สะพานพระราม 5

สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวัดนนทบุรี

สะพานพระราม 5 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 14 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เชื่อมระหว่างตำบลสวนใหญ่ (ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ) กับตำบลบางไผ่ (ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ) อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเป็นส่วนหนึ่งของถนนนครอินทร์

สะพานพระราม 5
เส้นทางถนนนครอินทร์
ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่ตั้งอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
ชื่อทางการสะพานพระราม 5
ผู้ดูแลกรมทางหลวงชนบท
รหัสส.006
เหนือน้ำสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์
ท้ายน้ำสะพานพระราม 7
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทชนิดปิดตายช่วงต่อเนื่อง
วัสดุคอนกรีตอัดแรง
ความยาว320 เมตร
ความกว้าง29.10 เมตร
ความสูง7.90 เมตร
ช่วงยาวที่สุด130.00 เมตร
จำนวนช่วง3
ประวัติ
วันเริ่มสร้าง1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542
วันเปิด21 มิถุนายน พ.ศ. 2545

ข้อมูลทั่วไป แก้

สะพานพระราม 5 เป็นสะพานจำนวนช่องทางรถวิ่ง 6 ช่องทางจราจร สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 7.90 เมตร มีความกว้างของสะพาน 29.10 เมตร และมีความยาวรวม 320 เมตร (เป็นช่วงกลางสะพานยาว 130 เมตร และช่วงริมสองข้างยาวข้างละ 95 เมตร) ตัวสะพานเป็นแบบคอนกรีตชนิดปิดตายช่วงต่อเนื่อง โครงสร้างส่วนบนเป็นคอนกรีตอัดแรง

ประวัติ แก้

สะพานพระราม 5 เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 โดยมีบริษัทสุมิโตโม คอนสตรัคชั่น จำกัด และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมก่อสร้างในความดูแลรับผิดชอบของกรมโยธาธิการ ใช้งบก่อสร้าง 6,915,000,000 บาท โดยทางฝั่งตำบลสวนใหญ่ แนวสะพานนี้ได้สร้างซ้อนกับซอยพิบูลสงคราม 13 (บุรีรังสรรค์) ซึ่งตั้งอยู่ข้างวัดนครอินทร์ สะพานแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกกันทั่วไปในขณะก่อสร้างว่า สะพานวัดนครอินทร์

เมื่อการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ กรมโยธาธิการจึงได้พิจารณาร่วมกับกรมศิลปากรในการหาชื่อเรียกสะพานวัดนครอินทร์อย่างเป็นทางการ ทางกรมศิลปากรได้พิจารณาความเหมาะสมแล้วเห็นว่า การตั้งชื่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้สมควรพิจารณาพระนามหรือพระสมัญญานามของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์มากกว่าในราชวงศ์อื่นหรือบุคคลสำคัญทั่วไป เพื่อเฉลิมพระเกียรติในฐานะที่พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ได้ทรงวางรากฐานความเจริญให้แก่กรุงเทพมหานครและเมืองในเขตปริมณฑล และเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่ทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังก่อสร้างอยู่ (ในขณะนั้น) ได้แก่ สะพานพระนั่งเกล้า สะพานพระปกเกล้า สะพานพระราม 7 และสะพานพระราม 8 เป็นต้น

และเมื่อได้พิจารณาจากหลักฐานและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ปรากฏว่า พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์หลายพระองค์ล้วนมีพระมหากรุณาธิคุณแก่เมืองนนทบุรีเป็นอย่างยิ่ง แต่พระองค์ที่มีความสัมพันธ์เป็นพิเศษพระองค์หนึ่งได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือนอกจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ แล้ว ยังโปรดเสด็จประพาสท้องที่เมืองนี้ด้วย

นอกจากนี้ สะพานแห่งใหม่นี้ยังมีที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสะพานพระราม 6 และสะพานพระราม 7 เท่าใดนัก ซึ่งพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในฐานะสมเด็จพระบรมชนกนาถและพระราชโอรส จึงสมควรที่จะขนานนามสะพานเป็นการเฉลิมพระเกียรติในพื้นที่ใกล้เคียงกัน โดยมีสะพานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนาถตั้งอยู่ทางทิศเหนือ คือ ณ บริเวณวัดนครอินทร์นี้เอง การอัญเชิญพระนามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นนามสะพานครั้งนี้มีข้อพิจารณาอยู่ 3 แบบ ได้แก่

  • สะพานพระราม 5 ย่อมาจากคำ "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5" ตามประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์อย่างสังเขป พ.ศ. 2459 ซึ่งยังสอดคล้องกับนามสะพานพระราม 6 และสะพานพระราม 7 อีกด้วย
  • สะพานจุลจอมเกล้า หรือ สะพานพระจุลจอมเกล้า ย่อมาจากส่วนหนึ่งของพระนามเต็ม
  • สะพานจุฬาลงกรณ์ ย่อมาจากส่วนหนึ่งของพระนามเต็ม

เมื่อทางกรมโยธาธิการได้ดำเนินการขอพระราชทานนาม พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดนครอินทร์แห่งนี้ว่า สะพานพระราม 5 เปิดการจราจรอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2545 ซึ่งปีดังกล่าวนี้ยังเป็นปีที่จังหวัดนนทบุรีมีอายุ 453 ปีอีกด้วย

อนึ่ง ชื่อสะพานพระจุลจอมเกล้าและสะพานจุฬาลงกรณ์นั้นได้นำไปใช้ตั้งชื่อสะพานอยู่ก่อนหน้าแล้ว โดยสะพานพระจุลจอมเกล้าเป็นชื่อของสะพานทางรถไฟข้ามแม่น้ำตาปี อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสะพานจุฬาลงกรณ์เป็นชื่อของสะพานรถยนต์และรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองในเขตตัวเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ซึ่งเดิมเรียกว่า "สะพานราชบุรี"

ข้อมูลทั่วไป แก้

  • วันที่ทำการก่อสร้าง : วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542
  • วันเปิดการจราจร : วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2545
  • บริษัทที่ทำการก่อสร้าง : บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
  • ราคาค่าก่อสร้าง : 6,915,000,000 บาท
  • แบบของสะพาน : เป็นสะพานชนิดต่อเนื่อง
  • โครงสร้างส่วนบน : คานคอนกรีตอัดแรงรูปโค้ง
  • สูงจากระดับน้ำ : 7.90 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
  • จำนวนช่วงสะพานกลางน้ำ : 3 ช่วง (95.00+130.00+95.00)
  • ความกว้างของสะพาน : 29.10 เมตร (2 * 14.55)
  • ความยาวของสะพาน : 130 เมตร
  • เชิงลาดสะพาน ฝั่งธนบุรี : 95 เมตร
  • เชิงลาดสะพาน ฝั่งพระนคร : 95 เมตร
  • รวมความยาวทั้งหมด : 320 เมตร
  • จำนวนช่องทางวิ่ง: 6 ช่องทางจราจร (ด้านละ 3 ช่องจราจร)
  • ความกว้างผิวจราจรสะพาน : 19.50 เมตร(6 * 3.25 )
  • ความกว้างของสะพาน : 29.10 เมตร
  • ความกว้างของทางเท้า (เฉพาะด้านทิศใต้) : 2.50 เมตร
  • ออกแบบรับน้ำหนัก : H-20-44

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°49′57″N 100°29′43″E / 13.832496°N 100.495312°E / 13.832496; 100.495312

ดูเพิ่ม แก้

สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน
เหนือน้ำ
สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์
 
สะพานพระราม 5
 
ท้ายน้ำ
สะพานพระราม 7