ย่านพระโขนง

ย่านในกรุงเทพมหานคร

ย่านพระโขนง เป็นย่านบนถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ในอดีตเป็นตลาดริมน้ำ ต่อมาพัฒนาเป็นตลาดบก และเคยเป็นย่านที่รุ่งเรืองมากเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2519–2530 ปัจจุบันย่านพระโขนงกลับมาฟื้นฟูพัฒนาอีกครั้ง หลังสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท เกิดคอนโดมีเนียมทำให้คนย้ายเข้ามาอยู่มากขึ้น

ย่านพระโขนง
สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส พระโขนง และพื้นที่โดยรอบของย่าน

ประวัติ แก้

ตลาดริมคลอง แก้

เมื่อ พ.ศ. 2400 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการขุดคลองถนนตรง (ถนนพระรามที่ 4 ในปัจจุบัน) เชื่อมต่อบางนากับคลองผดุงกรุงเกษม ทำให้เกิดย่านการค้าบริเวณปากคลองถนนตรง หรือย่านพระโขนงในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นตลาดริมน้ำ มีตลาดสดตั้งอยู่ริมคลอง ผู้คนในตลาดเป็นคนไทยเชื้อสายจีน มีโรงเรียนจีนเป็นสถานศึกษา มีศาลเจ้าแม่ทับทิม พื้นที่รอบ ๆ ย่านพระโขนงเป็นที่สวนของชุมชนมุสลิมซึ่งตั้งรกรากมานานจนถึงปัจจุบัน[1]

ตัดถนนสุขุมวิท แก้

ต่อมาเมื่อมีการตัดถนนสุขุมวิท จึงได้พัฒนาจากตลาดน้ำมาเป็นตลาดบก โดยคลองที่มีอยู่ถูกถมทำเป็นถนนหลายคลอง เรือนแถวไม้และโรงเรียนจีนก็ถูกปิดไป สร้างเป็นตึกแถวแทน พัฒนาเป็นศูนย์กลางบันเทิง ศูนย์กลางแฟชั่น และศูนย์กลางเครื่องใช้ไฟฟ้า

ย่านพระโขนงเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2519–2530 เคยรุ่งเรืองมาก[2] มีโรงเรียนสอนตัดเสื้อและเสริมสวย ห้างขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเอดิสัน และมีห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง ได้แก่ ห้างเวลโก้ ห้างอาเชี่ยน ห้างเอดิสัน[3] ห้างไทยไดมารู มีเมืองนีออน[4] มีโรงภาพยนตร์ชื่อดังถึง 6 แห่ง อย่าง พระโขนงเธียเตอร์ (บางข้อมูลระบุว่าเคยเป็นโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย จุคนได้ถึง 2,000–3,000 ที่นั่ง) พระโขนงรามา โรงหนังเอเชีย เจ้าพระยาเธียเตอร์ ฮอลิเดย์ และลอนดอน[5] จนเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อ พ.ศ. 2526 ส่งผลทำให้เกิดการย้ายออกเป็นจำนวนมาก กิจการโรงหนังชั้นสองปิดตัว

ปัจจุบัน แก้

ปัจจุบันย่านพระโขนงกลับมาฟื้นฟูพัฒนาอีกครั้ง เมื่อสถานีพระโขนง ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท เปิดให้บริการ เกิดคอนโดมีเนียมทำให้คนย้ายเข้ามาอยู่มากขึ้น มีทั้งออฟฟิศทำงานสร้างสรรค์ คอมมูนิตี้มอลล์ที่เป็นพื้นที่สนับสนุนการทำงาน เช่น ซัมเมอร์ฮิลล์ ซัมเมอร์ฮับ และดับเบิลยู ดิสทริค[6] รวมถึงมี ตลาดสดพระโขนง หรือรู้จักกันในนาม ตลาดแสงทิพย์ ที่เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2503 แต่เดิมตลาดพระโขนงตั้งอยู่ในเขตพระโขนง ต่อมามีการแบ่งเขตการปกครองใหม่ทำให้ตลาดแห่งนี้มีพื้นที่อยู่ในเขตวัฒนา เจ้าของคือทายาทตระกูลตาปนานนท์ ตลาดพระโขนงยังประกอบด้วย ตลาดรุ่งอรุณ เจ้าของตลาดคือนายธัชชัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ตลาดพระโขนงมีสินค้าขายปลีกและส่งประกอบด้วยอาหารสด อาหารแห้ง สินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงภายในตลาดแห่งนี้ อาทิ ร้านข้าวหน้าเป็ด ร้านกาแฟโบราณ ร้านโรตีสายไหม ร้านขนมจีนแม่ชวน ฯลฯ[7]

หลัง พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ย่านตลาดพระโขนงได้กลายเป็นแหล่งชุมชนของชาวต่างชาติหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวเนปาล พม่า ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ที่เข้ามาอยู่อาศัย ทำงานรับจ้างและค้าขาย โดยสัดส่วนประชากรพม่ามากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ[8]

กรรมสิทธิ์ที่ดิน แก้

จากข้อมูลของสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552 ย่านพระโขนงถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยเอกชนทั้งรายย่อยและรายใหญ่ 780 ราย แบ่งเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินรายใหญ่ 40 ราย และรายย่อย 740 ราย ถือกรรมสิทธิ์โดยสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์บริเวณใต้สะพานพระโขนง[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 พรนภา พรพันธุ์ไพบูลย์. "การฟื้นฟูย่านตลาดพระโขนง" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
  2. "หวนอดีต…คิดถึงอนาคต…ที่พระโขนง กับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น".
  3. "หวนอดีต...คิดถึงอนาคต...ที่พระโขนง กับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น | propholic.com propholic.com". 2018-09-26.
  4. รอเเย๊ะส์, อับดุล (2023-08-31). "ภาพในอดีตถนนสุขุมวิท บริเวณ เชิงสะพานพระโขนง พ.ศ 2523". Postjung.com.
  5. ""พระโขนง" จากเสน่ห์วันวานสู่ย่านศิลป์ร่วมสมัย".
  6. "สถานีพระโขนง ทำเลอยู่อาศัยที่ไม่ควรมองข้าม". realist.
  7. "แหล่งวัฒนธรรม คหกรรมศิลป์ เขตวัฒนา: ตลาดพระโขนง". โครงการจัดทำแผนที่แหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีชีวิต เขตวัฒนา.
  8. "ส่องย่านลิตเติ้ลเมียนมาใจกลางกรุงเทพฯ". วอยซ์.