สหการนิยม (อังกฤษ: syndicalism) เป็นกระแสในขบวนการกรรมกรเพื่อสถาปนาองค์การกรรมกรในท้องถิ่น และผลักดันข้อเรียกร้องและสิทธิกรรมกรผ่านการนัดหยุดงาน ลัทธิดังกล่าวมีกิจกรรมมากที่สุดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นกระแสที่โดดเด่นในฝ่ายซ้ายปฏิวัติในทศวรรษก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติ เนื่องจากลัทธิมากซ์ทรรศนะดั้งเดิมยังเป็นสายปฏิรูปเสียมากในเวลานั้น[1]

องค์การสหการนิยมที่สำคัญ ได้แก่ สมาพันธ์แรงงานสาธารณชนในประเทศฝรั่งเศส, สมาพันธ์กรรมกรแห่งชาติในสเปน, สหภาพสหการนิยมอิตาลี สหภาพกรรมกรอิสระเยอรมนี, และสหพันธ์แรงงานภูมิภาคอาร์เจนตินา ส่วนคนงานอุตสาหกรรมแห่งโลก สหภาพการขนส่งและแรงงานสาธารณชนไอร์แลนด์ และสหภาพใหญ่เดียวแคนาดา แม้ไม่ถือว่าตนเป็นพวกสหการนิยม แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ถือว่ารับกระแสนี้ไปด้วย องค์การสหการนิยมจำนวนหนึ่งมีความเชื่อมโยงกับสมาคมกรรมกรระหว่างประเทศ แต่สมาชิกบางส่วนออกไปตั้งสมาพันธ์กรรมกรระหว่างประเทศ ซึ่งก่อตั้งในปี 2018 แทน

หลักการ แก้

สหการนิยมมิได้มาจากทฤษฎีหรืออุดมการณ์ที่มีการเสริมรายละเอียดอย่างเป็นระบบอย่างเดียวกับที่นักลัทธิมากซ์ได้รับจากสังคมนิยม แม้ว่าการศึกษาของกรรมกรมีความสำคัญอยู่ต่อนักกิจกรรมที่ยึดมั่นบางส่วน แต่นักสหการนิยมไม่เชื่อใจปัญญาชนกระฎุมพี โดยต้องการคงการควบคุมของกรรมกรเหนือขบวนการ ความคิดของนักสหการนิยมมีการสาธยายในจุลสาร ใบปลิว สุนทรพจน์และในหนังสือพิมพ์ของขบวนการเอง งานเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยการเรียกร้องให้ลงมือและการอภิปรายยุทธวิธีในการต่อสู้ทางชนชั้น งานเรื่อง การสะท้อนเรื่องความรุนแรง ของนักปรัชญา ฌอร์ฌ โซแรล เผยแพร่ความคิดสหการนิยมต่อสาธารณชนในวงกว้าง

ขอบเขตว่าจุดยืนสหการนิยมสะท้อนถึงทัศนะของผู้นำ และพลพรรครับจุดยืนเหล่านั้นมากน้อยเพียงใดนั้นยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ นักประวัติศาสตร์ ปีเตอร์ สเติร์นส์ ออกความเห็นต่อสหการนิยมในฝรั่งเศส และสรุปว่ากรรมกรส่วนใหญ่ไม่รับเป้าหมายระยะยาวของสหการนิยม และว่าการใช้อำนาจครอบงำของสหการนิยม (syndicalist hegemony) เป็นเหตุให้ขบวนการกรรมกรฝรั่งเศสเติบโตค่อนข้างช้าในภาพรวม เขาอ้างว่ากรรมกรที่เข้าร่วมขบวนการสหการนิยมไม่ยินดียินร้ายต่อปัญหาเรื่องหลักนิยม สมาชิกภาพในองค์การสหการนิยมเป็นเรื่องบังเอิญเสียบางส่วน และผู้นำไม่สามารถชักจูงกรรมกรให้รับความคิดสหการนิยมได้ ฝ่ายนักรัฐศาสตร์ เฟร็ด ริดลีย์ มองว่า ผู้นำมีอิทธิพลมากในการร่างความคิดสหการนิยม แต่สหการนิยมไม่ใช่เพียงเครื่องมือของผู้นำไม่กี่คน แต่เป็นผลผลิตอย่างแท้จริงของขบวนการกรรมกรฝรั่งเศส ดาร์ลิงตัน เสริมว่า สมาชิกส่วนใหญ่ใน ITGWU (สหภาพการขนส่งและแรงงานสาธารณชนไอร์แลนด์) ไอร์แลนด์รับปรัชญาการปฏิบัติโดยตรงของสหภาพ เบิร์ต อัลเทน่า แย้งว่า แม้มีหลักฐานความเชื่อของกรรมกรทั่วไปน้อย แต่บ่งชี้ว่าพวกเขาตระหนักถึงข้อแตกต่างทางหลักนิยมระหว่างกระแสต่าง ๆ ในขบวนการกรรมกรและสามารถปกป้องทัศนะของพวกตนได้ เขาชี้ว่ากรรมกรน่าจะเข้าใจหนังสือพิมพ์สหการนิยมและถกเถียงประเด็นการเมืองได้

นักสหการนิยมเห็นด้วยกับการเรียกรัฐว่าเป็น "คณะกรรมการบริหารของชนชั้นปกครอง" ของคาร์ล มากซ์ โดยมองว่าระเบียบทางเศรษฐกิจของสังคมตัดสินระเบียบทางการเมือง และตัดสินว่าระเบียบเศรษฐกิจไม่สามารถโค่นได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงระเบียบการเมือง พวกเขามองว่าแวดวงเศรษฐกิจเป็นสนามหลักสำหรับการต่อสู้ด้านปฏิวัติ และการเข้าร่วมในการเมืองอาจเป็นได้อย่างมากก็เป็น "เสียงสะท้อน" ของการต่อสู้ทางอุตสาหกรรม พวกเขารู้สึกกังขาต่อการเมืองแบบรัฐสภา สหภาพแรงงานสหการนิยมประกาศตนว่าเป็นกลางทางการเมืองและปลอดจากการควบคุมของพรรคการเมือง โดยให้เหตุผลว่าพรรคการเมืองรวมกลุ่มคนตามทัศนะทางการเมือง ซึ่งประกอบด้วยคนหลายชนชั้น ส่วนสหภาพแรงงานเป็นองค์การของชนชั้นกรรมกรเท่านั้น ฉะนั้นจึงไม่แบ่งแยกด้วยเหตุผลทางการเมือง[2]

นักสหการนิยมสนับสนุนการปฏิบัติโดยตรง รวมทั้งการทำงานให้พอตามกฎ (working to rule) การขัดขืนเงียบ การบ่อนทำลายและการนัดหยุดงาน โดยเฉพาะการนัดหยุดงานทั่วไปเป็นยุทธวิธีในการต่อสู้ทางชนชั้น แทนการปฏิบัติโดยอ้อมเช่นการเมืองแบบเลือกตั้ง[3] นักสหการนิยมมองว่าขั้นสุดท้ายก่อนการปฏิวัติจะเป็นการนัดหยุดงานทั่วไป[4]

นักสหการนิยมยังคงคลุมเครือในเรื่องสังคมที่จะเข้ามาแทนที่ทุนนิยม โดยอ้างว่าเป็นไปไม่ได้ในการพยากรณ์ในรายละเอียด สหภาพแรงงานถูกมองว่าเป็นตัวอ่อนของสังคมใหม่นอกเหนือจากเป็นวิธีการต่อสู้ในสังคมเก่า นักสหการนิยมโดยทั่วไปเห็นตรงกันว่าในสังคมเสรี กรรมกรจะเป็นผู้จัดการการผลิตเอง กลไกต่าง ๆ ของรัฐจะถูกแทนที่ด้วยการปกครองขององค์การกรรมกร ในสังคมเช่นว่าปัจเจกชนจะได้รับการปลดปล่อย ทั้งในวงเศรษฐกิจและในชีวิตส่วนตัวและสังคม[5]

 
การเดินขบวนโดยสหภาพสหการนิยมอาร์เจนตินา เอฟโออาร์เอ. ในปี ค.ศ. 1915

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Hobsbawm 1973, pg. 72.
  2. Darlington 2008, pg. 22–28.
  3. Darlington 2008, pg. 32–39.
  4. Darlington 2008, pg. 39–42.
  5. Darlington 2008, pg. 42–45.

บรรณานุกรม แก้

  • Darlington, Ralph (2008-04-23). Syndicalism and the Transition to Communism: An International Comparative Analysis. Aldershot: Ashgate. ASIN B01K91M5KW. ISBN 9780754636175.
  • Hobsbawm, Eric (1999-10-07) [1973]. Revolutionaries. London: Abacus. ASIN B01LPDV8ZG. ISBN 9780349112251.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้