วอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออส

วอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออส (อังกฤษ: Warcraft III: Reign of Chaos) เป็นเกมคอมพิวเตอร์ประเภทวางแผนเรียลไทม์ ภาคต่อในชุดเกมวอร์คราฟต์ สำหรับวินโดวส์ และ แมคอินทอช เกมวอร์คราฟต์ 3 ได้รับการพัฒนาโดย บลิซซาร์ดเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เกมเริ่มออกสู่ตลาดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 2002

วอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออส
Warcraft III: Reign Of Chaos
ไฟล์:WarcraftIII.jpg
กล่องเกมวอร์คราฟต์ 3
ผู้พัฒนาบลิซซาร์ดเอ็นเตอร์เทนเมนต์
ผู้จัดจำหน่ายสหรัฐ Blizzard Entertainment
สหภาพยุโรป Sierra Entertainment/Vivendi Universal Game International[1]
ญี่ปุ่น Capcom
ออกแบบรอบ พาร์โด
เครื่องเล่นระบบปฏิบัติการวินโดวส์, แมค โอเอสและแมค โอเอส เอกซ์
วางจำหน่ายสหรัฐ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 2002
ไทย 3 กรกฎาคม ค.ศ. 2002
สหภาพยุโรป 5 กรกฎาคม ค.ศ. 2002
ญี่ปุ่น ค.ศ. 2003
แนววางแผนเรียลไทม์
รูปแบบเล่นคนเดียว, หลายผู้เล่น

เกมวอร์คราฟต์ 3 เป็นหนึ่งในเกมที่เป็นที่รอคอยของแฟน ๆ มากที่สุดและเป็นเกมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยสามารถขายปลีกได้กว่า 4.5 ล้านแผ่น และขายได้จำนวนครบ 1 ล้านแผ่นภายในเวลาหนึ่งเดือน[3] วอร์คราฟต์ 3 ยังคว้ารางวัลเกมยอดเยี่ยมได้หลายรางวัล รวมทั้ง รางวัล "เกมแห่งปี" จากสิ่งตีพิมพ์มากกว่าหกแหล่ง[4]

เกมการเล่น แก้

 
ภาพในเกมวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออส

เกมวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออส เป็นเกมแรกของบริษัทบลิซซาร์ดที่สร้างลงบนแพลตฟอร์มวินโดวส์และแม็ก โอเอสพร้อมกัน[5] เกมวอร์คราฟต์ 3 ยังได้มีรายละเอียดสูง และมีลักษณะของภาพเป็นแบบ 3 มิติ รวมไปถึงยังได้มีการใส่เพิ่มเติมเทคโนโลยีที่ทันสมัยในยุคนั้นอีกด้วย[5]

เกมการเล่นของวอร์คราฟต์ 3 เกิดขึ้นในแผนที่และภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ในโหมดยุทธการ เมื่อเริ่มเกมมา แผนที่จะปกคลุมไปด้วยแบล็กมาสก์ (Black Mask) ซึ่งเป็นชั้นสีดำที่จะปกคลุมสภาพภูมิประเทศเอาไว้จนกว่าพื้นที่แถบนั้นจะได้รับการสำรวจ ซึ่งจะทำให้แบล็กมาสก์หายไปตลอดทั้งเกมการเล่น[6] ส่วนพื้นที่ที่ได้รับการสำรวจแล้ว แต่ไม่อยู่ในระยะมองเห็นของยูนิตหรือสิ่งปลูกสร้างของฝ่ายเดียวกันจะถูกปกคลุมด้วยหมอกแห่งสงคราม ซึ่งเรามองเห็นสภาพภูมิประเทศ แต่ไม่สามารถมองเห็นสิ่งปลูกสร้างหรือยูนิตของศัตรูได้[6] ระหว่างการเล่น ผู้เล่นต้องสร้างถิ่นฐานขึ้นเพื่อเก็บทรัพยากร ป้องกันการบุกของศัตรู สร้างยูนิตและทำลายฐานทัพของศัตรู ทรัพยากรหลักทั้งสามในเกมวอร์คราฟต์ 3 คือ ทองคำ ไม้และอาหาร[7] โดยทรัพยากรทองคำและไม้ใช้สำหรับการสร้างยูนิตและสิ่งปลูกสร้าง ส่วนอาหารจะเป็นตัวกำหนดจำนวนสูงสุดของยูนิตที่สามารถควบคุมได้[8]

นอกจากนี้ เกมยังมีครีป (Creep) ซึ่งเป็นยูนิตที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ที่เป็นศัตรูกับผู้เล่นทุกคน[9] ครีปจะยึดครองพื้นที่บางส่วนของแผนที่ อย่างเช่น เหมืองทองคำหรือสิ่งปลูกสร้างของฝ่ายเป็นกลาง (Neutral Building) ทำให้ผู้เล่นต้องเปลี่ยนรูปแบบการเล่นเป็นฝ่ายรุกแทนที่จะตั้งรับอย่างเดียว ตัวเกมยังมีระบบกลางวัน-กลางคืนด้วย[10] และยังมีการปรับเปลี่ยนอีกเล็กน้อยเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศแบบ 3 มิติในตัวเกม อย่างเช่น ยูนิตซึ่งอยู่บนพื้นที่ที่สูงกว่าจะโจมตียูนิตที่อยู่ต่ำกว่าด้วยพลังโจมตีที่เพิ่มมากขึ้น[11]

ในภาคที่ผ่านมาของเกมชุดวอร์คราฟต์มีเผ่าพันธุ์ให้เลือกเล่นเพียง 2 เผ่าพันธุ์ คือ มนุษย์และออร์ก ซึ่งไม่ค่อยจะมีการเล่นที่แตกต่างกันมากนัก แต่ในวอร์คราฟต์ 3 มีเผ่าพันธุ์เพิ่มเข้ามา 2 เผ่าพันธุ์ คือ เอลฟ์ราตรีและอันเดต[12] และเริ่มมองเห็นความแตกต่างกันของยูนิต สิ่งปลูกสร้าง เทคโนโลยีและวิธีการสร้างสิ่งปลูกสร้างได้แล้ว

อีกเสน่ห์หนึ่งของเกม คือ ยูนิตใหม่ที่แข็งแกร่งกว่าเดิม ที่เรียกว่า "ฮีโร่" (Hero) เมื่อฮีโร่สังหารยูนิตฝ่ายศัตรูหรือครีป ฮีโร่จะได้รับค่าประสบการณ์ ซึ่งเมื่อครบกำหนดแล้ว ฮีโร่จะเลเวลอัพได้จนถึงเลเวล 10 เมื่อฮีโร่เลเวลอัพ ฮีโร่จะมีคุณสมบัติประจำตัวที่แข็งแกร่งขึ้นและสามารถร่ายคาถาใหม่ ๆ ได้ (ทำให้ตัวเกมมีลักษณะคล้ายกับเกมสวมบทบาท[13]) ที่เลเวล 6 ฮีโร่จะปลดล็อกสกิลท่าไม้ตาย ฮีโร่ยังสามารถสวมใส่ของวิเศษเพื่อเพิ่มความสามารถ ทักษะและคุณสมบัติประจำตัวได้ นอกจากนี้ เฉพาะฮีโร่เท่านั้นที่มีสิทธิ์ใช้บริการของสิ่งปลูกสร้างของฝ่ายเป็นกลางที่พบเห็นได้ในแผนที่[14]

โหมดยุทธการและโหมดผู้เล่นคนเดียว แก้

โหมดยุทธการของวอร์คราฟต์ 3 แบ่งออกเป็น 5 โหมดยุทธการ แต่ละโหมดยุทธการ ผู้เล่นจะได้ควบคุมยูนิตทั้งสี่เผ่าพันธุ์ และจะมีภารกิจแยกย่อยออกไป ตัวเกมยังมีการมอบหมายเควสให้แบบใหม่โดยที่ไม่เหมือนกับเกมอื่น ๆ ที่เคยสร้างมา โดยในคัตซีนผู้เล่นจะไม่ได้รับแจ้งโดยตรงว่าเควสให้ทำอะไร วอร์คราฟต์ 3 ใช้ระบบของ "เควสไม่นำร่อง"[15] ซึ่งเควสดังกล่าวจะปรากฏขึ้นในระหว่างการเล่นเกม ไม่เพียงแต่ในคัดซีนเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ยังมีโหมดเลือกเล่นเอง (Custom Game) ซึ่งจะให้ผู้เล่นสามารถเล่นกับคอมพิวเตอร์ได้สูงสุด 12 ทีม โดยมีแผนที่จำนวนมากให้เลือกเล่น เควสของการเล่นแบบนี้จะไม่หลากหลายเหมือนกับในโหมดยุทธการ แต่เป็นการมุ่งทำลายฐานทัพของศัตรูเพียงอย่างเดียว

โหมดหลายผู้เล่น แก้

วอร์คราฟต์ 3 มีระบบหลายผู้เล่นเหมือนกับ สตาร์คราฟต์ และ ไดอะโบล เกมนี้ใช้ระบบเครือข่ายหลายผู้เล่นแบบ Battle.net ซึ่งผู้เล่นสามารถสร้างบัญชีรายชื่อได้ใน "เกทเวย์" (Gateway) ซึ่งมีส่วนช่วยลดการแล็กของเครื่อง เกทเวย์เหล่านี้ประกอบด้วย เอเซอร์รอธ (สหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันออก), ลอร์เดอรอน (สหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก), นอร์เธอเรนด์ (ยุโรป) และ คาเล็มดอร์ (เอเชีย)[16] วอร์คราฟต์ 3 ยังได้มีการพัฒนาระบบ Battle.net ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งโดยการมีแม่สื่อที่เป็นชื่อลับ ซึ่งจะจับคู่ให้ผู้เล่นโดยอัตโนมัติโดยขึ้นอยู่กับความสามารถในการเล่นของผู้เล่นและความชื่นชอบในประเภทเกมการเล่น เพื่อป้องกันการโกงและการบันทึกการแข่งขันไว้ให้สำหรับตัวเอง[17] แต่ถ้าผู้เล่นต้องการเล่นกับเพื่อนในโหมดการแข่งขันจัดอันดับ ตัวเกมได้จัดให้มี "โหมดกำหนดทีม" ซึ่งจากผลของแม่สื่อของเกม ทำให้ทั้งสองฝ่ายถูกจับคู่โดยอัตโนมัติและไม่ทราบทีมคู่แข่งล่วงหน้าก่อนการแข่งขันเลย[17] นอกจากนี้ยังมีระบบรายชื่อเพื่อนและห้อง (Channel) วอร์คราฟต์ 3 ยังให้ผู้เล่นสามารถจัดทีมของตัวเองขึ้นมา เรียกว่า "แคลน" (Clan) ซึ่งจะมีส่วนร่วมในการเล่นในทัวนาร์เมนต์หรือเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของวอร์คราฟต์ได้ โดยที่คะแนนสะสมและฐานะในเกมแม่สื่อจะถูกจัดเก็บไว้ใน "แล็ดเดอร์" (Ladder)[18]

เรื่องราว แก้

อารัมภบท แก้

วอร์คราฟต์ 3 เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกที่ชื่อว่า อาร์เซรอธ หลายปีก่อนที่เรื่องราวในเกมจะเริ่มขึ้น กองทัพปีศาจซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม เบิร์นนิง ลีเจียน พยายามที่จะทำลายโลกอาร์เซรอธ โดยส่งเผ่าพันธุ์ที่ถูกควบคุมจิตใจ ซึ่งเรียกว่า ออร์ก หลังจากสงครามยาวนานหลายปี พวกออร์กได้พ่ายแพ้ต่อกองกำลังผสมของมนุษย์ คนแคระและเอลฟ์ พวกออร์กที่รอดชีวิตอยู่ถูกจำขังไว้ในค่ายกักกัน หลังจากการกักขังอันยาวนาน ทำให้พวกออร์กเหล่านี้หมดความปรารถนาที่จะสู้รบ เมื่อไม่มีศัตรูให้เห็น สันติภาพจึงบังเกิด แต่ว่าฝ่ายพันธมิตรทำท่าว่าจะแตกสลาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน วอร์คราฟต์ 3 ได้เกิดขึ้นภายหลังจากช่องว่างจาก วอร์คราฟต์ 2 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเคยจะถูกสร้างให้เป็นเกมที่ชื่อว่า วอร์คราฟต์ แอดเวนเจอร์ แต่ว่าเกมดังกล่าวถูกยกเลิกระหว่างการพัฒนากลางคัน[19]

ตัวละคร แก้

  • ผู้ทำนาย - เมดิฟฮ์หรือผู้พิทักษ์คนสุดท้าย (The Prophet, Medivh, The Last Guardian) เป็นผู้ได้รับอำนาจอันยิ่งใหญ่ในวัยเยาว์เพื่อปกป้องดินแดนอาเซรอธให้พ้นจากเงื้อมมือของปีศาจ อย่างไรก็ตาม เขาถูกเข้าสิงโดยซาร์เกรัส แห่งเบิร์นนิง ลีเจียน และนำออร์กเข้าสู่โลกอาเซรอธ เขากลับมาอีกครั้งในสงครามครั้งที่สามเพื่อให้แน่ใจว่าเบิร์นนิงลีเจียนจะมาถึงจุดจบ
  • อาร์ธัส เมเนธิล (Arthas Menethil) มงกุฎราชกุมารแห่งอาณาจักรลอร์เดอรอน บุตรแห่งราชาเทเรนัส ทรงเป็นนักรบศักดิ์สิทธิ์แห่งดินแดน ลูกศิษย์ของอูเธอร์ เป็นผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาชน แต่ในภายหลังต้องต่อสู้กับโรคระบาดที่คุกคามดินแดนบ้านเกิดจนทำให้เสียสติ เขาต้องการทำลายล้างโรคระบาดตลอดกาลโดยการเดินทางตามไปยังนอร์เดอเรน ที่นั่นเขาได้ครอบครองดาบต้องคำสาป ฟรอสต์มอร์น ซึ่งได้กลืนกินดวงวิญญาณของเขาไป ทำให้เขาเริ่มเดินสู่เส้นทางของการเป็นลิชคิง[20]
  • เทเรธัส เมเนธิล (Terenas Menethil) ราชาแห่งอาณาจักรลอร์เดอรอน พระองค์เคยเป็นบุคคลสำคัญในการก่อตั้งฝ่ายพันธมิตรซึ่งเอาชนะฝ่ายอนารยชนในสงครามครั้งที่สอง แต่ในสงครามครั้งที่สามนี้ พระองค์ก็มีพระชนม์มายุมากแล้ว พระองค์ถูกสังหารโดยออร์ธัส บุตรชายของตัวเอง
  • อูเธอร์ เดอะ ไลท์บริงเกอร์ (Uther the Lightbringer) อัศวินชั้นสูงแห่งลอร์เดอรอน เป็นผู้ก่อตั้งอัศวินษักดิ์สิทธิ์ อัศวินหัตถ์เงิน ผู้สู้และรักษาด้วยพลังแห่งแสงสว่าง แม้ว่าเขาจะเป็นอาจารย์ของออร์ธัส แต่ก็ไม่สามารถป้องกันออร์ธัสจากการถูกควบคุมโดยปีศาจได้ ในตอนบั้นปลายของชีวิต เขาถูกสังหารโดยออร์ธัส ขณะป้องกันเถ้าธุลีของกษัตริย์เทเรนัส
  • เจนา พราวด์มัวร์ (Jaina Proudmoore) บุตรีแห่งนายพลเรือพราวด์มัวร์ ผู้เป็นทั้งเพื่อนสมัยเด็กและคนรักของอาร์ธัส เป็นศิษย์ของนักเวทย์อันดับหนึ่งนาม แอนโทนิดัส เธอเป็นผู้เดียวที่ยอมนำเหล่ามนุษย์ไปยังดินแดนคาลิมดอร์ตามคำบอกของมาดีฟ[21]
  • มูราดิน บรอนซ์เบียร์ด (Muradin Bronzebeard) พี่น้องของหนึ่งในราชาของคนแคระ เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของออร์ธัส เขาได้ออกค้นหาดาบต้องคำสาบในนอร์เดอรอนก่อนที่ออร์ธัสจะมาถึง
  • แอนโทนีดาส (Antonidas) นักเวทแห่งดาราราน เขาเป็นผู้ส่งไจน่าเพื่อจัดการกับโรคระบาดครั้งใหญ่ และเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญต่อการป้องกันนครดารารานต่อฝ่ายซเคิร์จ เป็นผู้นำในการป้องกันนครระหว่างที่มีการปิดล้อม อย่างไรก็ตาม เขาถูกสังหารโดยอาร์ธัส ในระหว่างการปิดล้อมนั้นเอง
  • มัลกานิส (Mal'ganis) แวมไพร์ เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญต่อแผนการนำให้อาร์ธัสไปสู่เส้นทางของลิชคิง ในภายหลัง ปรากฏว่าเขาถูกสังหารโดยอาร์ธัส ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้รับคำสั่งโดยตรงจากลิชคิง
  • เคลทูซาร์ด (Kel’Thuzad) เนโครแมนเซอร์ที่เคยถูกอาร์ธัสและไจน่าร่วมมือกันสังหาร แต่ปัจจุบันถูกอาร์ธัสปลุกชีพขึ้นมาเป็นพ่อมดมืด เขามีส่วนสำคัญต่อการอัญเชิญอาร์คิมอนด์มายังอาร์เซรอธ[21]
  • ลิชคิง - เนอร์ซูล (Lich King - Ner'zhul) นาร์ซูลเคยเป็นออร์กผู้วิเศษ เขาถูกหลอกลวงโดยพวกปีศาจให้รับใช้พวกมัน ในภายหลังเขาได้พยายามหลบหนี แต่ถูกจับได้ ร่างกายของเขาจึงถูกดองเอาไว้และทรมาน วิญญาณของเขาถูกผนึกไว้ในแท่งน้ำแข็งในนอร์เดอเรนด์ และทำให้อำนาจทางจิตของเขาเพิ่มพูนขึ้นอย่างมหาศาล เขาสามารถควบคุมกองกำลังอันเดตจำนวนมากได้ด้วยอำนาจทางจิตของเขา
  • แมนนะรอธ (Mannoroth) ฉายา "เจ้านรก" เขามีความสามารถในการสะกดจิตใจของออร์กด้วยการใช้เลือดของตน ถูกสังหารโดยกรอม เฮลสครีมในถ้ำแห่งหนึ่งภายในป่าอเชนไวล์
  • ทิคอนดริอุส (Tichondrius) แวมไพร์แห่งกองกำลังเบิร์นนิง ลีเจียน เขาเป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติงานของอาร์ธัส และภายหลังได้เป็นผู้บัญชาการโดยตรงของกองกำลังอันเดต ถูกสังหารโดยอิลลดานในป่าเฟลวูด
  • อาร์คิมอนด์ (Archimonde) ปิศาจแห่งกองกำลังเบิร์นนิง ลีเจียน โดยเป็นรองผู้บัญชาการ ถัดจากคิลเจย์ดาน ถูกอัญเชิญมายังอาร์เซรอธโดยเคลทูซาร์ด เขาได้นำกองกำลังแห่งเบิร์นนิง ลีเจียนเพื่อรุกรานป่าอเชนไวล์โดยมีเป้าหมายเพื่อครอบครองต้นไม้แห่งโลก เขาถูกสังหารโดยวิญญาณบรรพบุรุษของเอลฟ์ราตรี
  • ธรอล (Thrall) บุตรแห่งดูราธาน เจ้าสงครามแห่งฝ่ายอนารยชน ผู้ซึ่งปฏิเสธการสะกดจิตใจของพวกปีศาจ ธรอลต้องตกเป็นทาสของมนุษย์ในช่วงต้นของชีวิต หลังจากที่พ่อแม่ของเขาถูกทรยศและสังหาร หลังจากที่หลบหนีจากเจ้านายของเขา เขาได้ปลดปล่อยพวกออร์กในค่ายกักกันซึ่งเป็นเชลยศึกมาตั้งแต่สงครามครั้งที่สอง เขาได้ขึ้นเป็นผู้นำของออร์กทั้งหมดหลังจากการตายของออกริม ดาร์กแฮมเมอร์ ซึ่งเป็นเจ้าสงครามคนก่อน ธรอลเป็นผู้นำเหล่าอนารยชนข้ามทะเลไปยังดินแดนคาลิมดอร์ตามคำบอกเล่าของมาดีฟ[21]
  • กรอม เฮลสกรีม (Grom Hellscream) เป็นเจ้าแห่งเผ่าวอร์ซอง เขาเป็นผู้สมัครใจที่จะยอมรับในการสะกดจิตใจของเหล่าปีศาจ เผ่าวอร์ซองของเขาเป็นเผ่าแรกที่ธรอลพบเจอระหว่างความพยายามที่จะปลดปล่อยออร์กให้เป็นอิสระ จากนั้น เขาทั้งสองจึงได้กลายเป็นพี่น้องกัน ต่อมา กรอมได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจการสะกดใจของเหล่าปีศาจอีกครั้งหนึ่ง แต่ได้รับการช่วยเหลือและปลดปล่อยโดยกองกำลังของธรอลและไจน่า กรอมเป็นผู้ที่สังหารแมนนารอธ
  • แคริน บลัดฮูฟ (Cairne Bloodhoof) เป็นผู้นำของเผ่าทูแรนส่วนใหญ่ในดินแดนคาลิมดอร์ เผ่าของเขาเกือบต้องพ่ายแพ้ต่อการทำศึกกับเหล่าเซ็นทอร์ แต่ได้รับการช่วยเหลือจากธรอล
  • เซนาเรียส (Cenarius) เป็นเทพชั้นรองของเอลฟ์ราตรี ถูกสังหารโดยกรอมในระหว่างที่ถูกสะกดใจ
  • ทีรันเดอ วิสเปอร์วินด์ (Tyrande Whisperwind) นักบวชหญิงแห่งอลูน เป็นผู้นำเดี่ยวของเอลฟ์ราตรี คนรักของมีลฟิวเรี่ยน เป็นผู้ที่เคยรบกับเบิร์นนิง ลีเจียนกว่าหนึ่งหมื่นปีก่อน และกลับมาสู้รบอีกครั้งเมื่อเผ่าพันธุ์อื่น ๆ ได้มาบุกรุกป่าอเชนไวล์ของพวกเอลฟ์ราตรี จนกระทั่งเธอปลุกดรูอิดขึ้นมาจากการหลับไหล เธอได้เข้าร่วมกับธรอลและไจน่าในการป้องกันยอดเขาไฮจอล
  • มัลฟิวเรียน สตรอมเรจ (Malfurion Stromrage) ผู้นำแห่งดรูอิดทั้งหมด ถูกปลุกโดยไทแรนด์เพื่อมาต่อกรกับเบิร์นนิง ลีเจียน เขาเป็นผู้ปกป้องโลก ซึ่งมีพลังแห่งธรรมชาติ และสามารถเรียกวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งเอลฟ์ราตรีได้[21]
  • อิลลดาน สตรอมเรจ - ผู้ทรยศ (Illidan Stormrage - The Betrayer) น้องชายของมีลฟิวเรี่ยน และเป็นนักล่าปีศาจ เขาได้ต่อสู้กับปีศาจมากเกินไปในช่วงการรุกรานของปีศาจในครั้งแรก และมีหนทางที่ผิดประเพณี ทำให้ผู้อื่นหมดความไว้เนื้อเชื่อใจ เขาจึงถูกจำขังด้วยสาเหตุการก่อสร้างบ่อน้ำนิรันดรบนยอดเขาไฮจอล ซึ่งพวกเอลฟ์ราตรีเห็นว่าจะทำให้ปีศาจกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เขาได้รับคำสาบจากเซอร์การัส ทำให้เขาตาบอด แต่ยังสามารถสัมผัสถึงเวทมนตร์ที่อยู่รอบ ๆ สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตอยู่[20]
  • ซิลวานัส วินด์รันเนอร์ (Syvalnas Windrunner) นายพลธนูแห่งเอลฟ์ชั้นสูง เป็นผู้คุมประตูที่นำไปสู่นครซิลเวอร์มูน ถูกอาร์ธัสสังหารและยังถูกสาปให้กลายเป็นผีร้าย[21]

ลำดับเหตุการณ์ แก้

ธรอลล์ ผู้นำแห่งอนารยชนออร์คในอาณาจักรตะวันออกตื่นขึ้นจากฝันร้ายที่เหมือนจริงว่า สงครามระหว่างเผ่าพันธุ์กำลังจะเกิดขึ้น ธรอลล์ ได้รับคำแนะนำของเมดีฟผู้พยากรณ์ ให้แล่นเรือและพาพวกอนารยชนออร์คที่เหลือทั้งหมดบนแผ่นดินตะวันออกไปทางทิศตะวันตกสู่ดินแดนคาลิมดอร์ อันเป็นสถานที่ปลอดภัยตามคำแนะนำของมาดีฟ เขาจึงรวบรวมกองทัพที่เหลือ และช่วยกรอม เฮลสครีมจากการจำขังของพวกมนุษย์ก่อนจะแล่นเรือไป

มาดีฟในร่างอีกาได้บินไปยังปราสาทของราชาเทเรนัส เขาเตือนให้พระองค์อพยพประชากรทั้งหมดไปดินแดนตะวันตกเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียมหาศาลที่จะเกิดขึ้น แต่พระองค์ไม่ทรงเชื่อเขา เจ้าชายอาร์ธัส บุตรแห่งราชาเทเรนัส ป้องกันหมู่บ้านสแตร์นแบรดจากพวกออร์ค อย่างไรก็ตาม พวกออร์คก็สามารถปล้นเมืองได้สำเร็จ พระองค์จึงตามไปยังค่ายของพวกออร์ค และสังหารพวกออร์คสิ้น จากนั้นเขา ร่วมกับผู้วิเศษไจน่า ได้พยายามตามหาสาเหตุของโรคประหลาดที่ฆ่าและเปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็นอันเดต อาร์ธัสสามารถสังหารผู้ที่เป็นต้นเหตุของโรคระบาดได้ระหว่างการยุทธ์ที่ฮาร์ทเกรน เขาได้มอบหมายให้ไจน่าไปเรียกกำลังเสริมของอูเธอร์มาช่วย อูเธอร์สามารถเดินทางมาช่วยได้ทันเวลา แต่ก็เกิดความบาดหมางระหว่างทั้งสองคนเสียแล้ว

ระหว่างทางไปยังเมืองสแตร็ทโฮม อาร์ธัสไปพบกับมาดีฟ ซึ่งเขาได้พยายามชักชวนให้อาร์ธัสอพยพผู้คนไปยังดินแดนตะวันตก อาร์ธัสปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าเพื่อปกป้องพสกนิกรของพระองค์ เมื่อเขามาถึงเมืองสแตร็ทโฮม พระองค์พบว่าโรคระบาดได้แพร่มาถึงเมืองนี้แล้ว และพยายามฆ่าทุกคนในเมืองเพื่อป้องกันโรคมิให้แพร่ระบาดต่อไป แต่อูเธอร์และไจน่าปฏิเสธที่จะร่วมมือในการกระทำที่โหดเหี้ยมเช่นนี้ได้ หลังจากเมืองทั้งเมืองถูกทำลายจนพินาศ ไจน่ากลับมาที่เมืองสแตร็ทโฮมและพบกับมาดีฟ ซึ่งได้ชักชวนให้เธออพยพคนไปยังดินแดนตะวันตก และเธอก็ตอบตกลง

อาร์ธัสติดตามมีลกานิส ผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำของคีลทิซาร์ด ไปยังดินแดนน้ำแข็งทางเหนือชื่อ นอร์เดอเรนด์ ที่ซึ่งพระองค์มีส่วนช่วยเหลือมูราดินในการตามหาดาบทรงพลังที่มีชื่อว่า ฟรอซมอร์ด เมื่อทั้งสองพบดาบนั้นแล้ว มูราดินพบว่ามันเป็นดาบต้องคำสาป แต่อาร์ธัสไม่สนใจคำเตือนนั้น และยินยอมแลกวิญญาณของตนเพื่อใช้พลังของดาบ และเมื่ออาร์ธัสปลดปล่อยพลังของดาบออกมาแล้ว ทำให้มูราดินต้องติดอยู่ใต้เศษน้ำแข็ง อาร์ธัสสังหารมีลกานิส และกลับมายังมาตุภูมิ ไม่นานหลังจากนั้น อาร์ธัสได้สังหารบิดาของตนเองท่ามกลางงานเฉลิมฉลองชัยชนะในเมืองหลวงนั่นเอง

ในฐานะที่เป็นอัศวินแห่งความตาย อาร์ธัสจึงได้พบกับหัวหน้าของพวกเจ้าความกลัว ทิคูรดริอัส ผู้ซึ่งมอบหมายบททดสอบหลายประการให้แก่เขา ในตอนแรก อาร์ธัสได้รวบรวมเถ้ากระดูกของเคลทิซาร์ด และบรรจุไว้ในโถวิเศษซึ่งบรรจุอัฐิของบิดาเขาเอง และเพื่อให้ได้โถวิเศษนี้ เขาต้องสังหารอูเธอร์ซึ่งรับหน้าที่ปกป้องโถวิเศษนี้ก่อน

หลังจากนั้น เขาได้นำกองทัพอันเดตเข้ารุกรานดินแดนเควลธาลัสของพวกไฮเอลฟ์ และพยายามเข้าตีกรุงซิลเวอร์มูนเมืองหลวง เพื่อครอบครองพลังของซันเวล แต่เควลธาลัสมีประตูจันทราสามบานป้องกันอยู่ และยังต้องประมือกับนายพลธนู ซิลวานัส วินด์รันเนอร์ แต่ในที่สุด เขาก็สามารถเข้าถึงซันเวล และชุบชีวิตเคลทิซาร์ดขึ้นมาเป็นพ่อมดมืด เคลทิซาร์ดแจ้งให้อาร์ธัสทราบถึงเบิร์นนิงลีเจียน ซึ่งเป็นกำลังปีศาจขนาดใหญ่ที่รอเข้ามาทำลายโลกนี้ นายที่แท้จริงของเคลทิซาร์ดคือลิชคิง ผู้ซึ่งถูกสร้างมาเพื่อช่วยเหลือเบิร์นนิงลีเจียนและกองกำลังอันเดตของเขา แต่ในความเป็นจริง จุดประสงค์ของลิชคิงคือการทำลายล้างเบิร์นนิงลีเจียน อาร์ธัสและเคลทิซาร์ดร่วมมือกันปิดล้อมเมืองดารารานเพื่อขโมยคัมภีร์ของเมดีฟ เพื่ออัญเชิญอาคิมอนด์มายังอาร์เซรอธ และเมื่อเขามาถึงแล้ว การทำลายล้างและจุดจบของลอร์เดอรอนก็เริ่มต้น

ฝ่ายาอนารยชนออร์กภายใต้การนำของธรอลล์เดินทางถึงดินแดนคาเล็มดอร์ และพบกับคารินและเผ่าทูแรนของเขา ซึ่งได้ณรงค์กับเซ็นทอร์จนได้รับชัยชนะ ธรอลล์พบกับกรอม เฮลสครีมและร่วมมือกันทำศึกกับพวกมนุษย์เพื่อหาหนทางไปสู่ผู้พยากรณ์

ขณะเดียวกัน ชนเผ่าวอร์ซองได้รับคำสั่งจากธรอลล์ให้ก่อสร้างที่มั่นถาวรในป่าอเชนไวล์ แต่การเข้าไปนั้นได้ไปรบกวนพวกเอลฟ์ราตรีและเทพชั้นรอง ซีนาริอัส เนื่องจากพวกออร์กได้ตัดต้นไม้ไปเป็นจำนวนมาก เพื่อจะเอาชนะเทพ กรอมจึงตัดสินใจยอมดื่มน้ำที่ย้อมด้วยเลือดของแมนารอธ ทำให้ได้รับอำนาจของปีศาจและสามารถสังหารซีนาริอัสลงได้ และต้องแลกกับวิญญาณของออร์กเผ่าวอร์ซองและตกอยู่ภายใต้การครอบงำของเบิร์นนิงลีเจียน

ธรอลซึ่งได้เดินทางมาพบกับเมดีฟผู้พยากรณ์ เขาได้แจ้งให้ธรอลทราบถึงการกระทำของกรอม และจากถ้อยคำของผู้พยากรณ์ทำให้มนุษย์ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของไจน่าต้องรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันเพื่อยับยั้งกรอมจากอำนาจปีศาจ หลังจากที่กรอมได้รับการปลดปล่อยแล้ว เขากับธรอลได้เดินทางเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่ง ณ ที่นั้นเองที่เขาได้สังหารแมนารอธเพื่อแลกกับอิสรภาพของออร์กจากการควบคุมของปีศาจ แต่ก็ต้องแลกกับชีวิตของกรอมด้วย

หลังจากที่ซีนาริอัสสิ้นชีพไปแล้ว ทำให้ไทแรนด์ทราบว่ามีภัยคุกคามกำลังเกิดขึ้นต่อป่าอเชนไวล์แห่งนี้ เธอจึงนำกองทัพเอลฟ์ราตรีเข้าทำลายค่ายกองทัพผสมมนุษย์-ออร์ก แต่เมื่อกองทัพผสมเพลี่ยงพล้ำ กองทัพอันเดตของอาร์คิมอนก็ปรากฏตัวออกมา และทำลายทหารทั้งสองฝ่ายจนหมดสิ้น อาร์คิมอนไล่กวดไทแรนด์มา แต่ไทแรนด์ก็สามารถหลบหนีไปได้อย่างหวุดหวิด

เพื่อที่จะต่อกรกับเบิร์นนิงลีเจียนอีกครั้งนี้ ไทแรนด์จึงตัดสินใจปลุกดรูอิดซึ่งกำลังหลับใหลอยู่ โดยเริ่มต้นจากคนรักของเธอ คือ มีลฟิวเรียน สตรอมเรจ ซึ่งเป็นหัวหน้าดรูอิดทั้งหมด ตามด้วยดรูอิดที่เหลือ ไทแรนด์ยังได้ตัดสินใจปลดปล่อยน้องชายของมีลฟิวเรี่ยน คือ อิลลิดาน จากการคุมขัง ในภายหลัง อิลลิดานได้พบกับอาร์ธัส ผู้ซึ่งบอกเขาเกี่ยวกับ "กะโหลกแห่งกูลดาน" การดูดกลืนพลังของกะโหลกทำให้เขากลายเป็นพวกครึ่งเอลฟ์ครึ่งปีศาจ และอิลลดานได้ใช้พลังของตนในการสังหารทิคอนดริอัส แต่มีลฟิวเรี่ยนมาพบเขาขณะยังอยู่ในร่างปีศาจ ทำให้เขาถูกเนรเทศออกจากป่าอเชนไวล์ไป

ในคืนนั้นเอง มาดีฟได้แสดงภาพนิมิตให้แก่มีลฟิวเรี่ยน ไทแรนด์ ธรอลและไจน่า เพื่อให้ทั้งสามเผ่าพันธุ์ร่วมมือกันในการกำจัดกองทัพอันเดต ในยุทธการแห่งยอดเขาไฮจอล กองทัพพันธมิตรได้ร่วมมือกันเพื่อพยายามหยุดยั้งกองทัพของอาร์คิมอนจากต้นไม้แห่งโลก เพื่อรอคอยแผนการของมีลฟิวเรี่ยน คือ การเรียกวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเหล่าเอลฟ์ราตรี เมื่ออาร์คิมอนมาถึงต้นไม้แห่งโลก วิญญาณบริสุทธิ์เหล่านี้ก็ได้ทำลายอาร์คิมอน ณ ยอดเขาแห่งนั้นเอง ผลจากการรบดังกล่าว ทำให้ทั้งสามเผ่าพันธุ์ร่วมมือกัน และเกิดเป็นสันติภาพในดินแดนคาเล็มดอร์ภายหลังจากที่ศัตรูพ่ายแพ้ไปสิ้น

การพัฒนา แก้

เกมวอร์คราฟต์ 3 เริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 โดยตัวเกมได้กล่าวอ้างถึงความเป็นเกมผสมระหว่างเกมวางแผนและเกมสวมบทบาท[22] ซึ่งใช้เวลาพัฒนานานหลายปี เพื่อใช้ในการพัฒนารูปแบบสามมิติเป็นครั้งแรกของบริษัทบลิซซาร์ด ทำให้ภาพที่ได้ออกมาสวยงาม ทั้งสภาพแวดล้อม รายละเอียดและแอนนิเมชั่น[23] การทดสอบเวอร์ชันบีตาของเกมเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 2002[24] โดยกว่า 5,000 คนเข้าร่วมการทดสอบ โดยใช้เวลานานทั้งสิ้นหกเดือน หลังจากการทดสอบแล้วตัวเกมได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเล่นเป็นอย่างมากจากเวอร์ชันอัลฟา[25] ส่วนระบบหลายผู้เล่นของเกมก็เป็นที่นิยมในช่วงทดสอบเวอร์ชันบีตาอีกด้วย[26]

โปรแกรมสร้างแผนที่ (World Editor) แก้

เหมือนกับโปรแกรมสร้างแผนที่ใหม่ที่เคยทำไว้ในเกม วอร์คราฟต์ 2 และ สตาร์คราฟต์ ก่อนหน้านั้น เกมวอร์คราฟต์ 3 มีโปรแกรมสำหรับสร้างแผนที่ด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถกำหนดให้แผนที่ดังกล่าวแตกต่างจากแผนที่ทั่วไปซึ่งติดมากับเกมอยู่ก่อนแล้ว โปรแกรมสร้างแผนที่สามารถปรับแต่งยูนิตและเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ นอกจากนั้น ผู้เล่นยังสามารถดาวน์โหลดแผนที่ที่เป็นของผู้เล่นคนอื่นได้ รวมไปถึงยังมีโปรแกรมของบุคคลที่สามซึ่งสามารถทำให้การสร้างแผนที่มีความหลากหลายมากขึ้น โปรแกรมสร้างแผนที่ยังถูกเพิ่มเติมขึ้นหลังจาก วอร์คราฟต์ 3: บัลลังก์น้ำแข็ง ออกวางจำหน่ายแล้ว แม้ว่าโปรแกรมสร้างแผนที่จะได้รับการพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ เช่นเดียวกับแพทช์ของเกม แต่ว่าโปรแกรมสร้างแผนที่ดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเป็นสินค้าของบริษัทบลิซซาร์ดอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด[27]

บางครั้ง แผนที่ของผู้เล่นบางคนก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง อย่างเช่น แผนที่ดีเฟนซ์ออฟดิแอนเชียนส์ ซึ่งมักจะมีการจัดการแข่งขันแบบทัวร์นาเมนต์ในหลายประเทศเป็นประจำ แต่ก็ยังมีอีกหลายแผนที่เหมือนกันที่ได้รับความนิยม อย่างเช่น สตรองโฮลด์และชีพแท็ก ซึ่งแผนที่เหล่านี้ยังได้มีการพัฒนาอยู่ตลอด

เสียง แก้

เพลงส่วนใหญ่ที่ใช้ประกอบในเกมวอร์คราฟต์ 3 แต่งโดย เทรซี่ ดับเบิลยู. บุช, เดเร็ก ดุค, เจสัน ฮาเยสและเกล็นน์ สตาฟฟอร์ด[28] เกมวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออส ได้ถูกจัดทำขึ้นเป็นภาคจำนวนจำกัดมีเพลงออเครสตร้าประกอบด้วยเป็นจำนวนมากในซาวน์แทร็กที่แยกออกไปต่างหาก ส่วนเผ่าพันธุ์ทั้งสี่ได้ใช้เสียงเพลงประกอบที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น เพลงที่เกี่ยวกับศาสนาใช้ประกอบการเล่นเผ่ามนุษย์ ดนตรีแอมเบียนต์และเพลงของอเมริกันอินเดียนใช้ประกอบการเล่นเผ่าเอลฟ์ราตรี เพลงทำสงครามของชาวแอฟริกันประกอบการเล่นเผ่าออร์ก และเพลงเร็วสยองขวัญสำหรับการเล่นเผ่าอันเดต

อีกหนึ่งลักษณะเฉพาะตัวของเกมในเครือของบลิซซาร์ด คือ คำประจำตัวของยูนิต ถ้าเราคลิกไปบนยูนิตตัวเดิมซ้ำ ๆ ติด ๆ กันหลายครั้ง เสียงของยูนิตก็จะเริ่มตลกขบขันมากขึ้นเท่านั้น ยูนิตอาจจะพาลโกรธใส่ผู้เล่น หรือเริ่มที่จะพาดพิงถึงเกมอื่น ภาพยนตร์หรือมุขตลก อย่างเช่นจาก ภาพยนตร์สตาร์ วอร์ส เป็นต้น

รูปแบบอื่น แก้

 
วอร์คราฟต์ 3 แบทเทิล เชสต์ (Warcraft III Battle Chest)

นอกเหนือจากจะมีการผลิตในรูปแบบปกติแล้ว ยังได้มีการผลิตวอร์คราฟต์ 3 ในรูปแบบนักสะสม ซึ่งในรูปแบบนักสะสมนี้ ประกอบด้วยแผ่นดีวีดีที่เป็นฉากของวอร์คราฟต์ 3 รวมไปถึงมีตัวอย่างเบื้องหลังการทำงาน และฉากดำเนินเรื่องตั้งแต่เริ่มเกมจนจบ ซาวน์แทร็กในรูปแบบนักสะสม คู่มือแนะนำการเล่นในรูปแบบนักสะสม หนังสือ Art of Warcraft และแบบพิมพ์การพิมพ์หิน

บริษัทบลิซซาร์ดยังได้ออก วอร์คราฟต์ 3 แบทเทิล เชสต์ ซึ่งประกอบด้วยแผ่นเกมของ วอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออส และ วอร์คราฟต์ 3: บัลลังก์น้ำแข็ง เข้าด้วยกันในกล่องเดียว และยังมีคู่มือแนะนำการเล่นจากบราดีเกมส์ (BradyGames)

ในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ กิฟต์เซตเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยดีวีดีฉาก คู่มือแนะนำการเล่นของบราดีเกมส์ และวอร์คราฟต์ 3 ในรูปแบบของ Battle.net

วอร์คราฟต์ 3 เป็นเกมหนึ่งที่อยู่ในระดับขายดีในระดับเดียวกับเกมชุดสตาร์คราฟต์ เกมชุดไดอะโบล และเกมชุดวอร์คราฟต์ภาคก่อนหน้า[29] และยังเทียบเท่าได้กับเกมคัดสรรจากบริษัทอื่นนอกเหนือจากบริษัทบลิซซาร์ดอีกด้วย[30][31]

ภาคต่อ แก้

หลังจาก วอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออส แล้ว เรื่องราวในจักรวาลของวอร์คราฟต์ดำเนินต่อไปในเกม วอร์คราฟต์ 3: บัลลังก์น้ำแข็ง ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากยุทธการแห่งยอดเขาไฮจอลแล้ว ซึ่งเนื้อเรื่องยังได้เกี่ยวโยงไปถึงเผ่าพันธุ์ใหม่ ยูนิตใหม่และโลกใหม่ที่แตกต่างออกไป โดยในภาคต่อของเกมวอร์คราฟต์นี้ได้มีการออกแพทช์ใหม่ขึ้นมาแก้ไขปัญหาของเกม รวมไปถึงการจัดการระบบหลายผู้เล่น และโปรแกรมสร้างแผนที่ที่ดีกว่าเดิม และยังเป็นภาคต่อที่ได้รับรางวัลหลายอย่างเช่นเดียวกับวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสด้วย โดยเกมวอร์คราฟต์ 3: บัลลังก์น้ำแข็งนี้วางจำหน่ายวันแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2003

การตอบรับ แก้

การประเมิน แก้

ผลคะแนนการประเมินเกม
แหล่งที่มา คะแนนจาก
นักวิจารณ์
คะแนนจาก
นักเล่นเกม
โน้ท
Game Chronicles 10/10[32] แนะนำให้เล่น
Adrenaline Vault 5/5[33] รับรองความยอดเยี่ยม
Games First 5/5[34]
GameZone.com 9.7/10[35] รางวัลเกมอันโดดเด่น
The Gamers Temple 96%[36] เกมยอดเยี่ยม
SLCentral 9.5/10[37] แนะนำให้เล่น
The Entertainment Depot 9.5/10[38] แนะนำให้เล่น
Action Trip 95%[39] แนะนำให้เล่น
Game Rankings 93.1%[40]
IGN 9.3/10 (พีซี)[41]
9.3/10 (แม็ก)[42]
7.9/10[43] เยี่ยม
GameSpot 9.3/10[40] 9.1/10[44] ยอดเยี่ยม
เกมแห่งเดือนกรกฎาคม 2002
GamePro 4.6/5[45] ยอดเยี่ยม
Metacritic 92%[46]
Mindless Games 9/10[47] รางวัลดีที่สุดของ Mindless
Game Over 90%[48] รางวัลดีที่สุดสำหรับนักเล่นเกม
Gamer's Hell 8.9/10[49] Silver Hell Award
Strategy Gaming Online 8.7/10[50] แนะนำให้เล่น
Games Domain 4.5/5[51] Top Game
Amazon 4/5[52]

การตอบรับของเกมวอร์คราฟต์ 3 เป็นการตอบรับในด้านดีมาก ๆ แม้ว่าการประเมินโดย GamePro จะบอกว่า "เกมวอร์คราฟต์ 3 ไม่ได้ปฏิวัติวงการเกมวางแผนเรียลไทม์แต่อย่างใด" แต่ก็ยังยกย่องบริษัทบลิซซาร์ดว่า "วางโครงเรื่องได้เป็นอย่างดี การเล่นเป็นจังหวะ และมีการเล่นแบบออนไลน์ที่จะไม่ตกยุค"[45] GameSpot ได้ประเมินวอร์คราฟต์และสตาร์คราฟต์ที่ได้ให้ประสบการณ์การเล่นที่แปลกใหม่ และนับว่าเป็น "ปรากฏการณ์ใหม่" ผู้ประเมินจำนวนมากยังวิจารณ์ว่าเกมวอร์คราฟต์เป็นเกมที่มีความสนใจ เนื่องจากการเล่นในเกมวางแผนเรียลไทม์เกมอื่น ๆ ในช่วงต้นของเกมจะเป็นการแข่งขันกับเพื่อสร้างยูนิตที่ดีที่สุดขึ้นมาเท่านั้น[44] และผู้ประเมินยังได้บอกอีกว่าเกมวอร์คราฟต์ 3 เป็นการเริ่มต้นของการแยกทุกเผ่าพันธุ์ออกจากกัน ทำให้ทุกเผ่าพันธุ์ต่างมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน[53] ส่วน IGN กล่าวว่า "วอร์คราฟต์ไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาเป็นตัน แต่ว่าตัวเกมจะดีพอที่คุณจะไม่สนใจหรือไม่สังเกตเลยด้วยซ้ำ"[41]

อย่างไรก็ตาม ผู้ประเมินยังได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องของการที่ไม่สามารถเปลี่ยนเส้นทางของอาร์ธัสได้ การวิจารณ์ใน Gamecritics บอกว่า "ผู้เล่นต้องนั่งดูอาร์ธัสมุ่งสู่หนทางของความบ้าคลั่ง"[53] ผู้ประเมินคนอื่น ๆ ยังได้บอกว่าแบบตัวละครนั้นธรรมดามาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมองดูในฉากคัตซีน[44]

รางวัล แก้

เกมวอร์คราฟต์ 3 ได้รับรางวัลจำนวนมากจากสิ่งตีพิมพ์และเว็บไซต์หลายแห่ง[4] อย่างเช่น

  • เกมวางแผนบนคอมพิวเตอร์แห่งปี - Academy of Interactive Arts and Sciences[54]
  • เกมแห่งปี - Gamespot[55]
  • เกมแห่งปี - Cinescape[56]
  • เกมวางแผนหลายผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปี - Gamespot[57]
  • เกมวางแผนบนคอมพิวเตอร์ยอดเยี่ยมแห่งปี - Game Revolution[58]
  • เกมวางแผนบนคอมพิวเตอร์ยอดเยี่ยมแห่งปี (แนะนำสำหรับผู้อ่าน) - GameSpot[59]
  • ฉาก 3D แบบ non-interactive ยอดเยี่ยม - International 3D Awards[60]
  • ฉากยอดเยี่ยม - IGN[61]
  • ภาพยนตร์เปิดเกมยอดเยี่ยม - Game Chronicles[62]

ความนิยม แก้

เกมวอร์คราฟต์ 3 ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างมาก และเป็นการ "ขยายจักรวาลของวอร์คราฟต์ให้กว้างยิ่งขึ้นไปอีก"[63] ทำให้มีฐานผู้บริโภคกว้างขวางยิ่งขึ้น และจะมีผู้ซื้อที่ติดตามผลงานอย่างต่อเนื่อง และเกมยังคงเป็นที่นิยมมาตั้งแต่วันเปิดตัววันแรกมาจนถึงปัจจุบัน เหมือนกับเกม สตาร์คราฟต์ ไดอะโบล เคาน์เตอร์-สไตรก์ และ ฮาล์ฟ-ไลฟ์[63]

เกมวอร์คราฟต์ 3 มีความโด่งดังเป็นอย่างมากในจีน เยอรมนีและเกาหลีใต้ ทำให้มีการจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการขึ้น อย่างเช่น รายการเวิลด์ไซเบอร์เกมส์ รายการอิเล็กทรอนิกส์สปอร์ตเวิลด์คัพ รายการเวิลด์อีสปอร์ตเกมส์ และรายการเวิลด์ซีรีส์ออฟเกมส์ ผู้เล่นจะได้รับเงินจากแหล่งต่าง ๆ โดยในประเทศเดนมาร์ก ผู้เล่นที่แข่งขันแบบมืออาชีพได้รับค่าแรงกว่า 300,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปีจากองค์การที่เกี่ยวกับการเล่นเกมโดยเฉพาะ[64]

อ้างอิง แก้

  1. "Warcraft 3 on PEGI.info". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-07. สืบค้นเมื่อ 2009-02-18.
  2. http://us.blizzard.com/support/article.xml?articleId=21220
  3. Cieniawa, Lee (2002-09-08). "Armchair Empire - Warcraft III: Reign of Chaos". The Armchair Empire. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-06. สืบค้นเมื่อ 2007-08-29.
  4. 4.0 4.1 "Blizzard Entertainment - Awards". blizzard.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-14. สืบค้นเมื่อ 2007-08-01.
  5. 5.0 5.1 The Game Room: Let Chaos Begin เก็บถาวร 2010-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  6. 6.0 6.1 Blizzard Entertainment, บ.ก. (2002). Warcraft III Instruction Manual: Fog of War. p. 22.
  7. Blizzard Entertainment, บ.ก. (2002). Warcraft III Instruction Manual: Economy. p. 21.
  8. Blizzard Entertainment, บ.ก. (2002). Warcraft III Instruction Manual: Upkeep. p. 22.
  9. Blizzard Entertainment, บ.ก. (2002). Warcraft III Instruction Manual: Wandering Monsters and Wildlife. p. 28.
  10. Blizzard Entertainment, บ.ก. (2002). Warcraft III Instruction Manual: Day/Night Cycle. p. 21.
  11. Blizzard. "Warcraft III FAQ". battle.net. สืบค้นเมื่อ February 25. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |accessyear= ถูกละเว้น แนะนำ (|access-date=) (help)
  12. Blizzard Entertainment, บ.ก. (2002). Warcraft III Instruction Manual : The Single Player Game. p. 10.
  13. Blizzard Entertainment, บ.ก. (2002). Warcraft III Instruction Manual: Heroes - Experience and Level. p. 26.
  14. Blizzard Entertainment, บ.ก. (2002). Warcraft III Instruction Manual: Items. p. 29.
  15. Blizzard Entertainment, บ.ก. (2002). Warcraft III Instruction Manual: Starting a Campaign. p. 10.
  16. Blizzard Entertainment, บ.ก. (2002). Battle.net: Gateway Selection. p. 12.
  17. 17.0 17.1 Blizzard Entertainment, บ.ก. (2002). Battle.net: Anonymous Matchmaking & Arranged Team Games. p. 13.
  18. Blizzard. "Matchmaking and Ladder Explanation". Battle.net. สืบค้นเมื่อ 2008-01-23.
  19. "Warcraft III Answers". answers.com. สืบค้นเมื่อ February 20. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |accessyear= ถูกละเว้น แนะนำ (|access-date=) (help)
  20. 20.0 20.1 Game Informer provides information on who the character is, why the character is important, and what is next for the character in "Faces of Warcraft: The Essential Introduction to Characters," Game Informer 183 (July 2008): 100.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 Game Informer provides information on who the character is, why the character is important, and what is next for the character in "Faces of Warcraft: The Essential Introduction to Characters," Game Informer 183 (July 2008): 101.
  22. http://www.fulldls.com/torrent-games-1220718.html (อังกฤษ)
  23. http://www.gamequarters.de/enggames_warcraft3.html (อังกฤษ)
  24. ประกาศทดสอบเกมวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออส เก็บถาวร 2009-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  25. http://www.actiontrip.com/reviews/warcraft3reignofchaos.phtml เก็บถาวร 2009-01-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  26. http://www.brighthub.com/video-games/pc/reviews/2534.aspx เก็บถาวร 2009-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  27. Blizzard Entertainment, บ.ก. (2002). Warcraft III World Editor. p. 16.
  28. Blizzard Entertainment, บ.ก. (2002). Warcraft III manual: Credits. p. 13.
  29. "เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของเกม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-08-19. สืบค้นเมื่อ 2007-04-27.
  30. การวิเคราะห์เกมวางแผนแห่งปีโดย IGN (อังกฤษ)
  31. การวิเคราะห์เกมวางแผนแห่งปีโดย GameSpy เก็บถาวร 2009-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  32. การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย Game Chronicles (อังกฤษ)
  33. การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย Adrenaline Vault[ลิงก์เสีย] (อังกฤษ)
  34. การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย Games First (อังกฤษ)
  35. การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย GameZone.com เก็บถาวร 2009-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  36. การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย The Gamers Temple (อังกฤษ)
  37. การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย SLCentral เก็บถาวร 2009-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  38. การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย The Entertainment Depot เก็บถาวร 2008-12-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  39. การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย Action Trip เก็บถาวร 2009-01-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  40. 40.0 40.1 "การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย GameSpot". gamerankings.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-05. สืบค้นเมื่อ November 6. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |accessyear= ถูกละเว้น แนะนำ (|access-date=) (help)
  41. 41.0 41.1 Adams, Dan (2002-07-17). "การประเมินเกมวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย IGN". mac.ign.com. สืบค้นเมื่อ February 21. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |accessyear= ถูกละเว้น แนะนำ (|access-date=) (help)
  42. "การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย IGN บนเครื่องแม็ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-16. สืบค้นเมื่อ 2009-01-22.
  43. การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย IGN (อังกฤษ)
  44. 44.0 44.1 44.2 Kasavin, Greg (2002-07-03). "เกมวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสบน GameSpot". gamespot.com. สืบค้นเมื่อ February 21. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |accessyear= ถูกละเว้น แนะนำ (|access-date=) (help)
  45. 45.0 45.1 Modifter (2002-07-17). "การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย Game Pro". gamepro.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-07. สืบค้นเมื่อ February 21. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |accessyear= ถูกละเว้น แนะนำ (|access-date=) (help)
  46. "การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย Metacritic". metacritic.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-21. สืบค้นเมื่อ February 21. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |accessyear= ถูกละเว้น แนะนำ (|access-date=) (help)
  47. การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย Mindless Games เก็บถาวร 2008-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  48. การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย Game Over (อังกฤษ)
  49. การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย Gamer's Hell เก็บถาวร 2009-01-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  50. การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย Strategy Gaming Online (อังกฤษ)
  51. การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย Games Domain เก็บถาวร 2009-01-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  52. การประเมินวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสโดย Amazon (อังกฤษ)
  53. 53.0 53.1 Bell, Erin (2003-06-04). "เกมวอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออสบน GamrCritics". gamecritics.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-14. สืบค้นเมื่อ February 21. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |accessyear= ถูกละเว้น แนะนำ (|access-date=) (help)
  54. http://www.interactive.org/awards/annual_awards.asp?idaward=2003 เก็บถาวร 2010-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  55. http://www.gamespot.com/gamespot/features/all/bestof2002/pc32.html (อังกฤษ)
  56. http://www.mania.com/games-2002_article_37392.html เก็บถาวร 2009-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  57. http://www.gamespot.com/gamespot/features/all/bestof2002/pc30.html เก็บถาวร 2013-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  58. http://www.gamerevolution.com/oldsite/articles/awards/pc/pc_2002.htm (อังกฤษ)
  59. http://www.gamespot.com/gamespot/features/all/bestof2002/r7.html เก็บถาวร 2009-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  60. http://www.3dawards.org/2003/report/index2.php (อังกฤษ)
  61. http://cube.ign.com/articles/431/431546p1.html (อังกฤษ)
  62. http://www.gamechronicles.com/features/goty2k2/goty.htm (อังกฤษ)
  63. 63.0 63.1 http://mikevoss.de/english/marketing.pdf เก็บถาวร 2005-03-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  64. [https://web.archive.org/web/20070927004147/http://war3.replays.net/bbs/htm_data/147/0702/1106087.html เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [热点] Moon,首位年薪1亿韩元War3选手 Replays.Net For Fun,For Game] (จีน)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้