สังคมราษฎรนิยม (เขมร: សង្គមរាស្ត្រនិយម สงฺคมราสฺตฺรนิยม; อักษรโรมัน: Sangkum Reastr Niyum; อังกฤษ: People's Socialist Community) เป็นพรรคการเมืองในกัมพูชา มีชื่อเรียกอย่างสั้น ๆ ว่า สังคม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2498 โดยพระนโรดม สีหนุ[3] กลุ่มนี้อธิบายตนเองว่าเป็นขบวนการมากกว่าพรรคการเมือง พรรคนี้มีบทบาทมากในราชอาณาจักรกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. 2498– 2513[3]

สังคมราษฎรนิยม
Communauté socialiste populaire
សង្គមរាស្ត្រនិយម
ผู้ก่อตั้งพระนโรดม สีหนุ
ก่อตั้ง22 มีนาคม ค.ศ. 1955
ถูกยุบ18 มีนาคม ค.ศ. 1970
ที่ทำการ ราชธานีพนมเปญ,
พระราชอาณาจักรกัมพูชา (สมัยสังคมราษฎรนิยม)
ฝ่ายเยาวชนยุวชนสังคมราษฎรนิยม
จำนวนสมาชิก  (ปี 1955)450,000 คน[1]
อุดมการณ์ชาตินิยมเขมร
เชื้อชาตินิยม
ฟาสซิสต์
อนุรักษ์นิยม
ลัทธินิยมสถาบันพระมหากษัตริย์
ศาสนาพุทธนิยม[2]
จุดยืนBig tent
ศาสนาพุทธศาสนานิกายเถรวาท
สี  สีเหลือง
การเมืองพระราชอาณาจักรกัมพูชา
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง
พระนโรดม สีหนุ ผู้นำพรรคสังคมระหว่างพ.ศ. 2498– 2513

การก่อตั้ง แก้

พรรคสังคมเกิดขึ้นหลังจากพระนโรดม สีหนุ สละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2498 ให้พระบิดาของพระองค์คือพระนโรดม สุรามฤต ขึ้นครองราชย์แทน ส่วนพระองค์หันมาเล่นการเมือง ตั้งพรรคสังคมราษฎรนิยมขึ้น สมาชิกของพรรคเป็นสมาชิกราชวงศ์ กลุ่มฝ่ายขวา เช่นกลุ่มของดาบ ฌวน กลุ่มเขมรใหม่ของลน นล พรรคนี้เข้าร่วมการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2498 โดยมีพรรคฝ่ายตรงข้ามคือพรรคประชาธิปไตยและกรมประชาชน ในที่สุดผลการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2498 พรรคสังคมชนะการเลือกตั้งและทำให้พระนโรดม สีหนุได้ทรงบริหารดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบ้าง ประมุขแห่งรัฐบ้างไปอีกถึง 15 ปี จนชาวกัมพูชาในขณะนั้นพร้อมใจกันเรียกพระองค์ว่า สมเด็จเอิว (อังกฤษ: Samdech Euv); (เขมร: សម្ដេចឪ) หรือ "สมเด็จพ่อ" ของประชาชนชาวกัมพูชานั่นเอง

นโยบาย แก้

นอกจากจะมีลักษณะทางด้านสังคมนิยมแล้ว พรรคสังคมยังมีลักษณะอนุรักษนิยม ชาตินิยม พุทธศาสนานิยม และมีลักษณะของลัทธิฟาสซิสต์ด้วย พรรคนี้ได้กล่าวอ้างว่าการบริหารงานควรเป็นสังคมนิยมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เน้นความจงรักภักดีเพื่อคงไว้ซึ่งราชวงศ์ และใช้สังคมนิยมชาวพุทธเป็นฐานของอำนาจ และเป็นสังคมนิยมของชนชั้นสูง มีลักษณะของการเป็นอาณานิคมภายในตนเอง ใน พ.ศ. 2500 พรรคสังคมได้จัดตั้งแผนกเยาวชนขึ้น

สัญลักษณ์ แก้

ในช่วงที่พรรคสังคมได้ปกครองประเทศนั้นได้มีการแต่งเพลงประจำพรรคขึ้นถึง 2 เพลง ได้แก่ เพลงขะแมร์รสสุกซาน "เขมรอยู่อย่างสุขสันต์" (ខ្មែររស់សុខសាន្ត)[4] และเพลงเชียตขะแมร์เมียนแตสมเด็จเอิว "ชาติเขมรมีแต่สมเด็จพ่อ" (ជាតិខ្មែរមានតែសម្ដេចឪ)[5] นอกจากยังมีการนำเพลงพระราชนิพนธ์ของพระนโรดม สีหนุมาบรรเลงอีกด้วย

การเมืองภายใต้ระบอบสังคม แก้

 
กองทัพเขมรภูมินท์มีหน้าที่ต้องปกป้องครอบครัวของท่าน โฆษณาชวนเชื่อยุคสังคมราษฏรนิยมที่มีแนวคิดเชื้อชาตินิยมอย่างรุนแรง

ในยุคที่พรรคสังคมครองอำนาจ พรรคนี้เป็นศูนย์รวมของกลุ่มฝ่ายขวา มีเพียงกลุ่มของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาที่ไม่ได้เข้าร่วม ผู้นำคอมมิวนิสต์บางคนเช่น ฮู นิมและเขียว สัมพันได้เข้าร่วมกับระบอบสังคมด้วย[6] ในขณะที่พรรคประชาธิปไตย ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มการเมืองที่เป็นกลางและนิยมสาธารณรัฐ ได้ถูกบีบให้เข้าร่วมกับพรรคสังคมใน พ.ศ. 2500[7] ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐบางคนหยุดเล่นการเมืองจนกระทั่ง พ.ศ. 2513

กลุ่มฝ่ายขวาอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่เข้าร่วมกับระบอบสังคมคือกลุ่มฝ่ายขวาที่ต่อต้านราชวงศ์ของเซิง งอกทัญ ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มเขมรเสรีและได้รับการสนับสนุนจากประเทศไทย พระนโรดม สีหนุได้เรียกเขมรฝ่ายขวาว่าเขมรสีน้ำเงิน[8] เพื่อให้แตกต่างจากกลุ่มฝ่ายซ้ายที่เรียกเขมรแดง นอกจากนั้น ระหว่าง พ.ศ. 2502 – 2503 ยังเกิดความรุนแรงต่อผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับระบอบสังคม เช่น กรมประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเดียวกับเวียดมิญ[9] และเขมรเสรีที่ต่อต้านระบอบสังคมของพระนโรดม สีหนุ เช่น เปรียบ อิน เขมรเสรีที่ปฏิเสธการเจรจากับพระนโรดม สีหนุเมื่อ พ.ศ. 2506 ถูกจับกุม และถูกประหารชีวิต สิ่งที่คล้ายกันนี้ เกิดขึ้นกับเขมรเสรีคนอื่นด้วย เช่น เจา บอรี เจา มาธุราและเซา งอย ใน พ.ศ. 2510

การสิ้นสุดระบอบสังคม แก้

พระนโรดม สีหนุขึ้นเป็นประมุขของรัฐเมื่อ พ.ศ. 2506 และการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2509 พรรคสังคมชนะการเลือกตั้งอย่างงดงาม อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มฝ่ายซ้ายซึ่งนำโดยลน นลและฝ่ายทหารในนามของพระนโรดม สีหนุ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่เคยร่วมมือกับเวียดมิญมาก่อน (พระนโรดม สีหนุเรียกว่าเขมรเวียดมิญ) สิ่งเหล่านี้กลับไปเพิ่มความนิยมให้กับกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่ต่อต้านเวียดนามและต่อต้านราชวงศ์ นำโดยพล พต[10] ระบอบสังคมถูกล็อกเข้ากับสงครามอินโดจีนครั้งที่สอง ระหว่างเวียดมิญ ขบวนการปะเทดลาวกับกลุ่มฝ่ายขวา ซึ่งลามเข้ามาในดินแดนกัมพูชาด้วย ความหวาดกลัวของชนชั้นสูงในกัมพูชา นอกจากหวาดกลัวกลุ่มฝ่ายซ้ายที่อยู่นอกประเทศ ยังหวาดกลัวฝ่ายซ้ายในกัมพูชา โดยเฉพาะหลังจากเกิดกบฏในเขตชนบทของพระตะบองซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์อยู่เบื้องหลังในต้นปี พ.ศ. 2510 สิ่งนี้นำไปสู่สงครามกลางเมืองในกัมพูชา[11] เขียว สัมพัน กับฮู นิมออกจากฝ่ายรัฐบาลหนีเข้าป่าในช่วง พ.ศ. 2510 – 2511 ซึ่งเป็นช่วงที่ฝ่ายตำรวจของสีหนุกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามมาก

การพ้นจากตำแหน่งของพระนโรดม สีหนุ แก้

เมื่อเกิดความวุ่นวายทางการเมืองมากขึ้น พระนโรดม สีหนุพ้นจากตำแหน่งหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2513 โดยลน นล และฝ่ายขวาอื่น ๆ เช่น พระสีสุวัตถิ์ สิริมตะ และอิน ตัม พรรคสังคมสลายตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 กลุ่มที่เคยสนับสนุนพระนโรดม สีหนุเข้าร่วมกับกลุ่มฟุนซินเปกและกองทัพแห่งชาติสีหนุ ซึ่งมีกองบัญชาการในเขตชนบทของกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2523

อ้างอิง แก้

  1. "1955 polls: the Sangkum takes hold". The Phnom Penh Post. 13 February 1998. สืบค้นเมื่อ 12 July 2019.
  2. "Cambodia under the Khmer Rouge". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-16. สืบค้นเมื่อ 2019-07-22.
  3. 3.0 3.1 Dommen, A. The Indochinese experience of the French and the Americans, Indiana University Press, 2001, p.318
  4. เพลงขะแมร์รสสุกซาน "เขมรอยู่อย่างสุขสันต์" (ខ្មែររស់សុខសាន្ត) ที่ยูทูบ
  5. เพลงเชียตขะแมร์เมียนแตสมเด็จเอิว "ชาติเขมรมีแต่สมเด็จเอิว" (ជាតិខ្មែរមានតែសម្ដេចឪ) ที่ยูทูบ
  6. Kiernan, p.197
  7. Dommen, pp.359-360
  8. Library of Congress Country Studies: Cambodia - Major Political and Military Organizations
  9. Kiernan, pp. 175-176. The official historiography of the Khmer Rouge, by contrast, depicts even this period as characterised by violent struggle against a repressive regime.
  10. Kiernan, p.227
  11. Kiernan, pp.250-253