รัฐธรรมนูญสิบเจ็ดมาตรา

รัฐธรรมนูญสิบเจ็ดมาตรา (ญี่ปุ่น: 十七条憲法โรมาจิjūshichijō kenpō; อังกฤษ: seventeen-article constitution) เป็นงานที่เจ้าชายโชโตะกุ (Shōtoku) นิพนธ์ขึ้นเมื่อปี 604 ตามความในพงศาวดารญี่ปุ่นซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 720[1] ต่อมา พระนางซุอิโกะ (Suiko) ทรงตรานิพนธ์นั้นเป็นกฎหมายซึ่งภายหลังนิยมเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญ และถือกันว่า เป็นหนึ่งในเอกสารซึ่งบังคับบัญชาเรื่องศีลธรรมฉบับเริ่มแรกที่สุดในประวัติศาสตร์

รัฐธรรมนูญมีเนื้อความหลักดังนี้

  • เชิดชูสามัคคี ต่อต้านโลกียวิสัย
  • ศรัทธาพระศรีรัตนตรัย
  • ปฏิบัติตามพระราชโองการให้จงดี
  • ข้าราชการต้องรักษาสัทธรรม เพราะสัทธรรมจะเป็นเครื่องรักษาวินัย
  • ส่งเสริมคุณธรรม กำจัดอธรรม
  • ไม่ก้าวก่ายกิจส่วนตัว ใส่ใจกิจสาธารณะ
  • ให้ทุกคนมีเสรีที่จะเลือกสรรภาระของตน แต่ต้องไม่กระทบกระเทือนหน้าที่
  • ทุกบุคคลไม่พึงตัดสินใจเรื่องสำคัญด้วยตนเอง

งานนี้จะเป็นรัฐธรรมนูญมากน้อยเพียงไรยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากเนื้อหาส่วนใหญ่ไม่ได้ว่าด้วยวิธีปกครองประเทศดังรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ แต่ว่าด้วยปรัชญาพุทธและขงจื่อที่ข้าราชการและพสกนิกรพึงมีเพื่อให้กิจการของรัฐเป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยมีพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด[2] และแม้ว่างานนี้จะนำเสนอหลักการปกครองทำนองเดียวกับที่ปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญสมัยใหม่หลายฉบับ เช่น รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา แต่ก็ขาดไร้องค์ประกอบอื่นที่พึงมี ดังที่วิลเลียม ทีโอดอร์ ดี แบรี (William Theodore de Bary) ว่า "'รัฐธรรมนูญ' ของเจ้าชายโชโตะกุนั้นเน้นหลักพื้นฐานทางศีลธรรมและจรรยามากกว่าจะประมวลรายละเอียดกฎหมายและวิธีการบังคับใช้กฎหมายเอาไว้"[3]

รัฐธรรมนูญสิบเจ็ดมาตรานี้เป็นกฎหมายอยู่จนมีการตราประมวลกฎหมายอาญาและปกครอง (Ritsuryō) ขึ้นเมื่อปลายศตวรรษที่ 17 แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่า เนื้อความของรัฐธรรมนูญสิบเจ็ดมาตราที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายดังกล่าวและกฎหมายอื่น ๆ ในชั้นหลัง ย่อมมีผลใช้บังคับจนถึงปี 1890 และอาจมีผลอยู่ในปัจจุบันด้วย[4][5]

อ้างอิง แก้

  1. W.G. Aston, trans., Nihongi: Chronicles of Japan from the Earliest Times to A.D. 697, 2 vols. in 1 (London: Keagan and Co., 1896), vol. 2, pp. 128–133.
  2. William Theodore de Bary, ed. Sources of Japanese Tradition, Volume One: From Earliest Times to 1600 Columbia University Press; 2nd edition (2002), vol. 1, pp. 54-55.
  3. William Theodore de Bary. “The Constitutional Tradition in China,” Journal of Chinese Law. Vol. 9, No. 7 (1995), p. 14.
  4. Prince Shotoku on Simply Japan
  5. "The 17 Article Constitution on Duhaime.org". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-18. สืบค้นเมื่อ 2014-01-27.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้