รอนนี โอซุลลิแวน

รอนัลด์ แอนโทนิโอ โอซุลลิแวน (อังกฤษ: Ronald Antonio O'Sullivan, OBE) หรือ รอนนี โอซุลลิแวน (Ronnie O'Sullivan) เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1975 เป็นนักสนุกเกอร์อาชีพชาวอังกฤษ เขาเป็นที่รู้จักจากสไตล์การแทงเร็ว มีอารมณ์ศิลปิน มีความเป็นตัวเองสูง และมีอัตราความแม่นยำที่สูงมาก โดยรอนนีได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ในฐานะนักสนุกเกอร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดตลอดกาล[2]

รอนนี โอซุลลิแวน
เกิด (1975-12-05) 5 ธันวาคม ค.ศ. 1975 (48 ปี)
เวิร์ดสลีย์ เวสต์มิดแลนส์ อังกฤษ
สัญชาติ อังกฤษ
ฉายาThe Rocket
ปีที่เริ่มเล่นอาชีพ1992-
อันดับสูงสุด1
เบรกสูงสุด147: (15 ครั้ง)[1]
จำนวนเซนจูรีเบรก1169
รายการแข่งขันที่ชนะ
รายการสะสมคะแนนที่ชนะ41
รายการสะสมคะแนนย่อยที่ชนะ3
รายการไม่สะสมคะแนนที่ชนะ39
เวิลด์แชมเปียน2001, 2004, 2008, 2012, 2013,2020 2022
ronnieosullivan.tv

เขาทำ เซนจูรีเบรก ครั้งแรก ตอนอายุ 10 ปี และทำแม็กซิมัมเบรก ครั้งแรก ตอนอายุ 15 ปี เขาได้เริ่มเทิร์นโปรในปี 1992 ในตอนอายุ 16 ปี และไม่นานก็ได้รับฉายาว่า "เดอะร็อกเก็ต" (The Rocket) มาจากสไตล์การเล่นของเขา เขาคว้าแชมป์ในรายการ ยูเคแชมเปียนชิป ครั้งแรก ในปี 1993 ตอนอายุ 17 ปี กับ 358 วัน กลายเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุด ที่คว้าแชมป์รายการสะสมคะแนน และสถิติของเขายังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน เขานั้นยังเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุด ที่ได้แชมป์ในรายการ มาสเตอส์ ครั้งแรก ในปี 1995 ตอนอายุ 19 ปี กับ 69 วัน

โอซุลลิแวนคว้าตำแหน่ง ทริปเปิลคราวน์ ได้ทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย แชมป์รายการ เวิลด์สนุกเกอร์แชมเปียนชิป 7 สมัย มาสเตอส์ 8 สมัย และยูเคแชมเปียนชิป 8 สมัย เป็นคนที่สี่ตามหลังจาก สตีเฟน เฮนดรี, เรย์ เรียร์ดอน และ สตีฟ เดวิส เป็นผู้เล่นคนที่สามที่คว้าแชมป์รายการสะสมคะแนนถึง 28 รายการและได้เงินรางวัลมากกว่า 8 ล้านปอนด์ ตามหลังเฮนดรี[3] เขาติดอันดับหนึ่งของโลกถึงห้าฤดูกาล ระหว่างฤดูกาล 2002/2003 และ ฤดูกาล 2009/2010 ความสำเร็จในรายการของเขารวมทั้งได้แชมป์รายการพรีเมียร์ลีก ถึง 10 ครั้งและได้แชมป์รายการเนชันส์คัพกับทีมอังกฤษในปี 2000

โอซุลลิแวนมีความสามารถในการเข้าเบรกได้ดี ขณะเดียวกันโอซุลลิแวนยังสามารถรวบรวม เซนจูรีเบรก ได้มากกว่า 1000 ครั้ง เป็นสถิติที่มากสุดกว่าผู้เล่นคนอื่นๆจนถึงปัจจุบัน และเขายังมีสถิติในการทำ แม็กซิมัมเบรก มากที่สุดในการเล่นอาชีพได้ถึง 15 ครั้ง นอกจากนี้ยังสามารถทำแม็กซิมัมเบรกเร็วที่สุด ด้วยเวลาเพียง 5 นาที กับ 20 วินาที ในรายการแข่งขันเวิลด์แชมเปียนชิป 1997

ประวัติการแข่งขัน แก้

โอซุลลิแวนเริ่มเล่นอาชีพในปี 1992 และสามารถคว้าแชมป์รายการ ยูเคแชมเปียนชิป ได้ในปี 1993 โดยการเอาชนะ สตีเฟน เฮนดรี นักสนุกเกอร์มือวางอันดับ 1 ของโลกในขณะนั้น ซึ่งเป็นการคว้าแชมป์รายการนี้ด้วยวัยเพียง 17 ปีกับอีก 358 วัน ทำให้เขาเริ่มเป็นที่จับตามองในวงการสนุกเกอร์อาชีพ ซึ่งในปีนั้นเขาก็คว้าแชมป์รายการ บริติชโอเพน (British Open) ได้อีกหนึ่งรายการด้วย และเมื่อจบฤดูกาล คะแนนอันดับโลกของเขาในปีนั้นก็ขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก

ในฤดูกาลแข่งขันปี 1995/96 โอซุลลิแวนสามารถคว้าแชมป์รายการ มาสเตอส์ ซึ่งเป็นรายการชิงเงินรางวัลที่ไม่เก็บคะแนนสะสมที่ใหญ่ที่สุด และเป็นหนึ่งในรายการ ทริปเปิ้ลคราวน์ โดยการเอาชนะ จอห์น ฮิกกินส์ (John Higgins) ไปได้ 9-3 เฟรม แต่ในส่วนของผลงานของรายการอาชีพเก็บคะแนนของฤดูกาลแข่งขันปี 1995/96 นี้ โอซุลลิแวนมีผลงานที่ไม่ดีนัก เพราะตกรอบแรกไปถึง 5 รายการจากทั้งหมด 10 รายการ และในรายการชิงแชมป์โลกของปีเดียวกันนี้ โอซุลลิแวนถูกสมาคมสนุกเกอร์อาชีพโลกปรับเงิน 10,000 ปอนด์ เนื่องจากถูก อแล็ง โรบิดูซ์ (Alain Robidoux) กล่าวหาว่าโอซุลลิแวนนั้นใช้วิธีการเล่นที่ไม่สุภาพกับเขา โดยในการแข่งขันนัดนั้น โอซุลลิแวนผลัดกันใช้มือขวาและมือซ้ายในการแทงลูกสลับไปมา ซึ่งในเวลาต่อมา โอซุลลิแวนต้องออกมาแถลงการณ์ขอโทษต่อหน้าสื่อมวลชน อย่างไรก็ตามในรายการชิงแชมป์โลกปีนี้ เขาสามารถเข้ารอบไปได้ถึงรอบรองชนะเลิศ โดยในรอบรองชนะเลิศนี้ เขาได้พ่ายแพ้ให้กับ ปีเตอร์ เอบดอน (Peter Ebdon) ไป 14-16 เฟรม และจบท้ายฤดูกาลนั้นด้วยอันดับที่ 8 ของโลก

ในฤดูกาลการแข่งขันปี 1996/97 โอซุลลิแวนเริ่มต้นฤดูกาลด้วยการคว้าแชมป์รายการ เอเชียนคลาสสิก โดยเอาชนะ ไบรอัน มอร์แกน (Brian Morgan) ไปแบบหวุดหวิด 9-8 เฟรม และสามารถคว้าแชมป์รายการที่ 2 ของฤดูกาลนี้ คือรายการเยอร์มันโอเพน โดยการเอาชนะ อแล็ง โรบิดูซ์ (Alain Robidoux) ไปได้ 9-7 เฟรม และในการแข่งขันรายการชิงแชมป์โลกปีนี้ เขาสามารถทำ แม็กซิมัมเบรก ในการแข่งขันรอบแรกกับ มิก ไพรซ์ (Mick Price) ซึ่งเป็นการทำแม็กซิมัมเบรกที่เร็วที่สุดในโลก คือใช้เวลาทั้งหมดเพียง 5 นาที กับ 20 วินาที แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับรายการชิงแชมป์โลกในฤดูกาลนี้ เขาก็ไปถึงได้เพียงรอบที่ 2 โดยได้พ่ายแพ้ให้กับ แดร์เรน มอร์แกน (Darren Morgan) ไป 12-13 เฟรม

ในฤดูกาลแข่งขันปี 2000/01 เป็นฤดูกาลที่โอซุลลิแวนรอคอย เมื่อเขาสามารถคว้ารายการชิงแชมป์โลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยเขาเอาชนะ จอห์น ฮิกกินส์ (John Higgins) ไปได้ 18-14 เฟรม ขณะเดียวกัน เขาจบฤดูกาลนี้ไปด้วยอันดับที่ 2 ของโลก และในฤดูกาลปี 2002/03 เขาก็สามารถก้าวไปถึงมือวางอันดับ 1 ของโลกได้สำเร็จ โดยเขาได้ครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกทั้งสิ้น 4 ฤดูกาล คือฤดูกาลปี 2002/03, 2004/05, 2005/06 และในฤดูกาล 2008/09

ในฤดูกาลแข่งขันปี 2007/08 เป็นฤดูกาลที่โอซุลลิแวนประสบความสำเร็จหลายอย่าง แม้ว่าเขาจะเริ่มต้นฤดูกาลโดยการยอมแพ้ผ่าน (withdraw) ในรอบแรกของรายการเซี่ยงไฮ้มาสเตอส์ เนื่องจากว่ามีอาการบาดเจ็บที่หลัง ซึ่งแพทย์ประจำตัวของเขาแนะนำให้โอซุลลิแวนถอนตัวจากรายการนี้เพื่อทำการรักษา แต่ในรายการต่อมาคือรายการกรังปรีซ์ โอซุลลิแวนก็สามารถเข้าไปได้ถึงรอบชิงชนะเลิศ โดยเขาพ่ายแพ้ให้กับ มาร์โก ฟู (Marco Fu) ไป 6-9 เฟรม ในรายการนอร์ทเทิร์นไอร์แลนด์โทรฟี และรายการ ยูเคแชมเปียนชิป เขาสามารถทำ แม็กซิมัมเบรก ครั้งที่ 7 และครั้งที่ 8 ได้ โดยในรายการยูเคแชมเปียนชิป โอซุลลิแวนทำแม็กซิมัมเบรก รอบรองชนะเลิศ ในเฟรมตัดสิน กับ มาร์ก เซลบี (Mark Selby) ซึ่งการทำแม็กซิมัมเบรกครั้งที่ 8 นี้เป็นการทำสถิติเทียบเท่ากับสถิติสูงสุด 8 ครั้ง ของ สตีเฟน เฮนดรี (Stephen Hendry) ด้วย และในรายการนี้ เขาก็สามารถคว้าแชมป์ไปได้สำเร็จ โดยเอาชนะ สตีเฟน แม็กไกวร์ (Stephen Maguire) ไปได้ 10-2 เฟรม

ในรายการชิงแชมป์โลกในฤดูกาลปี 2007/08 โอซุลลิแวนสามารถทำ แม็กซิมัมเบรก ครั้งที่ 3 ของฤดูกาลนี้ และเป็นครั้งที่ 10 ในชีวิตการแข่งขันของเขา ซึ่งเป็นสถิติจำนวนครั้งสูงสุดของผู้ทำแม็กซิมัมเบรก โดยเขาทำแม็กซิมัมเบรกได้ในเฟรมที่ 20 ของการแข่งขันในรอบสอง โดยคู่แข่งขันคือ มาร์ก วิลเลียมส์ (Mark Williams) และในรายการชิงแชมป์โลกฤดูกาลนี้ เขาก็สามารถคว้าแชมป์โลกได้เป็นผลสำเร็จ และเป็นการคว้าแชมป์โลกครั้งที่ 3 ของเขาด้วย

โอซุลลิแวนเริ่มต้นฤดูกาลแข่งขันปี 2008/09 ได้อย่างน่าประทับใจ เมื่อเขาสามารถคว้าแชมป์รายการนอร์ทเทิร์นไอร์แลนด์โทรฟี ซึ่งเป็นรายการสะสมแรกของฤดูกาลแข่งขัน โดยเอาชนะ เดฟ ฮาโรลด์ (Dave Harold) ไปได้ 9-3 เฟรม และในรายการต่อมา คือรายการเซี่ยงไฮ้มาสเตอส์ โอซุลลิแวนได้ตำแหน่งรองแชมป์ไป โดยพ่ายแพ้ให้กับนักสนุกเกอร์ดาวรุ่ง ริกกี วอลเดน (Ricky Walden) ไปอย่างเฉียดฉิว 8-10 เฟรม แต่นั่นก็ยังทำให้เขามีคะแนนสะสมเพียงพอที่จะเป็นมือวางอันดับที่ 1 ของโลกต่อไปอีกในฤดูกาลแข่งขันฤดูกาลถัดไป แม้ว่าในรายการชิงแชมป์โลกในฤดูกาลนี้ เขาจะทำผลงานได้แค่เพียงรอบ 2 หรือรอบ 16 คนสุดท้ายเท่านั้น โดยเขาพ่ายแพ้ให้กับ มาร์ก อัลเลน (Mark Allen) ไป 11-13 เฟรม

ผลงาน แก้

รายการเก็บคะแนนสะสมประจำฤดูกาล แก้

  • World snooker championship 7 สมัย ได้แก่ในปี ค.ศ. 2001 / ค.ศ. 2004 / ค.ศ. 2008 / ค.ศ. 2012 / ค.ศ. 2013 / ค.ศ. 2020 และ ค.ศ. 2022
  • รายการ UK Championship 8 สมัย ได้แก่ในปี ค.ศ. 1993 / ค.ศ. 1997 / ค.ศ. 2001 / ค.ศ. 2007 / ค.ศ. 2014 / ค.ศ. 2017 / ค.ศ. 2018 และในปี 2023
  • รายการ British Open 1 สมัย ในปี ค.ศ. 1994
  • รายการ German Open 2 สมัย ในปี ค.ศ. 1995 และ ค.ศ. 2012
  • รายการ China Open 3 สมัย ในปี ค.ศ. 1996 / ค.ศ. 1999 และ ค.ศ.2000
  • รายการ European Open 1 สมัย ในปี ค.ศ. 2003
  • รายการ Irish Masters 2 สมัย ในปี ค.ศ. 2003 และ ค.ศ. 2005
  • รายการ Welsh Open 4 สมัย ในปี ค.ศ. 2004 / ค.ศ. 2005 / ค.ศ. 2014 และ ค.ศ. 2016
  • รายการ Grand Prix 1 สมัย ในปี ค.ศ. 2004
  • รายการ Northern Ireland Trophy 1 สมัย ในปี ค.ศ. 2008

รายการอื่นๆ (รายการแบบไม่เก็บคะแนนสะสม/รายการชิงเงินรางวัล) แก้

  • รายการ The Masters 8 สมัย ได้แก่ในปี ค.ศ. 1995 / ค.ศ. 2005 / ค.ศ. 2007 / ค.ศ. 2009 / ค.ศ. 2014 / ค.ศ. 2016 / ค.ศ. 2017 และ ค.ศ. 2024
  • รายการ Scottish Masters 3 สมัย ได้แก่ในปี ค.ศ. 1998 / ค.ศ. 2000 และ ค.ศ. 2002
  • รายการ Irish Masters 2 สมัย ได้แก่ในปี ค.ศ. 2001 / และ ค.ศ. 2007
  • รายการ Premier League 8 สมัย ได้แก่ในปี ค.ศ. 1997 / ค.ศ. 2001 / ค.ศ. 2002 / ค.ศ. 2005 (04/05) / ค.ศ. 2005 (05/06) / ค.ศ. 2006 / ค.ศ. 2007 และ ค.ศ. 2008
  • รายการ Benson and Hedges Championship 1 สมัย ในปี ค.ศ. 1993
  • รายการ Nescafe Extra Challenge 1 สมัย ในปี ค.ศ. 1993
  • รายการ Liverpool Victoria Charity Challenge 1 สมัย ในปี ค.ศ. 1996
  • รายการ Riley Superstar International 1 สมัย ในปี ค.ศ. 1997
  • รายการ Champions Cup 1 สมัย ในปี ค.ศ. 2000
  • รายการ Nations Cup ร่วมกับทีมชาติอังกฤษ 1 สมัย ในปี ค.ศ. 2000

อ้างอิง แก้

  1. "Official 147s – World Snooker". สืบค้นเมื่อ 8 May 2018.
  2. "Ronnie O'Sullivan says he is ready to retire from snooker". BBC Sport. 1 May 2013. สืบค้นเมื่อ 22 December 2015.
  3. "Prize Money – All-time, Professional". CueTracker – Snooker Database. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-19. สืบค้นเมื่อ 31 May 2013.