สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์[1] พระนามเดิมว่า จุ้ย (ไม่ทราบ – พ.ศ. 2325) เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ประสูติแต่กรมหลวงบาทบริจา ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระมหาอุปราชแห่งกรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์
รัชทายาทกรุงธนบุรี
ดำรงพระยศไม่ปรากฏ - พ.ศ. 2325
สวรรคตพ.ศ. 2325
ราชวงศ์ธนบุรี
พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระราชมารดากรมหลวงบาทบริจา

พระราชประวัติ แก้

พระชนม์ชีพช่วงต้น แก้

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ มีพระนามเดิมว่า จุ้ย (เอกพงศาวดารกัมพูชา ระบุว่าพระนามว่าพระองค์เจ้าน้อย)[2] ประสูติแต่กรมหลวงบาทบริจา (สอน) ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระอนุชาหนึ่งพระองค์คือเจ้าฟ้าน้อย[3] ด้วยเหตุที่พระองค์ประสูติแต่พระอัครมเหสีที่มิได้เป็นเจ้ามาแต่เดิม เมื่อแรกประสูติจึงมีพระยศเป็น พระองค์เจ้า[4] ต่อมาทรงรับราชการได้รับความชอบชนะศึกพม่าในปี พ.ศ. 2318 จึงถูกยกเป็นเจ้าฟ้าทรงกรม ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า "จึงพระกรุณาโปรดตั้งพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ยเป็นกรมขุนอินทรพิทักษ์"[4]

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์มีพระปรีชาสามารถในการรบ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าสถาปนาเป็นพระมหาอุปราช และโปรดให้เสด็จไปตีเมืองกัมพูชาพร้อมกับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก[5] โดยมีพระราชดำริว่า เมื่อตีเขมรได้ก็ให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ทำพิธีสถาปนากรมขุนอินทรพิทักษ์ขึ้นเป็นเจ้าครองนครกัมพูชา แต่อย่างไรก็ตามกรมขุนอินทรพิทักษ์ถือว่ามีบทบาทด้านการศึกน้อยเมื่อเทียบกับกรมขุนอนุรักษ์สงคราม (เจ้ารามลักษณ์) พระนัดดา ที่มักปรากฏในพงศาวดารบ่อยครั้งกว่า[6]

ความขัดแย้งกับสมเด็จพระชนกนาถ แก้

ช่วงปี พ.ศ. 2323 เป็นช่วงที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกกล่าวถึงว่ามีพระอารมณ์หงุดหงิดวิปริตไปเสียหมด ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารพระราชหัตถเลขา ดังปรากฏว่า

"ครั้งถึง ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ พระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องใหญ่ ครั้งเสร็จแล้วส่องพระฉายทอดพระเนตรเห็นพระเกศาเหนือพระกรรณเบื้องซ้ายเหลืออยู่เส้นหนึ่ง ก็ทรงพิโรธเจ้าพนักงานชาวพระภูษามาลาซึ่งทรงเครื่องนั้น ว่าแกล้งทำประจานพระองค์เล่น จึงดำรัสถามพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ว่า โทษคนเหล่านี้จะเป็นประการใด กรมขุนอินทรพิทักษ์กราบทูลว่า เห็นจะไม่พิจารณาดูทั่ว พระเกศาจึงหลอหลงอยู่เส้นหนึ่ง ซึ่งจะแกล้งทำประจานพระองค์เล่นนั้นเห็นจะไม่เป็น ๆ แท้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโกรธพระเจ้าลูกเธอเป็นกำลัง ดำรัสว่ามันเข้ากับผู้ผิดกล่าวแก้กันแกล้งให้เขากระทำประจานพ่อดูเล่นได้ ไม่เจ็บแค้นด้วย จึงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ร้อยทีแล้วจำไว้ ให้เอาตัวชาวพระภูษามาลาซึ่งทรงเครื่องทั้งสองคน กับทั้งพระยาอุทัยธรรมจางวางว่าไม่ดูแลตรวจตรากำกับเอาไปประหารชีวิตเสียทั้งสามคน"[7]

แต่เรื่องราวดังกล่าวไม่ปรากฏในหลักฐานอื่น เป็นต้นว่า พระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม, พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ, ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๕ รวมไปถึงจดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งมักจะมีการบันทึกเรื่องราวทำนองนี้แต่กลับไม่ปรากฏไว้[8]

แต่หลังจากนั้นอีก 6 วัน กรมขุนอินทรพิทักษ์ก็ถูกถอดพระอิสริยยศ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า "ถึง ณ วันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๗ ดำรัสสั่งให้รื้อตำหนักพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์แล้วริบเครื่องยศ ให้ถอดเสียจากยศ ครั้นนานมาหายพระโกรธแล้ว จึงโปรดให้พ้นโทษ พระราชทานเครื่องยศแล้วให้คงยศดังเก่า"[9] ซึ่งสอดคล้องกับจดหมายเหตุโหรความว่า "ปีชวด จ.ศ. ๑๑๔๒ วัน ๖ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๗ ริบเครื่องยศเจ้าวังนอก"[10] และเหตุดังกล่าวได้พาลไปถึงพระราชมารดาของพระองค์ ถึงกับออกคำสั่งขับกรมหลวงบาทบริจาออกจากวังไปประทับกับลูก ดังปรากฏในจดหมายเหตุของกรมหลวงนรินทรเทวีคือ "ขับเจ้าหอกลางไปอยู่ที่วังนอก"[10]

ช่วงที่ถูกริบเครื่องยศ พระองค์ได้ตัดสินใจออกผนวช เพื่อเลี่ยงพระราชอาญา[8] เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงหายพิโรธแล้ว ก็พระราชทานยศศักดิ์คืนตามเดิม ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้เป็นทัพหนุนเข้าตีเมืองพุทไธเพชร สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้หมายพระทัยที่จะรั้งพระโอรสพระองค์นี้ครองกรุงกัมพูชาสืบไป[11]

การผลัดแผ่นดิน แก้

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2325 ขณะกรมขุนอินทรพิทักษ์ และพระยากำแหงสงคราม (บุญคง) ตั้งทัพอยู่ที่เมืองพุทไธเพชร (บันทายเพชร ราชธานีของกัมพูชา) สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้ยกทัพกลับกรุงธนบุรี และปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พร้อมกับสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบรมวงศานุวงศ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่เป็นชาย [12] ได้ส่งทหารตามจับกุมตัวกรมขุนอินทรพิทักษ์ พร้อมด้วยพระยากำแหงสงคราม และทหารองครักษ์จำนวน 5 คน ได้ในป่าตำบลเขาน้อย สระบุรี [12]

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตรัสถามกรมขุนอินทรพิทักษ์ว่าทรงยินดีที่จะไว้พระชนม์ให้ แต่กรมขุนอินทรพิทักษ์ทรงยืนยันที่ขอตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสิน สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงโปรดเกล้าฯ ให้นำตัวเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ไปสำเร็จโทษพร้อมกับพระยากำแหงสงคราม[12] และพระอนุชา คือเจ้าฟ้าน้อย เมื่อวันเสาร์ เดือน 6 แรม 8 ค่ำ พ.ศ. 2325[13]

พระโอรสธิดา แก้

เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์มีพระโอรส-ธิดาจำนวนหนึ่ง ปรากฏสำคัญเพียง 4 พระองค์ คือ[14]

  1. เจ้าหญิงมะเดื่อ เป็นชายาในพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนราเทเวศร์ ต้นราชสกุลปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา มีโอรสและธิดาเป็นหม่อมเจ้า 3 พระองค์
  2. เจ้าหญิงสาลี่ เป็นชายาในพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงเสนีบริรักษ์ ต้นราชสกุลเสนีวงศ์ ณ อยุธยา มีโอรสคือหม่อมเจ้าทินกร เสนีวงศ์
  3. เจ้าชาย (ไม่ทราบพระนาม) มีบุตรสองคน คนหนึ่งเป็นที่หลวงอินทรโกษา
  4. เจ้าชายทองอิน เป็นที่ พระยากลาโหมราชเสนา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ภายหลังถูกซัดทอดว่ามีส่วนร่วมในการก่อกบฏกับหม่อมลำดวนและหม่อมอินทปัต จึงถูกสำเร็จโทษเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2346[15] พระยากลาโหมราชเสนามีบุตรชายคนหนึ่งเป็นเจ้าพระยายมราช (ศุข สินศุข)

ดังนั้นกรมขุนอินทรพิทักษ์เป็นต้นสกุลสินสุข และอินทรโยธิน[16]

อ้างอิง แก้

  1. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2552, หน้า 79-80
  2. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์), นายพันตรี. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006) จำกัด, 2563, หน้า 155
  3. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. 490 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-222-648-2
  4. 4.0 4.1 ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 36-37
  5. "จุลลดา ภักดีภูมินทร์, [[นิตยสารสกุลไทย]], ฉบับที่ 2488 ปีที่ 48 ประจำวันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2545". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-14. สืบค้นเมื่อ 2008-08-02.
  6. ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 37
  7. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. คลังวิทยา. 2516, หน้า 437
  8. 8.0 8.1 ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 38
  9. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. คลังวิทยา. 2516, หน้า 438
  10. 10.0 10.1 ประชุมพงศาวดารภาคที่ 8. คุรุสภา. 2507, หน้า 118
  11. ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 38-39
  12. 12.0 12.1 12.2 "ฐานข้อมูลรากฐานไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-05-09. สืบค้นเมื่อ 2021-10-01.
  13. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙ หน้า ๑๓๘
  14. ส.พลายน้อย. พระเจ้าตากสิน มหาราชแห่งชาติไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ, 2553, หน้า 173
  15. ส.พลายน้อย. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น, 2542, หน้า 5
  16. ส.พลายน้อย. พระเจ้าตากสิน มหาราชแห่งชาติไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ, 2553, หน้า 179
ก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ถัดไป
เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต
(กรุงศรีอยุธยา)
  พระมหาอุปราชแห่งกรุงธนบุรี
  สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
(กรุงรัตนโกสินทร์)