สวนสัตว์พาต้า (อังกฤษ: Pata Zoo) เป็นสวนสัตว์ขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่ชั้น 6–7 ของห้างสรรพสินค้าพาต้า สาขาปิ่นเกล้า ในเขตบางพลัด ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร บริเวณแยกบรมราชชนนี ด้านมุ่งหน้าไปทางสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เปิดดำเนินกิจการเมื่อต้นปี พ.ศ. 2526 โดยเริ่มแรกเปิดให้เข้าฟรี ต่อมาจึงเริ่มเก็บค่าเข้าชม ในอัตราเด็ก 5 บาท ผู้ใหญ่ 10 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ ผู้ใหญ่ 80 บาท เด็ก 50 บาท เปิดตั้งแต่ 10.00-17.00 น. ทุกวัน ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการมีการแสดงพิเศษจากสัตว์ต่าง ๆ เช่น ละครลิง

รางวัลที่สวนสัตว์พาต้าได้รับ
บัวน้อย ขณะนั่งเล่นชิงช้า

ประวัติ แก้

 
ห้องอนุบาลสัตว์

สวนสัตว์พาต้าจดทะเบียนขึ้นเป็นสวนสัตว์เอกชนในปี พ.ศ. 2557 โดยจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ถือเป็นสวนสัตว์เอกชนแห่งแรกในประเทศไทย ในขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายควบคุมสวนสัตว์ก่อนจะมีกฎหมายคุ้มครองขึ้นในปี 2535 [1] พาต้านำสัตว์เข้ามาจากบริษัทสยามฟาร์ม จำแนกตามประเภทประกอบไปด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประมาณ 130 ชนิด ราว 250 ตัว สัตว์ปีก 300 ชนิด มากกว่า 600 ตัว สัตว์เลื้อยคลานสะเทินน้ำสะเทินบก 350 ชนิด ประมาณ 700 ตัว จำนวนนี้ไม่รวมงูหลามทองที่ได้จากการเพาะเลี้ยง

สวนสัตว์พาต้าอยู่ที่ชั้นที่ 6 ของห้างพาต้า โดยเป็นส่วนแสดงของสัตว์เลื้อยคลาน, สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ, สัตว์เลือดเย็น หรือสัตว์หากินในเวลากลางคืน มีการตกแต่งอย่างสนใจในรูปแบบป่าดึกดำบรรพ์ และมีจุดเด่น คือ ซากสต๊าฟของปลากระเบนราหูน้ำจืดขนาดใหญ่ รวมถึงส่วนแสดงงูหลามทองขนาดใหญ่ รวมถึงเคยแสดงซาลาแมนเดอร์ยักษ์เพียงตัวเดียวในประเทศไทย ซึ่งต่อมาเมื่อตายลงได้มีการแสดงซากสต๊าฟเอาไว้ เริ่มแรกทางสัตว์พาต้าจัดโซน "สัตว์โลกพิสดาร" เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจให้คนมาชม ก่อนจะได้รับเสียงตอบรับ และเปิดเป็นสวนสัตว์เต็มรูปแบบ[2]

ในชั้นที่ 7 จะเป็นสวนแสดงของสัตว์หลากหลายชนิด เช่น นกเพนกวิน, นกเงือก, ม้าแคระ, ลีเมอร์, อุรังอุตัง, ลิงกังเผือก, ลิงวอกเผือก, ค่างดำ, ลิงสไปเดอร์, เสือโคร่ง, เสือดาว-เสือดำ, เสือลายเมฆ, แมวดาว, หมีควาย, หมีหมา, หมาจิ้งจอก, นกมาคอว์ และมีสวนสัตว์เด็กที่สามารถสัมผัสตัวสัตว์ได้ เช่น กระต่าย, แกะ, แพะ, หนูตะเภา รวมถึงกรงนกขนาดใหญ่ที่มีทางเดินที่ขนาบไปด้วยน้ำและน้ำตก และจุดเด่นของสวนสัตว์ชั้นนี้ คือ กอริลลา ที่เป็นเอปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเดิมเคยมีอยู่ด้วยกัน 2 ตัว เป็นเพศผู้และเพศเมีย[3]

จุดเด่นของสวนสัตว์แห่งนี้ในช่วงเปิดตัว คือ อยู่บนชั้นสูงสุดของห้างสรรพสินค้าที่ทันสมัยในยุคนั้น ต้องอาศัยลิฟต์แก้ว ซึ่งมีผนังกระจกขึ้นไป เดินทางขึ้นไปพร้อมกับชมทิวทัศน์ภายนอกอาคาร บางส่วนของสวนสัตว์ติดเครื่องปรับอากาศ เพื่อจัดแสดงสัตว์เมืองหนาว ที่ไม่มีแสดงที่สวนสัตว์อื่น ๆ ของรัฐในประเทศไทย เช่น นกเพนกวิน อนึ่ง สวนสัตว์พาต้าเคยถูกไฟไหม้เมื่อ พ.ศ. 2535 จนทำให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยที่อยู่ในส่วนจัดแสดงตายเป็นจำนวนมาก ก่อนจะมีการปรับปรุงและเปิดให้เข้าชมได้ตามปกติในอีกไม่กี่เดือนต่อมา

ต่อมา กิจการของสวนสัตว์พาต้าอยู่ในช่วงซบเซา มีผู้เข้าชมลดน้อยลงจากเดิมไปมาก เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป กระทั่งในปี พ.ศ. 2557 ได้มีการเรียกร้องให้ปล่อยกอริลลาเพศเมียที่มีเหลืออยู่เพียงตัวเดียวที่ชื่อ "บัวน้อย" เนื่องจากมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดูน่าสงสาร ต้องอยู่ในห้องปรับอากาศ โดยริเริ่มกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 [4] แต่ทางผู้บริหารสวนสัตว์และสัตวแพทย์ยืนยันว่าบัวน้อยมีสุขภาพกายและจิตที่แข็งแรงดี รวมถึงได้รับการดูแลเป็นอย่างดี[5]ภายหลังที่ สวนสัตว์ดุสิต ปิดตัวลงเมื่อปี 2561 นายคณิต เสริมศิริมงคล ผู้อำนวยการสวนสัตว์พาต้า เปิดเผยว่าในช่วงปี 2562 โดยนับย้อนไป 10 เดือนตั้งแต่สวนสัตว์ดุสิตปิดตัว มีผู้ใช้บริการสวนสัตว์สูงขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 50 % โดยเฉพาะในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และในช่วงปิดภาคการศึกษา[6]

สวนสัตว์พาต้าในปัจจุบันได้ขนย้ายสัตว์บางส่วนไปไว้ที่พักสัตว์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เพื่อลดความแออัดของจำนวนประชากรสัตว์ ทางด้านผู้บริหารและผู้จัดการสวนสัตว์พาต้ายืนยันว่าพาต้าดูแลอย่างดีที่สุด สวนสัตว์พาต้าถูกตั้งคำถามถึงเรื่องการจัดการดูแลสัตว์อยู่บ่อยครั้งรวมไปถึงเรื่องข้อจำกัดทางด้านพื้นที่แตกต่างจากสวนสัตว์ทั่วไป ถูกตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสมเพราะพื้นที่จัดแสดงคับแคบเกินไป และสัตว์ไม่ได้อยู่กับสภาพธรรมชาติที่ควรจะอยู่หรือควรจะได้รับเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมให้สัตว์ปรับตัวกับธรรมชาติได้ ปัจจุบันทางสวนสัตว์พาต้าได้ทำการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น งูหลามทอง ชะนีมงกุฎ เสือดาว ลิงแสมเผือก ลิงอุรังอุตัง เป็นต้น และได้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างสวนสัตว์ด้วยกัน เพื่อการศึกษาวิจัยและการดำรงเผ่าพันธุ์ ทางสวนสัตว์พาต้ายืนยันหากมีพื้นที่ป่ามากพอ ทางสวนสัตว์จะปล่อยสู่ธรรมชาติ ตลอดจนมีการวางแผน ศึกษา วิจัย ทดลอง[7]

อ้างอิง แก้

  1. "สวนสัตว์พาต้า บ้านของสัตว์ที่กำลังจะมีกฎหมายรองรับ
  2. [Excluesive สวนสัตว์พาต้า-กอริลลาบัวน้อย ตำนานที่ยังมีชีวิต]
  3. "สวนสัตว์พาต้า จ.กรุงเทพฯ". ฮอลิเดย์ไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-24. สืบค้นเมื่อ 7 October 2014.
  4. "'สวนสัตว์พาต้า' ควรค่าแก่กาลอวสาน..หรือไม่?". ผู้จัดการออนไลน์. 21 July 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-15. สืบค้นเมื่อ 7 October 2014.
  5. "คืนความสุขกอริลลา 'บัวน้อย' ปิด - ไม่ปิด? สวนสัตว์ลอยฟ้าฯ". ผู้จัดการออนไลน์. 25 September 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 7 October 2014.
  6. สวนสัตว์พาต้าเฮ!!!รับอานิสงส์กลุ่มครอบครัวเดินทางมาพักผ่อนพุ่ง 50% หลังจากเขาดินวนาปิด
  7. สามทศวรรษ ‘สวนสัตว์พาต้า’ : เรา(เลือก)มองหาสิ่งใด

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°46′17″N 100°29′02″E / 13.771305°N 100.484025°E / 13.771305; 100.484025