วัดร่องขุ่น

วัดและสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย

วัดร่องขุ่น เป็นวัดพุทธ ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ออกแบบและก่อสร้างโดย เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน โดยเฉลิมชัยคาดว่างานก่อสร้างวัดร่องขุ่นจะไม่เสร็จลงภายในช่วงชีวิตของตน[1] วัดร่องขุ่นถอดแบบมาจากวัดมิ่งเมือง จังหวัดน่าน[2]

วัดร่องขุ่น
วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย
แผนที่
ชื่อสามัญวัดร่องขุ่น
ที่ตั้งตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 57000
เวลาทำการทุกวัน 6.30 - 18.00 น.
การถ่ายภาพห้ามถ่ายรูปข้างในพระอุโบสถ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 18.05 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 มีศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย และแผ่นดินไหวตามหลายครั้ง สร้างความเสียหายให้กับวัดร่องขุ่นเป็นอย่างมาก เช่น ผนังโบสถ์ปูนกระเทาะออก กระเบื้องหลุด ยอดพระธาตุหัก ภาพเขียนเสียหายหมด ทำให้ต้องปิดวัดเพื่อซ่อมแซมตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม ปีเดียวกัน[3][4][5][6]

ประวัติ แก้

เมื่อประมาณ พ.ศ. 2430 มีชาวบ้านเข้ามาจับจองที่ดินทำไร่ทำนาบริเวณบ้านร่องขุ่นในปัจจุบันเพียงไม่กี่หลังคาเรือน โดยอาศัยลำน้ำสายเล็กๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำแม่ลาวซึ่งมีลักษณะสีขุ่นเลี้ยงชีพ ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า “บ้านฮ่องขุ่น” (ร่องขุ่น) มาโดยตลอด ต่อมา ขุนอุดมกิจเกษมราษฎร์ (ต้นตระกูล เกษมราษฎร์) นำครอบครัวญาติมิตรเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านจนเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่า 50 หลังคาเรือน ท่านจึงได้ดำริที่จะสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นภายในหมู่บ้าน เพื่อจะได้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน วัดร่องขุ่นจึงถือกำเนิดครั้งแรก ณ ริมฝั่งน้ำแม่ลาวด้านทิศตะวันตกใกล้กับลำน้ำแม่มอญ ซึ่งอยู่เลยลำน้ำร่องขุ่นไปทางทิศใต้ประมาณ 500 เมตร คณะศรัทธาจึงได้ร่วมใจกันสร้างศาลาและกุฏิเป็นเรือนไม้แบบง่ายๆ เพื่อใช้ประกอบศาสนกิจ โดยชาวบ้านได้อาราธนานิมนต์พระทองสุข บาวิน จากวัดสันทรายน้อย หมู่ 13 มาเป็นเจ้าอาวาส

ต่อมาเกิดน้ำเซาะตลิ่งพังจนไม่สามารถรักษาศาสนสถานไว้ได้ มาจนถึงสมัยของคุณพ่อหมี แก้วเลื่อมใส เป็นผู้นำชุมชน ได้ร่วมกันกับชาวบ้านย้ายวัดมาตั้งอยู่ในบริเวณหัวนาของท่าน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของถนนด้านทิศตะวันตกติดกับลำน้ำร่องขุ่น จากนั้นไม่นานพระทองสุขได้ย้ายออกจากวัด จึงเหลือเพียงสามเณร 3 รูป ในจำนวนนี้มีสามเณรทา ดีวรัตน์ ได้ลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาส นายทาเป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน และสุดท้ายได้เป็นกำนันประจำตำบลบัวสลี (กำนันคนแรกของหมู่บ้านร่องขุ่น) กำนันทา ดีวรัตน์ เห็นว่าหมู่บ้านใหญ่ขึ้นผู้คนมากหลาย วัดวาคับแคบ อีกทั้งเป็นที่ลุ่มใกล้ลำน้ำ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน กำนันและคณะศรัทธาจึงได้ทำการย้ายวัดมาตั้งอยู่บนที่ดินในปัจจุบันนี้โดยนางบัวแก้ว ภรรยากำนันทา เป็นผู้ยกที่ดินให้สร้างวัดจำนวน 4 ไร่เศษ คณะศรัทธาได้ร่วมกันสร้างศาลาเรือนไม้ 1 หลัง เมื่อแล้วเสร็จจึงร่วมกันเดินทางไปอาราธนานิมนต์ พระดวงรส อาภากโร จากวัดมุงเมือง อำเภอเมืองเชียงราย มาเป็นเจ้าอาวาส โดยมีพระครูพุทธิสารเวที (แฮด เทววํโส) เป็นผู้แนะนำ

ในยุคสมัยพระดวงรส อาภากโร เป็นเจ้าอาวาส วัดเจริญรุ่งเรืองมาก มีพระจำพรรษาถึง 4 รูป สามเณรร่วม 10 รูป แม่ชี 2 คน กาลเวลาล่วงไปหลายพรรษา พระดวงรสได้ย้ายไปอยู่วัดอื่น ทำให้วัดร่องขุ่นขาดผู้นำคณะสงฆ์ คณะศรัทธาจึงได้ร่วมกันเดินทางไปพบเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย เพื่อขอพระภิกษุมาเป็นเจ้าอาวาส ท่านเจ้าคณะอำเภอฯ ได้ส่งพระอินตา มาอยู่จำพรรษา แต่อยู่ได้เพียงพรรษาเดียว พระอินตาก็ย้ายไปอยู่วัดอื่น คณะศรัทธาชาวบ้านจึงได้เดินทางไปวัดสันทรายน้อยอีกครั้ง เพื่อขออาราธนานิมนต์ พระไสว ชาคโร มาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. 2499 พระไสว ชาคโร เป็นพระที่คณะศรัทธาในหมู่บ้านและต่างแดนเลื่อมใสมาก ท่านได้สร้างอุโบสถในปี พ.ศ. 2507 ต่อมา พระไสว กำนันเป็ง ไชยลังกา พร้อมคณะศรัทธาอาราธนาพระพุทธรูปหินโบราณ จากหมู่บ้านหนองสระ อำเภอแม่ใจ มาเป็นพระประธานในอุโบสถ ปี พ.ศ. 2520 ได้รับวิสุงคสีมา ปี พ.ศ. 2529 ได้บูรณะซ่อมแซมกำแพงวัด ปี พ.ศ. 2533 สร้างหอฉัน และซุ้มประตูวัดด้านข้าง

ขณะที่วัดร่องขุ่นเจริญรุ่งเรืองด้วยคณะศรัทธาชาวไทยและชาวจีนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน และบ้างก็แยกย้ายกันออกไปอยู่ต่างถิ่น เมื่อร่ำรวยแล้วก็หวนกลับมาช่วยกันทำนุบำรุงรักษาวัดตามอัตภาพ ทั้งยังมีคณะศรัทธาต่างถิ่นที่เลื่อมใสศรัทธาในพระไสวเป็นจำนวนมาก ได้เดินทางมาร่วมทำบุญ ในการก่อสร้างศาสนสถานจนแล้วเสร็จทั้งหมด ด้วยความเป็นพระนักพัฒนา ปี พ.ศ. 2537 พระไสวได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูชาคริยานุยุต ในปี พ.ศ. 2538 พระครูชาคริยานุยุต ได้ทำการก่อสร้างศาลาอบสมุนไพรขึ้น เพื่อหวังให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ของวัดเพื่อสังคม แต่ท่านได้อาพาธด้วยโรคอัมพฤกษ์และอัมพาตเสียก่อน จึงล้มเลิกโครงการไป ในปีเดียวกันนี้คณะศรัทธาวัดร่องขุ่นมีความเห็นว่าอุโบสถที่สร้างมาร่วม 38 ปี อยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก ใช้ทำสังฆกรรมไม่ได้ กลับเป็นที่อยู่ของค้างคาวฝูงใหญ่ จึงคิดจะสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2538 จึงได้ทำพิธีรื้อถอนอุโบสถ และประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 ได้เริ่มลงมือก่อสร้างอุโบสถหลังปัจจุบัน แต่เสร็จเพียงแค่โครงสร้างตัวอุโบสถองค์กลางเท่านั้น ปัจจัยของวัดเริ่มขาดแคลนเพราะภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ในปี พ.ศ. 2540 อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จิตรกรผู้มีชื่อเสียงระดับชาติ ซึ่งเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขคนบ้านร่องขุ่นโดยกำเนิด ได้ปวารณาตนเข้ามาสานต่อเพื่อสร้างอุโบสถถวายเป็นพุทธบูชาหวังให้เป็น “งานศิลป์เพื่อ แผ่นดิน” ด้วยปัจจัยของท่านเอง โดยพระครูชาคริยานุยุต และคณะศรัทธา ชาวบ้านไม่ต้องลำบากในการหาเงินมาสร้างวัดในภาวะเศรษฐกิจของชาติ ที่กำลังตกต่ำ อาจารย์เฉลิมชัย ได้เข้ามาทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมแบบแปลนตามปรารถนาของท่าน จนทำให้วัดร่องขุ่นสวยงามประทับใจผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ได้มาเยี่ยมชม จากวัดร่องขุ่นที่ไม่มีใครรู้จักกลายเป็นวัดที่มีชื่อเสียงเป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดและประเทศชาติ โครงการก่อสร้างวัดเมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วจะประกอบด้วยหมู่สถาปัตยกรรมทั้งสิ้น 4 หลัง มีอุโบสถ ปราสาทบรรจุพระธาตุ พิพิธภัณฑ์ศาลาราย เมรุ หมู่กุฏิ ศาลาการเปรียญ และศาลารับรองแขกที่มาเยี่ยมชมวัด อาจารย์เฉลิมชัย ได้ทำการซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อขยายบริเวณวัดทางด้านทิศใต้ จำนวน 1 ไร่ 200 ตารางวา และคุณวันชัย วิชญชาคร จากกรุงเทพฯ บริจาคที่ดินเพิ่มต่อจากที่ซื้ออีก 5 ไร่ 300 ตารางวา รวมที่วัดในปัจจุบันเป็น จำนวน 10 ไร่ 100 ตารางวา เพื่อจะสร้างหมู่สถาปัตยกรรมทั้ง 4 ให้เสร็จสิ้น ตามจินตนาการของท่าน

ส่วนสิ่งก่อสร้างที่เคยมีมาไม่ว่าจะเป็นศาลา กุฏิ หอฉัน ศาลาอบสมุนไพร ซุ้มประตู และกำแพงวัดที่สร้างในสมัยพระครูชาคริยานุยุต ได้เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาจำเป็นต้องรื้อทิ้ง เพื่อสร้างบรรยากาศ สภาพแวดล้อม ทัศนียภาพให้สวยงาม โดยเน้นแสดงความเป็นเอกภาพของหมู่สถาปัตยกรรมแนวใหม่ และคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ในรูปแบบของอาจารย์อันวิจิตรอลังการ

อาจารย์เฉลิมชัย ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอถวายตนรับใช้พระพุทธศาสนา เพื่อสร้างวัดร่องขุ่นตั้งแต่อายุ 42 ปี (พ.ศ. 2540) เป็นต้นไป จวบจนกว่าจะสิ้นลม ณ วัดแห่งนี้ ท่านสิ้นแล้วซึ่งความปรารถนาใดๆ ในวัตถุทางโลก ท่านมุ่งอุทิศถวายตนให้แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และมวลมนุษย์ชาติ อันเป็นที่รักของท่านด้วยความศรัทธาเชื่อมั่น[7]

อาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างวัดมาจาก 3 สิ่งต่อไปนี้คือ

  1. ชาติ : ด้วยความรักบ้านเมือง รักงานศิลป์ จึงหวังสร้างงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน
  2. ศาสนา : ธรรมะได้เปลี่ยนชีวิตของอาจารย์เฉลิมชัยจากจิตที่ร้อนกลายเป็นเย็น จึงขออุทิศตนให้แก่พระพุทธศาสนา
  3. พระมหากษัตริย์ : จากการเข้าเฝ้าฯ ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชหลายครั้ง ทำให้เฉลิมชัยรักพระองค์ท่านมาก จากการพบเห็นพระอัจฉริยะภาพทางศิลปะและพระเมตตาของพระองค์ท่าน จนบังเกิดความตื้นตันและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงปรารถนาที่จะสร้างงานพุทธศิลป์ถวายเป็นงานศิลปะประจำรัชกาลพระองค์ท่าน

ความหมายของอุโบสถ แก้

  • สีขาว : พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า
  • สะพาน : การเดินข้ามจากวัฏสงสารสู่พุทธภูมิ
  • เขี้ยว หรือ ปากพญามาร : กิเลสในใจ
  • สันของสะพาน : มีอสูรรวมกัน 16 ตน ข้างละ 8 ตน 2 ข้าง รวมกันแทนอุปกิเลส 16
  • กึ่งกลางของสะพาน : เขาพระสุเมรุ
  • ดอกบัวทิพย์ : มี 4 ดอกใหญ่ตรงทางขึ้นด้านข้างอุโบสถแทนซุ้มพระอริยเจ้า 4 พระองค์ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
  • บันไดทางขึ้น : มี 3 ขั้นแทน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

อ้างอิง แก้

  1. Thaveephol, Nuttanee (2003-02-01). "Wat Rong Khun: A labor of love and devotion". Chiang Mai Mail. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-15. สืบค้นเมื่อ 2007-08-24.
  2. ""7Greens ท่องเที่ยวสดใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อม"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-11. สืบค้นเมื่อ 2011-12-01.
  3. วัดร่องขุ่นพังยับ 'อ.เฉลิมชัย'ทำใจ หวั่นต้องทุบทิ้งสร้างใหม่ จาก ไทยรัฐ
  4. วัดร่องขุ่นจบเกม แผ่นดินไหวทำลาย เสียหายย่อยยับ เก็บถาวร 2014-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เนชั่นแชนแนล
  5. อ.เฉลิมชัย เผยนาทีระทึกแผ่นดินไหว สะเทือนใจ วัดร่องขุ่น เสียหายหนัก เก็บถาวร 2014-05-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เรื่องเล่าเช้านี้
  6. สำรวจความเสียหายวัดร่องขุ่น เก็บถาวร 2014-05-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก Voice TV
  7. อาจารย์เฉลิมชัย ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอถวายตนรับใช้พระพุทธศาสนา

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 19°49.480′N 99°45.800′E / 19.824667°N 99.763333°E / 19.824667; 99.763333