ระบบการเงินในระดับจุลภาค

ระบบการเงิน

ระบบการเงินในระดับจุลภาค หรือ ไมโครไฟแนนซ์ (Micro-Finance) หมายถึง ระบบการเงินที่เน้นการปล่อยสินเชื่อจำนวนเล็กๆ (micro credit) ให้แก่คนที่ไม่มีงานทำ และคนยากจนผู้ซึ่งไม่มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในรูปแบบปกติผ่านทางสถาบันทางการเงินรายย่อยๆ ที่อาจจัดทำขึ้นเองโดยความร่วมมือของชุมชน (สถาบันไมโครไฟแนนซ์) เพื่อให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจนในชุมชนนั้นมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยในราคาตลาดหรือต่ำกว่า และไม่มีการเรียกร้องหลักทรัพย์ใดๆ เป็นการค้ำประกันในการกู้ยืม ระบบการเงินในระดับจุลภาคถือกำเนิดและออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่โดยสภาวะปกติไม่สามารถเข้าถึงระบบการกู้เงินจากสถาบันทางการเงินขนาดใหญ่ที่มีกฎเกณฑ์ กติกา ตามระบบทุนนิยมเสรี เพราะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ ที่สถาบันการเงินเหล่านั้นได้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นมาตรการป้องกันตนเองจากการขาดทุน (ขาดทุนกำไร) (Yunus, 2007: 49)[1]

อรรถาธิบาย แก้

แนวคิดเรื่องระบบการเงิน สินเชื่อ ตลอดจนสถาบันทางการเงินในระดับจุลภาคนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกโดยนายโมฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus or মুহাম্মদ ইউনুস) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจิตตะกอง (University of Chittagong) โดยในระหว่างชีวิตการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยนี่เองที่ทำให้ยูนุสได้มีโอกาสเข้าไปลงพื้นที่ศึกษาประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความยากจนในชุมชนเล็กๆ แออัดแห่งหนึ่ง ใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยในช่วงเวลาที่เกิดสภาวะข้าวยากหมากแพงของบังกลาเทศในปี ค.ศ. 1974 (Bangladesh famine of 1974) ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนั้นได้ทำให้ยูนุสพบว่า การได้รับสินเชื่อแม้เพียงก้อนเล็กๆ สำหรับคนยากคนจนนั้นสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ชีวิตของพวกเขาได้อย่างมากมาย โดยยูนุสได้ควักเงินในกระเป๋าตัวเองมอบให้เป็นสินเชื่อให้จำนวนรวมกันทั้งสิ้น 27 เหรียญ (ประมาณหนึ่งพันบาท) ให้แก่ผู้หญิงในชุมชนนั้นจำนวน 42 คน ซึ่งภายหลังพบว่าการได้รับสินเชื่อในครั้งนั้นได้ทำให้รายได้ของคนเหล่านั้นเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยคนละกว่า 0.02 เหรียญจากการได้รับเงินสินเชื่อในครั้งนั้น (Yunus, 2007: 44-48)[2] ซึ่งจากผลการสังเกตดังกล่าวของยูนุสได้ทำให้เขาฉุกคิดได้ว่า หากมีธนาคารที่ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อก้อนเล็กๆให้แก่คนยากคนจนที่ไม่มีโอกาสได้รับสินเชื่อในสถาบันทางการเงินปกติแล้วนั้น นอกจากจะทำให้พวกเขามีชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว ในระดับมหภาคยังสามารถช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบังกลาเทศได้อีกด้วย

จากแนวคิดดังกล่าวนี้ ทำให้เขาได้ริเริ่มก่อตั้งธนาคารเพื่อคนยากคนจน ซึ่งภายหลังได้รับชื่อว่า ธนาคารกรามีน (Grameen bank หรือ গ্রামীণ বাংক) ที่เน้นปล่อยสินเชื่อขนาดเล็กให้แก่คนยากคนจนตามแนวคิดของยูนุส โดยแนวคิดและหลักการดำเนินงานของธนาคารกรามีน ทำให้ยูนุส และแนวคิดของเขามีชื่อเสียงไปทั่วโลก ในปี ค.ศ. 2006 ยูนุส และธนาคารกรามีนในฐานะ “นายธนาคาร และธนาคารขวัญใจคนยากคนจน” ได้รับรางวัลโนเบลในฐานะที่ได้พยายามสร้างเสริมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมจากเบื้องล่าง[3]

นโยบายการเงินรายย่อย และ การพัฒนา แก้

การเงินรายย่อยมักจะถูกกล่าวถึงในแง่ของการลดความยากจน และ ความเท่าเทียมกันของสตรี โดยหลักการแล้ว โปรแกรมการเงินรายย่อย หรือ สถาบันการเงินรายย่อย กำหนดเป้าหมายไปยังส่วนหนึ่งของประชาชนที่คล่องแคล่วทางเศรษฐกิจ บ่อยครั้ง (แต่ไม่เสมอไป) คนเหล่านี้ ได้แก่ ผู้หญิง และบุคคลที่คล่องแคล่วทางเศรษฐกิจที่ต้องการปรับปรุงอาชีพของเขาให้ดีขึ้น แล้วก็ ยกระดับมาตรฐานการครองชีพของตนด้วยการเข้าถึงบริการทางการเงิน[4] ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากการเข้าถึงไมโครเครดิตเป็นไปอย่างกว้างขวาง ผู้กู้ยืมเงินมักจะกู้ยืมเงินจากบริษัทต่างๆ หลายแห่ง ทั้งนี้ ทำให้การชำระหนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย[5] ในขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ย และ ค่าคอมมิชชั่นทั่วโลกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 37% และ ในบางตลาดมีอัตราสูงถึง 70%[6] อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยธนาคาร 6%-15%[7] สำหรับสินเชื่อประเภทเดียวกัน อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในสัญญาณของการให้กู้ยืมแบบผูกมัด คล้ายกับสถานการณ์ขณะที่อัตราเริ่มต้นสามารถกระโดดได้สองเท่า หรือ มากกว่าอัตราปกติ โดยหลักการแล้ว แนวทางที่น่าสงสัยก็ถูกกาลเทศะ งานวิจัยที่ล้าสมัย หรือ เชิงปริมาณล้วน ๆ จำนวนมาก มีพื้นฐานมาจากมุมมองที่โดดเดี่ยวต่อการริเริ่มทางการเงินรายย่อย และ เมินเฉยการแข่งขันจากผู้ให้กู้ยืมนอกระบบ[8] ความคิดริเริ่มทางการเงินรายย่อยนั้น อาจมีผลกระทบที่คาดไม่ถึงได้โดยสิ้นเชิงได้ด้วย โดยมีการจัดการที่ไม่ดี พวกเขาเสนอโอกาสให้คนกล้าได้กล้าเสีย กลายเป็น "คนกลาง" โดยการถ่ายโอนไมโครเครดิรูปแบบซึ่งได้รับจากสินเชื่อที่ได้รับการตรวจสอบแล้วไปยังผู้กู้ยืมที่ยากจนกว่า จากการเป็นคนกลางนอกระบอบดังกล่าวนี้ ผู้ประกอบการรายย่อยที่ยากจนมากที่สุดท่ามกลางคนยากจน จะได้ประโยชน์น้อยกว่าคนที่ยากจนน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบได้ด้วย[9]

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย แก้

สำหรับในประเทศไทย แนวคิดเรื่องไมโครไฟแนนซ์ที่มีต้นแบบมาจากธนาคารกรามีนของยูนุสนั้นได้เข้ามามีอิทธิพลในเชิงนโยบายสาธารณะที่ภาครัฐให้การสนับสนุนและช่วยเหลือมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการจัดให้มีหน่วยงานอย่างธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) และโครงการเงินล้าน (หรือกองทุนเงินล้าน) เพื่อเป็นตัวช่วยให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนั้นมีรายได้ หรือ แหล่งเงินทุนที่เพียงพอในการประกอบอาชีพ และนำไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการกองทุนเงินล้าน ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากนโยบายกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาลที่จะจัดสรรเงินให้แก่หมู่บ้านต่างๆทั่วประเทศไทย หมู่บ้านละหนึ่งล้านบาท ซึ่งเงินในจำนวนนี้ในมุมหนึ่งแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่าเป็นการทำให้ชาวบ้านมีหนี้สินเพิ่ม และนำเงินที่ได้มาจับจ่ายใช้สอยฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น แต่หากพิจารณาให้ดีแล้ว กลับพบว่าเงินในส่วนนี้นอกจากจะสามารถแบ่งเบาภาระในส่วนของต้นทุนในการประกอบอาชีพของเกษตรกรได้แล้ว ยังสามารถช่วยให้พวกเขาไม่ต้องหันไปกู้ยืมจากผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบได้อีกด้วย แต่ทว่าการที่สถาบันทางการเงินระดับจุลภาคเหล่านี้ขึ้นตรงต่อหน่วยงานของรัฐ เป็นการเปิดโอกาสให้มีการทุจริต และเอื้อผลประโยชน์ให้ผู้เกี่ยวข้องได้ง่าย ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้สถาบันระดับจุลภาคของไทยแตกต่างจากธนาคารกรามีนของยูนุสที่ดำเนินงานแบบเอกชน ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ และปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของธนาคารแทน

“ไมโครไฟแนนซ์ในประเทศไทย” มีการจัดทำเว็บไซต์ www.microfinancethailand.com เพื่อประชาสัมพันธ์ไมโครเครดิตให้เป็นที่รู้จัก โดยความหวังของผู้จัดทำเว็บไซต์ดังกล่าวก็เพื่อก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์ของผู้ดำเนินการไมโครเครดิต หรือไมโครไฟแนนซ์ต่างๆ (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานและองค์กรภาครัฐ) เพื่อพัฒนาโครงการ และการบริการลูกค้า องค์กรเอ็นจีโอ (NGOs) บางองค์กรที่เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนแนวคิดเรื่องไมโครไฟแนนซ์ เช่น คอมเพชชั่น ไทยแลนด์ หรือ มูลนิธิศุภนิมิต เป็นต้น[10]

โดยพื้นฐานแล้วธนาคารกรามีนทำงานอยู่บนหลักการที่ว่าระบบการเงิน หรือ ธุรกิจนั้นควรจะรับใช้สังคม ดังนั้น การให้สินเชื่อแก่คนยากคนจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงได้ในระบบการเงินปกติจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยในการนี้การปล่อยสินเชื่อก้อนเล็กๆให้แก่บุคคล ยืนอยู่บนหลักการสำคัญสองประการ ประการแรกคือ อัตราดอกเบี้ยที่เก็บจากการขอสินเชื่อนั้นจะต้องเป็นไปตามราคาตลาด นั่นก็คืออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และประการที่สองคือ การขอสินเชื่อนั้นจะต้องไม่มีการกีดกันด้วยการเรียกร้องให้มีการยื่นหลักทรัพย์เพื่อค้ำประกัน ซึ่งจะช่วยทำให้คนในระดับล่างสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เงินจำนวนดังกล่าวนี้พวกเขาสามารถนำไปใช้ในการลงทุน หรือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาต่อไป โดยจุดเด่นของแนวคิดนี้คือการละทิ้งสิ่งที่เรียกว่า “เครดิต” อันหมายถึงหลักทรัพย์ค้ำประกัน มาแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า ไมโครเครดิต (Microcredit) หรือสิ่งค้ำประกันอย่างอื่น เช่น คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรี และความไว้เนื้อเชื่อใจแทนที่หลักทรัพย์ในแบบเดิมนั่นเอง (แฟ้มบุคคลสำคัญมุสลิม)[11]

นอกเหนือไปจากการรับใช้สังคมทางด้านเศรษฐกิจและการเงินแล้ว ธนาคารกรามีน ยังส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมควบคู่ไปพร้อมๆ กับศักยภาพทางเศรษฐกิจอีกด้วย ดังสะท้อนจากหลักสิบหกประการ (sixteen decisions) ที่ธนาคารกรามีนร้องขอให้ผู้ที่มาขอกู้ยืมสินเชื่อนั้นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยหลักการที่ว่านั้นประกอบด้วย

  1. ธนาคารกรามีนตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานสี่อย่าง คือ ระเบียบวินัย (discipline) เอกภาพ (unity) ความหาญกล้า (courage) และการทำงานหนัก (hard work)
  2. เราจะนำความมั่งคั่งมาสู่ครอบครัวของเรา
  3. เราจะไม่อาศัยอยู่ในบ้านที่ชำรุดทรุดโทรม และเราจะทำการบูรณะ และซ่อมแซมที่พักอาศัยของเราให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  4. เราจะปลูกพืชผักสวนครัวสำหรับทุกฤดูกาลเพื่อใช้บริโภค และส่วนเกินที่เหลือนั้นจึงนำไปขาย
  5. ในฤดูเพาะปลูกนั้นเราจะปลูกพืชให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้
  6. เราจะวางแผนให้ครอบครัวของเรานั้นมีขนาดเล็ก ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และดูแลรักษาสุขภาพของกันและกัน
  7. เราจะให้การศึกษาแก่บุตรหลาน และมั่นใจได้ว่าพวกเขาจะมีรายได้ที่เพียงพอสำหรับการศึกษาของพวกเขา
  8. เราจะดูแลให้สภาพแวดล้อม และบุตรหลานภายในบ้านของเรานั้นสะอาด
  9. เราจะสร้างและใช้สุขาหลุม (pit latrines)
  10. เราจะต้มน้ำให้เดือด หรือ ใช้สารส้มแกว่งก่อนจะบริโภค
  11. เราจะไม่รับสินสอดจากฝ่ายหญิง (dowry) และจะไม่สนับสนุนให้มีการแต่งงานในวัยเด็ก
  12. เราจะไม่กระทำการอยุติธรรมแก่ผู้อื่น และในขณะเดียวกันเราก็จะไม่ยอมให้ผู้ใดกระทำการเช่นนั้นแก่ผู้อื่น
  13. พวกเราจะลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างเป็นกลุ่มไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ได้รายได้ที่มากขึ้น
  14. เราต้องพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ถ้ามีคนใดคนหนึ่งตกอยู่ในภาวะยากลำบาก พวกเราทั้งหมดที่เหลือจะต้องเข้าไปช่วย
  15. ถ้าเราทราบว่ามีการละเมิดระเบียบขึ้นที่ใด พวกเราจะต้องช่วยกันไปที่แห่งนั้น และธำรงไว้ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวนี้
  16. พวกเราจะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคมส่วนรวม (Yunus, 2007: 58-59)[12]

อ้างอิง แก้

  1. Yunus, Muhammad (2007). Creating a world without poverty: social business and the future of capitalism. New York: Public Affairs.
  2. Yunus, Muhammad (2007). Creating a world without poverty: social business and the future of capitalism. New York: Public Affairs.
  3. The Nobel Peace Prize for 2006 เข้าถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ใน http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/peace/laureates/2006/press.html
  4. "Revolution in der mikrofinanz" (PDF). web.archive.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-07. สืบค้นเมื่อ 2023-07-21.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  5. "India`s micro". bbc.com. สืบค้นเมื่อ 2023-07-21.
  6. "Banks Making Big Profits From Tiny Loans". nytimes.com. สืบค้นเมื่อ 2023-07-21.
  7. "Loan Sharks Near Me?". lendersa.com. สืบค้นเมื่อ 2023-07-21.
  8. "Managing microfinance institutions: linking performance with service and capital portfolios". theses.hal.science. สืบค้นเมื่อ 2023-07-21.
  9. "Can micro-credit bring development?". sciencedirect.com. สืบค้นเมื่อ 2023-07-21.
  10. ไมโครไฟแนนซ์ในประเทศไทย. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://www.microfinancethailand.com/th/faqs.htm#faqth-1 เก็บถาวร 2015-07-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  11. แฟ้มบุคคลสำคัญมุสลิม. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://muslimjourney.com/important_read.php?q=person_[ลิงก์เสีย] world&nid=4.
  12. Yunus, Muhammad (2007). Creating a world without poverty: social business and the future of capitalism. New York: Public Affairs.