สพรั่ง กัลยาณมิตร

พลเอก สพรั่ง กัลยาณมิตร (8 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 — 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566) นักการเมืองและอดีตทหารบกชาวไทย อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 เป็น 1 ในคณะก่อการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และได้รับการพิจารณาให้เป็นประธานกรรมการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ประธานกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ กรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

สพรั่ง กัลยาณมิตร
แม่ทัพภาคที่ 3
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม พ.ศ. 2548 – 30 กันยายน พ.ศ. 2549
ก่อนหน้าพลโท พิชาญเมธ ม่วงมณี
ถัดไปพลโท จิรเดช คชรัตน์
รองปลัดกระทรวงกลาโหม
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 – 30 กันยายน พ.ศ. 2551
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด8 กรกฎาคม พ.ศ. 2491
อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
เสียชีวิต21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 (75 ปี)
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ศาสนาศาสนาพุทธ
คู่สมรสวิภาดา กัลยาณมิตร

ประวัติ แก้

สพรั่ง กัลยาณมิตร เกิดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 ที่ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็นบุตรคนที่ 7 ในจำนวน 8 คนของ พันโทศรี (เป็นบุตรของ พระยาสุจริตรักษา (เชื้อ) โดยมีทวด คือ หลวงเดชนายเวร (ทองอยู่) และนางเพ็ญแก้ว กัลยาณมิตร มีชื่อเล่นว่า "เปย" เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 7 รุ่นเดียวกับ พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 18, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 43 และปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สพรั่ง สมรสกับ วิภาดา กัลยาณมิตร มีบุตรชาย 3 คน คือ พันตรี เอกวีร์ กัลยาณมิตร นาวาอากาศโท อัครวัต กัลยาณมิตร และ เรืออากาศโท เอกวริษฐ์ กัลยาณมิตร

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 พลเอก มงคล อัมพรพิสิฏฐ์[1] เดินทางมาในพิธีฌาปนกิจศพที่วัดพระศรีมหาธาตุ

การรับราชการทหาร แก้

สพรั่ง เริ่มรับราชการเมื่อ พ.ศ. 2512 เป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก ร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 3 กรมผสมที่ 4 เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 4, ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 19, ผู้บังคับการกรม นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร, ผู้บังคับการกรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า สพรั่ง ดำรงตำแหน่งผู้บัญชากองพลกองพลทหารราบที่ 15 เมื่อ พ.ศ. 2540, ตำแหน่งแม่ทัพน้อยที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2546 ,ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2548 ก่อนจะเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ภายหลังการรัฐประหาร เมื่อ พ.ศ. 2549 และเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. 2550

บทบาทหลังการรัฐประหาร แก้

หลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 พล.อ.สพรั่งภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และได้รับการพิจารณาให้เป็นประธานบอร์ดการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยยังเป็นที่ถกเถียงในเรื่องของความเหมาะสมในการนำทหารที่ไม่มีประสบการณ์ มาบริหารงานรัฐวิสาหกิจ การปลดนายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ เนื่องจากคัดค้านการอนุมัติงบ 800 ล้านบาทของบริษัท ทีโอที ให้กองทัพ และการอนุมัติงบประมาณเกินความจำเป็นให้ตนเองพวกพ้อง ทำให้เป็นที่วิพากวิจารณ์กันอย่างมากถึงความเหมาะสม

  • กรณีงบลับ 800 ล้านบาท และปลดปลดนายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ออกจากรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการบริษัท ทีโอที ซึ่งคัดค้านกรณีสนับสนุนงบประมาณ 800 ล้านบาทให้กองทัพ

โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน บอร์ดทีโอทีได้ให้ความเห็นชอบโครงการขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับความมั่นคงมูลค่า 800 ล้านบาท เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความมั่นคงประเทศ

ด้านนายวุฒิพงษ์ อดีตรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า "หากบอร์ดทีโอทีไม่ให้ทำงานก็พร้อม และไม่รู้สึกหนักใจอะไร เพราะได้ทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อสู้กับอำนาจไม่ได้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้" [2]

ทั้งนี้ หลังบอร์ดทีโอทีมีมติปลด ได้มีหนังสือชี้แจง ลงชื่อนายวุฒิพงษ์ ต่อเรื่อง ดังกล่าวว่า

1.หากโครงการนี้มีความจำเป็น ทางด้านความมั่นคงในระดับคอขาดบาดตายจริง ทำไมจึงต้องมาใช้เงินของทีโอที ซึ่งงบสำคัญขนาดนี้น่าจะปรากฏงบของกองทัพหรือกลาโหม ซึ่งมีทั้งงบปกติและงบลับจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว

2.โครงการนี้มิได้ใช้แค่อุปกรณ์ แต่ต้องมีการเตรียมบุคลากรจำนวนมากเพื่อปฏิบัติการ ถ้าไม่มีการเตรียมเจ้าหน้าที่อย่างพร้อมมูล อุปกรณ์ก็กลายเป็นเศษเหล็กไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่หากได้มีการตระเตรียมบุคลากรมาอย่างพร้อมพรั่งสมบูรณ์ดีแล้ว มูลค่าอุปกรณ์ก็น่าจะถูกรวมไว้ในงบประมาณด้านความมั่นคงเรียบร้อยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินบริจาคของทีโอที

3.ถ้ามีความสำคัญอย่างที่กล่าวอ้างจริง ทำไมถึงไม่มีจดหมายจากหน่วยงานหลัก เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ อาทิ คณะมนตรีความมั่นคง หรือ คมช. กองทัพบก สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ หรือ กอ.รมน. หรือกระทรวงกลาโหม แต่กลับออกมาจากหน่วยงานภายในของกองทัพ/กลาโหม ซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล

นอกจากนั้น ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องวิธีการเบิกจ่ายผู้รับเงิน วิธี จัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนถึงรูปแบบของความช่วยเหลือ ว่าจะเป็นเงินสดหรืออุปกรณ์

4.ทีโอทีไม่ได้มีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งแต่ประการใด งบประมาณจำนวน 800 ล้านบาท จะเป็นตัวเลขที่ถ่วงผลประกอบการของบริษัท

5.ถ้าเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวรั่วไหลสู่สาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก จะส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของพนักงาน และประชาชน ที่มีต่อกรรมการบริษัท ในการกวาดล้างคอร์รัปชันและสร้างความโปร่งใสให้กับ ทีโอที โดยเฉพาะต่อ พล.อ.สพรั่งซึ่งเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งสำคัญในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช.

  • กรณีเงินงบประมาณไปดูงานต่างประเทศของบอร์ดทอท.ไปดูงานอังกฤษ เยอรมนี ตั้งงบพิเศษ 12 ล้าน ให้วอร์รูม คมช. ที่มีคนในตระกูล “กัลยาณมิตร” เป็นผู้ใช้เงิน "ตัวเลขไม่ใช่เรื่องสำคัญ สำคัญที่เจตนา ลงทุนบาทเดียว ไม่คุ้ม ก็น่าตำหนิ การเดินทางไปครั้งนี้ไม่ต้องชี้แจงประธาน คมช. เพราะท่านอนุมัติให้เดินทางไปตั้งแต่ต้นแล้ว และการที่พูดอยู่นี้ก็ชี้แจงต่อสาธารณชนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือเพราะไม่ใช่จำเลย เราวีรบุรุษ" [3] พล.อ.สพรั่ง เมื่อถูกถามว่า เงินจำนวน 7 ล้าน ที่ไปทำงาน ถือว่าคุ้มไหม

เกี่ยวกับตระกูลกัลยาณมิตร แก้

ต้นตระกูลกัลยาณมิตร คือ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (เจ้าสัวโต) เป็นบุตรของ หลวงพิไชยวารี (มั่ง แซ่อึ้ง) ซึ่งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ที่จั๋นกัวยิม เมืองเอ้หมึง ประเทศจีน

ขณะนั้น มั่ง แซ่อึ้ง ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรี ในฐานะพ่อค้าเรือสำเภา ค้าขายรุ่งเรือง ได้เป็นคุณหลวงในรัชกาลที่ 1 มีบุตร 2 คน คือ เจ้าสัวโต และเจ้าสัวต่วน

เจ้าพระยานิกรบดินทร์ เป็นขุนนางในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอันมาก เพราะแต่เดิมเมื่อพระองค์ยังไม่ขึ้นครองราชสมบัตินั้น เจ้าสัวโตถือเป็นขุนนางผู้ใกล้ชิด และทำราชการอยู่ในกรมท่า ดูแลการค้าขายเรือสำเภาเป็นที่รุ่งเรือง เป็นที่พอพระทัยเป็นอย่างมาก

และเจ้าพระยานิกรบดินทร์ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นถึงสมุหนายก (ดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ) อีกทั้งยังถือเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่คนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการอัญเชิญรัชกาลที่ 4 ขณะที่ยังผนวชอยู่ขึ้นเถลิงราชสมบัติอีกด้วย

ขณะที่ หลวงเดชนายเวร (ทองอยู่) ทวดของ พล.อ.สพรั่ง มีบทบาทสำคัญในการเจริญราชไมตรีกับประเทศอังกฤษช่วงรัชกาลที่ 4 (ช่วงปี 2400 ) โดยเป็นผู้กำกับเครื่องราชมงคลบรรณาการไปยังประเทศอังกฤษ กับคณะราชทูตสยามชุดนั้นด้วย ซึ่งรัชกาลที่ 4 มีพระราชหัตถเลขา เกี่ยวกับอาการป่วยของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ พระราชทานแก่นายพิจารณ์สรรพกิจ (ยศขณะนั้น) รวม 10 กว่าฉบับ

ส่วนที่มาของนามสกุล 'กัลยาณมิตร' เกิดจากเมื่อครั้งเจ้าสัวโต เป็นพระยาราชสุภาวดี มีศรัทธาสร้างวัดถวายรัชกาลที่ 3 และด้วยความจงรักภักดี เช่น 'มิตรแท้' ทำให้รัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานวัดนามว่า 'วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร' (ตั้งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่)

อีกทั้งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เจ้าสัวโต เป็น 'เจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินธรมหากัลยาณมิตร' และรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เจ้าสัวรอด เป็น 'เจ้าพระยารัตนบดินทร์มหินธรมหากัลยาณมิตร' จึงทำให้รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำรัสกับเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย) ว่า

"พวกเจ้าพระยาสุรสีห์เป็นวงษ์กัลยาณมิตร ทั้งในสร้อยนามเจ้าพระยานิกรบดินทร์ เจ้าพระยารัตนบดินทร์ และของเจ้าพระยาสุรสีห์เองก็มีกัลยาณมิตรเป็นที่ปรากฏอยู่แล้ว" จึงได้พระราชทานนามสกุลด้วยลายพระหัตถ์เป็นหลักฐาน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ณ กาลครั้งหนึ่ง พลเอก สพรั่ง กัลยาณมิตร ๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
  2. บอร์ดทีโอทีเห็นชอบ อนุมัติงบลับ 800 ล้าน
  3. "สพรั่ง" สวนทรท.โกงหมื่นล.ทำไมไม่ถามบ้าง
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรตืยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๒, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2015-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๑๑, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๑๒๖ ง หน้า ๒๑๔๘, ๒๒ สิงหาคม ๒๕๑๕
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๑๕๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๑๒ กันยายน ๒๕๒๒
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๖๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๘, ๑ เมษายน ๒๕๓๐
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๑๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕, ๒๑ มกราคม ๒๕๓๐