มูลนิธิมวยโลก (อังกฤษ: World Boxing Foundation–เป็นชื่อที่เปลี่ยนมาในปี พ.ศ. 2547; ตัวย่อ: WBF) หรือชื่อเดิมว่า สหพันธ์มวยโลก (World Boxing Federation[1]) สถาบันมวยสากลระดับโลกสถาบันหนึ่ง แต่ไม่เป็นที่ยอมรับนักของบรรดาแฟนมวยและสื่อมวลชนทั่วโลก เนื่องจากนักมวยที่เป็นแชมป์และผู้ท้าชิงและนักมวยที่มีชื่ออยู่ในอันดับ มักเป็นนักมวยที่ไม่ได้มีฝีไม้ลายมืออะไร และการจัดชิงแชมป์ ป้องกันแชมป์ ทำได้ง่ายมาก จนดูเหมือนไม่มีมาตรฐาน

มูลนิธิมวยโลก ดำเนินงานโดย นายแจ็ค เรนนี ชาวออสเตรเลียและรอน สกาฟ์ ชาวอเมริกัน เป็นผู้ร่วมก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2531[1]มีประธานคนแรก คือ แลร์รี แคเรีย ชาวอเมริกัน

สำนักงานใหญ่ WBF อยู่ที่ เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

WBF ในทวีปเอเชีย แก้

ได้เข้ามาสู่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2537 (ในนาม สหพันธ์มวยโลก) ด้วยการชิงแชมป์โลกของนักมวยไทย 2 คน ที่จังหวัดสมุทรปราการ คือ วันวิน จ.เจริญ และ สายรุ้ง อ.สุวรรณศิลป์ และเป็นสายรุ้งนั่นเองที่ได้เป็นแชมป์ของสถาบันนี้คนแรกของไทย หลังจากนั้นก็มีนักมวยไทยต่างทยอยเป็นแชมป์มากมายติด ๆ กัน เช่น ฟ้าลั่น ศักดิ์กรีรินทร์, มงคล แอลจียิม, ก้องธวัช ส.กิตติ, ฟ้าสั่ง ป.พงษ์สว่าง, จักรกริช แอลจียิม, ฟ้าสั่ง พ.ธวัชชัย เป็นต้น แต่ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นที่รู้จักและนิยมมากที่สุดคือ แซมซั่น กระทิงแดงยิม ซึ่งสร้างสถิติป้องกันแชมป์ไว้ได้มากถึง 38 ครั้งด้วยกัน ถ้าหากสถิตินี้เป็นของสถาบันที่มีมาตรฐานมากกว่านี้ ต้องกลายเป็นสถิติอันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว เพราะ โจ หลุยส์ นักมวยรุ่นเฮฟวีเวทชาวอเมริกันที่มีสถิติป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกมากที่สุดยังทำได้เพียงแค่ 25 ครั้ง

และหลังจากแซมซั่นแขวนนวมไปในปี พ.ศ. 2545 ก็ไม่มีนักมวยไทยคนใดขึ้นชิงแชมป์หรือป้องกันตำแหน่งแชมป์ของสถาบันนี้อีกเลย จนอาจเรียกได้ว่า สถาบันมูลนิธิมวยโลกนั้นได้ตายจากไปแล้วในวงการมวยไทย

ถึงอย่างไรก็ตาม มูลนิธิมวยโลกเคยมีการจัดชิงแชมป์โลกในรุ่นเฮฟวีเวทด้วยครั้งหนึ่งในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2537 ที่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นการป้องกันตำแหน่งระหว่าง จอห์นนี เนลสัน แชมป์โลกผิวดำชาวอังกฤษ กับ นิโคไล คัลพิน ผู้ท้าชิงชาวรัสเซีย ผลการชกปรากฏว่า จอห์นนี่ เนลสัน เป็นฝ่ายชนะคะแนน 12 ยกไปอย่างจืดชืด ไร้ความสนุก โดยมีนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน ซึ่งเป็นรายการเดียวกับ แซมซั่น ป้องกันตำแหน่งครั้งแรกด้วย ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นคู่มวยชิงแชมป์โลกในรุ่นเฮฟวี่เวทที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวตราบจนปัจจุบันนี้

อนึ่ง มูลนิธิมวยโลก เคยมีนักมวยชาวญี่ปุ่น คือ โยซูเกะซัง นิชิจิมะ เป็นแชมป์ในรุ่นครุยเซอร์เวทอยู่ด้วย แต่หากทางคณะกรรมการมวยสากลอาชีพของญี่ปุ่น (JBC) กลับไม่ยอมรับเป็นแชมป์ แสดงให้เห็นถึงการยอมรับของนานาชาติอย่างแท้จริง[2]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "WBF | World Boxing Foundation" (ภาษาอังกฤษ). Worldboxingfederation.net. สืบค้นเมื่อ 2021-03-01.
  2. "JETTY", เจาะลึกวงการมวยเมืองซามูไร หน้า 35-37 มวยโลก ฉบับที่ 742 (25 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม พ.ศ. 2541)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้