วงศ์จิ้งจกและตุ๊กแก

วงศ์จิ้งจกและตุ๊กแก
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 50 ล้านปีมาแล้วจนถึงปัจจุบัน[1]
ตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko) เป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งของวงศ์นี้ โดยอาจยาวเต็มที่ได้ถึงเกือบ 1 ฟุต และถือเป็นชนิดที่มีเสียงร้องได้หลากหลายมากที่สุด จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Gekkoninae
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Lacertilia
อันดับฐาน: Gekkota[2]
วงศ์: Gekkonidae
Gray, 1825
วงศ์ย่อย

วงศ์จิ้งจกและตุ๊กแก เป็นวงศ์ของสัตว์เลื้อยคลานในอันดับย่อยกิ้งก่า (Lacertilia) ใช้ชื่อวงศ์ว่า Gekkonidae เป็นวงศ์ที่คุ้นเคยเป็นอย่างดีในชื่อสามัญว่า "จิ้กจก" และ "ตุ๊กแก"

มีลักษณะโดยรวม คือ ส่วนมากมีขาเห็นได้ชัดเจน ยกเว้นในวงศ์ย่อยบางวงศ์ในออสเตรเลียที่ไม่มีขา ผิวหนังของลำตัวมีเกล็ดขนาดเล็กปกคลุมและอาจมีตุ่มกระจายอยู่บ้าง ไม่มีกระดูกในชั้นหนังทางด้านหลังของลำตัว แต่บางชนิดอาจจะมีกระดูกในชั้นหนังทางด้านท้องของลำตัว กระดูกหัวไหล่มีกระดูกอินเตอร์คลาวิเคิลเป็นรูปตัวที และกระดูกไหปลาร้าเป็นรูปหักมุม สามารถสะบัดหางให้หลุดจากลำตัวได้เพื่อหลอกศัตรูที่มาคุกคาม โดยตำแหน่งที่ปล่อยหางหลุดนั้นอยู่ทางด้านท้ายของก้านกระดูกทางด้านข้างของกระดูกสันหลังส่วนหางทุกปล้อง พื้นผิวด้านบนมีลิ้นมีตุ่มกลม ฟันที่ขากรรไกรเกาะติดกับร่องที่ขอบด้านในของกระดูกขากรรไกร กระดูกพเทอรีกอยด์ไม่มีฟัน

เป็นวงศ์ที่มีขนาดใหญ่ โดยยังแบ่งออกได้เป็นวงศ์ย่อยอีก 4 วงศ์ (ดูในตาราง)

มีจำนวนสมาชิกในวงศ์มากมายถึงเกือบ 1,000 ชนิด และ 109 สกุล ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่แน่นอน เนื่องจากมีการสำรวจพบเจอชนิดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ มีเพียงไม่สกุลเท่านั้น เช่น Hoplodacatylus ที่ตกลูกเป็นตัว

ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของวงศ์นี้ที่เป็นที่รับรู้อย่างดีของมนุษย์ คือ เสียงร้อง อันเป็นที่มาของชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ที่ใช้เรียก สัตว์เลื้อยคลานในวงศ์นี้โดดเด่นมากในการส่งเสียงร้อง โดยมีแผ่นเยื่อกำเนิดเสียงและกล่องเสียงจึงทำให้เกิดเสียงได้ และด้วยความซับซ้อนมากกว่าเสียงที่เกิดจากการผลักดันอากาศออกทางจมูกหรือปาก ในตัวผู้ของหลายชนิดใช้เสียงในการประกาศอาณาเขตตลอดจนใช้ดึงดูดตัวเมีย โดยเป็นเสียงร้องที่สั้นและมักร้องซ้ำ ๆ และติดต่อกันหลายครั้ง แม้ว่าส่วนใหญ่เสียงร้องอาจจะคล้ายคลึงกันแต่ชนิดที่ต่างกันแม้อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกันก็มีเสียงที่ต่างกัน โดยทั่วไปตัวผู้จะส่งเสียงร้องไปยังทิศทางที่มีตัวผู้ตัวอื่นหรือมีตัวเมียอยู่ตรงนั้น แต่บางครั้งก็อาจส่งเสียงร้องได้โดยไม่มีทิศทาง ในสกุล Ptenopus ที่พบในแอฟริกา เมื่ออกจากโพรงในช่วงใกล้ค่ำและส่งเสียงร้องประสานกันคล้ายกับเสียงร้องของกบ

นอกจากนี้แล้วในบางชนิดจะมีเสียงร้องอย่างจำเพาะระหว่างแสดงพฤติกรรมปกป้องอาณาเขต และเป็นเสียงร้องช่วงยาวมากกว่าเสียงร้องที่ใช้ในเวลาทั่วไป ซึ่งเสียงร้องเตือนนี้นอกจากจะใช้ร้องเตือนสัตว์ประเภทเดียวกันที่มาเข้าใกล้ ยังร้องเตือนสัตว์ที่ใหญ่ รวมถึงมนุษย์ได้ด้วย โดยทั้งตัวผู้และตัวเมียจะส่งเสียงร้องได้เท่ากัน โดยเฉพาะเสียงร้องประกาศอาณาเขตนี้ โดยชนิดที่มีเสียงร้องที่ซับซ้อนและหลากหลายที่สุด คือ ตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko) เพราะมีเสียงที่ขึ้นต้นด้วยพยางค์เดียวที่ร้องถี่ ๆ ติดกันหลายครั้งแล้วตามด้วยเสียงร้องที่เป็น 2 พยางค์[3]

นอกจากนี้แล้วลักษณะพิเศษเฉพาะที่สำคัญอีกประการของสัตว์เลื้อยคลานวงศ์นี้ คือ สามารถเกาะติดกับผนังได้เป็นอย่างดี โดยไม่หล่นลงมา ด้วยหลักของสุญญากาศที่บริเวณใต้ฝ่าเท้าทั้ง 4 ด้าน โดยเป็นแผ่นหนังที่เรียงตัวต่อกัน ซึ่งแผ่นหนังแต่ละแผ่นมีเส้นขนจำนวนมากและแต่ละเส้นนั้นยาวประมาณ 60-90 ไมครอน เรียกว่า "เซต้า" ซึ่งส่วนปลายของขนนั้นแตกแขนงและขยายออกเป็นกลุ่ม การเรียงตัวของแผ่นหนังและรายละเอียดของเส้นขนนี้ใช้ในการอนุกรมวิธานแยกประเภท แต่ในหลายสกุลก็ไม่อาจจะเกาะติดกับผนังได้

วงศ์จิ้งจกและตุ๊กแกนี้กระจายไปอยู่ทุกมุมโลก ยกเว้นในเขตขั้วโลก มีทั้งหากินในเวลากลางวันและกลางคืน เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มนุษย์รู้จักเป็นอย่างดี เพราะสามารถพบเห็นได้ทั่วไปแม้กระทั่งในบ้านเรือน[4]

อ้างอิง แก้

  1. Arnold, E.N., & Poinar, G. (2008). "A 100 million year old gecko with sophisticated adhesive toe pads, preserved in amber from Myanmar (abstract)" (PDF). Zootaxa. สืบค้นเมื่อ August 12, 2009.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. จาก ITIS.gov (อังกฤษ)
  3. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หน้า 177 (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0
  4. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หน้า 380-381 (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0