สถาปัตยกรรมนอร์มัน

สถาปัตยกรรมนอร์มัน (อังกฤษ: Norman architecture) เป็นคำที่ใช้ในการบรรยายลักษณะสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ที่วิวัฒนาการโดยนอร์มันในดินแดนต่างๆ ที่ได้เข้าปกครองหรือมีอิทธิพลในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 และ 12 โดยเฉพาะในการบรรยายถึงสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์แบบอังกฤษ นอร์มันเป็นผู้ริเริ่มการก่อสร้างปราสาท, ป้อมปราการที่รวมทั้งหอกลางแบบนอร์มัน, สำนักสงฆ์, แอบบี, คริสต์ศาสนสถาน และมหาวิหารเป็นจำนวนมากในอังกฤษ ในลักษณะการใช้โค้งกลม (โดยเฉพาะรอบหน้าต่างและประตู) และมีลักษณะหนาหนักเมื่อเทียบกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่น

ช่องทางเดินกลางของมหาวิหารเดอแรมที่ใช้ซุ้มโค้งครึ่งวงกลมสองข้างแม้ว่าจะมีการใช้โค้งแหลมบนเพดานเหนือช่องทางเดินกลางที่เป็นการนำทางของสถาปัตยกรรมกอทิก

ลักษณะสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ที่กล่าวนี้เริ่มขึ้นในนอร์ม็องดีและแผ่ขยายไปทั่วยุโรปโดยเฉพาะในอังกฤษซึ่งเป็นที่ที่มีการวิวัฒนาการมากที่สุดและยังคงมีสิ่งก่อสร้างจากยุคนั้นที่ยังหลงเหลืออยู่มากกว่าประเทศอื่น ในขณะเดียวกันตระกูลโอตวิลล์ (Hauteville family) ซึ่งเป็นตระกูลนอร์มันที่ปกครองซิซิลีก็สร้างลักษณะสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์อีกลักษณะหนึ่งที่มีอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์และซาราเซ็นที่ก็เรียกว่า “สถาปัตยกรรมนอร์มัน” เช่นกันหรือบางครั้งก็เรียกว่า “สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ซิซิลี”

ที่มาของคำและการและการวิวัฒนาการไปเป็นสถาปัตยกรรมกอทิก แก้

“สถาปัตยกรรมนอร์มัน” อาจจะเป็นคำที่เริ่มใช้กันโดยนักโบราณศึกษา (antiquarian) ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่การลำดับลักษณะตามสมัยต่างๆ มาจากการกำหนดของทอมัส ริคแมน (Thomas Rickman) ในหนังสือที่เขียนในปี ค.ศ. 1817 ชื่อ ความพยายามในการแยกลักษณะสถาปัตยกรรมอังกฤษตั้งแต่สมัยนอร์มันพิชิตอังกฤษจนถึงสมัยการปฏิรูปศาสนา (An Attempt to Discriminate the Styles of English Architecture from the Conquest to the Reformation) ที่ริคแมนเริ่มใช้คำว่า “นอร์มัน, กอทิกอังกฤษตอนต้น, กอทิกวิจิตร และกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์” ในการแยกลักษณะสถาปัตยกรรมแบบต่างๆ ส่วนคำว่า “โรมาเนสก์” โดยทั่วไปเป็นคำที่ใช้ในภาษากลุ่มโรมานซ์ในอังกฤษมาตั้งแต่ ค.ศ. 1715[1] และนำมาใช้ในการบรรยายลักษณะสถาปัตยกรรมของคริสต์ศตวรรษที่ 11 และ 12 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1819[2] แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพจะทรงสร้างแอบบีเวสต์มินสเตอร์ในแบบโรมาเนสก์ (ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งก่อสร้างเดิมหมดในปัจจุบัน) ก่อนหน้าการรุกรานของชาวนอร์มันไม่นานนัก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสิ่งก่อสร้างสำคัญขนาดใหญ่ที่เก่าที่สุดที่สร้างแบบโรมาเนสก์ในอังกฤษ ในอังกฤษไม่มีสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ที่สร้างก่อนการรุกรานเหลืออยู่ให้เห็น แต่นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าลักษณะบางส่วนที่หลงเหลืออยู่ในคริสต์ศาสนสถานบางแห่งที่โดยทั่่วไปกล่าวกันว่าเป็นลักษณะ “นอร์มัน” นั้นอันที่จริงแล้วอาจจะเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแองโกล-แซ็กซอน

ขณะที่ช่างสลักหินวิวัฒนาการลักษณะการแกะและทดลองหาวิธีแก้ปัญหาการสร้างเพดานสันอยู่ก็ได้พบวิธีใหม่ๆ ในการก่อสร้างเช่นการใช้โค้งที่แหลมขึ้นกว่าเดิม ที่ต่อมากลายมาเป็นลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมกอทิก นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและนักวิชาการมีความเห็นว่าการศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมควรเป็นการศึกษาที่มีความต่อเนื่องเป็นหน่วยทั้งหมดรวมกันแทนที่จะเป็นการศึกษาของลักษณะเป็นส่วนๆ ซึ่งรวมทั้งการศึกษาวิวัฒนาการภายในสถาปัตยกรรมนอร์มันหรือโรมาเนสก์เช่นที่ว่า นักวิชาการเรียกลักษณะสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะที่อยู่ในระหว่างการวิวัฒนาการจากสมัยหนึ่งไปเป็นอีกสมัยหนึ่งว่าเป็น “ลักษณะคาบสมัย” (Transitional) หรือ “ลักษณะคาบสมัยนอร์มัน-กอทิก” (Norman-Gothic Transitional) เว็บไซต์บางแห่งใช้คำว่า “นอร์มันกอทิก” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกำกวมที่อาจจะหมายถึงลักษณะคาบสมัยหรือลักษณะนอร์มันอย่างเดียวก็เป็นได้[3],[4]

สถาปัตยกรรมนอร์มันในนอร์ม็องดี แก้

ผู้รุกรานไวกิงมาถึงปากแม่น้ำแซนในปี ค.ศ. 911 ในช่วงเวลาที่ชนแฟรงก์ยังต่อสู้บนหลังม้าและลอร์ดของชนแฟรงก์ยังสร้างปราสาทอยู่ มาอีกศตวรรษต่อมาประชาชนในบริเวณนั้นก็ยอมจำนนต่อไวกิงและรวมตัวกันเป็นชนที่เรียกว่านอร์มันที่ยอมรับประเพณีท้องถิ่น, ภาษา และการนับถือคริสต์ศาสนา ขุนนางนอร์มันเริ่มสร้างปราสาทที่ทำด้วยไม้ที่ต่อมาวิวัฒนาการมาเป็นปราสาทเนิน และต่อมาวิวัฒนาการก็เป็นคริสต์ศาสนสถานที่สร้างด้วยหินแบบโรมาเนสก์ของชนแฟรงก์ เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 950 นอร์มันก็เริ่มสร้างหอกลางด้วยหิน นอร์มันเป็นกลุ่มชนที่เดินทางอย่างกว้างไกลและขณะที่เดินทางไปตามท้องถิ่นต่างๆ นอร์มันก็รับวัฒนธรรมต่างๆ ที่รวมทั้งวัฒนธรรมของตะวันออกไกล้ บางอย่างก็นำเข้ามาผสมกับลักษณะศิลปะและสถาปัตยกรรมของตนเอง นอร์มันวิวัฒนาผังแบบบาซิลิกาของสถาปัตยกรรมคริสเตียนยุคแรกที่ขยายด้านข้างและมุขตะวันออกออกไปมากกว่าเดิม และสร้างหอสองหอทางด้านหน้าของมุขตะวันตกเช่นที่เห็นในการก่อสร้างวัดแซ็งเตเตียน (Abbaye-aux-Hommes) ที่เมืองคอง (Caen) ที่เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1067 และกลายมาเป็นแบบอย่างในการสร้างมหาวิหารขนาดใหญ่ในอังกฤษต่อมาอีกยี่สิบปีให้หลัง

สถาปัตยกรรมนอร์มันในอังกฤษ แก้

 
ซุ้มโค้งแบบนอร์มันเหนือประตูวัดที่กิลทิงเพาเวอร์ในกลอสเตอร์เชอร์

ในอังกฤษขุนนางนอร์มันและสังฆราชมีอิทธิพลมาก่อนหน้าที่จะเข้ามารุกรานในปี ค.ศ. 1066 และอิทธิพลของนอร์มันนี้ก็มีผลต่อลักษณะสถาปัตยกรรมแองโกล-แซ็กซอนตอนปลาย สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพทรงเติบโตขึ้นในนอร์ม็องดีและในปี ค.ศ. 1042 พระองค์ก็ทรงนำช่างหินจากนอร์ม็องดีมาสร้างแอบบีเวสต์มินสเตอร์ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างแบบโรมาเนสก์สิ่งแรกในอังกฤษ

ในปี ค.ศ. 1051 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงนำขุนนางนอร์มันเข้ามาในอังกฤษผู้มาสร้างปราสาทเนินในเวลส์ หลังจากการรุกรานของนอร์มันแล้วทั้งการก่อสร้างปราสาทเนินและการก่อสร้างอื่นๆ ก็แพร่หลายอย่างรวดเร็ว การขยายตัวของการก่อสร้างก็รวมทั้งคริสต์ศาสนสถาน และแอบบี และป้อมปราการอันใหญ่โตและซับซ้อนกว่าเดิมที่รวมทั้งการก่อสร้างหอกลางที่ทำด้วยหิน

ลักษณะของสถาปัตยกรรมเป็นลักษณะที่หนาหนักและเป็นทรงเรขาคณิตง่ายๆ การตกแต่งก็อาจจะมีแถบรูปสลักหินเล็กๆ เช่นตามคันทวย หรือซุ้มบอด (blind arcade) หรือการแกะสลักตกแต่งหัวเสาหรือในบริเวณหน้าบันเหนือประตูโค้งครึ่งวงกลม “ซุ้มโค้งนอร์มัน” เป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลม รอบโค้งมักจะตกแต่งเป็นลวดลายเรขาคณิตเช่นรูปหยักเชฟรอน (chevron) ผนังก็มักจะมีบริเวณพิธี (chancel) ที่ลึกและหอกลางเหนือจุดตัดเป็นสี่เหลี่ยมที่กลายมาเป็นลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมคริสต์ศาสนสถาน (Church architecture) ของอังกฤษต่อมา เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1083 นอกจากสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ เช่นปราสาทหรือมหาวิหารแล้ววัดเล็กๆ ประจำท้องถิ่นเป็นจำนวนร้อยก็สร้างกันขึ้นในสมัยนี้ด้วย วัดเล็กๆ เหล่านี้มักจะมีโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นโถงที่มีช่องทางเดินกลางช่องเดียวและหอสี่เหลี่ยมหอหนึ่งคร่อมทางเข้าหน้าวัดด้านตะวันตก ลักษณะวัดประจำท้องถิ่นที่สร้างมาตั้งแต่สมัยนอร์มันที่เห็นในปัจจุบันอาจจะมีลักษณะต่างจากที่กล่าวบ้างเพราะได้รับการขยายเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงจากเดิมในสมัยต่อมา

หลังจากมหาวิหารแคนเตอร์บรีได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ในปี ค.ศ. 1174 แล้วช่างหินนอร์มันก็เริ่มสร้างส่วนใหม่เป็นสถาปัตยกรรมกอทิก ราว ค.ศ. 1191 มหาวิหารเวลล์สในมณฑลซัมเมอร์เซ็ท และมหาวิหารลิงคอล์นก็สร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษ สถาปัตยกรรมนอร์มันก็ออกไปมีอิทธิพลไกลออกไปในท้องถิ่นในสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดเล็กลง

สถาปัตยกรรมคริสต์ศาสนสถาน แก้

สถาปัตยกรรมทางทหาร แก้

สถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัย แก้

สถาปัตยกรรมนอร์มันในสกอตแลนด์ แก้

สกอตแลนด์ก็ได้รับอิทธิพลของนอร์มันตอนต้นเมื่อขุนนางนอร์มันมามีบทบาทในราชสำนักของพระเจ้าแม็คเบ็ธแห่งสกอตแลนด์ราว ค.ศ. 1050 พระเจ้ามัลคอล์มที่ 3 ผู้ครองราชย์ต่อมาทรงโค่นราชบัลลังก์ของแม็คเบ็ธด้วยความช่วยเหลือของอังกฤษและนอร์มัน มาร์กาเร็ตพระราชินีในพระองค์ทรงส่งเสริมการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสกอตแลนด์ ลัทธิเบ็นนาดิคตินเข้ามาก่อตั้งสำนักสงฆ์ที่ดันเฟิร์มไลน์ พระราชโอรสองค์ที่สี่ของพระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเดวิดที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ และทรงสร้างชาเปลเซนต์มาร์กาเร็ตเป็นอนุสรณ์แก่พระราชมารดาในคริสต์ศตวรรษที่ 12

สถาปัตยกรรมคริสต์ศาสนสถาน แก้

สถาปัตยกรรมนอร์มันในไอร์แลนด์ แก้

นอร์มันตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่ทางด้านตะวันออกของไอร์แลนด์ที่ต่อมาเรียกกันว่า “เดอะเพล” (the Pale) และสร้างสิ่งก่อสร้างไว้หลายแห่งที่รวมทั้งปราสาททริม, ปราสาทสอร์ด และ ปราสาทดับลิน

สถาปัตยกรรมนอร์มันในอิตาลี แก้

เมซโซจอร์โน แก้

นอร์มันเริ่มสร้างปราสาทที่เป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของนอร์มันในอิตาลีมาตั้งแต่ต้น วิลเลียมแขนเหล็ก (William Iron Arm) สร้างปราสาทหนึ่งในคาลาเบรียในปี ค.ศ. 1045 หลังจากการเสียชีวิตของโรเบิร์ต จิสคาร์ด (Robert Guiscard) ในปี ค.ศ. 1085 แล้วคาบสมุทรทางด้านใต้ของอิตาลีก็ประสบกับสงครามกลางเมือง และตกอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำที่อ่อนแอลงทุกที การก่อความไม่สงบเกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ขุนนางชั้นรองพยายามต่อต้านอำนาจของพระมหากษัตริย์จากปราสาทของตนเอง ในโมลิเซนอร์มันก็เริ่มโครงการก่อสร้างปราสาทที่ทั้งใหญ่และซับซ้อน และนำเทคนิคการก่อสร้างที่เรียกว่า “opus gallicum” มาใช้ในอิตาลี

นอกจากการก่อสร้างปราสาทป้องกันเป็นระยะๆ (Encastellation) แล้ว นอร์มันก็ยังสร้างคริสต์ศาสนสถานหลายแห่งที่ยังเห็นได้ในปัจจุบัน เช่นในการสร้างที่บรรจุศพสำหรับตระกูลโอตวิลล์ที่เวโนซา

ซิซิลี แก้

สมัยนอร์มันระหว่างซิซิลีเกิดขึ้นในระหว่างราวปี ค.ศ. 1070 จนถึงราวปี ค.ศ. 1200 สถาปัตยกรรมตกแต่งด้วยงานโมเสกปิดทองเช่นที่มหาวิหารที่มอนเรอาเล ชาเปลพาลาติเนในพาเลอร์โมสร้างในปี ค.ศ. 1130 อาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของลักษณะนี้ที่ภายใต้โดม (องค์ประกอบแบบไบแซนไทน์) ตกแต่งด้วยงานโมเสกเป็นภาพพระเยซูและเทวดา

สถาปัตยกรรมนอร์มันตอนปลายในซิซิลี ลักษณะของสถาปัตยกรรมกอทิกเริ่มปรากฏขึ้นเช่นที่มหาวิหารเมสซินาที่สถาปนาในปี ค.ศ. 1197 แต่หอระฆังสร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมกอทิกสูงซึ่งแตกต่างจากกอทิกยุคแรกที่สร้างในสมัยนอร์มัน ที่เป็นโค้งแหลมแทนที่จะเป็นค้ำยันแบบที่กางออกไปและรายยอดแหลมเล็ก (pinnacle) ของลักษณะของสมัยสถาปัตยกรรมกอทิกต่อมา

อ้างอิง แก้

  1. OED "Romanesque": in French a letter of 1818 by Charles-Alexis-Adrien Duhérissier de Gerville seems to be the first
  2. OED same entry; in French by Gerville's friend Arcisse de Caumont in his Essaie sur l'architecture du moyen âge, particulièrement en Normandie, 1824.
  3. Gothic Architecture in England
  4. Norman Gothic
  5. Moyse's Hall museum

บรรณานุกรม แก้

  • Bilson, J.: Durham cathedral and the cronology of its vaults, Archeol. Journal 79, 1929
  • Clapham, A. W.: English Romanesque Architecture after the conquest. Oxford 1934
  • Clifton-Taylor, A.: The Cathedrals of England. London 1967
  • Cook, G. H.: The English Cathedrals through the Centuries. London 1957
  • Escher, K.: Englische Kathedralen. Zürich 1929
  • Lexikon der Weltarchitektur. Von Pevsner, Nikolaus / John Fleming / Hugh Honour [1966]. München 1971.
  • Rieger, R.: Studien zur mittelalterlichen Architektur Englands. In: Wiener Kunstwiss. Blätter, Jg. 2, 1953
  • Short, Ernest H.: Norman Architecture in England, 2005
  • Spengler, Dietmar: Die anglo-normannischen Kirchen. Referat im HS SS 1980, Köln (unveröffentlicht)
  • Webb, G.: Architecture in Britain: The Middle Ages (Pelican History of Art), London 1956

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สถาปัตยกรรมนอร์มัน

ระเบียงภาพ แก้