วอลแตรีน เดอ แคลร์

วอลแตรีน เดอ แคลร์ (17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1866 – 20 มิถุนายน ค.ศ. 1912)[1] เป็นนักอนาธิปไตยชาวอเมริกันซึ่งเป็นที่รู้จักจากการเป็นนักเขียนและนักพูดซึ่งต่อต้านทุนนิยม การสมรส[2] รัฐ และการครอบงำของศาสนาเหนือเพศสภาพและชีวิตของผู้หญิง (Women and religion) โดยมองว่าล้วนเกี่ยวข้องกัน ด้วยมุมมองเหล่านี้ เธอนับว่าเป็นนักสตรีสิทธินิยมคนสำคัญคนแรก ๆ[3]

วอลแตรีน เดอ แคลร์
วอลแตรีน เดอ แคลร์ ในฟิลาเดลเฟีย ค.ศ. 1901
เกิด17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1866(1866-11-17)
เลสลี, รัฐมิชิแกน
เสียชีวิตมิถุนายน 20, 1912(1912-06-20) (45 ปี)
โรงพยาบาล St. Mary of Nazareth ใน ชิคาโก, รัฐอิลลินอย
อาชีพนักเขียน ปาฐก ติวเตอร์
ลายมือชื่อ

เธอเกิดและเติบโตในเมืองเล็ก ๆ ในรัฐมิชิแกนและได้รับการศึกษาที่คอนแวนต์คาทอลิกแห่งหนึ่งที่เมืองซาร์เนีย (Sarnia) รัฐออนแทรีโอ เดอ แคลร์ เริ่มทำกิจกรรมในขบวนการความคิดอย่างอิสระ ในช่วงแรกเธอสนใจลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจก (individualist anarchism) ต่อมาจากมิวชวลลิสม์ (Mutualism (economic theory)) แนวคิดของเธอวิวัฒน์เป็นสิ่งที่เธอเรียกว่าลัทธิอนาธิปไตยโดยปราศจากคุณศัพท์ (anarchism without adjectives) ซึ่งให้ความสำคัญกับสังคมไร้รัฐ (stateless society) ที่ไม่มีการใช้ความก้าวร้าว (aggression) หรือการข่มขู่เหนือสิ่งอื่นใด

เดอ แคลร์ มีชีวิตอยู่ในยุคสมัยเดียวกับเอมมา โกลด์แมน (Emma Goldman) บุคคลที่เธอเห็นต่างด้วยความเคารพในหลากหลายประเด็น นิตยสารของโกลด์แมนชื่อ Mother Earth ได้ตีพิมพ์รวบรวมความเรียงที่เดอ แคลร์ เขียนไว้ใน Selected Works of Voltairine de Cleyre ใน ค.ศ. 1914 หลังเธอเสียชีวิต

ชีวประวัติ แก้

เธอเกิดที่เมืองเลสลี รัฐมิชิแกน (Leslie, Michigan)[1] และย้ายบ้านไปยังเมืองเซนต์จอนส์ รัฐมิชิแกน พร้อมกับครอบครัว[4] ที่นั่นเธอใช้ชีวิตกับบุพการีซึ่งมีชีวิตสมรสอย่างไม่มีความสุขและยากจนแร้นแค้น พ่อของเธอแอ็กตอร์ โอกุสต์ เดอ แคลร์ (Hector Auguste de Cleyre) ตั้งชื่อเธอตามวอลแตร์ นักเขียนยุคเรืองปัญญาชาวฝรั่งเศส[1]

เมื่ออายุ 12 ปี พ่อของเธอส่งเธอเข้าเรียนในโรงเรียนคอนแวนต์คาทอลิกที่เมืองซาร์เนีย รัฐออนแทรีโอ[1] เพราะเขาเชื่อว่าที่นั่นจะให้การศึกษาแก่เธอได้ดีกว่าโรงเรียนรัฐบาล ประสบการณ์นี้เองทำให้เธอยอมรับแนวคิดอเทวนิยมแทนศาสนาคริสต์ เธอกล่าวว่าช่วงเวลาที่เธอใช้ที่นั่น "เหมือนกับหุบเขาเงามัจจุราช และบนวิญญาณฉันก็มีแผลเป็นสีขาว จากความไม่รู้และความงมงายที่เผาฉันด้วยไฟนรก ในวันวานแสนอึดอัดนั้น".[5] เธอพยายามว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเซนต์แคลร์หนีไปยังเมืองพอร์ต ฮิวรัน รัฐมิชิแกน (Port Huron, Michigan) และเดินต่อไปอีก 17 ไมล์ (27 กิโลเมตร) แต่เธอพบกับเพื่อนของครอบครัว พวกเขาจึงติดต่อพ่อของเธอและส่งเธอกลับไปยังคอนแวนต์[1]

ความเชื่อมโยงที่ครอบครัวมีกับขบวนการเลิกทาส (Abolitionism in the United States) และทางรถไฟใต้ดิน (Underground Railroad) ความยากจนที่รุนแรงและเรื้อรังในวัยเด็กของเธอ และการมีชื่อตามนักปราชญ์วอลแตร์ ทั้งหมดล้วนมีส่วนในการพัฒนาวาทกรรมสุดโต่งของเธอไม่นานหลังเข้าสู่วัยรุ่น หลังจบการศึกษาในคอนแวนต์นั้น เดอ แคลร์ ย้ายไปยังเมืองแกรนด์แรพิดส์ รัฐมิชิแกน (Grand Rapids, Michigan) และเข้าไปมีส่วนร่วมในขบวนการความคิดอย่างอิสระซึ่งต่อต้านศาสนจักร (anti-clerical) ด้วยการปราศรัยและเขียนบทความในวารสารความคิดอย่างอิสระ และกลายเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ความคิดอย่างอิสระ The Progressive Age ในที่สุด[6]

 
ใบปลิวโฆษณางานรำลึกซึ่งจัดขึ้นไม่กี่วันหลัง เดอ แคลร์ เสียชีวิต

ช่วงเวลาที่เดอ แคลร์ อยู่ในขบวนการความคิดอย่างอิสระในช่วงกลางถึงปลายคริสต์ทศวรรษ 1880 เธอได้รับอิทธิพลจากโทมัส เพน, แมรี โวลสโตนคราฟต์ และคลาเรนซ์ ดาร์โรว์ (Clarence Darrow) อิทธิพลอื่น ๆ เช่นเฮนรี เดวิด ทอโร และผู้นำแรงงานบิล เฮย์วูด (Bill Haywood) กับยูจีน วี. เดบส์ (Eugene Debs) หลังการประหารชีวิตผู้ประท้วงที่เฮย์มาร์เก็ต (Haymarket affair) ที่ชิคาโกใน ค.ศ. 1887 แม้มีการบันทึกไว้ว่าตำรวจเป็นต้นเหตุให้เกิดการสูญเสียชีวิตที่การจลาจล เธอกลายเป็นอนาธิปัตย์ "จนถึงเวลานั้น ฉันยังเชื่อมั่นในความยุติธรรมขั้นพื้นฐานของกฎหมายการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนของอเมริกา" เธอเขียนไว้ในความเรียงอัตชีวประวัติ "หลังจากนั้น ฉันทำไม่ได้อีกแล้ว"[7]

เธอเป็นที่รู้จักในฐานะนักพูดและนักเขียนที่ยอดเยี่ยม นักเขียนชีวประวัติ (Biographer) พอล อาฟริช (Paul Avrich) กล่าวว่าเธอเป็น "ผู้มีพรสวรรค์ด้านวรรณกรรมยิ่งกว่านักอนาธิปัตย์ชาวอเมริกันคนอื่นคนใด"[8] และยังเป็นที่รู้จักจากการเป็นผู้สนับสนุนอุดมการณ์อนาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง เอมมา โกลด์แมน กล่าวว่า "ทุกสิ่งที่เธอทำถูกตีตราด้วยความมุ่งมั่นเชิงศาสนา"[9]

เธอกับนักคิดอย่างอิสระเจมส์ บี. เอลเลียต มีลูกชายชื่อแฮร์รีในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1890 ลูกชายของพวกเขาอาศัยอยู่กับเอลเลียตตามที่ตกลงกันไว้ และเดอ แคลร์ ไม่ได้มีส่วนในการเลี้ยงดูเขา เธอมีความใกล้ชิดและได้รับแรงบันดาลใจจากไดเออร์ ลัม (Dyer Lum) (ที่โกลด์แมนกล่าวว่าเป็น "ครูของเธอ เพื่อนคู่ใจของเธอ สหายของเธอ").[10] ความสัมพันธ์ของทั้งสองจบลงไม่นานก่อนที่เขาจะปลิดชีพตนเองใน ค.ศ. 1893

เดอ แคลร์ มีฐานทำงานระหว่าง ค.ศ. 1889 ถึง 1910 อยู่ในฟิลาเดลเฟีย ที่นั่นเธออาศัยอยู่ท่ามกล่างผู้อพยพชาวยิวที่ยากจนและเป็นที่ที่ความเห็นใจต่อความเชื่อแนวอนาธิปไตยมีอยู่ทั่วไป ที่นั่นเธอได้สอนภาษาอังกฤษและดนตรี และได้เรียนเขียนพูดภาษายิดดิช[11]

 
หลุมศพของ เดอ แคลร์ ในสุสานเจอร์แมนวัลท์ไฮม์ที่ฟอเรสต์พาร์ก รัฐอิลลินอย

ตลอดชีวิตของเดอ แคลร์ เธอถูกรังควานด้วยความเจ็บป่วย โกลด์แมนกล่าวว่าเธอมี "โรคเกี่ยวกับระบบประสาทชนิดหนึ่งที่เธอเริ่มมีตั้งแต่วัยเด็กตอนต้น"[1] และประสบกับความซึมเศร้าและความพยายามฆ่าตัวตายอย่างน้อยสองโอกาส

เธอรอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหารในวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1902 ผู้กระทำคือเฮอร์แมน เฮลเชอร์ นักเรียนเก่าของเธอซึ่งกลายเป็นคนวิกลจริตด้วยไข้อย่างหนึ่ง ซึ่งเธอได้ให้อภัยในทันที่ตามที่เขียนไว้ว่า "มันจะเป็นความชั่วร้ายต่ออารยธรรมหากเขาถูกจับเข้าคุกด้วยการกระทำซึ่งเป็นผลมาจากสมองที่เป็นโรค"[12] เหตุทำร้ายครั้งนี้ทิ้งอาการเจ็บหูเรื้อรังและคออักเสบไว้กับเธอ ซึ่งส่งผลเสียต่อความสามารถในการพูดและการใช้สมาธิของเธอ

การเสียชีวิต แก้

เดอ แคลร์ เสียชีวิตจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1912 ที่โรงพยาบาลแมรีออฟนาซาเรธเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอย ร่างของเธอถูกฝังไว้ใกล้กับจำเลยจากเหตุการณ์ที่เฮย์มาร์เก็ตและนักกิจกรรมเพื่อสังคมคนอื่น ๆ ที่สุสานเจอร์แมนวัลท์ไฮม์ (Forest Home Cemetery (Forest Park)) (ปัจจุบันสุสานฟอเรสต์โฮม) ที่ฟอเรสต์พาร์ก (Forest Park, Illinois) ย่านชานเมืองทิศตะวันตกของชิคาโก ในเวลาต่อมาร่างของโกลด์แมนก็ถูกฝังในบริเวณเดียวกันในสุสานนี้เช่นกัน[13]

แนวคิดทางการเมือง แก้

มุมมองทางการเมืองของ เดอ แคลร์ เปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิตของเธอ เธอได้กลายมาเป็นผู้สนับสนุนอย่างหนักแน่นในแนวคิดลัทธิอนาธิปไตยโดยปราศจากคุณศัพท์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ George Richard Esenwein กล่าวว่าเป็นหลักการซึ่ง "ไม่มีป้ายแสดงคุณสมบัติว่าเป็นแบบคอมมิวนิสต์, แบบรวมหมู่ (Collectivist anarchism), แบบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน, หรือแบบปัจเจก สำหรับผู้อื่น [...] [มัน]เป็นที่เข้าใจว่าเป็นเพียงทัศนคติที่ยอมรับการมีอยู่ร่วมกันของอนาธิปไตยสำนักต่าง ๆ"[14] เป็นเวลาหลายปีที่ เดอ แคลร์ ถูกสัมพันธ์กับอนาธิปไตยแบบปัจเจกแบบอเมริกันเป็นหลัก ซึ่งแสดงความแตกต่างของตัวเธอจาก เอมมา โกลด์แมน และ เดอ แคลร์ ได้เขียนไว้ โดยขยายความการสนับสนุนแนวคิดอนาธิปไตยแบบปัจเจกของเธอว่า:

คุณโกลด์แมนเขาเป็นนักคอมมิวนิสต์ ฉันเป็นนักปัจเจกนิยม เธอมีความต้องการทำลายสิทธิในทรัพย์สิน ฉันมีความต้องการยืนยันสิทธินี้ ฉันทำสงครามกับอภิสิทธิและอำนาจเพื่อทำลายล้างมันด้วยสิทธิในทรัพย์สิน สิทธิที่แท้จริงซึ่งมีอยู่โดยแท้ในปัจเจกบุคคล เธอเชื่อว่าการร่วมมือกันจะแทนที่การแข่งขันโดยสิ้นเชิง ฉันยืนยันว่าการแข่งขันไม่ว่าในรูปแบบใดจะมีอยู่เสมอ และนี่เป็นสิ่งที่น่าปรารถนาอย่างยิ่งที่มันควรเป็นเช่นนั้น[15]

แม่ในช่วงแรกทั้งสองอาจไม่ชอบกัน เดอ แคลร์ และโกลด์แมนได้กลายมาเคารพซึ่งกันและกันอย่างปัญญาชน ในความเรียงใน ค.ศ. 1894 ของ เดอ แคลร์ In Defense of Emma Goldman and the Right of Expropriation เธอได้เขียนไว้ว่า:

ฉันว่ามันเป็นเรื่องของคุณที่จะเลือกอดอยากและหนาวเหน็บต่อหน้าอาหารและเครื่องนุ่งห่มข้างนอกคุก หรือจะเลือกกระทำการ (overt act) อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อต่อต้านสถาบันที่เรียกว่าทรัพย์สินแล้วไปอยู่เคียงข้างทิมเมอร์มันน์และโกลด์แมน[16]

เดอ แคลร์ ยอมรับแนวคิดอนาธิปไตยสังคม (social anarchism) มาแทนปัจเจกนิยมในที่สุด ใน ค.ศ. 1908 เธอกล่าว "ว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่คนทำงานชายหรือหญิงธรรมดาจะทำได้นั้นคือการจัดระเบียบอุตสาหกรรมของพวกเขาเพื่อกำจัดเงินตราไปให้สิ้น" แล้ว "ผลิตด้วยกัน อย่างร่วมมือกันแทนที่จะเป็นผู้จ้างและลูกจ้าง"[17] ใน ค.ศ. 1912 เธอกล่าวว่าความล้มเหลวของคอมมูนปารีสนั้นเนื่องมาจากการที่ยังเคารพทรัพย์สินเอกชน ในความเรียง The Commune Is Risen ของเธอ เธอกล่าวไว้ว่า: "โดยย่อ แม้มีเหตุผลอื่นว่าทำไมคอมมูนถึงแตก เหตุผลสูงสุดคือในช่วงเวลาจำเป็นนั้นสมาชิกคอมมูนนั้นไม่ใช่คอมมิวนิสต์ พวกเขาพยายามทำลายโซ่ตรวนทางการเมืองโดยไม่ทำลายโซ่ตรวนทางเศรษฐกิจ"[18] เธอกลายมาเป็นผู้สนับสนุนลัทธิอนาธิปไตยโดยปราศจากคุณศัพท์ โดยเขียนไว้ใน The Making of an Anarchist ว่า: "ฉันไม่แปะป้ายตนเองเป็นอื่นใดนอกเหนือจาก 'นักอนาธิปไตย' เพียงเท่านั้น".[19]

ผู้สังเกตการณ์และนักวิชาการบางคนแย้งว่าการปฏิเสธปัจเจกนิยมของ เดอ แคลร์ นั้นหมายถึงการยอมรับลัทธิคอมมิวนิสต์บริสุทธิ์หรือไม่ โกลด์แมนและ รูด็อล์ฟ ร็อกเกอร์ ยืนยันจุดยืนนั้น แต่คนอื่นอย่างนักเขียนชีวประวัติของ เดอ แคลร์ พอล อาฟริช ไม่เห็นด้วย[20] เดอ แคลร์ ได้กล่าวไว้ใน ค.ศ. 1907 เพื่อโต้ตอบคำกล่าวอ้างว่าเธอเป็นนักอนาธิปไตยคอมมิวนิสต์ว่า: "ตอนนี้ฉันไม่ได้เป็น และ ณ เวลาใดก็ไม่เคยเป็น นักคอมมิวนิสต์"[21] นักวิชาการอนาธิปไตย เอียน แม็กเคย์ (Iain McKay) กล่าวว่าการสนับสนุนเศรษฐกิจที่ไร้เงินตราในภายหลังใน ค.ศ. 1908 นั้นในทางเทคนิคเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์รูปแบบหนึ่ง แม้เธอเองปฏิเสธที่จะใช้คำว่าคอมมิวนิสต์เพื่อบรรยายมัน[22]

ในความเรียงใน ค.ศ. 1901 ชื่อว่า Anarchism เดอ แคลร์ เขียนไว้ว่า:

อุดมคติของฉันคือสภาวะที่ทรัพยากรธรรมชาติทั้งมวลนั้นทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรี และที่คนทำงานแต่ละคนสามารถผลิตให้ตนเองได้เพียงพอต่อความต้องการที่จำเป็นของเขาเอง หากเขาเลือกทำเช่นนั้น เขาจึงไม่จำเป็นต้องควบคุมการทำงานหรือไม่ทำงานของเขาให้เป็นไปตามเวลาและฤดูกาลของมิตรสหายเขา ฉันคิดว่าวันนั้นอาจมาถึง แต่ด้วยการพัฒนาวิถีการผลิตและรสนิยมของผู้คนเท่านั้น ในขณะเดียวกัน เราทั้งหมดเรียกร้องเสรีภาพที่จะทดลองมันเป็นเสียงเดียวกัน[23]

ความเรียงใน ค.ศ. 1912 ของเธอ Direct Action ที่แก้ต่างให้การกระทำโดยตรง (direct action) เดอ แคลร์ ชี้ไปที่ตัวอย่างอย่างงานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน โดยกล่าวว่า "การกระทำโดยตรงนั้นถูกนำมาใช้อยู่เสมอ และได้รับการสนับสนุนในประวัติศาสตร์โดยผู้คนที่ในปัจจุบันกลับประณามมัน"[24]

ในปาฐกถาของเธอใน ค.ศ. 1895 ชื่อว่า Sex Slavery เดอ แคลร์ ประณามความงามในอุดมคติที่สนับสนุนให้ผู้หญิงบิดเบือนร่างกายตนเองและธรรมเนียมการขัดเกลาทางสังคมของเด็กที่สร้างบทบาททางเพศที่ไม่เป็นธรรมชาติ หัวเรื่องของความเรียงนั้นไม่ได้พูดถึงการค้าขายของผู้หญิงเพื่อการค้าประเวณี แม้ว่าจะถูกพูดถึงด้วย แต่พูดถึงกฎหมายการสมรสที่ทำให้ผู้ชายสามารถข่มขืนกระทำชำเรา (Marital rape) คู่สมรสของตนเองโดยไม่ได้รับผลที่ตามมาแทน กฎหมายเช่นนี้ทำให้ "ผู้หญิงที่มีคู่สมรสทุกคนเป็นสิ่งที่เธอเป็น เป็นทาสมีพันธะ ซึ่งรับเอาชื่อของเจ้านาย ขนมปังของเข้านาย คำสั่งของเจ้านายมา และรับใช้ตัณหาของเจ้านายของเธอ".[25]

เดอ แคลร์ ต่อต้านการมีกองทัพประจำการของรัฐบาลอย่างหนักแน่น โดยกล่าวว่าการมีอยู่ของมันทำให้เสี่ยงมีสงครามมากขึ้น ในความเรียงใน ค.ศ. 1909 Anarchism and American Traditions เธอกล่าวว่าเพื่อที่จะบรรลุซึ่งสันติภาพ "ผู้คนที่สันติทุกคนควรเลิกสนับสนุนกองทัพ และกำหนดว่าใครที่ต้องการทำสงครามจะต้องทำมันด้วยต้นทุนและความเสี่ยงของตัวเองเท่านั้น และไม่ว่าค่าจ้างหรือบำนาญก็ไม่มีไว้ให้ผู้ที่เลือกทำงานที่เกี่ยวกับการฆ่าคน"[26]

มรดก แก้

 
เดอ แคลร์ วันคริสต์มาส ค.ศ. 1891

เอมมา โกลด์แมน สรรเสริญ เดอ แคลร์ ว่าเป็น "หนึ่งในนักอนาธิไตยหญิงที่หลักแหลมและมีพรสวรรค์มากที่สุดที่อเมริกาได้ผลิตออกมา"[27][28] เธอไม่เป็นที่รู้จักในปัจจุบันมานัก ซึ่ง พอล อาฟริช กล่าวว่าเป็นเพราะชีวิตเธอนั้นสั้น[29]

ตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้มีการรื้อฟื้นความสนใจในตัวเธออีกครั้ง: ใน ค.ศ. 1980 An American Anarchist: The Life of Voltairine de Cleyre เขียนโดย พอล อาฟริช ถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University Press) ใน ค.ศ. 1978 งานเก็บรวบรวมคำปราศรัยของเธอชื่อ The First Mayday: The Haymarket Speeches, 1895–1910 ถูกตีพิมพ์โดย Libertarian Book Club ใน ค.ศ. 2004 AK Press ได้ออกหนังสือ The Voltairine de Cleyre Reader ออกมา[30] ใน ค.ศ. 2005 งานเก็บรวบรวมคำปราศรัยและบทความของเธออีกสองงานถูกตีพิมพ์ออกมา ชื่อว่า Exquisite Rebel: The Essays of Voltairine De Cleyre – Anarchist, Feminist, Genius ซึ่งมีเพรสลีและ คริสพิน ซาร์ตเวลล์ (Crispin Sartwell) เป็นบรรณาธิการและถูกตีพิมพ์โดย SUNY Press[31] และ Gates of Freedom: Voltairine De Cleyre and the Revolution of the Mind จากสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan Press)[32] เอกสารของเธอถูกเก็บไว้ที่ YIVO Institute for Jewish Research ในนครนิวยอร์ก[33] ใน ค.ศ. 2018 เดอะนิวยอร์กไทมส์ ได้เผยแพร่ข่าวมรณกรรมของเธอย้อนหลัง[2]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Goldman, E. "Voltairine De Cleyre" (PDF). The Emma Goldman Papers. University of California, Berkeley. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2013.
  2. 2.0 2.1 Dougherty, M. B. (26 กันยายน 2018). "Overlooked No More: Voltairine de Cleyre, America's 'Greatest Woman Anarchist'". เดอะนิวยอร์กไทมส์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มกราคม 2022. สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2018.
  3. Presley, S. (18 กุมภาพันธ์ 2000). "Libertarian Feminist Heritage Series: Voltairine de Cleyre". Anarchy Archives. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 มีนาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2016.
  4. Votta, D. (2011). "Lost Lansing: Leslie's Voltairine de Cleyre shattered the bounds of convention". Lansing Online News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 มีนาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2013.
  5. De Cleyre 2004, p. 106: "it had been like the Valley of the Shadow of Death, and there are white scars on my soul, where ignorance and superstition burnt me with their hell fire in those stifling days"
  6. Mob Work: Anarchists in Grand Rapids, Vol. 1. แกรนด์แรพิดส์, รัฐมิชิแกน: Sprout Distro. 2014. pp. 26–28. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2022.
  7. De Cleyre 2004, p. 106: "Till then I believed in the essential justice of the American law of trial by jury [...] After that I never could"
  8. De Cleyre 2005, p. 20: "a greater literary talent than any other American anarchist"
  9. De Cleyre 2005, p. 20: "[...] religious zeal stamped everything she did."
  10. De Cleyre 2004, p. iv: "her teacher, her confidant, her comrade"
  11. "Voltairine de Cleyre (1866-1912)". PBS. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2013.
  12. De Cleyre 2004, p. ix: "It would be an outrage against civilization if he were sent to jail for an act which was the product of a diseased brain"
  13. De Cleyre 2004, p. x.
  14. Esenwein 1989, p. 135: "without any qualifying labels such as communist, collectivist, mutualist, or individualist. For others, [...] [it] was simply understood as an attitude that tolerated the coexistence of different anarchist schools"
  15. De Cleyre 2005, p. 156: "Miss Goldman is a communist; I am an individualist. She wishes to destroy the right of property, I wish to assert it. I make my war upon privilege and authority, whereby the right of property, the true right in that which is proper to the individual, is annihilated. She believes that co-operation would entirely supplant competition; I hold that competition in one form or another will always exist, and that it is highly desirable it should."
  16. De Cleyre 2005, p. 156: "I say it is your business to decide whether you will starve and freeze in sight of food and clothing, outside of jail, or commit some overt act against the institution of property and take your place beside Timmermann and Goldmann."
  17. De Cleyre 2005, p. 62: "that the best thing ordinary workingmen or women could do was to organise their industry to get rid of money altogether [...] produce together, co-operatively rather than as employer and employed."
  18. DeLamotte 2004, p. 206: "respected [private] property [...] In short, though there were other reasons why the Commune fell, the chief one was that in the hour of necessity, the Communards were not Communists. They attempted to break political chains without breaking economic ones"
  19. De Cleyre 2004, p. 108: "I no longer label myself otherwise than as 'Anarchist' simply"
  20. De Cleyre 2005, p. 22: "Avrich dispels the myth created by erroneous claims of Rudolph Rocker and Emma Goldman that Voltairine became a communist anarchist."
  21. De Cleyre 2005, p. 22: "I am not now, and have never been at any time, a communist."
  22. McKay, I. (2006), "Voltairine De Cleyre: Her revolutionary ideas and legacy", Anarcho-Syndicalist Review (44), เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2022, สืบค้นเมื่อ 14 ธันวาคม 2008.
  23. De Cleyre, V. (1901). "Anarchism". Panarchy.org. Free Society. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 มกราคม 2021. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2016. My ideal would be a condition in which all natural resources would be forever free to all, and the worker individually able to produce for himself sufficient for all his vital needs, if he so chose, so that he needs not govern his working or not working by the times and seasons of his fellows. I think that time may come; but it will only be through the development of the modes of production and the taste of the people. Meanwhile, we all cry with one voice for the freedom to try.
  24. De Cleyre 2004, p. 50: "direct action has always been used, and has the historical sanction of the very people now reprobating it"
  25. De Cleyre 2005, p. 228: "He beheld every married woman what she is, a bonded slave, who takes her master's name, her master's bread, her master's commands, and serves her master's passions"
  26. De Cleyre 2005, p. 101: "all peaceful persons should withdraw their support from the army, and require that all who wish to make war do so at their own cost and risk; that neither pay nor pensions are to be provided for those who choose to make man-killing a trade"
  27. De Cleyre 2005, p. 17: "Emma Goldman called her 'the most gifted and brilliant anarchist woman America ever produced'"
  28. Falk 2003, p. 195: "the most gifted and brilliant anarchist woman America ever produced"
  29. De Cleyre 2005, p. 17: "[...] is even less known among feminists today than among anarchists. [...] in the words of her biographer, Paul Avrich, 'A brief comet in the anarchist firmament, blazing out quickly and soon forgotten by all but a small circle of comrades [...]'"
  30. De Cleyre 2004.
  31. De Cleyre 2005.
  32. DeLamotte 2004.
  33. Voltairine de Cleyre and Joseph Jacob Cohen Papers. RG 1485. YIVO Institute for Jewish Research, New York, NY.

บรรณานุกรม แก้

อ่านเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้