ราเมือก (อังกฤษ: Slime mold) คือชื่ออย่างไม่เป็นทางการของสิ่งมีชีวิตยูแคริโอตหลายประเภทที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันที่สามารถอาศัยในรูปเซลล์เดียวได้อย่างอิสระ และสามารถรวมกันเพื่อสร้างเป็นโครงสร้างคล้ายสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ได้ เดิมราเมือกได้รับการจัดประเภทให้เป็นพวกเห็ดรา แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรนั้นแล้ว[1] แม้ว่าราเมือกแต่ละพวกจะไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่บางครั้งก็ได้รับการจัดประเภทรวมกันอยู่ภายในอาณาจักรโพรทิสตา

ราเมือกสายพันธุ์ Trichia varia

ราเมือกมีมากกว่า 900 สายพันธุ์ทั่วโลก ชื่อสามัญ "ราเมือก" หมายถึงช่วงชีวิตช่วงหนึ่งที่อยู่ในรูปคล้ายเมือกวุ้น ซึ่งลักษณะนี้เป็นกับพวกไมโซแกสเตรียมากที่สุด อันเป็นราเมือกขนาดใหญ่เพียงประเภทเดียวเท่านั้น[2] ราเมือกส่วนใหญ่มีขนาดเล็กไม่กี่เซนติเมตรหรือน้อยกว่า แต่บางสายพันธุ์อาจยืดตัวเองได้ถึงหลายตารางเมตร และมีมวลได้มากถึง 30 กรัม[3]

ราเมือกส่วนมาก โดยเฉพาะราเมือกที่คล้าย "เซลล์" ไม่ได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในสภาพดังกล่าว ราเมือกเหล่านี้จะอยู่ในสภาพสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวตราบเท่าที่ยังมีอาหารอยู่เพียงพอ แต่เมื่ออาหารมีปริมาณจำกัด ราเมือกหลายตัวจะเริ่มรวมตัวกันและเคลื่อนที่พร้อม ๆ กัน ในสภาพนี้ ราเมือกจะไวต่อสารประกอบในอากาศ และสามารถตรวจจับแหล่งอาหารได้ ราเมือกในสภาพนี้ยังสามารถเปลี่ยนรูปร่างและการทำงานในแต่ละส่วนได้ง่าย และอาจสร้างก้านที่ใช้สร้างดอกเห็ดขึ้นมา แล้วปล่อยสปอร์มาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเบาพอที่จะลอยไปตามอากาศหรือพ่วงไปกับสัตว์ที่ผ่านมา[4]

ราเมือกกินจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ตามพืชที่ตายแล้วเป็นอาหาร โดยยังทำให้พืชที่ตายเหล่านั้นย่อยสลายและเป็นอาหารให้กับแบคทีเรีย ยีสต์ และเห็ดราต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ ทำให้มักพบราเมือกตามดิน สนามหญ้า และตามไม้ที่กำลังผลัดใบในพื้นป่า แต่ในพื้นที่เขตร้อน ราเมือกก็พบได้ทั่วไปตามช่อดอก ผลไม้ และบริเวณที่อากาศถ่ายเท (เช่น บนยอดต้นไม้) ในเขตชุมชนเมือง ราเมือกพบได้ในบริเวณที่มีการคลุมดินหรือกระทั่งบนใบไม้ขึ้นราในรางน้ำฝน และยังเจริญเติบโตได้ในเครื่องปรับอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่อระบายน้ำถูกขวางกั้นไว้

อ้างอิง แก้

  1. "Introduction to the "Slime Molds"". University of California Museum of Paleontology. สืบค้นเมื่อ 2009-04-04.
  2. Adamatzky, Andrew (2016-01-09). Advances in Physarum Machines: Sensing and Computing with Slime Mould (ภาษาอังกฤษ). Springer. ISBN 978-3-319-26662-6.
  3. Zhulidov, DA; Robarts, RD; Zhulidov, AV; และคณะ (2002). "Zinc accumulation by the slime mold Fuligo septica (L.) Wiggers in the former Soviet Union and North Korea". Journal of Environment Quality. 31 (3): 1038–1042. doi:10.2134/jeq2002.1038. PMID 12026071.
  4. Rebecca Jacobson (April 5, 2012). "Slime Molds: No Brains, No Feet, No Problem". PBS Newshour.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)