การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่สอง

การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่สอง เป็นการระงับข้อพิพาททางดินแดนระหว่างฮังการีและโรมาเนียในการแบ่งภูมิภาคทรานซิลเวเนีย ซึ่งฮังการีสูญเสียไปภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตามสนธิสัญญาทรียานง โดยมีนาซีเยอรมนีและฟาสซิสต์อิตาลีเป็นประเทศผู้ไกล่เกลี่ย จากผลลัพธ์ของคำตัดสินนี้ บังคับให้โรมาเนียส่งคืนดินแดนทางตอนเหนือของทรานซิลเวเนียแก่ฮังการีในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1940 และทำให้ข้อพิพาททางดินแดนระหว่างสองประเทศดำเนินต่อไปตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่สอง
การผนวกดินแดนของฮังการีในช่วง ค.ศ. 1938-1941
โดยดินแดนที่ได้จากการอนุญาโตตุลาการจะแสดงเป็นสีเขียวอ่อนทางด้านขวามือ
วันลงนาม30 สิงหาคม ค.ศ. 1940
ที่ลงนามเวียนนา
ผู้ลงนาม ไรช์เยอรมัน
 อิตาลี
 ฮังการี
 โรมาเนีย

ความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้ฮังการีสูญเสียดินแดนส่วนใหญ่ในสมัยจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือทรานซิลเวเนียที่เสียไปให้กับโรมาเนีย ตามการสนับสนุนการแบ่งดินแดนของข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย การขยายอาณาเขตของโรมาเนียนำไปสู่ความกังวลในการรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนในช่วงระหว่างสงครามและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรมาเนียกับมหาอำนาจผู้ชนะสงครามโลก ซึ่งล้วนเป็นประเทศยุโรปที่สนับสนุนสนธิสัญญาแวร์ซายทั้งสิ้น ในทางกลับกัน ฮังการียังคงยืนหยัดในจุดยืนของการแก้ไขสนธิสัญญาอย่างเข้มข้น เพื่อฟื้นฟูทั้งหมดหรือบางส่วนของภูมิภาคที่สูญเสียไป

การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ใน ค.ศ. 1933 และการเติบโตของอำนาจฟาสซิสต์ในทวีปยุโรป สร้างแรงกระตุ้นที่มากขึ้นให้กับประเทศต่าง ๆ ที่ไม่พอใจกับบทบัญญัติหลังสงคราม โดยการฟื้นฟูดินแดนของประเทศผู้แพ้สงครามเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1930 จากการแบ่งเชโกสโลวาเกียตั้งแต่ ค.ศ. 1938 จนถึง ค.ศ. 1939 ซึ่งทำให้ฮังการีสามารถกู้คืนดินแดนบางส่วนของสโลวาเกียและรูทีเนียกลับมาได้ อย่างไรก็ตามประเทศยังคงไม่สามารถฟื้นฟูดินแดนทรานซิลเวเนียได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ความตึงเครียดภายในคาบสมุทรบอลข่านเริ่มก่อตัวขึ้น

ระหว่างวิกฤตการณ์โรมาเนีย-โซเวียตในช่วงต้นฤดูร้อน ค.ศ. 1940 สตาลินได้ใช้ประโยชน์จากการทัพของเยอรมนีในทวีปยุโรป เพื่อยึดครองสาธารณรัฐบอลติกและภูมิภาคเบสซาเรเบียกับบูโควีนา สำหรับฮังการีซึ่งปรารถนากู้คืนดินแดนที่เสียไป จึงฉวยโอกาสอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนต่าง ๆ ของโรมาเนียในช่วงวิกฤตการณ์ครั้งนี้เช่นกัน ทั้งสองประเทศพยายามร้องขอการไกล่เกลี่ยจากประเทศอักษะ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ การเจรจาทวิภาคีระหว่างฮังการีและโรมาเนียที่มีขึ้นในกลางเดือนสิงหาคมไม่บรรลุผลลัพธ์ใด ๆ ในช่วงปลายเดือนเดียวกัน เยอรมนีได้เสนอการเจรจาทางดินแดนระหว่างสองประเทศ เนื่องจากความกังวลในการถูกกีดกันแหล่งน้ำมันและทรัพยากรในโรมาเนียและคาบสมุทรบอลข่าน สำหรับการสงครามและการรุกรานสหภาพโซเวียตในอนาคต

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ณ พระราชวังเบลเวเดียร์ในกรุงเวียนนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเยอรมนีและอิตาลีได้กำหนดผลลัพธ์ของการอนุญาโตตุลาการ โดยแบ่งพื้นที่พิพาทออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน ทำให้ต่อมาทั้งสองประเทศพยายามแข่งขันเพื่อเอาใจนาซีเยอรมนีเพื่อแก้ไขข้อตกลง และก่อให้เกิดปัญหาชนกลุ่มน้อยในทรานซิลเวเนียตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม ภายหลังความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะ ทำให้พรมแดนถูกเปลี่ยนกลับเป็นสภาพเดิมก่อนสงคราม และโรมาเนียได้ครอบครองทรานซิลเวเนียอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง

บริบท แก้

ข้อพิพาทเกี่ยวกับทรานซิลเวเนีย แก้

การผงาดขึ้นของไรช์ที่สามและฟาสซิสต์อิตาลีของมุสโสลินี ทำให้ฮังการีเห็นถึงความหวังในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากสนธิสัญญาทรียานง เริ่มมีการชุมนุมสนับสนุนอิตาลี-เยอรมนีสำหรับความทะเยอทะยานด้านดินแดนใน ค.ศ. 1936[1] ในตอนแรก การตอบสนองของอักษะโรม-เบอร์ลินต่อความปรารถนาของฮังการีนั้นไม่ชัดเจน: โดยส่งสัญญาณว่าฮังการีควรประเมินถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขสนธิสัญญาบางฉบับ แต่ไม่แสดงท่าทีว่าจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงพรมแดนของยุโรปในทันที[1] เยอรมนีแนะนำให้เน้นการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนเชโกสโลวาเกีย ซึ่งมีดินแดนที่เคยเป็นของฮังการี แต่ปฏิเสธข้อเรียกร้องที่เป็นไปได้ต่อโรมาเนีย[2] สำหรับอิตาลีเอง แม้ว่าเป็นที่ชื่นชอบของรัฐบาลฮังการีมากกว่า[2] แต่ทางโรมก็ยังคงปฏิเสธการแก้ปัญหาด้านดินแดนโดยกำลังของรัฐบาลฮังการี[3]

 
การสูญเสียดินแดนของฮังการีตามสนธิสัญญาทรียานงใน ค.ศ. 1920 รัฐบาลฮังการีหลายชุดในสมัยระหว่างสงครามได้เน้นนโยบายต่างประเทศไปที่การฟื้นฟูดินแดนเหล่านี้เป็นหลัก

ในเวลาต่อมาฮังการีหยุดการเคลื่อนไหวสนับสนุนเป็นการชั่วคราว เพื่อให้บรรลุการฟื้นฟูทรานซิลเวเนียโดยทันที และมุ่งความสนใจไปที่การแก้ไขสถานการณ์ของชนกลุ่มน้อยฮังการีในโรมาเนีย พร้อมกับการยอมรับเล็ก ๆ โดยกลุ่มติดอาวุธชาวฮังการี[3] ในช่วงปลาย ค.ศ. 1937 ทางเบอร์ลินยังคงแนะนำรัฐบาลบูดาเปสต์ว่าควรรอเวลาเพื่อจัดการปัญหาทรานซิลเวเนียภายหลัง และมุ่งเน้นไปที่การเรียกร้องดินแดนจากเชโกสโลวาเกีย นโยบายต่างประเทศของฮังการีใน ค.ศ. 1938 ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน: ส่วนหนึ่งสำหรับการใช้เยอรมนีเพื่อสนับสนุนการต่อต้านเชโกสโลวาเกีย และอีกส่วนสำหรับการใช้อิตาลีเพื่อฟื้นฟูทรานซิลเวเนียและต่อต้านโรมาเนีย[3]

การเจรจาทวิภาคีระหว่างฮังการีกับโรมาเนียในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1938 ยังคงมุ่งเน้นประเด็นไปที่ชนกลุ่มน้อยเป็นหลัก[4] การเยือนของมุสโสลินีกับนายกรัฐมนตรีฮังการีเบ-ลอ อิมเรดี ในฤดูร้อน ก็ไม่มีความคืบหน้าอย่างใดนอกจากสัญญาที่คลุมเครือสำหรับการสนับสนุนจากดูเช และไม่มีผลลัพธ์ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม[4] อย่างไรก็ตาม วิกฤตเชโกสโลวาเกียที่เลวร้ายลงในช่วงปลายฤดูร้อน นำไปสู่การเติบโตขึ้นของลัทธิปฏิรูปนิยมใหม่ฮังการี ซึ่งการบรรลุผลสำเร็จบางส่วนจากความทะเยอทะยานด้านดินแดนนั้นถูกมองว่าเป็นไปได้[5] การอ้างสิทธิ์ของฮังการีต่อเชโกสโลวาเกียตามความปรารถนาของฮิตเลอร์ ทำให้เขายอมรับข้อเรียกร้องของรัฐบาลบูดาเปสต์มากขึ้น และขณะเดียวกัน เกอริงก็ยืนยันกับเอกอัครราชทูตโรมาเนียว่าเยอรมนีไม่มีความต้องการเสริมกำลังพลในฮังการีแต่อย่างใด[5] ทว่าภายหลังการลงนามในความตกลงมิวนิก เยอรมนีได้พยายามจำกัดการมอบดินแดนแก่ฮังการี ทำให้รัฐบาลบูดาเปสต์ต้องจัดการเรื่องนี้ด้วยตนเอง[6] เยอรมนีเข้าไปมีส่วนร่วมกับการอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่หนึ่งเพื่อยุติข้อพิพาทด้านดินแดนในเดือนพฤศจิกายน อันเป็นผลมาจากการได้รับการยืนยันจากอิตาลี[6] การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งนี้ได้ปลดปล่อยดินแดนรูทีเนีย และสโลวาเกียได้รับเอกราชภายใต้การอุปถัมภ์ของเยอรมนี นำไปสู่ความกังวลของนักการเมืองสายกลางฮังการีว่าประเทศจะสูญเสียเอกราชและตกเป็นเบี้ยล่างฝ่ายอักษะ[6] ขณะที่นักปฏิรูปนิยมฮังการีปรารถนาให้นโยบายต่างประเทศของบูดาเปสต์อยู่ภายใต้การควบคุมของเยอรมนีมากขึ้นเรื่อย ๆ[6]

 
เกรตเทอร์โรมาเนียที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก รวมทั้งชาวฮังการีและชนกลุ่มน้อยเยอรมันในทรานซิลเวเนีย

ในช่วงต้น ค.ศ. 1939 ทัศนคติของฝ่ายอักษะยังคงต่อต้านการแก้ปัญหาโดยกำลังของข้อพิพาททรานซิลเวเนีย ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตามความเห็นของรัฐบาลเยอรมนีและอิตาลี[7] ความสนใจในทรัพยากรของโรมาเนียและความพึงพอใจกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศแบบเผด็จการนำไปสู่การสานสัมพันธ์กับฝ่ายอักษะ ซึ่งไม่ต้องการให้ทั้งสองประเทศเกิดความขัดแย้งในภูมิภาคที่มีข้อพิพาท[7] ชนกลุ่มน้อยเยอรมันในโรมาเนียต่อต้านลัทธิปฏิรูปนิยมใหม่ของฮังการี[8]

ในทางตะวันออกเฉียงเหนือ ฮังการีสามารถยึดครองรูทีเนียได้สำเร็จในวันที่ 15–16 มีนาคม ค.ศ. 1939 ทำให้เชโกสโลวาเกียสูญเสียดินแดนส่วนสุดท้ายของประเทศ[8] ซึ่งการยึดดินแดนดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนแถลงการณ์ของนักปฏิรูปนิยมเกี่ยวกับทรานซิลเวเนีย[8] รัฐบาลฮังการีที่นำโดยปาล แตแลกี เพิกเฉยต่อการรับประกันดินแดนโรมาเนียของฝรั่งเศสกับอังกฤษในเดือนเมษายน[9] และมีการประกาศสงครามพร้อมทั้งระดมกองทัพฮังการีบางส่วน แต่แตแลกียังคงรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับฝ่ายอักษะว่าจะไม่เผชิญหน้ากับโรมาเนีย จึงมีการเจรจาทวิภาคีอีกครั้งกับรัฐบาลบูคาเรสต์ในเดือนสิงหาคม[9] ทางการฮังการีปฏิเสธข้อเสนอของโรมาเนียต่อการลงนามในสนธิสัญญาการคุ้มครองชนกลุ่มน้อยและการไม่รุกราน เนื่องจากฮังการีต้องการข้อตกลงสำหรับการส่งมอบดินแดนของโรมาเนีย[9]

การปะทุขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สองสร้างผลกระทบอย่างหนักต่อสถานะของฮังการี กล่าวคือรัฐบาลบูดาเปสต์ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในการบุกครองโปแลนด์ของเยอรมนี เนื่องจากรัฐบาลวอร์ซอเป็นพันธมิตรดั้งเดิมของฮังการี[10] ไม่กี่วันหลังการบุกครอง เยอรมนีและอิตาลีให้สัญญาณอย่างชัดเจนถึงการต่อต้านการโจมตีทรานซิลเวเนียของฮังการี[10] ไม่นานหลังจากนั้น ทางการฮังการีสัญญาอย่างเป็นทางการว่าจะไม่โจมตีโรมาเนียโดยปราศจากความยินยอมจากเยอรมนี[10] เพราะในความเป็นจริงแล้ว ฮังการีไม่มีกำลังทหารมากพอที่จะเผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าจะมีแถลงการณ์เชิงข่มขู่ก็ตาม[10] เยอรมนีไม่ยินยอมให้การเปลี่ยนแปลงดินแดนขัดแย้งกับผลประโยชน์ของตนในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ฝ่ายอักษะเข้าไปมีส่วนร่วมต่อข้อพิพาททรานซิลเวเนียและครอบงำนโยบายต่างประเทศของฮังการีให้ตกอยู่ภายใต้ฝ่ายอักษะอย่างชัดเจน[11] มีการแบ่งฝ่ายกันของบรรดาผู้นำของฮังการี ระหว่างผู้ที่เห็นว่าการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเยอรมนีเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้บรรลุการกู้คืนดินแดนที่สูญเสีย กับผู้ที่เชื่อว่าเยอรมนีจะแพ้สงครามและการเปลี่ยนแปลงพรมแดนอาจจะเกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดความขัดแย้งนี้[12]

ในช่วงปลาย ค.ศ. 1939 ถึงต้น ค.ศ. 1940 ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากการระดมกำลังทหารบางส่วน[11] ในทรานซิลเวเนีย พลเรือนและทหารกว่าครึ่งล้านคนเริ่มสร้างแนวป้องกันเพื่อปกป้องการรุกรานของฮังการีที่อาจเกิดขึ้น[11] สำหรับฮังการีก็มีการเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่องสำหรับการโจมตีทรานซิลเวเนียและกิจกรรมทางการทูตเพื่อสร้างความชอบธรรม[13][14][11] ฝ่ายขวามูลวิวัติฮังการีกล่าวหาว่ารัฐบาลแตแลกีนิ่งเฉย[15] สื่อของทั้งสองประเทศต่างจดจ่ออยู่กับข้อพิพาทเกี่ยวกับทรานซิลเวเนียและมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางสำหรับมุมมองของทั้งสองประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มุ่งเป้าไปยังการโน้มน้าวใจอิตาลีและเยอรมนี[15]

การฟื้นฟูดินแดนดอบรูจา (Dobruja) ของบัลแกเรีย ซึ่งสนับสนุนโดยเยอรมนี และการผนวกเบสซาเรเบียของสหภาพโซเวียต ทำให้สถานะทางการเมืองของโรมาเนียอ่อนแอลงในช่วงต้น ค.ศ. 1940 ระบอบการปกครองของกษัตริย์คาโรลที่ 2 ประสบความล้มเหลวในการรับการสนับสนุนจากประชาชนและเผชิญกับการต่อต้านอย่างแข็งกร้าวจากฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระดมทหาร[16] ในช่วงครึ่งปีแรกของ ค.ศ. 1940 ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลบูดาเปสต์และบูคาเรสต์เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากความไม่ชัดเจนของเยอรมนีที่มีต่อทั้งสองประเทศ[16] เยอรมนียังคงส่งออกอาวุธให้กับทั้งสองฝ่ายและนำเข้าวัตถุดิบที่สำคัญเป็นการแลกเปลี่ยน ในขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งความสมดุลทางทหารระหว่างทั้งสองประเทศ[17] ขณะที่มุสโสลินีล้มเหลวในการสนับสนุนความทะเยอทะยานของฮังการีอย่างมีประสิทธิภาพ[18]

การใช้ประโยชน์จากความต้องการอาวุธของโรมาเนียและการได้รับอุปถัมภ์จากเยอรมนี ทำให้รัฐบาลเบอร์ลินสามารถลงนามในข้อตกลงทางเศรษฐกิจใหม่ที่น่าพอใจกับรัฐบาลบูคาเรสต์ได้เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1940[19] เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอักษะสำหรับสถานะทางการเมือง ทั้งฮังการีและโรมาเนียจึงเพิ่มสัมปทานทางเศรษฐกิจและการเมืองแก่เบอร์ลินและโรม[19] ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 ทำให้ชนชั้นนำทางการเมืองของโรมาเนียเกิดตื่นตระหนก เพราะประเทศได้รับประกันการปกป้องผลประโยช์ด้านดินแดนจากอังกฤษกับฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ. 1919 แต่เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้ นักการเมืองชาวโรมาเนีย รวมทั้งกษัตริย์คาโรล จึงหาทาง "กระชับความสัมพันธ์" กับอักษะโรม-เบอร์ลินเป็นการเร่งด่วน และยินยอมผ่อนปรนแรงกดดันต่าง ๆ ทุกวิถีทาง

คำขาดของโซเวียตและการสูญเสียเบสซาเรเบียกับบูโควีนา แก้

 
วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของโซเวียต ยื่นคำขาดต่อโรมาเนียโดยการบังคับให้มอบเบสซาเรเบียและบูโควีนาตอนเหนือ เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากเยอรมนี

จากชัยชนะของเยอรมนีในฝรั่งเศส ทำให้ผู้นำโซเวียตโจเซฟ สตาลิน ตัดสินใจผนวกรัฐบอลติกและส่วนหนึ่งของคาบสมุทรบอลข่านเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต[20]

ในวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1940 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ฝรั่งเศสขอสงบศึกจากเยอรมนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของโซเวียตวยาเชสลาฟ โมโลตอฟ ได้แจ้งแก่เอกอัครราชทูตเยอรมนีฟ็อน แดร์ ชูเลินแบร์ค ว่าสหภาพโซเวียตได้ส่งนักการทูตพิเศษไปยังบรรดารัฐบอลติกเพื่อ "ยุติแผนการร้ายของอังกฤษ-ฝรั่งเศสที่พยายามหว่านความบาดหมางระหว่างเยอรมนีและสหภาพโซเวียตในรัฐบอลติก"[20] ในวันที่ 14 ลิทัวเนียได้รับคำขาดที่รุนแรงจากโซเวียต ซึ่งประเทศก็ยินยอมและไม่ได้ขัดขวางการยึดครองของโซเวียตแต่อย่างใด[21] ต่อมาในวันที่ 16-17 เอสโตเนียและลัตเวียก็ถูกยึดครองเช่นเดียวกัน[21] หลังการปราบปรามเสรีภาพสื่อ การสลายตัวของการเมืองทุกฝ่ายยกเว้นคอมมิวนิสต์ และการจับกุมผู้นำทางการเมืองหลัก ได้มีการเลือกตั้งในวันที่ 17 กรกฎาคม ทำให้เกิดรัฐสภาที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ซึ่งร้องขอให้ทั้งสามประเทศเข้าร่วมกับสหภาพโซเวียต และสำเร็จโดยสมบูรณ์ในต้นเดือนสิงหาคม[21]

หนึ่งวันหลังการยอมจำนนของฝรั่งเศสที่กงเปียญในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1940 โมโลตอฟเข้าพบปะกับเอกอัครราชทูตเยอรมนีอีกครั้ง เพื่อแจ้งให้ทราบว่าเขาไม่สามารถรอได้อีกต่อไปสำหรับการยุติข้อพิพาทเกี่ยวกับเบสซาเรเบีย และทางโซเวียตยินดีที่จะใช้กำลังหากโรมาเนียไม่เห็นด้วย เพื่อมุ่งสู่ทางออกแห่งสันติภาพ[21][22] เขายังชี้แจงอีกว่าสหภาพโซเวียตได้อ้างสิทธิ์เหนือบูโควีนาเช่นกัน[21][22] เบสซาเรเบียกลายเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตตามกติกาสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพ[23] แต่สำหรับบูโควีนานั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอดีตจักรวรรดิรัสเซียเดิม ทำให้ท้ายที่สุดสตาลินตกลงที่จะผนวกเพียงแค่ส่วนเหนือ[21][24] ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในกรุงเบอร์ลิน เนื่องจากการปิดล้อมทางทะเลของอังกฤษ โรมาเนียจึงกลายเป็นแหล่งน้ำมันหลักของเยอรมนี รวมทั้งแหล่งผลิตอาหารและสินค้าเกษตรรายใหญ่[25]

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน รัฐบาลโซเวียตยื่นคำขาดต่อโรมาเนีย ซึ่งเรียกร้องให้มอบสองดินแดนดังกล่าว โดยให้เวลาหนึ่งวันในการตอบรับ[26][23][25] ทางเยอรมนีแนะนำให้รัฐบาลโรมาเนียยินยอมต่อข้อเรียกร้องนี้[26][27][25][24] ความพยายามของกษัตริย์คาโรลในการรวบรวมการสนับสนุนจากเยอรมนีล้มเหลว[28] เพราะฮิตเลอร์ได้ตกลงข้อเรียกร้องดินแดนทั้งสองแล้ว[26] คำแนะนำจากเยอรมนีได้รับการเห็นชอบจากคำแนะนำที่คล้ายกันของอิตาลี ตุรกี และรัฐบอลข่านอื่น ๆ[26] ในวันที่ 27 ฮังการีและบัลแกเรียแสดงเจตจำนงอ้างสิทธิ์ในดินแดนของตน[29][14] กษัตริย์คาโรลเตรียมพร้อมสำหรับการต่อต้านการรุกรานจากโซเวียตที่อาจเกิดขึ้นหากปฏิเสธข้อเรียกร้อง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างน้อยในสภาระหว่างการประชุมเพื่อการตอบสนองของโรมาเนีย[26] ในการลงคะแนนเสียงครั้งที่สอง ผู้สนับสนุนน้อยลงกว่าครั้งก่อน เพราะการแสดงท่าทีของประเทศเพื่อนบ้านและรายงานของเสนาธิการทหารทั่วไปที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปไม่ได้ที่จะต่อต้านการโจมตีครั้งใหญ่ของโซเวียต[26] ความพยายามในการเจรจากับโซเวียตล้มเหลว เนื่องจากโมโลตอฟปฏิเสธที่จะหารือเกี่ยวกับปัญหาใด ๆ ซึ่งเขาให้เวลารัฐบาลโรมาเนียจนถึง 14 นาฬิกา ของวันที่ 28 ในการตอบรับคำขาดนี้[30] กองทัพโรมาเนียจะต้องถอนกำลังออกจากดินแดนทั้งสองภายในสี่วันนับจากสิ้นสุดคำขาด[30] เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น รัฐบาลโรมาเนียจึงตัดสินใจยอมแพ้และยอมรับข้อเรียกร้องของโซเวียต[30] ในวันที่ 28 กองทัพโซเวียตเริ่มเคลื่อนกำลังพลมายังดินแดนทั้งสอง[25] และสิ้นสุดปฏิบัติการในวันที่ 3 กรกฎาคม[30] โรมาเนียสูญเสียดินแดน 44,422 ตารางกิโลเมตร กับประชากร 3,200,000 คนในเบสซาเรเบีย และดินแดนอีก 5,396 ตารางกิโลเมตร กับประชากร 500,000 คนในบูโควีนา[30] ในขณะที่รัฐบาลมอสโกได้สนับสนุนการอ้างสิทธิ์เหนือทรานซิลเวเนียของฮังการี[23]

เยอรมนียังรักษาทรัพยากรที่สำคัญของโรมาเนียไว้ได้ เพื่อแลกกับการยอมจำนนชั่วคราวต่อการคุกคามของโซเวียต[25] ซึ่งสิ่งนี้สร้างความผิดหวังแก่ฮิตเลอร์เป็นอย่างมาก[31] เพราะน้ำมันในโรมาเนียมีความสำคัญยิ่งต่อกองทัพเยอรมัน ซึ่งถูกกีดกันจากการปิดล้อมภาคพื้นทวีปของอังกฤษ[31] ในวันที่ 1 กรกฎาคม โรมาเนียยกเลิกการรับประกันดินแดนที่อังกฤษให้ไว้[30] และขอให้ฮิตเลอร์ส่งทหารมาเพื่อป้องกันประเทศ[30][32] คำขอถูกปฏิเสธจากผู้นำเยอรมัน[27] กษัตริย์คาโรลพยายามทุกวิถีทางในการเข้าหาฮิตเลอร์เพื่อหลีกเลี่ยงการยินยอมต่อการอ้างสิทธิ์ดินแดนของฮังการีและบัลแกเรีย[30][28][27] ในวันที่ 4 กรกฎาคม สภารัฐมนตรีชุดใหม่ที่สนับสนุนเยอรมันได้ก่อตั้งขึ้น นำโดยอียอน กีกูร์ตู[30][32] ในวันเดียวกัน ประเทศแสดงความปรารถนาที่จะเข้าร่วมฝ่ายอักษะ และได้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติในวันที่ 11 กรกฎาคม[32][30] ทั้งยังมีการผ่านกฎหมายต่อต้านยิวอีกด้วย[32] ในวันที่ 15 กรกฎาคม ฮิตเลอร์ชี้แจงว่าทางเยอรมนีจะไม่รับประกันใด ๆ กับโรมาเนีย หากรัฐบาลบูคาเรสต์ยังไม่จัดการปัญหาเกี่ยวดินแดนของฮังการีและบัลแกเรีย[28][30]

การเจรจากับบัลแกเรีย แก้

กษัตริย์คาโรลล้มเลิกแผนการจัดการกับประเทศเพื่อนบ้านโดยปราศจากการสนับสนุนจากเยอรมนี[33] การเจรจากับบัลแกเรียเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม และนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาที่กรายอวาเมื่อวันที่ 7 กันยายน ทำให้โรมาเนียสูญเสียดอบรูจาใต้ (7,412 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งเป็นดินแดนที่ได้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1912 ก่อนการลงนามในสนธิสัญญาบูคาเรสต์และการแลกเปลี่ยนประชากรของทั้งสองประเทศ โดยชาวบัลแกเรีย 65,000 คน ได้รับการอพยพไปทางใต้ และชาวโรมาเนีย 110,000 คน ไปทางเหนือ[33] ภูมิภาคนี้ไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนเท่าใดนัก จึงทำให้เหตุการณ์นี้ถูกมองว่าไม่ใช่การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่[33]

การเจรจากับฮังการี แก้

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลฮังการีพิจารณาถึงความสำเร็จของโซเวียตในการใช้แรงกดดันทางทหารกับโรมาเนีย จึงมีแนวคิดที่จะทำแบบเดียวกันเพื่อฟื้นฟูทรานซิลเวเนีย[29][27] การฟื้นฟูดินแดนที่เสียไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันของรัฐบาลฮังการีทั้งหมดในช่วงระหว่างสงคราม[1] แม้ทางการบูดาเปสต์จะมีความปรารถนาที่จะโจมตีในช่วงวิกฤตการณ์โรมาเนีย-โซเวียต แต่ก็ต้องการกำลังสนับสนุนทางทหารของเยอรมนีด้วย ซึ่งได้ทำสัญญาทางเศรษฐกิจและการทหารต่าง ๆ ไว้[27][29] การเตรียมการทางทหารของฮังการีสิ้นสุดลงในปลายเดือนมิถุนายน[27] โดยรัฐบาลปฏิเสธที่จะระดมทหารตามที่เสนาธิการทหารทั่วไปร้องขอ[28] รัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากกลุ่มมูลวิวัติและเลือกที่จะขอเจรจากับบูคาเรสต์ ซึ่งเชื่อมั่นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะได้รับสัมปทานดินแดนโดยไม่ต้องใช้กำลัง เนื่องจากความอ่อนแอของกษัตริย์คาโรลและความเต็มพระทัยของพระองค์ที่จะให้สัมปทานดินแดนตามสัญชาติ[34] ในโรมาเนีย กษัตริย์คาโรลมอบอำนาจให้กับฝ่าวขวามูลวิวัติมากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กเข้าสู่สภารัฐมนตรีเป็นครั้งแรก[34] เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำบูดาเปสต์ระบุว่าเบอร์ลินปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ในการุกรานโรมาเนียในวันที่ 2–4 กรกฎาคม เนื่องจากรัฐบาลเยอรมนีทราบเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมทางทหารของฮังการี[27]

ระหว่างการประชุมไตรภาคี แตแลกีประสบความสําเร็จในการเสนอการจัดการทรานซิลเวเนียในช่วงวิกฤตการณ์โซเวียต-โรมาเนียในเดือนมิถุนายน[35] ฮิตเลอร์ยอมรับคำเสนอของฮังการีอย่างคลุมเครือระหว่างการประชุมกับคณะผู้แทนที่มิวนิกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม[36] แต่เยอรมนียังคงปฏิเสธการสนับสนุนการโจมตีของฮังการีที่อาจเกิดขึ้น[35][36] ซึ่งตามความเห็นของฮิตเลอร์ เขามองว่าควรแก้ปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป[37] ผู้นำอักษะไม่ต้องการความขัดแย้งในคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งทำให้พวกเขาขาดแคลนวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับการผลิตอาวุธสงคราม ดังนั้นผู้นำอักษะจึงแนะนำให้มีการเจรจากันระหว่างสองประเทศ[38][36] ไม่กี่วันต่อมาด้วยข้อตกลงของมุสโสลินี ฮิตเลอร์จึงแนะนำกษัตริย์คาโรลให้ "ปรองดอง" กับฮังการีและบัลแกเรีย พร้อมทั้งยอมรับการแบ่งแยกดินแดนซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้[35][39]

คณะผู้แทนโรมาเนียขอเข้าพบฮิตเลอร์เพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของฮังการีในที่ประชุม โดยการสนทนานี้มีการใช้ภาษาที่อ่อนน้อมและทางโรมาเนียได้แสดงความเต็มใจที่จะยกดินแดน 14,000 ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฮังการี (คิดเป็น 0.114 % ของดินแดนฮังการีในอดีต[40] พร้อมทั้งยินยอมการแลกเปลี่ยนประชากรของทั้งสองประเทศ[41] เยอรมนีและอิตาลีเสนอหลักประกันร่วมกันของพรมแดนโรมาเนีย เพื่อยุติข้อพิพาททรานซิลเวเนีย[41] ฮิตเลอร์ได้กล่าวว่าความไม่พอใจของโรมาเนียต่อฮังการีถือเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของเยอรมนีด้วย[41] ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ฮิตเลอร์กำลังผ่อนปรนข้อตกลงกับโรมาเนียเพื่อเอาใจฮังการี[42] ต่อมาผู้แทนโรมาเนียได้เข้าพบกับมุสโสลินีแต่ผลลัพธ์ที่ได้ยังคงไม่ต่างจากเดิม[42]

ฮิตเลอร์ปฏิเสธที่จะไกล่เกลี่ยให้กับสองประเทศ[42] และได้เสนอการเจรจาโดยตรงกับทั้งสอง[42][39] ซึ่งการเจรจาอย่างเป็นทางการครั้งแรกจัดขึ้นที่ดรอเบตา-ตูร์นูเซเวรินเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม[40][43][44][33] แต่เกิดความล่าช้าเพราะความพยายามของโรมาเนียที่จะหลีกเลี่ยงการยอมจำนนด้วยการสนับสนุนของเยอรมนี ซึ่งรัฐบาลบูคาเรสต์ไม่ยอมรับ[45] การเจรจาในครั้งนี้มุ่งเน้นประเด็นเกี่ยวกับภูมิภาคที่ถูกสาธารณชนโรมาเนียมองว่าเป็น "แหล่งกำเนิด" ของประเทศ ทำให้การเจรจาในครั้งนี้มีความซับซ้อนมากกว่าการเจรจาในดอบรูจาอย่างยิ่ง[33] ฮังการีได้เสนอข้อเรียกร้องของตนก่อนการเจรจาจะเริ่มขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดก็ถูกปัดตกไปภายใต้แรงกดดันของเยอรมนี และการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อของทั้งสองประเทศยังมีส่วนทำให้การเจรจาทวิภาคีล่าช้าออกไปด้วย[46] รัฐบาลกีกูร์ตูกำลังเผชิญกับแรงต่อต้านจากสาธารณชนที่เพิ่มขึ้นต่อการสูญเสียทรานซิลเวเนีย ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม นักการเมืองโรมาเนียต่างพากันลงนามในจดหมายประท้วงต่อต้าน "นโยบายยอมจำนน" ของรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาทรานซิลเวเนีย[46] ชาวเยอรมันกลุ่มน้อยในภูมิภาคก็ต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนอย่างรุนแรงเช่นกัน[46] รัฐบาลเยอรมนีกังวลว่าโรมาเนียอาจตอบโต้ชนกลุ่มน้อยนี้เนื่องจากบทบาทของเยอรมนีในการแบ่งแยกภูมิภาค[47]

แม้จะมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลทั้งสองเกี่ยวกับความจำเป็นในการกำหนดพรมแดนตามเกณฑ์ชาติพันธุ์ในเดือนสิงหาคม แต่ทางฮังการีกลับเสียเปรียบเทียบเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประชากรชาวฮังการี (ตามข้อมูลของโรมาเนียใน ค.ศ. 1938 และของฮังการีใน ค.ศ. 1941) เป็นชนกลุ่มน้อยในดินแดนทรานซิลเวเนียทั้งหมด[48] ดังนั้นรัฐบาลบูดาเปสต์จึงส่งผู้แทนเพื่อแสดงเจตจำนงไม่เรียกร้องทรานซิลเวเนียใต้ แต่ต้องการเพียงดินแดนเซแกย์ (Székely) และพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างดินแดนดังกล่าวกับบูดาเปสต์เท่านั้น[40]

คณะผู้แทนโรมาเนียเสนอการแบ่งแยกดินแดนเพียงเล็กน้อยพร้อมกับการแลกเปลี่ยนประชากร[33][49] ซึ่งคณะผู้แทนฮังการีที่ประสงค์ให้คืนดินแดนทรานซิลเวเนียสองในสามนั้นยอมรับไม่ได้[43][44] ความต้องการอย่างสูงของฮังการีสร้างความประหลาดใจแก่โรมาเนียและเยอรมนี[43] หลังการประชุมผ่านไปเกือบครึ่งชั่วโมงและยังหาข้อสรุปที่ลงรอยไม่ได้ คณะผู้แทนจึงปิดการประชุม[43] วัดถัดมา ทางบูดาเปสต์ส่งข้อความถึงบูคาเรสต์ โดยเสนอการแบ่งส่วนทรานซิลเวเนียเท่า ๆ กัน ซึ่งโรมาเนียก็ยอมรับไม่ได้เช่นกัน[50]

เมื่อการเจรจายุติลงในวันที่ 19 สิงหาคม บรรดาคณะผู้แทนจึงเดินทางกลับประเทศเพื่อปรึกษากับรัฐบาลของตน[49] ทั้งสองประเทศร้องขอการไกล่เกลี่ยจากเยอรมนีอีกครั้ง[50] ซึ่งถูกปฏิเสธเช่นเคย[44] เมื่อการเจรจาดำเนินอีกครั้งในวันที่ 24 และไม่มีฝ่ายใดยินยอม คณะผู้แทนฮังการีจึงยุติการเจรจา[51][33][52][49] หลังจากนั้น โรมาเนียได้เสนอที่จะมอบดินแดนเป็น 25,000 ตารางกิโลเมตร แต่ฮังการีเรียกร้องเพิ่มขึ้นอีกเป็นสองเท่า[52] ทำให้เยอรมนีและอิตาลีเชื่อว่าฮังการีจะโจมตีโรมาเนียในอีกเร็ววัน[52]

ในขณะเดียวกัน ความตึงเครียดทางทหารเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นกับพรมแดนของโรมาเนียกับสหภาพโซเวียตและฮังการี[33] มีการรวมพลครั้งแรกของกองทัพโรมาเนียบริเวณแม่น้ำปรุต[53] ขณะที่ฮังการีรวบรวมกองทหารใกล้กับชายแดนโรมาเนีย[33] ในส่วนของกองทัพโรมาเนีย ประกอบด้วย 22 กองพันในมอลเดเวียและบูโควีนา กับอีก 8 กองพันในทรานซิลเวเนีย[33] สถานการณ์ภายในฮังการีและโรมาเนียก็ตึงเครียดมากเช่นกัน[54] แตแลกีรู้สึกหมดหวังกับสถานการณ์ในตอนนี้อย่างยิ่ง การยุติความตึงเครียดกับโรมาเนียนั้นมีความเป็นไปได้หลักเพียงสองประการ คือถ้าไม่โจมตีโรมาเนีย (ซึ่งผลลัพธ์อาจไม่เป็นที่พอใจ) ก็ทำตามแนวทางการแก้ไขปัญหาของเยอรมนี[53]

ความเป็นไปได้ในการปะทุของสงครามฮังการี-โรมาเนีย สร้างความกังวลต่อฮิตเลอร์อย่างมากในการจัดหาแหล่งน้ำมัน[55] สำหรับกองทัพเยอรมันและการรุกรานโซเวียตในอนาคต[56][57][31] เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม หลังสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้น เนื่องจากความล้มเหลวของการเจรจาทวิภาคีที่ฝ่ายเยอรมันส่งเสริม ฮิตเลอร์จึงออกคำสั่งให้หลายฝ่ายเตรียมพร้อมที่จะยึดแหล่งน้ำมันของโรมาเนียในวันที่ 1 กันยายน[31][58][53] เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ฮิตเลอร์ได้ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไรช์และอิตาลีเข้าพบรัฐมนตรีของฮังการีและโรมาเนียในกรุงเวียนนา[55] และพยายามยุติวิกฤตและหลีกเลี่ยงสงคราม[31][56] ซึ่งวัตถุประสงค์ของผู้นำเยอรมันคือเพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบและรับประกันการจัดหาทรัพยากรที่สำคัญในภูมิภาค[56] ฝ่ายอักษะได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศฮังการีและโรมาเนียเข้าร่วมการอนุญาโตตุลาการ[59][55]

การอนุญาโตตุลาการ แก้

 
กาลีซโซ ชิอาโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิตาลี ผู้สนับสนุนการแก้ไขสนธิสัญญาสันติภาพและเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกับฮังการี

ฮิตเลอร์กำหนดใช้เค้าโครงพรมแดนทรานซิลเวเนียใหม่[60][55] โดยการรวมข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันและข้อเสนอทางดินแดนที่ต้องการของฮังการี[56] ฮิตเลอร์พยายามสร้างความพึงพอใจแก่ฮังการี โดยที่ไม่กระทบผลประโยชน์และแหล่งน้ำมันในโรมาเนีย แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างความเข้าใจผิดให้กับทั้งสองประเทศ ภายหลังการปรับเปลี่ยนผลลัพธ์เพื่อให้ตรงตามผลประโยชน์ของเยอรมนี[56] ผู้แทนฝ่ายอิตาลีมีบทบาทรองในการเจรจาและการร่างเส้นพรมแดนครั้งนี้[60] ทางฮิตเลอร์ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไรช์เข้ารับทราบถึงรายละเอียดของการอนุญาโตตุลาการ[58] ทำให้ในวันที่ 29 สิงหาคม ริบเบินทร็อพและชิอาโนได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนของฝ่ายอักษะ[61][55] ซึ่งในเวลาเดียวกันนั้น กองกำลังแวร์มัคท์ก็พร้อมที่จะเข้าแทรกแซงในกรณีที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปฏิเสธการเจรจานี้[55]

 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศฮังการีกำลังลงนามในข้อตกลงของการอนุญาโตตุลาการเวียนนา

การเจรจาเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ณ พระราชวังเบลเวเดียร์ ซึ่งริบเบินทร็อพและชิอาโนสามารถบรรลุข้อตกลงระหว่างตัวแทนของฮังการีและโรมาเนียได้อย่างราบรื่น โดยใช้ความพยายามเพียงน้อยนิดเท่านั้น[31][56] ทางรัฐมนตรีต่างประเทศโรมาเนียพยายามเสนอข้อคัดค้านของเขาในที่ประชุม แต่กลับได้รับคำตอบจากฝ่ายอักษะว่าทางเลือกของโรมาเนียมีเพียงสองทาง คือการยอมรับข้อเสนอของฮิตเลอร์หรือไม่ก็เผชิญหน้าทางทหารกับฮังการี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทั้งเบอร์ลินและโรมด้วย[56] การแลกเปลี่ยนประชากรและการแก้ไขพรมแดนที่โรมาเนียต้องการนั้นถูกปฏิเสธ[62] ริบเบินทร็อพได้เสนอการรับประกันพรมแดนใหม่จากเยอรมนี[63][62] ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ไม่มีประเทศอื่นใดในภูมิภาคนี้ได้รับ[56] เพื่อให้โรมาเนียยอมรับข้อตกลงอย่างรวดเร็ว[63] โดยทางรัฐสภาโรมาเนียมีการหารือกันและตัดสินใจยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวของเยอรมนี[64][62] ถึงแม้จะไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับดินแดนที่ต้องสูญเสียและยังต้องเผชิญกับการต่อต้านของพรรคเก่าแก่ก็ตาม[65] ส่วนด้านผู้แทนฮังการีเองก็ถูกบีบบังคับให้ยอมรับคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการนี้อย่างไม่มีเงื่อนไข[63] ริบเบินทร็อพได้กล่าวคำข่มขู่ฮังการีถึงทัศนคติไม่พอใจเยอรมนี ทำให้ทางบูดาเปสต์มีการหารือกันและตอบรับยินยอมคำตัดสินในเช้าวันต่อมา[66]

เงื่อนไขของการอนุญาโตตุลาการเวียนนาถูกนำเสนอในห้องสีทองของพระราชวังเบลเวเดียร์เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 30 สิงหาคม[62][31] รัฐมนตรีต่างประเทศของโรมาเนียเป็นลม เมื่อมีการแสดงแผนที่พรมแดนใหม่[62] และต้องใช้เวลาพักหนึ่งกว่าที่เขาจะฟื้นขึ้นและมาลงนามในคำมั่นสัญญา[31][64] ฮังการีได้รับดินแดนเกือบครึ่งหนึ่งของทรานซิลเวเนีย[62] (43,492 ตารางกิโลเมตร[หมายเหตุ 1] ซึ่งคิดเป็นสองในห้าของดินแดนที่เสียไปตามสนธิสัญญาทรียานง[67]) และเป็นดินแดนทางเหนือที่มีชาวฮังการีส่วนใหญ่อาศัยกระจุกตัวอยู่ แต่ก็มีชาวโรมาเนียจำนวนมากที่กลายเป็นพลเมืองของฮังการีด้วยเช่นกัน (มีการคาดกันว่า จากประชากรทั้งหมด 2,600,000 คน[65][68] ที่กลายเป็นพลเมืองของฮังการี ประชากรราวหนึ่งล้านคนเป็นชาวโรมาเนีย[69][70][71]) อย่างไรก็ตาม ประชากรในทรานซิลเวเนียมีชาติพันธุ์ปะปนกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวฮังการีประมาณครึ่งล้านคนยังคงอยู่ในฝั่งโรมาเนีย[67][71]

สำหรับส่วนที่เหลืออยู่ของทรานซิลเวเนียยังคงมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจโรมาเนีย[70] ในขณะที่ฮังการีได้ครอบครองเทือกเขาคาร์เพเทียน ระบบคมนาคมทางรางของดินแดนใหม่ฮังการียังคงผ่านทรานซิลเวเนียใต้[71] ชนกลุ่มน้อยเยอรมันยังคงอาศัยอยู่ในโรมาเนีย[70] โรมาเนียได้รับการรับประกันจากเยอรมนีและอิตาลีสำหรับดินแดนส่วนที่เหลือ[65] (ยกเว้นแต่ดอบรูจา)[72][62][69]

ประชากรในทรานซิลเวเนียที่ยกให้ฮังการี[67]
ชาติพันธุ์ สำมะโนประชากรของโรมาเนีย ค.ศ. 1930 สำมะโนประชากรของฮังการี ค.ศ. 1941
ชาวฮังการี 911,550 1,347,012
ชาวโรมาเนีย 1,176,433 1,066,353
อื่น ๆ 307,164 163,926
ประชากรในทรานซิลเวเนียที่ยังคงอยู่กับโรมาเนีย[73]
ชาติพันธุ์ สำมะโนประชากรของโรมาเนีย ค.ศ. 1941 สำมะโนประชากรของฮังการี ค.ศ. 1910
ชาวฮังการี 363,206 533,004
ชาวโรมาเนีย 2,2274,561 1,895,505
อื่น ๆ 695,131 618,634

จากการประมาณการของฮังการี ได้ระบุจำนวนประชากรชาวโรมาเนียในดินแดนใหม่ขัดแย้งกับข้อมูลของทางการโรมาเนียใน ค.ศ. 1930 และ 1940 แต่ข้อมูลของทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก[68][หมายเหตุ 2]

การปฏิบัติตามคำชี้ขาดในกระบวนการอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่สองถูกกำหนดไว้เป็นเวลาสิบสี่วัน เพื่อดำเนินการแบ่งภูมิภาค สร้างความเท่าเทียมกันของชนกลุ่มน้อย และการแทรกแซงอำนาจของฝ่ายอักษะในการระงับข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นจากการยื่นคำคัดค้าน[74]

ผลที่ตามมา แก้

 
กษัตริย์คาโรลที่ 2 แห่งโรมาเนีย จำต้องสละราชสมบัติเมื่อเผชิญกับคำตัดสินของการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเน้นยำถึงความล้มเหลวของนโยบายความเป็นกลางต่อมหาอํานาจ

สหภาพโซเวียตเป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่ยอมรับการอนุญาโตตุลาการนี้ เนื่องจากถูกกีดกันการมีส่วนร่วม ซึ่งนี่เป็นรอยร้าวแรกที่ปรากฏขึ้นระหว่างความสัมพันธ์ของเยอรมนีและโซเวียต โดยกินเวลาตลอดฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1940[72][74] รัฐบาลมอสโกแสดงท่าทีต่อต้านการอนุญาโตตุลาการ สัญญาการรับประกันดินแดน[75] และการส่งทหารมายังโรมาเนีย ซึ่งทางโซเวียตมองว่าเป็นการละเมิดข้อบัญญัติของสนธิสัญญาที่ให้ไว้[76][72]

ในฮังการีที่ขณะนี้ลัทธิปฏิรูปนิยมเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการสร้างความนิยมอย่างมากต่อระบอบผู้สำเร็จราชการของมิกโลช โฮร์ตี ทำให้การเติบโตของลัทธิฟาสซิสต์ที่นำโดยแฟแร็นตส์ ซาลอชี เป็นไปได้ยากจนกระทั่งช่วงปลายสงครามโลก เนื่องจากการยึดครองประเทศของกองทัพเยอรมัน อย่างไรก็ตาม ฮังการียังคงต้องตอบแทนเยอรมนีสำหรับการช่วยฟื้นฟูทรานซิลเวเนีย: โดยการปล่อยตัวผู้นำฟาสซิสต์ซาลอชีให้เป็นอิสระ[77] มีการร่างกฎหมายใหม่เพื่อต่อต้านชาวยิว[78] การมอบอภิสิทธิ์ให้กับชนกลุ่มน้อยเยอรมัน (ภายใต้การควบคุมของนาซี)[79][78] เพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ[80][78] และอนุญาตให้ย้ายกองทหารประจำการเยอรมันไปยังโรมาเนีย เพื่อป้องกันแหล่งน้ำมันตามคำร้องขอของรัฐบาลโรมาเนีย[81] ฮังการีลงนามในกติกาสัญญาไตรภาคีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน[81][82] หลังเดินทางกลับจากเวียนนา แตแลกีได้ประกาศลาออก โดยให้เหตุผลว่าเขาไม่พอใจกับความดื้อดึงและการแทรกแซงกิจการของรัฐโดยกองทัพ[หมายเหตุ 3] และจากการที่ฮังการีต้องพึ่งพาเยอรมนีมากขึ้นเรื่อย ๆ[80] ทำให้ในทางปฏิบัติแล้ว ฮังการีแปรเปลี่ยนสภาพเป็นเสมือนรัฐกึ่งอารักขาของเยอรมนี[82][84] โดยตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลบูดาเปสต์พบว่าตนกำลังแข่งขันกับบูคาเรสต์เพื่อความโปรดปรานของเยอรมนี ที่อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงพรมแดนทรานซิลเวเนียในภายหลังได้[71]

ในโรมาเนีย การสูญเสียดินแดนจำนวนมากนำไปสู่การสละราชสมบัติของกษัตริย์คาโรลที่ 2 เมื่อวันที่ 6 กันยายน[65][74][71] พร้อมทั้งเจ้าชายมีไฮได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์สืบต่อมา และการขึ้นสู่อำนาจของนายพลอียอน อันตอเนสกู[79][31][69] ความเป็นปรปักษ์ของพรรคเก่าแก่กับกองกำลังผู้พิทักษ์เหล็กต่อการปกครองแบบเผด็จการของราชวงศ์ และการสูญเสียดินแดนที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พระมหากษัตริย์จำต้องพยายามพึ่งพานายพลอันตอเนสกู ถึงแม้ว่าเขาจะไม่เป็นมิตรและดูหมิ่นระบอบกษัตริย์ก็ตาม[85] เนื่องจากนายพลอันตอเนสกูมีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคเก่าแก่และกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กอยู่เดิมแล้ว และด้วยการสนับสนุนของเยอรมนี[86] ทำให้เขาสามารถบีบบังคับให้กษัตริย์คาโรลสละราชสมบัติได้[87] จากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในทวีปยุโรป ทั้งความพ่ายแพ้ทางทหารของฝรั่งเศส การขับไล่สหราชอาณาจักร และความเป็นปรปักษ์กับสหภาพโซเวียต ทำให้อันตอเนสกูเชื่อมั่นในชัยชนะของเยอรมนีและความจำเป็นในการตกลงกับฮิตเลอร์เพื่อรับประกันอนาคตของโรมาเนีย[71] ผู้นำเยอรมนีต้องการให้อันตอเนสกูเป็นผู้นำโรมาเนียเพื่อเป็นหลักประกันถึงความมั่นคงของโรมาเนีย ซึ่งจำเป็นสำหรับยุทธศาสตร์สงครามของรัฐบาลนาซี[86] ประเทศโรมาเนียกลายเป็นรัฐเผด็จการทหารเมื่อวันที่ 5 กันยายน ด้วยการยินยอมของกษัตริย์คาโรล[88] พระองค์ได้สละราชสมบัติในวันที่ 6[89] และเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศในวันรุ่งขึ้น[90]

การที่โรมาเนียยินยอมคำตัดสินนั้นไม่เพียงแค่ได้รับการประกันพรมแดนจากเยอรมนีเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้นโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจของโรมาเนียตกอยู่ภายใต้การครอบงำต่อความประสงค์ด้านสงครามของเยอรมนี[80][65] ประเทศสูญเสียดินแดนประมาณหนึ่งในสาม (99,790 ตารางกิโลเมตร) และประชากรอีกจำนวนมาก (6,161,317 คน)[65]

ทางด้านเยอรมนีที่ขณะนี้กำลังจัดหาแหล่งน้ำมันในปลอเยชต์ ได้เริ่มปฏิบัติการทางทหาร[91][72] เพื่อปกป้องและควบคุมแหล่งน้ำมันในวันที่ 8 ตุลาคม[76][92] ฮิตเลอร์ออกคำสั่งตระเตรียมแนวรบด้านใต้สำหรับการโจมตีสหภาพโซเวียตในอนาคต[72] พร้อมทั้งควบคุมแม่น้ำดานูบและการจัดหาทรัพยากรในคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งทำให้เยอรมนีเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากวิกฤตนี้[75][71]

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศยังคงไม่พอใจต่อผลลัพธ์ของการอนุญาโตตุลาการ[79][71] ทำให้ข้อพิพาททรานซิลเวเนียดำเนินต่อไปตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[93][74] การที่อันตอเนสกูเดินทางเยือนฮิตเลอร์เพื่อต้องการเข้าร่วมฝ่ายอักษะในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1941 เป็นการสื่อถึงความตั้งใจของเขาที่จะพยายามแก้ไขคำตัดสิน[92] ทั้งสองประเทศพยายามอย่างไร้ผลที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเบอร์ลินในการแก้ไขสนธิสัญญาเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา[93] ในส่วนของฮิตเลอร์เองก็ใช้การแข่งขันของทั้งสองประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของเยอรมนีเช่นกัน[93][77] ใน ค.ศ. 1943 มีการเจรจาทวิภาคีอีกครั้งเพื่อยุติปัญหาพิพาททางดินแดน แต่ก็ล้มเหลวเช่นเคย[94]

ผลลัพธ์ของอนุญาโตตุลาการยังก่อให้เกิดปัญหาทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยด้วย[71] โดยรัฐบาลทั้งสองประเทศกำหนดมาตรการเลือกปฏิบัติทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจต่อชนกลุ่มน้อย[93] ในส่วนของรัฐบาลฮังการีซึ่งกำลังให้ความสำคัญกับดินแดนใหม่นั้น ได้ออกมาตรการที่ล่วงเกินต่อประเพณีท้องถิ่นและมีการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรมาเนียและชาวยิว[82] ซึ่งสำหรับโรมาเนียเองก็มีการบังคับใช้มาตรการกดขี่ชาวฮังการีในภูมิภาคเช่นกัน[82] นำไปสู่การลี้ภัยของผู้คนจำนวนมาก และทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคหยุดชะงักชั่วขณะ[82]

การสงบศึกของโรมาเนียเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1944 เป็นเหตุให้ความตกลงในการอนุญาโตตุลาการเวียนนาเป็นโมฆะและฮังการีถูกบังคับให้ส่งคืนทรานซิลเวเนียเหนือแก่โรมาเนีย แม้ว่าการตัดสินขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับดินแดนจะถูกเลื่อนออกไปจนกว่าจะมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพก็ตาม[95]

หมายเหตุ แก้

  1. Hitchins ระบุตัวเลขที่แตกต่างกันเล็กน้อยคือ 42,243 ตารางกิโลเมตร[65] ส่วน Vágo ระบุว่าเป็น 43,046 ตารางกิโลเมตร[64]
  2. การประมาณการของโรมาเนียใน ค.ศ. 1940 มีความแตกต่างจากของฮังการีอยู่ร้อยละ 2-3: โดย 50.3 % เป็นชาวโรมาเนีย, 37.1 % เป็นชาวฮังการี, 2.8 % เป็นชาวเยอรมัน, และ 5.8 % เป็นชาวยิว[68]
  3. กองบัญชาการทหารสูงสุดได้แจ้งให้ฝ่ายเยอรมนีทราบถึงความปรารถนาของฮังการีโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งแตแลกีต้องการที่จะเจรจาเฉพาะกับโรมาเนียเท่านั้น เพื่อไม่ให้ประเทศติดพันกับไรช์เยอรมันมากเกินไป[83]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 Vágo 1969, p. 415.
  2. 2.0 2.1 Vágo 1969, p. 416.
  3. 3.0 3.1 3.2 Vágo 1969, p. 417.
  4. 4.0 4.1 Vágo 1969, p. 418.
  5. 5.0 5.1 Vágo 1969, p. 419.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Vágo 1969, p. 420.
  7. 7.0 7.1 Vágo 1969, p. 421.
  8. 8.0 8.1 8.2 Vágo 1969, p. 422.
  9. 9.0 9.1 9.2 Vágo 1969, p. 423.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Vágo 1969, p. 424.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 Vágo 1969, p. 425.
  12. Dreisziger 1968, p. 124.
  13. Dreisziger 1968, p. 125.
  14. 14.0 14.1 Dreisziger 1968, p. 126.
  15. 15.0 15.1 Vágo 1969, p. 426.
  16. 16.0 16.1 Vágo 1969, p. 427.
  17. Vágo 1969, p. 429.
  18. Vágo 1969, p. 428.
  19. 19.0 19.1 Vágo 1969, p. 430.
  20. 20.0 20.1 Shirer 1990, p. 793.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 21.5 Shirer 1990, p. 794.
  22. 22.0 22.1 Nekrich, Ulam & Freeze 1997, p. 180.
  23. 23.0 23.1 23.2 Dreisziger 1968, p. 127.
  24. 24.0 24.1 Nekrich, Ulam & Freeze 1997, p. 181.
  25. 25.0 25.1 25.2 25.3 25.4 Shirer 1990, p. 795.
  26. 26.0 26.1 26.2 26.3 26.4 26.5 Hitchins 1994, p. 446.
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 27.5 27.6 Dreisziger 1968, p. 128.
  28. 28.0 28.1 28.2 28.3 Vágo 1969, p. 432.
  29. 29.0 29.1 29.2 Vágo 1969, p. 431.
  30. 30.00 30.01 30.02 30.03 30.04 30.05 30.06 30.07 30.08 30.09 30.10 Hitchins 1994, p. 447.
  31. 31.0 31.1 31.2 31.3 31.4 31.5 31.6 31.7 31.8 Shirer 1990, p. 800.
  32. 32.0 32.1 32.2 32.3 Vágo 1969, p. 435.
  33. 33.00 33.01 33.02 33.03 33.04 33.05 33.06 33.07 33.08 33.09 Hitchins 1994, p. 448.
  34. 34.0 34.1 Vágo 1969, p. 434.
  35. 35.0 35.1 35.2 Vágo 1971, p. 47.
  36. 36.0 36.1 36.2 Dreisziger 1968, p. 129.
  37. Vágo 1969, p. 436.
  38. Vágo 1969, p. 437.
  39. 39.0 39.1 Dreisziger 1968, p. 130.
  40. 40.0 40.1 40.2 Dreisziger 1968, p. 131.
  41. 41.0 41.1 41.2 Vágo 1971, p. 49.
  42. 42.0 42.1 42.2 42.3 Vágo 1971, p. 50.
  43. 43.0 43.1 43.2 43.3 Vágo 1971, p. 56.
  44. 44.0 44.1 44.2 Haynes 2000, p. 151.
  45. Haynes 2000, p. 148.
  46. 46.0 46.1 46.2 Vágo 1971, p. 53.
  47. Vágo 1971, p. 54.
  48. Vágo 1971, p. 55.
  49. 49.0 49.1 49.2 Dreisziger 1968, p. 132.
  50. 50.0 50.1 Vágo 1971, p. 57.
  51. Haynes 2000, p. 152.
  52. 52.0 52.1 52.2 Vágo 1971, p. 58.
  53. 53.0 53.1 53.2 Dreisziger 1968, p. 133.
  54. Vágo 1971, p. 59.
  55. 55.0 55.1 55.2 55.3 55.4 55.5 Dreisziger 1968, p. 134.
  56. 56.0 56.1 56.2 56.3 56.4 56.5 56.6 56.7 Hitchins 1994, p. 449.
  57. Vágo 1971, p. 51.
  58. 58.0 58.1 Vágo 1971, p. 62.
  59. Vágo 1971, p. 60.
  60. 60.0 60.1 Vágo 1971, p. 61.
  61. Vágo 1971, p. 63.
  62. 62.0 62.1 62.2 62.3 62.4 62.5 62.6 Dreisziger 1968, p. 136.
  63. 63.0 63.1 63.2 Vágo 1971, p. 64.
  64. 64.0 64.1 64.2 Vágo 1971, p. 65.
  65. 65.0 65.1 65.2 65.3 65.4 65.5 65.6 Hitchins 1994, p. 450.
  66. Dreisziger 1968, p. 135.
  67. 67.0 67.1 67.2 Rothschild 1990, p. 183.
  68. 68.0 68.1 68.2 Vágo 1971, p. 66.
  69. 69.0 69.1 69.2 Nekrich, Ulam & Freeze 1997, p. 186.
  70. 70.0 70.1 70.2 Vágo 1971, p. 67.
  71. 71.0 71.1 71.2 71.3 71.4 71.5 71.6 71.7 71.8 Dreisziger 1968, p. 138.
  72. 72.0 72.1 72.2 72.3 72.4 Shirer 1990, p. 801.
  73. Rothschild 1990, p. 184.
  74. 74.0 74.1 74.2 74.3 Vágo 1971, p. 68.
  75. 75.0 75.1 Vágo 1971, p. 73.
  76. 76.0 76.1 Presseisen 1960, p. 361.
  77. 77.0 77.1 Dreisziger 1968, p. 139.
  78. 78.0 78.1 78.2 Dreisziger 1968, p. 140.
  79. 79.0 79.1 79.2 Presseisen 1960, p. 360.
  80. 80.0 80.1 80.2 Vágo 1971, p. 71.
  81. 81.0 81.1 Dreisziger 1968, p. 141.
  82. 82.0 82.1 82.2 82.3 82.4 Vágo 1971, p. 72.
  83. Dreisziger 1968, p. 137.
  84. Dreisziger 1968, p. 144.
  85. Hitchins 1994, p. 451.
  86. 86.0 86.1 Hitchins 1994, p. 453.
  87. Hitchins 1994, p. 452.
  88. Hitchins 1994, p. 454.
  89. Vágo 1971, p. 70.
  90. Hitchins 1994, p. 455.
  91. Hitchins 1994, p. 458.
  92. 92.0 92.1 Hitchins 1994, p. 459.
  93. 93.0 93.1 93.2 93.3 Hitchins 1994, p. 486.
  94. Hitchins 1994, p. 487.
  95. Hitchins 1994, p. 503.

บรรณานุกรม แก้

  • Dreisziger, Nándor F. (1968). Hungary's way to World War II (ภาษาอังกฤษ). Hungarian Helicon Society. p. 239. OCLC 601083308.
  • Haynes, Rebecca (2000). Romanian policy towards Germany, 1936-40 (ภาษาอังกฤษ). Palgrave Macmillan. ISBN 9780312232603.
  • Hitchins, Keith (1994). Rumania 1866-1947 (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. p. 579. ISBN 9780198221265.
  • Nekrich, Aleksandr Moiseevich; Ulam, Adam Bruno; Freeze, Gregory L. (1997). Pariahs, Partners, Predators: German-Soviet Relations, 1922-1941 (ภาษาอังกฤษ). Columbia University Press. ISBN 0231106769.
  • Presseisen, Ernst L. (1960). "Prelude to "Barbarossa": Germany and the Balkans, 1940–1941". The Journal of Modern History (ภาษาอังกฤษ). 32 (4): 359-370.
  • Rothschild, Joseph (1990). East Central Europe Between the Two World Wars (ภาษาอังกฤษ). University of Washington Press. ISBN 9780295953571.
  • Shirer, William L. (1990). The Rise and Fall of the Third Reich : A History of Nazi Germany (ภาษาอังกฤษ). 1st Touchstone. ISBN 9780671728687.
  • Vágo, Béla (1969). "Le Second Diktat de Vienne: Les Préliminaires". East European Quarterly (ภาษาฝรั่งเศส). 2 (4): 415--37.
  • Vágo, Béla (1971). "Le Second Diktat de Vienne: Le Partage de la Transylvanie". East European Quarterly (ภาษาฝรั่งเศส). 5 (1): 47-73.