ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (อังกฤษ: Thailand Creative and Design Center) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ทีซีดีซี (TCDC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2546 เป็นหน่วยงานเฉพาะด้านภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชน ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ พ.ศ. 2547

ทางเข้าศูนย์ฯ กรุงเทพมหานคร ที่อาคารไปรษณีย์กลาง
ชื่อย่อศสบ.
TCDC
คําขวัญDance with your imagination and change your life.
โลดแล่นไปกับจินตนาการเพื่อเปลี่ยนชีวิตคุณ
ก่อตั้งกันยายน พ.ศ. 2546
วัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์
สํานักงานใหญ่1160 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
ภาษาทางการ
ไทย ไทย
สหราชอาณาจักร อังกฤษ
ผู้อำนวยการ
ชาคริต พิชญางกูร
องค์กรปกครอง
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.)
เว็บไซต์https://web.tcdc.or.th/th
ส่วนบริการห้องสมุดด้านงานออกแบบ ภายในสำนักงานใหญ่กรุงเทพ
ส่วนจัดแสดงและบริการฐานข้อมูลวัสดุ Material ConneXion ภายในสำนักงานใหญ่กรุงเทพ

ทีซีดีซี มีวัตถุประสงค์หลัก ในการสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึง "ความรู้" เพื่อที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สัมผัสและสนุกกับการตักตวงประสบการณ์ จากผลงานและความสำเร็จของนักคิดนักออกแบบจากทั่วโลก

ทั้งนี้ทีซีดีซีร่วมมือโดยตรงกับภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและนักออกแบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าของการนำการออกแบบมาใช้ในการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ ตลอดจนส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานออกแบบของนักออกแบบไทย ให้เป็นที่รู้จักทั้งภายในและต่างประเทศ

ทีซีดีซี มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก ถนนเจริญกรุง และมีสำนักงานย่อยตั้งอยู่หลายแห่ง ได้แก่ ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม (ร่วมกับเอไอเอส ในชื่อ เอไอเอส ดี.ซี.) ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ (ร่วมกับซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ ในชื่อ ทีซีดีซี คอมมอนส์ ครีเอทีฟ ฟู้ด) และจังหวัดเชียงใหม่

ประวัติ แก้

หลังจากเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ดำเนินยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการเพื่อทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึง “แหล่งทุน” ได้ง่ายขึ้น เป็นผลให้มีการขยายตัวของการบริโภค และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในระดับหนึ่ง แต่การจะคงให้ประเทศมีอัตราการเจริญเติบโตที่ต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไปในยุคที่ทุกประเทศทั่วโลกสามารถไล่ตามเทคโนโลยีได้เท่าทันกันหมดนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งพัฒนาให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึง “ความรู้” (Knowledge-software) เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ อันจะนำไปสู่กระบวนการสร้างนักคิด นักออกแบบ ตลอดจนสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่นำ “ทุน” มาบวกกับ “ความคิดสร้างสรรค์” เพื่อพัฒนาและสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศ

ปัจจุบันพัฒนาการของ TCDC กำลังก้าวสู่ขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นการนำเอาดีไซน์ไปพบกับผู้ประกอบการ ด้วยหวังว่างานออกแบบสามารถสร้างผลประโยชน์ในธุรกิจได้อย่างแท้จริง (หลังจากผ่านพ้นขั้นตอนแรกคือหาที่ตั้งซึ่งทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ขั้นตอนที่สองคือการมุ่งเน้นงานบริการ โดยมีการสำรวจถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า) ทีซีดีซีออกแบบการให้บริการเป็น 3 บริการหลัก คือ

  1. นิทรรศการ
  2. ห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือและข้อมูลข่าวสารด้านการออกแบบที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย
  3. การจัดความรู้ให้ลูกค้าในรูปแบบของสัมมนา อบรม เวิร์คชอป ตลอดจนจัดอีเวนท์เปิดโอกาสในการพบปะให้นักออกแบบและผู้ประกอบการ[1]

สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคต ทีซีดีซีมุ่งขยายองค์ความรู้และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการ Creative Thailand เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยโครงการนี้จะผลักดันให้ผู้ประกอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือใช้ดีไซเนอร์ช่วยในการออกแบบผนวกไปในการผลิตสินค้าและบริการ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของสินค้า ซึ่งจะเป็นอีกกลไกที่ช่วยผลักดันระบบเศรษฐกิจไทยให้ขับเคลื่อนไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy[2]

การดำเนินการของรัฐบาล แก้

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2550 คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงถึงกรณีเข้าร่วมประชุมกับนายอภินันท์ โปษยานนท์ ประธานคณะกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) และมีมติให้ ยุบ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ไปควบรวมกับ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (NDMI) ว่า เป็นนโยบายของตนที่ต้องการปรับการบริหารจัดการหน่วยงานที่อยู่ภายใต้ สบร.ที่มี 7 หน่วยงาน ให้มีประสิทธิภาพและใช้งบประมาณคุ้มค่ามากขึ้นจึงให้นโยบายว่าต้องควบรวมให้เหลือ 4 หน่วยงาน ซึ่งในครั้งนี้ก็ได้มีการควบรวม สถาบันวิทยาการเรียนรู้ (NBL) กับศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ (NGT) และต่อไปจะให้ศูนย์คุณธรรมไปสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อีกด้วย [3]

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551 คณะกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) ชุดใหม่ ที่มี นายณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นประธาน ได้มีมติให้คงสถานที่ตั้งของทีซีดีซี ให้อยู่ที่ชั้น 6 ของห้างสรรพสินค้า ดิ เอ็มโพเรียม ไว้เช่นเดิม โดยจะไม่มีการย้ายไปที่อื่น ในระยะจากนี้ไปเป็นเวลา 3 ปี [4]

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ระบุว่ารัฐบาลมีแผนยุบสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และทีซีดีซี โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จะนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 พฤศจิกายน[5] อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันประชุมจริง กลับไม่มีการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมแต่อย่างใด[6] โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช.ได้ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนั้นว่าไม่ได้สั่งการในเรื่องดังกล่าว แต่ให้ ก.พ.ร. ประเมินผลงานและบุคลากรขององค์การมหาชน ภายใน 3 เดือน ว่าใช้งบประมาณตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งหรือไม่ หากไม่ตรงก็ต้องยุบทิ้ง ทั้งนี้ขอให้บุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่าเพิ่งเป็นกังวล โดยส่วนตัวเห็นว่ากองทุนทุกกองทุนมีประโยชน์ทั้งหมด และไม่อยากทำร้ายใคร ขอให้ร่วมกันสร้างผลงานให้ตรงตามจุดมุ่งหมาย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต[7]

กระทั่งวันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ได้มีการประกาศใช้ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๖๑ หรือ สศส. ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือวันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561 โดยสาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือให้แยก ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ออกจาก สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ มาเป็นองค์การมหาชนรูปแบบนิติบุคคล[8]

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้