วัดเชียงทอง (ลาว: ວັດຊຽງທອງ วัดเซียงทอง) เป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ล้านช้าง ราชวงศ์หลวงพระบาง และราชวงศ์ลาว ตั้งอยู่ในนครหลวงพระบาง ประเทศลาว[1]: 264  สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2103 โดยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ผู้ปกครองราชอาณาจักรล้านช้าง ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำโขง เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบล้านช้างตอนเหนือที่งดงามมาก จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "อัญมณีของศิลปะล้านช้าง"

วัดเชียงทอง
แผนที่
ที่ตั้งหลวงพระบาง
ลาว ประเทศลาว
ประเภทวัด
จุดสนใจพระอุโบสถ(สิม)โรงเมี้ยนโกศ และหอไหว้ สถาปัตยกรรมล้านช้าง
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา
บานประตูแกะสลักที่วัดเชียงทอง

ประวัติ แก้

ปีพ.ศ. 2042 ราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนาเกิดว่างกษัตริย์ พระนางจิระประภามหาเทวีผู้เป็นพระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์หญิงเพียง1ปี บ้านเมืองก็เกิดระส่ำระส่าย ถูกอาณาจักรรอบข้างรุกราน และในยุคที่บุเรงนองเป็นผู้ชนะ10ทิศ พระนางจิระประภาจึงเชื่อมสัมพันธ์กับอาณาจักรอยุธยา และอาณาจักรล้านช้างให้แน่นแฟ้น แต่พระองค์ครองราชย์ได้เพียง1ปีจึงสละราชบัลลังก์ และทูลเชิญพระไชยเชษฐาจากเมืองหลวงพระบางแห่งอาณาจักรล้านช้างลงมาปกครองแทน เนื่องจากพระนางยอดคำทิพย์พระอัครมเหสีในพระเจ้าโพธิสารราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง หรือผู้เป็นแม่ของพระไชยเชษฐา พระราชธิดาของพระนางจิระประภา จึงเห็นว่าหลานชายของตนมีสายเลือดล้านนา จึงให้มาปกครองเชียงใหม่ แต่พระไชยเชษฐาปกครองได้เพียง1ปี พระราชบิดาเกิดสวรรคตกระทันหัน พระไชยเชษฐาจึงต้องกลับไปเถลิงราชสมบัติครองราชย์ล้านนา พระองค์จึงอัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่กลับไปหลวงพระบางด้วย หลังจากนั้นพระองค์ก็เริ่มสร้างวัดเชียงทองขึ้นในใจกลางกรุงหลวงพระบาง

หลังจากนั้นเพียงไม่นาน ทั้งอาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง และอาณาจักรอยุธยา ต่างก็ตกเป็นเมืองขึ้นของหงสาวดี พระไชยเชษฐาทรงย้ายเมืองหลวงหนีลงไปสร้างนครหลวงเวียงจันทน์เป็นราชธานีแห่งใหม่ เมืองหลวงพระบางจึงปล่อยทิ้งร้างและหมดบทบาทลง พระแก้วมรกตถูกอัญเชิญลงมานครหลวงเวียงจันทน์ด้วย ส่วนพระพุทธสิหิงค์ทรงคืนให้กลับเชียงใหม่

ในปี พ.ศ. 2250 อาณาจักรล้านช้างแตกเป็น 3 ฝ่าย คือ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง, อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์, และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ เมืองหลวงพระบางจึงกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ไม่ขึ้นตรงต่ออาณาจักรลาวเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ และได้มีการซ่อมแซมวัดเชียงทองเรื่อยมาทุกรัชกาล จึงเกิดลวดลายที่มีเอกลักษณ์ต่างจากนครเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ วัดเชียงทองจึงถึงถือเป็นวัดประจำราชวงศ์ลาวหลวงพระบาง และเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมลาวล้านช้าง มีลวดลายที่วิจิตรตระการตา

สิมวัดเชียงทอง แก้

สิมวัดเชียงทอง หรือพระอุโบสถวัดเชียงทอง ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมล้านนา ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้นำช่างหลวงไปจากเชียงใหม่ และได้ต้นแบบการสร้างมาจากวิหารวัดโลกโมฬีเชียงใหม่ราชอาณาจักรล้านนา สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน โดยสิ่งที่โดดเด่นคือหลังคาซ้อน 3 ตับ ซึ่งดัดอ่อนโค้งและลาดต่ำลงมามาก บนกลางสันหลังคามีการทำช่อฟ้าหรือ สัตตะบูริพัน อันเป็นการจำลองจักรวาลตามคติพุทธศาสนา หน้าบันแกะสลักเป็นรูปลายดอกตาเว็นหรือลายดวงอาทิตย์ สิมแห่งนี้ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2471 บนผนังทั้งด้านนอกและด้านในประดับด้วยลายรดน้ำปิดทองบนพื้นสีดำ เรียกว่า "ลายฟอกคำ" ส่วนด้านหลังของสิมประดับด้วยภาพประดับกระจกสีเป็นภาพต้นทอง[2]

อ้างอิง แก้

  1. Lall, Vikram. The Golden Lands: Cambodia, Indonesia, Laos, Myanmar, Thailand & Vietnam / Vikram Lall ; Editorial Direction Joan Foo Mahony. New York, NY: Abbeville Press Publishers. Print.
  2. ชื่นชมสถาปัตย์ วัดในหลวงพระบาง:รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์.2555

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

19°53′51″N 102°8′35″E / 19.89750°N 102.14306°E / 19.89750; 102.14306