สรีดภงส์ หรือ ศรีดภงส์, สรีดภงค์, สรีดภงษ์, ทำนบพระร่วง[2] คือเขื่อนที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณที่ถูกขนาบด้วยภูเขาสองลูกเป็นรูปก้ามปู คือ เขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายมา ภูเขาทั้งสองลูกนี้อยู่ในทิวเขาหลวงด้านหลังตัวเมืองสุโขทัยโบราณ ลึกเข้าไปในทิวเขานี้เป็นซอกเขาอันเป็นต้นกำเนิดของทางน้ำเรียกว่า "โซกพระร่วงลองขรรค์"

สรีดภงส์
ทำนบพระร่วง
ชื่อทางการสรีดภงส์
ที่ตั้งอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย บ้านมนต์คีรี ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย
โครงสร้างและทางน้ำล้น
กั้นเขื่อน
อ่างเก็บน้ำ
ความจุประมาณ 4 แสนลูกบาศก์เมตร[1]

สรีดภงส์ ถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคันดิน หรือที่เรียกว่า ทำนบกั้นน้ำ (dyke) มีจุดประสงค์หลักคือการทำหน้าที่กักเก็บน้ำบริเวณที่ราบต่ำระหว่างเขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายมา เพื่อใช้ในการเกษตรกรรมและการล่อเลี้ยงน้ำในและการใช้สอยในเมืองคูเมืองผ่านทางคลองเสาหอทางทิศตะวันออกตามความลาดชันของพื้นที่ที่ลาดเอียงไปทางทิศตะวันออก

สถาปัตยกรรม แก้

สรีดภงส์เป็นคันดินกั้นน้ำระหว่างเขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายมา โดยเขื่อนจะกักน้ำและมีระบบชักน้ำไปตามคลองส่งน้ำลำเลียงไปตามคลองสู่กำแพงเมืองเก่า แล้วน้ำจะไหลเข้าสู่สระตระพังเงินสระตระพังทองเพื่อใช้สอยในเมืองและพระราชวังในสมัยสุโขทัย

แหล่งต้นน้ำ แก้

สำหรับแหล่งต้นน้ำในอดีตเรียกว่า โซก ก็คือลำธาร โซกที่สำคัญได้แก่ โซกพระร่วงลองขรรค์ โซกพระร่วงลับขรรค์ โซกพม่าฝนหอก โซกชมพู่ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลมาจากเขาประทักษ์ (รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จประพาสตามบทพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง)

การเดินทาง แก้

เขื่อนสรีดภงส์อยู่ภายนอกกำแพงเมืองเก่าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ นักท่องเที่ยวสามารถขี่จักรยานแล้วแวะขึ้นไปชมหรือขับรถขึ้นไปยังสันเขื่อนที่ไม่สูงนักได้

สภาพปัจจุบัน แก้

สรีดภงส์ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566

ปัจจุบันกรมชลประทานได้สร้างเขื่อนดินสูงเป็นแนวเชื่อมระหว่างปลายเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้ายมา สามารถกักเก็บน้ำที่ไหลออกมาจากโซกพระร่วงลองขรรค์ บริเวณระหว่างเขาทั้งสองลูกจึงกลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดย่อมและระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำนี้ลงคลองเสาหอ ซึ่งจะนำน้ำนี้เข้าคูเมืองสุโขทัยที่มุมเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้ อันเป็นตำแหน่งที่มีระดับความสูงของพื้นดินสูงที่สุดของเมืองสุโขทัย น้ำจากคลองเสาหอจะไหลลงคูเมืองด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ จากนั้นจะไหลเข้าคูเมืองด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกไปสู่มุมเมืองทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีระดับต่ำที่สุดก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำลำพันไปลงแม่น้ำยมที่อยู่ไกลออกไปทางทิศตะวันออก

งานค้นคว้า แก้

จากการศึกษา[3] พบว่าแต่เดิมก่อนที่กรมชลประทานจะก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำนั้น บริเวณนี้จะมีคันดินเตี้ย ๆ สูงประมาณ 1-2 เมตร ทอดยาวเป็นแนวขนานกันกับเขื่อนดินสร้างใหม่ของกรมชลประทานมีคำเรียกคันดินโบราณนี้ว่า ทำนบพระร่วง แต่ลักษณะคันดินไม่สูงนักรวมทั้งมิได้มีสภาพการก่อสร้างที่แข็งแรงพอ จึงอาจที่จะวิเคราะห์ได้ว่า คันดินโบราณที่เรียกว่าทำนบพระร่วงนี้ มิได้ทำหน้าที่เป็นเขื่อนกักเก็บน้ำเหมือนกับเขื่อนดินที่กรมชลประทานมาสร้างไว้ อาจจะทำหน้าที่เพียงเพื่อบังคับทิศทางของน้ำที่มีมากในฤดูฝน มิให้ไหลล้นไปในทิศทางอื่นที่มิใช่ทิศทางไปสู่เมืองสุโขทัยแต่จะทำหน้าที่เบนน้ำทั้งหมดที่ไหลมาจากเขาทั้งสองลูกนี้ให้ไหลลงไปในคลองเสาหอทั้งหมด เพื่อนำไปสู่คูเมืองสุโขทัย

ทั้งนี้ แนวคันดินที่ทำหน้าที่เบี่ยงเบนทิศทางของน้ำให้ไหลไปตามทิศที่ต้องการซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับทำนบพระร่วงนั้น ถูกพบได้โดยทั่วไปบนพื้นที่ลาดเอียงรอบ ๆ เมืองเก่าสุโขทัย โดยพบมากที่สุดที่บริเวณเชิงเขาด้านทิศตะวันตกจรดทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง โดยที่ไม่ได้เรียกว่าทำนบพระร่วงแต่อย่างใด เฉพาะคันดินเป็นแนวเชื่อมระหว่างเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้ายนี้ที่มีชื่อเรียกกันมาว่า "ทำนบพระร่วง" เพราะอาจเป็นคันดินแนวที่ชัดเจนที่สุดและถูกรู้จักมาช้านานก็เป็นได้ ทั้งนี้ ทำนบพระร่วงแห่งนี้ นักวิชาการหลายท่านได้เรียกชื่อเป็น สรีดภงส์ ตามชื่อที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช)

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. เขื่อนสรีดภงส์ ระบบชลประทานแห่งแรกของชนชาติไทย .สืบค้นวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2562
  2. เขื่อนสรีดภงส์ ทำนบพระร่วง | ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย .สืบค้นเมื่อ 06/01/2562
  3. "สรีดภงส์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-17. สืบค้นเมื่อ 2009-01-03.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้