วังปารุสกวัน หรือย่อว่า วังปารุสก์ ตั้งอยู่หัวมุมถนนพิษณุโลก ตัดกับถนนราชดำเนินนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นวังที่ประทับของจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวโรกาสที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหาร จากประเทศรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2449 ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์ตำรวจ

วังปารุสกวัน
ตำหนักจิตรลดา
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปลี่ยนสภาพ
ประเภทวัง
สถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิก
ที่ตั้งแขวงดุสิต เขตดุสิต
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
พิกัด13°46′05″N 100°30′38″E / 13.76806°N 100.51056°E / 13.76806; 100.51056
เริ่มสร้างพ.ศ. 2446
พิธีเปิด5 เมษายน พ.ศ. 2449
เจ้าของสำนักนายกรัฐมนตรี
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างก่ออิฐถือปูน
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกมารีโอ ตามัญโญ
นายสก็อตส์
นายเบย์โรเลรี
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์ตำรวจ
ตำหนักสวนจิตรลดา

ประวัติ แก้

เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2446 โดยในวันที่ 30 ธันวาคม มีการจ่ายเงินค่าก่อสร้างกำแพงยาว 275 เมตร รวมเป็นเงิน 22,075 บาท ต่อมาวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2447 จ่ายค่าก่อสร้างกำแพงส่วนที่เหลืออีกเป็นเงิน 61,173 บาท แต่ยังไม่รวมค่ากระเบื้องหลังคา แรกเริ่มมีสถาปนิก 3 คนช่วยกันออกแบบ คือ นายมารีโอ ตามัญโญ นายสก็อตส์ และนายเบย์โรเลรี แต่ 2 คนป่วยระหว่างการก่อสร้าง นายตามานโญป่วยเป็นอหิวาตกโรคและต้องเดินทางกลับยุโรป ส่วนนายสก็อตส์ป่วยเป็นไข้ทรพิษและเสียชีวิต เหลือแต่นายเบย์โรเลรี รับผิดชอบ จนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2448[1] มีพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2449[2] และได้เสด็จประทับพระตำหนักนี้ตลอดพระชนมายุ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบคลาสสิก ก่ออิฐถือปูน ตามแบบวิลลาของอิตาลี ก่ออิฐถือปูน ทาสีครีม เดิมตัวพระตำหนักมี 2 ชั้น โดยชั้นล่างเป็นท้องพระโรง และห้องรับแขก ห้องพักผ่อน ส่วนชั้นบนจัดเป็นบริเวณที่ประทับส่วนพระองค์ ห้องพระชายา ห้องพระบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องสรง และห้องทรงพระอักษร ต่อมามีการต่อเติมตัวพระตำหนักเพิ่มเป็น 3 ชั้น โดยชั้นบนจัดเป็นห้องพระบรรทม

ชื่อวังปารุสกวันได้มาจากชื่อสวนของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มี 4 แห่งคือ สวนมิสกวัน สวนปารุสกวัน สวนจิตรลดาวัน และสวนนันทวัน

ภายในวังปารุสก์ยังมีตำหนักอีกองค์หนึ่ง คือ ตำหนักสวนจิตรลดา ซึ่งแต่เดิมเป็นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงย้ายไปประทับที่พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำหนักสวนจิตรลดา แลกเปลี่ยนกับที่ดินบริเวณท่าวาสุกรี ของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และโปรดฯ ให้รื้อกำแพงที่คั่นกลางออก รวมตำหนักทั้งสองเข้าด้วยกัน ส่วนกำแพงสร้างที่ใหม่ทรงให้ประดับตราจักรและกระบอง ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาถ ไว้ที่ประตูกำแพงโดยรอบ

เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเสด็จทิวงคต เมื่อ พ.ศ. 2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชอำนาจตามกฎหมายระงับพินัยกรรมของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่ทรงระบุให้ยกทรัพย์สินทั้งหมดแก่หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส ชายาพระองค์ใหม่ โดยมีพระบรมราชโองการให้โอนวังปารุสกวันกลับคืนเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 วังปารุสกวัน เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ก่อนจะย้ายไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม และที่เป็นพำนักของ พระยาพหลพลพยุหเสนา ระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรีและพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว จนถึงแก่อสัญกรรม[3] ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์กรมตำรวจ และอดีตที่ทำการกองบัญชาการตำรวจนครบาล

อนึ่ง มักมีผู้เข้าใจสับสนระหว่างตำหนักปารุสก์กับตำหนักสวนจิตรลดา โดยที่ตำหนักปารุสก์ คือ พระตำหนักที่อยู่ทางด้านถนนราชดำเนินนอกตัดกับถนนพิษณุโลก อยู่ติดกับวังจันทรเกษม ในขณะที่ ตำหนักจิตรลดา คือ ตำหนักที่อยู่ทางด้านถนนราชดำเนินนอกตัดกับถนนศรีอยุธยานั่นเอง

นอกจากนี้ ตำหนักจิตรลดา ยังเคยเป็นสถานที่แข่งขันรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์อัจฉริยะข้ามคืน ล้านที่ 5 อีกด้วย

ลักษณะอาคาร แก้

เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2-3 ชั้น มีรูปทรงและ ลวดลายปูนนั้นแบบยุโรป สร้างอย่างวิจิตรบรรจง หลังคาเป็นกระเบื้องว่าว ด้านหน้ามีมุข ยื่นออกมาจากตัวตำหนัก ด้านบนเป็นห้องส่วนตัว ด้านล่างเป็นที่เทียบรถ

มีมุขเทียบรถที่เป็นลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมยุคนี้ เนื่องจาก เริ่มมีการใช้รถเป็นพาหนะแล้ว ซุ้มพระแกลชั้นบน เน้นด้วยลายปูนปั้นแบบตะวันตก ชั้นล่างเน้นด้วยลายรูปโค้งลวดลายคล้ายกับ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สันนิษฐานว่าสร้างในเวลาใกล้เคียง กัน บานพระแกลที่ไม่ได้เป็นกระจกจะเป็น บานเกล็ดไม้ตอนล่างเปิดเป็นบานกระทุ้งได้ ตอนบนเป็นช่องแสงไม้ฉลุลายทุกบาน[4]

สิ่งสืบเนื่อง แก้

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงนิพนธ์หนังสือ เกิดวังปารุสก์ ซึ่งเป็นหนังสืออัตชีวประวัติของพระองค์ โดยให้เหตุผลการตั้งชื่อหนังสือว่า "วังปารุสก์เป็นศูนย์กลางอันสำคัญของรัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และต่อมาน่าจะมีคนรู้จักวังมากกว่ารู้จักข้าพเจ้า จึงเห็นว่า วังปารุสก์ จะสะดุดใจคน"[5]

อ้างอิง แก้

  1. หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์และไอลีน ฮันเตอร์, แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม.--กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, 2551
  2. การขึ้นพระตำหนักปารุสกวันราชกิจานุเบกษา เล่ม ๒๓ ตอนที่ ๓ วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๓๓๙ หน้า ๖๓
  3. ส.พลายน้อย. พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2555. 137 หน้า. ISBN 9740208754
  4. วังปารุสกวัน เก็บถาวร 2007-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน asa.or.th
  5. หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์, 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008.--กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, (ISBN 978-974-9863-63-3)

ดูเพิ่ม แก้

13°46′05″N 100°30′38″E / 13.767986°N 100.510676°E / 13.767986; 100.510676