สงครามกลางเมืองผู้ปลดปล่อย

สงครามกลางเมืองผู้ปลดปล่อย (อังกฤษ: Liberators' civil war) เป็นสงครามที่คณะสามผู้นำที่สอง (Second Triumvirate) เป็นผู้ก่อ เพื่อแก้แค้นการฆ่าจูเลียส ซีซาร์ สงครามดังกล่าวเป็นการสู้รบระหว่างกองกำลังของมาร์ค แอนโทนีกับออกเตเวียน (สมาชิกคณะสามผู้นำที่สอง) ฝ่ายหนึ่ง และกองกำลังของมือสังหารซีซาร์ มาร์คัส จูนิอัส บรูตัสกับไกอัส แคสซิอัส ลอนไจนัสอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อ 42 ปีก่อน ค.ศ.

สงครามกลางเมืองผู้ปลดปล่อย
ส่วนหนึ่งของ สงครามกลางเมืองโรมัน
วันที่43-42 ปีก่อน ค.ศ.
สถานที่
มาซีโดเนีย
ผล ชัยชนะของคณะสามผู้นำ
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
สาธารณรัฐโรมัน ภายใต้การนำของคณะสามผู้นำ กลับเข้าปกครองจังหวัดทางตะวันออกอีกครั้ง

อารัมภบท แก้

หลังการฆ่าซีซาร์ บรูตัสและแคสซิอัส (ผู้ก่อการหลักสองคน ซึ่งรู้จักในนามผู้ปลดปล่อย) หนีออกนอกอิตาลีแล้วเข้าควบคุมจังหวัดทางตะวันออกทั้งหมด (ตั้งแต่กรีซและมาซีโดเนียไปถึงซีเรีย) ตลอดจนราชอาณาจักรตะวันออกพันธมิตร ในกรุงโรม สามผู้นำหลักฝ่ายซีซาร์ ได้แก่ แอนโทนี ออกเตเวียนและมาร์คัส เอมิลลิอัส เลปิดัส ผู้ควบคุมกองทัพโรมันแทบทั้งหมดในทางตะวันตก ปราบปรามการค้านของวุฒิสภาและสถาปนาคณะสามผู้นำที่สอง หนึ่งในภารกิจแรก ๆ คือ ทำลายกองกำลังของผู้ปลดปล่อย ไม่เพียงแต่เพื่อควบคุมโลกโรมันอย่างสมบูรณ์เท่านั้น หากเป็นไปเพื่อแก้แค้นมรณกรรมของซีซาร์ด้วย

คณะสามผู้นำตัดสินใจคงเลปิดัสอยู่ในอิตาลี ระหว่างที่แอนโทนีและออกเตเวียนยกพลไปยังตอนเหนือของกรีซด้วยทหารที่ดีที่สุด (ทั้งหมด 28 ลีเจียน) ในปีที่ 42 ก่อนคริสตกาล คณะสามผู้นำส่งไดอัส นอร์บานัส ฟลักคัสและเดซิดิอัส ซาซา พร้อมทหาร 8 ลีเจียนเป็นกองระวังหน้ารุกเข้ามาซีโดเนีย นอร์บานัสและซาซาเผชิญกับกำลังพลผสมที่รุกเข้ามาของแคสซิอัสและบรูตัสแถบเมืองฟิลิปปี เนื่องจากนอร์บานัสและซาซามีไพร่พลน้อยกว่าจึงยึดที่ตั้งใกล้กับฟิลิปปีซึ่งกันมิให้ฝ่ายผู้ปลดปล่อยรุกต่อไป บรูตัสและแคสซิอัสจัดการให้นอร์บานัสผละจากที่ตั้งนี้ด้วยอุบาย แต่นอร์บานัสพบอุบายดังกล่าวทันกาลที่จะยึดที่ตั้งสำคัญนี้คืนได้ เมื่อบรูตัสและแคสซิอัสตีเข้ามาทางปีก นอร์บานัสและซาซาก็ล่าถอยไปยังแอมฟิโพลิส เมื่อมาร์ก แอนโทนีและกองกำลังขนาดใหญ่ของคณะสามผู้นำมาถึง (ขณะนั้นออกเตเวียนล้าหลังอยู่ที่ดีราเคียมเพราะสุขภาพไม่ดี) ก็พบว่าแอมฟิโพลิสมีการป้องกันแน่นหนาและแอนโทนีปล่อยให้นอร์บานัสบังคับบัญชาเมืองนั้นไป

กำลังพลสองฝ่าย แก้

คณะสามผู้นำนำทหาร 19 ลีเจียนเข้าสู่สมรภูมิ แหล่งข้อมูลรายงานชื่อลีเจียนอย่างเจาะจงเพียงหนึ่งลีเจียนเท่านั้น (ลีเจียนที่ 4) แต่ลีเจียนอื่นที่มาด้วยมีลีเจียนที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 อีเควาทริส ที่ 12 ที่ 3 ที่ 226 ที่ 28 ที่ 29 และที่ 30 เนื่องจากทหารผ่านศึกได้เข้าอยู่อาศัยในนิคมทางบกหลักจากยุทธการ แอเปียน (Appian) รายงานว่า ลีเจียนของคณะสามผู้นำมีกำลังแทบเต็มอัตรา ยิ่งกว่านั้น ยังมีกองกำลังทหารม้าพันธมิตรขนาดใหญ่ด้วย (ทหารม้า 13,000 นายกับออกเตเวียน และ 20,000 นายกับแอนโทนี)

กองทัพของผู้ปลดปล่อยมี 17 ลีเจียน (8 ลีเจียนกับบรูตัสและ 9 ลีเจียนกับแคสซิอัส ขณะที่อีก 2 ลีเจียนอยู่กับทัพเรือ) มีเพียง 2 ลีเจียนที่มีกำลังเต็มอัตรา แต่กองทัพได้รับการเสริมกำลังด้วยทหารเกณฑ์จากราชอาณาจักรพันธมิตรทางตะวันออก แอเปียนรายงานว่ากองทัพดังกล่าวรวบรวมพลราบได้รวมประมาณ 80,000 นาย ทหารม้าพันธมิตรมีทั้งสิ้น 17,000 นาย รวมทั้งพลธนู 5,000 นายที่ขี่ม้าตามแบบตะวันออก) กองทัพนี้รวมลีเจียนเก่าของซีซาร์ที่ประจำอยู่ทางตะวันออก (อาจเป็นลีเขียนที่ 27 ที่ 36 ที่ 37 ที่ 31 และที่ 33) ฉะนั้น กองทัพของผู้ปลดปล่อยจำนวนมากจึงประกอบด้วยอดีตทหารผ่านศึกของซีซาร์ อย่างไรก็ดี อย่างน้อยลีเจียนที่ 36 มีทหารผ่านศึกของปอมปีย์ ซึ่งสมัครเข้ากองทัพซีซาร์หลังยุทธการที่ฟาร์ซาลัส ความภักดีของทหารผู้คาดหมายจะสู้กับทายาทของซีซาร์เป็นประเด็นละเอียดอ่อนสำหรับผู้ปลดปล่อย แคสซิอัสพยายามเพิ่มพูนความภักดีของทหารทุกทางด้วยสุนทรพจน์รุนแรง และการให้บำเหน็จทหารนายละ 1,500 ดีนารี และเซนจูเรียน (centurion) นายละ 7,500 ดีนารี

ยุทธการที่ฟิลิปปีครั้งที่หนึ่ง แก้

 
ยุทธการที่ฟิลิปปีครั้งที่หนึ่ง

ยุทธการที่ฟิลิปปีประกอบด้วยการรบปะทะสองครั้งในที่ราบทางตะวันตกของนครโบราณฟิลิปปี ครั้งแรกเกิดขึ้นในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม บรูตัสเผชิญกับออกเตเวียน ขณะที่กองกำลังของแอนโทนีเผชิญกับแคสซิอัส ในช่วงแรก บรูตัสผลักดันออกเตเวียนกลับไปและเข้าค่ายลีเจียนของเขา แต่ในทางใต้ แอนโทนีพิชิตแคสซิอัส และแคสซิอัสเมื่อได้ทราบรายงานเท็จว่าบรูตัสล้มเหลวก็ได้ก่ออัตวินิบาตกรรม บรูตัสระดมกำลังพลที่เหลือของแคสซิอัสและทั้งสองฝ่ายสั่งการให้กองทัพของตนถอยกลับเข้าค่ายพร้อมกับของที่ชิงมา และการรบนี้จบด้วยการเสมอ

ยุทธนาวีและการดำเนินอื่น แก้

ในวันเดียวกับยุทธการที่ฟิลิปปีครั้งที่หนึ่ง กองเรือฝ่ายสาธารณรัฐซึ่งลาดตระเวนทะเลไอโอเนียนสามารถขัดขวางและทำลายกองหนุนฝ่ายสามผู้นำได้ (ประกอบด้วยสองลีเจียนและกำลังพลอื่น ตลอดจนเสบียง นำโดย นีอูส ดอมีทิอัส คัลวีนัส (Gnaeus Domitius Calvinus)) ฉะนั้น ฐานะทางยุทธศาสตร์ของแอนโทนีและออกเตเวียนจึงค่อนข้างคับขัน เนื่องจากแคว้นมาซิโดเนียและเธสซาลี (Thessaly) ซึ่งสิ้นทรัพยากรแล้วไม่อาจส่งกำลังบำรุงกองทัพได้นานนัก ขณะที่บรูตัสสามารถได้รับกำลังบำรุงจากทะเลได้โดยง่าย ฝ่ายสามผู้นำจำต้องส่งลีเจียนหนึ่งลงใต้ไปอะเคีย (Achaia) เพื่อรวบรวมกำลังบำรุงเพิ่ม ขวัญของกำลังพลดีขึ้นด้วยคำมั่นว่าจะให้บำเหน็จทหารอีกนายละ 5,000 ดีนารี และเซนจูเรียนอีกนายละ 25,000 ดินารี

ทว่า อีกด้านหนึ่ง กองทัพฝ่ายผู้ปลดปล่อยถูกปล่อยไว้โดยปราศจากแผนยุทธศาสตร์ที่ดี บรูตัสมีประสบการณ์ทางทหารน้อยกว่าแคสซีอัสมาก และยิ่งไปกว่านั้น เขาไม่อาจได้รับความเคารพจากพันธมิตรและทหารของตนได้เท่า แม้หลังยุทธการ เขาเสนอให้บำเหน็จทหารอีกนายละ 1,000 ดินารี

ในอีกสามสัปดาห์ แอนโทนีสามารถรุกกองทัพลงใต้กองทัพของบรูตัสได้อย่างช้า ๆ และตั้งการป้องกันเนินใกล้กับค่ายเก่าของแคสซีอัส ซึ่งบรูตัสทิ้งไว้โดยปราศจากการป้องกัน เพื่อเลี่ยงการถูกตีทางปีก บรูตัสถูกบังคับให้ขยายแนวของเขาลงใต้ ขนานกับเอกนาเตีย (Egnatia) สร้างที่ป้องกันหลายจุด ฐานะการป้องกันของบรูตัสยังค่อนข้างปลอดภัย โดยยึดที่สูงร่วมกับมีแนวคมนาคมกับทะเลที่ปลอดภัย และเขายังต้องการรักษาแผนเดิม คือ เลี่ยงการประจัญอย่างเปิดเผยขณะที่รอให้ความได้เปรียบทางทะเลทำให้ข้าศึกล้าไปเอง ทว่า นายทหารและทหารส่วนมากหน่ายกับยุทธวิธีที่เชื่องช้าและเรียกร้องความพยายามการยุทธ์อย่างเปิดอีกหน อาจเป็นเพราะทั้งบรูตัสและนายทหารของเขาเกรงความเสี่ยงที่ทหารของตนจะแปรพักตร์เข้ากับข้าศึกหากไม่อาจรักษาภาวะมีอำนาจเหนือกำลังพลได้ พลูตาร์คยังรายงานว่า บรูตัสไม่ได้รับข่าวความปราชัยของดอมีทิอัส คัลวีนัสในทะเลไอโอเนียน ฉะนั้น เมื่อพันธมิตรตะวันออกและทหารรับจ้างเริ่มแปรพักตร์ บรูตัสจึงถูกบีบให้เข้าตีเมื่อบ่ายวันที่ 23 ตุลาคม

ยุทธการที่ฟิลิปปีครั้งที่สอง แก้

การเผชิญหน้าครั้งที่สองเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ทำลายกำลังของบรูตัสจนสิ้น และเขาทำอัตวินิบาตกรรมในกาลต่อมา ทิ้งให้สามผู้นำควบคุมสาธารณรัฐโรมัน ยุทธการดังกล่าวลงเอยด้วยการประจัญบานระหว่างสองกองทัพทหารผ่านศึกที่ได้รับการฝึกอย่างดี ส่วนใหญ่ลูกธนูและหอกซัดถูกเมินไป และทหารเกาะกลุ่มกันเป็นแถวแน่นสู้รบกันตัวต่อตัวด้วยดาบ และการฆ่าฟันนั้นเลวร้ายมาก ในบั้นปลาย การเข้าตีของบรูตัสถูกขับไป ทหารของเขาแตกหนีด้วยความสับสน และแถวแตกกระเจิง ทหารของออกเตเวียนสามารถยึดประตูค่ายบรูตัสก่อนกองทัพที่แตกหนีจะมาถึงที่ป้องกันนี้ ฉะนั้น กองทัพของบรูตัสจึงไม่สามารถรวมตัวกันใหม่ ทำให้ชัยชนะของสามผู้นำสมบูรณ์ บรูตัสสามารถหนีไปยังเนินใกล้เคียงด้วยกำลังเทียบเท่าเพียง 4 ลีเจียน ด้วยเห็นว่าการยอมจำนนและการยึดตัวนั้นไม่อาจเลี่ยงได้ เขาจึงฆ่าตัวตายในวันรุ่งขึ้น

ผลลัพธ์ แก้

พลูตาร์ครายงานว่าแอนโทนีคลุมศพของบรูตัสด้วยผ้าสีม่วงเป็นสัญลักษณ์ความเคารพ โดยทั้งสองเคยเป็นสหายกันมาก่อน เขาจำได้ว่าบรูตัสเคยตั้งเงื่อนไขให้เขาเข้าร่วมแผนลอบสังหารซีซาร์แลกกับการไว้ชีวิตแอนโทนี ขุนนางโรมันหนุ่มอีกหลายคนสิ้นชีพในการยุทธ์หรือฆ่าตัวตายหลังความปราชัยนี้ รวมถึงบุตรของนักพูดข้างถนนผู้ยิ่งใหญ่ ฮอร์เตนเซียส (Hortensius) และมาร์คุส พอร์เซียส เคโต (Marcus Porcius Cato) บุตรของเคโตผู้ลูก และมาร์คุส ลีเวียส ดรูซุส คลูเดียนุส (Marcus Livius Drusus Claudianus) บิดาของลีเวีย ซึ่งต่อมาเป็นภริยาของออกเตเวียน พอร์เซีย (Porcia) ภรรยาของบรูตัส ฆ่าตัวตายเช่นกันด้วยการกลืนถ่านร้อนแดงเมื่อเธอทราบข่าวความพ่ายแพ้ ชนชั้นสูงบางส่วนสามารถเลี่ยงโดยเจรจายอมจำนนกับแอนโทนีและเข้ารับราชการกับเขา (หนึ่งในนั้นคือ มาร์คุส คัลพูร์เนียส บีบูลุส และมาร์คุส วาเลเรียส เมสซัลลา คอร์วีนุส) ชัดเจนว่าชนชั้นสูงไม่ต้องการเข้ากับออกเตเวียนหนุ่มและไร้เมตตา

กองทัพผู้ปลดปล่อยที่เหลือถูกล้อมและทหารราว 14,000 นายถูกรับสมัครเข้ากองทัพสามผู้นำ ทหารผ่านศึกแก่ถูกปลดกลับอิตาลี แต่ทหารผ่านศึกบางส่วนยังอยู่ในเมืองฟิลิปปี ซึ่งกลายเป็นอาณานิคมโรมัน

แอนโทนียังอยู่ในทางตะวันออก ขณะที่ออกเตเวียนกลับอิตาลี ด้วยภาระหนักในการหาที่ดินเพื่อตั้งถิ่นฐานทหารผ่านศึกจำนวนมาก แม้ว่าเซ็กตุส ปอมเปเอียส (Sextus Pompeius) จะยังควบคุมซิซิลีและดอมีเทียส อะเฮนอบาร์บุส (Domitius Ahenobarbus) ยังบัญชาทัพเรือฝ่ายสาธารณรัฐอยู่ กระนั้น การต้านทานของฝ่ายสาธารณรัฐก็ถูกพิชิตที่ฟิลิปปีอย่างแน่นอนแล้ว

อ้างอิง แก้

  • Thomas Harbottle, Dictionary of Battles New York 1906
  • Ronald Syme. The Roman revolution. Oxford 1939
  • Lawrence Keppie. The making of the Roman army. New York 1984

แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ แก้