สฟิงโกไมอีลิน (อังกฤษ: sphingomyelin) เป็นสฟิงโกลิพิดชนิดหนึ่งที่พบในเยื่อหุ้มเซลล์ของสัตว์ โดยเฉพาะเยื่อไมอีลินที่หุ้มรอบแอกซอนของเซลล์ประสาท ส่วนใหญ่ประกอบด้วยฟอสโฟโคลีน (phosphocholine) และเซราไมด์ (ceramide) หรือหมู่ฟังก์ชันเอทาโนลามีน (ethanolamine) ดังนั้นสฟิงโกไมอีลินจึงสามารถจัดอยู่ในกลุ่มสฟิงโกฟอสโฟลิพิด (sphingophospholipids)[1] ในมนุษย์ สฟิงโกไมอีลินนับเป็นประมาณร้อยละ 85 ของสฟิงโกลิพิดในร่างกาย และคิดเป็น 10–20 ร้อยละโมลของลิพิดในเยื่อหุ้มเซลล์

โครงสร้างทั่วไปของสฟิงโกลิพิด

สฟิงโกไมอีลินถูกแยกครั้งแรกโดยนักเคมีชาวเยอรมัน Johann L.W. Thudicum ในทศวรรษที่ 1880[2] โครงสร้างของสฟิงโกไมอีลินถูกรายงานครั้งแรกในปี ค.ศ. 1927 ในชื่อ เอ็น-เอซิล-สฟิงโกซีน-1-ฟอสฟอริลโคลีน (N-acyl-sphingosine-1-phosphorylcholine)[2] ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สฟิงโกไมอีลินเป็นส่วนประกอบตั้งแต่ร้อยละ 2-15 ในเนื้อเยื่อส่วนใหญ่โดยพบมากในเนื้อเยื่อประสาท เม็ดเลือดแดง และในเลนส์ตา สฟิงโกไมอีลินมีบทบาทสำคัญในโครงสร้างและการทำงานของเซลล์ เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์และมีส่วนในการถ่ายทอดสัญญาณ เมแทบอลิซึมของสฟิงโกไมอีลินทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนสำคัญภายในเซลล์[2]

โมเลกุลสฟิงโกไมอีลินประกอบด้วยฟอสโฟโคลีน (phosphocholine) หรือฟอสโฟเอทานอลามีน (phosphoethanolamine) เป็นหมู่ฟังก์ชันส่วนหัวที่มีขั้ว และจัดเป็นฟอสโฟลิพิดเช่นเดียวกับกลีเซรอฟอสโฟลิพิด (glycerophospholipid) สฟิงโกไมอีลินมีความคล้ายฟอลฟาทิดิลโคลีน (phosphatidylcholine) ในแง่คุณสมบัติทั่วไปและโครงสร้างสามมิติรวมถึงไม่มีขั้วสุทธิในหมู่ฟังก์ชันส่วนหัว เนื่องจากสฟิงโกไมอีลินพบในเยื่อหุ้มเซลล์ของเซลล์สัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยื่อไมอีลินที่หุ้มและเป็นฉนวนของแอกซอนในเซลล์ประสาท จึงมีชื่อว่า สฟิงโกไมอีลิน[1]

ลักษณะทางกายภาพ แก้

 
โครงสร้างของสฟิงโกไมอีลิน
ดำ: สฟิงโกซีน; แดง: ฟอสโฟโคลีน; น้ำเงิน: กรดไขมัน

องค์ประกอบ แก้

โครงสร้างของสฟิงโกไมอีลินประกอบด้วยหมู่ฟังก์ชันส่วนหัวฟอสโฟโคลีน (phosphocholine) สฟิงโกซีน (sphingosine) และกรดไขมัน มันเป็นหนึ่งในฟอสโฟลิพิดในเยื่อหุ้มส่วนน้อยที่ไม่ได้สังเคราะห์มาจากกลีเซอรอล สฟิงโกซีนและกรดไขมันสามารถเรียกรวมกันว่าเซราไมด์ (ceramide) องค์ประกอบดังกล่าวทำให้สฟิงโกไมอีลินมีบทบาทสำคัญในวิถีการส่งสัญญาณระดับเซลล์ กล่าวคือการย่อยสลายและสังเคราะห์สฟิงโกไมอีลินทำให้เกิดสารนำรหัสสำหรับการถ่ายโอนสัญญาณ

สฟิงโกไมอีลินพบในธรรมชาติเช่นในไข่ หรือสมองสัตว์ ซึ่งจะมีกรดไขมันที่มีความยาวหลากหลาย สฟิงโกไมอีลินที่มีความยาวจำเพาะเช่น ปาล์มิโตอิลสฟิงโกไมอีลิน (palmitoylsphingomyelin) ซึ่งมีกรดไขมันอิ่มตัว 16 หมู่เอซิลมีจำหน่ายเพื่อการค้า[3]

คุณสมบัติ แก้

ตามหลักการแล้วโมเลกุลสฟิงโกไมอีลินมีรูปร่างคล้ายทรงกระบอก แต่โมเลกุลสฟิงโกไมอีลินจำนวนมากที่สายไฮโดรโฟบิกไม่เข้าคู่กัน คือมีความยาวระหว่างสองสายที่แตกต่างกันมาก[4] สายไฮโดรโฟบิกของสฟิงโกไมอีลินมีแนวโน้มที่จะอิ่มตัวมากกว่าฟอสโฟลิพิดชนิดอื่น อุณหภูมิในการเปลี่ยนสถานะหลักของสฟิงโกไมอีลินยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับฟอสโฟลิพิดที่คล้ายกัน คือประมาณ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้เกิดความแตกแบบกันในทางด้านข้างของเยื่อหุ้มและเกิดเป็นขอบเขตในเยื่อหุ้มชนิดสองชั้น[4]

สฟิงโกไมอีลินมีปฏิกิริยาสำคัญกับคอเลสเตอรอล คอเลสเตอรอลมีคุณสมบัติในการหยุดการเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็งในฟอสโฟลิพิด เนื่องจากอุณหภูมิในการเปลี่ยนสถานะของสฟิงโกไมอีลินอยู่ในช่วงอุณหภูมิสรีรวิทยาของร่างกาย คอเลสเตอรอลจึงสามารถมีบทบาทสำคัญในสถานะของสฟิงโกไมอีลิน สฟิงโกไมอีลินยังมีแนวโน้มสร้างพันธะไฮโดรเจนกับโมเลกุลอื่นมากกว่าฟอสโฟลิพิดชนิดอื่น[5]

ตำแหน่ง แก้

สฟิงโกไมอีลินถูกสังเคราะห์ที่ร่างแหเอนโดพลาซึม (endoplasmic reticulum) และ ทรานส์-กอลจิคอมเพล็กซ์ พบมากในเยื่อหุ้มเซลล์โดยมีความเข้มข้นมากในเนื้อเยื่อชั้นนอกมากกว่าชั้นใน[6] กอลจิคอมเพล็กซ์เป็นตัวกลางระหว่างร่างแหเอนโดพลาซึมและเยื่อหุ้มเซลล์ โดยมีความเข้มข้นของสฟิงโกไมอีลินมากกว่าบริเวณด้านทรานส์[7]

เมแทบอลิซึม แก้

การสังเคราะห์ แก้

การสังเคราะห์สฟิงโกไมอีลินเกี่ยวข้องกับการใช้เอนไซม์เปลี่ยนแปลงฟอสโฟโคลีน (phosphocholine) จากฟอสฟาทิดิลโคลีน (phosphatidylcholine) เป็นเซราไมด์ ขั้นตอนแรกในการสังเคราะห์สฟิงโกไมอีลินคือการควบแน่น แอล-ซีรีน (L-serine) และปาล์มิโทอิล-โคเอ (palmitoyl-CoA) โดยใช้เอนไซม์ซีรีน ปาล์มิโทอิลทรานซเฟอเรส (serine palmitoyltransferase) ผลผลิตจากปฏิกิริยารีดิวซ์ได้ไดไฮโดรสฟิงโกซีน (dihydrosphingosine) ไดไฮโดรสฟิงโกซีนผ่านกระบวนการ เอ็น-เอซิเลชัน (N-acylation) ตามด้วยปฏิกิริยาเติมพันธะคู่จนได้เซราไมด์ ปฏิกิริยาดังกล่าวเกิดขึ้นบนพื้นผิวด้านในเซลล์ของร่างแหเอนโดพลาซึม เซราไมด์จะถูกขนส่งไปยังกอลจิคอมเพล็กซ์เพื่อเปลี่ยนเป็นสฟิงโกไมอีลิน เอนไซม์สฟิงโกไมอีลินซินเทส (sphingomyelin synthase) มีบทบาทในการสร้างสฟิงโกไมอีลินจากเซราไมด์ ผลพลอยได้ที่เกิดจากการขนส่งฟอสโฟโคลีนคือไดเอซิลกลีเซอรอล (diacylglycerol)[8]

การสลาย แก้

การสลายสฟิงโกไมอีลินมีส่วนในการเริ่มวิถีการส่งสัญญาณระดับเซลล์มากมาย สฟิงโกไมอีลินถูกไฮโดรไลซิสโดยเอนไซม์สฟิงโกไมอีลิเนส (sphingomyelinases; sphingomyelin specific type-C phospholipases)[6] หมู่ฟังก์ชันส่วนหัวฟอสโฟโคลีนถูกปล่อยเข้าไปในของเหลวในขณะที่เซราไมด์จะแพร่เข้าในเยื่อหุ้ม

ภาพอื่นๆ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Donald J. Voet; Judith G. Voet; Charlotte W. Pratt (2008). "Lipids, Bilayers and Membranes". Principles of Biochemistry, Third edition. Wiley. p. 252. ISBN 978-0470-23396-2.
  2. 2.0 2.1 2.2 Ramstedt B, Slotte JP. Membrane properties of sphingomyelins. FEBS Lett 2002 10/30;531 (1) :33-7
  3. "Archived copy". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-29. สืบค้นเมื่อ 2013-07-16.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 Barenholz Y, Thompson TE. Sphingomyelin: Biophysical aspects. Chem Phys Lipids 1999 11;102 (1–2) :29-34.
  5. Massey JB. Interaction of ceramides with phosphatidylcholine, sphingomyelin and sphingomyelin/cholesterol bilayers. Biochimica et Biophysica Acta (BBA) - Biomembranes 2001 2/9;1510 (1–2) :167-84.
  6. 6.0 6.1 Testi R. Sphingomyelin breakdown and cell fate" Trends Biochem Sci 1996 12;21 (12) 468-71.
  7. Bragger B, Sandhoff R, Wegehingel S, Gorgas K, Malsam J, Helms JB, Lehmann W, Nickel W, Wieland FT. Evidence for segregation of sphingomyelin and cholesterol during formation of COPI-coated vesicles. J Cell Biol 2000 10/30;151 (3) :507-17
  8. Tafesse FG, Ternes P, Holthuis JCM. The multigenic sphingomyelin synthase family. J Biol Chem 2006 10/06;281 (40) :29421-5.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้