สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ

สมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษและไอร์แลนด์ (ครองราชย์: ค.ศ. 1558-1603)

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 (อังกฤษ: Elizabeth I; 7 กันยายน ค.ศ. 1533 — 24 มีนาคม ค.ศ. 1603) เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1558 จนเสด็จสวรรคตในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ.1603 พระนางทรงได้รับพระฉายานามว่า "ราชินีพรหมจารี" (เนื่องจากการไม่อภิเษกสมรสเลยตลอดพระชนม์ชีพ) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ทรงเป็นกษัตรีย์พระองค์ที่ 5 และนับเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ทิวดอร์ และทรงเป็นประมุขสูงสุดของคริสตจักรแห่งอังกฤษ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1
พระบรมสาทิสลักษณ์ ในค.ศ. 1575
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษและไอร์แลนด์
ครองราชย์17 พฤศจิกายน 1558 –
24 มีนาคม 1603
(44 ปี 158 วัน)
ราชินยาภิเษก15 มกราคม 1559
ก่อนหน้าพระนางแมรีที่ 1 และ พระเจ้าเฟลีเป
ถัดไปพระเจ้าเจมส์ที่ 1
พระราชสมภพ7 กันยายน ค.ศ. 1533
วังพลาเซ็นเทีย, กรีนิช, สหราชอาณาจักร
สวรรคต24 มีนาคม ค.ศ. 1603(1603-03-24) (69 ปี)
พระราชวังริชมอนด์, เซอร์รีย์, สหราชอาณาจักร
ฝังพระบรมศพมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์
ราชวงศ์ทิวดอร์
พระราชบิดาพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ
พระราชมารดาแอนน์ บุลิน
ศาสนาศาสนาคริสต์ นิกายแองกลิคัน
ลายพระอภิไธย

พระชนม์ชีพช่วงต้น แก้

 
เจ้าหญิงอลิซาเบธ

สมเด็จพระราชืนีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ทรงพระราชสมภพที่พระราชวังพลาเซ็นเทีย เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1533 เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 กับสมเด็จพระราชินีแอนน์ บุลิน พระมเหสีพระองค์ที่ 2 ซึ่งถูกประหารชีวิตโดยการบั่นพระเศียรเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 พระชนมายุได้เพียงเกือบ 3 พรรษา จากนั้นพระองค์ก็ทรงถูกประกาศว่าเป็นพระราชธิดานอกกฎหมาย

ชีวิตในวัยเด็กของพระองค์ยากลำบากมากและล่อแหลมเต็มไปด้วยอันตราย ต้องทนทุกข์ระทมจากการที่พระมารดาถูกประหารชีวิตของและการไม่สนิทสนมกับพระราชบิดา แต่พระองค์ก็ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดียิ่งและได้รับการเลี้ยงดูท่ามกลางศรัทธาในนิกายโปรเตสแตนต์ พระนางมีพระอัจฉริยภาพในด้านภาษาเป็นอย่างมาก พระนางสามารถตรัสได้ 7 ภาษาทั้ง ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน ละติน กรีก และอิตาเลียน ได้เป็นอย่างดี ในระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 แห่งอังกฤษ (พ.ศ. 2090 - 2096) แม้ว่าอลิซาเบทจะเล็กเกินกว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขาดแม่ แต่ชีวิตของเธอนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากอีกครั้งเมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่แปดได้ประกาศเพิกถอนการสมรสกับพระราชินีแอน บุลิน ซึ่งทำให้อลิซาเบทกลายเป็นลูกนอกสมรสไปในชั่วพริบตาด้วยอายุเพียงสามขวบ อลิซาเบธถึงกับเอ่ยปากถามพระพี่เลี้ยงว่า "เป็นไปได้อย่างไร เมื่อวานนี้เจ้ายังขานนามข้าว่าเจ้าหญิง แต่วันนี้ข้าเป็นเพียงเลดี้ อลิซาเบท" เมื่อเฮนรี่สมรสใหม่กับพระนางเจน ซีมัวร์ นั้นทำให้พระองค์ก็มิได้ใส่ใจกับอลิซาเบทอีกต่อไป ถึงขนาดที่พระพี่เลี้ยงต้องส่งหนังสือถึงเฮนรี่เพื่อขอให้จัดหาเสื้อผ้าใหม่ให้แก่อลิซาเบท เพราะเหตุว่าพระองค์เจริญพระชนมายุเกินกว่าที่จะสวมใส่เสื้อผ้าเก่านั้นได้ต่อไปอีกแล้ว

เมื่อพระนางเจน ซีมัวร์ สิ้นพระชนม์หลังจากที่ได้ให้กำเนิดแก่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พี่น้องต่างมารดาทั้งสามก็ถูกนำมาเลี้ยงดูร่วมกัน แต่เพราะแมรี่นั้นอายุห่างจากน้องทั้งสองมาก อีกทั้งยังต่างศาสนา อลิซาเบทจึงใกล้ชิดกับเอ็ดเวิร์ดมากกว่า ทั้งสองทรงได้รับการศึกษาอย่างดีเลิศเช่นการทรงพระอักษรภาษาลาติน, กรีก, สเปน และฝรั่งเศส รวมทั้งประวัติศาสตร์, ปรัชญา และคณิตศาสตร์

ชีวิตยามเยาว์วัยของอลิซาเบธได้สัมผัสกับความสุขอยู่บ้าง เมื่อเฮนรี่สมรสกับแคทเธอรีน ฮาวเวิร์ด ซึ่งเป็นพระญาติกับพระราชินีแอน บุลิน แคทเธอรีนดูแลให้ความรักแก่เจ้าหญิงองค์น้อยนี้เป็นอย่างดี ทั้งยังได้ยกย่องพระองค์ให้สมกับตำแหน่งเจ้าหญิง แต่ความสุขความอบอุ่นก็มาเพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ และจบลงเมื่อแคทเธอรีนต้องโทษประหารชีวิตอีกคน อลิซาเบธตกอยู่ในสภาพที่สับสนทางจิตใจมาก เมื่อเห็นผู้หญิงที่เธอรักสองคนต้องตายตกตามกันไปเพราะผู้ชายคนเดียวกัน ถึงขนาดที่เธอเอ่ยปากกล่าวกับโรเบิร์ต ดัดเลย์ เพื่อนเล่นเมื่อครั้งยังพระเยาว์จนเติบโตมาเป็นเพื่อนใจในยามหนุ่มสาวว่า ในชีวิตนี้พระองค์จะไม่อภิเษกกับใครทั้งสิ้น

แม้ว่าราชินีองค์ที่หกแห่งพระเจ้าเฮนรี่ที่แปด - ราชินีแคทเธอรีน พารร์ จะพยายามสร้างบรรยากาศให้เป็นเสมือนครอบครัวที่อบอุ่นเพียงใด แต่ในความสงบนั้น อลิซาเบธไม่ได้มีความสุขสักเท่าใด ในขณะที่แคทเธอรีนพยายามจะเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกให้ดีขึ้น อลิซาเบธก็พยายามตัดรอนตอบโต้พระบิดาถึงขนาดว่าพระองค์ถูกสั่งให้ออกไปพ้นเขตวัง แคทเธอรีน ต้องเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเป็นกาวใจให้สองพ่อลูกและขออนุญาตให้อลิซาเบธได้กลับเข้ามาอยู่ในวังตามเดิม ความสัมพันธ์ของเฮนรี่และอลิซาเบธเป็นดังราวคนแปลกหน้าสองคนมากกว่าที่จะเป็นพ่อลูกจวบจนพระเจ้าเฮนรี่ที่แปดได้สิ้นพระชนม์ในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1547 ในขณะที่อลิซาเบธมีพระชนมายุสิบสามชันษา และเอ็ดเวิร์ดได้กลายเป็นยุวกษัตริย์แห่งอังกฤษเมื่ออายุได้เก้าปี พระราชโอรสในพระเจ้าเฮนรีและสมเด็จพระราชินีเจน ซีมอร์ พระมเหสีองค์ที่ 3 ต่อมาเมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จสวรรคต เนื่องด้วยการเมืองและศาสนาในรัชสมัยของพระองค์และการผลักดันของผู้สำเร็จราชการ(จอห์น ดัดลีย์)ทำให้พระองค์ยกราชบัลลังก์ตกแก่เลดีเจน เกรย์(หลายเอกสารไม่นับเลดีเจน เกรย์เป็นราชินีนาถแห่งอังกฤษผู้เป็นโปรเตสแตนท์ เนื่องจากการขึ้นครองราชย์ที่ไม่ได้มาจากการสืบสันติวงศ์และระยะเวลาครองบัลลังก์เพียง 9 วัน) ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดพระเชษฐภคินีต่างพระมารดาสองพระองค์ออกจากสิทธิในการสืบราชบัลลังก์อังกฤษ แต่ในที่สุดเจ้าหญิงแมรีก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 (ทรงมีฉายาว่า Bloody Mary ราชินีแมรี่ ผู้กระหายเลือด) ผู้ทรงเป็นโรมันคาทอลิก ในรัชสมัยของราชินีนาถแมรีเจ้าหญิงเอลิซาเบธ(พระยศในขณะนั้น)ทรงถูกจำขังอยู่ปีหนึ่งในข้อสงสัยว่าทรงมีส่วนร่วมในการสนับสนุนฝ่ายก่อการโปรเตสแตนต์ในอังกฤษ

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 16 พรรษา ลอร์ดทอมัส ซีมัวร์ ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเรือได้วางแผนพยายามขออภิเษกสมรสด้วยเพื่อใช้พระองค์เป็นเครื่องมือหาทางล้มล้างรัฐบาล แต่ทรงหลบเลี่ยงได้อย่างนุ่มนวลและลอร์ดซีมัวร์ก็ได้ถูกประหารชีวิตในความผิดฐานกบฏ ในระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งอังกฤษ (พ.ศ. 2096 - 2101) การแสดงตนเป็นโปรแตสแตนท์ของพระองค์ทำให้สมเด็จพระราชินีแมรี พระเชษฐภคินีซึ่งเป็นโรมันคาทอลิกรู้สึกหวั่นไหว พระนางอลิซาเบธจึงทรงถูกจองจำไว้ที่หอคอยแห่งลอนดอน หลังจากเสด็จสวรรคตของพระเชษฐภคินีสมเด็จพระราชินีนาถแมรี ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1558 เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ทิวดอร์ ก็เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงตั้งพระทัยที่จะปกครองโดยมีที่ปรึกษาราชการผู้มีคุณธรรม[1] พระองค์ทรงไว้วางพระทัยในกลุ่มที่ปรึกษาที่ทรงไว้วางใจที่นำโดยวิลเลียม เซซิล บารอนแห่งเบอร์ลีย์ที่ 1 สิ่งแรกที่ทรงกระทำในฐานะพระราชินีนาถคือการสนับสนุนการก่อตั้งสถาบันโปรเตสแตนต์ในอังกฤษครั้งที่สอง ซึ่งมีพระองค์เองเป็น “ประมุขสูงสุด” (Supreme Governor) นโยบายทางศาสนาของพระองค์เป็นนโยบายที่ดำเนินตลอดมาในช่วงรัชสมัยการปกครอง และต่อมาวิวัฒนาการมาเป็น “นิกายแองกลิกัน” หรือ “คริสตจักรแห่งอังกฤษ”

พิธีราชาภิเษก แก้

 
สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ในชื่อภาพว่า “พิธีราชาภิเษกของเอลิซาเบธ” (The Coronation of Elizabeth)

เมื่อเวลา 14.00 น. ของวันเสาร์ที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1559 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 เสด็จออกจากหอคอยลอนดอนเพื่อผ่านกรุงลอนดอนไปยังพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ซึ่งตลอดเส้นทางขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคตกแต่งอย่างหรูหราและสมพระเกียรติที่สุด พระนางได้พบปะกับพสกนิกรชาวอังกฤษ จากนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ พิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเกิดขึ้นในวันถัดไปคือวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม ค.ศ.1559 ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งเป็นสถานที่ดั้งเดิมสำหรับพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าวิลเลียมที่ 1ในปี ค.ศ.1066

 
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 เสด็จพระราชดำเนินไปยังเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 เสด็จออกจากหอคอยลอนดอน พระนางสวมฉลองพระองค์ด้วยเสื้อคลุมสีทองและเงินซึ่งเคยเป็นของสมเด็จพระราชินีนาถแมรี่ แต่เสื้อท่อนบนถูกทำขึ้นใหม่ พระนางเอลิซาเบธเสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ พร้อมด้วย เสนาบดี คหบดี ขุนนางและชนชั้นสูงอื่นๆ ของราชสำนักแห่งอังกฤษ รวมทั้งสตรีผู้ดี พระนางเสด็จพระราชดำเนินไปยังมุขฝั่งตะวันตกของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ หน้าพระแท่น ทรงถูกเจิมด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธ์จากกรุงเยรูซาเล็ม ทรงเข้าพิธีสาบานตนในฐานะกษัตริย์แห่งอังกฤษ จากนั้นพระนางเสด็จขึ้นไปประทับบนบัลลังก์นักบุญเอ็ดเวิร์ด และบิชอปแห่งคาร์ไลส์จึงได้ทำการสวมพระมหามงกุฏบนพระเศียร โดยปกติอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจะประกอบพิธีนี้ แต่สันตะสำนักยังว่างอยู่ในขณะนั้น และอาร์คบิชอปแห่งยอร์กปฏิเสธที่จะประกอบพิธีนี้ พิธีบางส่วนเป็นภาษาละตินดั้งเดิมและบางส่วนเป็นภาษาอังกฤษ ถือเป็นพิธีบรมราชาภิเษกครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์อังกฤษ ที่ใช้ภาษาละติน

เหตุการณ์ตลอดรัชสมัย แก้

การขึ้นเสวยราชย์ของพระองค์เมื่อ พ.ศ. 2101 อันเนื่องมาจากการสวรรคตของพระราชินีแมรีที่ 1 ได้รับการแซ่ซ้องและยอมรับเป็นอย่างมากจากผู้คนที่หวังจะได้มีเสรีภาพทางศาสนามากขึ้นหลังจากที่ได้ถูกกดขี่มาโดยตลอดในรัชกาลก่อน ๆ ภายใต้การนำอย่างแข็งขันของวิลเลียม เซซิล บารอนแห่งเบอร์ลีย์ที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กฎหมายสนับสนุนคาทอลิกของพระนางแมรีที่ 1 ได้ถูกยกเลิกและนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ ก็ได้รับการสถาปนาขึ้น (ระหว่าง พ.ศ. 2102-2106) นอกจากนี้เซซิลยังได้ให้การสนับสนุนการปฏิรูปสกอตแลนด์ ซึ่งทำให้พระราชินีแมรีแห่งสกอตแลนด์กลับคืนบัลลังก์ได้อีกในปี พ.ศ. 2104 ยังผลให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นกับพวกลัทธิคาลวิน โดย"จอห์น นอกซ์" หนึ่งในผู้ก่อตั้งนิกายโปรแตสแตนท์ ซึ่งได้จับพระนางจองจำและบังคับให้สละราชบัลลังก์ในปี พ.ศ. 2110 ทำให้พระองค์ต้องหลบหนีไปประทับในอังกฤษแต่ก็ถูกจับกักบริเวณอีก ซึ่งต่อมาเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นจุดสนใจและเป็นศูนย์รวมชาวคาทอลิกที่รวมตัวกันต่อต้านนิกายโปรแตสแตนท์ ในปี พ.ศ. 2113 ได้มีการประกาศให้พวกคาทอลิกเลิกนับถือสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธเป็นราชินี ซึ่งรัฐบาลเริ่มแก้เผ็ดชาวคาทอลิกอังกฤษด้วยการจำกัดสิทธิบางอย่างและค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นถึงขั้นปราบปรามในช่วงปี พ.ศ. 2123-พ.ศ. 2133

แผนการล้มล้างสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 ถูกเปิดเผยบ่อยครั้งขึ้น และอีกครั้งหนึ่งโดยการสนับสนุนอย่างลับ ๆ ของพระนางแมรีใน พ.ศ. 2129 ที่เป็นผลให้พระนางทรงถูกประหารชีวิตในปีต่อมา นโยบายต่อต้านและเข้มงวดต่อผู้ถือนิกายโรมันคาทอลิกเพิ่มความรุนแรงขึ้น มีผลให้อังกฤษสนับสนุนฝ่ายกบฏชาวฮอลันดาที่ต่อต้านสเปน มีการ “แต่งตั้งโจรสลัด” อย่างเป็นงานเป็นการ ดังเช่น "จอห์น ฮอว์ลีน" และ "ฟรานซิส เดรก" เพื่อคอยดักปล้นทรัพย์สินของพวกสเปนในโลกใหม่ ปรากฏการณ์เหล่านี้ยั่วยุให้สเปนก่อสงครามรุกรานอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2101 กองเรืออาร์มาดาอันยิ่งใหญ่ของสเปนได้บุกเข้ามาปิดช่องแคบอังกฤษ แต่ก็ถูกทำลายจากทั้งพายุที่มีชื่อว่า ลมโปรแตสแตนท์และการตีโต้กลับจากฝ่ายอังกฤษจนสูญเสียเรือเป็นจำนวนมากพ่ายแพ้อย่างบอบช้ำจนต้องถอยกลับสเปน

ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 พระองค์ได้เพิ่มพันธมิตรและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่นิกายโปรเตสแตนต์มากขึ้น และในขณะเดียวกันก็แบ่งแยกศัตรูฝ่ายคาทอลิกรุนแรงมากขึ้นด้วย พระนางแสร้งยอมให้เชื้อพระวงศ์ต่างประเทศหลายรายเจรจาขออภิเษกสมรสกับพระองค์ แต่พระองค์ก็มิได้จริงจังและมิได้ทรงกำหนดให้มีการสืบรัชทายาทไว้แต่อย่างใด และด้วยการสิ้นพระชนม์ของพระราชินีแมรีแห่งสกอตแลนด์ ทำให้พระนางได้ทรงทราบด้วยความพอพระทัยว่าองค์รัชทายาท คือพระเจ้าเจมส์ที่ 1 เป็นโปรแตสแตนท์ พระองค์ได้มีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับขุนนางสำคัญคือ "โรเบิร์ต ดัดเลย์" เอิร์ลแห่งลีเซสเตอร์ และต่อมากับ"โรเบิร์ต เดอเวโรซ์ เอิร์ล"แห่งเอสเซกซ์ จนกระทั่งเดอเวโรซ์ถูกประหารชีวิตด้วยข้อหากบฏในปี พ.ศ. 2144 ในด้านการปกครองพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงดำเนินนโยบายที่เป็นสายกลางมากกว่าพระราชบิดา พระอนุชา และ พระเชษฐภคินี[2] คำขวัญที่ทรงถืออยู่คำหนึ่งคือ “video et taceo” (ไทย: ข้าพเจ้ารู้แต่ข้าพเจ้าไม่พูด) [3] นโยบายดังกล่าวสร้างความอึดอัดใจให้แก่บรรดาราชองคมนตรี แต่ก็เป็นนโยบายที่ทำให้ทรงรอดจากการสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองและทางการมีคู่ในทางที่ไม่ถูกไม่ควรมาหลายครั้ง แม้ว่าจะทรงดำเนินนโยบายการต่างประเทศอย่างระมัดระวัง และทรงสนับสนุนการสงครามในเนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส และ ไอร์แลนด์อย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ แต่ชัยชนะที่ทรงมีต่อกองเรืออาร์มาดาของสเปนในปี พ.ศ. 2131 ก็ทำให้ทรงมีชื่อว่าทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับชัยชนะอันสำคัญที่ถือกันว่าเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร ภายใน 20 ปีหลังจากการเสด็จสวรรคต พระองค์ก็ทรงได้ชื่อว่าเป็นพระมหากษัตรีย์ยุคทองของอังกฤษ

ยุคสมัยของพระราชินีอลิซาเบธ ได้รับการเรียกว่า “สมัยอลิซาเบธ” หรือยุคทอง เนื่องจากเป็นยุคที่อังกฤษขยายแสนยานุภาพไปทั่วโลก ในยุคสมัยนี้ ได้มีชาวอังกฤษผู้โด่งดังในสาขาวิชาต่าง ๆ มากมาย เช่น กวีชื่อก้องโลก วิลเลียม เชกสเปียร์ "คริสโตเฟอร์ มาโลว์" และ "จอห์น เบ็นสัน" ก็ได้มีเริ่มมีชื่อเสียงในยุคนี้ ฟรานซิส เดรก ได้เป็นชาวอังกฤษคนแรกที่เป็นนักเดินเรือสำรวจรอบโลก "ฟรานซิส เบคอน" ได้เสนอความคิดทางปรัญชาและทางการเมือง "เซอร์ วอลเตอร์ ราเลย์" และ "เซอร์ ฮัมเฟรย์ กิลเบิร์ต" ได้สร้างอาณานิคมของอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือ

 
ภาพเขียนสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 เมื่อพ.ศ. 2131 เนื่องในวาระพิชิตกองเรีออามาดาของสเปน โปรดสังเกตพระหัตถ์ขวาที่กุมลูกโลกประดับกางเขนซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของอังกฤษในระดับโลก

การแผ่อำนาจในระดับนานาชาติ แก้

นโยบายด้านการงบประมาณของพระองค์สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างแก่ประชาชน มีการขึ้นอัตราภาษีเพื่อระดมเงินให้เพียงพอกับการทำสงครามในต่างประเทศ การเกิดความอดอยากข้าวยากหมากแพงในช่วงประมาณ พ.ศ. 2135-40 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจตกต่ำและเกิดความไม่สงบในสังคม รัฐบาลจึงพยายามแก้ด้วยการออก “กฎหมายคนจน” (Poor Law) เมื่อ พ.ศ. 2140 โดยเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากท้องถิ่นไปอุดหนุนคนยากไร้ การอวดอำนาจทางทะเลของอังกฤษก่อให้เกิดการเดินทางท่องทะเลเพื่อค้นหาอาณานิคมใหม่ เซอร์ฟรานซิส เดรกเดินทางโดยเรือรอบโลกสำเร็จเป็นครั้งแรก เซอร์ วอลเตอร์ ราเลย์เดินทางสำรวจพบชายฝั่งอเมริกาเหนือและเดินทางไปมาอีกหลายครั้งระหว่าง พ.ศ. 2125-32 แต่อาณานิคมที่แท้จริงเพียงแห่งเดียวของอังกฤษในสมัยของพระองค์คือ “ไอร์แลนด์” ซึ่งเป็นที่ซึ่งชาวอังกฤษเข้าไปหาผลประโยชน์ด้วยการเอารัดเอาเปรียบคนพื้นถิ่นชาวไอร์แลนด์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นเหตุให้การก่อกบฏที่รุนแรงภายใต้การนำของฮิวจ์ โอนีล เอิร์ลแห่งไทโรน เมื่อ พ.ศ. 2140

ราชินีอลิซาเบธมีพระอารมณ์ร้อน และบางครั้งทรงเป็นผู้นำที่ไม่เด็ดขาด บ่อยครั้งที่เหล่าที่ปรึกษาส่วนพระองค์ต้องช่วยพระองค์จากศัตรูทางการเมืองและเหล่าข้าศึก อย่างไรก็ดี พระองค์ทรงมีความสุนทรีย์ทางบทกวีเป็นอย่างมาก ดังเช่น พระเจ้าเฮนรีที่ 8 พระบิดาของพระองค์ พระองค์ทรงเขียนวรรณกรรมไว้หลายเรื่อง และพระองค์ยังทรงตั้ง Royal Charters คือ หน่วยงานหลวงมาดูแลกิจการของอังกฤษหลายแห่ง วิทยาลัยทรินิตี้ ณ กรุงดับบลิน (Trinity College, Dublin) ในปี พ.ศ. 2135 (ค.ศ. 1592) และบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2143 (ค.ศ. 1600)

เวอร์จิเนีย หนึ่งในอาณานิคมอเมริกาเหนือของอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันคือรัฐหนึ่งของสหรัฐ ถูกตั้งชื่อขึ้นตามสมญานามของราชินีอลิซาเบธที่ 1 ราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์

สวรรคต แก้

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 เสด็จสวรรคต ณ พระราชวังริชมอนด์ ราชอาณาจักรอังกฤษ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ.1603 ด้วยพระชนมายุ 69 พรรษา ทรงครองราชสมบัติ 44 ปีเศษ จากการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 ราชวงศ์ทิวดอร์ก็สิ้นสุดลงไปด้วย การสืบต่อราชบัลลังก์โดย พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งราชวงศ์สจวตเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ภายหลังการสวรรคตของพระนาง ขุนนางได้ถอดพระธำมรงค์ออกจากนิ้วของพระนาง แล้วควบม้าขึ้นไปทางทิศเหนือของอังกฤษราว 60 ชั่วโมง ไปยังเอดินบะระในสกอตแลนด์เพื่อไปอัญเชิญกษัตริย์เจมส์แห่งสกอตแลนด์ มาเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษและไอร์แลนด์ การครองราชย์ที่ยาวนานของพระองค์ตรงกับช่วงที่อังกฤษเริ่มมีแสนยานุภาพทางทะเลของโลกและช่วงที่เรียกว่าเป็น "ยุคฟื้นฟูศิลปะของอังกฤษ" (English Renaissance) การเป็นตำนาน "พระราชินีพรหมจรรย์" ของพระองค์ที่พระองค์เองก็มีส่วนสนับสนุนให้เรียกพร้อมกับกวีและนักแต่งบทละครในราชสำนักเพื่อให้คนทั่วไปที่รู้จักไปในทางนั้น กลายเป็นสิ่งบดบังบทบาทของพระองค์ในฐานะเป็นผู้สร้างสำนึกแห่งความเป็นชาติของอังกฤษไปสิ้น และสาเหตุการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 เนื่องจากอาจจะการที่ใช้สารตะกั่วทาพระพักตร์จึงทำให้เกิดความเสียหายผิวหนังและระบบร่างกายและส่งผลกระทบอวัยวะต่างๆ ปัจจุบันพระบรมศพของพระนางถูกฝังอยู่ภายในวัดน้อยแม่พระ อันเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์

พระราชอิสริยยศ แก้

  • 7 กันยายน ค.ศ.1533 - 19 พฤษภาคม ค.ศ.1536 เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (Her royal highness, Princess Elizabeth)
  • 19 พฤษภาคม ค.ศ.1536 - กรกฎาคม ค.ศ.1543 เลดี้ เอลิซาเบธ ทิวดอร์ (Lady Elizabeth Tudor)
  • กรกฎาคม ค.ศ.1543 - 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1558 เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (Her royal highness, Princess Elizabeth)
  • 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1558 - 24 มีนาคม ค.ศ.1603 สมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษ และไอร์เเลนด์ (Her Majesty, Queen of England and Ireland)
  • 8 พฤษภาคม ค.ศ.1559 - 24 มีนาคม ค.ศ.1603 ประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรแห่งอังกฤษ (The Supreme Governor of the Church of England)

ภาพยนตร์ แก้

ดูบทความหลัก อลิซาเบธ ราชินีบัลลังก์เลือด

 
โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Elizabeth

สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 ถูกกล่าวถึงในวรรณกรรมประเภทภาพยนตร์ หลายต่อหลายเรื่อง ที่โด่งดังที่สุด คือ ในเรื่อง Elizabeth ในชื่อภาษาไทยว่า "อลิซาเบธ ราชินีบัลลังก์เลือด" ในปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) (มีภาคต่อคือ Elizabeth : The Golden Age ในปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) เป็นชีวประวัติของพระองค์ตั้งแต่ก่อนขึ้นเสวยราชย์จนถึงจุดพลิกผันในชีวิต นำแสดงโดย เคต แบลนเชตต์ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการกล่าวขานอย่างมาก และได้ถูกเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ในปีนั้นถึง 7 รางวัล รวมทั้งรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ดารานำหญิงยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และอีกเรื่อง คือ Shakespeare in Love ซึ่งฉายในปีเดียวกันนี้ เป็นเรื่องราวในรัชสมัยของพระองค์ โดยกล่าวถึงเรื่องราวความรักของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ และความรุ่งเรืองของศิลปะละครเวทีภายใต้การอุปถัมภ์ของพระองค์ ซึ่งนักแสดงที่รับบทสมเด็จพระนาง เจ้าอลิซาเบธที่ 1 คือ จูดี้ เดนช์ ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ดาราประกอบหญิงในปีนั้นด้วย ทั้ง ๆ ที่ บทของพระองค์ปรากฏตัวในเรื่องเพียง 2 ครั้งเท่านั้นเอง อีกทั้งภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย เท่ากับว่าในปี พ.ศ. 2541 (ประกาศผลในปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999)) นั้น มีดาราหญิงที่ถูกเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ในบทของสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 พร้อมกันถึง 2 คน

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "I mean to direct all my actions by good advice and counsel." Elizabeth's first speech as queen, Hatfield House, 20 November 1558. Loades, 35.
  2. Starkey, 5.
  3. Neale, 386.
ก่อนหน้า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ถัดไป
แมรีที่ 1   พระมหากษัตริย์อังกฤษและไอร์แลนด์
(ราชวงศ์ทิวดอร์)

(17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1558 — 24 มีนาคม ค.ศ. 1603)
  เจมส์ที่ 1