สถาปัตยกรรมร่วมสมัย

สถาปัตยกรรมร่วมสมัย (Contemporary Architecture) คือรูปแบบหนึ่งของการก่อสร้างที่เฟื่องฟูมาตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 สถาปัตยกรรมร่วมสมัยเป็นการหลอมรวมระหว่างงานสร้างสรรค์กับนวัตกรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสไตล์อันหลากหลายในการออกแบบอาคาร สถาปัตยกรรมร่วมสมัยถูกแยกจากสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ด้วยคุณลักษณะของการเปิดรับความคิดสร้างสรรค์ทุกรูปแบบ บนพื้นฐานของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าองค์ประกอบโดยส่วนใหญ่ของสถาปัตยกรรมร่วมสมัย จะได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในช่วงต้นถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่ให้ความสำคัญกับการประกอบกันของเส้นตรงที่ดูสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม สถาปัตยกรรมร่วมสมัยได้ผ่อนปรนให้มีการใช้เส้นโค้งอย่างกว้างขวาง เพื่อแสดงออกถึงการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ และความคิดสร้างสรรค์

สถาปัตยกรรมร่วมสมัยเน้นการใช้วัสดุและเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เช่น ระบบโครงสร้าง Tube ซึ่งช่วยให้สามารถก่อสร้างอาคารที่มีความสูงและแข็งแรงกว่าอาคารส่วนใหญ่ที่สร้างในยุคก่อนหน้า อีกทั้งการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบ (Computer Aided Design: CAD) และการสร้างแบบจำลองสามมิติด้วยคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น

การใช้วัสดุก่อสร้างหลากหลายชนิดผสมผสานกัน การออกแบบอาคารให้มีรูปร่างไม่สมมาตร บิดงอ มีเหลี่ยมมุม สามารถสร้างทัศนียภาพที่แตกต่างตามจังหวะการโคจรของดวงอาทิตย์ ล้วนก่อให้เกิดลักษณะเด่นของอาคารร่วมสมัย

สถาปัตยกรรมร่วมสมัยยังตระหนักถึงการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผ่านการใช้วัสดุรีไซเคิลเป็นส่วนใหญ่ในกระบวนการก่อสร้าง และการออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงาน อาคารร่วมสมัยส่วนมากนิยมใช้หน้าต่างขนาดใหญ่เพื่อรับแสงธรรมชาติแทนการใช้หลอดไฟ อาคารบางแห่งใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเซลล์แสงอาทิตย์ซึ่งติดตั้งอยู่เหนือหลังคาหรือดาดฟ้า

รูปแบบของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยมีปรากฏให้เห็นทั่วโลก จึงอาจกล่าวได้ว่าสถาปัตยกรรมร่วมสมัยมีความเป็นสากล ต่างกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่กระจุกอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบทวีปยุโรป อาคารร่วมสมัยที่มีชื่อเสียง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ทาวเวอร์ (Shanghai Tower) ประเทศจีน, บุรจญ์เคาะลีฟะฮ์ (Burj Khalifa) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, โรงอุปรากรซิดนีย์ (Sydney Opera House) ประเทศออสเตรเลีย, ซีเอ็น ทาวเวอร์ (CN Tower) ประเทศแคนาดา

พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ บิลเบา (Guggenheim Bilbao Museum) ในประเทศสเปน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนของสถาปัตยกรรมร่วมสมัย แฟรงก์ โอเวน เกห์รี (Frank Owen Gehry) สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารแห่งนี้ ได้ใช้เส้นโค้งจำนวนมากเพื่อสร้างความรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวและลื่นไหลแก่ผู้พบเห็น มีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ในกระบวนการออกแบบและการก่อสร้าง วัสดุหลักอย่างไทเทเนียม หินปูน และกระจก ถูกนำมาใช้เพื่อส่งเสริมความโดดเด่นของอาคาร รวมถึงมีการใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม

ระเบียงภาพ แก้