สงครามสี่สิบปี (พม่า: အနှစ်လေးဆယ်စစ်; อังกฤษ: Forty Years' War) หรือ สงครามพม่ามอญ (Mon-Burmese War) หรือ สงครามหงสาอังวะ (Ava-Pegu War) เป็นการขัดกันทางทหารระหว่างฝ่ายพม่า คือ อาณาจักรอังวะ กับฝ่ายมอญ คือ อาณาจักรหงสาวดี ตั้งแต่ปี 1385 ถึงปี 1424 โดยรบรากันเป็นสองช่วงแยกกัน คือ ช่วงปี 1385 ถึงปี 1391 แล้วหย่าศึกกันตั้งแต่ปี 1391 ถึงปี 1404 จึงกลับมาสับประยุทธ์กันอีกตั้งแต่ปี 1404 ถึงปี 1424 สมรภูมิหลักนั้นปัจจุบันอยู่ในพม่าตอนล่าง พม่าตอนบน ชาน และยะไข่ สงครามคราวนี้สิ้นสุดลงโดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชัยเหนือกัน กรุงหงสาวดีสามารถรักษาเอกราชไว้ได้ ขณะที่กรุงอังวะจำต้องเลิกล้มความพยายามที่จะสถาปนาอาณาจักรพุกามขึ้นอีกครั้ง

สงครามสี่สิบปี
Forty Years' War
วันที่1385-1424
สถานที่
ส่วนใหญ่ใน พม่าตอนล่าง
บางส่วนใน พม่าตอนบน, ยะไข่, ชาน
ผล

ไม่แพ้ไม่ชนะ

  • มอญรักษาเอกราชได้
  • ยะไข่เป็นเมืองขึ้นมอญ (1412–1421)
  • พม่าได้เมืองกะเลและโม่ญี่น‎
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
ไม่เปลี่ยนแปลงในระยะยาว
คู่สงคราม

อาณาจักรอังวะ

อาณาจักรหงสาวดี

ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ

ช่วงแรก แก้

พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาแห่งกรุงอังวะ อาศัยช่วงที่กรุงหงสาวดีประสบปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์เข้ารุกรานกรุงหงสาวดี เกิดเป็นสงครามตั้งแต่ราวปี 1384 ถึงปี 1386[note 1] พระยาน้อย เจ้าชายผู้ทรงพระเยาว์ เสวยราชย์เป็นพระเจ้ากรุงหงสาวดีพระองค์ใหม่ ทรงพระนาม "พระเจ้าราชาธิราช" ทรงได้รับความช่วยเหลือจากแม่ทัพนายกองผู้มากความสามารถหลายนาย เช่น สมิงนครอินทร์ และสมิงอายมนทะยา เป็นเหตุให้กรุงหงสาวดีสามารถตีโต้การรุกรานของกรุงอังวะได้หลายครั้ง ในปี 1391 กรุงอังวะจึงขอหย่าศึก การพักรบดำเนินมาจนถึงปี 1404[1]

ช่วงที่สอง แก้

สงครามช่วงที่สองเนื่องจากกรุงอังวะผจญปัญหาการสืบราชบัลลังก์เช่นกัน พระเจ้าราชาธิราชจึงใช้โอกาสนี้ยกทัพเรือจำนวนมหาศาลขึ้นสู่พม่าตอนเหนือเมื่อปี 1404[2] กรุงอังวะต่อต้านไว้ได้ พระเจ้าราชาธิราชแห่งกรุงหงสาวดี กับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง แห่งกรุงอังวะ จึงทรงพักรบกันในปี 1406 แต่ไม่ถึงหนึ่งปี ในปี 1406 นั้นเอง กรุงอังวะก็หันกลับมารุกรานกรุงหงสาวดีเพื่อขยายดินแดนต่อ สามารถยึดดินแดนหลายแห่งในตอนเหนือ คือ กะเล กับโม่ญี่น รวมถึงดินแดนภาคตะวันตก คือ ยะไข่ ฝ่ายมอญเห็นว่าไม่อาจปล่อยให้พม่ามีกำลังกล้าแข็งได้อีกต่อไปจึงเข้าทำสงครามด้วย ครั้นปี 1407 กองทัพมอญขับพม่าออกจากยะไข่ได้สิ้น ทั้งยังได้พันธมิตร คือ แสนหวี ซึ่งเข้าล่มหัวจมท้ายด้วยเพราะประสงค์จะหยั่งทราบความทะเยอทะยานของฝ่ายพม่า

ระหว่างปี 1407 ถึงปี 1413 กรุงอังวะจำต้องสู้หลายจุด คือ สู้แสนหวีทางเหนือ สู้หงสาวดีทางใต้ และสู้ยะไข่ทางตะวันตก กระนั้นภายในปี 1413 ทัพอังวะซึ่งนำโดยมังรายกะยอชวา โอรสพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง เริ่มรุกและกลับได้เปรียบ โดยสามารถปราบปรามแสนหวีและพันธมิตรจากราชวงศ์หมิงได้ ทั้งยังสามารถเคลื่อนพลเต็มรูปแบบเข้าสู่กรุงหงสาวดีได้ในปี 1414 จนมีชัยเหนือดินดอนสามเหลี่ยมอิรวดีได้ในปี 1415 ส่งผลให้พระเจ้าราชาธิราชต้องเสด็จลี้ภัยจากกรุงหงสาวดีไปยังเมาะตะมะ ทว่า มังรายกะยอชวาถึงแก่พระชนม์ในระหว่างรบเสียก่อนเมื่อเดือนมีนาคม 1417[3][4]

การสิ้นสุด แก้

เมื่อสิ้นมังรายกะยอชวาแล้ว ทั้งพม่าและมอญก็เหนื่อยหน่ายกับสงคราม การรบสองครั้งหลังจากนั้นมา คือ ช่วงปี 1417 ถึง 1418 และช่วงปี 1423 และ 1424 เป็นไปอย่างอิดเอื้อน ในช่วงปี 1421 ถึง 1422 ผู้นำของทั้งสองฝ่าย คือ พระเจ้าราชาธิราชและพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็สวรรคตทั้งสองพระองค์[5] การรบหนสุดท้ายมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 1423 เมื่อ มังศรีสู โอรสของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง เสด็จขึ้นสืบราชสมบัติต่อ ทรงพระนาม "พระเจ้าฝรั่งมังศรี" หรือ "พระเจ้าสีหตูแห่งอังวะ" แล้วกรีธาทัพล่วงมายังอาณาจักรมอญระหว่างที่ยังวุ่นวายกันเรื่องสืบราชบัลลังก์ พระนางเชงสอบู จึงยอมสมรสกับพระเจ้าฝรั่งมังศรีเพื่อหย่าศึก ทัพพม่าถอยคืนไปในต้นปี 1424 เป็นอันยุติสงครามยาวนานสี่สิบปี[6]

เชิงอรรถ แก้

  1. According to Mon records (Pan Hla 2005: 164–165) the war began within a year after Razadarit's accession, meaning late 1384/early 1385. However, Burmese chronicles (Hmannan Vol. 1 2003: 416–417) say the war began in 1386.

อ้างอิง แก้

  1. Jon Fernquest (Spring 2006). "Rajadhirat's Mask of Command: Military Leadership in Burma (c. 1348-1421)" (PDF). SBBR. 4 (1): 7–11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-01-03. สืบค้นเมื่อ 2013-12-22.
  2. Major Gen. Sir Arthur Purves Phayre (1873). "The History of Pegu". Journal of Asiatic Society of Bengal. Oxford University. 42: 47–55.
  3. Jon Fernquest (Autumn 2006). "Crucible of War: Burma and the Ming in the Tai Frontier Zone (1382-1454)" (PDF). SOAS Bulletin of Burma Research. 4 (2): 51–54. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-19. สืบค้นเมื่อ 2013-12-22.
  4. GE Harvey (1925). "Shan Migration (Ava)". History of Burma (2000 ed.). Asian Educational Services. pp. 85–95. ISBN 81-206-1365-1, 9788120613652. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help)
  5. Jon Fernquest (Spring 2006). "Rajadhirat's Mask of Command: Military Leadership in Burma (c. 1348-1421)". SBBR. 4 (1): 14–18.
  6. Kala Vol. 2 2006: 58

บรรณานุกรม แก้