalism in the post-war world". in S. Harris (ed.), Post war Economic Problems, London & New York 1943.
  40. 2nd Congress of the Fourth International
  41. "The USSR and Stalinism", Fourth International, June 1948.
  42. "The Third World Congress of the Fourth International" เก็บถาวร 2006-03-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , Fourth International, November 1951.
  43. "The Fourth International in Vietnam" เก็บถาวร 2006-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , Revolutionary History, Vol. 3 No. 2, Autumn 1990.
  44. International Secretariat of the Fourth International, "An Open Letter to Congress, Central Committee and Members of the Yugoslav Communist Party", Fourth International, July 1948.
  45. Pierre Frank, "Evolution of Eastern Europe", Fourth International, November 1951.
  46. "Theses on Orientation and Perspectives", Fourth International, November 1951.
  47. "The International Situation and Tasks in the Struggle against Imperialist War", Fourth International, November 1951.
  48. Michel Pablo, "World Trotskism Rearms", Fourth International, November 1951.
  49. Letters exchanged between Daniel Renard and James P. Cannon, February 16 and May 9, 1952
  50. International Committee Documents 1951–1954, Vol. 1, Section 4, (Education for Socialists)
  51. 51.0 51.1 SWP, "Open Letter to Trotskyists Throughout the World", Militant, November 16, 1953.
  52. "Resolution forming the International Committee", SWP Internal Bulletin; Michel Pablo, Pierre Frank and Ernest Germain, "Letter from the Bureau of the IS to the leaderships of all sections", November 15, 1953, Education for Socialists Bulletin.
  53. "David North addresses Sri Lankan Trotskyists on the 50th anniversary of the ICFI", World Socialist Web Site, November 21, 2003.
  54. "Resolution of the International Committee instructing publication of the documents", August 24, 1973, Workers Press, August 29, 1973.
  55. International Secretariat: "To all Members and All Organizations of the International Committee", Education for Socialists Bulletin.
  56. Michel Pablo, "The Post-Stalin 'New Course'", Fourth International, March 1953; Michel Pablo, The 4th International: What it is, What it aims at, Publications of the Fourth International, 1958.
  57. John McIlroy, "The Revolutionary Odyssey of John Lawrence" เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, What Next, No. 26, 2003.
  58. Pierre Frank, The Fourth International: The Long March of the Trotskyists, London 1979.
  59. Robert Alexander https://books.google.com/books?id=_eUtQjseKaIC&lpg=PA534&ots=AdRQT__QNJ&dq=%22Fourth%20International%22%20%22tan%20malaka%22&pg=PA534#v=onepage&q=%22Fourth%20International%22%20%22tan%20malaka%22&f=false
  60. 60.0 60.1 "Trotskyism and the Cuban Revolution: A Debate" เก็บถาวร 2004-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Intercontinental Press, May 11, 1981, on the What Next? website.
  61. 61.0 61.1 Farrell Dobbs and Joseph Hansen, Reunification of the Fourth International, International Socialist Review 1963.
  62. Ernest Mandel and Joseph Hansen, "Dynamics of World Revolution Today" เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , International Socialist Review, Fall 1963.
  63. Gerry Healy, "Letter to the Fourth International", in Marxism vs. ultraleftism : the record of Healy’s break with Trotskyism. Edited by Joseph Hansen
  64. Alex Callinicos, "Regroupment, Realignment, and the Revolutionary Left" เก็บถาวร 2006-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , IST Discussion Bulletin, No. 1, July 2002.
  65. "About the International Committee of the Fourth International" เก็บถาวร 2006-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , World Socialist Web Site.
  66. Peter Schwarz, "Meetings on 50 years of the International Committee of the Fourth International", World Socialist Web Site.
  67. Peter Taaffe, A Socialist World is Possible: The history of the CWI เก็บถาวร 2005-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , Committee for a Workers' International.
  68. "Manifesto of the 4th World Congress", on the Socialist Organizer website.
  69. "Forward to the Fifth International!" เก็บถาวร 2006-05-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , on the League for the Fifth International website.
  70. "Les fondements programmatiques de notre politique", Lutte de classe, No. 77, December 2003. (ในภาษาฝรั่งเศส)
  71. Sean Matgamna, "What we are, what we do and why we do it" , Solidarity 3/72, April 28, 2005.
  72. Peter Schwarz, "The politics of opportunism: the 'radical left' in France", World Socialist Web Site.
  73. David North, "Ernest Mandel, 1923–1995: A critical assessment of his role in the history of the Fourth International" เก็บถาวร 2006-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , World Socialist Web Site.
  74. "The Fourth International" เก็บถาวร 2008-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , International Socialist Group website.