สงครามยุทธหัตถี

สงครามระหว่างสยาม-พม่า เมื่อ พ.ศ. 2135

สงครามยุทธหัตถี เป็นสงครามที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2135 ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงหงสาวดี ผลของสงครามครั้งนั้นปรากฏว่าอยุธยาเป็นฝ่ายชนะถึงแม้จะมีกำลังพลน้อยกว่า สงครามครั้งนี้มีความโดดเด่นในการต่อสู้ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชามังกยอชวา สงครามนี้เป็นการปลดปล่อยสยามจากการครอบครองของพม่าต่อไปเป็นระยะเวลา 175 ปีจนถึง พ.ศ. 2310 เมื่อพระเจ้ามังระบุกตีสยามซึ่งส่งผลให้การปกครองอยุธยาสิ้นสุดลง

สงครามยุทธหัตถี

ภาพวาดยุทธหัตถีบนผนังพระอุโบสถวัดสุวรรณดาราราม
วันที่เดือนยี่ พ.ศ. 2135
สถานที่
ยังไม่เป็นที่ยุติ มีการสันนิษฐานออก 2 มติใหญ่ ๆ คือ
- ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี
- ต.ดอนเจดีย์ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี[1]
ผล กรุงศรีอยุธยาได้รับชัยชนะ
คู่สงคราม
กรุงศรีอยุธยา กรุงหงสาวดี
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระเอกาทศรถ
พระยาสีหราชเดโชชัย
พระยาเทพอรชุน
พระยาพระคลัง
พระยาท้ายน้ำ
พระมหาอุปราชา  
พระเจ้าแปร
พระเจ้าตองอู
เจ้าเมืองจาปะโร  
พระเจ้าเชียงใหม่
กำลัง
100,000 คน[ต้องการอ้างอิง] 250,000 คน[ต้องการอ้างอิง]

ประวัติสงคราม แก้

 
ตราประจำจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน แสดงถึงสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชามังกะยอชวา

ในปี พ.ศ. 2135 พระเจ้านันทบุเรงโปรดให้พระมหาอุปราชามังสามเกียดหรือมังกะยอชวานำกองทัพทหารสองแสนสี่หมื่นคน มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบจึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลังหนึ่งแสนคนเดินทางออกจากบ้านป่าโมกไปสุพรรณบุรี ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทอง และตั้งค่ายหลวงบริเวณตำบลหนองสาหร่าย[2]

เช้าของวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 ซึ่งตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเครื่องพิชัยยุทธ สมเด็จพระนเรศวรทรงพระคชาธารนามว่าเจ้าพระยาไชยานุภาพ (พลายภูเขาทอง) ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระคชาธารนามว่าเจ้าพระยาปราบไตรจักร (พลายบุญเรือง) ซึ่งช้างทรงของทั้งสองพระองค์นั้นเป็นช้างชนะงา คือช้างมีงาที่ได้รับการฝึกให้รู้จักการต่อสู้มาแล้วหรือเคยผ่านสงครามชนช้างชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว และเป็นช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบ ช้างทรงของทั้งสองพระองค์ได้วิ่งฝ่ากองทัพพม่ามาจนหลงเข้าไปในแดนพม่า และเข้าไปจนถึงช่วงกลางของทัพหงสาวดี มีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุรงค์บาทเท่านั้นที่ติดตามไปทัน[3]

สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าท้าวพระยา จึงทราบได้ว่าช้างทรงของสองพระองค์หลงถลำเข้ามาถึงกลางกองทัพพม่า และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามพระมหาอุปราชาด้วยความคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า "พระเจ้าพี่เรา จะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปจะไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่ได้ทำยุทธหัตถีแล้ว"[4]

พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอ เข้าทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวร พลายพัทธกอซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าได้เข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพจนเสียท่า พระมหาอุปราชาได้จังหวะจึงทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพได้ถูกพลายพัทธกอดันไปจนถึงต้นพุทรา เจ้าพระยาไชยานุภาพได้ใช้เท้าหลังยันโคนต้นพุทราชนพลายพัทธกอจนเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่พระอังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอพระคชาธารกลางสนามรบ[5]

ส่วน สมเด็จพระเอกาทศรถได้ทำยุทธหัตถีกับมางจาชโร เจ้าเมืองจาปะโร ซึ่งขี่ช้างนามว่า พลายพัชเนียง สมเด็จพระเอกาทศรถก็ทรงฟันเจ้าเมืองจาปะโรเสียชีวิตเช่นกัน ทหารพม่าเห็นว่าแพ้แน่แล้ว จึงใช้ปืนระดมยิงใส่สมเด็จพระนเรศวรได้รับบาดเจ็บ ทันใดนั้น ทัพหลวงสยามตามมาช่วยทัน จึงรับทั้งสองพระองค์กลับพระนคร พม่าจึงยกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป นับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นระยะเวลาอีกยาวนาน[5]

แต่ในมหาราชวงศ์ระบุว่าการยุทธหัตถีครั้งนี้ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรบุกเข้าไปในวงล้อมของฝ่ายพม่า ฝ่ายพม่าก็มีการยืนช้างเรียงเป็นหน้ากระดาน มีทั้งช้างของพระมหาอุปราชา ช้างของเจ้าเมืองชามะโรง ทหารฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรก็ระดมยิงปืนใส่ฝ่ายพม่า เจ้าเมืองชามะโรงสั่งเปิดผ้าหน้าราหูช้างของตน เพื่อไสช้างเข้ากระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรเพื่อป้องกันพระมหาอุปราชา แต่ปรากฏว่าช้างของเจ้าของชามะโรงเกิดวิ่งเข้าใส่ช้างของพระมหาอุปราชาเกิดชุลมุนวุ่นวาย กระสุนปืนลูกหนึ่งของทหารฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรก็ยิงถูกพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์[6]

การจัดลำดับทัพ แก้

 
จิตรกรรมฝาผนังยุทธหัตถี ณ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

กองทัพพม่า แบ่งออกเป็นสี่กองทัพ คือ

  • กองทัพเมืองแปร อุปราชเมืองแปรเป็นนายทัพ
  • กองทัพเมืองตองอู อุปราชเมืองตองอูเป็นนายทัพ
  • กองทัพหงสาวดี พระมหาอุปราชาเป็นนายทัพ และเป็นทัพหลวง
  • กองทัพเมืองเชียงใหม่

ส่วน กองทัพอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงจัดทัพเป็นขบวนเบญจเสนา 5 ทัพ ดังนี้

ผลกระทบ แก้

การตีเมืองทะวายและตะนาวศรี แก้

 
อนุสรณ์การสู้รบระหว่างนเรศวรกับมังกะยอชวา ที่หนองสาหร่าย

ศึก ทะวายและตะนาวศรีนั้น เป็นการรบในระหว่างคนต้องโทษกับคนต้องโทษด้วยกัน กล่าวคือ ทางกรุงศรีอยุธยพาพวกนายทัพที่ตามเสด็จไม่ทันในวันยุทธหัตถีนั้น มีถึง 6 คนคือ พระยาพิชัยสงคราม พระยารามกำแหง เจ้าพระยาจักรี พระยาพระคลัง และพระยาศรีไสยณรงค์ สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้ปรึกษาโทษ ลูกขุนปรึกษาโทษให้ประหารชีวิต สมเด็จพระพนรัตน์ป่าแก้วมาถวายพระพรว่าการที่แม่ทัพเหล่านั้นตามเสด็จไม่ทัน ก็เพราะบุญญาภินิหารของพระองค์ ที่จะได้รับเกียรติคุณเป็นวีรบุรุษที่แท้จริง ด้วยเหตุว่าถ้าพวกนั้นตามไปทันแล้วถึงจะชนะก็ไม่เป็นชื่อเสียงใหญ่หลวง เหมือนที่เสด็จไปโดยลำพัง เมื่อเห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงเลื่อมใสในคำบรรยายข้อนี้แล้ว ก็ทูลขอโทษพวกแม่ทัพเหล่านี้ไว้ สมเด็จพระนเรศวรก็โปรดประทานให้ แต่พวกนี้จะต้องไปตีทะวายและตะนาวศรีเป็นการแก้ตัว จึงให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพคุมพลห้าหมื่นไปตีตะนาวศรี พระยาพระคลังคุมกำลังพลหมื่นเหมือนกันไปตีทะวาย ส่วนแม่ทัพอื่นๆ ที่ต้องโทษก็แบ่งกันไปในสองกองทัพนี้คือพระยาพิชัยสงครามกับพระยารามคำแหงไป ตีเมืองทะวายกับพระยาพระคลัง และให้พระยาเทพอรชุนกับพระยาศรีไสยณรงค์ไปตีเมืองตะนาวศรีกับเจ้าพระยาจักรี[7][8]

ส่วนทางหงสาวดีเมื่อพระเจ้านันทบุเรงเสียพระโอรสรัชทายาทแล้วก็โทมนัส ให้ขังแม่ทัพนายกองไว้ทั้งหมด แต่ภายหลังทรงดำริว่าไทยชนะพม่าในครั้งนี้แล้วก็จะต้องมาตีพม่าโดยไม่ต้องสงสัย ก่อนที่ไทยไปรบพม่าก็จะต้องดำเนินการอย่างเดียวกันกับที่พม่ารบกับไทย กล่าวคือ จะต้องเอามอญไว้ในอำนาจเสียก่อนและเป็นการแน่นอนว่าไทยจะต้องเข้ามาตีทะวาย และตะนาวศรี ด้วยเหตุนี้จึงให้แม่ทัพนายกองที่ไปแพ้สงครามครั้งนี้ไปทำการแก้ตัวรักษา เมืองตะนาวศรีและเมืองทะวาย เป็นอันว่าทั้งผู้รบและผู้รับทั้งสองฝ่าย ตกอยู่ในฐานคนผิดที่จะต้องทำการแก้ตัวทั้งสิ้น[9]

ในการรบทวายและตะนาวศรีครั้ง นี้แม่ทัพทั้งสองคือ เจ้าพระยาจักรีและพระยาคลัง ทำการกลมเกลียวกันเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้สมเด็จพระนเรศวรจะได้แบ่งหน้าที่ให้ตีคนละเมือง ก็ยังมีการติดต่อช่วยเหลือกันและกัน ในที่สุดแม่ทัพทั้งสองก็รบชนะทั้งสองเมืองและบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีไสยณรงค์อยู่ครองเมืองตะนาวศรี ส่วนทางเมืองทะวายนั้นให้เจ้าเมืองทะวายคนเก่าครองต่อไป ชัยชนะครั้งนี้เป็นอันทำให้แม่ทัพทั้งหลายพ้นโทษ แต่ทางพม่าแม่ทัพกลับถูกทำโทษประการใดไม่ปรากฏ แต่อย่างไรก็ดี การที่ชัยชนะทะวายและตะนาวศรีครั้งนี้ ทำให้อำนาจของไทยแผ่ลงไปทางใต้เท่ากับในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช[10][11]

การสิ้นพระชนม์ของพระสุพรรณกัลยา แก้

มีทฤษฎีที่กล่าวว่า ภายหลังจากสงครามยุทธหัตถี พระเจ้านันทบุเรงได้ปลงพระชนม์พระสุพรรณกัลยาด้วยโทสะ ซึ่งการสิ้นพระชนม์นั้นในพงศาวดารรวมถึงคำให้การต่าง ๆ ทั้งของไทยและพม่าต่างก็ให้ข้อมูลต่างกันออกไป โดยพงศาวดารของไทยทั้งสองฉบับ (คำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด) ระบุว่า "พระเจ้าหงสาวดีก็ทรงพระพิโรธ จึงเสด็จไปสู่ตำหนักพระสุวรรณกัลยา เอาพระแสงฟันพระนางสุวรรณกัลยากับพระราชธิดา (หรือพระราชโอรสในคำให้การขุนหลวงหาวัด) ของพระองค์สิ้นพระชนม์ทั้ง ๒ พระองค์"

แม้การสิ้นพระชนม์ของพระสุพรรณกัลยานั้นจะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเกิดจากแรงโทสะของพระเจ้านันทบุเรง ตามหลักฐานประเภทคำให้การของไทย แต่มิกกี้ ฮาร์ท (Myin Hsan Heart) นักประวัติศาสตร์ชาวพม่าได้นำเสนอข้อมูลที่แตกต่างออกไป โดยกล่าวถึงเจ้าภุ้นชิ่หรือเจ้าหญิงพิษณุโลกได้ตามเสด็จพระราชมารดาออกมาประทับนอกพระราชวังกัมโพชธานี โดยเจ้าหญิงเจ้าภุ้นชิ่ได้เสกสมรสกับ เจ้าเกาลัด พระโอรสของเจ้าอสังขยา เจ้าเมืองตะลุป ซึ่งเป็นชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้ามังรายกะยอชวา โอรสองค์ที่สองของพระเจ้านันทบุเรง และมีพระธิดาด้วยกันคือ เจ้าหญิงจันทร์วดี ซึ่งหมายความว่า ในช่วงสงครามยุทธหัตถี พ.ศ. 2135 พระสุพรรณกัลยามิได้ประทับอยู่ในหงสาวดีแต่ทรงประทับอยู่ในอังวะ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2137 พระเจ้าตองอู พระเจ้านยองยัน และพระเจ้าเชียงใหม่ ต่างแยกตัวเป็นอิสระจากหงสาวดี พระเจ้านยองยันได้เข้าครองกรุงอังวะที่เจ้าหญิงพิษณุโลก และพระมารดาอาศัยอยู่ อีกทั้งยังเป็นผลดีแก่ทั้งสองพระองค์ด้วย เนื่องจากพระเจ้านยองยันนั้นเป็นพระโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนอง ทั้งยังมีความคุ้นเคยกับเจ้าอสังขยาบิดาของเจ้าเกาลัด จึงคาดได้ว่า ภายใต้การปกครองของพระเจ้านยองยันพระสุพรรณกัลยารวมถึงเจ้าหญิงพิษณุโลกก็ยังทรงประทับในนครอังวะอย่างปกติสุขจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ โดยมิได้ถูกปลงพระชนม์แต่อย่างใด[12]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "เจดีย์ยุทธหัตถี ตั้งอยู่ที่ไหนกันแน่?". ธนาคารสมอง. 17 June 2008. สืบค้นเมื่อ 22 June 2014.[ลิงก์เสีย]
  2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 141-142
  3. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 144-145
  4. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 144
  5. 5.0 5.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 145-146
  6. "คุณพระช่วย". ช่อง 9. 21 June 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-07. สืบค้นเมื่อ 22 June 2014.
  7. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หน้า 118-121
  8. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 147
  9. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หน้า 121
  10. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หน้า 121-123
  11. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, หน้า 153-155
  12. ตำนานนางกษัตริย์. หน้า 293-295