สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3

สมเด็จพระราชินีรันฟาลูนาที่ 3 แห่งมาดากัสการ์ หรือ รานาวาโล มันจากาที่ 3 (อังกฤษ: Ranavalona III; 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404 — 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2460) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรเมรีนาหรือประเทศมาดากัสการ์ปัจจุบัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2426 ถึง 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 เมื่อทรงถูกเนรเทศโดยฝรั่งเศสที่ได้ยึดครองประเทศนี้เป็นอาณานิคม พระองค์ทรงเป็นที่รักยิ่งของชาวมาลากาซีเนื่องจากทรงพยายามนำพาประเทศต่อต้านการขยายอาณานิคมของฝรั่งเศสในมาดากัสการ์แม้ไม่สำเร็จก็ตาม

สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3

ราซาฟินดราเฮตี
สมเด็จพระราชินีรันฟาลูนาที่ 3 แห่งมาดากัสการ์
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งมาดากัสการ์
ครองราชย์30 กรกฎาคม พ.ศ. 2426 – 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440
รัชสมัย13 ปี 213 วัน
รัชกาลก่อนหน้าสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์
รัชกาลถัดไปสิ้นสุด
(ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้าง)
ประสูติ22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404
อัมพาริป, ประเทศมาดากัสการ์
สวรรคต23 พฤษภาคม พ.ศ. 2460 (55 ปี)
แอลเจียร์, ประเทศแอลจีเรีย
พระราชสวามีราติมอ
ไรนิไลอาริโวนี
สมเด็จพระราชินีรันฟาลูนาที่ 3 แห่งมาดากัสการ์
ราชวงศ์เมรีนา
พระบรมราชชนกเจ้าชายอันเดรียนซิมิอานาตรา
พระบรมราชชนนีเจ้าหญิงราเคตากา
ลายพระอภิไธย

ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงราซาฟินดราเฮตี ทรงถูกคัดเลือกจากเหล่าขุนนางชั้น แอนเดรียนา ให้ครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์ ซึ่งเสด็จสวรรคต จากธรรมเนียมของพระราชินี พระนางต้องอภิเษกสมรสกับไรนิไลอาริโวนี นายกรัฐมนตรีด้วยเหตุผลทางการเมือง ผู้ซึ่งมีอำนาจในการปกครองราชอาณาจักรและนำประเทศเข้าสู่สากล ในรัชกาลของพระนาง มาดากัสการ์ได้ดำเนินติดต่อทางการค้า รวมทั้งเจริญสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเพื่อคานอำนาจการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสได้ยึดชายฝั่งมาดากัสการ์และสามารถเข้ายึดกรุงอันตานานารีโวได้ โดยเข้ายึดครองศูนย์กลางของประเทศคือ พระราชวังหลวงรูวาแห่งอันตานานารีโว ใน พ.ศ. 2439 นับเป็นจุดจบของราชอาณาจักรมาดากัสการ์ภายใต้ราชวงศ์เมรีนาที่ยืนยาวเก่าแก่กว่า 400 ปี

รัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่ทำการเนรเทศนายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนีไปที่แอลจีเรีย ในขณะที่มีมติให้ดำรงพระนางรันฟาลูนาไว้ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชาวมาลากาซีเพื่อจะได้เป็นราชินีหุ่นเชิด อย่างไรก็ตามรัฐบาลฝรั่งเศสเสื่อมความนิยมจากการต่อต้านจากกบฏเมนาเลมบา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระราชวงศ์และชาวมาลากาซี การต่อต้านครั้งนี้ได้ถูกปราบปรามโดยรัฐบาลฝรั่งเศสอย่างรุนแรงและถูกปราบปรามใน พ.ศ. 2440 ทำให้ฝรั่งเศสต้องเนรเทศพระราชินีรันฟาลูนาไปยังเรอูนียง เพื่อไม่ให้พระนางได้ปลุกระดมชาวมาลากาซีได้อีก ไรนิไลอาริโวนีถึงแก่อสัญกรรมในปีเดียวกัน และพระนางกับพระราชวงศ์ที่ถูกเนรเทศได้ถูกย้ายไปยังแอลเจียร์ พระนางและพระราชวงศ์ทรงได้รับพระราชทรัพย์ประจำปีและมีพระชนม์ชีพสุขสบายในแอลเจียร์ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ยินยอมให้พระนางเสด็จประพาสกรุงปารีสเพื่อผ่อนคลายอิริยาบถและใช้พระราชทรัพย์ซื้อสิ่งต่าง ๆ แม้ว่าพระนางจะทรงขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสส่งพระนางกลับมาดากัสการ์หลายครั้ง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธทุกครั้ง อดีตพระราชินีนาถรันฟาลูนาเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ณ พระตำหนักในแอลเจียร์ ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2460 จากพระอาการประชวรด้วยการอุดตันของเส้นโลหิตแดงอย่างทุกข์ทรมาน พระบรมศพของพระนางรันฟาลูนาถูกฝังที่สุสานแซงต์-เออเชนในกรุงแอลเจียร์ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 รัฐบาลฝรั่งเศสยินยอมให้ย้ายพระศพของพระนางรันฟาลูนากลับยังมาดากัสการ์และทำพิธีฝังพระศพอีกครั้งที่ สุสานแห่งสมเด็จพระราชินีนาถราซอเฮอรินาแห่งมาดากัสการ์ในพระราชวังหลวงรูวาแห่งอันตานานารีโว ซึ่งเป็นพระประสงค์สุดท้ายของพระนางที่จะได้เสด็จมายังมาดากัสการ์แม้จะเสด็จสวรรคตแล้ว ปิดฉากพระชนม์ชีพอันน่าเศร้าของพระนาง

ช่วงต้นพระชนม์ชีพ แก้

พระนางเป็นพระราชธิดาในเจ้าชายอันเดรียนซิมิอานาตรากับเจ้าหญิงราเคตากา ประสูติที่เมืองอัมพาริป เขตมันจากาซาฟี นอกกรุงอันตานานารีโว[1] ในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404 พระนามเดิมว่า เจ้าหญิงราซาฟินดราเฮตี พระองค์เป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์ และเป็นพระปนัดดาในพระเจ้าอันเดรียนนามโบอินีเมรีนาแห่งมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นการปูทางให้พระนางมีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์แห่งราชอาณาจักรมาดากัสการ์[2] พระราชบิดาและพระราชมารดาของเจ้าหญิงทรงมอบหมายให้ทาสรับใช้ดูแลเจ้าหญิงราซาฟินดราเฮตี [3]

เมื่อทรงเจริญพระชันษาในวัยศึกษาเล่าเรียน เจ้าหญิงราซาฟินดราเฮตีทรงได้รับการอุปการะจากสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์ พระปิตุจฉา พระนางทรงให้เจ้าหญิงได้รับการศึกษาจากคณะครูแห่งสมาคมมิชชันนารีลอนดอน [1] เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าหญิงทรงเป็นเด็กขยัน อยากรู้อยากเห็นและทรงมีศรัทธาในคัมภีร์ไบเบิลอย่างแรงกล้า ทรงสนพระทัยในการศึกษาและการอ่านเขียน ทำให้ทรงเป็นที่รักใคร่ในพระอาจารย์ทั้งหลาย[3] เมื่อทรงเจริญพระชันษามากขึ้นเจ้าหญิงทรงศึกษาต่อที่ Congregational School แห่งอัมบาโตนากันกา, the Friends High School for Girls, และ LMS Girls' Central School เจ้าหญิงทรงเข้ารับศีลจุ่มเป็นโปรแตสแตนต์ที่อัมโบฮิมันกา ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2417[1]

เมื่อทรงเจริญพระชันษาในวัยรุ่น เจ้าหญิงราซาฟินดราเฮตีทรงรักและตัดสินพระทัยอภิเษกสมรสครั้งแรกกับขุนนางหนุ่มตำแหน่ง "แอนเดรียนา" ชื่อ ราติมอ (ราติมออาริโวนี) แต่ได้เสียชีวิตลงไม่กี่ปีหลังอภิเษกสมรส ในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2426 ขณะเขามีอายุเพียง 22 ปี ซึ่งทำให้เจ้าหญิงต้องทรงตกพุ่มหม้าย[4] ซึ่งมีกระแสข่าวลือว่า นายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนีมีส่วนวางยาพิษสังหารราติมอเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง จากการปฏิวัติชนชั้นสูงใน พ.ศ. 2406 ซึ่งไรนิไลอาริโวนีและไรนิโวนินาฮิทรินิโอนี พี่ชาย เป็นผู้ก่อการ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจเต็มของขุนนางชนชั้นสูงด้วยราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการปกครองร่วมระหว่างพระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรี (เสรีชน) จากข้อตกลงนี้ทำให้ต้องมีการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองกลุ่มโดยต้องมีการอภิเษกสมรสด้วยเหตุทางการเมืองระหว่างนายกรัฐมนตรีและสมเด็จพระราชินีนาถ ผู้เป็นพระประมุข ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้เลือก บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชินีนาถเอง ต่อมาสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 ทรงพระประชวรและใกล้สวรรคต ทางรัฐบาลต้องหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์ต่อไป นายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนีได้วางแผนวางยาพิษสังหารราติมอ เนื่องจากเจ้าหญิงราซาฟินดราเฮตีทรงเป็นผู้เหมาะสมและเป็นที่รักใคร่ในพระปิตุจฉา สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 และการสังหารราติมอจะเป็นประโยชน์ต่อเขาในการที่เขาสามารถสมรสกับว่าที่พระราชินีองค์ต่อไปได้โดยง่าย[4]

ครองราชย์และในรัชกาล แก้

 
สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 แห่งมาดากัสการ์ในวันขึ้นครองราชสมบัติ

พระนางทรงได้รับการประกาศเป็นสมเด็จพระราชินีสืบต่อจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2426[5] พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นที่อิมาฮาซินาในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426 ซึ่งมีพระชนมายุครบ 22 พรรษาในวันนั้นพอดี พระอิสริยยศเต็มของพระนางคือ"สมเด็จพระนางเจ้ารันฟาลูนาที่ 3 โดยความดีงามแห่งพระผู้เป็นเจ้าและความปรารถนาแห่งปวงพสกนิกร, สมเด็จพระราชินีนาถแห่งมาดากัสการ์และผู้ปกป้องกฎอันชอบธรรมแห่งชาติ" ("Her Majesty Ranavalona III by the grace of God and the will of the people, Queen of Madagascar, and Protectoress of the laws of the Nation") พระราชพิธีครองราชย์ได้จัดขึ้นที่เขตมาฮามาซินาในกรุงอันตานานารีโวในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426 ซึ่งเฉลิมฉลองสิริพระชนมายุครบ 22 พรรษา พระนางทรงเลือกที่จะฝืนโบราณราชประเพณีโดยการเพิ่มกำลังทหารในพระราชพิธีของพระนางโดยทหารคือกลุ่มเด็กนักเรียนชาย 500 คนและนักเรียนหญิง 400 คนจากโรงเรียนที่ดีที่สุดในเมืองหลวง เด็กผู้หญิงสวมชุดกระโปรงยาวสีขาว ส่วนเด็กผู้ชายสวมชุดเครื่องแบบทหารและฝึกซ้อมใช้อาวุธหอกตามธรรมเนียมโบราณ พระราชินีรันฟาลูนาทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกโดยทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดผ้าไหมคลุมยาวสีขาวพร้อมชายกระโปรงปักด้วยไหมสีแดงและเครื่องประดับจากทองคำ[6] ชาวอเมริกันที่เข้าร่วมพระราชพิธีได้บรรยายถึงพระนางว่า "พระนางมีพระวรกายสูงกว่าคนปกติเล็กน้อยและทรงมีลักษณะที่ละเอียดอ่อน ผิวของพระนางสีคล้ำน้อยกว่าผู้ติดตามคนอื่น ๆ พระนางปรากฏว่าค่อนข้างประหม่าและอาย และพระนางทรงเป็นผู้รับผิดชอบพิธีทางศาสนาในราชสำนักอย่างเคร่งครัด"[7]

ซึ่งเหมือนกับพระราชินีนาถสองพระองค์ก่อน คือ พระนางต้องอภิเษกสมรสกับนายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนี พระราชินีมีพระราชอำนาจเพียงในพระนาม ข้อตกลงทางการเมืองต่าง ๆ ที่สำคัญจะต้องได้รับความเห็นชอบหรือการตัดสินโดยนายกรัฐมนตรีที่อ้างว่าเป็นผู้อาวุโสและมีประสบการณ์สูง พระราชินีนาถรันฟาลูนาจะต้องมีพระราชดำรัสในที่สาธารณะบ่อย ๆ ในนามของนายกรัฐมนตรี และต้องทรงประกอบพระราชกรณียกิจเปิดอาคารสาธารณะใหม่ ๆ เช่น โรงพยาบาลแห่งใหม่ที่ไอโซอาวินอันเดรียนา และโรงเรียนแห่งใหม่ที่อัมโบดินอันโดฮาโล[8] ตลอดรัชกาลของพระนาง เจ้าหญิงรามิซินดราซานา ผู้เป็นพระปิตุจฉา ได้เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ในพระราชินีและทรงอิทธิพลมากในราชสำนัก เจ้าหญิงราเซนดราโรโน ผู้เป็นพระภคินีในพระราชินี เจ้าหญิงมีพระโอรสคือ เจ้าชายรากาโตเมนา และพระธิดาคือ เจ้าหญิงราซาฟินานเดรียมานิทรา ทั้งสองพระองค์เป็นพระนัดดาที่พระราชินีสนิทที่สุด พระนางโปรดเวลาในการทรงว่าวหรือเล่นเกมล็อตโต (เกมชนิดหนึ่งคล้ายบิงโก) และเกมพาร์ลอร์ โดยทรงเล่นร่วมกับพระญาติและนางสนองพระโอษฐ์ในราชสำนัก พระนางโปรดงานเย็บปักถักร้อยและการปักโครเช่ต์ และบ่อยครั้งที่พระนางจะนำโครงการแนวพระราชดำริเสนอต่อคณะรัฐมนตรี[3] พระนางโปรดฉลองพระองค์ต่าง ๆ มากและพระนางทรงเป็นผู้ปกครองชาวมาลากาซีคนแรกที่นำเข้าเสื้อผ้าจากปารีสมากกว่าลอนดอน[7]

สงครามฝรั่งเศส-มาลากาซี แก้

 
ทหารชาวมาลากาซีพยายามต่อสู้เพื่อป้องกันการรุกรานจากจักรวรรดิฝรั่งเศส

ขณะเป็นพระประมุขแห่งมาดากัสการ์ สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงเป็นฝ่ายเสียเปรียบจากการล่าอาณานิคมระหว่างจักรวรรดิอังกฤษและจักรวรรดิฝรั่งเศสซึ่งก็คือ ต้องเข้าพึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการปกป้องมาดากัสการ์ ตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษ ความตึงเครียดระหว่างฝรั่งเศสและมาดากัสการ์ทวีความรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 ปีก่อนที่พระนางรันฟาลูนาที่ 3 ครองราชย์ ฝรั่งเศสได้รุกรานเมืองต่าง ๆ ตลอดชายฝั่งของชาวมาลากาซีในช่วงปีสุดท้ายแห่งรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 และยังคงดำเนินต่อจนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 ซึ่งได้ครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีพระองค์ใหม่ในช่วงฤดูร้อน ของ พ.ศ. 2426 ในภายหลัง นายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนีตัดสินใจที่จะติดต่อกับพันโท วิลลอจบี ทหารชาวบริเตนที่มีประสบการณ์จากสงครามอังกฤษ-ซูลู เพื่อให้เป็นผู้ตรวจตราควบคุมทหารและฝึกฝนทหารในพระราชินีและปกป้องประเทศจากการรุกรานของฝรั่งเศสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้[2]

 
นายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนีผู้มีอำนาจและอิทธิพลสูงสุดในมาดากัสการ์

ระหว่าง พ.ศ. 2426 ถึงพ.ศ. 2428 ฝรั่งเศสสร้างความมั่นคงในการยึดครองชายฝั่งของมาดากัสการ์แต่ประสบความล้มเหลวในการรุกรานเข้าไปถึงในตัวเกาะ[2] สงครามทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นสูงสุดในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2428 มีการการโจมตีโดยการใช้ระเบิดหรือปืนที่มีอานุภาพร้ายแรงในบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมาดากัสการ์และกองทัพฝรั่งเศสสามารถยึดครองเมืองมาฮาจันกาได้[9] ตลอดช่วงนี้มาดากัสการ์พยายามที่จะเจรจาต่อรองกับจักรวรรดิฝรั่งเศส แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าประสบความล้มเหลวโดยทั้งสองฝ่ายปฏิเสธที่จะทำตามความต้องการของทั้งสองฝ่ายจึงจบลงด้วยข้อโต้แย้ง จุดเปลี่ยนมาถึงเมื่อฝรั่งเศสตระหนักว่าทัศนคติของกองทัพและผู้แทนทางการเมืองในมาดากัสการ์นั้นไม่เห็นพ้องต้องกันกับเหล่าคณะผู้แทนจากปารีส เอ็ม. โบเดส์ กงสุลฝรั่งเศสถูกเรียกตัวกลับและแทนที่ด้วยบุคคลที่มีอำนาจเต็มพิเศษคนใหม่ ได้มีการพาดหัวข่าวยื่นคำขาดมาที่กรุงอันตานานารีโว เพื่อต้องการให้รับรองสิทธิของชาวฝรั่งเศสในบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศโดยฝรั่งเศสจะรวมซากาลาวาเป็นรัฐในอารักขา มาดากัสการ์ต้องยินยอมที่จะจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนเงิน 1,500,000 ฟรังก์ สนธิสัญญาสันติภาพนี้ได้รับการอนุมัติโดยพระราชินีรันฟาลูนาและนายกรัฐมนตรี ไรนิไลอาริโวนิในเดือนมกราคม พ.ศ. 2429 โดยรัฐบาลฝรั่งเศสได้ดำเนินการในสองเดือนหลังจากนั้น[9]

 
กองทัพฝรั่งเศสขึ้นฝั่งที่มาจันกา ในระหว่างสงครามฝรั่งเศส-มาลากาซี พ.ศ. 2438

ก่อนการอนุมัติสัญญา พระราชินีและนายกรัฐมนตรีพยายามหาความชัดเจนในข้อความต่าง ๆ ของสนธิสัญญาหลักที่ระบุ "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" ที่จะควบคุมโดย "ชาวฝรั่งเศสที่มาอยู่อาศัย" และอ้างอิง "การก่อตั้ง" ที่อ่าวดีเอโก-ซัวเรซ โดยมาดากัสการ์ที่พ่ายแพ้ยินยอมทำสนธิสัญญาโดยยอมถูกผนวกเป็นรัฐอารักขาในฝรั่งเศส เมื่อข่าวการผนวกไปถึงอังกฤษ ฝรั่งเศสได้ปฏิเสธความถูกต้องต่าง ๆ ทางกฎหมายโดยยืนยันจะยึดครองมาดากัสการ์ในทุกวิถีทาง ฝรั่งเศสได้ประกาศครอบครองประเทศแม้จะได้รับการต่อต้านจากฝ่ายค้านของรัฐบาลมาลากาซี และฝรั่งเศสยังละเลยข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา[2] อีกทั้งเกิดปัญหาการแทรกแซงรัฐบาลมาลากาซีของฝรั่งเศสมากขึ้น[10]

ใน พ.ศ. 2430 ฝรั่งเศสเริ่มโจมตีเมืองทางชายฝั่งของมาดากัสการ์อีกครั้ง พระนางรันฟาลูนาทรงขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาโดยทรงส่งของกำนัลไปให้แก่ประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ อันได้แก่ผ้าไหม, งาช้างและตะกร้าจักสาน[11] แต่อเมริกาไม่สามารถทำตามคำขอของพระนางที่ทรงให้รับรองเอกราชของมาดากัสการ์ ในรัชกาลของพระนางทรงพ่ายแพ้สงครามฝรั่งเศส-มาลากาซี จากการพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้ประเทศไปสู่หายนะ ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2430 ทรงยอมลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับฝรั่งเศสเพื่อต้องการให้ประเทศสงบสุข[2]

ฝรั่งเศสได้ประกาศอารักขามาดากัสการ์อย่างเป็นทางการ โดยอังกฤษยอมรับสิทธิของฝรั่งเศส จากการยอมตกลงในข้อตกลงร่วมอังกฤษ-ฝรั่งเศส พ.ศ. 2433[12] ระหว่าง พ.ศ. 2433 - พ.ศ. 2437 ฝรั่งเศสได้ประกาศอย่างแข็งกร้าวในการครอบครองดินแดนมาดากัสการ์ อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสไม่สามารถครอบครองดินแดนอย่างสมบูรณ์เพราะมีอุปสรรคคือ สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาและนายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนี ซึ่งได้พยายามขัดขวางทุกวิถีทางในการกระทำอันไม่ถูกต้องของฝรั่งเศส จนถึงที่สุด ชาร์ลส์ เลอ แมร์ เดอ วิแยร์ ได้ถูกส่งมาเพื่อข่มขู่ให้พระราชินีและรัฐบาลให้ทรงยอมรับในสนธิสัญญาที่ให้ฝรั่งเศสครอบครองประเทศอย่างสมบูรณ์ แต่พระนางทรงปฏิเสธและเพิกเฉยต่อคำขู่โดยสิ้นเชิง ทำให้ฝรั่งเศสประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับมาดากัสการ์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2437[2]

จากการตัดความสัมพันธ์ในครั้งนี้ ฝรั่งเศสได้ทิ้งระเบิดและยึดครองอ่าวโทอามาซินาทางชายฝั่งตะวันออกได้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2437 และยึดครองมาฮาจันกาทางชายฝั่งตะวันตกได้ในอีกเดือนถัดมา[12] การโจมตีทางบกได้เริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2438 โดยการมาถึงของกองทหาร flying column ได้เดินทางเพื่อมุ่งหน้าสู่กรุงอันตานานารีโวในใจกลางเกาะ ซึ่งเป็นไปอย่างยากลำบาก ทหารฝรั่งเศสหลายนายต้องเสียชีวิตจากไข้มาลาเรียและโรคภัยต่าง ๆ ทำให้จำเป็นต้องส่งกองทัพหนุนกว่า 1,000 คนจากอาณานิคมอื่น ๆ ของฝรั่งเศสในแอลจีเรียและซับ-ซาฮาราน แอฟริกา กองทัพได้มาถึงกรุงอันตานานารีโวในเดือนกันยายน พ.ศ. 2438 ทหารมาลากาซีต้านทานกองทัพฝรั่งเศสได้เพียง 3 วันในบริเวณรอบนอกของกรุง แต่ทหารมาลากาซีได้พยายามป้องกันเมืองอย่างเต็มที่ เมื่อฝรั่งเศสต้องใช้วิธีทิ้งระเบิดกรุงอันตานานารีโว โดยโจมตีที่พระราชวังหลวงรูวาแห่งอันตานานารีโวและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทำให้ชาวเมืองต้องสูญเสียชีวิตหลายคน พระนางไม่อาจเห็นชาวมาลากาซีต้องสูญเสียเลือดเนื้อ โดยพระองค์ตัดสินพระทัยสละราชบัลลังก์ ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของชาวมาลากาซีทั้งปวง โดยทรงยอมให้ราชอาณาจักรกลายเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ถือเป็นจุดจบของความเป็นเอกราชของราชอาณาจักรมาดากัสการ์ที่ยืนยาวกว่า 400 ปี[13]

อาณานิคมของฝรั่งเศส แก้

 
สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 ทรงพ่ายแพ้แก่กองทัพฝรั่งเศสในเดือนกันยายน พ.ศ. 2438 ทำให้เป็นจุดจบของระบอบกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมรีนาที่ยืนยาวกว่า 400 ปี

ฝรั่งเศสยึดครองมาดากัสการ์อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2439 ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ฝรั่งเศสได้ประกาศให้มาดากัสการ์เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสและเนรเทศนายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนีไปยังแอลเจียร์ ที่ซึ่งเขาเสียชีวิตในหลายปีถัดมา สมเด็จพระราชินีนาถและฝ่ายบริหารของพระนางยังคงดำรงอยู่และถูกยึดพระราชอำนาจทางการเมือง ในเวลาไม่ช้าหลังจากไรนิไลอาริโวนีถูกเนรเทศ สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงถูกบังคับโดยเจ้าหน้าที่ทางการฝรั่งเศสให้ทรงยอมรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ทรงฝรั่งเศสเลือก พระราชินีนาถทรงตัดสินใจอย่างเร่งรีบตามคำกราบทูลของนายพลฝรั่งเศส ฌาคส์ ดูเชเน ผู้ซึ่งเป็นคนควบคุมกองทัพในการต่อต้านพระราชวงศ์เมรีนา การยอมรับในธรรมเนียมแบบแผนทางการเมืองของมาดากัสการ์ยังคงอยู่ สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงเกรงว่าพระนางจะต้องอภิเษกสมรสกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งพระนางทรงเป็นทุกข์ยิ่งที่ต้องอภิเษกสมรสกับฌาคส์ ดูเชเน แต่เป็นที่น่าประหลาดใจที่ทางการฝรั่งเศสไม่ต้องการที่จะให้พระราชินีต้องสมรสกับนายกรัฐมนตรีโดยยกเลิกกฎมณเฑียรบาลนี้ซึ่งสร้างความโล่งพระทัยในพระราชินีได้ระดับหนึ่ง ไรนิทซิมบาซาฟี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพระราชินีได้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปโดยได้รับความยินยอมจากฝรั่งเศส[14]

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2438 สองเดือนหลังจากฝรั่งเศสยึดครองกรุงอันตานานารีโว ได้เกิดการต่อต้านรัฐบาลฝรั่งเศสที่สำคัญซึ่งมีชื่อว่า กบฏเมนาเลมบา (กบฏผ้าคลุมแดง) โดยปฏิบัติการกองโจรเพื่อขับไล่ชาวต่างชาติ ชาวคริสต์และการคอร์รัปชันของรัฐบาลโดยมีผู้เข้าร่วมกลุ่มกบฏมากมายซึ่งล้วนแต่ใส่ผ้าคลุมไหล่สีแดง การต่อต้านครั้งนี้ได้ถูกปราบปรามโดยรัฐบาลฝรั่งเศสและพบกับจุดจบใน พ.ศ. 2440[15] ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มกบฏเป็นเชื้อพระวงศ์ซึ่งฝรั่งเศสสั่งให้ประหารชีวิตทุกพระองค์ ซึ่งรวมถึง เจ้าชายรัทสิมมามันกา พระปิตุลาในพระราชินีและไรเดรียมอัมพันดรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม ส่วนเจ้าหญิงรามิซินดราซามา พระปิตุจฉาในพระราชินีทรงถูกเนรเทศไปยังเรอูนียงเพราะว่ารัฐบาลฝรั่งเศสไม่ต้องการประหารสตรี[16]

จากการต่อต้านนี้ทำให้ฝรั่งเศสต้องเปลี่ยนผู้ว่าราชการประจำเกาะ จาก ฮิปโปไลท์ ลาโร็ช เป็นโจเซฟ กาเลียนี ผู้ว่าการทหาร หนึ่งวันก่อนที่กาเลียนีจะเดินทางมาถึงอันตานานารีโว เขาได้ส่งจดหมายกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาให้เสด็จมารายงานพระองค์ที่ฐานบัญชาการทางทหารด้วยพระองค์เองพร้อมกับข้าราชบริพารทั้งหมด ฐานบัญชาการได้มีผู้ถือธงชาติฝรั่งเศสแบบดั้งเดิมตามพระองค์มาด้วย สมเด็จพระราชินีนาถทรงถูกบังคับให้ลงพระปรมาภิไธยยินยอมยกพระราชทรัพย์ของพระราชวงศ์เมรีนาทั้งหมดแก่ฝรั่งเศสก่อนที่พระนางทรงถูกกักขังคุกภายในพระราชวังของพระองค์เอง พระนางทรงได้พบปะเพียงผู้ที่ได้รับการอนุญาตจากกาเลียนีเท่านั้น ขณะทรงถูกจองจำพระนางรันฟาลูนาทรงเปลียนศาสนานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเพื่อให้ฝรั่งเศสพึงพอใจแต่ฝรั่งเศสก็ไม่สนใจอะไรในการกระทำของพระนาง[16]

ถูกเนรเทศ แก้

กาเลียนีประกาศเนรเทศสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2440 และประกาศล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการในวันถัดมา ฝรั่งเศสออกคำสั่งให้อดีตสมเด็จพระราชินีนาถต้องเสด็จออกจากพระราชวังภายในเวลา 1 นาฬิกา 30 นาที พระนางถูกควบคุมพระองค์ออกจากอันตานานารีโวด้วยเกี้ยว ในขณะที่ชาวเมืองยังคงหลับนอน โดยมีผู้รักษาความปลอดภัยและข้าราชบริพารตามเสด็จประมาณ 700 ถึง 800 คน[17] โดยตลอดการเดินทางต้องเสด็จไปยังที่หมายที่ชายฝั่งตะวันออกของเมืองโทอามาซินาที่ซึ่งพระนางต้องเสด็จประทับโดยเรือไปยังเกาะเรอูนียง ได้มีรายงานว่าระหว่างเสด็จโดยเรือพระนางรันฟาลูนาทรงเมาอย่างหนัก เสวยเหล้ารัมหลายขวดซึ่งผิดธรรมเนียมวิสัย[18] ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าทรงเสียพระทัยอย่างหนัก ที่โทอามาซินาในวันที่ 6 มีนาคม พระนางรันฟาลูนาทรงได้รับการแจ้งให้ทราบว่า เจ้าหญิงราเซนดราโนโร พระขนิษฐา และเจ้าหญิงราซินดราซานา พระปิตุจฉา ได้เสด็จมาถึงในเวลาอันสั้นพร้อมกับเจ้าหญิงราซาฟินนานเดรียมานิทรา พระราชนัดดาวัย 14 พรรษา ซึ่งเจ้าหญิงพระองค์นี้ทรงพระครรภ์ได้ 9 เดือนกับทหารชาวฝรั่งเศส[19]

ณ เกาะเรอูนียง แก้

 
อดีตสมเด็จพระราชินีรันฟาลูนาที่ 3 ระหว่างทรงถูกเนรเทศที่เรอูนียง
 
พระมหามงกุฎแห่งสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 แห่งมาดากัสการ์ ปัจจุบันถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Musée de l'Armée กรุงปารีส

พระราชวงศ์เสด็จทางเรือพระที่นั่งลา เปรูสถึงท่ากาเลต์ ห่างจากนครแซงต์-เดนิส เมืองหลวงของเกาะเรอูนียงเป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร โดยมีการระมัดระวังอย่างรอบคอบตามคำสั่งของรัฐบาลฝรั่งเศส ทั้ง ๆ ที่มีความพยายามของฝูงชนชาวฝรั่งเศสได้ออกมาดูสมเด็จพระราชินีพระองค์สุดท้ายแห่งมาดากัสการ์พร้อมตะโกนด่าสาปแช่งและเย้ยหยันพระนางในขณะที่เรือจอดเทียบท่าซึ่งโกรธแค้นพระนางที่ทำให้ทหารชาวฝรั่งเศสที่เป็นสามี บุตร พี่น้องหรือบิดาของพวกเขาต้องเสียชีวิตในการรบกับมาดากัสการ์โดยรุกคืบเข้ากรุงอันตานานารีโวที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ยากแก่การรุกรานซึ่งทำให้ทหารฝรั่งเศสต้องเสียชีวิตจากไข้ป่าหลายร้อยนาย หลังจากกลุ่มฝูงชนที่ตั้งใจจะมารุมประชาทัณฑ์พระนางสลายการชุมนุมออกไป กัปตันได้ถวายการคุ้มครองพระนางและพระราชวงศ์เสด็จประทับรถเทียมม้าซึ่งเป็นครั้งแรกที่พระนางทรงรู้จักรถเทียมม้าและได้เดินทางไปยังโรงแรมเดอลายูโรเปในกรุงแซงต์-เดนิส เจ้าหญิงราซาฟินนานเดรียมานิทราซึ่งทรงพระครรภ์และทรงเครียด พระองค์ทรงทรมานจากพระอารมณ์แปรปรวนอย่างมากตลอดการถูกเนรเทศ เจ้าหญิงทรงคลอดบุตรอย่างยากลำบากในโรงแรมและมีพระประสูติกาลพระธิดาในวันที่สองหลังจากเสด็จถึงเรอูนียง แต่ไม่สามารถฟื้นฟูพระวรกายของพระองค์ได้ เจ้าหญิงสิ้นพระชนม์ในอีก 5 วันต่อมา ทารกถูกตั้งชื่อว่า "มารี-หลุยส์" และทรงได้รับพิธีศีลจุ่มตามแบบคาทอลิก เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างศัตรูกับฝรั่งเศส เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาให้เป็นองค์รัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์แห่งมาดากัสการ์ โดยอดีตพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงรับเจ้าหญิงเป็นธิดาบุญธรรม[20]

ภายในเวลา 1 เดือน พระราชวงศ์ถูกย้ายไปยังคฤหาสน์ของมาดามเดอวิลเลนตองย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณที่เงียบสงบของรู เดอ ลา อาร์เซนองและรู เดอ เลมพาร์ต ใกล้จวนว่าราชการของฝรั่งเศสในแซงต์-เดนิส พระนางรันฟาลูนาทรงประทับใจในสองสิ่งของคฤหาสน์ที่ซึ่งมีกำแพงที่ใหญ่และมีหลังคายอดแหลมตัดขวางซึ่งเตือนให้พระนางรำลึกถึงสถาปัตยกรรมมาดากัสการ์และชีวิตบนที่ราบสูงมาดากัสการ์ที่ซึ่งทรงรักยิ่ง พระราชวงศ์ที่เสด็จมานี้เป็นพระราชวงศ์ฝ่ายหญิงทั้งหมดได้แก่ อดีตพระราชินี พระปิตุจฉา พระขนิษฐาและพระปนัดดา เท่านั้นไม่พอผู้ติดตามรวมทั้งราชเลขานุการ 2 คน พ่อครัว แม่บ้าน และคนรับใช้ 3 คนของพระนางรันฟาลูนา อาจารย์ส่วนพระองค์ของพระราชินีได้รับเข้าหาพระราชวงศ์อย่างอิสระ[21]

อดีตพระราชินีและพระราชวงศ์ทรงประทับที่คฤหาสน์ในเรอูนียงเป็นเวลาเพียง 2 ปี จากความตึงเครียดที่ทวีมากขึ้นอีกครั้งระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเกิดการขัดแย้งจากปัญหาซูดาน ผู้มีอำนาจในรัฐบาลฝรั่งเศสกังวลกับสภาพของประชาชนในมาดากัสการ์ที่พยายามหาทางต่อต้านกฎหมายของฝรั่งเศสจนอาจจะกลายเป็นการก่อกบฏใหม่ อดีตสมเด็จพระราชินีซึ่งใกล้ชิดกับมาดากัสการ์อาจทรงสนับสนุนช่วยเหลือและปลุกระดมกลุ่มกบฏ ผู้มีอำนาจในรัฐบาลฝรั่งเศสได้ตัดสินใจอย่างฉับพลันให้ย้ายพระนางรันฟาลูนาและพระราชวงศ์ไปยังแอลจีเรีย โดยเชื่อว่าถ้าพระนางประทับห่างจากบ้านเกิดของพระนางก็จะทำให้กลุ่มกบฏไม่มีผู้สนับสนุนและสถานการณ์ของมาดากัสการ์จะกลับเป็นปกติ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2442 หลังจากทรงได้รับการเตือนล่วงหน้าไม่นาน พระนางรันฟาลูนาและพระราชวงศ์ทรงถูกบังคับให้ขึ้นเรือยาง-เซ โดยมีราชเลขานุการ ล่ามและคนรับใช้ตามเสด็จมากมาย[22] ในเวลาการเดินทาง 28 วันก่อนถึงเมืองท่ามาร์แซย์พระราชวงศ์ได้หยุดพักที่เมืองท่าต่าง ๆ ได้แก่ มายอต, แซนซิบาร์, เอเดน และจิบูตี[23] พระราชวงศ์ประทับที่มาร์แซย์เป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะถูกย้ายไปที่คฤหาสน์ในมุสตาฟา ซูเพอริเออร์ ในพื้นที่แอลเจียร์ในแอลจีเรีย ตลอดการเดินทาง กัปตันหลายคนพยายามขัดขวางไม่ให้พระนางรันฟาลูนาตรัสกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ชาวฝรั่งเศส[18] พระนางทรงหวังว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะให้พระนางประทับที่กรุงปารีสและทรงผิดหวังอย่างมากเมื่อทรงทราบว่าพระนางจะถูกส่งไปยังแอลจีเรีย พระนางตรัสและพระอัสสุชลไหลรินหลังจากได้รับรายงาน ตรัสว่า

ใครคือความแน่นอนของพรุ่งนี้ เพียงเมื่อวานเท่านั้นที่ฉันเป็นราชินี วันนี้ฉันกลับกลายเป็นหญิงที่ไม่มีความสุขอย่างแท้จริง เป็นเพียงผู้หญิงที่ถูกทำลายจิตใจจนแตกสลาย[6]

ณ แอลจีเรียและการเสด็จประพาสฝรั่งเศส แก้

 
หนังสือพิมพ์ La Petit Journal พาดหัวข่าว พระนางรันฟาลูนาเสด็จถึงฝรั่งเศสในการเสด็จประพาสครั้งแรกอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2444 โดยเป็นภาพอดีตพระราชินีและข้าราชบริพารมาถึงที่สถานีรถไฟและพระนางทรงรับดอกไม้จากเด็กหญิงโดยมีชาวฝรั่งเศสเดินทางมาถวายพระพรแด่พระนาง
จากการตอบสนองคำขอร้องของพระนางอย่างเร่งด่วน พระนางทรงได้รับอนุญาตให้เสด็จประพาสปารีสและใช้พระราชทรัพย์ได้ พระนางทรงเป็นจุดสนใจทั่วทั้งถนนและทรงเป็นที่นิยมอย่างมหาศาล แต่พระนางทรงใช้พระราชทรัพย์มากเหลือเกินและทรงเก็บสะสมบิลค้างชำระเงินซึ่งมีมโหฬาร ทำให้สำนักงานอาณานิคมได้เตือนและส่งพระนางขึ้นเรือพระที่นั่งกลับแอลเจียร์ได้อย่างทันท่วงที

Kings in Exile (กษัตริย์ยามลี้ภัย), Our Paper (1904) (พ.ศ. 2447) [24]

 
พระฉายาลักษณ์พระนางรันฟาลูนาบนกล่องคุกกี้ "Petit Beurre" ใน พ.ศ. 2459 โดยทรงมีลายพระหัตถ์ข้อความว่า "Tsara ny Petit Beurre แปลว่า "คุกกี้ Petit Beurre เยี่ยมมาก"

ที่พระตำหนักของพระราชินีในแอลเจียร์ พระนางทรงได้รับการจัดเตรียมข้าราชบริพารและผู้ถวายการต้อนรับซึ่งเป็นสตรีชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้คอยสังเกตการณ์อดีตพระราชินีทุกฝีก้าวและทำหน้าที่คอยดูและแนะนำเมื่อใดที่อดีตพระราชินีทรงเชิญแขกเข้ามา เท่านั้นไม่พอในขั้นต้นรัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดเตรียมถวายพระราชทรัพย์ประจำปีแก่พระนางรันฟาลูนาเป็นจำนวน 25,000 ฟรังก์ ซึ่งเป็นเงินรายได้จากอาณานิคมแห่งมาดากัสการ์ซึ่งได้รับอำนาจจากผู้ว่าราชการนายพลของอาณานิคม[25] พระราชทรัพย์เกือบทั้งหมดของพระนางรันฟาลูนาได้ถูกยึดโดยอำนาจของผู้ว่าราชการอาณานิคม ถึงแม้ว่าพระนางจะได้รับอนุญาตที่จะเก็บรักษาพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บางอย่างซึ่งรวมทั้งเครื่องเพชรบางชิ้นของพระนาง บำนาญของพระนางในขั้นต้นทรงได้รับน้อยจนถึงกับยากจนที่ซึ่งรัฐบาลอาณานิคมแห่งแอลจีเรียชักชวนให้ขายทรัพย์สินไม่สำเร็จหลายครั้งในนามของพระนางเพื่อจะได้ให้เงินเพิ่มสำหรับพระนาง พระนางรันฟาลูนาทรงพยายามอย่างหนักร่วมกับข้าราชบริพารในการขายเครื่องเพชรบางส่วนของพระนางเป็นการลับแต่แผนการนี้รั่วไหลจนรัฐบาลอาณานิคมรู้จึงได้ขับไล่และส่งข้าราชบริพารคนนั้นกลับมาดากัสการ์[18]

ในช่วงปีแรกหลังจากถูกเนรเทศมาที่แอลจีเรีย พระนางรันฟาลูนาทรงสนพระทัยที่ได้พบกับวิถีชีวิตสังคมแบบชาวแอลเจียร์ พระนางทรงได้รับเชิญเสมอ ๆ ในงานเลี้ยง, การเสด็จประพาสในระยะสั้น และงานประเพณีท้องถิ่น โดยพระนางจะถูกเชิญให้เป็นเจ้าภาพประจำงานบ่อย ๆ [26] อย่างไรก็ตามความคิดถึงบ้านเกิดนั้นเกิดขึ้นประจำและความหวังที่จะได้เสด็จกลับมาดากัสการ์มีส่วนทำให้พระนางโศกเศร้าและเหนื่อยหน่าย พระนางประสงค์ที่จะพระราชดำเนินเพียงพระองค์เดียวบ่อย ๆ ในเขตชนบท, ทรงพระราชดำเนินผ่านชายหาดหรือผ่านเมืองเพื่อที่จะทำจิตใจให้สงบและระงับอารมณ์ของพระนางเอง[27] อดีตพระราชินีทรงมีความกระตือรือร้นที่จะทอดพระเนตรแผ่นดินใหญ่ฝรั่งเศส โดยเฉพาะกรุงปารีส โดยมีพระราชประสงค์ขอความยินยอมจากรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อการเดินทางหลายครั้ง โดยพระราชประสงค์ขอพระนางได้รับการปฏิเสธมาโดยตลอดจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2444 พระนางรันฟาลูนาได้รับการอนุญาตให้เสด็จประพาสฝรั่งเศส ในเวลาหลายเดือนพระนางรันฟาลูนาทรงพำนักอยู่ที่เขตการปกครองปารีสที่ 16 ใกล้กับจัตุรัสชาร์ล เดอ โกล และถนนช็องเซลีเซ โดยเสด็จไปสถานที่หลักทั่วกรุงปารีสและทรงได้รับการถวายการต้อนรับจากผู้คนจำนวนมาก พระนางทรงได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวางโดยวงสังคมชั้นสูงและทรงได้รับของขวัญมากมายรวมทั้งผ้าคลุมซึ่งมีค่ามาก ในระหว่างการเสด็จประพาสครั้งแรก ทรงเยี่ยมชมพระราชวังแวร์ซาย และทรงได้รับการถวายการต้อนรับอย่างเป็นทางการที่โฮเต็ล เดอ วิลเล ปารีส และเสด็จประพาสเมืองบอร์โดเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ท้ายสุดพระนางเสด็จประพาสชายหาดอาร์คาชอง ก่อนที่พระนางทรงใช้พระราชทรัพย์จนหมดสิ้นและประทับเรือพระที่นั่งแอลจีเรียที่มาร์แซย์ในต้นเดือนสิงหาคม[28] การเสด็จประพาสครั้งนี้เป็นที่ดึงดูดใจชาวปารีสมาก[24] ที่ซึ่งแสดงความเห็นใจในชะตากรรมของพระราชินีและได้รวมกันกล่าวหารัฐบาลโดยเรียกร้องให้จัดหาตำหนักที่ใหญ่กว่านี้หรือถวายพระเกียรติที่พระนางสมควรได้รับมากกว่านี้โดยให้พระนางได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์[28]

 
อดีตสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 แห่งมาดากัสการ์ขณะเสด็จประพาสฝรั่งเศส

พระนางรันฟาลูนาจะได้กลับไปยังฝรั่งเศส 6 ครั้งในอีก 12 ปีถัดไป การเสด็จประพาสบ่อยครั้งทำให้พระนางทรงมีชื่อเสียงขึ้นมามากจนเป็นที่สรรเสริญ (cause célèbre) ของพลเมืองฝรั่งเศสจำนวนมากที่ซึ่งสงสารในชะตากรรมของพระนางและยกย่องพระนางในด้านกิริยามารยาทที่งดงามและความอดทนอดกลั้นอย่างยิ่งในพระชะตา การเสด็จประพาสของพระนางรันฟาลูนาเป็นที่สนใจแก่สื่อสาธารณะและจากความนิยมในอดีตพระราชินีรันฟาลูนาทำให้พระฉายาลักษณ์ของพระนางได้ถูกพิมพ์ลงบนกล่อง Petit Beurre คุกกี้ใน พ.ศ. 2459 [29] การเสด็จประพาสครั้งที่สองของพระราชินีมีขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2446 เมื่อเสด็จประพาสวิค-ซูร์-ซีเรและโอรียัก พลเมืองจำนวนมากได้กดดันรัฐบาลในระหว่างที่พระนางเสด็จให้เพิ่มพระราชทรัพย์ประจำปีของพระนางขึ้นเป็นจำนวน 37,000 ฟรังก์ ใน 3 ปีถัดมาพระนางเสด็จประพาสมาร์แซย์และแซงต์-เจอร์แมน และทรงเข้าพำนักในอพาร์ตเมนต์ขนาด 5 ห้องนอนใหญ่ของชาวปารีสที่เขตการปกครองปารีสที่ 16 ซึ่งพระนางได้ทอดพระเนตรการแสดงที่โรงละครปารีสโอเปรา, ทรงเข้าสังเกตการณ์การประชุมของสภาผู้แทนฝรั่งเศสและทรงได้รับการถวายการต้อนรับอย่างเป็นทางการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมฝรั่งเศส และเป็นอีกครั้งที่ทรงได้รับความเห็นใจจากชาวฝรั่งเศส พระราชทรัพย์ของพระนางรันฟาลูนาได้เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ฟรังก์ต่อปี ในการเสด็จประพาสครั้งต่อไป พ.ศ. 2450 พระนางต้องประทับที่ดิเวส-ซูร์-เมอร์เพื่อการเสด็จประพาสจังหวัดกาลวาโดส ที่ซึ่งพระนางทรงได้รับการฉายพระรูปลงในสิ่งพิมพ์ฝรั่งเศส จากเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2453 อดีตพระราชินีนาถรันฟาลูนาเสด็จประพาสปารีส, น็องต์, ลา บูลล์-เอสคอบาค และแซงต์-นาแซร์และทรงได้รับการฉายพระรูปลงในสิ่งพิมพ์ฝรั่งเศสหลาย ๆ ครั้ง ใน พ.ศ. 2455 การเสด็จประพาสของพระนางครั้งนี้ไม่มีพิธีรีตองโดยเสด็จยังหมู่บ้านกีเบอวิลล์และมีการเพิ่มพระราชทรัพย์ประจำปีของพระนางขึ้นเป็นจำนวน 75,000 ฟรังก์ พระนางเสด็จประพาสครั้งสุดท้ายใน พ.ศ. 2456 โดยเสด็จยังมาร์แซย์, แอกซ์-เลส-บานส์ และอัลเลวาร์ด[30]

การเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2457 ได้ปิดโอกาสในการเสด็จประพาสฝรั่งเศสของพระนาง ตลอดพระชนม์ชีพในแอลจีเรีย พระนางและพระราชวงศ์ได้เข้าร่วมพิธีของโปรแตสแตนต์เป็นประจำทุกสัปดาห์ที่คริสตจักรปฏิรูปซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงแอลเจียร์[31] หลังสงครามพระนางทรงเข้าร่วมกาชาดแอลจีเรียและทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อการกุศล พระนางต้องเสด็จสวรรคตโดยไม่มีโอกาสหวนกลับมาดากัสการ์บ้านเกิดที่ทรงรักยิ่ง โดยทรงขอร้องรัฐบาลฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ 2 ครั้งใน พ.ศ. 2453 และ พ.ศ. 2455 แต่ได้ถูกปฏิเสธเนื่องจากเงินทุนจากอาณานิคมไม่เพียงพอ[28]

เสด็จสวรรคตและทายาท แก้

 
ภาพจากหนังสือพิมพ์ La Petit Journal สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 (ซ้าย) ขณะทรงถูกเนรเทศที่แอลเจียร์กับเจ้าหญิงรามาซินดราซานา พระปิตุจฉา (กลาง) และพระนัดดาหรือพระธิดาเลี้ยง เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ (ขวา) ใน พ.ศ. 2442
 
พระศพของพระนางรันฟาลูนาได้รับอนุญาตให้นำกลับยังมาดากัสการ์และทำพิธีฝังพระศพอีกครั้งที่ สุสานแห่งสมเด็จพระราชินีนาถราซอเฮอรินาแห่งมาดากัสการ์ในพระราชวังหลวงรูวาแห่งอันตานานารีโว

อดีตพระราชินีนาถรันฟาลูนาเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ณ พระตำหนักในแอลเจียร์ ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2460 จากพระอาการประชวรด้วยการอุดตันของเส้นโลหิตแดงอย่างทุกข์ทรมาน พระบรมศพของพระนางรันฟาลูนาถูกฝังที่สุสานแซงต์-เออเชนในกรุงแอลเจียร์เวลา 10 นาฬิกาของวันที่ 25 พฤษภาคม พระราชพิธีฝังพระศพได้มีผู้คนมาเข้าร่วมอาทิเช่น พระสหายสนิท, ผู้คนซึ่งรักพระนาง, กลุ่มสภากาชาด และสมาชิกของโบสถ์ที่เป็นพระอุปถัมภ์รวมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงการเมืองและสังคมของแอลจีเรีย ในเวลา 9 นาฬิกาของตอนเช้า ขบวนรถยาวเหยียดได้เดินทางไปยังสถานที่ระลึกถึง[32] การแสดงความเคารพและการไว้อาลัยพระนางรันฟาลูนาของผู้ร่วมพิธีไม่ได้ถูกสะท้อนให้เห็นโดยรัฐบาลอาณานิคมที่มาดากัสการ์ อย่างไรก็ตามในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2468 เวลาแปดปีหลังจากที่พระนางรันฟาลูนาเสด็จสวรรคต ผู้ว่าการแห่งแอลจีเรียได้เรียนจดหมายไปยังผู้ว่าการแห่งมาดากัสการ์แจ้งเรียกร้องค่าบำรุงรักษาพระศพซึ่งทางผู้ว่าการมาดากัสการ์เพิกเฉย ผู้ว่าการแอลจีเรียได้เรียกร้องให้ทางผู้ว่าการมาดากัสการ์จัดหาเงินทุนเพื่อการบำรุงรักษาพระศพซึ่งทรุดโทรมเสียหายไปมาก ทางมาดากัสการ์ควรให้ความสำคัญต่อการปล่อยปละละเลยในการระลึกและไว้อาลัยถึงพระราชินีนาถซึ่งเหมือนกับรัฐบาลกลางของฝรั่งเศสที่ละเลยเช่นกัน ถึงอย่างไรก็ตามคำขอถูกปฏิเสธถึงสองครั้งและพระศพมิได้รับการบูรณะ[18] ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 รัฐบาลฝรั่งเศสยินยอมให้ย้ายพระศพของพระนางรันฟาลูนากลับยังมาดากัสการ์และทำพิธีฝังพระศพอีกครั้งที่ สุสานแห่งสมเด็จพระราชินีนาถราซอเฮอรินาแห่งมาดากัสการ์ในพระราชวังหลวงรูวาแห่งอันตานานารีโว ซึ่งเป็นพระประสงค์สุดท้ายของพระนางที่จะได้เสด็จมายังมาดากัสการ์แม้ซึ่งจะเสด็จสวรรคตแล้ว

 
สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 และเจ้าหญิงมารี-หลุยส์ พระราชนัดดาและองค์รัชทายาทในราชบัลลังก์ใน พ.ศ. 2448 ที่แซ็ง-แฌร์แม็ง-อ็อง-แล

จากการที่อดีตสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาเสด็จสวรรคต เจ้าหญิงรามาซินดราซานา ผู้เป็นพระปิตุจฉาของพระนาง ได้เสด็จย้ายออกจากแอลจีเรียและประทับที่จังหวัดอาลป์-มารีตีม ที่ซึ่งประทับในช่วงวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพในอีกไม่กี่ปี รัชทายาทของอดีตพระราชินีคือ เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ ได้เสด็จออกจากพระตำหนักของพระนางรันฟาลูนา เพื่อทรงเข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนแบบฝรั่งเศส และทรงเสกสมรสกับวิศวกรการเกษตรชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีชื่อว่า อังเดร บอสซาร์ด ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2464 ถึงแม้ว่าเจ้าหญิงมารี-หลุยส์จะได้สิทธิในพระตำหนักเล็ก ๆ จากรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อประทับ เจ้าหญิงกลับทรงเลือกที่จะประกอบพระกรณียกิจด้านการพยาบาลและทรงได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์จากการประกอบพระกรณียกิจอย่างไม่ลดละด้านการแพทย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจาก อังเดร บอสซาร์ดและเจ้าหญิงมารี-หลุยส์ทรงหย่าร้างโดยไร้บุตรธิดา เจ้าหญิงวัยสาวทรงได้รับการกล่าวถึงว่าทรงเป็นอิสระ ร่าเริงและมีชีวิตชีวาเหมือนดั่งผีเสื้อ เจ้าหญิงมารี-หลุยส์สิ้นพระชนม์ใน ณ บาโซเชซ์-ซูร์-เลอ-เบทซ์ ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2491 โดยไม่ทรงมีรัชทายาทสืบต่อ และพระศพถูกฝังที่มองเตรอิล ประเทศฝรั่งเศส[33] การสิ้นพระชนม์ของพระนางนับเป็นจุดสิ้นสุดของราชวงศ์เมรีนาและราชอาณาจักรมาดากัสการ์เนื่องจากพระนางทรงเป็นผู้สืบทอดราชวงศ์ลำดับสุดท้าย และความหวังของชาวมาดากัสการ์ที่ต้องการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสูญสิ้นไปด้วย

ดูเพิ่ม แก้

บรรณานุกรม แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 Trotter Matthews (1904), p. 243
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Titcomb, Mary (November), "Madagascar and the Malagasy", Frank Leslie's Popular Monthly, pp. 530–542 {{citation}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= และ |year= / |date= ไม่ตรงกัน (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 Stuart Robson, Isabel (1896), "The Childhood of a Queen IV: The Queen of Madagascar", Children's Friend, London: S.W. Partridge & Co., vol. 36, pp. 103–104
  4. 4.0 4.1 Ministère de la marine et des colonies (1884), p. 117
  5. Madagascar at uq.net.au
  6. 6.0 6.1 Carpenter, Frank G. (January 23, 1908). "Madagascar's Ex-Queen". ใน Pattengill, Henry (บ.ก.). Moderator-Topics. Vol. 28. Lansing, MI. pp. 370–372.
  7. 7.0 7.1 "The Queen of Madagascar". Scientific American Supplement. No. 1037. New York: Munn & Co. Publishers. November 16, 1895. p. 16568.
  8. Cousins, William Edward (1895). Madagascar of to-day. The Religious Tract Society. p. 73.
  9. 9.0 9.1 Priestley, Herbert Ingram (1967-05-26), France overseas: a study of modern imperialism, p. 305, ISBN 9780714610245
  10. Van Den Boogaerde, Pierre (2008), Shipwrecks of Madagascar, AEG Publishing Group, p. 7, ISBN 9781606934944
  11. "Gifts and Blessings: The Textile Arts of Madagascar". Smithsonian National Museum of African Art. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-06. สืบค้นเมื่อ November 11, 2010.
  12. 12.0 12.1 Curtin, Philip D. (1998). Disease and empire: the health of European troops in the conquest of Africa. Cambridge, MA: Cambridge University Press. p. 186. ISBN 9780521598354.
  13. Roland, Oliver; Fage, John; Sanderson, G.N. (1985). The Cambridge history of Africa. Vol. 6. Cambridge, UK: Cambridge University Press. p. 530. ISBN 9780521228039.
  14. Barrier (1996), p. 205
  15. Campbell, Gwyn (1991). "The Menalamba revolt and brigandry in imperial Madagascar, 1820-1897". International Journal of African Historical Studies. 24 (2): 259–291.
  16. 16.0 16.1 Basset, Charles (1903). Madagascar et l'oeuvre du Général Galliéni. Paris: A. Rousseau. pp. 140–142. (ฝรั่งเศส)
  17. Barrier (1996), pp. 245-246
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 Randrianja, Solofo (2001). Société et luttes anticoloniales à Madagascar: de 1896 à 1946. Paris: Karthala Editions. pp. 100–110. ISBN 9782845861367. (ฝรั่งเศส)
  19. Barrier (1996), p. 260
  20. Barrier (1996), pp. 260-266
  21. Barrier (1996), p. 267
  22. Barrier (1996), pp. 269-271
  23. Barrier (1996), pp. 273-274
  24. 24.0 24.1 Massachusetts Reformatory (October 1, 1904). "Kings in Exile". Our Paper. 20 (40): 639.
  25. "Crownless Monarchs". The Bookman. No. 26. London: Dodd Mead & Co. 1908. p. 118.
  26. Barrier (1996), pp. 288-303
  27. Barrier (1996), p. 347
  28. 28.0 28.1 28.2 Bergougniou, Jean-Michel; Clignet, Rémi; David, Philippe (2001). "Villages noirs" et autres visiteurs africains et malgaches en France et en Europe: 1870-1940. Paris: Karthala Editions. pp. 87–89. ISBN 9782845862005. (ฝรั่งเศส)
  29. Barrier (1916), p. 334
  30. Barrier (1916), p. 334
  31. Saillens, Pasteur R. (1906). "Impressions of Algeria". The Missionary Review of the World. Vol. 29. London: Funk & Wagnalls. p. 449.
  32. Barrier (1996), p. 347
  33. Barrier (1996), p. 358

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

ก่อนหน้า สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 ถัดไป
สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์    
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งมาดากัสการ์
(ราชวงศ์เมรีนา)

(30 กรกฎาคม พ.ศ. 242628 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440)
  ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้าง
มาดากัสการ์ถูกยึดครองโดยฝรั่งเศส
ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้าง
   
ผู้อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์มาดากัสการ์
(ราชวงศ์เมรีนา)

(28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 244023 พฤษภาคม พ.ศ. 2460)
  เจ้าหญิงมารี-หลุยส์
เป็นลำดับสุดท้าย