สมัชชาแห่งชาติ (ประเทศฝรั่งเศส)

สมัชชาแห่งชาติ (ฝรั่งเศส: Assemblée Nationale) เป็นสภาล่างของรัฐสภาฝรั่งเศส ประกอบด้วยสมาชิก 577 คน เรียกว่า "ผู้แทน" (ฝรั่งเศส: député; อังกฤษ: deputy) ผู้แทน 289 คนถือเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภา และมีประธานสภา 1 คนเป็นผู้ควบคุมการประชุม และมีรองประธานสภาอีก 1 คนหรือกว่านั้น

สมัชชาแห่งชาติ

Assemblée nationale
สภานิติบัญญัติแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 ชุดที่ 16
(XVIe législature de la Cinquième République française)
ตราสัญลักษณ์สมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศส
ประเภท
ประเภท
เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภาฝรั่งเศส
ประวัติ
ก่อตั้งค.ศ. 1958
ก่อนหน้าสมัชชาแห่งชาติ (สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 4)
ผู้บริหาร
ประธาน
ยาแอล โบรน-ปีแว, เรอแนซ็องส์
ตั้งแต่ 28 มิถุนายน 2022
โครงสร้าง
สมาชิก577
กลุ่มการเมือง
ฝ่ายรัฐบาล
  เรอแนซ็องส์ (169)
  ประชาธิปไตย โมเด็ม และอิสระ (50)
  โฮรีซงส์ (30)


ฝ่ายค้าน (326 ที่นั่ง)
  ชุมนุมแห่งชาติ (88)
  ลาฟร็องแซ็งซูมีซ (75)
  เลเรปูว์บลีแก็ง (61)
  สังคมนิยม (31)
  สิ่งแวดล้อม (22)
  ซ้ายประชาธิปไตยและสาธารณรัฐ (22)
  เสรีภาพ อิสระ โพ้นทะเล และดินแดน (22)

  อิสระ (6)
การเลือกตั้ง
ระบบสองรอบ
การเลือกตั้งครั้งล่าสุด
12 และ 19 มิถุนายน 2022
ที่ประชุม
พระราชวังบูร์บง กรุงปารีส  ฝรั่งเศส
เว็บไซต์
Assemblee-nationale.fr

สมาชิกสมัชชาแห่งชาติดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี สิ้นสุดวาระในวันอังคารของสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน ปีที่ 5 นับแต่วันเลือกตั้ง การเลือกตั้งครั้งใหม่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วันก่อนที่สมัชชาแห่งชาติชุดเดิมจะหมดอายุลง ประธานาธิบดีสามารถประกาศยุบสมัชชาแห่งชาติได้ ภายหลังจากที่ได้ปรึกษากับนายกรัฐมนตรีและประธานสภาทั้งสองแล้ว โดยเมื่อมีประกาศยุบสภา จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเร็วที่สุดภายใน 20 วัน แต่ไม่เกิน 40 วัน

อนึ่ง ในกรณีที่มีการยุบสภา หรือสมาชิกลาออก หรือตาย หรือไปปฏิบัติหน้าที่อื่นซึ่งรวมไปถึงงานของรัฐบาล สมาชิกสมัชชาแห่งชาติอาจมีการดำรงตำแหน่งน้อยกว่า 5 ปีได้

สมัชชาแห่งชาติประชุม ณ พระราชวังบูร์บง ริมฝั่งแม่น้ำแซน ในกรุงปารีส

ความสัมพันธ์กับฝ่ายบริหาร แก้

รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 เพิ่มอำนาจของฝ่ายบริหารมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ (สาธารณรัฐที่ 3 และสาธารณรัฐที่ 4)[1]

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสสามารถใช้อำนาจตัดสินใจยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ โดยใช้เป็นวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่สมัชชาแห่งชาตินั้นไม่สามารถหาทางออกได้ ซึ่งการยุบสภานั้นเกิดขึ้นเป็นบางครั้ง การยุบสภาครั้งสุดท้ายนั้นเกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีฌัก ชีรัก (Jacques Chirac) ในปี ค.ศ. 1997 ภายหลังจากการขาดเสียงสนับสนุนที่เพียงพอต่อนายกรัฐมนตรีอาแล็ง ฌูว์เป อย่างไรก็ตามแผนการยุบสภาครั้งนี้นั้นทำให้เกิดปัญหามากขึ้นอีกเนื่องจากพรรคการเมืองเสียงข้างมากนั้นกลับกลายเป็นฝั่งตรงข้ามแทน

สมาชิกสมัชชาแห่งชาติสามารถใช้อำนาจถอดถอนฝ่ายบริหาร (ซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี) ผ่านการเสนอญัตติไม่ไว้วางใจ (motion de censure) ซึ่งเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีนั้นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองเสียงข้างมากหรือพรรคร่วมฯในสมัชชาแห่งชาติ ในกรณีที่ประธานาธิบดีกับสมัชชาแห่งชาตินั้นมาจากพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามกัน จะเกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่สถานการณ์การบริหารร่วมกัน "Cohabitation" ซึ่งเกิดขึ้นทั้งหมดสามครั้ง ย่อมทำให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างลำบาก ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประธานาธิบดีมีค่อนข้างมาก ดังปรากฏให้เห็นในปี 1997-2002 ที่ประธานาธิบดีฌัก ชีรัก เป็นฝ่ายขวา ในขณะที่นายกรัฐมนตรีลียอแนล ฌ็อสแป็ง (Lionel Jospin) รัฐบาลและเสียงข้างมากในสมัชชาแห่งชาติเป็นฝ่ายซ้าย ซึ่งต่อไปจะมีโอกาสเกิดน้อยลงภายหลังจากการปรับวาระของประธานาธิบดี และสมัชชาแห่งชาติให้อยู่ในช่วงเดียวกัน

การเสนอญัตติไม่ไว้วางใจนั้นเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ โดยพรรคการเมืองฝ่ายค้านซึ่งไม่เห็นด้วยกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่มักจะไม่สำเร็จ เนื่องจากสมาชิกพรรคการเมืองนั้นจะต้องทำตามมติพรรค เพื่อมิให้มีการถอดถอนฝ่ายบริหารได้จากสมัชชาแห่งชาติ และตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐที่ 5 นั้นมีการผ่านมติไม่ไว้วางใจสำเร็จเพียงครั้งเดียวในปี ค.ศ. 1962 หลังจากความพยายามในการแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของประธานาธิบดี[2] เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล ใช้อำนาจยุบสภาภายในไม่กี่วันต่อมา[3]

สมาชิกสมัชชาแห่งชาตินั้นสามารถตั้งกระทู้ และถามกระทู้สดเพื่อให้รัฐมนตรีมาตอบได้ โดยทุกวันพุธช่วงบ่ายจะเป็นช่วงเวลาการตั้งกระทู้สด ซึ่งได้รับการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ ซึ่งชาวฝรั่งเศสมักจะเห็นว่าเป็นเพียงการแสดงเท่านั้น เนื่องจากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลจะตั้งคำถามเชิงชม ในขณะที่ฝ่ายค้านนั้นมักจะตั้งคำถามเพื่อให้รัฐบาลขายหน้า[4]

การเลือกตั้ง แก้

 
พระราชวังบูร์บง ซึ่งเป็นที่ประชุมของสมัชชาแห่งชาติ

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 เป็นต้นมา สมาชิกสมัชชาแห่งชาตินั้นมาจากการเลือกตั้งทั่วไปในระบบสองรอบแบ่งตามเขตเลือกตั้ง โดยมีวาระละ 5 ปี ในแต่ละเขตเลือกตั้งประกอบด้วยจำนวนประชากรประมาณ 100,000 คน กฎหมายเลือกตั้งปี ค.ศ. 1986 ระบุว่าจำนวนประชากรระหว่างเขตเลือกตั้งใดเลือกตั้งหนึ่งนั้น จะต้องไม่เหลื่อมกันมากกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนประชากรเฉลี่ยในแต่ละเขตเลือกตั้งของในแต่ละจังหวัด[5]

อย่างไรก็ตาม การแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นยังไม่ได้มีการแก้ไขในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1982 จนถึงปี ค.ศ. 2009 ซึ่งในระหว่างนั้นมีความเปลี่ยนแปลงทางจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมาก จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตเลือกตั้งที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่าซึ่งมักจะตั้งอยู่ตามเมืองเล็ก ๆ กับเขตเลือกตั้งที่ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ ตัวอย่างเช่น สมาชิกสมัชชาแห่งชาติที่เป็นตัวแทนประชากรมากที่สุด มาจากจังหวัดวาล-ดวซ โดยมีจำนวนประชากรผู้มีสิทธิออกเสียงถึง 180,000 คน และสมาชิกที่เป็นผู้แทนประชากรจากเขตเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนน้อยที่สุด มาจากจังหวัดโลแซร์ ซึ่งประกอบด้วยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 34,000 คน

การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่นั้นเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2009[6] และมีข้อกังขาเกิดขึ้นมากมาย[7] ยกตัวอย่างเช่น มีการเพิ่มจำนวนเขตเลือกตั้งถึง 11 เขต สำหรับสมาชิกสมัชชาแห่งชาติที่อาศัยอยู่นอกประเทศฝรั่งเศส โดยยังคงมีจำนวนผู้แทนเท่าเดิมคือ 577 ที่นั่ง[8][9]

ในการเลือกตั้งทั่วไปรอบแรกนั้น สมาชิกที่จะถูกเลือกต้องได้รับคะแนนอย่างน้อยร้อยละห้าสิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้ง และจะต้องมีผู้มาใช้สิทธิอย่างน้อยร้อยละยี่สิบห้าของผู้มีสิทธิทั้งหมดในแต่ละเขต หากยังไม่มีผู้ที่รับเลือกในรอบแรก ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีคะแนนมากกว่าร้อยละสิบสองจุดห้าจะสามารถเข้ารับการคัดเลือกในรอบสองได้ หากยังไม่มีใครที่เข้าเกณฑ์ใด ๆ ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีคะแนนสูงสุดสองอันดับจะเป็นผู้มีสิทธิเข้าไปรอบที่สองได้

ในการเลือกตั้งรอบที่สองนั้น จะใช้คะแนนเสียงชี้ขาดเพื่อเลือกตั้ง โดยแต่ละผู้สมัครจะต้องหาตัวแทนหนึ่งคน ไว้ในกรณีที่ผู้สมัครนั้นไม่สามารถทำหน้าที่ผู้แทนได้สมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ได้รับการคัดเลือกเป็นรัฐมนตรี เป็นต้น

กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1985 ได้ระบุถึง การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งจะนับเป็นรายจังหวัด ซึ่งจะต้องมีคะแนนเสียงอย่างน้อยร้อยละห้าถึงจะได้รับเลือก อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งทั่วไปปี ค.ศ. 1986 ได้มีการใช้ระบบนี้ขึ้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเปลี่ยนการเลือกตั้งของประเทศฝรั่งเศสเป็นแบบที่กล่าวมา (Plurality voting system)


สมาชิกสมัชชาแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 570 คน[10] 5 คนเป็นผู้แทนจากอาณานิคมโพ้นทะเล และ 2 คนจากนิวแคลิโดเนีย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. William G. Andrews, The Constitutional Prescription of Parliamentary Procedures in Gaullist France, Legislative Studies Quarterly, Vol. 3, No. 3 (Aug. 1978), pp. 465–506.
  2. Proceedings of the National Assembly, 4 October 1962, second sitting; vote tally on p. 3268. p. 38 in the PDF file
  3. Decree of 9 October 1962[ลิงก์เสีย].
  4. Anne-Laure Nicot, La démocratie en questions. L’usage stratégique de démocratie et de ses dérivés dans les questions au gouvernement de la 11e Législature, Mots. Les langages du politique, E.N.S. Editions, n° 83 2007/1, pp. 9 à 21.
  5. Stéphane Mandard, « En 2005, un rapport préconisait le remodelage des circonscriptions avant les législatives de 2007 », Le Monde, 7 June 2007.
  6. Ordonnance n° 2009-935 du 29 juillet 2009 portant répartition des sièges et délimitation des circonscriptions pour l'élection des députés; see the opinion of the advisory commission on redistricting.
  7. Pierre Salvere, La révision des circonscriptions électorales : un échec démocratique annoncé. เก็บถาวร 2011-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Fondation Terra Nova, 9 July 2009.
  8. "Elections 2012 – Votez à l’étranger" เก็บถาวร 2013-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, French Ministry of Foreign and European Affairs
  9. "Redécoupage électoral – 11 députés pour les Français de l'étranger" เก็บถาวร 2011-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Le Petit Journal, 22 October 2009.
  10. Article LO119 of the Electoral Code (ภาษาฝรั่งเศส).

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  • เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศส (ภาษาฝรั่งเศส)
  • "สภาผู้แทนราษฎรของสาธารณรัฐฝรั่งเศส (L'Assemblée nationale)". สำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 กรกฎาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012.
  • แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ สมัชชาแห่งชาติ (ประเทศฝรั่งเศส)

พิกัดภูมิศาสตร์: 48°51′43″N 2°19′07″E / 48.861899°N 2.318605°E / 48.861899; 2.318605