ระบบเบรตตันวูดส์

ระบบการจัดการการเงินเบรตตันวูดส์ (อังกฤษ: Bretton Woods system) สถาปนากฎสำหรับความสัมพันธ์พาณิชย์และการเงินระหว่างรัฐอุตสาหกรรมหลักของโลกช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ระบบเบรตตันวูดส์เป็นตัวอย่างแรกของระเบียบการเงินที่มีการเจรจาอย่างสมบูรณ์โดยเจตนาเพื่อปกครองความสัมพันธ์การเงินระหว่างรัฐชาติเอกราช ลักษณะสำคัญของระบบเบรตตันวูดส์ คือ ทุกประเทศมีพันธกรณีใช้นโยบายการเงินซึ่งธำรงอัตราแลกเปลี่ยนโดยผูกเงินตราของประเทศกับทองคำและความสามารถของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมการเสียดุลการชำระเงินชั่วคราว นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นต้องจัดการการขาดความร่วมมือระหว่างประเทศอื่นและเพื่อป้องกันการลดค่าเงินตราแข่งขันด้วย

ในการเตรียมบูรณะระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศระหว่างที่สงครามโลกครั้งที่สองกำลังดำเนินอยู่ ผู้แทน 730 คนจากทั้ง 44 ชาติฝ่ายสัมพันธมิตรประชุมกันที่โรงแรมเมาต์วอชิงตันในเบรตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา เพื่อการประชุมการเงินการคลังสหประชชาติ หรือเรียก การประชุมเบรตตันวูดส์ ผู้แทนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวันที่ 1–22 กรกฎาคม 2487 และลงนามความตกลงในวันสุดท้าย ซึ่งเป็นการจัดตั้งระบบกฎ สถาบันและวิธีดำเนินงานเพื่อจัดระเบียบระบบการเงินระหว่างประเทศ ผู้วางแผนที่เบรตตันวูดส์สถาปนากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (IBRD) ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธนาคารโลก องค์การเหล่านี้เริ่มปฏิบัติงานในปี 2488 หลังประเทศต่าง ๆ ให้สัตยาบันความตกลงมากแล้ว

วันที่ 15 สิงหาคม 2514 สหรัฐยุติการแปลงดอลลาร์สหรัฐเป็นทองคำฝ่ายเดียว นำให้ระบบเบรตตันวูดส์ถึงคราวสิ้นสุดและดอลลาร์กลายเป็นเงินเฟียต (fiat currency) การกระทำดังกล่าว ซึ่งเรียก นิกสันช็อก สร้างสถานการณ์ซึ่งดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นเงินตราสำรองที่หลายรัฐใช้ ขณะเดียวกัน เงินตราอัตราแลกเปลี่ยนคงที่หลายสกุล (เช่น ปอนด์สเตอร์ลิง) กลายเป็นเงินอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวเสรีเช่นกัน