มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ประวัติมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แก้

 
ภาพหน้าอาคารที่ทำการมูลนิธิขาเทียมฯ จ.เชียงใหม่ พร้อมดอกของต้นประดู่แดง ซึ่งองค์ประธานมูลนิธิทรงปลูก เมื่อคราวเสด็จฯ เปิดที่ทำการมูลนิธิขาเทียมฯ

มูลนิธิขาเทียมฯ กำเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงอาทรถึงความทุกข์ของคนพิการขาขาดผู้ยากไร้ ที่ไม่สามารถเข้ารับบริการขาเทียมจากภาครัฐ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภาคของประเทศอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ทรงตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนขาเทียมในกลุ่มคนพิการขาขาดที่ยากไร้ เมื่อทรงทราบว่าแพทย์ไทยสามารถประดิษฐ์ขาเทียมได้ จึงได้พระราชทานความช่วยเหลือนับแต่นั้นมา "อย่าไปเอาเงินที่เขา มาเอาเงินที่ฉัน" รับสั่งประโยคนี้ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กลายเป็นอุดมการณ์ของมูลนิธิขาเทียมฯ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน

มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นโดยมีสำนักงานแรกอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ด้วยทุนจดทะเบียนส่วนพระองค์ มูลนิธิขาเทียมฯ ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลต้องพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงตลอดจนอุปสรรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยต้องพัฒนาเทคโนโลยีการทำขาเทียมตลอดเวลา ความสำเร็จในการพัฒนางานของมูลนิธิฯ เกิดขึ้นด้วยน้ำพระทัยของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้ทรงร่วมก่อตั้งมูลนิธิฯ ด้วยทรงมีพระเมตตาต่อคนพิการที่ยากไร้ และมีพระวิริยะอุตสาหะในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ที่ออกไปให้บริการประชาชนตามจังหวัดต่าง ๆ

ปัจจุบันสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่ง องค์นายกกิตติมศักดิ์ สืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาคุณจากพระบรมวงศานุวงศ์ มูลนิธิขาเทียมฯ จึงประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มีคนพิการขาขาดทุกเชื้อชาติ ศาสนาเดินทางมาขอรับขาเทียมจากมูลนิธิฯ อยู่เสมอ

มูลนิธิขาเทียมฯ มีชื่อเต็มเป็นภาษาอังกฤษว่า Prostheses Foundation of Her Royal Highness The Princess Mother เขียนโดยย่อได้ว่า Prostheses Foundation of H.R.H. The Princess Mother หรือ Prostheses Foundation

พันธกิจ แก้

  1. จัดทำขาเทียมให้แก่คนพิการขาขาด ทุกเชื้อชาติ ศาสนา โดยไม่คิดมูลค่า
  2. ผลิตชิ้นส่วนขาเทียมให้แก่หน่วยงานหรือองค์กรที่สามารถทำขาเทียมแบบมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรนั้น จัดทำขาเทียมโดยไม่คิดมูลค่าจากคนพิการขาขาด
  3. จัดหาอุปกรณ์เพิ่ม เพื่อให้ผู้ที่ใช้ขาเทียมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  4. พัฒนาบุคลากรด้านกายอุปกรณ์ ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพ
  5. ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาคุณภาพขาเทียม
  6. ร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น หรือหน่วยงานราชการ เพื่อสาธารณประโยชน์
  7. บริหารจัดการมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้เป็นมูลนิธิคุณธรรม และเป็นองค์กรแห่งความสุข

รายพระนามและรายนามคณะกรรมการมูลนิธิขาเทียมฯ แก้

ที่ทำการมูลนิธิขาเทียมฯ แก้

มูลนิธิขาเทียมฯ สำนักงานใหญ่ เลขที่ 199 หมู่ 4 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 50180 ช่องทางการติดต่อ 0-5311-2271-3

สำนักงานกรุงเทพฯ เลขที่ 44 อาคารศรีจุลทรัพย์ ชั้น 16 ถนนพระราม 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 ช่องทางการติดต่อ 0-2215-4369

โครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ แก้

 
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์ประธานมูลนิธิฯ เสด็จฯ ทอดพระเนตรการดำเนินงานของหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ โดยมีเลขาธิการมูลนิธิฯ ถวายการต้อนรับ

ด้วยพระปรีชาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงมีพระวินิจฉัยเห็นถึงความลำบากในการเข้าถึงการรับบริการทำขาเทียม จึงมีพระราชดำริให้มูลนิธิขาเทียมฯ จัดทำโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ไปให้บริการทำขาเทียมแก่คนพิการขาขาดที่ยากไร้ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร ซึ่งปัจจุบันสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานของทั้ง 2 พระองค์ มูลนิธิขาเทียมฯ จึงได้สนองพระราชปณิธานของทุกพระองค์ ในการจัดทำโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ห่างไกลของจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ที่ผ่านมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระเมตตาเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีมอบขาเทียมพระราชทาน หากไม่ทรงมีพระราชกรณียกิจอื่นในช่วงจัดโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ของมูลนิธิฯ ก็จะเสด็จมาพระราชทานขาเทียมเป็นประจำทุกปี

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและประธานกรรมการมูลนิธิขาเทียมฯ ยังได้กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ หรือพิธีมอบขาเทียมพระราชทานปีละหลายครั้ง

 
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์ประธานมูลนิธิฯ พระราชทานขาเทียมแก่คนพิการ และทอดพระเนตรการใช้งานของขาเทียมดังกล่าว

ในการดำเนินโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ มูลนิธิขาเทียมฯ ได้รับความร่วมมือและความอนุเคราะห์จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรการกุศล ในการสนับสนุนโครงการ อาทิ สำนักงานจังหวัด เทศบาล พัฒนาความมั่นคงจังหวัด เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด บริษัท ไทย เบเวอร์เรจแคน จำกัด บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ มูลนิธิมหากุศลฯ มูลนิธิคุณธรรมสงเคราะห์ฯ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์และสนับสนุนโครงการฯ ด้วยความร่วมมือและความสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทำให้มูลนิธิขาเทียมฯ สามารถประสานงานและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการจนประสบความสำเร็จ และสามารถให้บริการตรงตามวัตถุประสงค์ทุกประการ ซึ่งการทำงานร่วมกันในรูปแบบนี้ เป็นสิ่งที่สร้างความหวังและความมุ่งมั่นในการให้ความช่วยเหลือคนพิการขาขาดในสังคม และเป็นต้นแบบที่ดีให้กับองค์กรอื่น ๆ ในการสร้างสังคมที่เข้มแข็งและเท่าเทียมกัน รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ในความต้องการของคนพิการในสังคมของเรา ความสำเร็จในการให้บริการและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่นี้ อาจนับเป็นต้นแบบการสร้างแรงบันดาลใจให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ที่สนใจสร้างความดี และสร้างสังคมที่เข้มแข็งสำหรับคนพิการที่จะช่วยเหลือตัวเอง ครอบครัว และประเทศชาติอีกต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ มูลนิธิขาเทียมฯ ยังได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และองค์กรการกุศลหรือองค์กรเอกชนในต่างประเทศ ในการจัดทำโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ไปยังต่างประเทศ เพื่อจัดทำขาเทียมตามรูปแบบของมูลนิธิฯ ให้แก่คนพิการขาขาดที่ยากไร้ในต่างประเทศอีกด้วย

การให้บริการ ณ ที่ทำการมูลนิธิขาเทียมฯ แก้

มูลนิธิขาเทียมฯ พระราชทานกำเนิดโดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี พ.ศ. 2535 เมื่อทรงทราบว่า รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เทอดชัย ชีวะเกตุ (เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ ท่านแรก) สามารถประดิษฐ์ขาเทียมที่มีน้ำหนักเบา สวมใส่สบาย จากขยะพลาสติก ทำให้ขาเทียมมีราคาที่ถูกกว่าขาเทียมจากต่างประเทศที่ผลิตในประเทศไทยถึง 10 เท่า จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิขาเทียมฯ ขึ้น เพื่อทำขาเทียมให้แก่คนพิการขาขาดที่ยากไร้ ด้อยโอกาส โดยไม่คิดมูลค่า และไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา

มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2535 โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกิตติมศักดิ์ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นองค์ประธาน ทั้งสองพระองค์ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ในการจัดตั้งมูลนิธิฯ จำนวนหนึ่ง จึงทำให้มูลนิธิฯ สามารถให้บริการจัดทำขาเทียมให้แก่คนพิการขาขาด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา

มูลนิธิขาเทียมฯ ให้บริการทำขาเทียม ณ ที่ทำการของมูลนิธิฯ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ในการดำเนินการช่วงแรกของมูลนิธิฯ ได้อาศัยสถานที่ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเอกชน ในการให้บริการทำขาเทียม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2546 จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานมูลนิธิฯ ขึ้นบนที่ดินที่ได้รับอนุเคราะห์ใช้จากกองทัพบก ณ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของมูลนิธิฯ นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

"มูลนิธิคุณภาพ คุณธรรม ยั่งยืน และมีความสุข" เป็นวิสัยทัศน์ที่เชื่อมโยงภารกิจ ค่านิยม และเป้าหมายของมูลนิธิขาเทียมฯ ในอนาคตเอาไว้ด้วยกัน ด้วยวิสัยทัศน์ที่ตรงกันของบุคลากรทุกระดับ ทำให้มูลนิธิขาเทียมฯ ยืนหยัดมาถึงช่วงเวลาสำคัญในการเป็นองค์กรที่สั่งสมความรู้เกี่ยวกับการทำขาเทียม และยังคงต้องดำเนินภารกิจอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไปในทศวรรษใหม่

จากจุดเริ่มต้นแห่งความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรี และคุณค่าของความเป็นมนุษย์โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ และศาสนาใด ๆ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มูลนิธิฯ จึงได้ยึดถือพระราชปณิธานของพระองค์เป็นดั่งเข็มทิศในการปฏิบัติงาน จนเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงความก้าวหน้าในภารกิจต่าง ๆ ของมูลนิธิฯ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกระบวนการพันธมิตรเพื่อมาร่วมกันสร้างกุศลแก่ผู้ด้อยโอกาส และการจัดทำขาเทียมให้แก่คนพิการขาขาดโดยไม่คิดมูลค่า จนกระทั่งในปัจจุบัน มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบมราชชนนี ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรที่จัดทำขาเทียมให้แก่คนพิการขาขาดมากที่สุดในโลก

การให้บริการทำขาเทียมแก่คนพิการขาขาด ณ ที่ทำการมูลนิธิขาเทียมฯ แก้

การให้บริการทำขาเทียมแก่คนพิการขาขาดของมูลนิธิฯ ในระยะแรก ได้อาศัยสถานที่ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเอกชน ในการให้บริการทำขาเทียม จนกระทั่งมูลนิธิฯ ได้รับการอนุเคราะห์ที่ดินใช้จากกองทัพบก จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานมูลนิธิฯ ณ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และให้เป็นสำนักงานใหญ่ของมูลนิธิฯ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 มาจนถึงปัจจุบัน

ในการให้บริการทำขาเทียมแก่คนพิการขาขาดนั้น จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจประเมินตอขา และความพร้อมในการเข้ารับบริการทำขาเทียมแก่คนพิการ โดยนักกายอุปกรณ์และช่างกายอุปกรณ์เป็นผู้ทำขาเทียมให้แก่คนพิการ และมีแพทย์ให้การดูแลและตรวจเช็คแนวการเดินให้แก่คนพิการอย่างใกล้ชิด

การให้บริการทำขาเทียมแก่สัตว์พิการขาขาด แก้

นอกจากมูลนิธิขาเทียมฯ จะให้บริการจัดทำขาเทียมแก่คนพิการขาขาดแล้ว นวัตกรรมขาเทียมของมูลนิธิฯ ยังสามารถช่วยเหลือสัตว์พิการขาขาดที่ประสบเคราะห์ด้วย ซึ่งสัตว์พิการขาขาดรายแรกที่ได้มารับบริการจากมูลนิธิขาเทียมฯ คือ ช้างน้อยโม่ชะ ซึ่งประสบเหตุเหยียบกับระเบิด โดยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์เทอดชัย ชีวะเกตุ ได้ทำขาเทียมให้กับช้างน้อยโม่ชะ ที่โรงพยาบาลช้าง อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ซึ่งนับว่าเป็นการทำขาเทียมให้แก่ช้างได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลก ในปี พ.ศ. 2551 นอกจากนี้ ยังมีสัตว์พิการอีกจำนวนหนึ่งที่เคยได้รับบริการทำขาเทียมจากมูลนิธิฯ เช่น พังโมตาลา ซึ่งเป็นช้างที่ถูกตัดขาจากการเหยียบระเบิด รวมไปถึงม้า นกเหยี่ยว และสุนัข

เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 มูลนิธิฯ ได้ทำ MoU ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการขยายการให้บริการทำขาเทียมแก่สัตว์พิการขาขาด ในการขยายการให้บริการทำขาเทียมแก่สัตว์พิการขาขาด โดยเจ้าของสุนัขพิการที่ต้องการรับบริการทำขาเทียมสำหรับสุนัข จะทำการติดต่อขอรับบริการผ่านคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะพามาเข้ารับบริการทำขาเทียมที่อาคารสำนักงานมูลนิธิฯ จังหวัดเชียงใหม่

การประดิษฐ์ คิดค้น และพัฒนา แก้

เนื่องจากในอดีตขาเทียมที่ใช้เป็นขาเทียมที่นำชิ้นส่วนมาจากต่างประเทศ ทำให้ขาเทียมมีราคาสูงมาก คนพิการขาขาดทั่วไปจึงไม่สามารถเข้ารับบริการได้ จึงทำขาเทียมตามวิถีชาวบ้าน เมื่อเกิดปัญหาก็มาพบและขอคำแนะนำจากแพทย์ ปัจจุบันมูลนิธิฯ สามารถผลิตขาเทียมที่มีชิ้นส่วนจากวัสดุภายในประเทศทั้งหมด ทำให้ขาเทียมของมูลนิธิฯ มีราคาต้นทุนต่ำมากเมื่อเทียบกับขาเทียมจากต่างประเทศ นอกจากนั้น ขาเทียมของมูลนิธิฯ ทุกชิ้น ก็ยังผลิตจากชิ้นส่วนที่มีคุณภาพด้วยวิวัฒนาการของโรงงานอุตสาหกรรมภายในประเทศ

วิธีการทำขาเทียมฯ แก้

เนื่องจากมูลนิธิฯ มีเวลาในการให้บริการทำขาเทียมในโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ค่อนข้างจำกัด อีกทั้งช่างทำขาเทียมส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครที่มาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีพื้นฐานความชำนาญแตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้ได้ขาเทียมที่ดีในรูปแบบเดียวกันในเวลาอันจำกัด มูลนิธิฯ จึงได้ค้นคว้าหาวิธีการทำขาเทียมที่จะสามารถช่วยให้ช่างทำขาเทียมทุกคนสามารถทำขาเทียมที่ดีในรูปแบบเดียวกันให้เสร็จในเวลาอันรวดเร็ว (ขาเทียมที่ดี คือ ขาเทียมที่คนพิการสวมใส่สบาย เพราะทุกส่วนของเบ้ามีรูปร่างเหมือน และมีขนาดเท่ากับตอขาคนพิการทุกส่วน)

มูลนิธิฯ ได้ค้นคว้าประดิษฐ์วิธีการทำขาเทียมจากแบบเดิมที่ใช้เฝือกปูนและปูนพลาสเตอร์ ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะได้เบ้าตอขา อีกทั้งยังสิ้นเปลืองค่าเฝือกและปูนพลาสเตอร์ที่ใช้แล้วเป็นขยะทิ้ง มูลนิธิฯ จึงได้คิดค้นการดัดแปลงจากของต่างประเทศโดยการใช้เมล็ดโฟมและทราย ทำให้ช่างที่ได้รับการอบรมทุกคนสามารถทำขาเทียมที่มีความกระชับพอดีกับตอขาภายในเวลาเพียง 1 - 2 วันสำหรับขาเทียมระดับใต้เข่า และ 2 - 3 วันสำหรับขาเทียมระดับเหนือเข่า ซึ่งวิธีเดิมที่ใช้เฝือกและปูนพลาสเตอร์จะต้องใช้เวลาประมาณ 5 - 10 วันสำหรับขาเทียมใต้เข่า อีกทั้ง เมล็ดโฟมและทรายยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เป็นการประหยัดและทำให้โรงงานทำขาเทียมมีความสะอาด และปราศจากฝุ่น ไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษและปัญหาสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานและผู้เข้ารับบริการ

เครื่องมืออุปกรณ์การทำขาเทียม แก้

มูลนิธิฯ ได้ประดิษฐ์และผลิตเครื่องมือขึ้นมา สำหรับใช้ในการให้บริการที่สำนักงานมูลนิธิฯ และจัดส่งไปยังโรงงานทำขาเทียมพระราชทานทุกแห่ง ดังนั้น เมื่อจัดโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ ช่างก็จะสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการทำขาเทียมได้ในรูปแบบเดียวกัน แม้ว่าจะมีพื้นฐานและประสบการณ์ที่แตกต่างกันก็ตาม

ชิ้นส่วนขาเทียม แก้

มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการพัฒนาการผลิตชิ้นส่วนขาเทียมอย่างต่อเนื่อง โดยมูลนิธิฯ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่งมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ทำให้มูลนิธิฯ มีชิ้นส่วนขาเทียมที่มีรูปร่างและความทนทานตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีราคาที่ถูกกว่าชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่า

วัสดุการทำขาเทียม แก้

มูลนิธิฯ ได้พยายามเสาะหาวัสดุที่มีอยู่ในประเทศสำหรับนำมาใช้ทำขาเทียม เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน ซึ่งมูลนิธิฯ ก็ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากองค์กรเอกชนในการช่วยให้คำแนะนำ และจัดหาวัสดุที่เหมาะสมตามความต้องการให้แก่มูลนิธิฯ จนสามารถนำมาผลิตชิ้นส่วนขาเทียมและขาเทียมได้ตามมาตรฐานสากล อาทิ บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกพัฒนามอเตอร์ จำกัด บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด บริษัท ไทยยูรีเทนพลาสติก จำกัด

หลักสูตรการอบรม แก้

มูลนิธิขาเทียมฯ ได้ทำการศึกษาค้นคว้าหาวิธีการทำขาเทียมที่ดี และเหมาะสมอยู่เสมอ เพื่อให้ได้วิธีการทำขาเทียมที่รวดเร็วและมีคุณภาพ โดยได้ดำเนินการอบรมให้แก่ช่างทำขาเทียมทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถทำขาเทียมตามวิธีการของมูลนิธิฯ ซึ่งจะทำให้คนพิการขาขาดได้รับขาเทียมที่ดีในเวลาอันรวดเร็ว โดยมูลนิธิฯ ได้จัดการฝึกอบรมหลักสูตร ดังนี้

  1. หลักสูตรสำหรับช่างเครื่องช่วยคนพิการ จำนวน 700 ชั่วโมง เป็นการฝึกอบรมให้แก่บุคคลที่ยังไม่มีความรู้ในการทำขาเทียม เพื่อไปเป็นช่างทำขาเทียมประจำโรงงาน
  2. หลักสูตรช่างกายอุปกรณ์ สำหรับนักศึกษาระดับ ปวส. ซึ่งมูลนิธิฯ ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ได้เปิดการเรียนการสอนรุ่นที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยมูลนิธิฯ สนับสนุนวิทยากร สถานที่ และวัสดุ สำหรับใช้ในการเรียนการสอนทั้งหมด
  3. หลักสูตรสำหรับช่างเครื่องช่วยคนพิการสำหรับชาวต่างชาติ โดยจัดทั้งหลักสูตรอบรมสำหรับสำหรับบุคคลต่างชาติที่ยังไม่มีความรู้ในการทำขาเทียม เพื่อไปเป็นช่างทำขาเทียมประจำโรงงานทำขาเทียมในต่างประเทศ และหลักสูตรเพิ่มพูนทักษะและความรู้ให้แก่ช่างทำขาเทียมชาวต่างชาติ โดยมูลนิธิฯ ได้รับความร่วมมือจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ

การอบรมหลักสูตรนานาชาติ แก้

มูลนิธิขาเทียมฯ ได้ดำเนินการจัดทำการอบรมหลักสูตรนานาชาติสำหรับช่างทำขาเทียมที่จะไปปฏิบัติงานในโรงงานทำขาเทียมในต่างประเทศ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อผลิตช่างไปประจำโรงงานทำขาเทียมในต่างประเทศให้แก่ประเทศอินโดนีเซีย สาธารณรัฐบุรุนดี สาธารณรัฐเซเนกัล และประเทศพม่า และยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรการกุศลในประเทศมาเลเซีย ส่งบุคลากรเข้ามารับการอบรมเช่นกัน โดยมีหลักสูตรที่เปิดอบรม จำนวน 4 หลักสูตร ดังนี้

  1. หลักสูตร Basic Limb Prosthesis อบรมจำนวน 700 ชั่วโมง แบ่งเป็นภาคบรรยาย 110 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 590 ชั่วโมง
  2. หลักสูตร Advanced Lower Limb Prosthesis อบรมจำนวน 300 ชั่วโมง แบ่งเป็นภาคบรรยาย 40 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 260 ชั่วโมง
  3. หลักสูตร Maintenance and Repair of the Machines, Tools, and Equipments of the Foundation's Sand Casting Technique สำหรับช่างเทคนิค อบรมจำนวน 150 ชั่วโมง แบ่งเป็นภาคบรรยาย 30 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 120 ชั่วโมง
  4. หลักสูตร Upper Limb Prosthesis and Orthosis อบรมจำนวน 450 ชั่วโมง แบ่งเป็นภาคบรรยาย 150 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 300 ชั่วโมง

การอบรมความรู้ในการประเมินและเทคนิคการทำขาเทียมแก่แแพทย์ประจำบ้านจากต่างประเทศ แก้

มูลนิธิฯ ได้ขยายโอกาสให้สถาบันการศึกษาจากต่างประเทศที่ต้องการศึกษาความรู้เกี่ยวกับการทำขาเทียมในรูปแบบของมูลนิธิฯ สามารถส่งแพทย์ประจำบ้านเข้ามาอบรมที่มูลนิธิฯ ได้ โดยได้ให้ความร่วมมือแก่หน่วยงานต่างประเทศเข้ามาศึกษาดูงานที่มูลนิธิฯ มากว่า 20 ปี

การจัดการอบรมหลักสูตรขาเทียมฯ สำหรับแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักกายอุปกรณ์ ช่างเครื่องช่วยคนพิการ ช่างกายอุปกรณ์ และหลักสูตรประกอบวิชาชีพสำหรับคนพิการ แก้

  • การจัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาช่างกายอุปกรณ์

เมื่อปี พ.ศ. 2552 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในการประชุมสามัญประจำปี ณ สำนักงานมูลนิธิขาเทียมฯ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประจำทุกปี ทรงให้ความสนพระทัยกิจการของมูลนิธิฯ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการผลิตบุคลากรที่เป็นช่างกายอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากในราว พ.ศ. 2554 - 2555 ผู้บริหารมูลนิธิฯ ได้เล็งเห็นว่า ช่างกายอุปกรณ์ที่เป็นอาสาสมัครของมูลนิธิฯ ซึ่งได้รับการอบรมจากโรงพยาบาลเลิดสิน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เริ่มเกษียณอายุ อาจทำให้บุคลากรในระบบสาธารณสุขที่ให้บริการกายอุปกรณ์เทียมและกายอุปกรณ์เสริมแก่คนพิการทั่วประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ เมื่อนำเสนอปัญหาดังกล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานการประชุมได้พระราชทานคำแนะนำให้มูลนิธิขาเทียมฯ ดำเนินการร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ในการจัดทำหลักสูตรร่วมกันจนสำเร็จในเวลา 1 ปี โดยกระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติรับรองหลักสูตรนี้ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้ทรงเล็งเห็นว่า การสร้างและการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้บริการด้านกายอุปกรณ์จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด และสร้างความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

สืบเนื่องจากการที่มูลนิธิขาเทียมฯ ได้จัดโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ไปให้บริการทำขาเทียมแก่คนพิการขาขาดทั่วประเทศ ดังนั้น เพื่อให้คนพิการขาขาดที่ได้รับขาเทียมพระราชทานไปแล้ว ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิฯ จึงได้จัดการอบรมขึ้นก่อวันพิธีเปิดโครงการ 1 วัน เพื่อจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรขาเทียมฯ สำหรับแพทย์ นักกายภาพบำบัด และนักกายอุปกรณ์ในพื้นที่ ซึ่งหลังจากได้รับการอบรมจากมูลนิธิฯ แล้ว จะมีความรู้และความเข้าใจในการดูแลและให้คำปรึกษา แนะนำ แก่คนพิการขาขาดที่ใช้ขาเทียมของมูลนิธิฯ ได้

  • การฝึกอบรมยกระดับฝีมือหลักสูตรขาเทียมฯ สำหรับช่างเครื่องช่วยคนพิการ

เพื่อให้ช่างเครื่องช่วยคนพิการที่ผ่านการอบรมหลักสูตรช่างเครื่องช่วยคนพิการจากมูลนิธิฯ ได้รับการยกระดับฝีมืออย่างต่อเนื่อง มูลนิธิฯ จึงร่วมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ จัดการอบรมยกระดับฝีมือแรงงานขึ้นในโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่เป็นประจำอย่างต่อเนื่องมาหลายปี

  • การฝึกอบรมอาชีพแก่คนพิการขาขาด

มูลนิธิฯ ได้จัดโครงการฝึกอบรมอาชีพให้แก่คนพิการขาขาดที่เข้าร่วมโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ในแต่ละครั้ง เพื่อให้คนพิการขาขาดที่ไม่มีอาชีพ ได้มีอาชีพที่สามารถเลี้ยงตนเองได้หรือเพื่อเป็นอาชีพเสริม โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรการฝึกอบรมอาชีพต่าง ๆ จากหน่วยงานราชการในพื้นที่จังหวัดที่ไปทำการออกหน่วยฯ ซึ่งเป็นอาชีพที่คนพิการสามารถทำได้เองและไม่ยุ่งยาก อาทิ การเลี้ยงไก่ไข่ การเพาะเห็ด การตัดผมนักเรียนชาย การปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงปลาสวยงาม โดยมูลนิธิฯ เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัสดุและอุปกรณ์สำหรับการประกอบอาชีพแก่คนพิการ

  • การอบรมหลักสูตรกายอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างเครื่องช่วยคนพิการ และช่างกายอุปกรณ์ ที่ปฏิบัติงานในโรงงานทำขาเทียมพระราชทาน

แนวคิดการฝึกอบรมแก่ช่างทำขาเทียมนับเป็นการสร้างโอกาสให้ช่างเครื่องช่วยคนพิการและช่างกายอุปกรณ์มีโอกาสได้รับความรู้และทักษะในการทำงานเพื่อคนพิการ ซึ่งเมื่อโครงการในระยะแรกประสบความสำเร็จใน พ.ศ. 2550 - 2551 มูลนิธิฯ จึงได้นำแนวคิดนี้มาต่อยอด เมื่อปี พ.ศ. 2556 - 2557 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เข้ามาร่วมพัฒนาหลักสูตรและสนับสนุนการอบรมเพื่อยกระดับช่างทำขาเทียมเป็นช่างเครื่องช่วยคนพิการ โดยมีการจัดทำมาตรฐานหลักสูตรการอบรมและมีการสอบยกระดับฝีมือแรงงาน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าช่างเหล่านี้ มีทักษะฝีมือแรงงานอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานระดับผู้ประกอบการและระดับชาติ มูลนิธิฯ จึงได้จัดหลักสูตรอบรมด้านกายอุปกรณ์เสริม เพื่อให้ช่างทำขาเทียมได้มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น และจะได้ให้คำแนะนำแก่คนพิการหรือให้ความช่วยเหลือด้านกายอุปกรณ์เสริมได้

ผลงานด้านวิชาการและการอบรมทั้งหมดนี้ทำให้มูลนิธิขาเทียมฯ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความรู้และทักษะในด้านการช่วยเหลือคนพิการ และการพัฒนาอาชีพให้แก่คนพิการขาขาดในชุมชนของพวกเขา เพื่อเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นทั้งในสังคมไทย และต่างประเทศ ผลงานนี้นับเป็นประโยชน์ต่อคนพิการและสังคมในทุก ๆ ด้าน ทำให้เห็นว่ามูลนิธิขาเทียมฯ เป็นองค์กรที่คุ้มครองสิทธิและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความเท่าเทียมและสวัสดิภาพของคนพิการในประเทศ

การจัดตั้งโรงงานทำขาเทียม แก้

แม้ว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา มูลนิธิขาเทียมฯ จะได้จัดโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ไปให้บริการทำขาเทียมยังท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศปีละหลายครั้ง แต่ก็พบว่ายังไม่สามารถให้บริการแก่คนพิการขาขาดได้อย่างทั่วถึง อันเนื่องมาจากคนพิการที่อยู่ห่างไกลไม่ได้รับข่าวสาร หรือบางรายที่ทราบก็ไม่สะดวกมารับบริการ เพราะไม่มีเงินหรือยานพาหนะสำหรับการเดินทาง ในขณะที่คนพิการขาขาดบางรายที่ได้รับขาเทียมแล้วแต่มีปัญหาขาเทียมชำรุดจากการใช้งาน ก็ไม่รู้ว่าจะไปขอรับบริการซ่อมแซมขาเทียมได้ที่ไหน มูลนิธิฯ จึงได้เริ่มจัดตั้งโรงงานทำขาเทียมประจำตำบลร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดย อบต. จัดหาสถานที่สำหรับการก่อสร้างโรงงานทำขาเทียมขนาดเล็ก และหาคนพิการขาขาดส่งมารับการอบรมหลักสูตรช่างทำขาเทียม ปัจจุบันชื่อหลักสูตรช่างเครื่องช่วยคนพิการ โดยมูลนิธิฯ ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงงาน จัดหาเครื่องมือ วัสดุการทำขาเทียม และชิ้นส่วนขาเทียมให้ และทำการอบรมคนพิการขาขาดให้สามารถทำขาเทียมได้ด้วยเครื่องมือที่ประดิษฐ์ขึ้นมา คนพิการที่ได้รับการอบรมก็สามารถทำขาเทียมที่ดีได้ โรงงานทำขาเทียมประจำตำบลนี้ทำให้คนพิการในท้องถิ่นและอาณาบริเวณใกล้เคียงได้รับขาเทียมอย่างรวดเร็วทั่วถึงและยั่งยืน โรงงานนี้ได้รับความสนใจจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง มูลนิธิฯ จึงมีแนวคิดในการจัดตั้งโรงงานทำขาเทียมฯ ร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการแก่คนพิการขาขาดในพื้นที่ของตนเองได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และยั่งยืน ขณะเดียวกันการสร้างโรงงานทำขาเทียมฯ เพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยแก้ปัญหาของคนพิการอย่างยั่งยืนได้ เนื่องจากปัญหาเรื่องความพิการทำให้คนพิการขาขาดถูกมองว่าเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม และไม่มีศักยภาพเทียบเท่ากับคนปกติทั่วไป จึงไม่ได้รับโอกาสในการจ้างงานใด ๆ มูลนิธิฯ จึงมีแนวคิดในการสร้างโอกาสและสร้างอาชีพให้แก่คนพิการ โดยกำหนดให้โรงพยาบาลชุมชนคัดเลือกคนพิการขาขาดมารับการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

ในระยะแรก มูลนิธิฯ ร่วมมือกับมูลนิธิพลเอกชาติชายฯ และศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ตั้งโรงงานทำขาเทียมพระราชทาน ที่ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน เมื่อ พ.ศ. 2542 - 2543 ซึ่งมูลนิธิฯ จัดทำหลักสูตร 3 เดือน เพื่ออบรมคนพิการขาขาดให้เป็นช่างทำขาเทียม (ขณะนั้นเรียกว่าช่างชาวบ้าน) ให้การสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ และ supply วัสดุทำขาเทียมเพื่อให้โรงงานแห่งนั้น ๆ ทำขาเทียมให้คนพิการฟรี และช่างทำขาเทียมที่เป็นคนพิการขาขาดจะได้เป็นแบบอย่างแก่ชุมชนว่าเป็นคนพิการที่สามารถประกอบสัมมาอาชีพได้

โครงการจัดตั้งโรงงานทำขาเทียมฯ ดังกล่าว นับว่าเป็นการให้บริการทำขาเทียมที่สร้างความยั่งยืนในชุมชน โดยคนพิการขาขาดสามารถเข้าถึงการรับบริการขาเทียมอย่างรวดเร็ว ส่วนคนพิการที่ได้รับการอบรมจากมูลนิธิฯ ก็ได้มีอาชีพและสามารถให้บริการทำขาเทียมแก่คนพิการขาขาดในชุมชนได้ ความสำเร็จของโครงการนี้ ทำให้มีโรงงานทำขาเทียมพระราชทานที่เป็นที่พึ่งของคนพิการขาขาดอยู่ทั่วประเทศไทย

การจัดตั้งโรงงานทำขาเทียมในต่างประเทศ แก้

มูลนิธิขาเทียมฯ ได้ให้ร่วมมือกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในการดำเนินการจัดตั้งโรงงานทำขาเทียมในต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาได้มีโรงงานทำขาเทียมสำหรับให้บริการแก่คนพิการขาขาดในพื้นที่ โดยได้ดำเนินการจัดตั้งโรงงานทำขาเทียมจำนวน 4 แห่ง ในประเทศอินโดนีเซีย สาธารณรัฐบุรุนดี สาธารณรัฐเซเนกัล และประเทศพม่า นอกจากนี้ ยังมีองค์กรการกุศลในประเทศมาเลเซียที่ได้เห็นการให้บริการทำขาเทียมของมูลนิธิฯ จากการจัดโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ในต่างประเทศ จึงเกิดความสนใจและอยากจัดตั้งโรงงานทำขาเทียมในประเทศมาเลเซียขึ้น เพื่อให้บริการแก่คนยากไร้ในพื้นที่ ซึ่งมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงงานทำขาเทียมในประเทศมาเลเซีย จำนวน 2 แห่ง

อ้างอิง แก้

  1. สูจิบัตร เนื่องในพิธีเปิดที่ทำการมูลนิธิขาเทียมฯ 6 ตุลาคม 2546
  2. สูจิบัตร เนื่องในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมมูลนิธิขาเทียมฯ 24 มกราคม 2551

แหล่งข้อมูลอื่น แก้