ย่านสยาม

ย่านการค้าในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

ย่านสยาม เป็นย่านศูนย์การค้าสำคัญภายในใจกลางกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ชิดกับทั้ง 2 ฝั่งของถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน ตั้งแต่แยกปทุมวัน ถึงแยกเฉลิมเผ่า เลยไปบรรจบกับย่านราชประสงค์ที่อยู่ติดกัน ย่านนี้เป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง และเมื่อรวมกับย่านราชประสงค์ จึงเป็นรูปแบบที่เรียกว่า "ย่านการค้าใจกลางเมือง" ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นใจกลางเมืองสมัยใหม่ในด้านธุรกิจและการค้าของกรุงเทพมหานคร

พื้นที่สยามกับสยามสแควร์ ศูนย์การค้าแนวราบที่มุมขวาล่าง นอกเหนือจากเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้วทางซ้ายมือยังมีสยามดิสคัฟเวอรี สยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน และด้านหลังคือพื้นที่สีเขียวของวังสระปทุม

พื้นที่ดังกล่าวตั้งชื่อตามสยามสแควร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ค้าปลีกแนวราบที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของและผู้พัฒนา รวมถึงศูนย์การค้าที่อยู่ตรงข้ามอีกจำนวน 3 แห่งของบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ซึ่งล้วนแต่มี สยาม เป็นส่วนหนึ่งของชื่อ ได้แก่ สยามดิสคัฟเวอรี สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน ซึ่งมาแทนที่โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ในปี พ.ศ. 2545 รวมถึงต่อมาศูนย์การค้าทั้ง 3 แห่งดังกล่าวถูกเรียกว่า "วันสยาม" โดยที่ดินดังกล่าวเช่ามาจากวังสระปทุม ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของพระบรมวงศานุวงศ์แห่งราชวงศ์จักรีในสายราชสกุลมหิดล ซึ่งเป็นสายของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่สืบราชสันตติวงศ์อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงยังมีเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่อยู่ตรงข้ามแยกปทุมวัน

การพัฒนาเชิงพาณิชย์ในพื้นที่เริ่มแรกเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 ควบคู่ไปกับย่านราชประสงค์ และพวกเขาก็ค่อย ๆ แทนที่ย่านวังบูรพา ในฐานะศูนย์กลางของการค้าปลีกในเมืองและวัฒนธรรมของเยาวชน นอกจากนี้รถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2542 และมีสถานีสยามเป็นจุดสำคัญซึ่งเชื่อมต่อทั้งย่านสยาม สายสุขุมวิท และสายสีลมเข้าด้วยกัน ยังช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับย่านนี้เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบัน เอ็มบีเค, สยามพิวรรธน์ และกลุ่มสยามสแควร์ ได้พัฒนาความร่วมมือร่วมกันในนาม สมาคมการค้าพลังสยาม โดยมีเป้าหมายหลักในการพัฒนาย่านสยามให้เป็นย่านการค้าปลีกระดับโลก

ประวัติ แก้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังและพระอารามหลวง (วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร) ใกล้กับพื้นที่สยามในปัจจุบันในช่วงประมาณ พ.ศ. 2398 ในขณะที่พื้นที่ที่ตั้งของย่านสยามในปัจจุบันได้รับพระราชทานจากองค์พระรัชทายาทคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1880 ได้พระราชทานที่ดินเพื่อก่อสร้างวังบริเวณด้านทิศเหนือของถนนพระรามที่ 1 (เดิมเรียกว่า ถนนสระปทุม หรือ ถนนปทุมวัน) เพื่อพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ และต่อมามีชื่อว่า วังสระปทุม[1] ส่วนที่ดินบริเวณทิศใต้ของถนนมีพระราชดำริที่จะพระราชทานเพื่อก่อสร้างวังวินด์เซอร์ เพื่อพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร แต่พระองค์เสด็จสวรรคตลงเสียก่อน และในที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานที่ดินของวังให้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนและโรงเรียนเกษตราธิการ ตราบจนกระทั่งถูกสถาปนาขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พื้นที่วังวินด์เซอร์จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปโดยปริยาย[2]

ในเวลาต่อมา พื้นที่ริมถนนพระรามที่ 1 ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง (โดยใช้ถนนพญาไท) โดยด้านตะวันตกซึ่งอยู่ในอำเภอวังใหม่นั้นต่อมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ก่อสร้างหอพักนิสิตบริเวณโรงเรือนด้านหลังของวังวินด์เซอร์เดิม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ หอวัง และต่อมาก็ใช้วังวินด์เซอร์เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมหอวัง ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 ก่อนจะปล่อยให้กรมพลศึกษาเช่าพื้นที่และรื้อวังวินด์เซอร์ออกเพื่อก่อสร้างสนามศุภชลาศัย ในพื้นที่กรีฑาสถานแห่งชาติ และเปิดใช้งานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 มาจนถึงปัจจุบัน[3] ส่วนด้านตะวันออกถูกปล่อยทิ้งไว้โดยที่มหาวิทยาลัยไม่ได้ใช้งาน จนกลายเป็นที่อยู่อาศัยรูปแบบชุมชนแออัด และสวนผัก จนกระทั่งเกิดไฟไหม้ในปี พ.ศ. 2505 ชาวบ้านจึงออกจากพื้นที่ และนิสิตมหาวิทยาลัยได้ช่วยกันคุมพื้นที่ไม่ให้ชาวบ้านกลับเข้ามาอีก[4] จากนั้นสำนักงานจัดการทรัพย์สินก็ได้พัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นย่านค้าปลีกแนวราบ และเปิดเป็นสยามสแควร์ในปี พ.ศ. 2506[5] ในช่วงเวลาเดียวกันกับการพัฒนาที่คล้ายคลึงกันของย่านการค้าในแยกราชประสงค์ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งมีศูนย์การค้าปรับอากาศที่มีชื่อเสียงคือไทยไดมารู ที่เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2507 ส่วนโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัลที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของถนนพระรามที่ 1 สร้างขึ้นบนที่ดินที่เช่าจากวังสระปทุม และเป็นส่วนหนึ่งของเครือโรงแรมหรูระดับนานาชาติของสายการบินแพนอเมริกันเวิลด์แอร์เวส์ ก็เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2509 ดำเนินการโดย บริษัท บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอล โฮเต็ลส จำกัด (BIHC) (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด) และยังสร้างศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์เพิ่มด้วย ซึ่งเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2516 ส่วนศูนย์การค้ามาบุญครอง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเอ็มบีเคเซ็นเตอร์) เปิดบนที่ดินของมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการเปิดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (ปัจจุบันคือเซ็นทรัลเวิลด์) ในย่านราชประสงค์ และทำให้เกิดการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจและการค้าที่น่ากลัวมากขึ้นใน 2 ย่านนี้ ต่อมา BIHC ก็ได้เปิดศูนย์การค้าแห่งที่ 2 คือสยามดิสคัฟเวอรี บริเวณลานเบียร์คลอสเตอร์เดิม[6] ในปี พ.ศ. 2540 ท่ามกลางวิกฤตการณ์การเงิน และความเปลี่ยนแปลงในด้านการคมนาคมในพื้นที่จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสในปีนั้น[7][8]

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ย่านสยามกลายเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งวิถีชีวิตหลักสำหรับวัยรุ่นในเมือง โดยเข้ามามีบทบาทแทนพื้นที่ย่านวังบูรพาที่เคยโด่งดังในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950-1960[7] ต่อมาหลังจากเปิดการให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสในปี พ.ศ. 2542 โดยมีจุดเชื่อมต่อส่วนกลางทั้งระหว่างย่านสยาม สายสุขุมวิท และสายสีลม ที่สถานีสยาม ทำให้ความโดดเด่นของย่านสยามมีมากขึ้น และเมื่อรวมกับย่านการค้าในแยกราชประสงค์แล้ว จึงถูกมองว่าเป็นรูปแบบที่เรียกว่า "ย่านการค้าใจกลางเมือง"[9] ต่อมาโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัลปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2545 และถูกแทนที่ด้วยสยามพารากอน ซึ่งถือเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในย่านสยาม โดยเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2548[10] รวมถึงยังมีหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2551

ด้วยความเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง ทำให้ผู้ประท้วงกลุ่มคนเสื้อแดง นำโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เข้ายึดครองพื้นที่นี้ในปี พ.ศ. 2553 ก่อนจะจบลงด้วยการสลายการชุมนุมที่บริเวณใกล้เคียง

ต่อมากลุ่มธุรกิจการค้าทั้งหมดในย่านสยาม ทั้ง เอ็มบีเค, สยามพิวรรธน์ และกลุ่มธุรกิจในสยามสแควร์ ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมการค้าพลังสยาม เพื่อร่วมกันพัฒนาย่านสยามให้เป็นย่านการค้าปลีกระดับโลก สะท้อนแนวคิดของกรุงเทพมหานครที่เป็น "มหานครแห่งความทันสมัยที่หลากหลาย"[11] โดยได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558[12] ส่งผลให้เกิดการพัฒนาในย่านสยามเกิดขึ้นอีกมากมาย รวมถึงสามารถดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในย่านสยามได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย[13]

อาณาเขต แก้

 
แยกเฉลิมเผ่า

ย่านสยามตั้งอยู่บนถนนพระรามที่ 1 จากหัวมุมของแยกปทุมวัน ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างถนนพระรามที่ 1 กับถนนพญาไท ไปยังแยกเฉลิมเผ่า ที่บรรจบกับถนนอังรีดูนังต์ สยามสแควร์คือตึกทั้งหมดที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของถนนไปจนถึงซอยจุฬาลงกรณ์ 64 ในขณะที่ศูนย์การค้ากลุ่มวันสยาม คือสยามดิสคัฟเวอรี สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน อยู่ทางทิศเหนือของถนน จากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออกตามลำดับ ถัดจากนั้นทางตอนเหนือเป็นวังสระปทุม กินพื้นที่ยาวไปจนถึงสะพานหัวช้าง ส่วนหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแยกปทุมวัน ในขณะที่เอ็มบีเคเซ็นเตอร์อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้บนที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถัดจากเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ไปทางทิศตะวันตกเป็นกรีฑาสถานแห่งชาติ ส่วนทางทิศตะวันออกของแยกเฉลิมเผ่าเป็นวัดปทุมวนารามราชวรวิหารตั้งอยู่ทางทิศเหนือของถนน เป็นการแยกสยามพารากอนออกจากเซ็นทรัลเวิลด์ในย่านราชประสงค์ และมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ตรงข้ามวัดปทุมวนารามราชวรวิหารทางด้านทิศใต้

อ้างอิง แก้

  1. คณะทำงานหนังสือวัดปทุมวนารามราชวิหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2011). วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร. Chulalongkorn University Press. Reproduced in "เขตประทุมวัน : โดย บัณฑิต จุลาสัย และ รัชดา โชติพานิช". Matichon Online. 29 April 2018. สืบค้นเมื่อ 11 October 2020.
  2. พีรศรี โพวาทอง (8 June 2020) [Originally published June 2005]. "วังใหม่ที่ปทุมวัน : ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม "ความทรงจำอันเลือนราง"". Silpa Wattanatham. สืบค้นเมื่อ 11 October 2020.
  3. จุลาสัย, บัณฑิต; Silpa-1 (2022-07-06). ""วังวินด์เซอร์" : วังลูกหลวง นอกปราการกำแพงวัง". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 2022-11-21.
  4. Lucky Charm สยามสแควร์ Positioning Magazine ตุลาคม 2550
  5. "ย้อนตำนาน"สยามสแควร์" จากปาก กอบชัย ซอโสตถิกุล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-12. สืบค้นเมื่อ 2021-03-18.
  6. คลอสเตอร์ อดีตเบียร์ของผู้นำฝ่ายค้านในวันนี้
  7. 7.0 7.1 Prepanod Nainapat (4 April 2017). "'สยามสแควร์' ถนนวัยรุ่นสู่วัยรุ่นอีกรุ่น". The Matter.
  8. อรวรรณ บัณฑิตกุล (April 2002). "42 ปี บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส". Manager. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-15. สืบค้นเมื่อ 28 January 2021.
  9. McGrath, Brian (2005). "Bangkok's CSD". ใน Benites, Cecilia; Lyster, Clare (บ.ก.). Regarding Public Space. New York: Princeton Architectural Press. pp. 46–53. ISBN 9781568985442.
  10. ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ (25 December 2005). "สยามพารากอน....อีกก้าวหนึ่งของประเทศไทยไปสู่สวรรค์แห่งการชอปปิ้ง". Manager Daily. สืบค้นเมื่อ 21 October 2020.
  11. "เกี่ยวกับเรา". สมาคมการค้าพลังสยาม. สืบค้นเมื่อ 2021-02-27.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. "พันธมิตรพลังสยามผนึกกำลังครั้งประวัติศาสตร์ ผลักดัน "ย่านสยาม" ยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจการค้า". สมาคมการค้าพลังสยาม. 2015-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-02-27.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. ""แลนด์มาร์ก" ค้าปลีก 5 ย่าน 5 ทำเล...แห่ยึดใจกลางเมือง". สนุก.คอม. 2015-10-06. สืบค้นเมื่อ 2021-02-27.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

13°44′44″N 100°32′3″E / 13.74556°N 100.53417°E / 13.74556; 100.53417